“ตายแล้วไปไหน?” คำถามที่เป็นชนวนสำคัญในการค้นหาคำตอบของมนุษยชาติ หลากหลายบทพิสูจน์ของคำตอบยังคงเป็นอจินไตย ไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่แท้จริงและจับต้องได้ แต่ครั้งหนึ่งคำตอบของโลกหลังความตายได้รับการไขกระจ่างจากพระศาสดาสู่ผู้ศรัทธาในศาสนา จนกลายเป็นชุดความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาและมีหลักในการอธิบายให้กระจ่างแจ้งตามแต่ละศาสนา หากจะบอกว่าโลกหลังความตายนั้นไม่สำคัญ คงเป็นสิ่งที่ขัดต่อวิสัยของมนุษย์ที่ยังคงคาดหวังต่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ในโลกนี้สู่การมีความสุขในโลกหน้า

ในคริสตศาสนาเชื่อว่า การตายคือการกลับสู่อ้อมอกของพระเจ้า ศาสนาอิสลามเชื่อว่าพระเจ้าทรงกำหนดวันเกิด-วันตายไว้ให้แล้ว การตายมิใช่การสูญสลายหายไป แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งเท่านั้น ส่วนในพระพุทธศานาเชื่อว่าการตายคือการดับไปของขันธ์ 5 ซึ่งประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สังเกตว่าความตายตามคำอธิบายทางศาสนาจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแต่คำสอนของพระศาสดาทั้งสิ้น

พุทธศาสนาในอีสานปรากฏบุญประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายหรือการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับให้เห็นเป็นประจำ สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตหลังความตายของผู้คนในแถบนี้อย่างชัดเจน เช่น พิธีกรรมส่งสการงานเฮือนดี งานบุญแจกข้าว ประเพณีในฮีตสิบสองคองสิบสี่ อย่าง บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน หรือประเพณีบุญข้าวสากในช่วงเดือนสิบ หรือในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 หรือตรงกับช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งการบุญนี้เชื่อมโยงกับบทบาททางความเชื่อ และโลกทัศน์หลังความตาย ภายใต้ร่มพระพุทธศาสนา 

15 ค่ำ เดือน 10 คิดฮอดผู้จากจึงยายข้าวสากแบบบุฟเฟต์

“มีแต่สดใสชื่นคืนวันอันแสนม่วน         
ต่างก็ชวนพี่น้องโฮมเต้าแต่งทาน 
ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย               
กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม 

พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน     
พ่องกะคอนต่าน้อยลงห้วยห่อมนา 
เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง         
ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า 

มีลาบเทาหมกดักแด้ของดีขั่วกุดจี่      
มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน” 

ที่มา: วัดป่ามัชฌิมวาส จ.กาฬสินธุ์

จากผญาคำกลอนข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบุญข้าวสาก ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นผ่านความเชื่อถึงการเดินทางมาเพื่อรับส่วนบุญของผู้ล่วงลับ เหล่าวิญญาณต่างตื่นเต้นดีใจถึงการเดินทางยังเมืองคนครั้งนี้ อีกทั้งในผญาคำกลอนยังชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินของผู้คนในสังคมอีสาน แม้จะล่วงลับไปแล้วแต่อาหารการกินก็ยังคงเป็นอาหารท้องถิ่นดังเดิม เช่น ลาบเทา หมกดักแด้ คั่วกุดจี่ หมกขนุน 

บุญข้าวสาก คำว่า “สาก” ในที่นี้มาจากคำว่า “ฉลาก” หรือ “ฉลากภัตร” บุญข้าวสากในสังคมอีสาน จะมีการทำข้าวสากหรือฉลากภัตรเป็นลักษณะห่อด้วยใบตองเอาไม้กลัดหัวกลัดท้าย มีรูปลักษณ์คล้ายกลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสันตองเหมือนการห่อข้าวต้ม แล้วเย็บติดกันเป็นชุดๆ บางห่อบรรจุหมาก พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ข้าวสาร ปลา เนื้อ ซึ่งแต่ละห่อจะไม่ซ้ำกัน เมื่อห่อเสร็จจะนำไปแขวนห้อยไว้ตามต้นไม้ หรือรั้ววัด ในตอนเช้าดึกของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เสร็จแล้วจะมีการตีโปง กลอง ฆ้อง ระฆัง เป็นสัญญาณป่าวร้องให้เปรตหรือวิญญานของญาติผู้ที่ล่วงลับไปมารับเอา 

