บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (5): จากเมืองเปือยน้อยสู่เมืองท่ามะกา II

ij_05_01.jpg

ตอนที่แล้ว วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เลิกล้มความตั้งใจในการทำสารคดี “มานี มานะและผองเพื่อน” เพราะปัญหาอุปสรรคนานา แต่ประสบการณ์ในการเสาะสาอารยธรรมลุ่มน้ำชียังไม่จบ เขายังคงเดินทาง พร้อมกับเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเปรียบเทียบอารยธรรมลุ่มน้ำชีกับอารยธรรมลุ่มน้ำอื่นอย่างน่าสนใจ 

วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เรื่องและภาพ 

สภาพของโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเมืองที่ค่อนข้างห่างไกลจากเมือง แต่เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางจึงมีสภาพแวดล้อมโดยรอบค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีถนนหนทางที่สร้างขึ้นอย่างเรียบร้อย ซึ่งจะแตกต่างเมื่อเทียบกับขนาดของเมืองและโรงเรียนที่ภาคอีสาน โดยลักษณะของเมืองที่ใกล้เคียงกันนี้ ภาคอีสานในบางพื้นที่ยังคงเป็นถนนลูกรังอยู่ 

เนื่องจากมาถึงล่าช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ ทีมงานภาพยนตร์สารคดีจึงเริ่ม บันทึกภาพเคลื่อนไหวโดยทันที หลังจากพิธีเปิดงานจากผู้อำนวยการโรงเรียน ตัวแทนจากสำนักเขตการศึกษาและตัวแทนจากสมาคมลิเกแห่งประเทศไทย จากการสังเกตการณ์อย่างคร่าวๆ ด้วยความเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กจึงมีนักเรียนที่มาเข้าร่วมอบรมกระจายช่วงอายุอยู่ในระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งนักเรียนต่างช่วยกันยกเก้าอี้ที่จัดวางเป็นแถวตอนพิธีเปิดงานออก เหลือเพียงพื้นที่โล่งและเวทีความสูงราวครึ่งเมตร จากนั้นนักเรียนจึงนั่งลงไปกับพื้นและมีองค์ประธานหลักเป็นทีมงานจากสมาคมลิเกพร้อมกับไมโครโฟนสำหรับบรรยาย โดยมีคุณครูและบุคคลอื่นๆ นั่งบนเก้าอี้สังเกตการณ์อยู่รอบนอก

ในช่วงเช้าการอบรมของคณะลิเกแห่งนี้เริ่มต้นด้วยการบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของ “ลิเก” ในประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่า เข้ามาพร้อมกับชาวมุสลิมจากพื้นที่แถบมลายูที่อพยพเข้ามาอาศัยบริเวณเขตพระนครในช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของประเทศสยามในอดีต เป็นการแสดงการขับร้องลำนำประกอบท่าทางด้วยการร่ายรำเพื่อสรรเสริญต่อพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นเนื้อร้องจึงถูกดัดแปลงให้เป็นภาษาไทย รวมถึงการดัดแปลงการรำฟ้อนด้วยนาฎยศิลป์แบบสยาม ซึ่งมีเครื่องดนตรีสยามประกอบอยู่ในการแสดงนี้ 
ij_05_02.jpg

บรรยากาศในห้องนาฏศิลป์ (2562)

ต่อมาจึงเป็นการทำกิจกรรมกายบริหารเพื่อยืดหยุ่นร่างกาย โดยมีทีมงานจากคณะลิเกแสดงตัวอย่างถึงท่าทางของการฝึกหัดลิเกเบื้องต้น เริ่มต้นจากท่าพื้นฐานของนักกีฬาปัจจุบันโดยทั่วไป ท่าทางแบบโยคะ จนถึงท่าทางที่เป็นส่วนผสมของ ฟ้อนรำไทย โขน และการร่ายรำแบบฮินดู หรือที่เรียกว่าการ “ตั้งวง” ในทางนาฏยศัพท์ 

