ในแต่ละวันมีผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศและถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เลือกปิดบังการถูกกระทำให้เป็นความลับ เพราะสภาวะสังคมที่ไม่เอื้อให้พวกเธอออกมาเรียกร้อง ชีวิตของนางสาวเอก็เป็นเช่นนั้น เธอเลือกเก็บงำเรื่องราวของการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศไว้เพียงลำพัง ในขณะที่กฎหมายการเอาผิดผู้กระทำความรุนแรงไม่เอื้อให้พวกเธอลุกขึ้นสู้ จึงไม่รู้ว่า ตัวเลขของความรุนแรงจะลงหรือไม่ 

เรื่อง กันติชา พลโสดา 

บาดแผลในใจเกิดขึ้นกับเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสาในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้เธอจะเติบโตมาจนถึงอายุ 26 ปี แต่สิ่งที่ถูกกระทำในวัย 9 ปียังคงฝังใจส่งผลให้หญิงสาวเป็นคนพูดน้อย ไม่กล้าเข้าสังคมในทุกวันนี้

เหตุการณ์เกิดขึ้นกับเด็กหญิงเอ (นามสมมุติ) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยผู้กระทำเป็นคนในครอบครัวของเธอเอง เพราะการอยู่ในครอบครัวใหญ่ทำให้เธอตกเป็นเหยื่ออย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก 

“วันเกิดเหตุได้นั่งเล่นอยู่กับลูกของลุงที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน วันนั้นไม่มีผู้ใหญ่อยู่บ้าน มีแต่ลุงกับเด็กๆ 3 คน”เธอเล่าอย่างช้าๆ 

เธอเล่าต่อว่า วันนั้นลุงเมาเหล้าด้วยลุงจึงได้เอ่ยปากบอกให้ลูกของตัวเอง 2 คนไปซื้อของที่ร้านค้ามาให้เด็ก เมื่อทั้งสองคนไปซื้อตามที่พ่อของตัวเองบอกก็เหลือแค่เธอกับลุง ลุงจึงฉวยโอกาสคุกคามและพยายามจะข่มขืน แถมบังคับให้จับที่อวัยวะของตัวเอง 

“ตอนนั้นร้องไห้หนักมาก แต่จะร้องยังไงก็ไม่มีใครได้ยิน กระทั่งเด็กอีก 2 คนกลับมาจากไปซื้อของ เราจึงรีบเช็คน้ำตาแล้วทำเป็นเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น”นางสาวเอเล่าพร้อมกับน้ำตาไหลริน 

ไม่กล้าบอกพ่อแม่

 แม้เวลาจะผ่านไปนาน แต่ความทรงจำอันโหดร้ายก็ตามมาหลอกหลอนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพูดกับใครได้เลย และยังไม่กล้าที่จะไปบอกพ่อ แม่หรือเปิดใจคุยเรื่องราวมันเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในชีวิต

“เรื่องราวเล่านี้มันจะตายไปพร้อมกับเรา”เธอกล่าวก่อนจะปาดน้ำตา 

เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตเธอในปัจจุบัน โดยเฉพาะสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จากเดิมเธอเคยเป็นเด็กที่ร่าเริงกลายเป็นคนที่ไม่พูด เก็บตัว ไม่เข้าสังคม จนพ่อสังเกตเห็นแล้วพ่อพูดว่า จะพาไปหาหมอ 

“ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเด็กคนอื่น ถ้าน้องๆ คนไหนโดนแบบนี้ให้บอกผู้ปกครองเพื่อให้พวกเขาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าไว้ใจใครง่ายๆ แม้กระทั่งคนในครอบครัวเราเอง ระวังตัวให้ดี ถึงแม้เราจะหลีกเลี่ยงห่างแค่ไหนถ้าคนมันจะทำมันก็ทำ อยากขอให้ผู้หญิงทุกคนหรือแม้กระทั่งเพศอื่นๆ รู้จักการเอาตัวรอดและอยู่ในที่ที่คนเยอะๆ ไม่อยู่คนเดียว”เป็นสิ่งที่เธอสรุปจากประสบการณ์ 

