กว่า 9 ปีหลังรัฐประหารมีผู้ถูกฟ้องร้องโดยกฎหมายปิดปากหรือ SLAPP ถึง 570 คดี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ The Isaan Record ได้พูดคุยกับผู้หญิงที่ถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 3.6 ล้านบาท จากการออกต่อสู้ปกป้องบ้านเกิดจากการทำเหมืองวานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งเธอยืนยันต่อสู้ในบทบาทนี้ต่อไป แม้จะมีบาดแผลจากการต่อสู้
การต่อสู้ของชาวบ้านวังบง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กับการทำเหมืองแร่โพแทชของบริษัทไซน่าหมิงต๋า เมื่อปี 2558 ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน มีชาวบ้านถูกฟ้องปิดปากเพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหวหลายคน
“สุดตา คำน้อย” เป็นหนึ่งในผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่ถูกกฎหมายฟ้องปิดปาก เล่าถึงวันเกิดเหตุว่า วันนั้นทางบริษัทยืนยันมาปักธงแดง ขณะรถขับผ่านหน้าบ้านแม่ก็พูดว่า “เราไม่มีทางสู้เขาได้เลยเหรอ ถ้าเขาเข้ามาทำอะไรใรหมู่บ้านของเราแบบที่เขาไม่ขออนุญาตใครเลย เราสู้เขาไม่ได้เลยเหรอ”
ถือเป็นแรงขับให้ “สุดตา” ตัดสินใจออกมาเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับการทำเหมืองแร่โพแทชในครั้งนี้
แม้จะผ่านการถูกฟ้องร้องมาแล้ว 3 คดี แต่เธอก็ยังสู้ไหว เพราะมีกองทุนยุติธรรมคอยช่วยเหลือ
“ยังโอเคค่ะ ประกอบกับมีพี่น้อง ทีมงานที่เข้มแข็ง เขาไม่เคยทิ้งให้เราอยู่คนเดียว สิ่งนี้เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ถอย ถ้าวันหนึ่งเราถอย”เธอกล่าวด้วยสีหน้าขึงขัง

กฎหมายฟ้องปิดปากคืออุปสรรคการเคลื่อนไหว
ในการต่อสู้ครั้งนี้ สุดตา ถูกดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเรียกร้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายทั้งหมด 3.6 ล้านบาท จากกลุ่มนักปกป้องสิทธิในพื้นที่ทั้งหมด 9 คน และสุดท้ายคดีอาญา ฟ้องข่มขืนจิตใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินแก่บริษัทไซน่าหมิงต๋า
ในวันที่ “สุดตา” ได้รับหมายศาลเธอพูดถึงความรู้สึกว่า ถือเป็นความธรรมดาของคนที่ไม่เคยมีเรื่องที่ศาลก็มีความหวั่นๆ เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือกันตลอด
ยุติกระบวนการฟ้องปิดปาก
ดร.พิชามญช์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติ และองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 ในงานแถลงข่าว “ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน” โดยองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International : PI) ว่านักต่อสู้โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกกระทำ นอกจากสูญเสียเรื่องเวลา การดูแลครอบครัวแล้ว ยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจที่ถูกทำให้หวาดกลัวด้วย ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายปิดปากนี้ต้องหมดสิ้นไป เพราะนักปกป้องสิทธิ ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สร้างสังคมให้มีความยั่งยืน

พุ่งเป้านักปกป้องสิทธิฯ หญิง
“ปัจจุบันบทบาทของนักกิจกรรมหรือนักปกป้องสิทธิที่เราเห็นส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้หญิง ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเท่าที่เห็นนั้นทุกคนมีความสามารถ มีความใจเด็ดในการตัดสินใจ ทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ออกมาต่อสู้ในแนวหน้าเพราะพวกเขาคือคนที่ใช้ทรัพยากร” พนมวรรณ นามตาแสง เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าว
เธอกล่าวอีกว่า ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตคนที่อยู่ในพื้นที่ต้องดูแลเรื่องครอบครัว เรื่องทรัพยากร ป่าไม้ การเข้าไปเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ นี่คือความผูกพันธ์ของผู้หญิงที่มีต่อพื้นที่ที่ตนอยู่ ซึ่งไม่แปลกที่เขาจะรักและหวงแหนพื้นที่แห่งนั้น
“นี่จึงทำให้เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาออกมาต่อสู้ในแนวหน้า และโดนรัฐหรือบริษัทที่เพ่งเล็งเมื่อต้องเสียประโยชน์ที่มาหาเอาจากคนตัวเล็กตัวน้อย” พนมวรรณ กล่าวด้วยน้ำเสียงขึงขัง

ขณะที่ ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก PI กล่าวว่า หน่วยงานหรือรัฐบาลได้ฟ้องปิดปาก (SLAPP) อย่างสม่ำเสมอและมีเป้าหมายเป็นผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนของตนเองและสังคมหรือการเผยแพร่ข้อมูลในพื้นที่และสังคม โดยกล่าวหาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่น
“จาก 570 คดี ส่วนใหญ่เป็นการฟ้องโดยบรรษัทเหมืองแร่ บริษัทน้ำมันปาล์ม และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมอุทยานฯ ผู้หญิงยากจนในเขตเมืองถูกเวนคืนที่ดิน และผู้หญิงที่ปกป้องที่ดินและทรัพยากรในชุมชนก็ตกเป็นเป้าหมายด้วย”เธอ กล่าว

การฟ้องปิดปาก หรือคดี SLAPP ไม่ได้ตบหน้าแค่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพียงเท่านั้น แต่ตบหน้าสังคมที่กำลังปิดกั้นไม่ให้เกิดสาธารณะประโยชน์ด้วยและสุดท้ายในการต่อสู้การทำเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่บ้านวังบง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ศาลตัดสินให้ชาวบ้านชนะ เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ของสาธารณะ
แต่ถึงกระนั้นการไปต่อสู้บนชั้นศาลของกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องเสียทั้งเวลาของตัวเอง เวลาที่ต้องดูแลครอบครัวในฐานะลูกสาวและในฐานะแม่คนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะค่าเดินทาง การสูญเสียรายได้จากการทำมาหากินนั้นก็มากมายมหาศาลสำหรับมนุษย์ธรรมดาที่อยากปกป้องสิทธิของตัวเองคนหนึ่งแล้ว
ข้อมูลจาก PI ระบุว่า ระยะเวลาหลังรัฐประหารจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 9 ปี ขบวนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิกว่า 19 ขบวน
จากรายงาน UN Responsible Business and Human Rights Forum (UNDP B+HR) พบว่าประเทศไทยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP) มากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงนั้นถูกฟ้อง 570 คดี
หมายเหตุ : สารคดีชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO