ย้อนกลับไปเมื่อ 13 กันยายน 2567 ที่โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น The Isaan Record จัดเสวนาในหัวข้อ “แรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า วงจรค้ามนุษย์ข้ามชาติและอนาคตสวัสดิภาพของแรงงานไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เจนปรียา จำปีหอม ตัวแทนแรงงานเก็บเบอร์รี่ อรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า ดร.อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ ผู้วิจัยหัวข้อการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อให้การส่งคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และภพธรรม สุนันธรรม รักษาการแทนผอ.สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
บทสนทนาเริ่มต้นจากคำถามเรื่องแรงจูงใจที่ทำให้อยากไปเก็บผลไม้ ซึ่งเจนปรียา จำปีหอม เล่าให้ฟังว่า ตนอยากไปหาเงินที่ฟินแลนด์เพราะมีหนี้สิน ตนได้ยินว่าถ้าไปทำงานจะได้เงินคนละ 150,000 – 2000,000 บาทกลับมา เหมือนเขาขายฝันว่าไปแล้วจะได้เงิน มีคนที่ไปมาแล้ว 10-20 ปีบอกต่อกันมา แต่ตอนที่เขาไม่ได้ตามเป้าเราไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้เล่าให้ฟัง มันจึงเป็นแรงจูงใจว่าถ้าเราไปก็ต้องได้เหมือนเขา ต้องได้เงินมาใช้หนี้แน่นอน จากนั้นก็ศึกษาว่าจะไปอย่างไร ไปกับใคร และติดต่อคนที่เขาพาคนไปมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว เขาก็บอกรายละเอียดว่าไปอย่างไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ถ้าเราขยันเราก็จะได้เงินกลับมา 150,000 -180,000 แสนบาท ถ้าขี้เกียจก็จะได้ประมาณ 80,000 บาท
ตนเคยคิดว่าอย่างน้อยก็ได้ค่าแรงกลับมา 80,000 บาท โดยต้องจ่ายค่าดำเนินการ 20,000 บาท หักค่าเครื่องบินอีก 45,000 บาท ซึ่งเขาบอกแค่นี้ ไม่ได้บอกหมดทุกอย่าง แต่พอไปถึงฟินแลนด์เขาหักทุกอย่างทั้งค่าเช่ารถ ค่ากินค่าอยู่ หักประมาณ 130,000-140,000 แสนบาท ก่อนหน้านั้นเขาบอกว่าจะมีค่าขับรถจึงให้สามีขับรถด้วย แต่สุดท้ายค่าขับรถก็ไม่ได้ เงินเดือนก็ไม่ได้ ทำงานก็หักหมด ไม่ได้เงิน ตนและสามีติดลบคนละ 900 ยูโร (ประมาณ 33,000 บาท) สุดท้ายเขาให้แค่ค่าขนมตอนกลับเพื่อหาอะไรกินระหว่างทางคนละ 50 ยูโร
“เราอยากไปหาเงินมาใช้หนี้ ไม่ได้อยากไปทำงานฟรี หรือไปทำโรงทาน กลับมาไม่ได้เงินสักบาทก็เดือดร้อน ตอนไปก็ยืมไป กลับมาแล้วยังต้องมายืมเงินเลี้ยงลูกอีก”
สิ่งที่เจนปรียา พบเจอ นำมาซึ่งความสงสัยว่า คนที่ไปทำงานต่อเนื่อง 10-20 ปีเขาไปได้อย่างไร ไปแล้วได้เงินจริงหรือไม่ ทั้งที่ตนพยายามทำเต็มที่แล้ว แต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่คาดหวัง
“สัญญาที่ไปเป็นสัญญาจ้างที่ให้เดินทางด้วยตัวเอง แต่ผ่านกระทรวงแรงงาน ทำให้มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ถ้ามีปัญหาเขาต้องดูแลรับผิดชอบเราได้ พอกลับมาร้องเรียนเงินจำนวน 30,240 บาท เขาก็ปัดไปว่ามันผิดประเภท ผิดสัญญา เนื่องจากคุณไปทำงานในฟาร์ม แต่คุณดันไปเก็บเบอร์รี่เอง เราไม่ได้จัดให้คุณไปเก็บ คุณทำผิดสัญญา เพราะในสัญญาคุณไปเป็นเกษตรกรในฟาร์ม