ในช่วงขณะเวลาที่สังเกตการณ์อยู่นั้น ผมกลับนึกถึงแนวคิดทางสัญศาสตร์ในเรื่องการใช้ “ลักษณะท่าทาง” เพราะท่าทางของการร่ายรำแบบนี้นั้นเป็นการเลียนแบบสัตว์ปีก เนื่องจากเป็นการร่ายรำด้วยการ “กางปีก” ไม่ใช่รูปแบบท่าทางของมนุษย์อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเป็นสัตว์ปีกชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่ม “สัตว์หิมพานต์” ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” ประกอบกับจังหวะที่เชื่องช้าของ “ระนาดไม้” และ “ฉิ่งทองเหลือง” ผมคาดคะเนด้วยความรู้สึกน่าจะมีค่า “Tempo” อันเป็นหน่วยนับของจังหวะเมื่อเทียบกับเวลาด้วยการนับแบบ “จำนวนครั้งต่อนาที” หรือ “beat-per-minute” ในช่วง “Larghissimo” ที่ต่ำกว่า 24 bpm 

ij_05_04.jpg

ลักษณะการร่ายรำแบบ “กางปีก” (2562)

ความปกติทางธรรมชาติ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Homo Sapiens” มาจากภาษาละตินที่แปลว่า “คนฉลาด” หรือ “ผู้มีปัญญา” มีวิวัฒนาการร่วมกับลิงโลกเก่าอันเป็น “Primates” โดยการสันนิษฐานว่า เป็นบรรพบุรุษของ “Ape” หรือ “ลิงไร้หาง” เนื่องจากการใช้นิ้วมือเป็นเครื่องมือหลักมากกว่าหาง ซึ่งเชื้อสายมนุษย์ได้แยกออกจาก “Chimpanzee” หรือ “ลิงชิมแพนซี” ลิงไร้หางประเภทหนึ่งเมื่อ 5 ล้านปีที่แล้ว ก่อนที่มนุษย์จะวิวัฒนาการอย่างสมบูรณ์เมื่อ 50,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง    

มนุษย์ในช่วงการเจริญเติบโตนั้นจะมีลักษณะ “ร่องรอยทางพฤติกรรม” ร่วมกันบางประการกับลิงไร้หาง เช่น การใช้มือหยิบจับ การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว การคิดคำนวณ เป็นต้น สิ่งอื่นๆ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้มีส่วนในการพัฒนาความคิดและสมองได้เร็วกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น  

ij_05_03.jpg

เครื่องดนตรีไทย “ระนาดไม้” และ “ฉิ่ง” (2562)

ในช่วงแรกของการก่อเกิดสังคมมนุษย์นั้น มนุษย์ยังคงดำรงชีพด้วยการ “เก็บของป่าล่าสัตว์ (Hunter-Gatherer) และการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยอย่างไม่เป็นหลักแหล่ง ส่วนที่สำคัญที่สุดของก่อเกิดอารยธรรมของมนุษย์ เนื่องมาจากเมื่อมีใครสักคนในกลุ่มสังคมมนุษย์ได้รับการบาดเจ็บ จนทำให้ไม่สามารถเดินทางไปกับหมู่คณะได้ มนุษย์จึงเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการรักษาชีวิต ด้วยการสร้างที่พักอาศัยและสร้างเครื่องมือเพื่อดำรงชีพด้วยการกสิกรรม เพื่อให้สังคมมนุษย์ได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหาร     

นับจากจุดนั้นอารยธรรมมนุษย์ก็ได้สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่างๆ รวมถึง “ภาษา” และ “รูปแบบทางภาษา” เพื่อสื่อสารกับมนุษย์ในภูมิภาคอื่นๆ แต่กระนั้น “ร่องรอยทางพฤติกรรม” แบบมนุษย์โบราณยุคก่อนอารยธรรมยังคงปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบัน

ij_05_07.jpg

หนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” (2564)

