อเรียนภาษาไทย ชั้น ป.1 เล่ม 1)

การเดินทางของคนทำหนัง “วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์” สนุกตั้งแต่เริ่มเดินทางด้วยการพยายามตามหาวัตถุดิบเพื่อถ่ายด้วยการตามหารากของเมืองจำลองในหนังสือมานี มานะ ว่าเป็นที่ไหนกันแน่ เพราะผู้เขียน คือ ครูรัชนี ศรีไพรวรรณ เกิดที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม แต่กลับมีข้อมูลว่า เมืองจำลองในหนังสือมานีมานะเป็น จ.ลพบุรี เขาจึงออกเดินทางค้นหา แต่ก็มีอุปสรรคและเรื่องเล่ามากมาย โดยเฉพาะเมื่อเขาเจอกับลิงเจ้าถิ่นอย่างลิงแสมลพบุรี เรื่องราวพัลวันจึงเกิดขึ้น 

วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เรื่อง

ราวกลางปี พ.ศ.2561 ผมได้มีโอกาสนำเสนอโปรเจ็คภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นให้กับหน่วยงานแห่งหนึ่ง หลังจากที่เว้นว่างจากการทำหนังไปหลายปีจากการไปเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยย่านบางกะปิและศาลายา ในรายวิชา “การกำกับภาพยนตร์” ผมเตรียมโปรเจ็คท์สารคดีไป 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่อง “ทุ่งบางกะปิ” จาก “แผลเก่า” (2479, ไม้ เมืองเดิม) นิยายแนวโศกนาฏกรรมที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า “ทุ่งบางกะปิ” ที่ใช้บรรยายเป็นฉากหลังของ “ขวัญ-เรียม” ตัวละครหลักในเรื่องนั้นอยู่ที่ถนนสุขุมวิทบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์หรือเขตบางกะปิในปัจจุบันกันแน่ ประเด็นนี้ถูดปัดตกไป เนื่องจากการสืบค้นข้อมูลในช่วงทศวรรษที่ 2470 ค่อนข้างยากลำบาก

เรื่องที่สอง คือ “ไก่ย่างวิเชียรบุรี” ว่าด้วยร้านขายอาหารข้างทางตามริมถนนซึ่งจะปรากฏว่า มีร้านอาหารที่ขาย “ไก่ย่างวิเชียรบุรี” มากที่สุด จึงตั้งใจที่จะเสาะหาบุคคลหรือกลุ่มคนที่เป็นคิดเมนูนี้ขึ้นมา ซึ่ง “วิเชียรบุรี” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดเพชรบูรณ์ติดกับจังหวัดลพบุรี ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งกับอำเภอศรีเทพ ประเด็นนี้ถูกปัดตกไปเช่นกัน เพราะจากข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นคำกลางๆ ของชื่ออาหาร หลังจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้าเมืองหลวงของคนต่างจังหวัดในยุค 2500 จึงนำชื่ออาหารท้องถิ่นติดมาด้วย อย่างเช่นร้านอาหารประเภท “ร้านลาบ” แล้วต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดอย่างที่คุ้นเคย อีกทั้งเส้นทางนี้เคยเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางจากภาคอีสานเข้าสู่ภาคกลางและกรุงเทพก่อนการก่อสร้างถนนมิตรภาพในปีพ.ศ. 2508

เรื่องที่สาม ผมได้นำเสนอ คือ เรื่อง “ดินแดนอุดมคติของมานี” เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการตามหาพื้นที่ที่เป็นฉากหลังของ “แบบเรียนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หนังสือมานีมานะ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกใช้ในการเรียนการสอนในช่วงปี พ.ศ.2521-2537 มีลักษณะเป็น “วรรณกรรมเยาวชนแนวจริง” ที่ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นประถม เพื่อให้เข้าใจลักษณะทางภาษาศาสตร์มากกว่าทางลักษณะทางรูปลักษณ์อักษร 

คำว่า “แนวจริง” ผมนำมาจากการคำนิยามในการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” (2523, กำกับภาพยนตร์ โดย หนุ่ม ’22) ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตระดับชั้นครู (Masterpiece) ในชื่องานวรรณกรรมว่า “ปีศาจ” (2496, ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์, ในนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ (2461-2557)) เป็นการแปลความหมายจากคำว่า “Realism” อันเป็นแนวคิดของการสร้างงานศิลปะที่เริ่มขึ้นในฝรั่งเศสยุค ค.ศ.1850 เพื่อต่อต้านงานศิลปะที่ “ไม่จริง” หรือ “ลวงตา” ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริง

