บันทึกการเดินทางของ “วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์” ผู้กำกับหนังแห่งเมืองขอนแก่นที่พยายามตามรอยชีวิตของครูรัชนี ผู้เขียนตำราเรียนมานีมานะ แต่ต้องคว้าน้ำเหลว แต่ระหว่างทางก็ทำให้เขาคิดถึงการทำหนังสั้นเรื่อง “Four Boys, White Whiskey and Grilled Mouse” ซึ่งว่าด้วยการมีอยู่และความหมายของเถียงนา 

วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เรื่องและภาพ

บ้านของผมที่เมืองขอนแก่นในปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออก อยู่ติดกับโบสถ์ของชาวคริสเตียนนิกายหนึ่ง บริเวณพื้นที่แถบนี้อยู่ใกล้ถนนที่สามารถเดินทางไปที่เมืองกาฬสินธุ์และเมืองมหาสารคามได้ หลังจากที่ผมกลับมาถึงขอนแก่น ผมได้ทำการค้นหาอุปกรณ์ที่จำเป็นอีกชิ้นหนึ่งสำหรับการเดินทางเพื่อสำรวจในครั้งนี้ นั่นคือ “กล้องติดรถยนต์” หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแล้ว ช่างภาพหนุ่มมัญจาคนเดิมก็ขับรถยนต์ของเขามารับผมที่บ้าน พวกเรามุ่งหน้าไปที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ด้วยถนนหมายเลข 12

เป็นอีกครั้งที่รถยนต์แล่นออกจากเมืองไปสู่เส้นทางระหว่างเมืองที่มีสองข้างทางเป็นท้องทุ่งนา ผ่าน อ.เชียงยืน ตรงจุดนี้หากเลี้ยวซ้ายสามารถเดินทางไป “พระธาตุขามแก่น” และกลุ่มอำเภอแถบลุ่มน้ำพอง ถ้าเลี้ยวขวาจะสามารถทะลุเส้นทางออกไปยัง จ.มหาสารคามได้ ผมและตากล้องเดินทางต่อไปจนถึงโรงเรียนพินิจราษฎร์บำรุงในเวลาต่อมา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากขอนแก่นมากนัก ประมาณ 50 กิโลเมตร

สนามฟุตบอลของโรงเรียนพินิจราษฎร์บำรุง (2561)

เป็นจังหวะเวลาที่ไม่ค่อยลงตัวมากนัก เมื่อผมลงจากรถเพื่อไปติดต่อครูที่โรงเรียน แต่ปรากฏว่า ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนนั้นได้หยุดการเรียนการสอนในกรณีพิเศษ เพื่อเข้ารับฟังธรรมและปฏิบัติธรรมที่หอประชุมโรงเรียนโดยคณะพระสงฆ์จากวัดแห่งหนึ่ง สิ่งที่ทำได้ คือ การเก็บบรรยากาศของห้องเรียนที่ไม่มีนักเรียนอยู่

ห้องเรียนที่ว่างเปล่าของโรงเรียนพินิจราษฎร์บำรุง (2561)

เมื่อถึงเวลาพักเที่ยงผมจึงได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนหนุ่มที่แลดูยังไม่แก่มากนัก ผมเล่าถึงภาพยนตร์สารคดีที่กำลังทำอยู่ว่า ครูรัชนีหัวหน้าคณะผู้ประพันธ์หนังสือแบบเรียนมานีมานะนั้นเคยเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้สมัยประถมศึกษา หลังจากสนทนาไปสักพักดูเหมือน ผอ.คนนี้จะไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากกว่าที่มีอยู่ แต่เขาได้ให้รูปภาพเก่ามาหนึ่งใบ เป็นรูปภาพของคณะครูประชาบาลสมัยก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้

  คณะครูประชาบาลของโรงเรียนพินิจราษฎร์บำรุงสมัยก่อตั้ง (ไม่ทราบปีที่ถ่าย)

