การเดินทางของ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ผู้กำกับหนังชาวขอนแก่นที่ตามหาเส้นทางมานีมานะในแบบเรียนยังไม่สิ้นสุด เขาเจออุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะขั้นตอนการตัดต่อที่ไม่สอดคล้องกับขนบเดิม ส่งผลต่อการเป็นผู้กำกับหนังอินดี้แบบเขา

วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เรื่องและภาพ

เรายังคงอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2561 เช้าวันต่อมาหลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีที่ อ.ยางตลาด ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ในตอนแรก ผมจึงตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเทพ แต่ก่อนหน้านั้นผมได้สืบค้นข้อมูลในระยะเวลาอันจำกัดเพื่อค้นหาว่า มีโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมขอมหลงเหลืออยู่ในเมืองขอนแก่นบ้างหรือไม่ 

ผมค้นไปเจอข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานขอมโบราณที่ยังคงมีลักษณะสมบูรณ์ที่สุดในแถบเมืองขอนแก่น นั่นคือ “ปราสาทปรางค์กู่” ตั้งอยู่ที่ อ.เปือยน้อย รอยต่อระหว่าง จ.ขอนแก่น และ จ.บุรีรัมย์ ติดอยู่กับ อ.บ้านไผ่ ในบริเวณทิศใต้ของเมืองขอนแก่นนั่นเอง

ผมจึงขับรถยนต์ไปสถานที่แห่งนี้เพื่อบันทึกภาพยนตร์ เป็นจังหวะเวลาที่ดีโดยบังเอิญ เนื่องจากมีกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมปลายและครูมาทัศนศึกษาที่โบราณสถานแห่งนี้ ทำให้ผมสามารถบันทึกสิ่งที่ปรากฏโดยมีผู้คนที่เข้ามาสำรวจจริงๆ แทนที่จะได้บันทึกแค่ภาพก้อนหินที่เรียงตัวกัน 

กลุ่มนักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่งที่โบราณสถานปรางค์กู่ (2561)

เมื่อผมบันทึกภาพเคลื่อนไหวจนครบทุกจุดของปราสาทเปือยน้อย ผมจึงขับรถออกจากสถานที่แห่งนี้เพื่อมุ่งหน้ากลับในเส้นทางเดิมไปยังเมืองชัยภูมิ เมืองลพบุรี และผ่านเมืองปทุมธานี บางส่วนของอยุธยา ก่อนแวะกลับเมืองบางกะปิ

หลายวันผ่านไป ภาพยนตร์สารคดีมานีและผองเพื่อนได้รับการ “ลำดับภาพและเสียง” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า การ “ตัดต่อภาพยนตร์” และเนื่องจากไม่สามารถผลิตหนังสั้นที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือมานีมานะและผองเพื่อนได้ ผมจึงใช้เทคนิคการผลิตภาพยนตร์ที่เรียกว่า “ภาพยนตร์ความเรียง (Essay Film)” ผสมกับ “ภาพยนตร์ทดลอง (Experimental Film)” ด้วยบทบรรยายของผมที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสารคดีตามขนบ รวมถึงการทดลองทางภาพและเสียง ซึ่งใช้ภาพสแกนจากหนังสือผสมเข้ากับภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกมาและดนตรีประกอบภาพยนตร์แบบ “Psychedelic” ในท้ายที่สุดงานชิ้นนี้ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากงานไม่เป็นไปตามที่ออกแบบมาในตอนแรก รวมถึงมีเนื้อหาที่เข้าข่าย “แนวคิดล้ำยุค (Avant-Guard)” สำหรับงานภาพยนตร์สารคดีโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของ “ขอมโบราณ” 

ภาพจากงานสารคดีทดลอง “มานีมีตา” ด้วยเทคนิคทางภาพแบบ Superimposition (2561)