ย้อนกลับมาที่การอบรมลิเกอีกครั้ง ด้วยการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าในลักษณะนั้นค่อนข้างขัดแย้งกับการเคลื่อนไหวในเวลาปกติ ราวกับว่าเป็นการฝืนธรรมชาติของมนุษย์วัยรุ่น โดยการทำให้ช้าลง รวมถึงการออกแบบลักษณะท่าทางของร่างกายที่แปลกไปจากมนุษย์ปกติ โดยไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก

“การสร้างสรรค์งานศิลปะโดยไม่มีความจำเป็น” หากจะอธิบายถึงประโยคก่อนหน้านี้จะต้องอธิบายถึง “ความจำเป็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยวิธีการแบบศิลปะ” อันหมายความถึงการสร้างสิ่งใดๆ ให้ปรากฏขึ้นมาจะต้องมีจุดมุ่งหมายของสิ่งนั้น มีประโยชน์ มีสาระ มีสุนทรียะในตัวมันเอง ผ่านการทำงานด้วยความเชี่ยวชาญ ซึ่งคำว่า “Art” นั้นมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าที่มีความหมายดั้งเดิมว่า “skill as a result of learning or practice” หรือ “ทักษะความเชี่ยวชาญที่เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้หรือการฝึกฝน” ซึ่งไม่ได้หมายถึงงานศิลปะแบบ “ปราณีตสวยงามวิจิตรบรรจง” ตามความหมายในปัจจุบัน 

แนวคิดเหล่านี้ได้ถูกถอดความบางส่วนอยู่ในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” และ “บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา” โดยจิตร ภูมิศักดิ์

ใน “มายาคติ (2544)” หนังสือรวบรวมบทแปลของ “วรรณพิมล อังคศิริสรรพ” โดยมี “นพพร ประชากุล” เป็นบรรณาธิการบทแปล หนังสือเล่มนี้แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสในหนังสือสรรนิพนธ์ “Myhtologies (1957)” ของ “Roland Barthes (1915-1980)” เป็นหนังสือรวบรวมบทความกับเกี่ยวกับการใช้แนวคิดทาง “สัญศาสตร์  (Semiotic)” เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในสังคม เช่น ความเป็นละครมหรสพที่แสดงออกอย่างล้นเกินของมวยปล้ำ งานวิจารณ์แบบบอดใบ้ของนักวิชาการที่ถอดแบบมาจากกลุ่มตัวละครหัวสูงในวรรณกรรมเรื่อง “In Search of Lost Time : Swan’s Way (1913)” ของ “Marcel Proust (1871-1922)” กับประโยคที่ว่า “ฉันซึ่งประกอบวิชาชีพที่ต้องใช้ความฉลาด อ่านงานนี้แล้วไม่เข้าใจ ส่วนคุณ เมื่ออ่านงานนี้แล้วไม่เข้าใจเช่นกัน ดังนั้นคุณจึงฉลาดเท่ากับฉัน” นักวิชาการในกลุ่มนี้มักจะตั้งท่ารังเกียจเป็นพิเศษกับงานในกลุ่มแนวคิด “Existentialism” และ “Communism” เป็นต้น

ij_05_08.jpg

หนังสือ “มายาคติ” (2565)