“การที่บริษัทเตรียมรถและอุปกรณ์ให้ไปเก็บ ถ้าไม่ได้จัดเตรียมให้ไปเอง เราจะไปได้อย่างไร นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานยังปัดอีกว่าเราจะต้องคุยกับบริษัทให้รับผิดชอบ ส่วนบริษัทก็ปัดไปที่กระทรวงแรงงาน มันมีช่องโหว่ระหว่างกระทรวงแรงงาน คนงาน และบริษัท… เราไม่ได้ฉลาดพอ เราไม่รู้ว่าสัญญานี้มันเป็นอย่างไรเขาไม่ได้อธิบายให้ชัดเจน
“พ่อแม่พี่น้องบ้านนอกเราไปใช้แรงงานเราไม่ได้มีความรู้ในการตรวจสอบสัญญา จะได้หรือเสียผลประโยชน์อย่างไร ไม่มีใครคิดตรงนี้ ก็เลยเป็นการโดนเอาเปรียบ เสียเปรียบทั้งขึ้นทั้งล่อง จึงอยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานดูแลพิจารณา ปรับเปลี่ยน เพื่อให้มันชัดเจนและดีขึ้น ในครั้งต่อๆ ไปที่จะดำเนินการส่งคนไปทำงาน เพื่อประโยชน์แก่แรงงาน รวมทั้งภาครัฐของทั้งไทยและฟินแลนด์ด้วย เพื่อให้เกิดสมดุลไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก”
เจนปรียา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอของตนที่เป็นผู้ประสบภัยที่เจอมาแล้ว ตนจะไม่พูดถึงอนาคต แต่จะเสนอเหตุการณ์ในส่วนของคนที่ได้รับผลกระทบมาแล้วว่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือเรื่องหนี้สินที่พวกเราเจออยู่ในตอนนี้
“อยากให้หน่วยงานช่วยเหลือเรื่องหนี้ ไม่ใช่แค่การเจรจาชะลอหรือยืดระยะเวลาการจ่ายเงิน แต่ต้องการกองทุนเพื่อช่วยเหลือโดยให้เปล่า ที่ไม่มีการเอาคืน ขอให้มีทุนให้เรานำมาสร้างรายได้ให้ครอบครัว ขอให้ตัดหนี้ให้สำหรับคนที่ไปเก็บเบอร์รี ไม่ว่าจะโดนยึดบ้าน รถ ขายที่ดิน ขายทอง มูลค่าความเสียหายมันเยอะมาก ท่านไม่เคยรู้ว่าเราเสียไปมากแค่ไหน ขอให้รัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย
“เราน่าจะได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดทุกคน ไม่ใช่เป็นรายครอบครัว ไม่ใช่คิดว่าคุณมีบ้านหลายหลัง มีบ้านหลังใหญ่ มีรถหลายคัน ถามเขาว่าบ้านหรือรถไปอยู่ในธนาคารหรือเปล่า ไม่ใช่เหมือนที่ตาคุณเห็นว่าเขามี ณ ตอนนี้ บางครั้งเขาอาจจะโดนยึดวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ แต่คุณมาวิเคราะห์วิจัยว่ามีแล้วไม่สมควรได้รับ แบบนี้มันก็ไม่โอเค ไม่ใช่หน้าเงิน แต่ว่าเงินมันเป็นความจำเป็น และที่เราไปเราก็ไปหาเงิน เราต้องการเงิน”




อรนุช ผลภิญโญ เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาและทำงานร่วมกับแรงงานเก็บเบอร์รีป่า ผ่านกรณีตัวอย่างของครอบครัวหนึ่ง ที่พ่อ แม่ และลูกเดินทางไปเก็บเบอร์รีในปี 2556 ปัจจุบันยังคงใช้หนี้ ธ.ก.ส. ไม่หมด แรงงานหลายคนมีความเชื่อถือในการเดินทางเพราะผ่านขั้นตอนของกระทรวงแรงงาน สัญญา บริษัท และนายหน้าที่พาไป กรณีศึกษานี้บอกได้ว่า การไปเก็บเบอร์รีไม่ใช่การเสี่ยงโชคว่าตาดีได้ตาร้ายเสีย แต่มันคือปัญหาเรื่องของสัญญาไม่เป็นธรรม คือการมีหนี้ตั้งแต่ยังไม่ทันเดินทางรวมไปถึงการถูกขูดรีดโดยทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อใช้หนี้ที่ก่อตัวขึ้น
“ในกระบวนการนี้ถูกหลอก ถูกจูงใจให้ไปด้วยความหวังว่าเราจะได้เงินกลับมา เราจะร่ำรวย แต่คนที่รวยไม่ใช่แรงงานที่ไปเก็บ คนที่รวยคือ 1.นายหน้า 2.บริษัท 3.คนรับซื้อเบอร์รี่ ที่ต่างประเทศ นี่คือขบวนการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการติดตามการคุ้มครองแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ใน กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บอกว่าการค้ามนุษย์ในความหมายของประเทศไทย คือการหลอกลวง ฉ้อฉล ฉ้อโกง บังคับใช้แรงงานโดยแสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้นกรณีแรงงานเบอร์รี่เราคิดว่านี่คือปัญหาการค้ามนุษย์ เราสามารถฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์