หนังสือเล่มนี้มีองค์ประกอบหลายสิ่งที่น่าสนใจในแง่ของงานประพันธ์ ตั้งแต่การออกแบบตัวละครหลักเป็นหญิงสาว คือ “มานี” การใช้ภาพวาดประกอบที่โดดเด่นพอๆ กับด้านเนื้อหาสาระ ระดับพัฒนาการของเนื้อหาในแต่ละระดับชั้นการศึกษา รวมถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมของเมืองในลักษณะสังคมอุดมคติ (Utopia) ที่มีบรรยากาศแบบชนบทต่างจังหวัด

ภาพที่ใช้เป็น key photo ของสารคดี “ดินแดนอุดมคติของมานี”  (หนังสือเรียนภาษาไทย ชั้น ป.1 เล่ม 1 ตอนที่ 2)

ในแง่ของแนวคิด “ประพันธกร” ที่งานประพันธ์ไม่อาจแยกขาดจากตัวตนของผู้ประพันธ์ได้ โดยพื้นฐานของการทำงานศิลปะ มักจะเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่ศิลปินผู้นั้นเติบโต ซึ่งอาจไม่ได้หมายความถึงพื้นที่ในลักษณะรูปธรรม แต่อาจหมายถึงลักษณะพื้นที่ทางอุดมคติภายใน หนังสือเล่มนี้ประพันธ์ขึ้นโดย “คณะครู” นำทีมโดย “รัชนี ศรีไพรวรรณ (2473-2557)” ศึกษานิเทศน์ครูภาษาไทย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

ครูรัชนีเกิดที่ อ.โกสุมพิสัย สำเร็จการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนประชาบาลพินิจราษฎรบำรุง อ.ยางตลาด และระดับมัธยมจากโรงเรียน “สตรีอนุกูลนารี” อ.กาฬสินธุ์ ในอดีตขึ้นกับ จ.มหาสารคาม แต่ปัจจุบันเป็น จ.กาฬสินธุ์ ว่ากันว่าเมืองมหาสารคามและกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่ที่ผลิตนักเขียนเป็นจำนวนมาก 

สำหรับนักวาดภาพประกอบ คือ “เตรียม ชาชุมพร (2495-2533)” เกิดที่บ้านหนองหวาย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีษะเกษ สำเร็จการศึกษาระดับประถมจาก “โรงเรียนบ้านหนองหวาย” แล้วไปต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีผลงานนิยายภาพ (Graphic Novel) ที่โดดเด่นในชื่อ “เพื่อน” ใน “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” อันเป็นเรื่องราวของเด็กชายชาวชนบทและหญิงสาวชาวกรุงที่ได้สัมผัสบรรยากาศท้องไร่ท้องนา จากนั้นผลงานของเขาเริ่มพัฒนาไปสู่งานนิยายภาพสะท้อนสังคม จากผลงานอันโดดเด่นในการสะท้อนภาพชีวิตในชนบทได้อย่างน่าประทับใจ ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบในหนังสือชุดนี้ในท้ายที่สุด

แต่เนื่องจากทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะที่ผมกำลังจะเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีจึงไม่สามารถใช้วิธีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยการสัมภาษณ์ได้ จึงเปลี่ยนวิธีการดำเนินเรื่องในลักษณะ “ภาพยนตร์ความเรียง” หรือ “Essay Film” (คำว่า Essay ที่แปลว่าความเรียงหรือเรียงความในปัจจุบันนั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “พยายาม” หรือ “ทดลอง”)  ที่เป็นลักษณะ “งานวิจารณ์วรรณกรรม” และการตามหาสิ่งที่ตกค้างอยู่ในอุดมคติ 

ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะใช้วิธีการในการดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ทดลองด้วย ซึ่งได้แบ่งโครงสร้างของงานในช่วงแรกออกเป็น 4 ส่วน คือ 

1. การใช้ภาพประกอบและตัวหนังสือจากหนังสือพร้อมด้วยบทบรรยาย

2. การบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากสถานที่จริงหรือใกล้เคียงด้วยลักษณะภาพแบบการสำรวจเชิงพื้นที่

3. การเขียนบทภาพยนตร์ดัดแปลงจากบางตอนในหนังสือ โดยใช้เด็กในพื้นที่มาช่วยแสดงในหนังสั้น 