ช่วงเวลานั้นผม “กลับกลาย” เป็นคนว่างงานโดยสมบูรณ์แบบ แต่มีอีกเงื่อนไขหนึ่งที่สามารถทำให้งานสารคดีชิ้นนี้เสร็จสิ้นได้ นั่นคือ การเปลี่ยนเนื้อหาแกนหลักทั้งหมด ผมจึงได้นำเสนอเรื่องราวของการอบรมลิเก โดยสมาคมลิเกแห่งประเทศไทยที่จะจัดขึ้นที่โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ ต.สนามแย้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

เมื่อถึงวันถ่ายทำสารคดี ผม โปรดิวเซอร์สาวชาวยานนาวาและช่างภาพชาวบรบือ เดินทางไปที่โรงเรียนด้วยยานพาหนะคู่ใจคันเดิม ซึ่งตามแผนที่ GPS ที่ปรากฏ ตำบลสนามแย้แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของสามจังหวัดแถบภาคกลางอันได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม แต่การเดินทางที่จะไปเมืองท่ามะกาจากเมืองบางกะปินั้นจะต้องขับรถผ่าน “วัดพระประโทณเจดีย์” จ.นครปฐม ทำให้ผมนึกถึงความคิดเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ของผมในช่วงปี พ.ศ. 2550

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ในช่วงเวลานั้น ผม ช่างภาพชาวมัญจา และอดีตนักศึกษาเทคโนโลยีเกษตรเมืองสกล ชาวท่าพระขอนแก่น ทีมงานทั้งสามคนต้องเดินทางไปถ่ายงานทำบุญเลี้ยงพระ โดยชุมชนแห่งหนึ่งด้วยการว่า จ้างจากพี่ชายของผมเอง 

ทีมงานพร้อมด้วยกล้องบันทึกวิดีโอด้วยระบบเทป mini-DV เริ่มต้นที่สถานีขนส่งสายใต้บริเวณเขตตลิ่งชัน โดยรถโดยสารระหว่างเมืองแบบพัดลม เนื่องด้วยการสื่อสารในช่วงเวลาขณะนั้น สิ่งที่รวดเร็วที่สุด คือ การพูดคุยผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เป้าหมายแรกของทีมงานสารคดีจำเป็นคือการเดินทางไปลงที่ “สามแยกพระตะโกน” ด้วยสัญญาณเสียงที่ไม่เสถียรนักทำให้ผมได้ยินมาแบบนั้นทำให้เกิดปัญหาทางการสื่อสารเมื่อต้องแจ้งกับพนักงานรถโดยสารว่าเราจะลงที่ใด หมายถึง “สามแยกพระประโทน” ตามที่ผู้คนแถบนั้นเรียกกันนั่นเอง

ทีมงานทั้งสามคนเดินทางต่อด้วยรถโดยสารหกล้อข้ามจังหวัดไปที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร พวกเราเข้าสู่เขตพื้นที่ชนบทกันอีกครั้ง นอกจากโรงงานอุตสาหกรรม ผู้คนในแถบนี้ยังคงทำการเกษตรเป็นหลัก โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเท่าที่จำได้ คือ “ฝรั่งกิมจู” และ “พริกจินดา” ซึ่งเราได้พักกันหนึ่งคืนที่สวนฝรั่งกิมจูบริเวณรอยต่อของ จ.นครปฐม จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสาคร

วันต่อมา สถานที่ที่ทีมงานจะไปบันทึกภาพการทำบุญเลี้ยงพระไม่ใช่พื้นที่แถบนี้ แต่เป็น “วัดขุนสมุทรจีน” ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ผมและทีมงานจึงต้องนั่งรถกระบะไปลงที่ท่าเรือขนาดเล็กค่อนไปทางกลางแห่งหนึ่ง มีบางส่วนเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยทะเลในน้ำกร่อย พวกเราขึ้นเรือขนาดกลาง ซึ่งได้เดินทางเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อมุ่งหน้าออกทะเลในทางทิศใต้ กลุ่มเรือเหล่านี้ได้รับสร้างและออกแบบด้วยฝีมือของชาวบ้านในพื้นที่ ติดตั้งด้วยระบบแก๊สหุงต้ม ซึ่งสามารถทำความเร็วได้มากกว่าปกติ เรือแล่นผ่านสองข้างทางที่เต็มไปด้วยป่าโกงกาง