พวกเราเดินทางออกจากโรงเรียนเพื่อมุ่งหน้าไปยัง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งหากจากโรงเรียนประมาณ 20 กิโลเมตร อันเป็นสถานที่ตั้งของ “วัดป่าโนนบ้านเก่า” ตามข้อมูลที่ได้รับมาปรากฏร่องรอยของวัตถุโบราณสมัยยุคลพบุรีในวัดป่าแห่งนี้ แต่เนื่องจาก “ชื่อสถานที่” และ “พิกัด” ในแผนที่ “GPS (Global Positioning System)” ค่อนข้างคลาดเคลื่อน ทำให้เราต้องเข้าไปในโรงเรียนระดับประถมแห่งหนึ่ง เพื่อติดต่อขอนักเรียนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมการแสดงในหนังสั้น แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากทางโรงเรียนได้ส่งนักเรียนบางส่วนไปแข่งขันกีฬาของกลุ่มโรงเรียนระดับอำเภอ และจากนักเรียนที่เหลืออยู่ในโรงเรียน ผมประเมินดูแล้วว่า ไม่น่าจะเข้าใจการแสดงในหนังสั้นได้ดีนัก ผมจึงตัดสินใจเดินทางออกจากโรงเรียนอีกครั้ง

สภาพวัดร้างของวัดป่าโนนบ้านเก่า (2561)

รถยนต์ของช่างภาพขับวนในหมู่บ้านจนเจอสถานที่ดังกล่าว ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “สถานที่ฌาปนกิจ” หรือ “ที่เผาศพ” ตั้งอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง หมายความถึง “วัดร้าง” จริงๆ เพราะไม่มีพระสงฆ์อยู่ที่นั่นและอาคารสถานที่ต่างๆ ในวัดพุทธที่ควรจะเป็นก็พังทลายลง ยกเว้น “เมรุเผาศพ” ผมสอบถามชาวบ้านคนหนึ่งที่ดูแลสถานที่แห่งนี้ว่า ซากกองอิฐอยู่ตรงไหน คนดูแลสถานที่บอกว่าอยู่ในกลุ่มพุ่มไม้แห่งหนึ่ง พวกเราจึงได้บันทึกภาพของกองอิฐที่สันนิษฐาน โดยความรู้ทางวิชาโบราณคดีน่าจะอยู่ในกลุ่มยุคลพบุรีตามข้อมูลที่ได้มา

ซากกองอิฐโบราณสมัยยุคลพบุรี (2561)

แต่เนื่องจากมีเวลาไม่มากนัก พวกเราขับรถออกมาและเดินไปยังบริเวณทุ่งนาที่มีเนินเขาเตี้ยๆ ด้านหลัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดร้าง เพื่อบันทึกภาพแนว “ภูมิทัศน์ (Landscape)” ที่จะใช้ในการออกแบบหนังสั้นในสารคดีชิ้นนี้ ทุ่งนาแถบนี้มีความพิเศษ คือ ไม่ได้มีไว้เพื่อปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ใช้เพื่อเป็นสถานที่สำหรับเพาะเลี้ยง “กุ้งก้ามกราม” อันเป็นผลผลิตทางกสิกรรมหลักของผู้คนในแถบนี้ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อกับ อ.ลำปาว ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ที่นั่น ดังนั้นสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้จึงมีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ตามที่กล่าวมา 

ฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในทุ่งนา (2561)

จากนั้นทีมงานเดินทางไปที่เขื่อนลำปาวและพบว่า มีโรงเรียนระดับประถมแห่งหนึ่งพานักเรียนมาทัศนศึกษาที่เขื่อนแห่งนี้