4. บทวิพากษ์วรรณกรรมบางส่วนและการอธิบายเชิงกว้างว่า ดินแดนอุดมคติของตัวละครในงาน

วรรณกรรมเรื่องนี้มีจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงจินตนาการแบบโลกสวย สายลม แสงแดด

เนื่องจากผมเคยใช้ชีวิตในวัยเด็กในชนบทที่ อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น จึงมีความรู้สึกร่วมบางประการที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ทางผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้น่าจะใช้ภาคอีสานเป็นพื้นที่หลักของงานประพันธ์ แต่ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า ใช้ฉากหลังเป็นเมืองลพบุรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งสองแบบ เพราะเมืองลพบุรีเคยมีผู้อพยพจากภาคอีสาน โดยเฉพาะขอนแก่นในช่วงการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงปี พ.ศ.2503-2508 

ภาพจากตอน “วัดร้างกลางป่า”  (หนังสือเรียนภาษาไทย ชั้น ป.4 เล่ม 1 ตอนที่ 2)

ในส่วนของหนังสั้นผมได้เลือกตอน “วัดร้างกลางป่า” ที่อยู่ในหนังสือชุดนี้ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 1 ตอนที่ 2 เพื่อเตรียมการดัดแปลงบทประพันธ์ให้อยู่ในรูปแบบของภาพยนตร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มเด็กในหนังสือได้เดินทางเข้าไปเที่ยวเล่นในป่าเขตพื้นที่ชายทุ่งเชิงเขา และได้พบกับวัดร้างกลางป่าและซากกองอิฐ ก่อนจะเจอกับงูเห่าตัวหนึ่ง ซึ่งได้จัดการฆ่างูตัวนั้นด้วย “ฉมวก” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับชาวประมง

ภายใต้องค์ประกอบที่ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งใดเชื่อมโยงกัน ในหนังสือชุดนี้ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่ม 1 มีภาคผนวกท้ายเล่มที่มีบทละครพูดคำกลอนเรื่อง “พระร่วง” ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเมืองละโว้ในยุคขอมโบราณ สันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีได้ว่า “เมืองละโว้” คือ “เมืองลพบุรี” ในปัจจุบัน

ว่าด้วยเรื่องของ “ขอม” หนังสือที่บันทึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น หนังสือชื่อยาว “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม : อันเนื่องมาจากความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ (2516, 2535)” ของ “จิตร ภูมิศักดิ์” (2473-2509) ซึ่งเป็นผลงานความเรียงชิ้นสุดท้ายที่ยังไม่เสร็จดีนักของจิตรใช้เวลาเขียนถึง 7 ปี ในขณะที่ถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว ช่วง พ.ศ. 2501-2507 

เขาได้มอบต้นฉบับให้กับอดีตเสรีไทยคนหนึ่งรักษาต้นฉบับไว้ โดยใส่กล่องฝังดินไว้ในสวนฝั่งธนบุรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงมีการขุดค้นขึ้นมาตีพิมพ์ โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ครั้งแรก 5,000 เล่ม ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่นานนัก มีหนังสือตกถึงมือผู้อ่านไม่มากนักเพราะส่วนใหญ่ถูกเผาทิ้งทำลาย 

หนังสือนี้แบ่งเป็นสามภาค คือ พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์, ชื่อชนชาติและฐานะทางสังคม, และ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ภาคที่หนึ่งและสองนี้ ต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้ด้วยกัน ส่วนภาคที่สามเป็นส่วนที่พบภายหลังและได้เพิ่มเข้ามาในการจัดพิมพ์ครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ.2535

ผมออกเดินทางจากเมืองบางกะปิไปเมืองลพบุรีด้วยรถยนต์ ด้วยความตั้งใจจะไปสำรวจ “ปรางค์สามยอด” หนึ่งในปราสาทขอมโบราณที่มีชื่อเสียง ขับผ่านเมืองสระบุรี โดยใช้เส้นทางของถนนพหลโยธิน ก่อนจะไปถึงเขตตัวเมืองลพบุรีที่ถนนนารายณ์มหาราช ผ่าน “วงเวียนพระนารายณ์” ที่มีรูปปั้นพระนารายณ์ที่เป็นผลงานของ “ศิลป์ พีระศรี (2435-2505)” จากนั้นจึงขับผ่าน “วงเวียนสระแก้ว” ที่มีฐานและประติมากรรมคล้ายเทียนรูปแปดเหลี่ยม สร้างขึ้นในสมัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม (2440-2507)” 