บทความประกอบท้ายเล่ม “โรล็องด์ บาร์ตส์ กับสัญศาสตร์วรรณกรรม” โดย นพพร ประชากุล ในหนังสือ “มายาคติ” เล่มนี้ได้กล่าวถึงสองสิ่งที่น่าสนใจ ประเด็นแรก คือ การกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการวิเคราะห์วรรณกรรมที่ว่าด้วย “…เมื่อได้ปฏิบัติกรรมฐานมาถึงระดับหนึ่ง นักบวชในพุทธศาสนาบางรูปสามารถมองเห็นภาพทิวทัศน์อันเต็มเปี่ยมได้ในถั่วเมล็ดหนึ่ง นี่เป็นสิ่งเดียวกันกับที่นักวิเคราะห์เรื่องเล่ารุ่นแรกๆ พยายามจะบรรลุถึง นั่นคือ สามารถมองเห็นเรื่องเล่าทุกเรื่องในโลก (ซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ) ในโครงสร้างหนึ่งเดียว… (S/Z, 1970)” และการเดินทางมาเมืองไทยในช่วงปี 1970 และกล่าวถึง “…ที่ตลาดน้ำแถวๆ กรุงเทพ พ่อค้าแม่ค้าขายของในเรือที่จอดอยู่ ส่วนมากจะเป็นของกินอย่างละนิดอย่างละหน่อย เช่น เม็ดถั่ว ไข่ กล้วย มะพร้าว มะม่วง พริก (ยังไม่นับสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่มีปัญญา ‘เรียกชื่อ’) ทั้งคนขาย ทั้งเรือ ทั้งอาหาร ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เล็ก ขณะที่อาหารตะวันตกมุ่งสู่ความใหญ่ ทุกอย่างอัดซ้อนให้หนา ถูกขยายให้ฟองฟู ให้โอฬารบานตะไท ด้วยความเชื่อว่า นั่นคือเกียรติภูมิ อาหารตะวันออกมุ่งไปในทิศทางตรงกันข้าม คือ ไปเบ่งบานในระดับอนุภาค (…) ของกินจึงทั้งมีขนาดเล็กเพื่อให้กินได้ และที่กินได้ก็เพื่อให้สัมฤทธิ์ในสารัตถะของมัน นั่นคือ ความเล็ก (L’ Empire des signs, 1970)”

บรรยากาศการเตรียมงานมหรสพในโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ (2562)

เมื่อพิจารณาย้อนกลับใน “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นพุทธแบบไทย” ด้วยแนวคิดทางสัญศาสตร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพุทธไทยหลายแห่งนั้น มักจะมีภาพวาดจากจินตนาการในหนังสือ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ในส่วนของ “ป่าหิมพานต์” ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่ม “สัตว์หิมพานต์” หลายชนิด โดยมีกลุ่มสัตว์ปีกครึ่งมนุษย์ครึ่งนกได้แก่ “กินรี” และ “กินนร” และกลุ่มมนุษย์อย่าง “คนธรรพ์”​ ที่อาศัยอยู่ใน “จตุโลกบาล” บริเวณเชิงเขา “พระสุเมรุ” สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประตูสู่สวรรค์ตามคติความเชื่อของ “พุทธ-ฮินดู” ซึ่งสัตว์หิมพานพ์ที่กล่าวมานั้นล้วนแต่เป็นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร่ายรำ ดนตรี และกวี

กลับมาที่ห้องนาฏศิลป์อีกครั้ง เมื่อการอบรมลิเกสิ้นสุดลง ผมได้สัมภาษณ์นายกสมาคมลิเกแห่งประเทศไทยและครูฝ่ายนาฎศิลป์ ซึ่งมีพื้นเพมาจาก จ.กาฬสินธุ์ แต่ข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นเพียงแค่การรับคำสั่งมาจากทางราชการชั้นบน สัญลักษณ์ของราชการไทย คือ “ครุฑ” พญาแห่งนกทั้งมวล ซึ่งเป็นสัตว์ปีกในป่าหิมพานต์นั่นเอง  

ระหว่างการเดินทางกลับออกจากโรงเรียนผมพบว่า ทางโรงเรียนกำลังจัดงานอะไรสักอย่างที่มีลักษณะคล้ายงานมหรสพที่มักจัดขึ้นภายในวัด หรือ “งานวัด” ตามที่เรียกกันโดยทั่วไป 

ij_05_06.jpg

บรรยากาศการเตรียมงานมหรสพในโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ (2562)

หลังจากนั้นสักพักผมเริ่มลำดับภาพและเสียงของภาพยนตร์สารคดีลิเกชิ้นนี้ เพื่อทดแทนสารคดี “มานีและผองเพื่อน” ก่อนหน้านี้ แต่ไม่สามารถเล่าเรื่องได้อย่างที่ต้องการ เนื่องจากระหว่างการลำดับเรื่องนั้นผมกับตัวงานไม่สามารถเชื่อมโยง “Logic (ตรรกะ)” และ “Paradigm (กระบวนทัศน์)” หรือกรอบความคิดหลักที่จะทำให้งานชิ้นนี้เป็นงานภาพยนตร์ที่ดีได้ รวมถึงข้อระวังของการเปิดเผยใบหน้า โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในภาพยนตร์ ผมจึงระงับการทำงานชิ้นนี้ด้วยตัวผมเอง 

