ในประวัติศาสตร์ก่อนกำเนิดเป็นรัฐไทย (nation-state) กรุงศรีอยุธยาเคยย้ายมาตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ฝั่งธนบุรี อันมีเหตุผลมาจากภาวะปัญหาสงคราม และต่อมาเมืองหลวงก็ถูกย้ายอีกครั้ง ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งในฝั่งพระนคร คือ “กรุงเทพมหานคร” ในปัจจุบัน เช่นเดียวกันเหตุของปัญหาสงครามก็เคยเกือบทำให้เราต้องย้ายเมืองหลวงอีกครั้งเพื่อไปตั้งที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยการนำของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม การสร้างเมืองหลวงครั้งนั้น จำเป็นต้องใช้แรงงานอย่างมาก รัฐบาลมีการเกณฑ์แรงงานจากทั่วหัวระแหงของประเทศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมือง และหนึ่งในนั้นคือ “แรงงานอีสาน” ที่ถูกเกณฑ์ไปและล้มตายจากปัญหาพิษไข้มาลาเรีย จนทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีสาน ออกมาท้วงติงและคัดค้านถึงปฏิบัติการการย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้
อะไรคือสาเหตุของการย้ายเมืองหลวง แรงงานอีสานเกี่ยวข้องอย่างไร และอะไรคือความล้มเหลวของปฏิบัติการการสร้างเมืองในครั้งนี้ The Isaan Record ชวนท่านผู้อ่านหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามที่เป็นชนวนให้เกิดการย้ายเมืองหลวง
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2467) ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญกับสงครามในครั้งนั้น จากการบีบคั้นของประเทศมหาอำนาจที่ต่างฝ่ายต่างพยายามเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อชักจูงให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย และนอกจากนั้นยังต้องการเศรษฐสงครามที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ดีบุก ยางพารา
ขณะเดียวกัน ไทยก็พยายามดำเนินนโยบายโดยมุ่งรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งในระยะแรก ประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลชุด จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในสงครามครั้งนี้
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล ฐานทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิคของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกตามจุดต่างๆ ในประเทศไทยเช่น จ.สงขลา จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ขณะนั้นเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทย โดยให้รัฐบาลไทยเลือกตามข้อเสนอที่ญี่ปุ่นกำหนดมา คือ
- ให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย
- ให้ประเทศไทยเข้าร่วมรบเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น
- ให้ประเทศไทยเข้าร่วมรบโดยเข้าเป็นภาคีในสัญญาไตรภาคี
จากนั้น 8 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจยอมผ่อนผันให้ญี่ปุ่นเดินทัพเข้าสู่ประเทศไทย และในไม่นาน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะผู้นำของประเทศก็ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเต็มตัว
สถานการณ์การเมืองของประเทศ ณ ขณะนั้น ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะอันตรายเป็นที่สุด อย่าง สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นได้บีบบังคับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อคว้านเอายุทธปัจจัยคือยางและดีบุกไปใช้ให้หมด โดยพยายามอ้างบุญคุณที่ญี่ปุ่นเคยเข้าช่วยเหลือหรือไกล่เกลี่ยในกรณีสงครามอินโดจีน ซึ่งเป็นสงครามย่อยระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสในครั้งนั้น
ส่วน สถานการณ์ด้านการเงิน ของประเทศในตอนนั้น ญี่ปุ่นได้มีการติดต่อเจรจาขอกู้เงินจากไทยเพื่อใช้เงินบาทในการซื้อสินค้าไทย โดยกำหนดชำระเงินเป็นทองคำและได้ทำการกู้เงินอยู่ซ้ำๆ จนทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มทรุดหนัก
