หนังสือ “ซับแดง หมู่บ้านเคียวเกี่ยวดาว” 2518 (2557) )

ตอนที่แล้ว “วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์” พาตามรอยเส้นทางหนังสือมานีมานะที่อยู่ในบทเรียน โดยเดินทางจากมหาสาคามไปลพบุรี แต่คราวนี้เขาไปลงพื้นที่ตามหาคอมมิวนิสต์ที่หมู่บ้านซับแดงที่ อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น เพื่อผลิตสารคดี The Spirit of the Age 

มีพล็อตเรื่องว่า อดีตนักศึกษาหนุ่มชาวซับแดงมีส่วนร่วมในขบวนการนักศึกษา หลัง 14 ตุลาคม 2516 ประชาธิปไตยเบิ่งบาน เขาและเพื่อนจึบมาที่หมู่บ้านเพื่อเป็น “ฝ่ายการศึกษา เยาวชนบ้านซับแดง” โดยใช้เถียงนาที่ทุ่งนาเป็นโรงเรียนชั่วคราว แต่ความผันผวนทางการเมือง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หมู่บ้านซับแดงถูกเพ่งเล็งด้วยการตั้งข้อหาว่ามี “กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคง” จึงถูกล้อมหมู่บ้านเพื่อเผาและทำลาย

วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เรื่องและภาพ

เส้นทางของการเดินทางระหว่าง “กรุงเทพ – ลพบุรี – ชัยภูมิ – ขอนแก่น” จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว การเดินทางในเส้นทางนี้จะถูกใช้ในช่วงเทศกาลหยุดยาวของประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนถนนมิตรภาพบริเวณ จ.นครราชสีมา และ จ.สระบุรี ดังนั้นการเดินทางในเส้นทางนี้จึงมีนัยสำคัญที่แตกต่างออกไปจากปกติ 

เมื่อขับรถพ้นออกมาจากตัวเมืองลพบุรี เข้าสู่เขตพื้นที่ชนบทของ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง อ.บ้านหมี่ และ อ.โคกสำโรง สองข้างทางเป็นท้องทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ไม่ต่างไปจากเขตพื้นที่ชนบทในที่อื่นๆ แม้กระทั่ง เขตหนองจอกของกรุงเทพมหานคร 

ขณะขับรถอยู่บนถนนบริเวณ อ.บ้านหมี่ ผมได้ย้อนนึกกลับไปถึงช่วงปี พ.ศ. 2549 สมัยครั้งที่ผมเริ่มเรียนวิชาภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสเดินทางไปหาเพื่อนสมัยเรียนมัธยมด้วยกันที่ขอนแก่น ซึ่งบังเอิญเพื่อนคนนี้มีภรรยาเป็นคนบ้านหมี่ บ้านของเธออยู่ในเขตพื้นที่ชนบท เพื่อนของผมได้เกริ่นนำก่อนมาถึงที่นี่ว่า คนพื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากลาว แต่ไม่ได้บอกว่าช่วงเวลาไหน 

ทางสามแยก “โคกกะเทียม” เส้นทางไปลพบุรี, บ้านหมี่ และโคกสำโรง (2561)

เมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านด้วยรถโดยสาร ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีทิวทัศน์ด้านหลังเป็นท้องทุ่งนาและภูเขา บรรยากาศไม่ต่างไปจากหนังสือมานีมานะเท่าใดนัก จากนั้นผมจึงมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวด้วยวิธีการ “ปูเสื่อนั่งพื้น” มีข้าวเหนียวนึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก และมีอาหารอื่นๆ ที่คล้ายภาคอีสาน รวมถึงการใช้ภาษาที่คล้ายแถบเมืองขอนแก่น (อันที่จริงผมสอนเล็กๆ น้อยๆ ในวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ให้กับหลานสาวตัวเล็กคนหนึ่งด้วย) ผมจึงสันนิษฐานว่า ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้น่าจะอพยพมาในช่วงปี พ.ศ. 2500 เนื่องจากจากการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมได้รับมาในภายหลัง