พระปรางค์สามยอดในช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกดิน

ในข้อมูลพบว่าตั้งใจจะสร้างรูปปั้นของ จอมพล ป. แต่ไม่เห็นด้วย จึงมีลักษณะเป็นประติมากรรมเช่นนั้นและมีรูปปั้น “คชสีห์หมอบ 8 ตัว” และ “พญานาค 4 ตัว” เคยมีการนำการเปลวเพลิงมาตั้งบนยอดประติมากรรมนั้น แต่ได้ถูกนำออกไปภายหลัง

จนเดินทางมาถึงโบราณสถานปรางค์สามยอดในเวลาต่อมา เป็นช่วงเวลาเย็นหลังเวลาราชการสังเกตได้จากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เดินผ่านไปมาในช่วงเวลานั้น ผมจอดรถบริเวณใกล้กับโรงแรมเมืองทอง สภาพอาคารแถบนี้ค่อนข้างเสื่อมโทรมเนื่องการบุกรุกพื้นที่ของกลุ่ม “ลิงแสม” ลิงแสมหรือลิงหางยาวเป็นลิงกลุ่มโลกเก่า (old-world monkey หรือ OWM) หมายถึง ลิงที่พบอยู่ในเฉพาะทวีปเอเชียและแอฟริกา ลิงแสมพบกระจายตัวได้ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในสภาพทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายทั้งในป่า บนต้นไม้ แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า หรือชุมชนเมือง (หน้า 6, การสังเคราะห์องค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น : เรื่องลิงลพบุรี, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี 2564 

องค์การ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ได้จัดลิงแสมอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เรียกว่า “100 Worst Alien Invasive Species” หรือ “100 ชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่นที่แย่ที่สุด” (หน้า 18, อ้างแล้ว)

ผมคว้ากล้องบันทึกภาพยนตร์เข้าไปในตัวปราสาท เพื่อบันทึกส่วนต่างๆ ของปราสาทจนครบทุกจุด ในระหว่างการบันทึกภาพเคลื่อนไหวนี้ ผมนึกถึงเรื่องเล่าสมัยวัยเด็กที่ชอบพูดกันในหมู่เด็กๆ ในทำนองที่ว่า

“ลิงโกสุม (ในที่นี้หมายถึงลิงแสมที่ อ.โกสุมพิสัย) กับลิงลพบุรี มีปัญหากันมานานมากแล้ว ลิงโกสุมต้องการจะยกทัพไปต่อสู้กับลิงลพบุรี แต่ติดที่โกสุมพิสัยไม่มีรถไฟผ่านลิงโกสุมจึงยกเลิกการเดินทาง”

ลิงแสมกำลังแงะชิ้นส่วนพลาสติกรถยนต์

คำว่า “ลพบุรี” ยังถูกใช้จำกัดความในการแบ่งประเภทงานศิลปะและสถาปัตยกรรมทางโบราณคดี ผมไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่โดยรอบของโรงเรียนระดับชั้นประถมของครูรัชนี “พินิจราษฎรบำรุง” อ.ยางตลาด นั้นมีหลักฐานทางโบราณดีหลงเหลือบ้างหรือไม่? ปรากฏข้อมูลว่า มีวัดร้างแห่งหนึ่งที่ “วัดป่าโนนบ้านเก่า” อ.ยางตลาดนั้น ปรากฏวัตถุโบราณที่มีศิลปะแบบลพบุรี จึงมีความเชื่อมโยงบางประการสำหรับสองพื้นที่แห่งนี้ 

ความหมายของ “ดินแดนอุดมคติของมานี” มีความเป็นไปได้ว่า จะมีอาณาบริเวณมากกว่าที่เข้าใจโดยทั่วไป ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลังจากที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวที่ปรางค์สามยอดสิ้นสุดลง แต่เมื่อผมเดินกลับที่รถยนต์พบว่า ลิงแสมตัวหนึ่งกำลังแกะชิ้นส่วนพลาสติกหลังคารถยนต์ของผม มีชาวบ้านแถวนั้นมาช่วยไล่ลิงแสมตัวนี้ออกไปจากรถ ผมกล่าวขอบคุณและรีบขับออกไปอย่างรวดเร็ว

โปรดติดตามตอนต่อไป

image_pdfimage_print