“หลายคนอาจจะบอกว่าเราเป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่สามารถไปต่อรอง หรือกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้นั้น เพราะเราดูถูกตัวเอง คนอีสานมีจำนวนมากที่สุดที่ไปเก็บเบอร์รี่ โดยเฉพาะ จ.ชัยภูมิ นายหน้าก็อยู่ที่ชัยภูมิ เป็นข้อเท็จจริง 460 รายที่ลงชื่อร่วมร้องเรียนกับเครือข่ายของเรา อันดับหนึ่งคือชัยภูมิ หนองบัวลำภู ตามด้วยอุดรธานี”

อรนุช อธิบายอีกว่า เรื่องนี้สะท้อนว่าคนอีสานไม่ใช่คนเกียจคร้าน แต่พวกเขาต้องการมีรายได้ เพราะฐานะทางบ้าน เศรษฐกิจหนี้สินรุมเร้า ถ้าไม่ไปก็ไม่ได้เงิน แต่พอไปแล้วนอกจากไม่ได้เงินกลับถูกนำไปค้าแรงงาน
“พอเกิดปัญหาขึ้นไปเรียกร้องหน่วยงานก็บอกว่าเขาทำถูกต้องแล้ว มีค่าใช้จ่ายแบบนี้ รายรับคุณเท่านี้ ถูกความถูกต้องทางกฎหมายปิดปากคนที่เป็นแรงงาน แม้บางคนจะบอกว่าไปแล้วก็ได้มา 1 แสนกว่าบาท แต่ลองเปรียบเทียบดูว่าไปแล้วที่ได้เงินมีกี่คน ตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน แต่ละปีมีคนไปเก็บเบอร์รี 8,000-9,000 คน แล้วคนที่ได้เงินแสนกว่าบาทและไม่ติดหนี้มีกี่คน และคนที่ไม่ได้เงินแต่ติดหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามีกี่คน เพราะเขาให้ความหวังว่าไปอีกก็ได้ เป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ มันจะหลุดพ้นได้อย่างไร
“นอกจากนี้ประเด็นท้าทาย จากการเก็บข้อมูลในปี 2567 มีจำนวนแรงงานเกือบ 1,000 คนถูกนายหน้าบอกว่าจะได้บินแน่นอนเดือน มิถุนายน 2567 ในขณะที่เขาก็ต้องรู้ใช่หรือไม่ว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้เปิดให้บินไปเก็บผลไม้ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องคดีความค้ามนุษย์ เขาต้องรู้ แต่รู้แล้วทำไมยังเปิด คนเก่าเก็บหัวละ 2 หมื่นบาท คนใหม่ 5 หมื่นบาท พอไม่ได้บินก็โทษคนอื่น ว่าเป็นเพราะพวกที่ไปเรียกร้องว่าไม่ให้เปิด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทางบริษัท หรือนายหน้าต้องรู้ว่าไม่ให้มีการบินไปเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องค้ามนุษย์ มีเจ้าของบริษัทหลายคนถูกดำเนินคดีที่ฟินแลนด์และสวีเดน แต่กลับโยนเผือกให้คนอื่น
“เข้าใจว่าแรงงานทุกคนที่ต้องการไปเพราะต้องการเงิน แต่รู้หรือไม่ว่าบางคนไปแล้วเป็นหนี้กลับมาผูกคอตาย คนอีสานทั้งนั้น ถามว่าเรื่องนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เราไม่ได้ขัดขวางการไปทำงานเก็บเบอร์รี่ แต่ถ้าไปแล้วเป็นหนี้กลับมา มันก็จะมีคนที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่มีคนรับผิดชอบ เพราะอ้างว่าไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ ดังนั้นถ้าเราไม่มองว่าการส่งคนงานไปเก็บเบอร์รี่เป็นขบวนการค้านมนุษย์แล้วเราจะมองเป็นขบวนการอะไร”

