ตลอดหลายวันที่ผ่านมามีกระแสคลิปวิดีโอสั้นหมอลำซิ่งกำลังร้องเพลงปรากฏตามสื่อโซเซียลต่างๆ โดยมีเนื้อเพลงว่า “คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี ปริญญาไม่มี แต่มีหีนะคะ แต่มีหมอยนะคะ” ทำให้คนที่ได้ฟังยิ้มหัวเราะสนุกสนานขบขันไปตามกัน

แต่ก็มีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีคำไม่เหมาะสม อันจะทำให้ไม่เป็นผลดีโดยเฉพาะต่อเด็กที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักแสดงนามว่า “ป๋อ” ณัฐวุฒิ สกิดใจ โดยเขาได้แสดงความเห็นว่า

“ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี!!…พยายามเข้าใจนะว่าผมอาจจะมาจากดาวดวงอื่น แต่ดันมีชีวิตมาจนถึงต้องอยู่อาศัยบนดาวดวงนี้ พยายามเข้าใจมาตลอด แต่หลายสิ่งที่รับไม่ได้จริงๆ แล้วไม่ตลกด้วย คือ มีการร้องเพลง แล้วใส่คำว่า..ี. ,…ย (อวัยวะเพศหญิง-ชาย)ในเนื้อเพลง แล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องตลก ขบขัน ผมว่า มันหยาบคาย หยาบโลน ตื้นเขิน ไม่รับผิดชอบ และกังวลว่าเด็กๆ ในวัยที่ยังไม่พร้อมมาเปิดดูคลิปเพลงพวกนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็พูดกัน ใครๆ ก็ร้องกัน เราร้องบ้างดีกว่า สนุกดี ฮาดี…เอาจริงดิ นี่เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไงกันครับ ผมไม่ได้โลกสวยนะ แต่ใครช่วยตอบผมที #ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังอยู่ในใจ เอาไว้มาระบายให้ฟังละกัน วันนี้เอาไปเรื่องเดียวก่อนนะ”

แม้ว่าในภายหลังคุณป๋อ ณัฐวุฒิ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูดเจาะจงถึงเพลงใดเพลงหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องการจะพูดถึงเพลงทั่วไปที่เนื้อเพลงมีคำเกี่ยวกับอวัยวะเพศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเด็นที่คุณป๋อ ณัฐวุฒิ ได้พูดถึงอยู่ในห่วงเวลาที่คลิปเพลงดังกล่าวกำลังเป็นกระแส กรอปกับ เนื้อหาของเพลงก็สอดคล้องกับประเด็นที่คุณป๋อ ณัฐวุฒิ กำลังกล่าวถึง คือมีคำอวัยวะเพศชายหญิง ฉะนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณป๋อ ณัฐวุฒิ กำลังพูดถึงคลิปที่กำลังเป็นกระแสนั้นด้วย

คุณป๋อ ณัฐวุฒิ อาจพูดถูกจริงๆ ก็ได้ว่าตัวเองอาศัยอยู่บนดาวดวงอื่นมาเสียนาน ก็เลยไม่เข้าใจว่าบนดาวดวงนี้มันมีอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากดาวที่คุณป๋อ ณัฐวุฒิ อาศัยอยู่