บางท้องที่จะมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหารคาวหวาน หมากพลู และบุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ 09.00 -10.00 น. พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อย ซึ่งมีอาหารคาวหวานอย่างละเล็กอย่างละน้อยมารวมกัน ซึ่งแต่ละห่อประกอบด้วย ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู ใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว ส่วน กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง ตามแต่จะเลือกใส่ เพื่อเป็นอาหารหวาน

หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้ 10 คู่ เพื่อนำไปเลี้ยง “ผีตาแฮก” ผีศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่ทำการเกษตรกรรม โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจและช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวไม่ให้มาทำลายต้นข้าว เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดจะทำการเขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตรพระ เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้วผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อออกค้ำ แม่ออกค้ำ หรือที่เรียกว่า “มัคนายก” จะเป็นผู้กล่าวนำคำถวายสลากภัต จากนั้นญาติโยมจึงว่าตาม จบแล้วจึงจะนำไปให้พระเณรจับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว (สำรับกับข้าว) และเครื่องปัจจัยไทยทาน ก็จะนำไปประเคนให้พระรูปนั้น

จากนั้นพระ-เณรจะฉันเพลและให้พรแก่ญาติโยม จากนั้นจึงรับพรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีกรรมเช่นนี้เรียกว่า “แจกข้าวสาก” ในบางท้องที่หลังจากเรียกหาวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไป ผีไร่ ผีนา ให้มารับด้วย จากนั้นชาวบ้านที่จะเก็บข้าวของเหล่านั้นคืนมา ในบางพื้นที่มีการแย่งกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งเรียกว่า “ชิงเปรต” หรือ “แย่งข้าวสาก” โดยมีความเชื่อท้องถิ่นที่ว่า หากผู้ใดแย่งข้าวสากกากเดนเปรตมากิน จะเป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยพยาธิต่างๆ ใบตองที่ห่อข้าวสากก็ให้นำเอามาเก็บไว้ตามไร่นาตากล้า โดยเชื่อว่าจะทำให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ดี เพราะช่วงที่จัดการบุญข้าวสากจะเป็นช่วงที่ข้าวกล้ากำลังอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ทางการเกษตรบริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร 

ความเชื่อ ความหวัง และพลังแห่งการบุญ

“เมื่อเทิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน     
เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ 
ข้าวสลากนำไปให้สังโฆทานทอด                
พากันหวังยอดแก้วนิพพานพ้นที่สูง

ฝูงหมู่ลุงอาวป้าคณาเนืองน้อมส่ง                 
ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป 
อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต                                  
พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง”

ผญาคำกลอนที่สะท้อนถึงความการทำทานแก่ทุกสรรพชีวิตที่ล่วงลับ อีกทั้งการทำทานยังสนองต่อแรงปรารถนาถึงการเข้าสู่นิพพานการหลุดพ้นต่อกิเลสทั้งปวงเมื่อชีวิตของตนเปลี่ยนผ่านสู่โลกหน้า 

เมื่อสมัยพุทธกาล ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังกรุงพาราณสี ในคราวนี้มีสามีและภรรยาคู่หนึ่ง ทั้งคู่ประกอบอาชีพตัดฟืนขาย และเป็นผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า “เรายากจนในปัจจุบันนี้ เพราะไม่เคยทำบุญให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นเราจึงควรที่จะทำบุญกุศล อันจะเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า” เมื่อภรรยาได้ฟังดังนี้แล้วก็พลอยเห็นดีด้วย ในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วจึงนำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัดเพื่อถวายเป็นสลากภัตร พร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวาย เสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพี แล้วตั้งความปรารถนา 

“ด้วยผลทานครั้งนี้ ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมากในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด” 

ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทานจึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่อง พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า “สลากภัตเทพบุตรเทพธิดา” ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่า “พระเจ้าสัทธาดิส” เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา สูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็น “พระตถาคต” หรือ “พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า” นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตร นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ และถึงความเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด

ชาวอีสานจะเชื่อว่าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่พระยายมภิบาลเปิดขุมนรกให้สัตว์นรกได้มารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องจากเมืองมนุษย์ เมื่อพวกเปรตหรือสัตว์นรกเหล่านี้ได้รับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก พวกที่ได้รับบุญกุศลจากการทำบุญข้าวสากก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขมีความอุดมสมบูรณ์ตามที่ต้องการและปรารถนา ในทางตรงข้ามถ้าหากพวกเปรตหรือสัตว์นรกมาแล้วเกิดไม่ได้ส่วนบุญอะไรเลยก็จะน้อยเนื้อต่ำใจว่า ลูกหลานไม่ใส่ใจ ถึงแม้ว่าผู้อื่นไม่ใช่ญาติสายโลหิตจะอุทิศแผ่ส่วนบุญไปให้ ทำได้เพียงเลียใบตองห่อข้าวสากเท่านั้น มากหน่อยคือสาปลูกแช่งหลานที่ไม่เอาใจใส่จนกระทั้งลืมผู้มีพระคุณ ในเรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อที่สะท้อนให้เกิดความเกรงกลัวต่อโทษจากการทอดทิ้งผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะบิดามารดา ญาติสายโลหิต ที่ควรได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ 

ในประเพณีบุญข้าวสากนี้ บางท้องที่จะจัดให้มีการถวายทาน รักษาศีล เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลไปให้เหล่าญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวันอีกด้วย โดยเรื่องราวเนื้อหาที่พระสงฆ์นำมาเทศนานั้น ส่วนมากเป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นและมีอิทธิพลต่อความเชื่อของท้องถิ่น ในลักษณะของการขัดเกลาจิตใจและเร่งเร้าให้ทำคุณงามความดีในรูปแบบต่างๆ บุญเดือนสิบจึงถือได้ว่าเป็นการบุญประเพณีอันดีที่คนอีสานเอาใจใส่และประพฤติปฏิบัติกัน

อีกนัยหนึ่งการบุญนี้จะเรียกว่า บุญสลากภัตร ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวายทาน จะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทานและเขียนชื่อของตนลงในบาตร หากภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของแด่พระรูปนั้น เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว จะมีการฟังเทศนาเพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน 

ในงานวิจัยเรื่อง บุญข้าวสากในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม “ไทด่าน” ศึกษาวิจัยโดย เอกรินทร์ พึ่งประชา ได้อธิบายว่า สาระสำคัญของงานบุญข้าวสากแทบไม่ต่างจากงานบุญเดือนสิบของภาคใต้ สารทไทภาคกลาง สลากภัตภาคเหนือ ซึ่งบุญดังกล่าวจะอิงความหมายเข้ากับเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาและการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับหรือผีบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน 

บุญข้าวสากได้สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตทางการเกษตรที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก รวมถึงยังสัมพันธ์กับนิเวศวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านจัดพิธีกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นช่วงเดือนเก้า ซึ่งก็คืองานบุญข้าวประดับดิน อีกทั้งการบุญนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์และจิตวิญญาณของคนต่างภพที่สื่อผ่านสายสัมพันธ์เครือญาติและการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผีบรรพบุรุษที่ชาวบ้านได้ฝากความหวังในฐานะเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจ ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และการดำรงชีพทางการเกษตร

เอกรินทร์ ยังอธิบายอีกว่า จากปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็น “จักรวาลวิทยา” ที่ประกอบด้วยคน สังคม สิ่งแวดล้อม และสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างภพภูมิอื่นๆ ด้วยเหตุนี้บุญข้าวสากจึงแสดงคุณค่าในระบบนิเวศเชิงลึกและเป็นรากฐานสำคัญของใช้ชีวิตแบบ “นึกถึงคนอื่น” ซึ่งจะทำให้สังคมรู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปันและการจัดระบบนิเวศ ตลอดจนการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งเป็นสังคมที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พอดี และยั่งยืน โดยมีบุญข้าวสากและฮีตอื่นๆ เป็นตัวร้อยรัดคุณค่าเหล่านี้ไว้

หรือการบุญนี้มีรากเดียวกันกับประเพณีสารทเดือนสิบ

สุมาลัย กาลวิบูลย์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบประเพณีสารทเดือนสิบกับแนวคิดเรื่องกรรมและการอุทิศส่วนกุศลในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ได้อธิบายถึงประเพณีและพิธีกรรมการอุทิศส่วนกุศลของผู้คนในสังคมพุทธศาสนาในวันสารทไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเพณีสารทเป็นประเพณีที่คนไทยทั่วทุกภาคให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นวันทำบุญในช่วงกลางเดือนสิบ มีเป้าหมายเพื่อทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งที่เป็นญาติและมิใช่ ชาวภาคใต้เรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีบุญเดือนสิบ” เชื่อว่าอาจจะมาจากพิธีศราทธ์ประจำปีของศาสนา