คลองน้ำและเรือบริเวณทางเข้าวัดขุนสมุทรจีน  (2565)

เมื่อเรือที่ทีมงานนั่งอยู่นั้นมาถึงปากอ่าวบริเวณทะเลอ่าวไทย กลุ่มเรือได้แล่นเรียบชายฝั่งไปทางทิศตะวันออก เราจึงมองเห็นฝั่งขวาของกราบเรือเป็นท้องทะเลอันเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา จนเรือแล่นมาเทียบท่าที่วัดขุนสมุทรจีนก่อนเวลาฉันเพล (11:00) ผู้คนจากชุมชนทยอยขนอุปกรณ์และวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นฝั่งบริเวณวัด และเริ่มทำอาหาร ผมและทีมงานจึงบันทึกวิดีโอภาพบรรยากาศเหล่านี้เอาไว้

ปัจจุบันทางวัดขุนสมุทรจีนมีรถมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว  (2565)

วัดขุนสมุทรจีนแห่งนี้ ในอดีตเคยมีชายฝั่งที่ยื่นยาวลงไปในอ่าวไทย ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ทำให้น้ำทะเลหนุนตัวสูงขึ้น น้ำทะเลจึงกัดเซาะชายฝั่งและไหลท่วมเข้ามาในบริเวณตัววัด ผมได้กลับมาที่นี่อีกสองครั้ง คือ เมื่อปี 2551 สมัยทำงานเป็นครีเอทีฟรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่ง และเมื่อปี 2556 ตอนทำงานเป็น “Fixer” ร่วมกับคนทำหนังอิสระที่จบด้านบรรณารักษณ์ชาวโคราช (Fixer ในทางภาพยนตร์ หมายถึงคนดูแลและจัดการทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ข้ามชาติ) ใหักับทีมงานภาพยนตร์สารคดีอิสระชาวโปแลนด์สองคน ชายหนุ่มทั้งคู่จบจาก Lodz Film School ที่ขึ้นชื่อลือชาว่า เป็นโรงเรียนภาพยนตร์ที่สอบเข้ายากแห่งหนึ่งในยุโรปและภาพยนตร์สารคดีที่ชาวโปแลนด์มาถ่ายทำนั้นเกี่ยวข้องกับการบวชในพุทธศาสนา ซึ่งทางผู้กำกับภาพยนตร์ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีและต้องการใช้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลัก 

บรรยากาศของวัดขุนสมุทรจีนในปัจจุบัน (2565)

ย้อนกลับไปปี 2550 อีกครั้ง “การเมืองไทย” กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป หลังการรัฐประหาร 2549 ทางฝั่งของกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องการสร้างกติกาการเลือกตั้งเพื่อรักษาฐานอำนาจของกลุ่มตัวเอง คำว่า “การเมือง” นั้น สามารถแปลได้อย่างเรียบง่ายว่า “การรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ตัวเองสังกัด” ดังนั้นเมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้ง “การเล่นการเมือง” และ “การทำงานการเมือง” จากทุกภาคส่วนจึงเกิดขึ้น