อีกทั้งการทำการค้าร่วมกับญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ประเทศไทยถือเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบอยู่เสมอ รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มการผลิตธนบัตรออกมาใช้เพิ่มจนผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในที่สุด ทำให้สถานะทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศคลอนแคลนอย่างหนัก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จำเป็นต้องหาวิธีแก้ไข เพราะการกระทำของประเทศญี่ปุ่นไม่ใช่ลักษณะที่มิตรประเทศจะพึงกระทำต่อกัน ญี่ปุ่นพยามแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของไทยและเป็นบ่อนทำลายเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง หนทางแก้ไขของ จอมพล ป. พิบูลสงครามในตอนนั้น คือการเตรียมพร้อมที่จะต่อต้านญี่ปุ่น ด้วยโครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.เพชรบูรณ์ เพื่อใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น

ภาพ: หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์
วัตถุประสงค์สำคัญของการย้ายเมืองหลวงจาก “กรุงเทพฯ” ไปยัง “เพชรบูรณ์”
การย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.เพชรบูรณ์ นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องหลังจากเกิดโครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไป จ.สระบุรี เมื่อปี 2485 โดยรัฐบาลในขณะนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เมืองหลวงใหม่เป็นที่รวมจิตใจและศิลปะของคนไทย
ต่อมาเมื่อสงครามเอเชียบูรพาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ไทยเข้าไปมีบทบาทในฐานะเป็นพันธมิตรของฝ่ายอักษะ โดยสร้างสัมพันธ์กับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด โครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไป จ.สระบุรี จึงได้ยุติลงในภายหลัง ต่อมาไม่นานได้เกิดโครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไป จ.เพชรบูรณ์แทน โดยรัฐบาลอ้างว่าเนื่องจากทำเลของเพชรบูรณ์เหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองหลวงใหม่แทนสระบุรีอันเป็นเป้าหมายเดิม ซึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีบันทึกในเรื่องนี้ว่า “เมืองหลวงที่สร้างบริเวณพระพุทธบาทนั้นไม่เหมาะสมกับการนี้จึงสมควรที่จะระงับไว้ก่อน”
แม้จุดประสงค์ใหญ่ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมุ่งเน้นยุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่ แต่ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ร่วมอยู่ด้วยคือการป้องกันไม่ให้ประชาชนในเมืองหลวงต้องเผชิญกับอันตรายจากลูกระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งตามจุดสำคัญในกรุงเทพฯ รัฐบาลในขณะนั้นได้พิจารณาปัญหาโดยพยายามให้ประชาชนอพยพหลบภัยสงครามจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่อื่นคือเพชรบูรณ์
การย้ายเมืองไปตั้งที่เพชรบูรณ์นอกจากประชาชนจะได้รับความปลอดภัย ยังมีผลทำให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองที่มีความเจริญมากขึ้น รัฐบาลได้อ้างว่า “เป็นการระบายความแออัดของประชาชนในกรุงเทพฯ” รวมทั้งโครงการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ ยังเป็น “โครงการหนึ่งในหลักแห่งการสร้างชาติให้มั่นคง ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ซึ่งหากพิจารณาในแง่ส่วนตัวแล้ว การทำอย่างนี้ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการสร้างชื่อเสียงหรืออนุสรณ์ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการสร้างเมืองหลวงที่เพชรบูรณ์ จะเห็นจากตัวอย่างเกี่ยวกับชื่อสถานที่ต่างๆ เช่น จ.พิบูลสงคราม ถ.สามัคคีชัย ในตัวเมืองเพชรบูรณ์