กลับมาที่รถยนต์ของผม ผมขับรถบนทางหลวงหมายเลข 205 จนมาถึงรอยต่อสามจังหวัดระหว่าง จ.ลพบุรี จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา เป็นลักษณะช่องเขาที่เรียกว่า “ช่องสำราญ” เนื่องด้วยลักษณะทางกายภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ภาคอีสานมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบบนภูเขาขนาดใหญ่ (Plateu) ซึ่งล้อมไว้ด้วยเทือกเขาขนาดเล็กที่มีความสูงชัน เมื่อวัดระดับด้วยค่า “เส้นความสูงชัน (Contour Line)” ที่จุดบริเวณนี้ จะมีค่าความลาดชันน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับบริเวณถนนมิตรภาพ ในข้อมูลที่บันทึกไว้ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 มักจะกล่าวถึง “กลุ่มคาราวานนายฮ้อย” ที่เดินทางด้วยเท้าและเกวียนผ่านทางช่องเขาบริเวณนี้เพื่อเข้าสู่ภาคกลางและพระนครเพื่อนำ “วัว-ควาย” ไปขายนั่นเอง 

พื้นที่ภูมิประเทศบริเวณ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ก่อนถึง “ช่องสำราญ” ที่คล้ายทางภาคเหนือของประเทศไทย (2564)

รถยนต์ของผมแล่นผ่านอำเภอต่างๆ จนมาถึงรอยต่อระหว่าง จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น บริเวณ อ.ช่องสามหมอ ซึ่งเป็นทางสามแยกขนาดใหญ่บริเวณภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ถ้ามุ่งไปทางทิศเหนือก็จะไปโผล่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่สามารถเดินทางออกไปจนถึง จ.เพชรบูรณ์ และเดินทางไปจนถึงภาคเหนือได้ ซึ่งเมืองชุมแพนั้นเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต แต่ถ้าเลี้ยวไปทางทิศตะวันออก เส้นทางนี้จะพาเราไปที่กลุ่มอำเภอของเมืองขอนแก่นในทางทิศใต้ และเนื่องด้วยผมต้องการใช้เวลากลับถึงบ้านในตัวเมืองให้เร็วขึ้น ผมจึงเลี้ยวรถไปทางทิศตะวันออกเพื่อวกกลับเข้าสู่ ถ.มิตรภาพ ที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น

ผมและช่างภาพชาวมัญจา เข้าสำรวจพื้นที่บริเวณน้ำตกที่ “ช่องสามหมอ” จ.ชัยภูมิ (2557)

เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว บริเวณสองข้างทางค่อนข้างมืด ผมขับรถผ่าน “หมู่บ้านซับแดง” เป็นอีกครั้งที่ผมนึกย้อนถึงเรื่องการผลิตภาพยนตร์สารคดีที่หมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตคอมมิวนิสต์ที่เมืองขอนแก่น แต่พออ่านมาถึงตรงนี้ ผมควรจะหมุนเวลาย้อนไปกลับอีกสักเล็กน้อย…

ราวปลายปี พ.ศ.2555 หลังจากที่ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผม “In April the Following Year, There Was a Fire (2012)” ได้เดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่างๆ แต่เนื่องด้วยภาพยนตร์ศิลปะในลักษณะแบบนี้ มักจะมีช่วงอายุไม่เกิน 1-2 ปี ที่จะมีความเป็นลักษณะ “เพิ่งอบเสร็จออกมาจากเตาร้อนๆ” สำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ (ยกเว้นในกรณีอื่นๆ) 

หลังจากการเดินทางของภาพยนตร์และผมสิ้นสุดลง ผมจึงได้เริ่มพัฒนาบทภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สอง ตอนแรก ผมตั้งใจจะเขียนบทภาพยนตร์ในรูปแบบ “Soft Science-Fiction” ในลักษณะ Poetic Realism ที่ผสมผสาน “ความตลกที่ไม่ตลก” ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ทำงานเป็นเซลส์ขายสื่อการเรียนการสอนทางวิทยาศาตร์กับชายหนุ่มช่างจิปาถะ (Handyman) ประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งเมืองขอนแก่น ผู้ที่สามารถสร้างกลไกของหุ่นไดโนเสาร์จำลองได้ ซึ่งทั้งคู่ได้รับออกแบบให้เป็นตัวละครที่นำพาคนดูหนังไปสู่โลกอีกใบที่ว่าด้วย “การเข้าไปสู่อีกมิติ จากมิติที่เราคุ้นเคย”

ทางเข้าหมู่บ้านซับแดง อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น ในเวลากลางวัน (2557)