อรนุช กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอ สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาต้องตัดวงจรของพ่อค้าคนกลางคือนายหน้าออกไป โดยต้องดำเนินการดังนี้ 1.มีการตั้งสหภาพแรงงานของคนเก็บเบอร์รี่ เพื่อคุยโควตาอย่างมีส่วนร่วมระหว่างรัฐต่อรัฐ การที่รัฐบาลกับรัฐบาลคุยกันจะทำให้เรารู้ว่าจะมีโควตาในการไปเก็บเท่าไร การกำหนดโควตาต้องมีตัวแทนของแรงงานเข้าไปร่วมด้วย จึงต้องมีสหภาพแรงงานขึ้นมา เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางด้วย 2.การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้คุ้มครองแรงงานได้อย่างครอบคลุมแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศ 3.ต้องแก้ไขปัญหาเดิมให้แล้วเสร็จ
“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สิน ระบบ กลไก โครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้เรากังวลว่าพี่น้อง 1,000 กว่าคนที่ได้ลงไปเก็บข้อมูลว่าเขาได้จ่ายเงินไป แต่ไม่ได้บิน ตรงนี้บริษัทต้องรับผิดชอบ โดยกรมการจัดหางานต้องรับผิดชอบเพื่อให้บริษัทนำเงินมาคืนเสียก่อน ส่วนใครจะไปปีหน้าค่อยว่ากันใหม่”
อรนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีภาระหนี้สินของผู้เสียหาย สิ่งที่อยากเสนอเป็นรูปธรรมคือภาระหนี้สิน ธ.ก.ส. ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับ ธ.ก.ส. ที่เอาเงินออกมาเพื่อไปเก็บเบอร์รี่ ตนเสนอว่าให้ปรับโครสร้างนี้เป็นศูนย์ เพราะพี่น้องที่ไปมาเมื่อปี 2556 ผ่านไป 10 กว่าปีแล้วก็ยังจ่ายแค่ดอกเบี้ยอยู่ เพราะเรื่องนี้เป็นผลจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐในการส่งคนออกไปโดยผ่าน ธ.ก.ส. ส่วนหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยขึ้นทุกวันๆ เสนอว่าอยากให้มีกองทุนของรัฐในการดูแลเยียวยาตรงนี้ เพราะหากเราไม่สกัดกั้นหนี้สินเดิมจากการไปเก็บเบอร์รี่ หนี้สินใหม่ก็จะหนักกว่าเดิม

ขณะที่ ดร.อุกฤษฏ์ กล่าวว่า ในกรณีการฟ้องร้องบุคคลในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ หรือมีการเรียกร้องเกิดขึ้น ในความเห็นตน คือการที่ดีเอสไอจะฟ้องใครหรือไม่อย่างไร ตนมองว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความตั้งใจของเรา เพราะการที่เราไปเก็บผลไม้ป่า สิ่งที่เราต้องการคือรายได้ ใครจะเป็นจำเลยหรือฟ้องร้องกับใครก็ช่างเขา แต่ทำอย่างไรให้เราไปทำงานเก็บผลไม้แล้วเรามีรายได้ ซึ่งก็คือรายได้หลังจากหักหนี้หมดแล้ว หน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศต้องหาทางออกเรื่องนี้ให้ถูกจุด คือทำอย่างไรให้เขาไม่เป็นหนี้ เพื่อให้มีรายได้พอเหลืออยู่บ้าง ทั้งนี้การฟ้องคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ระบบถูกแก้ไข
ดร.อุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามต้องคิดว่าการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีบ้าง แต่ไม่ใช่มีทั้งหมด ส่วนตัวตนเห็นว่าต้องมีมาตรการอะไรสักอย่าง ที่ภาครัฐจะไปคุยกับผู้ประกอบการหรือใครก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ในหนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ค่าวีซ่า ค่าเครื่องบิน ค่าเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ซึ่งในงานวิจัยที่ตนศึกษามาค่อนข้างมโหฬาร ถ้าตัดส่วนพวกนี้ออกไปบ้าง ให้เป็นภาระของคนที่รับประชาชนไปทำงาน ตนคิดว่ามันก็จะเป็นสิ่งที่ดี หากดีเอสไอมีการดำเนินการในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และสามารถลดทอนเรื่องพวกนี้ได้ หรือทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ยกระดับคุณภาพตรงนี้ก็จะทำให้ระบบมันดีขึ้นได้