พราหมณ์-ฮินดู ที่เรียกว่า “ประเพณีปิตรปักษ์” หรือ “โซลาศราทธ์” เนื่องจากมีความสอดคล้องอยู่หลายด้าน อาทิ การนิยามความหมายของ “สารท” และ “เปรต” ที่มาและการประกอบพิธีในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี ขั้นตอนการประกอบพิธีที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังใช้เครื่องอุทิศในเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน 

ไม่ว่าที่มาของประเพณีสารทจะมีความเป็นมาอย่างไร แต่ชาวใต้ยังคงให้ความสำคัญในการประกอบพิธีนี้จนถึงปัจจุบัน ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ที่ล่วงลับที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรกและจะเรียกตัวกลับไปในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 การปฏิบัติของผู้มีชีวิตอยู่ในประเพณีจึงมีอยู่ 2 ครั้ง คือ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และในวันแรม 13 ค่ำแรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านโดยทั่วไปยังไม่ถือว่า เป็นวันสำคัญนัก (เมื่อเทียบกับแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10) ดังนั้นการประกอบพิธีในวันนี้จึงเป็นไปอย่างง่ายๆ เพียงจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการต้อนรับญาติมิตรที่ขึ้นมาจากนรกเท่านั้น ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย”

การประกอบพิธีสารทไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้นยังมีการประกอบพิธีในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันและในช่วงเวลาเดียวกันใน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อย่างไรก็ตามพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีอยู่มากมาย เมื่อพิจารณาคำที่ออกเสียงตรงกับ “สารท” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ “พิธีศราทธ์” เป็นพิธีที่ทำต่อจากพิธีสังสการหรือพิธีชำระให้บริสุทธิ์หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน พิธีทางศาสนาพิธีสุดท้ายในชีวิตเรียกว่าพิธีอันตเยศติ (Antyeshti) พิธีศราทธ์ทำขึ้นหลังจากพิธีศพไม่ว่าจะด้วยการเผาหรือฝังซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของผู้ล่วงลับ โดยพิธีจะทำหลังจากการเสียชีวิตไปแล้วในวันที่สิบ วันที่สิบสาม เดือนที่หกและเดือนที่สิบสอง การประกอบพิธีศราทธ์และเครื่องเซ่นที่เป็นข้าวและเครื่องบูชาแก่บรรดาเปรตเหล่านี้ จะช่วยบรรเทาความทุกข์ได้ ดังนั้นการประกอบพิธีศารทธ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นขาดไม่ได้ ส่วนผู้ที่อยู่บนสรวงสวรรค์อยู่แล้วก็จะได้รับความพึงพอใจ เพิ่มอำนาจและเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกาย

ความเหมือนของประเพณีสารทเดือนสิบทางภาคใต้ บุญข้าวสากของคนอีสาน และพิธีศราทธ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ล้วนแล้วแต่มีรากพิธีกรรมคล้ายกันและมีแนวคิดต่อการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเหมือนกัน รวมไปถึงการตระหนักในเรื่องบุญ-บาปทั้งในภพนี้และภพหน้า จากความเชื่อจนนำไปสู่การเกิดขึ้นของประเพณีที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ กลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญมีการกําหนดเป็นระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติอย่างชัดเจน กระทั้งบางประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหลังความตาย แม้จะเป็นเรื่องอจินไตย แต่มนุษย์เองยังคงให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อความเชื่อดังกล่าวเรื่อยมา

อ้างอิง:

  • วัดป่ามัชฌิมวาส บ้านดงเมือง ตำบลลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์. (2556,13 กันยายน). บุญข้าวสาก (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 10). [ออนไลน์]. จาก https://shorturl.asia/Ab1F5
  • สุมาลัย กาลวิบูลย์. (2554). การศึกษาเปรียบเทียบประเพณีสารทเดือนสิบกับแนวคิดเรื่องกรรมและการอุทิศส่วนกุศลในพุทธศาสนานิกายเถรวาท. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. 3(2). 97
  • เอกรินทร์ พึ่งประชา. (2558). บุญข้าวสากในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม “ไทด่าน”. วารสารวิชาการ สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 8(2). 2488.
image_pdfimage_print