เมื่อปู่ย่าตายายหรือบรรพชนได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนชื่อว่าหมู่บ้านหนองไทร ตั้งอยู่ ณ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.โคราช พวกเขามาพร้อมกับวิสัยทัศน์ที่ลึกซึ้ง มองการณ์ไกล ด้วยการสร้างเรื่องเล่าเอาไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลานเหลนโหลน เกี่ยวกับผืนแผ่นดินสามผืน อันเสมือนเป็นป้อมปราการสามด้านที่จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขของชีวิตครอบครัวและชุมชน

ผืนแผ่นดินผืนแรกคือป้อมปราการด่านหน้าสุดที่สัมพันธ์และยึดโยงกับภูมินิเวศที่ถูกตั้งให้เป็นชื่อหมู่บ้าน เป็นผืนแผ่นดินอันเป็น ‘ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน’ หรือใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะของทุกผู้คนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง ไม่เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของบุคคลหรือครอบครัวใด แต่เป็นทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์สินร่วมหรือกรรมสิทธิ์ร่วมของคนทั้งหมู่บ้าน ผืนแผ่นดินผืนที่สองคือผืนแผ่นดินอันเป็น ‘ที่อยู่อาศัย’ สำหรับก่อสร้างบ้านเรือนของบุคคลหรือครอบครัว และผืนแผ่นดินผืนที่สามคือ ‘ที่ดินทำกิน’ ของบุคคลหรือครอบครัว เพื่อเป็นพื้นที่ทำการเกษตรหรือกิจกรรมทำมาหากินอื่นๆ เช่น ปลูกข้าว ปลูกพืชเศรษฐกิจ เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย ฯลฯ

ความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของชีวิตในหมู่บ้านหนองไทรจะต้องประกอบด้วยผืนแผ่นดินสามผืนนี้ ขาดผืนใดผืนหนึ่งไม่ได้ 

หมู่บ้านหนองไทรก็มีวิวัฒนาการทางสังคมมาเป็นลำดับๆ เพื่อรักษาและฟูมฟักคุณค่าของเรื่องเล่านี้ไว้ เริ่มตั้งแต่การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของบรรพชนที่รวมกลุ่มรวมก้อนกันเป็นสังคมเล็กๆ จนก่อรูปก่อร่างโครงสร้างสังคมที่สลับซับซ้อนขึ้นจนเป็นหมู่บ้าน ซึ่งได้สร้างวัฒนธรรมขึ้น และก็ได้มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมจนเป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน

นี่คือสายธารการกำเนิดของหมู่บ้านที่บรรพชนได้วางวิสัยทัศน์อันยาวไกลไว้ โดยใช้พลังของจินตนาการและความเชื่อ/ศรัทธาเพื่อสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาว่า ผืนแผ่นดินสามผืนมีความสำคัญที่ต้องเชื่อมร้อยพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน เพราะตระหนักดีว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างในการดำเนินชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินได้ จะต้องพึ่งพาอาศัยผืนแผ่นดินอันเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การเก็บผักหักฟืน หาเห็ดหาหน่อไม้ หาสมุนไพร หาของป่าล่าสัตว์ แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นต้น เพื่อจะทำให้วิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามฤดูกาลต่างๆ ครบวงจร

บรรพชนได้จินตนาการว่า ผืนแผ่นดินที่เริ่มต้นจากคนเพียงไม่กี่ครอบครัวได้ร่วมไม้ร่วมมือทำการบุกเบิก หักร้างถางพง เพื่อตั้งรกรากจนกลายเป็นหมู่บ้านหนองไทรขึ้นมา จะต้องเติบใหญ่สืบไปข้างหน้า โอบอุ้มชีวิตของลูกหลานเหลนโหลนให้ปลอดภัย ร่มเย็นเป็นสุข กินอิ่มนอนอุ่น ปักหลักตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงแข็งแรง จึงได้สร้างเรื่องเล่าขึ้นมาโดยประดิษฐ์ความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นความสัมพันธ์เพื่อยึดโยงผืนแผ่นดินสามผืนเข้าด้วยกัน หรือเป็นกุศโลบายให้คนในหมู่บ้านรวมพลังรวมจิตรวมใจกันปกปักรักษาผืนแผ่นดินสามผืนของผู้คนในหมู่บ้านให้อยู่รอดปลอดภัยและบังเกิดความสงบสุข 