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณป๋อ ณัฐวุฒิอาจอาศัยอยู่บน “ดาวผู้ดีตีนแดง” มาเสียนาน ก็เลยไม่รู้ว่า “ดาวคนป่าเถื่อน” (ชนชั้นล่าง) เขาพูด คิด และทำอะไรกันบ้าง พอมาเห็นพวกชนชั้นล่างเขาพูด คิด ทำกัน พวกผู้ดีตีนแดงที่เห็นว่าตนเองมีอารยะก็เลยตัดสินบนบรรทัดฐานดาวของตนว่า สิ่งที่พวกชนชั้นล่างเขาพูด คิด ทำกันนั้น ป่าเถือน ไร้อารยะ พอคิดแบบนี้ก็เลยเกิดการผลักความผิดให้คนอื่นอย่างไร้เหตุไร้ผล เกิดการคุกคาม กดหัว และคาดโทษเอาผิด ซึ่งเป็นลักษณะที่พวกผู้ดีตีนแดงชอบกระทำต่อ “พวกป่าเถือน” (ชนชั้นล่าง) ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ที่ว่ากันเช่นนี้ก็ด้วยว่าคำว่า “หี” “ควย” “หมอย” หรืออื่นๆ เป็นคำหยาบในทัศนะของดงผู้ดีตีนแดงโดยแท้ เพราะชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดคำเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาตกใจคำอุทานแรกที่มักจะพูดออกมาบ่อยๆ คือคำว่า “หี” 

ในงานบุญบั้งไฟจะมีการทำสัญลักษณ์อวัยเพศหรือคนกำลังร่วมเพศกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการจะสื่อถึงการกำเนิดใหม่หรือความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร

มิพักต้องกล่าวถึงการแสดงซึ่งเป็น “ศิลปะ” อย่าง “หมอลำ” อันเป็นที่นิยมกันทั่วบ้านทั่วเมือง แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ มีงานศึกษาค้นคว้าด้วยซ้ำว่า ในกลอนลำจะมีคำเกี่ยวกับเพศมากมาย ทั้งกล่าวถึงอวัยวะเพศหรือเรื่องเพศสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ทั้งกล่าวในลักษณะแบบตรงไปตรงมาและในลักษณะอ้อมหรือโดยนัย[1]

นอกจากหมอลำ คำที่พวกผู้ดีตีนแดงเห็นว่า “หยาบ” ก็ปรากฏอยู่ในศิลปการแสดงพื้นบ้านในทุกภาค อย่างในภาคกลาง บรรดาเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ฯลฯ ก็จะปรากฏให้เห็นคำเหล่านี้กันร่ำไป ยิ่งถ้าพ่อเพลงแม่เพลงเล่นติดลมโต้กันไปมาหนักเข้ากลอนก็มักจะแดงขึ้นเรื่อยๆ หรือเรียกว่า “กลอนแดง” ซึ่งหมายถึงการใช้ “คำหยาบคาย” ทีนี้ล่ะสนุกกันเลย – ล่อกันทั้งโคตร – ยกมาทั้งโคตรพ่อโคตรแม่เลยทีเดียว

น่าเสียดาย ในสมัยปัจจุบัน ศิลปการแสดงเหล่านี้ถูกกลืนกลายทำให้เป็นส่วนหนึ่งในดงผู้ดีหรือถูกนำไปแสดงต่อหน้าพวกผู้ดีเสียมาก จนคำที่ถูกใช้เป็นปกติแต่พวกผู้ดีเห็นว่า “หยาบคาย” หายไปหมดสิ้น เวลาฟังก็หมดอรรถรสสิ้นกลิ่นอายแท้ๆ ของศิลปการแสดงเหล่านั้นไป

หากจะว่ากันในแง่ของประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ “หี” และ “ควย” เป็นคำไทในตระกูลภาษาไท – กะได โดยเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาพวกคนไท – ไตหรือไท – ลาว แต่ก็ไม่ได้จำกัดการใช้อยู่เฉพาะในบริเวณประเทศไทยและลาวในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่กินพื้นที่ไปในบริเวณกว้างขวางจนถึงในดินแดนทางตอนเหนือของเวียดนามและบริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีนในปัจจุบันด้วย หากทว่าอาจจะออกเสียงหรือสำเนียงแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่นพื้นที่[2] 