โครงเรื่องของงานชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Talents Tokyo ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Tokyo Filmex 2012 ซึ่งเป็นโปรแกรมอบรมการผลิตภาพยนตร์ศิลปะ ตั้งแต่การเขียนบทไปจนถึงการหาทุนเพื่อผลิตภาพยนตร์ โดยจะรับสมัครเฉพาะ “Director (ผู้กำกับภาพยนตร์)” หรือ “Producer (ผู้ควบคุมการผลิต) จากประเทศแถบเอเชียที่กำลังมีโปรเจ็คท์ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกหรือเรื่องที่สอง ในปีนั้นโปรดิวเซอร์สาวที่จบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยแถบท่าพระจันทร์ เป็นคนนำโครงเรื่องของผมเข้าสมัครในโปรแกรมนี้ และได้รับการคัดเลือกในที่สุด (อันที่จริงผมเคยเป็นศิษย์เก่าที่นี่เมื่อปี 2010)

การอบรมภาพยนตร์แบบนี้เป็นลักษณะ “Based on Project” และเป็นระบบที่ออกแบบให้ Director กับ Producer ต้องทำงานร่วมกัน การทำงานด้วยระบบแบบนี้มักจะปรากฏอยู่ใน “โรงเรียนภาพยนตร์แบบยุโรป” โครงการ Talents Tokyo เป็นความร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน (Berlin International Film Festival, Germany)

สำนักงานวนเกษตรอินทรีย์ของอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ยุคตุลาคมชาวซับแดง (2557)

แต่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่โปรดิวเซอร์จะเดินทางไปที่โตเกียว ผมเกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน ผมตัดสินใจเปลี่ยนเนื้อเรื่องทั้งหมดเพื่อมาเขียนโครงเรื่องเกี่ยวกับ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” แต่อันที่จริงแล้ว เนื้อเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากเรื่องก่อนหน้านี้เท่าใดนัก ว่าด้วยหญิงสาวกับชายหนุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น แต่มุ่งเน้นไปทาง “Liberal Arts” กับ “Social Science” มากกว่า หากเขียนใน “รูปประโยคเชิงสุนทรียะ” หรือ “คำจำกัดความอย่างสั้น” อาจจะเขียนได้ประมาณว่า “The mysterious and the myths of ‘Art for Life’s Sake’ in Thai politics related to the social revolution” หรือ “ความลี้ลับและความเชื่อปรัมปราของ ‘งานศิลปะเพื่อชีวิต’ ในการเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติทางสังคม” ซึ่ง “การปฏิวัติทางสังคม” ในที่นี้หมายถึง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” และ “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ที่มีขบวนการนักศึกษาและประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

หลังจากนั้นผมก็ได้พัฒนาโปรเจ็คท์ภาพยนตร์เรื่องนี้เรื่อยมา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนและการเข้าร่วมกิจกรรมทางภาพยนตร์จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง ตั้งแต่  Script Development Fund (Busan Internatinal Film Festival 2013), CineMart (International Film Festival Rotterdam 2014), Produire au Sud (Festival Des 3 Continents 2014), Project Development Fund (Tokyo Filmex 2015) และทุนสนับสนุนการผลิตจากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2558

อาร์ตไดเร็คเตอร์ชาวมุกดาหารและช่างภาพชาวมัญจาลงสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้านซับแดง (2557)

ปลายปี พ.ศ. 2557 ในโครงการ Produire au Sud (แปลว่า “ผลผลิตจากเมืองใต้” ในภาษาฝรั่งเศส) ที่เมือง Nantes นั้น เป็นโครงการอบรมภาพยนตร์ด้วยระบบ Director กับ Producer เช่นเดียวกัน แต่ที่โครงการนี้จะมี “Script Doctor Session” อยู่ด้วย อาชีพนี้ในต่างประเทศจะทำหน้าที่วิเคราะห์และวิจารณ์บทภาพยนตร์ รวมถึงหาหนทางแก้ไขให้บทภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ดีขึ้น ผมได้รับคำแนะนำจาก Script Doctor ชาวอาร์เจนติน่าว่า ควรจะมี “คอมมิวนิสต์จริงๆ” อยู่ในหนังด้วย บทภาพยนตร์ของผมหลังจากนั้นก็ได้ถูก “รื้อถอนโครงสร้าง” เพื่อหาหนทางให้ดีขึ้นตามคำแนะนำ

จากนั้นผมจึงไปสืบค้นว่า “ใคร” และ “แบบไหน” ที่ควรจะเป็นต้นแบบของตัวละครที่เป็นคอมมิวนิสต์ในหนังเรื่องนี้ ที่สำคัญควรจะมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่เมืองขอนแก่นด้วย ผมไปค้นเจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่งชื่อว่า “ซับแดง : หมู่บ้านเคียวเกี่ยวดาว” หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นงานวิจัย โดยนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแถบสามย่าน แต่ประเด็นหลักไม่ใช่การทำภาพยนตร์สารคดีจากหนังสือเล่มนี้อย่างทื่อๆ อยู่แล้ว