แรงงานอีสานสร้างเมืองหลวงเพชรบูรณ์
การเกณฑ์แรงงานประชาชนของรัฐบาลในครั้งนั้น รัฐบาลจะเกณฑ์แรงงานราษฎรใน จ.เพชรบูรณ์ ก่อน เพื่อทำการก่อสร้างถนน ซึ่งหน่วยราชการแต่ละหน่วยต่างก็แย่งเขียนรายงานเพื่อขอแรงงาน ทำให้แรงงานใน จ.เพชรบูรณ์ ที่มีอยู่น้อยนิดไม่เพียงพอ และหากเกณฑ์แรงงานไปทำงานมากไป ก็จะไม่มีผู้ใดทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ผลิตอาหารเลี้ยงคนที่มาอยู่
ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้มีการเปิดสำนักงานจัดการเกณฑ์แรงงานขึ้น มีหน้าที่จัดหาแรงงานสนองต่อหน่วยราชการที่ต้องการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะถูกเกณฑ์มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อไม่ให้แรงงานในเพชรบูรณ์ต้องทำงานหนักเกินสมควร และการเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างในครั้งนั้น ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก บ้างก็เจ็บไข้ บ้างก็เสียชีวิต เหตุเพราะว่าเพชรบูรณ์เป็นดินแดนที่ชุกชุมไปด้วยไข้ป่าหรือโรคมาลาเรีย
นี่เองจึงทำให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการสร้างเมืองทำการโจมตีอย่างหนัก ซึ่งความทุกข์ยากของราษฎรสามารถยกตัวอย่างได้จากการบรรยายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน หรือหนังสือพิมพ์ที่ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนส่งไปขอความเห็นใจ
การอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลพ.ศ. 2487 ในครั้งนั้น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอุบลราชธานี อภิปรายถึงการสมควรให้พิจารณาการเกณฑ์แรงงานอีสานไปสร้างเมืองหลวงใหม่ในครั้งนี้ ความว่า
“ราษฎรได้ถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อจะไปสร้างที่ทำงาน หรือเพื่ออะไรให้แก่ผู้ที่จะโยกย้ายเวลาถึงคราวจำเป็น การที่จะไปทำงานนี้ส่วนมากดูเหมือนจะเป็นความสุขสบายสำหรับประชาชน ทั้งผู้ใหญ่ ผู้น้อย ลูกเล็กเด็กแดงที่จะไปอยู่ แต่ความจริงผลที่ได้จากการไปทำงานนั้นเป็นอย่างไร ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายคงจะทราบดีว่า จ.เพชรบูรณ์ อย่างที่เพื่อนสมาชิกได้กล่าวแล้วว่า เป็นจังหวัดมหากันดาร ท่านกล่าวคำนี้ฉันจำได้
“และราษฎรเหล่านั้นถูกเกณฑ์ไปจะถือว่าเป็นบุคคลหรือผู้ที่ไม่มีชีวิตจิตใจอย่างไรฉันไม่สามารถทราบได้ อาจถูกเกณฑ์ไปทั้งที่เจ็บป่วยอยู่ก็มี มีลูกเล็กเด็กแดงก็มี กำลังทำไร่ไถนาก็มี และเมื่อถูกเกณฑ์มาแล้วต้องหาบของพะรุงพะรังและถูกจับอัดเข้าตู้รถไฟตู้หนึ่งที่เคยใส่หมูกำหนดเพียงสาม 15 ตัว แต่บรรจุคนตั้ง 50 ถึง 60 คน ต้องยืนแกร่วมาจากสถานีวารินมาถึงแก่งคอยเป็นเวลาตั้งห้าถึง 6 ชั่วโมง ต่อจากนั้นต้องเดินเท้าอีกไม่ต่ำกว่า 10 วัน
“เหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากนครบาลเพชรบูรณ์ทั้งนั้น ฉันจึงใคร่ขอร้องท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายได้แลเห็นราษฎรชาวจังหวัดภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่ได้รับความเดือดร้อนในการก่อสร้างเพชรบูรณ์แทบเลือดตากระเด็น ทางจังหวัดที่ฉันไปมาแล้ว อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่ถูกเกณฑ์ไปแล้ว 800 คน ตายไปแล้ว 90 คน ทั้งนี้ตายด้วยมาลาเรียเป็นสวนมาก นอกจากนั้นยังเจ็บป่วยอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 50%
“ท่านคิดดู หรือว่าอย่างจังหวัดอื่นๆ ที่ถูกเกณฑ์ไปในดินแดนทุรกันดารเช่นนี้ อย่างจ.อุบลราชธานี ที่ถูกเกณฑ์ไปแล้ว 6,000 กว่าคน และบุคคลเหล่านี้คิดจำนวนตายร้อยละ 10 ก็ 600 คน และจะต้องป่วยเป็นมาลาเรียเรื้อรังอีกถึง 50% และคนที่ไปที่ก็ต้องเป็นมาเรียทุกคน กำลังของชาติอยู่ในสภาวะเช่นนี้ชาติจะเป็นอย่างไร และเดี๋ยวนี้เป็นฤดูทำนาแล้ว ความเป็นแนวหลังจะทำอย่างไร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอได้โปรดคิดดู ขอได้โปรดพิจารณาตามประชาชนซึ่งถูกเกณฑ์ไปใน 10 จังหวัด คิดจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จำนวนคนตายร้อยละ 10 ก็ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