กระนั้นก็ดี คำเหล่านี้ก็ไม่ได้มีความหมายถึงความชั่วร้ายผิดบาปหรือรู้สึกตะขิดตะขวงใจเวลาใช้มันอย่างที่เราๆ ท่านๆ รับรู้กันในปัจจุบันแต่อย่างใด ที่มันมีความหมายไปในทางลบน่าจะเกิดขึ้นในดงผู้ดีก่อน แล้วภายหลังก็ได้แผ่ขยายลงมาเป็น “สามัญสำนึก” ให้กับชนชั้นล่าง

คำว่า “หี” ในตระกูลภาษาไท – กะไดยังไปพ้องเสียงกับคำว่า “หีน” (อ่านว่า หี – นะ) หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ “หีนยาน” ในภาษาบาลี – สันสกฤต ที่มีความหมายไปในทางไม่ดี กล่าวคือ คำว่า “หีน” แปลตรงตัวได้ว่า “บกพร่อง” “วิกล” “ถ่อย” “ทรามหรือชั่ว” “อันทิ้งแล้ว” “อันเริดร้างหรือละทิ้งแล้ว” ซึ่งศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ชี้ว่า หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยรับรู้ความหมายและไม่ค่อยชอบคำนี้ก็คือ การบิดเอาคำว่า “หีน” มาสะกดและออกเสียงเป็น “หิน” แล้วเรียกนิกายในศาสนาที่ตนเองอยากเอามาเป็นศาสนาประจำชาติเสียใหม่ว่า “หินยาน” แต่เหตุผลที่ไม่ชอบจริงๆ ศิริพจน์ ชี้ว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะมันไปพ้องเสียงกับคำว่า “หี” ที่หมายถึงอวัยวะเพศหญิง[3]

หากเป็นไปตามที่ ศิริพจน์ เสนอ เรื่องไปพ้องเสียงกับคำว่า “หีน” นี้ น่าจะเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นหลังจากคำว่า “หี” กลายไปเป็นคำที่มีความหมายในทางลบแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่เลี่ยงบาลีคำว่า “หีน” ไปเป็น “หิน” และถ้าเป็นเช่นนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างน้อยก็ในช่วงล่าอาณานิคมนี้เอง กล่าวคือ ในวัฒนธรรมแบบวิคตอเรียน ที่มีศูนย์กลางอยู่ในราชสำนักของพระนางเจ้าวิคตอเรียของอังกฤษ (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2380 – 2444) นั้น จะยกย่องชนชั้นสูงให้เป็น “ผู้ดี” และจะเหยียดหยามสามัญชนคนชั้นล่างว่าเป็น “คนเลว” หรือ “คนบาป” และในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ โดยเฉพาะอวัยวะต่างๆ นั้น จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องหยาบคาย เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรพูดถึงในที่สาธารณะ โดยถ้าจะเป็น “ผู้ดี” แม้แต่คำว่า “หน้าอก” (breast) หรือ “สะโพก” (hip) ก็ห้ามพูด[4]

ศิริพจน์ ชี้ว่า ไทยก็คงจะได้รับอิทธิพลเรื่องเหล่านี้มาจากวัฒนธรรมแบบวิคตอเรียนพร้อมๆ กับการเข้ามาของการล่าอาณานิคมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 และผลพวงของการเข้ามาของความคิดแบบวิคตอเรียนดังกล่าวก็ทำให้เกิดหนังสืออย่าง “นางนพมาศ” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 เกิดหนังสือ “สุภาษิตสอนหญิง” ที่เชื่อกันว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่ หรือ “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หากทว่าหนังสือเหล่านี้ก็เป็นของสำหรับหญิงชนชั้นสูงผู้ดีสยามโดยแท้ เพราะพวกไพร่ชนชั้นล่างอ่านหนังสือไม่ออกและไม่มีเวลาที่จะได้อ่านด้วย เพราะต้องรับใช้พวกผู้ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อบรรดาไพร่ต้องรับใช้พวกผู้ดี ก็พลอยทำให้ไพร่ต้องปฏิบัติตามไปด้วย[5]

