นครราชสีมา – วันที่ 19 มีนาคม 2567 คนงานเหมืองโพแทชของ บ.ไทยคาลิ จำกัด นำรถขนดิน 5 คันและรถแบ็คโฮจำนวน 2 คน มาคลุมพื้นที่ด้านหน้าเหมืองกว่า 50 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2562 ว่า มีเกลือปกคลุมจนไม่สามารถทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ได้
จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการพยายามปกปิดผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยการนำดินจากนอกพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบมาฝังกลบบริเวณใกล้เคียงหนองน้ำสาธารณะหนองมะค่าใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
“จะเห็นได้ว่า เขาใช้กระบวนการฝังกลบด้วยการใช้รถแบ็คโฮและใช้ผ้ายางสีขาวปู จากนั้นจึงนำดินใหม่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบใส่ลงไปเพื่อปลูกต้นไม้และปกปิดหน้าดินที่เป็นเกลือ ก่อนหน้านี้ทางเหมืองได้พยายามปลูกต้นไม้แล้ว แต่ไม่ได้ใช้วิธีนี้ทำให้ต้นไม้ข้างเหมืองตาย คราวนี้จะมีหน่วยงานรัฐลงพื้นที่เขาจึงเตรียมปกปิดอีกครั้ง”จุฑามาส กล่าว


มีรายงานว่า บริษัทเอกชนเตรียมขุดเจาะอุโมงค์แห่งใหม่ บริเวณดอนหนองโพธิ์ ซึ่งชาวบ้านในอีก 3 ตำบล 11 หมู่บ้านเกรงว่า จะได้รับผลกระทบเหมือนกับชาวบ้านในตำบลหนองไทร ดังนั้นในวันที่ 20 มีนาคม 2567
ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงจะนัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้บริษัทปิดเหมือง
ทั้งนี้มีข้อมูลว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเตรียมจะลงพื้นที่เพื่อติดตามการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย ขณะเดียวกันยังได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนคราชสีมาให้ลงเข้าพบกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชนให้มีความปลอดภัยและปราศจากการคุกคามทุกรูปแบบ
ขณะที่ ไพลิน ผลสันเที๊ยะ ผู้ใหญ่บ้านดอนป่าโอบ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รับทราบว่า จะมีการชุมนุม ซึ่งก็ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ได้กังวลอะไร ในฐานะผู้นำชุมนุมก็ได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบที่ดินกลายเป็นทรายและมีเกลือปกคลุมพื้นที่ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่า เกิดขึ้นจากเหมืองหรือเกิดจากธรรมชาติ




“ถ้าลูกบ้านคนไหนต้องการความช่วยเหลือก็ให้เข้าร้องเรียนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือกันต่อไป ซึ่งในหมู่บ้านมี 200 หลังคาเรือน แต่มีผู้เข้าร้องเรียน 13 คนเท่านั้น ส่วนอีกสองคนไม่ยอมรับความช่วยเหลือ ต้องการจะปิดเหมืองอย่างเดียว อันนี้เราก็ต้องค่อยๆ คุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน”ผู้ใหญ่บ้านกล่าว
เหมืองแร่โพแทช อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับการอนุมัติเมื่อปี 2557 พร้อมกับ เหมืองแร่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขณะที่ จ.ชัยภูมิ ยังไม่มีการทำเหมืองแร่
ขณะที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โพแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการล่าช้า โดยระบุว่า ประเทศไทยมีแร่โพแตชอยู่มากในพื้นที่ภาคอีสาน ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ ไปจนถึงนครราชสีมาตอนบน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายเร่งรัด