“ฝ่ายการศึกษาเยาวชนบ้านซับแดง” ภาพเก่าจากหนังสือ “ซับแดง หมู่บ้านเคียวเกี่ยวดาว” (2557)

ในช่วงนั้นผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่งานภาพยนตร์สารคดีชิ้นนี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางสังคมของอีสานโดยตรง ผมจึงชวนเพื่อนสมัยมัธยมอีกคนหนึ่งที่เป็นช่างภาพหนุ่มไฟแรงจากสาขาสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยย่านบางกะปิ เข้ามาเป็นทีมงานด้วย เนื่องจากมีบ้านที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านซับแดง และเคยทำหนังสั้นด้วยกันเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นที่คล้ายกัน ในชื่อเรื่อง “A Brighter Day (2007, 2009)” (เดี๋ยวจะย้อนกลับมาเขียนถึงประเด็นในหนังสั้นเรื่องนี้ภายหลัง) แรกทีเดียวได้ตั้งชื่อโปรเจ็คท์ภาพยนตร์สารคดีชิ้นนี้ว่า “The zeitgeist” คำนี้มาจากภาษาเยอรมัน zeit (เวลา) และ geist (จิตวิญญาณ) หมายถึงบรรยากาศทางภูมิปัญญาของยุคสมัย

ต่อมาจึงมีนักศึกษาหนุ่มไฟแรงภาควิชาศิลปะที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมืองสะดือแห่งอีสานเข้ามาสมัครงานและฝึกงาน การทำงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จึงมีลักษณะแบบ “การทำหนังกองโจร” หรือ “Guerrilla Filmmaking” ที่มีทีมงานหลักเพียงแค่ 3 คน

ช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ผมและทีมงานเดินทางไปที่หมู่บ้านซับแดงเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีสั้นความยาว 25 นาทีในชื่อเรื่องว่า “The Spirit of the Age (2015)” เป็นเรื่องราวของอดีตนักศึกษาหนุ่มชาวซับแดงที่ได้เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดในยุคหลัง พ.ศ.2500 ที่กรุงเทพมหานคร ในคณะวารสารศาสตร์รุ่นแรก จากนั้นเขาจึงได้มีโอกาสทำงานด้านหนังสือพิมพ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและมีส่วนร่วมในขบวนการนักศึกษา 

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาและเพื่อนร่วมรุ่นชาวศรีษะเกษ ได้เดินทางมาที่หมู่บ้านซับแดง เพื่อเขียนหนังสือและส่งต้นฉบับกลับไปที่กรุงเทพ หลังจากนั้นชายหนุ่มไฟแรงทั้งคู่ก็ได้ร่วมก่อตั้ง “ฝ่ายการศึกษา เยาวชนบ้านซับแดง” โดยใช้เถียงนาที่ทุ่งนาเป็นโรงเรียนชั่วคราวเพื่อทำการเรียนการสอนในหลากหลายวิชาให้กับเยาวชนในกลุ่มตำบลแถบนี้

สภาพพื้นที่ของอดีตที่ตั้ง “ฝ่ายการศึกษาเยาวชนบ้านซับแดง” (2557)

แต่เนื่องด้วยความผันผวนทางการเมือง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หมู่บ้านซับแดงถูกเพ่งเล็งจากทางการในยุคนั้นด้วยการตั้งข้อหาแบบ “Standard Operation Procedure” คือ “กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคง” และ “กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์” จึงได้ล้อมหมู่บ้านซับแดงไว้ เพื่อเผาและทำลาย “ฝ่ายการศึกษา เยาวชนบ้านซับแดง” กระท่อมปลายนาอันเป็นโรงเรียนชั่วคราวแห่งนี้ แต่ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งนั้นได้หลบหนีออกจากหมู่บ้านไปก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยความช่วยเหลือจาก “กลุ่มเสรีไทยภาคอีสาน” เพื่อมุ่งหน้าไปยัง “เขตงานภูพาน” จ.สกลนคร

…ผมหลุดออกจากภวังค์และได้สติกลับคืนมาเมื่อรถยนต์แล่นเข้าสู่ จ.ขอนแก่น

อ่านย้อนหลัง บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (1) : จากเมืองบางกะปิสู่เมืองลพบุรี

โปรดติดตามตอนต่อไป

image_pdfimage_print