กฎหมาย SLAPP ภัยคุกคามต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ

มิ้นท์ นาดศิลปฏิวัติ : เมื่อนักเคลื่อนไหวหญิงถูกขู่ฆ่า ถึงเวลาต้อง “หนี”

สสส.พบมีเหตุคุกคามทางเพศ 7 คน/วัน

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยพบผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน 

นอกจากนี้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบกว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงานและจากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของไทยระดับประเทศ พบความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงสูงสุด คือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมา คือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 4.5

“มินตัน ยูทูบเบอร์” ถูก รปภ.คุกคามทางเพศ 

ไม่เฉพาะนางสาวเอเท่านั้นที่เจอเหตุการณ์อันโหดร้าย แต่ แพร – มินตรา เชื้อวังคำ หรือ “มินตัน ยูทูบเบอร์” ดังก็เจอกับเหตุการณ์ย่ำแย่จากการถูกคุกคามทางเพศเช่นกัน 

หลังถูก รปภ.ตามคุกคามทางเพศถึงขั้นส่งคลิปช่วยตัวเองมาให้ เธอเลือกปกป้องตัวเองด้วยการแจ้งความดำเนินคดี แต่ผู้กระทำความผิดกลับไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย  

“ต้องให้เขาข่มขืนเราก่อนหรือไง การที่เขาจ้องจะข่มขืนเรามาเป็นปีๆ มีหลักฐานขนาดนี้ มาดักรอขนาดนี้ ยังเอาผิดเขาไม่ได้อีกเหรอคะ” มินตัน ยูทูบเบอร์ โพสต์บนเฟซบุ๊กของตัวเองถึงกรณีถูกคุกคามทางเพศ แต่ผู้กระทำความผิดกลับได้รับโทษเพียงการปรับ 500 บาท 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

เสนอแก้ไขกฎหมายการถูกคุกคามทางเพศ 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การคุกคามทางเพศไม่ได้อยู่ในครอบครัวอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกกลุ่ม เพราะกฎหมายคุ้มครองทางเพศในประเทศไทยไม่มี แต่เป็นกฎหมายว่าด้วยเรื่องข่มขืนและว่าด้วยเรื่องอนาจาร ซึ่งก็จะเน้นในเรื่องการสัมผัสร่างกายและรวมไปถึงการข่มขืน 

“กฎหมายไทยถือว่า มีจุดอ่อนค่อนข้างมากและกฎหมายที่ว่าด้วยการคุกคามทางเพศจะไม่ได้เน้นเรื่องของการแตะเนื้อต้องตัวตามร่างกาย จะมีแค่เฉพาะกฎ กพ. ที่พูดถึงกฎหมายคุ้มครองทางเพศในที่ทำงานของข้าราชการพลเรือน ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ”จะเด็จ กล่าว 

นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า  นอกจากกฎหมายก็ไม่ได้บอกว่า การใช้สายตา วาจา การใช้โซเชียลมีเดียในการคุกคามเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเสนอให้มีการเขียนกฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ในครองครัวต้องบ่มเพาะเรื่องของผู้ชาย เพราะการคุกคามทางเพศสาเหตุมาจากการใช้อำนาจที่มาจากชายเป็นใหญ่ 2.ต้องมีหลักสูตรของชั้นประถมศึกษา มัธยม 

จนมหาวิทยาลัยเพื่อทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเพศไหนต้องเคารพในเรื่องสิทธิเท่าเทียมกัน ต้องมีหลักสูตรในเรื่องของ Generation ทำให้เห็นว่าหญิง ชาย จะต้องประพฤติเท่าเทียมกัน และ 3.ต้องยกเลิกสื่อที่มีฉากการคุกคามทางเพศ 

“ควรมีกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการคุกคามทางเพศอย่างจริงจัง การถูกคุกคามทางวาจา ทางโซเชียลมีเดียก็ควรจะต้องให้เป็นเรื่องที่ผิด และให้คุ้มครองทุกคน ไม่เฉพาะข้าราชการเท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง ทุกคนทุกกลุ่มควรได้รับการคุ้มครองการคุกคามทางเพศ”ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว  

หมายเหตุ : สารคดีชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

image_pdfimage_print