รัตนาภรณ์ น้อยวงศ์ เป็นนักศึกษาวารสารศาสตร์ ม.มหาสารคาม ที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นนักข่าว เธออ่าน “กว่าจะเป็นนักข่าวในลิสต์ IO” ที่เป็นบันทึกเรื่องราวการทำข่าวกว่ายี่สิบปีของ หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิหารบริหารเดอะอีสานเรคคคอร์ด ที่ทำงานภายใต้ความกดดันและการถูกคุกคามจากภาครัฐ โดยเฉพาะสถานการณ์ล่อแหลม หลังจากอ่านแล้วเธอเรียกมันว่า เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจให้อยากก้าวเข้ามาในวงการนักข่าวเพื่อทวงสิทธิเสรีภาพคืน 

“เมื่อฉันรับยาเสร็จก็บอกตัวเองว่า สิ่งที่ฉันทำในฐานะนักข่าวไม่ใช่ความผิด ฉันแค่ทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น และฉันจะทำมันจนกว่าลมหายใจจะมอดไหม้”

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร The Isaan Record

เป็นประโยคที่ทรงพลังในหนังสือ “กว่าจะเป็นนักข่าวในลิสต์ไอโอ” ของ หทัยรัตน์ พหลทัพ หรือ วิส บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด ที่รวบรวมประสบการณ์จากการทำข่าวกว่าสองทศวรรษมาเป็นตัวอักษร 

ประโยคที่เธอกล่าวข้างต้นเป็นผลกระทบหลังถูกคุกคามจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายปกครอง จนทำให้เธอนอนไม่หลับ หวาดกลัวจนต้องหันพึ่งจิตแพทย์ แต่จิตแพทย์ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่คนไข้พยายามทำ 

ในฐานะผู้ที่ต้องการเปิดเผยความจริงให้กับคนในสังคม นักข่าวอย่างเธอต้องแลกกับการสูญเสียสุขภาพจิตและการสั่นคลอนจิตใจ 

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว ที่เพิ่งวางแผงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้านหนังสือเล่มนี้กองบรรณาธิการสรุปความไว้ว่า 

“หนังสือเล่มนี้เป็นงานข่าวในช่วงหัวหัวต่อของสังคมไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทั่งถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 

แม้วันเวลาได้ผ่านพ้น เหล่าบุคคลที่เกี่ยวข้องก้าวลงจากอำนาจ หากแต่เรื่องราวและประสบการณ์งานข่าวที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐที่ผู้เขียนในช่วงเวลานั้น ไม่อาจสามารถลบเลือนไปได้ 

บันทึกช่วงหนึ่งของชีวิตนักข่าวสาวที่ยืนหยัดท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการในเวลานั้น เปิดเผยถึงเบื้องหลังการทำข่าว การตัดสินใจ ผลกระทบต่อสวัสดิภถาพและสภาพจิตใจ บนเส้นทางและปณิธานอันมุ่งมั่นของชีวิตนักข่าวผู้หนึ่ง” 

แม้จะเจอปัญหาที่ถาโถม แต่เธอก็พร้อมกระโจนเข้าใส่อย่างไม่ลดละโดยเธอบอกในหนังสือช่วงหนึ่งว่า 

“ลูกสาวชาวนาอย่างฉันมาถึงวันนี้ได้ก็ถือว่า ไกลเกินกว่าฝันแล้ว การจะเดินหน้าต่อก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” 

หากจะว่า ปีที่เจ้าของหนังสือเริ่มทำข่าว คือ ปี 2546 ส่วนตัวฉันนั้นเพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นานนัก พอได้อ่านเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตัวเองยังคงไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับโลกกว้างทำให้ได้รับรู้ถึงการกระทำอันโหดร้ายการทำลายอิสรภาพของคนข่าว แม้เวลาจะผ่านไปจนเนิ่นนานจนฉันเติบโตย่างเข้าวัย 21 ปี นักข่าวก็ยังคงถูกกระทำและยังถูกคุกคามจากทางรัฐอยู่เช่นเดิม 

เห็นได้ชัดว่า การกระทำเหล่านี้ที่เกิดขึ้นโดยรัฐยังคงดำเนินตลอดมากว่าหลายปีและยังคงเป็นเช่นนี้เสมอมา 

โดยเฉพาะบทที่ 13 “เมื่อผู้ช่วย ผบ.ตร.ประกาศเป็นศัตรู” ที่เธอเล่าว่า เป็นการบีบบังคับจากผู้มีตำแหน่งใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งข่าวขอไม่ให้สำนักข่าว The Isaan Record รายงานข่าวเกี่ยวกับมาตรา 112 เพราะเป็นสภาวะที่ล่อแหลมต่อสังคมไทย โดยจะขอคัดส่วนหนึ่งมาให้ชิมลาง

ในแง่ความเป็นนักข่าวเธอบอกว่า อาจทำไม่ได้จึงตอบไปว่า “ขอคิดดูก่อนได้ไหมคะ” 

คำตอบของฉันทำให้ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไม่พอใจและตอบกลับทันควันว่า 

“พูดเท่านี้ก็รู้แล้วว่า คิดอะไรอยู่ ให้กันไม่ได้ เราก็จะเป็นศัตรูกัน เริ่มเลยตั้งแต่พรุ่งนี้ ถ้าหากว่า เราไม่ทำตามที่พี่ขอ พี่ก็จะประกาศไว้เลยว่า จะเป็นศัตรู” 

ดังนั้นข่าวบนเว็บไซต์ของสำนักข่าว The Isaan Record จึงแลกมาด้วยความกล้าหาญของคนข่าวที่ต้องการส่งเสียงให้กับคนอีสาน รวมถึงประชาชนผู้ถูกลืม ผู้ที่สื่อหลักไม่ให้ความสนใจ ซึ่งหทัยรัตน์ได้เผชิญกับความลำบากเหล่านั้นมาด้วยความแน่วแน่ในวิชาชีพ 

จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ฉันมองเห็นความซ้อนทับกันของคุณหทัยรัตน์และฉันที่เด่นชัดมากที่สุด คือ ความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและต่อสู้เพื่อสังคม 

พออ่านจบก็ยิ่งรู้สึกเคารพในปณิธานนั้นของเธอมากเสียจนหลั่งน้ำตาออกมา การต่อสู้ของเธอจะไม่สูญเปล่า จะมีฉันและอีกหลายคนในฐานะคนข่าวยืนเคียงข้างและต่อสู้เพื่อทวงอิสรภาพของสื่อมวลชนคืน

image_pdfimage_print