การไม่พูดเรื่องหรือคำที่เกี่ยวกับเพศในที่สาธารณะจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกปลูกฝังในสามัญสำนึกตั้งแต่นั้นมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงขั้นมีการห้ามใช้คำว่า “ผักบุ้ง” และให้ใช้คำว่า “ผักทอดยอด” แทน เพราะมันสามารถผวนให้กลายเป็นคำว่า “พุ่งบัก” โดยคำว่า “บัก” ในภาษาอีสานหมายถึง “อวัยวะเพศชาย”[6] 

การปลูกฝังสามัญสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็น่าจะเข้มข้นขึ้นเมื่อระบบการศึกษาสมัยใหม่ได้พัฒนาขึ้นและค่อยๆ แพร่ขยายออกไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา แน่นอนว่ามันย่อมมีวัฒนธรรมผู้ดีสยามที่เห็นว่าเป็นอารยะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะระบบการศึกษาถูกออกแบบและจัดการโดยผู้ดีสยาม

ดังจะเห็นว่ามีการบังคับให้ใช้ภาษาไทยกลางสอนในโรงเรียนแทนภาษาถิ่น ซึ่งก็น่าจะมีผลต่อสำนึกเรื่อง “คำหยาบ” อย่างมาก เช่น ก่อนที่รัฐส่วนกลางจะเข้ามาควบคุมระบบการศึกษา การเรียนการสอนในอีสานจะอาศัยวัดเป็นสถานที่เรียน ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร และใช้ใบลานที่เขียนด้วยภาษาถิ่น (อักษรธรรมอีสาน) เป็นตำราเรียน[7] ซึ่งในใบลานเหล่านั้นก็มักจะปรากฏคำที่พวกผู้ดีเห็นว่า “หยาบคาย” อยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากใบหลับหลังคัมภีร์ใบลานที่จดจารเรื่อง “ชมพูบดี” ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางศาสนา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะเห็นว่าผู้จารใบลานมีความปรารถนาในอานิสงส์จากการสร้างคัมภีร์ใบลานว่า “ขอให้ผู้ข้าได้เมียหีใหย่ๆ แดงๆ เทิ้น” (ขอให้ข้าพเจ้าได้ภรรยาที่มีอวัยวะเพศใหญ่ ๆ สีแดงๆ ด้วยเถิด)[8]

ในแง่นี้ คุณป๋อ ณัฐวุฒิ จึงเป็นบรรดาคนที่เป็นผลผลิตของวัฒนาธรรมผู้ดีตีนแดงที่หลงไหลได้ปลื้มว่าวัฒนธรรมของตนเองสูงส่งเหนือกว่าวัฒนธรรมของคนอื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมของพวกชนชั้นล่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดอาการแบบที่คุณป๋อ ณัฐวุฒิ แสดงความเห็นไว้ว่าเนื้อเพลงที่ปรากฏคำเกี่ยวกับอวัยวะเพศเป็นสิ่งผิดบาป เป็นเรื่องหยาบคาย หยาบโลน ตื้นเขิน และไม่รับผิดชอบ อันเป็นการผลักความผิดให้คนอื่นซึ่งในที่นี้คือสามัญชนคนชั้นล่าง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความผิดบาปอะไรเลย

ยิ่งเมื่อเรามองในแง่ “บริบท” ของเพลง คิดในแง่ของสิ่งที่ผู้ร้องเพลงต้องการจะสะท้อนถึงด้วยแล้ว คนที่มีความ “ผิดบาป” และควรเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบน่าจะเป็นชนชั้นสูง พวกผู้ดีตีนแดง พวกชนชั้นปกครอง เสียมากกว่า เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศิลปการแสดงเหล่านี้เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอที่ใช้ในการสื่อสารกับพวกชนชั้นปกครองเสมอมา 