“จำนวนที่ป่วยเรื้อรังก็ยังมีอีกมาก เหล่านี้ฉันขอความเห็นใจจากผู้มีเกียรติทั้งหลาย ไม่ได้เจตนาจะคัดค้านรัฐบาลอย่างจริงจัง แต่เป็นการขอร้องให้ท่านใช้ความเมตตา กรุณา มุทิตา และขออย่าใช้อุเบกขาเพื่อให้ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้ได้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงจะต้องทำตามคำขอท่านผู้นำที่ว่าให้อยู่ดีกินดี ถ้าให้ราษฎรไปป่วยตายเช่นนี้ ราษฎรจะอยู่ดีกินดีได้อย่างไร”

ส่วน เขมชาติ บุญรัตพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากร้อยเอ็ด ก็ได้อภิปรายถึงการสมควรให้พิจารณาการเกณฑ์แรงงานอีสานไปสร้างเมืองหลวงใหม่ในครั้งนี้เช่นกัน ความว่า
“ราษฎรในจังหวัดถูกเกณฑ์มา 1,000 คน ได้รับความลำบาก พูดกันอย่างในสมัยนี้ราษฎรได้รับสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่ควรถูกเกณฑ์เช่นนี้ เพียงแต่เกณฑ์ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ เรายังร้องแล้วว่าเป็นการยุติธรรมแก่ราษฎร เขามีการงาน มีนาไร่จะต้องทำ แต่ที่เกณฑ์มาตั้งเดือนๆ แล้วได้ค่าจ้างวันละ 70 สตางค์ จะอยู่ได้อย่างไรกัน
“แล้วไม่ใช่มีรถมา ต้องเดินทาง 5 วัน ป่วยเจ็บล้มตาย ขับรถมารถก็ไม่มีหลังคา ถึงสถานีค่อยให้ลงไปกินน้ำ มันไม่ใช่ราษฎรในสมัยนี้ มันเป็นราษฎรในสมัยโบราณมากกว่า ดีแต่อย่างเดียวคือไม่ต้องเข้าขบวนมที่มีเชือกผูกเท่านั้น พอมาถึงสถานีหนึ่งแล้วต้องเดินไปอีก นี่ไม่ใช่มาพูดพรรณาให้สงสาร ท่านลองถาม แต่อย่าไปถามคนซึ่งได้รับเงินเดือนมากๆ หรือเบี้ยเลี้ยงมากๆ ขอให้ไปถามกับราษฎร แล้วกลับมาดูเถิด
“เมื่อไปถึงที่ปลูกให้อยู่อาศัย ซึ่งที่นั่นคนจนที่สุดในจังหวัดนั้นก็ยังอยู่ดีกว่าเสียอีกจนเจ็บป่วยล้มตายตัวเป็นแผล หัวหนอนกินก็ยังไม่มียาใส่ เมื่อขุดลงไปเพื่อฝังเสาก็พบศพขึ้นมามีหนอนยังกินอยู่ ไม่มีป้ายบอกชื่อ ไม่มีทุกอย่าง นี่คือลักษณะของการเกณฑ์คนไปทำงานที่เพชรบูรณ์ด้วยวิธีแบบนี้ ฉันบอกว่าเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว ในจังหวัดของฉันหลายพันคน และจังหวัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ขอเรียกว่าคนไทยถูกเกณฑ์มาทำงาน โดยฉันเห็นว่าไม่เข้าเรื่องอย่างนี้
“เอาเถอะเมื่อเอามาแล้วทำให้เขาอยู่ดีกินดีตามที่รัฐประกาศเช่นนี้ ฉันไม่ว่าแต่นี่เขาถูกเกณฑ์มาไม่ได้อยู่ดีกินดีสมกับวัฒนธรรม การอยู่กันกินเลวที่สุด ป่วยเจ็บไม่ได้รับการรักษาพยาบาล เมื่อเสร็จงานแล้วพอถึงบ้านบางคนหนีเข้าป่าไปเลย ไปเป็นพวกปล้นเสียเยอะ ท่านไปถามทาง จ.อุตรดิตถ์ ดูบ้าง เดี๋ยวนี้มีการปล้นกันแล้ว พวกนี้เป็นพวกที่ถูกเกณฑ์ไปแล้วหนีไปเป็นพวกปล้น และในเมื่อปล้นแล้วก็ไม่กล้ากลับบ้านของตนไปอยู่จังหวัดอื่น
“บางคนถูกเกณฑ์มาก็เล่นโบกเล่นเบี้ยให้ตำรวจดูเดี๋ยวนั้น เพื่อให้ถูกจับเข้าตาราง ที่ฉันบอกว่าเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว ราษฎรได้รับความทรมานหัวใจ ราษฎรได้รับความทุกข์ยากลำบากทุกประการ และเราจะให้สำเร็จได้อย่างไรนี่ เราจะหนีสงครามไปยัง จ.เพชรบูรณ์ ไม่สำเร็จแน่ ที่ว่าเป็นนโยบายทางการเมืองแต่ว่าคิดดูแล้ว ไม่เช่นนั้นไม่ใช่นโยบาย ไม่สำเร็จอะไรซักอย่าง ทำเพชรบูรณ์ก็ไม่สำเร็จ และยิ่งกว่านั้นผลก็ไม่ได้ เพชรบูรณ์ไม่ใช่ที่ของคนอยู่ แต่เป็นที่ของมาเรียอยู่เป็นที่ของโรคบิดอยู่ เมื่อไปอยู่ในนั้นแล้วก็หากินยาก