แม้หน่วยสังคมและการเมือง ได้แก่ หมู่บ้านและเมืองโดยรอบ อำนาจการปกครองของรัฐที่เป็นลำดับชั้นตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และสูงขึ้นไป และหน่วยบ่มเพาะอุดมการณ์ของรัฐ ได้แก่ โรงเรียน (ทั้งในและนอกหมู่บ้าน) ที่มีอำนาจใหญ่และสลับซับซ้อนกว่าหมู่บ้านหนองไทร จะเข้ามาพัวพัน ปะทะ ครอบงำ ก็สามารถปรับตัวและผสมผสานกลมกลืน โดยยังคงรักษาเรื่องเล่าเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินสามผืนให้ยังคงทำหน้าที่พึ่งพาอาศัยและเอื้อประโยชน์กันและกันได้เป็นอย่างดี

แต่หลังจากมีการทำเหมืองแร่โพแทชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด มาตั้งแต่ได้รับประทานบัตรเมื่อ 7 กรกฎาคม 2558 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับหมู่บ้านหนองไทรก็เปลี่ยนไป เพราะไม่ได้มีแค่อำนาจการปกครองของรัฐและหน่วยบ่มเพาะอุดมการณ์ของรัฐเข้ามาปะทะเท่านั้น แต่รัฐได้ผสมพันธุ์กับทุนเสียจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับหมู่บ้านหนองไทรเสียสมดุล จนทำให้ผืนแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายแห่งของหมู่บ้านถูกทำลายลงไป

หนองมะค่าใน 16 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา หนองมะค่านอก 13 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และสระน้ำสองแห่งในวัดหนองไทร รวม 23 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา แต่ก่อนมีน้ำใส กุ้งหอยปูปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณไม้น้ำ และพันธุ์พืชบกที่ขึ้นรายรอบหนองน้ำเหล่านั้นก็เขียวขจี แต่บัดนี้กลายเป็นแหล่งรองรับน้ำเค็มจากเหมือง น้ำมีสีดำเข้ม เหม็นคละคลุ้งไปทั่ว และมีรสเค็มจนขมสูงกว่าความเค็มของน้ำทะเลสองเท่า กุ้งหอยปูปลา พืชพรรณไม้น้ำและพันธุ์พืชบกที่ขึ้นรายรอบหนองน้ำเหล่านั้นตายเกลี้ยง

ชะตากรรมของหมู่บ้านหนองไทรคล้ายคลึงกับหมู่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เมื่อเขาหม้อ ภูเขาลูกโดดลูกย่อมๆ ขนาดประมาณร้อยกว่าไร่ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของหมู่บ้านเขาหม้อและชุมชนรอบข้าง ถูกพบว่ามีแร่ทองคำแทรกอยู่ในเนื้อหินของภูเขา จนนำมาสู่การระเบิดทำลายเขาหม้อราบเป็นหน้ากลองลงไปในที่สุด ผืนแผ่นดินที่เคยเป็นแหล่งอาหาร ป่าชุมชน พืชผักจำพวกหน่อไม้ เห็ดหวาน หน่ออูฐ ผักกะเจียว มีอยู่เป็นจำนวนมากจนเป็นลักษณะเด่นและเลื่องชื่อของเขาหม้อ แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีป่าน้ำซับซึมอยู่ชายเขา ทำการผลิตน้ำซับออกมาสู่คลองร่องหอย แล้วก็ไหลไปเข้าอ่างเก็บน้ำเขาหม้อ ส่งน้ำไปให้กับนาข้าวของหมู่บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 หมู่บ้านเขาดิน หมู่ 3 ไกลไปถึงหมู่บ้านเขาโล้น หมู่ 7 และไหลไปลงแม่น้ำพิจิตร (แม่น้ำน่านเก่า) ที่อำเภอตะพานหิน มาบัดนี้สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลือ

เมื่อเขาหม้อซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือป้อมปราการด่านหน้าถูกทำลายลงไปแล้ว ผืนแผ่นดินอันเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยก็ถูกรุกไล่อย่างรุนแรง เหตุเพราะว่าพบแร่ทองคำกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างขวางอยู่ใต้ถุนบ้านทุกหลังคาเรือนของหมู่บ้าน เจ้าของเหมืองทองคำสัญชาติออสเตรเลียจึงได้ทำการกดดันทุกวิถีทางเพื่อกว้านซื้อที่ดินเหล่านั้นไปจนหมดสิ้น จนทำให้ ณ เวลานี้ ครอบครัวดั้งเดิมครอบครัวสุดท้ายของหมู่บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 ที่พำนักอาศัยอยู่จริงบนผืนดินของตัวเองได้สูญสิ้นไปแล้ว เกิดการล่มสลายโดยสมบูรณ์ กลายเป็นหมู่บ้านผี 

ณ เวลานี้ หมู่บ้านเขาหม้อยังไม่ถูกลบออกไปจากแผนที่แต่อย่างใด ยังคงมีชื่อหมู่บ้านนี้อยู่ในทะเบียนราษฎร์ ยังคงมีผู้ใหญ่บ้านและสมาชิก อบต. และยังคงมีบ้านเลขที่เกินกว่า 50 หมายเลข เพื่อคงสภาพความเป็นหมู่บ้านไว้ แต่เป็นการมีอยู่ปลอมๆ เพราะมีแต่บ้านเลขที่โดยไม่มีคนอยู่จริง โรงเรียนถูกปล่อยทิ้งร้าง มีแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเหมือนป่าช้า โดยที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งหมดถูกขายให้กับเหมืองไปเรียบร้อยแล้ว และครอบครัวส่วนใหญ่ก็ได้ทำการรื้อถอนบ้านไปแล้ว แต่ไม่ได้ถอนบ้านเลขที่ออกไปด้วย ผู้ใหญ่บ้านยังคงพำนักอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองที่ยังไม่ถูกรื้อถอนแต่เป็นที่ดินของเหมือง เพราะขายให้กับเหมืองไปแล้ว เพื่อให้มีผู้ใหญ่บ้านคอยทำหน้าที่ประชาคมหมู่บ้านในเรื่องต่างๆ เพื่อขอมติใช้ถนน ใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ ใช้กองทุนต่างๆ ตามกฎหมายแร่ และขอความเห็นอื่นๆ ของชาวบ้านเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เหมืองดำเนินกิจการต่อไปได้ สมาชิก อบต. ก็ย้ายไปสร้างบ้านใหม่และพำนักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านหนองขนาก หมู่ 7 ที่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร แต่ก็ยังคงมีบ้านเลขที่อยู่บนที่ดินที่เคยเป็นของตัวเองที่ขายให้กับเหมืองไปแล้ว เพื่อทำหน้าที่เสนอวาระและลงมติเห็นชอบต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุญาตเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เหมืองดำเนินกิจการต่อไปได้ ส่วนชาวบ้านทั่วไปที่ขายที่ดินให้กับเหมืองไปแล้วก็ได้รื้อถอนบ้านไปหมดสิ้น แต่ยังไม่ได้ถอนบ้านเลขที่ออกไป 