ดังจะเห็นจาก กรณีภาษีผักบุ้งในสมัยอยุธยา ที่นายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวดของคณะละครที่เข้าไปเล่นละครในวังให้พระเจ้าเอกทัศดู ครั้งนั้นมีตอนหนึ่งนายแทนกับนายมีได้พูดว่า “จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี” ว่าอย่างนี้ถึงสองหนสามหน จนพระเจ้าเอกทัศรู้สึกแปลกใจ จึงให้ไต่ถามจำอวดทั้ง 2 คนนั้น แล้วได้ความว่ามีมหาดเล็กคนหนึ่งรับผูกขาดภาษี แล้วได้กดราคาซื้อผักบุ้งถูกๆ แต่ขายขึ้นราคา ชาวบ้านที่เคยซื้อขายผักบุ้งก็ได้รับความเดือดร้อน พากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ก็ไม่มีใครนำความขึ้นกราบทูลฯ เพราะมหาดเล็กคนนั้นอ้างว่าทำภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง พอพระเจ้าเอกทัศรู้ความเช่นนั้น ก็สั่งให้ยกเลิกภาษีผักบุ้งเสีย[9] หรือ กรณีกบฏผีบุญ ที่ก็ได้ใช้หมอลำเดินตระเวนไปทั่วอีสานเพื่อกระจายข่าวการปรากฏตัวของผู้มีบุญ[10] แม้ในปัจจุบันนี้ก็มีหมอลำที่พยายามสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเรียกร้องและต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย[11]

ในแง่นี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ศิลปการแสดงอย่าง “หมอลำ” เป็นเครื่องมือสะท้อนเสียงของคนจนผู้อ่อนแอเพื่อสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจ

แน่นอนว่าผู้ร้องอาจจะร้องเพียงเพราะอยากสร้างอารมณ์ผ่อนคลายสนุกสนานให้ผู้ชมในวันนั้น โดยไม่ได้คิดที่จะสะท้อนเสียดสีปัญหาสังคมความเหลื่อมล้ำอะไรทั้งนั้น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เนื้อเพลงดังกล่าวมันสะท้อนปัญหาสังคมได้จริงๆ

ไม่ว่าจะสะท้อนเรื่องเพศหญิงที่ถูกกดทับตลอดประวัติศาสตร์ตั้งแต่เกิดระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล มิพักต้องกล่าวถึงในอดีตที่เพศหญิงมักถูกกีดกันไม่ให้เรียนหนังสือทำให้ “ปริญญาไม่มี แต่มีหีนะคะ แต่มีหมอยนะคะ” อย่างที่เพลงว่าไว้

ยิ่งเมื่อมันถูกขับร้องในยุคทุนนิยม มันยิ่งสะท้อนสภาพความเป็นจริงของระบบทุนนิยมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ทุนนิยมจะดำรงชีวิตของมันอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นระบบที่มีการกีดกันคนส่วนมากหรือ “แรงงาน” ให้เหลือเพียง “กำลังแรงงาน” ของตน เพื่อนำไปขายให้นายทุน แล้วนายทุนก็จะนำไปขูดรีดเพื่อผลิตสินค้าหรือสร้างกำไร

“กำลังแรงงาน” ในที่นี้ เมื่อมันถูกแปลงให้เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายและเกิดความบันเทิงไม่ตึงเครียด มันจึงเหลือแต่ “หี” กับ “หมอย” อย่างที่ปรากฏในเพลง หรือก็คือเหลือแต่ “ร่างกาย(กำลังแรงงาน)” นั่นเอง 

เหมือนกับ Lenin นักปฏิวัติสังคมตามแนวคิดของ Karl Marx เวลาเขาปราศรัย เขาไม่ได้ใช้ศัพท์แสงมาร์กซิสต์ที่จะทำให้เข้าใจยาก เช่น เขาไม่กล่าวว่า “เราต้องปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต” แต่เขาจะกล่าวว่า “เราต้องต่อสู้เพื่อขนมปังและดอกกุหลาบ” ซึ่งทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและสร้างอารมณ์ร่วมในการปฏิวัติ 