ผมนึกถึงเพลงกล่อมเด็กสมัยก่อนที่ร้องว่า “…กาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก แม่กาก็หลงรัก คิดว่าลูกในอุทร…”  

ในช่วงเวลาที่ “ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร” กับโครงการมานีและผองเพื่อน ผมจึงนั่งเล่นเกมส์ฆ่าเวลา เกมส์ที่ว่านี้หมายถึงเกมส์จาก “เครื่องคอนโซลเกมส์ (Video Game Console)” หมายถึงเครื่องเกมส์ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วง 1970 มีวัตถุประสงค์สำหรับการสร้างความบันเทิงภายในบ้านด้วยการเชื่อมต่อเข้ากับโทรทัศน์ แต่ในปัจจุบันมีนักพัฒนาโปรแกรมได้สร้าง “โปรแกรมจำลองเครื่องคอนโซลเกมส์ (Video Game Console Emulators)” เพื่อใช้เล่นเกมส์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เกมส์ที่ผมเล่น คือ “Resident Evil (Bio Hazard)” ในหลากหลายภาค 

หลังจากนั้นผมจึงได้ทดลองลำดับภาพสารคดีลิเกด้วยวิธีการไม่ตัดต่อในชื่อว่า “South of the Sun, West of the Border and Buddh Greenfiled’s Raw Footages” แต่ส่งให้เฉพาะทีมงานดู ไม่ได้นำไปฉายที่ไหน

ต่อมาผมได้รับการเชิญชวนจากเพื่อนสมัยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแถบมอดินแดง ให้ไปจัดการอบรมการผลิตภาพยนตร์สั้นที่ขอนแก่นสำหรับนักเรียนชายระดับชั้น ม.3 และ วิศวกรหนุ่มเพื่อนของผม ผมจึงได้นำเสนอความคิดที่จะแก้ไขงานภาพยนตร์สารคดี “มานีและผองเพื่อน” ด้วยการแทรกบทสัมภาษณ์และวิดีโอบันทึกเบื้องหลังของการอบรมครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับแนวคิดระบบการศึกษาที่สามารถเลือกเรียนวิชาที่ต้องการและจบการศึกษาด้วยลักษณะ “Based on Project” ในที่นี้หมายถึงผลงานที่เป็นภาพยนตร์ รวมถึงการสัมภาษณ์ครูหนุ่มวัยเกษียณคนหนึ่งในภาคอีสานเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ภาษาใน “หนังสือแบบเรียนมานีมานะ” แต่งานชิ้นนี้ก็ไม่ผ่านอีกครั้ง 

ท้ายที่สุดผมจึงทำงานเกี่ยวกับ “ชุมชนและวัดป่า” ซึ่งเป็นวัดที่ผมเคยบวชเรียนที่นั่นและงานมหากาพย์แห่งสารคดี “มานีและผองเพื่อน” จึงจบลงด้วยภาพยนตร์สารคดีวัดป่าความยาว 25 นาทีในชื่อ “Old Monk and The Temple”

ผมเดินทางไปกลับกรุงเทพ-ขอนแก่น ในช่วงเวลานี้อยู่บ่อยครั้ง กระทั่งหลังจากผมได้เข้าร่วมอบรม “การออกแบบเพื่ออุตสาหกรรม” ร่วมกับเพื่อนวิศวกรหนุ่มคนเดิม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมตัดสินใจย้ายกลับขอนแก่นอีกครั้งอย่างถาวร ด้วยความตั้งใจในการสำรวจโบราณสถานขอมว่า ถูกสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายแบบใด

โปรดติดตามตอนต่อไป…