ทั้งๆ ที่ตัวเองและครอบครัวย้ายตัวเองออกไปจากหมู่บ้านเขาหม้อแล้ว ซึ่งไม่เหลืออะไรที่เข้าหลักเกณฑ์ของการมีบ้านเลขที่ที่ต้องมีตัวบ้านและห้องน้ำ/ส้วม แต่ก็ยังคงมีตัวตนอยู่ในทะเบียนราษฎร์ของหมู่บ้านเขาหม้ออย่างแปลกประหลาด เพื่อคงสภาพการเป็นชาวบ้านของหมู่บ้านเขาหม้อเอาไว้ เพื่อจะให้มีจำนวนชาวบ้านคอยลงมติหรือทำประชาคมหมู่บ้านในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เหมืองดำเนินกิจการต่อไปได้ มิหนำซ้ำในช่วงเริ่มต้นของการกว้านซื้อผืนแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อเอาไปทำเหมือง มีครอบครัวใหม่ที่มาจากอำเภออื่นถูกจ้างวานมาโดยครอบครัวดั้งเดิม ให้มาสร้างบ้านเรือนอยู่ในผืนแผ่นดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวดั้งเดิม เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของเหมืองว่าต้องมีครอบครัวที่มีบ้านอยู่จริงจึงจะยินยอมซื้อที่ดิน แต่เมื่อเหมืองได้ซื้อผืนแผ่นดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวดั้งเดิมแล้ว ครอบครัวใหม่ที่ย้ายคนออกไปหมดแล้วก็ยังคงมีบ้านเลขที่ตกค้างอยู่บนที่ดินของครอบครัวดั้งเดิมที่ขายให้กับเหมืองไปแล้วอยู่จนกระทั่งวันนี้

หมู่บ้านหนองไทรอาจจะไม่ถูกกว้านซื้อผืนแผ่นดินอันเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้หมดสิ้นไปเหมือนกับหมู่บ้านเขาหม้อ เพราะการทำเหมืองแร่โปแตชเป็นการทำเหมืองใต้ดินโดยใช้วิธีขุดเจาะอุโมงค์ลงไปชอนไชเอาแร่โปแตชใต้ดิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องซื้อที่ดินหรือขออนุญาตเจ้าของที่ดินเหมือนกับการทำเหมืองแร่ทองคำที่ต้องระเบิดเปิดหน้าดิน ก็อาจจะทำให้หมู่บ้านหนองไทรยังคงสภาพเป็นหมู่บ้านไว้ได้ เพราะการดำรงชีวิตบนผิวดินยังคงดำเนินต่อไปได้ตราบที่แผ่นดินยังไม่ทรุดตัวหรือถล่มลงไป และความเค็มของเกลือและน้ำเกลือจากใต้ดินที่แทรกซึมขึ้นมาบนผืนแผ่นดินอันเป็นที่ดินทำกินจนกลายเป็นหิมะเกลือขาวโพลน และปนเปื้อนเข้าไปในแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ และกำลังทำการกัดกร่อนโครงสร้างคอนกรีตของบ้านเรือนหลายหลังคาเรือนไม่กระจายลุกลามไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ 

อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านหนองไทรก็สุ่มเสี่ยงสูงกับภาวะล่มสลาย จากความผิดพลาดและมักง่ายที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะอุโมงค์แนวลาดเอียงเพื่อเข้าไปให้ถึงชั้นแร่โปแตชที่อยู่ในระดับต่ำกว่าผิวดินลงไปมากกว่าหนึ่งร้อยเมตร จนเกิดการรั่วทะลักอย่างบ้าคลั่งของน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนเกลือในระดับความเค็มข้นคลั่ก แทนที่จะหาวิธีการอุดรูรั่วอย่างจริงจัง กลับปล่อยให้อุโมงค์จมน้ำเกลืออยู่อย่างนั้นจนกระทั่งวันนี้ นำมาซึ่งน้ำเค็มจากใต้ดินโผล่ขึ้นมาบนผิวดินในปริมาณมหาศาลที่บ่อกักเก็บน้ำทิ้งของเหมืองไม่สามารถเก็บไว้ได้หมด จึงปล่อยให้น้ำเค็มเหล่านั้นรั่วไหลลงสู่หนองมะค่าใน หนองมะค่านอก สระน้ำสองแห่งและลานดินใกล้ศาลาวัดและเมรุของวัดหนองไทร และที่ดินทำกินของชาวบ้าน โดยไร้สำนึกและความรับผิดชอบใดๆ และเกิดอาการรวนของระบบนิเวศน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนเกลือจนทำให้เกิดการผุดขึ้นของเกลือเป็นจุดๆ เต็มไปหมดทั่วผืนแผ่นดินที่อยู่ไกลออกมาจากเหมือง บ้างก็เป็นคราบขาวอ่อนๆ บ้างก็เป็นเกล็ดๆ บ้างก็เป็นแผ่นเกลือหนาหลายเซนติเมตร โดยผืนแผ่นดินทั้งสามผืนกำลังถูกกระทำ ดังนี้ 