ต่อมาในช่วงค่ำ ทีมงานเดินทางไป “หมู่บ้านเสียว” เพื่อพบกับเพื่อนเก่าสมัยมัธยม ปัจจุบันทำงานเป็น “นายช่าง อบต.” ที่ ต.หัวงัว อ.ยางตลาด เพื่อขอความช่วยเหลือในการหากลุ่มเด็กในพื้นที่มา “แสดงภาพยนตร์สั้น” พวกเราเริ่มต้นมื้อเย็นด้วยการก่อไฟและย่างเนื้อวัว จากนั้นเริ่มบทสนทนาสัพเพเหระต่างๆ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้วิธีการนี้ในกระบวนการผลิตหนังสั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2552 ช่วงนั้นผมได้ศึกษาภาพยนตร์ในแนวทาง Realism เป็นพิเศษ และมีโครงการจะผลิตหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทาง “วัฒนธรรมศึกษา (Cultural Study)” และ “ชนบทศึกษา (Rural Study)” ที่เกี่ยวข้องกับภาคอีสานบ้านเกิดโดยตรง ซึ่งเป็นบทภาพยนตร์ในลักษณะ Poetic Realism ว่าด้วยการมีอยู่ของ “เถียงนา” อันหมายถึงบ้านพักหรือกระท่อมที่ออกแบบและสร้างอย่างง่ายๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่สามารถพบเจอได้โดยทั่วไปบริเวณเขตพื้นที่กสิกรรมโดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นชายกลุ่มหนึ่งได้ใช้เถียงนาแห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต (ในที่นี้หมายถึงข้าว) เพื่อดื่มเหล้าขาวและย่างหนูนา ในภาพยนตร์สั้นความยาว 10 นาทีชื่อเรื่องว่า “Four Boys, White Whiskey and Grilled Mouse (2009)” 

เขื่อนลำปาวและนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง (2561)

ช่วงการเตรียมงานก่อนการถ่ายทำ ผมได้เดินทางไปที่หมู่บ้านเสียวเพื่อชวนเพื่อนนายช่างคนนี้มาทำงานเป็น Art Director ในงานหนังสั้นเรื่องนี้ ซึ่งในเวลานั้นนอกจากการทำงานที่ อบต.แล้ว เขายังเป็นโค้ชทีมฟุตบอลระดับเยาวชนของหมู่บ้าน ผมจึงได้มีโอกาสเข้าไปคัดเลือกนักแสดงในกลุ่มนักกีฬากลุ่มนี้ 

อันที่จริงแล้วหมู่บ้านเสียวแห่งนี้มีอาชีพหลักที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก นั่นคือ “การผลิตเครื่องนอน” ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นโรงงานขนาดเล็กในชุมชนและคนในชุมชนก็ทำงานนี้เป็นอาชีพหลักแทนการทำนา และที่สำคัญ คือ ชื่อของหมู่บ้านนั้นมาจากต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ “ต้นเสียว” ที่เป็นไม้หลักชนิดหนึ่งการผลิตถ่านฟืน

อีกประเด็นหนึ่งทาง “วิศวกรรมภาพยนตร์ (Film Enginneer)” ในหนังสั้นเรื่องนี้ คือ ผมใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมพิเศษในการถ่ายทำภาพยนตร์ชนิดหนึ่ง นั่นคือ “Vibrating 35mm DoF Adaptor” เพื่อที่จะสามารถใช้เลนส์จากกล้องภาพนิ่ง 35mm ต่อเข้ากับ “High-Definition Camcorder (กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวความละเอียดสูง)” ซึ่งได้สั่งซื้อชิ้นส่วนนี้จากผู้ผลิตอิสระในประเทศสิงคโปร์ ผมไม่ใช่คนแรกที่นำชิ้นส่วนนี้มาถ่ายหนังด้วยวิธีการแบบนี้่ แต่อาจจะเป็นคนแรกๆ ที่ถ่ายหนังด้วยชิ้นส่วนนี้ในแนวทาง Realism ด้วยวิธีการแบบ “Cinema Verite” คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “Truthful Cinema” หมายถึงการบันทึกสิ่งที่ปรากฏหน้าเลนส์กล้องภาพยนตร์ เป็นการแสดงให้เห็นสภาวะใกล้เคียงความจริง ทั้งจากมุมมองของคนสร้างและ ความจริงที่เป็นจริง ด้วยลักษณะทางภาพที่ปรากฏคือการตัดสิ่งที่เรียกว่า “Illusion Montage” ที่ให้เกิดสภาวะบิดเบือนทางการรับรู้ทางอารมณ์และการแปลความหมายที่ผิดเพี้ยนนั้นออกไป 