“ทราบว่ามีการพูดคุยกันระหว่างไทยกับฟินแลนด์เพื่อให้มีการค้ำประกัน หรือรับประกันให้การคุ้มครองในส่วนที่เรียกว่ารายได้ โดยพยายามให้มีรายได้ขั้นต่ำ ไม่ใช่รายได้ขั้นต่ำที่บอกว่าใครติดลบได้ไม่ถึง ให้มารับ 3 หมื่นบาท กรณีทำ 3 เดือน อันนั้นดูง่อยเกินไป หมายถึงว่าเขาจะไปการันตีโดยทางฟินแลนด์เขาเสนอมาว่าอย่างน้อยให้ได้เดือนละ 1,700 ยูโร หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องไปดูโครงสร้างหนี้ใหม่ ว่าหนี้จริงๆ มีเท่าไร เงินที่ว่าจะมาช่วยผู้ที่เดือดร้อนในส่วนนี้ได้หรือไม่”
ดร.อุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า ตนสนับสนุนข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ ในเรื่องจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือกลุ่มขึ้นมา จากงานวิจัยการเก็บผลไม้ป่าเหมือนกับต่างคนต่างไป ไม่มีใครที่จะมาอธิบายข้อมูล จึงต้องมีข้อมูลข่าวและมีคนคอยช่วยเหลือในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่เรื่องหนี้สิน การเดินทาง ไปถึงแล้วต้องดำเนินการอย่างไร คนที่จะอธิบายได้ดีที่สุดคือส่วนราชการ เพราะมีอำนาจในการดำเนินการ ในเรื่องต่างๆ ทั้งกับบริษัทและหน่วยงานในต่างประเทศ รวมทั้งต้องมีการแก้กฎหมายฉบับใหม่ และเบื้องต้นจะทำอย่างไรให้พี่น้องมีเงินเหลือกลับบ้าน เข้าใจว่าขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการอยู่



ส่วนภพธรรม กล่าวว่า ถ้าพูดถึงมุมมองที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะเท่าที่ฟังมาส่วนมากบอกว่าแทนที่จะได้กลับเสีย แต่ทำไมจึงยังมีคนอยากไปทุกปี และพยายามดิ้นรนที่จะไปทำงานให้ได้ ตนคิดว่าก็คงมีคนได้บ้าง ถ้าไปถูกช่องทาง นายจ้างดี หรือหักส่วนต่างแล้วเหลือเยอะ จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน ก็ยังมีคนที่อยากไป ดังนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่รอบด้านของพวกเรา ตนมองว่า เมื่อคนไปเยอะบริษัทนายหน้ายิ่งได้เงินเยอะ บริษัทฯ ไม่สนใจว่าพี่น้องจะไปแล้วได้เงินหรือขาดทุน สนใจแค่ว่ายิ่งแมงเม่าบินเข้ากองไฟเยอะ ยิ่งได้เงินต่อหัวมาก ในเรื่องการหักหัวคิวต่างๆ สมมติถ้าตนเป็นบริษัทตนก็จะเอาคนที่ไปแล้วอาจจะได้หรือไม่ได้จริง มาบอกว่าได้ เหมือนลักษณะการเต้าข่าว คล้ายกับการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งไม่ต่างจากคอลเซ็นเตอร์ในยุคปัจจุบันที่พูดถึงแต่ด้านบวก
นอกจากปัญหาสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนแล้ว อีกส่วนคือรัฐที่เป็นเจ้าของข้อมูลข่าวสาร ที่มีตัวเลขว่ามีแรงงานเดินทางไปจำนวนเท่าไร มีรายได้เท่าไร มันไม่ได้มีการรวบรวม จัดทำข้อมูล และถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นระบบเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ซึ่งตนคิดว่าหากมีข้อมูลตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของนักวิชาการหรือข้อมูลภาคประชาชนที่เป็นระบบ ถ้ามีข้อมูลชัดเจนนำมาวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ปัญหาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ภพธรรม