หนึ่ง-หนองมะค่าใน หนองมะค่านอก บ่อน้ำสองแห่งและลานดินใกล้ศาลาวัดและเมรุของวัดหนองไทร อันเป็นผืนแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือป้อมปราการด่านหน้า ถูกทำลายไปจนหมดสิ้นแล้ว

สอง-ผืนแผ่นดินอันเป็นที่ดินทำกินส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้เหมืองและอยู่ในระดับต่ำกว่า เกิดปรากฎการณ์คราบเกลือแผ่ปกคลุมไปทั่ว บางจุดก็เป็นคราบขาวบางๆ บางจุดก็ขาวเข้มเป็นบริเวณกว้างเหมือนหิมะปกคลุม บางจุดก็เป็นแผ่นเกลือหนาหลายเซ็นติเมตรและหนักหลายกิโลกรัม จนทำให้ใช้ปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ได้ จึงเกิดการไล่ซื้อที่ดินส่วนนี้แล้วขนหน้าดินจากที่อื่นมาถมปิดให้มิด

สาม-บ้านเรือนหลายหลังในหมู่บ้านหนองไทรถูกเกลือกัดกร่อนโครงสร้างคอนกรีตอยู่ในเวลานี้ จนทำให้ต้องทำการซ่อมแซมอยู่ทุกๆ ปี หลายครอบครัวที่เสา พื้นและผนังบ้านที่เป็นคอนกรีตถูกน้ำเกลือใต้ดินกัดกร่อนรุนแรงจนชื้นและเปียกแฉะอยู่ตลอดเวลา ต้องทำการกู้ยืมเงินมารื้อและสร้างใหม่

การกัดกร่อนเหล่านี้ มิได้กัดกร่อนเพียงแค่ผืนแผ่นดินและแหล่งน้ำ มิได้กัดกร่อนข้าวปลานาน้ำ มิได้กัดกร่อนเพียงแค่เสา ผนังและพื้นบ้าน แต่มันกัดกร่อนจิตสำนึกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในหมู่บ้านหนองไทรทั้งหมู่บ้าน

สิ่งที่เกิดขึ้นมันกำลังทำให้หมู่บ้านหนองไทรเดินอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องเลือกระหว่าง หนึ่ง-ปล่อยให้ภาวะคุกคามจากเหมืองโพแทชไทยกาลีดำเนินต่อไป จนนำมาสู่ภาวะล่มสลายของหมู่บ้าน คล้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านเขาหม้อ 

หรือสอง-รื้อฟื้นเรื่องเล่าอันทรงคุณค่าของบรรพชนเพื่อสร้างพลังกอบกู้หนองมะค่าใน หนองมะค่านอก บ่อน้ำทั้งสองและลานดินใกล้ศาลาวัดและเมรุของวัดหนองไทร ให้ผืนแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือป้อมปราการด่านหน้า กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพลังส่งทอดมาที่การปกป้องหมู่บ้านหนองไทรให้รอดพ้นจากภัยคุกคามหรือการรุกล้ำที่จะเข้ามาถึงผืนแผ่นดินชั้นในอันเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของผู้คนในหมู่บ้านหนองไทรอีกทอดหนึ่ง

สามภาพแรก : หนองมะค่าใน ถ่ายเมื่อ 10 มีนาคม 2567

สองภาพสุดท้าย : บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านหนองไทร อยู่ตรงข้ามทิวสนบริเวณสามแยกระหว่างทางมาจากหมู่บ้านดอนป่าโอบ แยกทางหนึ่งไปหมู่บ้านหนองไทร แยกอีกทางหนึ่งไปสู่ทางเข้าเหมืองด้านหน้า ปัจจุบันกลายเป็นหิมะเกลือขาวโพลน จนไม่สามารถปลูกพืชพรรณใด ๆ ได้ ถ่ายเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567

image_pdfimage_print