ช่วงหนึ่งของภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Four Boys, White Whiskey and Grilled Mouse” (2552)

ส่วนตัวของผมแล้ว หนังสั้นเรื่องนี้ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเป็นหนังสั้นด้วยการคว้ารางวัล “Best Fiction” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Tampere Film Festival 2010 ที่ประเทศฟินแลนด์ อันเป็นเทศกาลหนังสั้น 1 ใน 3 เทศกาลหลักในโลกของภาพยนตร์แบบยุโรป (อีกสองที่คือ Oberhausen ประเทศเยอรมัน และ Clermont-Ferrand ประเทศฝรั่งเศส)

กลับมาที่วงเหล้าอีกครั้ง ผม, นายช่าง อบต. และช่างภาพ (ซึ่งเป็น Cinematographer คนที่สองในหนังสั้นดังกล่าวด้วย) นั่งคุยถึงเรื่องภาพยนตร์สารคดีมานี ที่กำลังจะถ่ายทำในส่วนของหนังสั้นจากเยาวชนในพื้นที่ ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ (อีกครั้ง) เนื่องจากปัญหาด้านต่างๆ 

วันต่อมา ผมและช่างภาพได้เดินทางกลับเมืองขอนแก่น และตัดสินใจระงับการถ่ายทำหนังสั้นในส่วนนี้ เมื่อแกนสำคัญของสารคดีตอนนี้ไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ แต่กองอิฐเหล่านั้นทำให้ผมอยากไปค้นหาต่อว่า สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ “อารยธรรมขอมโบราณ” ได้อย่างไร ลึกๆ แล้วผมอยากทำให้งานภาพยนตร์สารคดีชิ้นนี้มีลักษณะของ Essay Film มากกว่า

จากช่วงหนึ่งของภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Four Boys, White Whiskey and Grilled Mouse” (2552)

เมื่อมานั่งทบทวนถึงองค์ประกอบในหนังสือแบบเรียนชุดนี้และภาพความจริงที่เกิดขึ้นหลังจากการไปสำรวจทำให้ผมนึกถึง “กลไกของการสร้างอุดมคติ” ในลักษณะอุดมคติของเมืองชนบทที่เรียกว่า “บ้าน-วัด-โรงเรียน” หากพิจารณารูปแบบนี้ในทาง “สัญศาสตร์ (Semiotic)” อันเป็นลักษณะส่วนเล็กย่อยที่จำลองมาจากอุดมการณ์รัฐชุดใหญ่ นั่นคือ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” และการมีอยู่ของเมืองชนบทนั้นเกิดขึ้นจากการมีอยู่ของเมืองในลักษณะทุนนิยม (Capitalism) เพื่อขูดรีดผลประโยชน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งจากชนบท

หากเปรียบเทียบด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เมื่อ “บ้าน=ชาติ”, “วัด=ศาสนา” และ “โรงเรียน=กษัตริย์” เมื่อ 2 อย่างแรกค่อนข้างชัดเจนในตรรกะ แต่ข้อสุดท้ายนั้นยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องค้นหาต่อไป เช่นเดียวกันกับคำถามที่ว่า อุดมการณ์ของรัฐเกิดขึ้นหลังมี “ธงชาติ (Flag)” หรือ “รัฐชาติ (Nation-State) แล้วก่อนหน้านี้ คือ สิ่งใด?

โปรดติดตามตอนต่อไป

image_pdfimage_print