ฉะนั้นแล้ว “คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มีหีนะคะ แต่มีหมอยนะคะ” จึงหมายถึง การตั้งคำถามผ่านวลีตลกร้ายว่า คนจนมีสิทธิ์แค่ไหน เมื่อในระบบทุนนิยมได้กีดกันคนจนในทุกด้าน แม้แต่ใบปริญญาซึ่งใช้เป็นใบเบิกทางเลื่อนสถานภาพทางสังคมที่ง่ายที่สุดก็ไม่มี อะไรจะกลายมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินได้ นอกเสียจากจะเหลือแต่ “หี” กับ “หมอย” หรือ “ร่างกาย”

เราอาจจะเคยได้ยินอีกประโยคหนึ่งคือ “เหลือแต่หมอยและรอยยิ้ม” ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือวลีที่มีความหมายว่า “เหลือแต่ตัว(ร่างกาย)กับรอยยิ้ม” หากนำมาร่วมอธิบายในกรณี “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” คนจนจึงเหลือแต่ “หี” กับ “หมอย” และ “รอยยิ้ม” ซึ่ง “รอยยิ้ม” ในกรณีนี้คือ “รอยยิ้มอันขมขื่น” คนจนหรือแรงงานไม่มีทางจะมีรอยยิ้มที่แท้จริงได้เลย

มีซีรีย์ของประเทศเกาหลีใต้อยู่เรื่องหนึ่งชื่อ “King the Land” พระเอกของเรื่องมีปมในใจเรื่อง “รอยยิ้ม” เขามองว่าคนรับใช้ (แรงงาน) รอบตัวเขามีแต่พวกที่มีรอยยิ้มจอมปลอมไม่จริงใจ เขาเรียกรอยยิ้มแบบนั้นว่า “รอยยิ้มจอมปลอมในระบบทุนนิยม”

พอโตขึ้น เขาได้เข้ามาบริหารโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว แน่นอนว่าเขาต้องพบเจอกับรอยยิ้มที่เขาเห็นว่า “จอมปลอม” ของพนักงานให้บริการของโรงแรม และเขาก็มีความตั้งใจว่าจะทำให้พนักงานของโรงแรมปราศจากรอยยิ้มจอมปลอมให้ได้ 

แต่อนิจจา ตราบใดที่ทุนนิยมยังคงดำรงอยู่ พนักงานโรงแรมไม่มีวันสร้างรอยยิ้มที่แท้จริงได้ เพราะการกดขี่ขูดรีดไม่มีวันทำให้แรงงานมีความสุข นายทุนอย่างพระเอกที่ได้กำไรผ่านการกดขี่ขูดรีดแรงงานจึงไม่มีทางทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดูเหมือนว่าพระเอกจะทำได้สำเร็จ ทว่าเขาก็ต้องแลกมาด้วยการจัดสรรสวัสดิการมากมายหลายอย่างให้กับพนักงานโรงแรม ซึ่งก็คือการทำให้การกดขี่ขูดรีดมีน้อยลง แน่นอนมันทำให้แรงงานยิ้มได้อย่างจริงใจมากขึ้น แต่มันก็เป็นการบั่นทอนกำไรที่นายทุนจะได้รับ

ซึ่งนายทุนในโลกความเป็นจริงไม่ทางที่จะทำอย่างนายทุนในโลกซีรีย์ ฉะนั้น ในโลกความเป็นจริงจึงไม่มีทางที่ “รอยยิ้มจอมปลอมในระบบทุนนิยม” จะจางหายไปได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “รอยยิ้มอันขมขื่น” ก็ยังคงจะดำรงอยู่ตลอดไป