กล่าวถึงประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานอีกว่า ในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศนั้น ไม่มีคนที่ไปกำกับหรือตรวจสอบ ยกตัวอย่างมี สัญญา 2-3 ฉบับ แต่สัญญาที่ถูกบังคับใช้จริงคือสัญญาทาส เวลาเกิดปัญหาในต่างประเทศ ไม่มีหน่วยงานกลางที่ไปติดต่อประสานงานให้การช่วยเหลือ อย่างมากมีแค่สถานทูตของกระทรวงต่างประเทศ แต่ตัวแทนกรมการจัดหางาน หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ดูแลในต่างประเทศไม่ได้มีในทุกประเทศที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน
ภพธรรม กล่าวอีกว่า การตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ถูกฉ้อโกง ถูกบริษัทจัดหางานเอาเปรียบ หรือในเรื่องการกลับมาแล้วอาจจะมีหนี้สินเยอะ กรณีเหล่านี้ควรมีศูนย์ประสานงานที่เป็นกิจลักษณะ ตนมองว่าหน่วยงานรัฐมีศักยภาพ มีอำนาจหน้าที่ที่จะช่วยเหลือและแก้ไข รวมถึงเยียวยาผู้เสียหายที่เดินทางไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเสียหายในคดีอาญา คดีค้ามนุษย์ คดีฉ้อโกง หรือมีหนี้สิน ต้องมีช่องทางในการแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน เพราะแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ นอกจากวัตถุประสงค์ของเจ้าตัวในการยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการนำเงินเข้าประเทศที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย รัฐต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อยอดให้เป็นระบบ
ทั้งนี้ในส่วนของ กสม. ตนได้นำข้อร้องเรียนของประชาชนในเรื่องเหล่านี้ส่งไปที่ส่วนกลางแล้ว โดยส่วนงานที่รับผิดชอบได้มีการยกร่างคำวินิจฉัยเรียบร้อยแล้วประมาณ 23 หน้า ผ่านกระบวนการที่พี่น้องบางส่วนได้เข้าไปร่วมประชุม ดูจากทิศทางคิดว่าจะมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อเสนอรายกรณีและข้อเสนอในเชิงนโยบาย ไปยังกระทวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเรื่องการเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ด้วย
รักษาการแทน ผอ.กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเสริมว่า สำหรับข้อเสนอของตนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เรื่องแรกคือเรื่องหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบที่พี่น้องต้องกู้หนี้ยืมสินไป ทั้งนี้ร่างข้อเสนอของ กสม.เห็นว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาและผลกระทบเฉพาะ โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่ผลกระทบเมื่อปี 2549 ที่ได้รับโควตาเพื่อพิจารณาแก้ไข รวมถึงกำหนดแนวทางในการแก้ไขเยียวยาผลกระทบ ซึ่งจะต้องมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการด้วย
“พี่น้องต้องมีพี่เลี้ยงในการสื่อสารหรือเป็นปากเสียงแทนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพี่เลี้ยงที่ดีที่สุดคือหน่วยงานรัฐ หรือจะเป็นเอกชนก็ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กำกับของหน่วยงานรัฐ สิ่งสำคัญคือข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนและการรวมกลุ่มที่ชัดเจน จึงจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้”





หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ AspirE ภายใต้สหภาพยุโรป