ในช่วงเรียนภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเปิดนั้น ผมได้อ่านเจอ “ทฤษฎีประพันธกร” ของนักทฤษฎีภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส “Andre Bazin (1918-1958)” ผู้ร่วมก่อตั้งวารสารด้านภาพยนตร์ในชื่อ “Cahiers du Cinéma” ซึ่งเป็นผู้ให้กําเนิด “ทฤษฎีประพันธกร (Auteur Theory)” การให้ความหมายกับ “ภาพยนตร์แนวจริง (Realism Cinema)” รวมถึงการให้ความหมายกับเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์แบบ “Cinema Vérité” หรือ “Truthful Cinema” หมายถึงการบันทึกสิ่งที่ปรากฏหน้าเลนส์กล้องภาพยนตร์ เป็นการแสดงให้เห็นสภาวะใกล้เคียงความจริง ทั้งจากมุมมองของคนสร้างและความจริงที่เป็นจริง ด้วยลักษณะทางภาพที่ปรากฏ คือ การตัดสิ่งที่เรียกว่า “Illusion Montage” ที่ทำให้เกิดสภาวะบิดเบือนทางการรับรู้ทางอารมณ์และการแปลความหมายที่ผิดเพี้ยนนั้นออกไป ซึ่งแนวคิดทางภาพยนตร์เหล่านี้ได้ส่งต่อและมีอิทธิพลกับการเคลื่อนไหวการสร้างผลงานศิลปะด้านภาพยนตร์ของกลุ่มคนทำหนังฝรั่งเศสในชื่อ “French New Wave”

เนื่องด้วยการรณรงค์ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ จึงมีโครงการจัดการประกวดหนังสั้นในหัวข้อประชาธิปไตย ผมจึงอยากทดลองเขียนบทภาพยนตร์จากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตามแนวทาง Realism Cinema ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งในการผลิตภาพยนตร์ Realism คือ การไม่ใช้นักแสดงมืออาชีพและถ่ายทำในสถานที่จริงนอกสตูดิโอ การเลือกไม่ใช้นักแสดงมืออาชีพของ Realism Cinema นั้น จะแตกต่างจากการทำแบบฝึกหัดเรื่องภาพยนตร์ในชั้นเรียน เพราะงานในลักษณะนี้ไม่จำเพาะเจาะจงที่นักแสดง แต่หมายถึงการทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เป็นงานประพันธ์ในตัวของมันเอง

ผมใช้เวลาเข้าออกห้องสมุดเพื่อศึกษาเรื่องการเมืองไทยหลังยุค 2500 เนื่องจากการเมืองในช่วงนั้น หลังจากนั้นเกี่ยวข้องกับภาคอีสานอย่างชัดเจน บทภาพยนตร์สั้นในตอนนั้นจึงมีใจความสำคัญที่สรุปได้สั้นๆ ว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิตกับการเมือง”

หมุนเวลาย้อนกลับไปอีกครั้งในช่วงปี 2543 ผมยังคงเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ ผมได้มีโอกาสพักอาศัยอยู่ที่บ้านญาติทางแม่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาที่เคยเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ทำให้ผมได้เห็นภาพเหตุการณ์ “ล้อมฆ่า” และ “ฆาตรกรรมทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้น รวมถึงหนังสือที่เกี่ยวกับ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” 

คล้ายกับเป็นนักศึกษาด้านวรรณกรรม ผมเสาะแสวงหาหนังสือที่น่าสนใจหลายเล่ม จนไปพบเข้ากับหนังสือของนักเขียนหญิงชาวพิษณุโลกคนหนึ่ง ซึ่งจบการศึกษาเพียงชั้น ป.4 แต่สามารถเขียนงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตได้อย่างลึกซึ้งและสังคมนักเขียนในประเทศไทยค่อนข้าง “Underrated” หรือ “ให้คุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริง” สำหรับนักเขียนหญิงคนนี้

กลับมาที่ปี 2550 ผมใช้เวลาเขียนบทภาพยนตร์สั้นเรื่อง “A Brighter Day” เสร็จภายในหนึ่งวัน เช่นเดียวกับเวลาเกิดขึ้นภายในบทหนัง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มสองพี่น้องจากภาคอีสานที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง คนน้องเป็นนักศึกษาด้านวรรณกรรมที่กำลังเขียนงานเรื่องสั้น 30 คะแนนส่งอาจารย์ ส่วนคนพี่ผู้ซึ่งรับงานฟรีแลนซ์ทั่วไปด้วยการรับจ้างแจกใบปลิวสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นนอกเมืองกรุงเทพ

ภาพจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง “A Brighter Day” (2552)

ฝั่งนักศึกษาวรรณกรรมกำลังประสบปัญหาเนื่องจากเขาได้ลอกงานนักเขียนชื่อดังมาส่ง ทำให้ต้องไปเขียนงานที่มีลักษณะ “Use your identities” ในหัวข้อประชาธิปไตย นักศึกษาวรรณกรรมจึงเข้าไปในห้องสมุดเพื่อเขียนงานแบบ “กวีนิพนธ์” โดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ส่วนพนักงานฟรีแลนซ์กำลังเข้าไปพัวพันกับกระบวนการซื้อเสียง ทำให้เขาต้องตัดสินใจ “เลือกที่จะไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง” ในลักษณะ “Moral Dilemma (ทางเลือกทางจริยธรรม)” แต่เนื่องด้วยงานชิ้นนี้มีลักษณะงานประพันธ์แบบ “Meta-Fiction (งานประพันธ์ที่กล่าวถึงงานตัวประพันธ์ในตัวเอง)” ทำให้เรื่องราวที่กำลังเขียนและเรื่องราวในโลกความจริงซ้อนทับกัน โดยมีตัวละครคนหนึ่งพูดอีสานในตอนจบของเรื่อง

ภาพจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง “A Brighter Day” (2552)

ในขั้นตอนการถ่ายทำ ผมและทีมงานชุดเดิมได้ถ่ายทำกันแบบตามมีตามเกิด โดยมีสถานที่หลักสามแห่ง ที่แรกคือมหาวิทยาลัยย่านบางกะปิ สองคือพื้นที่ชนบทนอกเมืองกรุงเทพ ซึ่งทีมงานเดินทางไปถ่ายทำที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนสุดท้าย คือ ลักษณะ “ภาพทางอุดมคติ” ที่เกิดขึ้นในงานกวีนิพนธ์ ผมเลือกใช้ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาร้อยเรียงและบรรยายด้วยเสียงในลักษณะบทกวี ซึ่งผมมาทราบในภายหลังว่างานในส่วนนี้คล้ายกับงาน Essay Film 28 นาที เรื่อง La Jetée ผลงานภาพยนตร์ทดลองแนว Cyberpunk Sci-Fi ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Chris Marker (1921-2012) หนึ่งในกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ French New Wave ที่ใช้ภาพนิ่งมาเล่าเรื่องในงานทั้งหมดโดยมีภาพเคลื่อนไหวเพียงภาพเดียว ซึ่ง “Jetée” ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึง “ท่าเรือ” ในภาษาไทย

ภาพจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใช้ในงานภาพยนตร์สั้น

หนังสั้นเรื่อง A Brighter Day ลำดับภาพและเสียงเสร็จในช่วงแรกเมื่อปี 2550 ทำให้หนังสั้นเรื่องนี้เป็นได้ที่รู้จักในหมู่คนทำหนังสั้นในเมืองไทยอยู่บ้าง ที่ว่าช่วงแรกเพราะยังคงใช้เพลงจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มาประกอบ แต่ในปี 2552 ผมได้ทำการแต่งเพลงประกอบหนังเองทั้งหมด จึงได้รับรางวัล Selected Works Prize จากเทศกาลภาพยนตร์ JVC Tokyo Video Festival 2009 ซึ่งนับว่าเป็นหนังสั้นเรื่องแรกที่ได้มีโอกาสฉายที่ต่างประเทศ  

กลับมาที่ปี 2561 รถของทีมงานภาพยนตร์สารคดีกำลังแล่นเข้าไปจอดในโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ ต.สนามแย้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

โปรดติดตามตอนต่อไป…

image_pdfimage_print