“เดี๋ยวนี้ราชการจะไปซื้อข้าวกินก็ลำบาก แล้วจะเอาพลเมืองไปอยู่เป็นแสนๆ ได้อย่างไร หน้าแดดก็ร้อนเป็นไฟไฟ หน้าฝนน้ำท่วมคนตายอยู่ในนั้น ไม่ใช่เมืองของคนอยู่แล้ว จะไปสร้างให้เป็นเมืองของคนอยู่ได้อย่างไร เมื่อไม่ได้แล้วสภาก็ไม่ควรอนุมัติ เพราะเราเคยตามใจอนุมัติให้ทำงาน ทำให้เสียเงินเสียทองมามากแล้ว แต่มาถึงวันนี้ขอท้วงติงเสียบ้าง ถ้าไม่ท้วงแล้วจะไปกันใหญ่ เพชรบูรณ์สร้างเป็นเมืองคนอยู่ก็ไม่ได้ เข้าก็เข้ายาก ครั้นจะออกมาเมื่อมีเหตุภัยก็ไม่ไหว เว้นไว้แต่จะไปทางเครื่องบิน ถ้าเดินไปก็ตายอยู่ในป่าทั้งหมด
“เพราะฉะนั้นเมื่อขึ้นต้นไม่ดีแล้ว ผลที่จะได้รับให้เป็นเมืองสวยงามคงเป็นไปไม่ได้ฉันอยากให้สภายังไม่รับหลักการอันนี้ไว้ เราค่อยสร้างกันทีหลังเถิด ไว้เราสบายใจกันแล้วเราอาจจะสร้างเพชรบูรณ์กันตอนหลังก็ได้ เราอาจจะไปสร้างเมืองอะไรสวยๆ แทนก็ได้ เพราะฉะนั้นฉันมีความเห็นว่าสภาไม่ควรรับหลักการ”

ท้ายที่สุด เมืองหลวงแห่งใหม่ก็ไม่ได้ไปต่อ
สุดท้ายการย้ายเมืองหลวงก็กลับกลายเป็นเหตุให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ เพราะพระราชกำหนดให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่ง ใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 ถูกคว่ำกลางสภา เพราะผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลว่า
“เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดารภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพันๆ คน”
พรเลิศ พันธุ์วัฒนา ได้อธิบายในงานศึกษา เรื่อง โครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไว้ว่า “จากนั้น จอมพล ป. จึงประกาศลาออกตามกติกาประชาธิปไตย ซึ่งความจริงแล้วเรื่องการย้ายเมืองหลวงถือเป็นประเด็นรอง แต่ฝ่ายเสรีไทยที่กำลังเข้ามามีบทบาทให้สภากังวล ก็คือญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม หาก จอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ยังเป็นผู้นำประเทศอยู่ ไทยก็อาจถูกเหมาเป็นพวกเดียวกับอักษะ เป็นประเทศแพ้สงครามไปด้วย”
การลาออกจากตำแหน่งของจอมพล ป. จึงเสมือนเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายเสรีไทยเข้ามาช่วยแก้วิกฤต และทำให้ไทยไม่ต้องกลายเป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากรัฐประหาร ในปี 2490 จอมพล ป. ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ก่อนถูก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในปี 2500 โดยจอมพล ป. ได้ลี้ภัยไปยังประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ในปี 2507
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงาน จากการสำรวจแรงงานโดยชุดรัฐบาลของพันตรีควง อภัยวงศ์ พบว่าได้มีการเกณฑ์แรงงานประชากรที่ปรากฏหลักฐานเป็นทางการถึง 127,281 คน ทำให้เรื่องการเกณฑ์งาน เป็นงานสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะต้องล้มเลิกลงเพื่อให้ประชาชนผ่อนคลายความทุกข์ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศยกเลิกเกณฑ์แรงงานและได้พยายามหาทางบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือกรรมกรที่ถูกเกณฑ์แรงงาน
โดยรัฐบาลได้ประกาศช่วยเหลือลูกกำพร้าของกรรมกรที่ไปทำงานตามคำสั่งของรัฐบาลชุดที่แล้วและเสียชีวิตลง ช่วยเหลือกรรมกรที่ยังไม่ได้รับค่าแรงให้ได้รับค่าแรงตอบแทน รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนที่ขัดขืนไม่ยอมไปทำงานและหลบหนีไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้จับกุมตัวและอยู่ในระหว่างส่งฟ้องศาล ทางรัฐบาลก็ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจงดการดำเนินคดีในที่สุด
ที่มาข้อมูล
- พรเลิศ พันธุ์วัฒนา. (2521). โครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม. สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตอนออกเฉียงใต้ภาควิชาประวัติศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567. จาก https://golink.icu/VEaIl0M
- ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ ความฝันของจอมพลป. ที่เกือบเป็นจริง