จากข้อมูลรายงานพื้นที่ป่าไม้ของสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ปี พ.ศ. 2566 รายงานว่า ป่าไม้ใน จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ประมาณ 218,020.06 ไร่ โดยพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด บริเวณอำเภอโพนทอง เมยวดี หนองพอก โพธิ์ชัย และเสลภูมิ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง ไม้เหียง ไม้ตะแบก และไม้ประดู่ แม้ว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นทุ่งกว้าง แต่ก็ยังมีพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เหลืออยู่ หนึ่งในนั้นคือป่าชุมชนดงน้ำคำ ต.โนนสวรรค์ อ.ประทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด 

เดิมทีป่าดงน้ำคำเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่ามาก่อน แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำจึงทำให้เกิดการย้ายที่ตั้งของหมู่บ้านให้เข้าไปใกล้กับแหล่งน้ำมากขึ้น ป่าชุมชนดงน้ำคำจึงสามารถคงสภาพแวดล้อมพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้

การอนุรักษ์ป่าโดยความเชื่อและความศรัทธา

เนื่องจากป่าชุมชนดงน้ำคำเคยเป็นบริเวณที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมมาก่อน  จึงทำให้มีร่องรอยของการสร้างบ้านแปงเมืองหลงเหลืออยู่ นั่นคือ สิม หรืออุโบสถโบราณในพื้นที่ป่า ปัจจุบันสิมอยู่ในสภาพที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์ดังเดิม แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้มีการปล่อยปะละเลยหรือปล่อยให้ทิ้งร้าง ยังคงมีการบูรณะสิมโบราณตามกำลังศรัทธาตลอดจนถึงปัจจุบัน เพราะชาวอีสานจะมีคติความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับการเคารพผีบรรพชนที่มาก่อตั้งหมู่บ้าน สิมเก่าในป่าชุมชนดงน้ำคำจึงเปรียบเหมือนสัญลักษณ์แทนกลุ่มบรรพชนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานบริเวณนั้น สิมจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในชุมชนให้ความเคารพและศรัทธาตลอดจนหลายอายุคน เป็นที่พึ่งทางใจ และกราบไหว้ขอพร ขอโชคลาภได้ หรืออีกนัยยะหนึ่งเปรียบเสมือนกับดอนปู่ตาในหลายๆ หมู่บ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่าป่าดงน้ำคำเป็นป่าชุมชนที่มีความศักดิ์สิทธิ์นี้เอง จึงทำให้คนในพื้นที่ไม่กล้าบุกรุกหรือทำลายป่า เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายกับตนเองและครอบครัว และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันให้เกิดการอนุรักษ์รักษาป่าให้คงความสมบูรณ์มากที่สุด

การทำพิธีผูกผ้าไว้ที่ลำต้นไม้พะยูง เพื่อสร้างความเกรงกลัว ทำให้ไม่กล้าต้ดไม้

รักษาป่าโดยหน่วยงานรัฐและเครือข่ายภาคประชาชน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 มีกิจกรรม “STRONG พิทักษ์ป่าครั้งที่ 2” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ “เครือข่ายชมรม STRONG จังหวัดร้อยเอ็ด” ประชาชน นักเรียนและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ประทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อป้องกันการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่า สร้างเครือข่ายประชาชนในการอนุรักษ์ป่าและสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน ภายในงานมีการเรียนรู้ประโยชน์ของป่าชุมชน การเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชน การเอาผิดกับบุคคลที่ทำลายพื้นที่ป่า 

ชุมชนบ้านน้ำคำถือเป็นชุมชนตัวอย่างในจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีความเข้มแข็งในการดูแลรักษาป่าไม้ มีการสำรวจป่าบ่อยครั้ง และมีการจัดเวรยามเฝ้าระวังคน เข้า-ออก ในบริเวณหมู่บ้านและป่าชุมชนดงน้ำคำ ด้วยเหตุนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดร้อยเอ็ดจึงเลือกพื้นที่ป่าชุมชนดงน้ำคำเป็นพื้นที่ตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางให้กับกลุ่มภาคีเครือข่ายที่มาจากพื้นที่อื่น

พิธีมอบรั้วหนามเพื่อเป็นเขตแดนและแนวป้องกันการเข้า-ออกพื้นที่ป่าชุมชนดงน้ำคำ

ความท้าทายต่อความศรัทธา

ในสังคมโลกาภิวัฒน์ เรื่องของความเชื่อและความศรัทธาเป็นเรื่องส่วนบุคคล มิใช่เรื่องของทุกคนเหมือนดังแต่ก่อน ปัจจุบันยังคงมีการเข้าไปลักลอบตัดไม้ในเขตพื้นที่ป่าชุมชนดงน้ำคำอยู่เรื่อยมา เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อช่วงเทศกาลส่งท้ายปีใหม่ วันที่ 30 ธันวาคม 2566  โดยคนร้ายได้แอบเข้าไปลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ป่า โดยอาศัยความชุลมุนของช่วงเทศกาลแอบเข้าไป แต่ด้วยความที่ชุมชนมีการจัดเวรยามเฝ้าระวังในหมู่บ้าน จึงทำให้มีผู้พบเห็นเหตุการณ์และจับตัวผู้ก่อเหตุได้ทัน 

สิ่งที่ต้องคำถามต่อจากเรื่องนี้ คือ นอกจากเรื่องความเชื่อและความศรัทธาที่เชื่อว่าป่ามีความศักดิ์สิทธ์และจิตสำนึกการหวงแหนป่าของชาวบ้านเองแล้ว อะไรที่จะสามารถเป็นเกราะป้องกันให้ป่าชุมชนดงน้ำคำยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน และในปัจจุบันพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ประทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาเรื่องพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลซึ่งกำลังเป็นปัญหา ขณะนี้ความคืบหน้าเรื่องโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) เป็นผู้พิจารณา ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและจัดทำรายงาน ESA เสนอต่อหน่วยงานที่มีอำนาจต่อไป

ความท้าทายของพื้นที่ทุ่งกุลาในปัจจุบันมีหลากหลายมิติมากขึ้น นอกจากการรักษาปอดของทุ่งกุลาอย่างเช่นป่าชุมชนดงน้ำคำแล้ว ยังมีความท้าทายในเรื่องการปกป้องผืนดินทุ่งกุลาและการรักษาวิถีชีวิตของคนทุ่งกุลาที่จะมีแนวทางเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด และจะรักษาทุ่งแห่งตำนานนี้ไว้อย่างไร

image_pdfimage_print