ดังที่ Marx เคยกล่าวไว้ใน “Wage Labour and Capital” ตอนหนึ่งว่า ตลอดเวลาที่แรงงานยังทำงานอยู่นั้น พวกเขาไม่ได้มี/ใช้ชีวิตที่แท้จริง ชีวิตของพวกเขาจะเกิดก็ต่อเมื่อพวกเขาเลิกงานแล้ว กล่าวคือ เมื่อพวกเขาได้นอน ได้พักผ่อน กินข้าว หรือได้ทำกิจกรรมผลิตซ้ำทางสังคมอื่นๆ กล่าวง่ายๆ ก็คือ พวกเขาทำงานหาเงินก็เพื่อนำมาใช้ชีวิตนั่นเอง

รอยยิ้มที่แท้จริงอันปราศจากความขมขื่น จะปรากฏก็ต่อเมื่อพวกเขาได้ใช้ชีวิตที่แท้จริงเท่านั้น ฉะนั้น รอยยิ้มที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็เฉพาะในเวลาที่แรงงานเลิกงานแล้วนั่นเอง

การเหลือแค่ “หี” กับ “หมอย” และ “รอยยิ้ม(อันขมขื่น)” จึงเป็นสิ่งที่ทุนนิยมจงใจสร้างขึ้น การร้องเพลง “คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ” จึงเป็นการสะท้อนภาพของยุคสมัยแห่งทุนได้เป็นอย่างดี

แทนที่คุณป๋อ ณัฐวุฒิ จะเป็นห่วงว่า ถ้าเด็กได้ยินได้ฟังคำว่า “หี” “ควย” “หมอย” หรืออื่นๆ แล้วจะทำให้เด็กเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งที่มันก็ปกติธรรมดามาโดยตลอดบนดาวสามัญชนคนชั้นล่างนี้ ผมคิดว่าคุณป๋อ ณัฐวุฒิ ควรเป็นห่วงในเรื่องที่พวกผู้ใหญ่ใจกะล่อนสอนเด็กว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สังคมมีการแบ่งชนชั้น การกดขี่ขูดรีดแรงงานเป็นเรื่องธรรมชาติ สังคมมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่ผิด การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่ผิด ฯลฯ

ถ้าคุณป๋อ ณัฐวุฒิ และคนบน “ดาวผู้ดีตีนแดง” ทั้งหลายเป็นห่วงเรื่องเหล่านี้เท่าๆ กับเป็นห่วงกรณีเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ปานนี้ประเทศไทยคงมีสภาพที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้

เชิงอรรถ

[1] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, “ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร?,” ศิลปวัฒนธรรม, silpa-mag.com (เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2566).

[2] ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, “คดีหู แต่พูดถึงสระอี ทำไมคำว่า ‘หี’ จึงกลายเป็นคำหยาบ,” The MATTER, thematter.co (เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2566).; สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช, “อันสืบเนื่องจากคำเรียกอวัยวะเพศของไทย,” Academia, academia.edu (เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2566).

[3] ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, “คดีหู แต่พูดถึงสระอี ทำไมคำว่า ‘หี’ จึงกลายเป็นคำหยาบ.”

[4] เรื่องเดียวกัน.

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] สมชัย ภัทรธนานันท์, ความขัดแย้งระหว่างอีสานกับรัฐไทย: การครอบงำและการต่อต้าน, (มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2560), 43-44.

[8] ดู เว้าพื้นประวัติศาสตร์, “การกล่าวถึงอวัยวะเพศในคติลาว-อีสาน,” Facebook, facebook.com (เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2566).

[9] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน การเมืองในวรรณกรรมและการละเล่น,” มติชนสุดสัปดาห์, matichonweekly.com (เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2566).

[10] สมชัย ภัทรธนานันท์, ความขัดแย้งระหว่างอีสานกับรัฐไทย: การครอบงำและการต่อต้าน, 33.

[11] ดู กชกร บัวล้ำล้ำ, “ก้องศิลป์ฟ้าล่วงบน ความธรรมดาของสามัญชน และประชาธิปไตยในกลอนลำ,” The Isaan Record, theisaanrecord.co (เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2566).

image_pdfimage_print