‘เฮาหนีไปเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น เฮาหนีความเจ็บปวดทุกข์ยาก เฮาหนีไปสร้างชีวิตใหม่ เติบโตและบ่ได้เป็นผู้บ่าวอีกต่อไป นั่นล่ะที่เฮานิยามว่ามันอวสานความอินดี้อีหลี’

บอย – อุเทน ศรีริวิ ผู้กำกับภาพยนตร์หนุ่มสายเลือดอีสานเข้มข้นจากเมืองขอนแก่นได้กล่าวในปลายสายโทรศัพท์ เมื่อพูดถึงหัวใจหลักในภาคบริบูรณ์ของซีรีย์ ‘ผู้บ่าวไทบ้านอวสานอินดี้’ หลังจากที่ภาพยนตร์อีสานน้ำดีทั้ง 5 ภาคนี้ ได้ผ่านสายตาผู้ชมทั่วประเทศจากทั้งจอแก้วและจอเงินมาแล้วกว่าถึงสิบปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2566 

เป็นภาพยนต์ที่เขาเอ่ยปากว่า เขาไม่เคยคิดว่าหนังอีสานที่เล่าจากมุมมองแนวเสมือนจริงในสายตาเขาจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ในขณะที่หลายสิบปีก่อนเขาเคยเป็นเพียงเด็กบ้านนอกที่เติบโตมากกับการดูหนังและเก็บกากฟิล์มหนังกลางแปลงตามงานวัด สู่การเป็นผู้เล่าเรื่องความเขียวชะอุ่มในแผ่นดินบ้านเกิด อันอุดมไปด้วยวิถีชีวิตของคนอีสาน ผ่านลำนำของหนุ่มสาวไทบ้านที่บรรเลงไปอย่างสนุกสนานเคล้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทยและความน่ากลัวของทุนนิยมที่คลืบคลานกัดกินชีวิตคนชายขอบ จนทำให้คนอีสานต้องหนีไกลจากบ้าน เพื่อตามหาเงินทองและความมั่งคังให้กับชีวิต ภาพของหนุ่มสาวผู้จากไปและผู้เฒ่าผู้รอคอย โศกนาฏกรรมความเศร้าที่แสนเงียบงันในวันที่อีสานเปลี่ยนแปลง

‘นี่คือบทสรุปภาคสุดท้ายของผู้บ่าวไทบ้าน จะไม่มีภาคต่ออีกแล้วและมันบทสรุปในแบบที่ผมพอใจจะเล่ามันออกมามันสมบูรณ์แบบ’

ชีวิตและความฝันในดวงตาของ อุเทน ศรีริวิ

“จากความฝันในวัยเด็กจนมาเป็นผู้กำกับหนังผู้บ่าวไทบ้านอีสานอินดี้ทั้ง 5 ภาค กว่าวันนี้จะมาถึงมันยากมั้ยคะ แล้วอะไรทำให้อยากเป็นผู้กำกับ” 

เราเริ่มด้วยคำถามที่อาจปูความหลังชีวิตของ ถึงชีวิตวัยเยาว์และความฝันของเขา

“ผมเป็นคนขอนแก่นแต่กำเนิดบ้านจะอยู่แถวชานเมือง เมื่อก่อนจะเป็นบ้านนอก ตอนเด็กๆ ผมชอบดูหนังกลางแปลงและมักจะเก็บกากฟิล์มมาส่องดู พอโตมาก็เรียนอิเล็กทรอนิกส์ จบชั้น ปวส. อิเล็กฯ ช่วงปีสุดท้าย ปวส. ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ผมได้ทำวิดีโอพรีเซนต์จากพาวเวอร์พอยต์ ผมชอบการที่ได้ใส่ชื่อตัวเองตอนจบท้ายงานที่มี End Crdit แบบตอนหนังจบ นี่คือแรงบันดาลใจแรกเลยนะที่อยากทำให้ผมทำหนังเลย”

“โห แล้วหลังจากนั้นได้เรียนทำหนังได้ยังไงคะ การที่เด็กอีสานบ้านนอกคนนึงจะไปเรียนทำหนังมันมีเส้นทางยังไง”

“มันยากนะ ตอนนั้นที่ มข. มันก็ไม่มีสาขาวิชาพวกนี้ แต่ผมเห็นเขาเปิดรับสมัครที่คลอง 6 เราเอาวุฒิ ปวส. ไปสอบเทียบได้ หลักสูตรต่อเนื่อง มันจะมีวิชาภาพยนตร์ ถ่ายภาพ และภาพยนตร์ ผมก็เลยสอบพอติดก็เลยได้ไปเรียนที่คลอง 6 เท่าที่จำมันก็มีคนจากหลายที่ทั่วๆ ไป มาเรียนแต่ส่วนมากก็เป็นคนเมืองคนมีเงินหน่อย คนใต้ คนเหนือก็มีบ้างประปราย แต่ได้ผมเป็นคนอีสานคนเดียวในห้อง ตอนนั้นผมก็เรียนไม่จบหรอกเขียนวิทยานิพนธ์นี่แหละแต่ว่าผมไม่ได้ไปสอบ ผมก็เลยไปทำงาน เป็นผู้ช่วยบ้าง ทำงานอาร์ตบ้าง เสิร์ฟน้ำบ้างในกองถ่ายหนัง ถ่ายละคร ก็ทำมาอยู่ 2 ปี ผมก็มาทำวิดีโอพรีเซนต์เป็นของตัวเอง ปรากฏว่าก็อยู่ได้ ผมก็เลยอยากกลับมาทำหนังตามความฝัน”

“แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้คุณอุเทนอยากจะกลับมาทำหนังเพื่อเล่าเรื่องคนอีสานคืออะไรคะ”

“คือมันเป็นวิทยานิพนธ์ตอนเรียนของผมที่เขียนเรื่องการผลิตภาพยนตร์แนว Neo-realistic คือการผลิตภาพยนตร์เหมือนจริงแนวใหม่ ก็ไม่ต้องมีดาราดัง ไม่ต้องเซ็ตอัพใหญ่อลังการ ฉากเรียลๆ สถานที่พื้นที่จริง วิถีชีวิตจริง และผมเลือกที่จะเล่าเรื่องชนชั้นล่าง เพราะผมว่าชีวิตบ้านผมมันคือชนชั้นล่าง อยู่ท้องไร่ท้องนามันปากกัดตีนถีบ มีเรื่องของเมียฝรั่ง คนหนีลงไปทำงานกรุงเทพ ทิ้งคนแก่ไว้ที่บ้าน มันเยอะมาก เพราะว่าเขาหลีกหนีจากความจน”

จากปฐมบทสู่ปัจฉิมบทของผู้บ่าวไทบ้านและความอินดี้ถึง ปราณี-ทองคำ

“ตอนที่รู้ว่าอยากทำหนังผมไม่รับงานอยู่ 1-2 เดือน หาเพื่อนไปหาข้อมูลไปรีเสิร์ชเอาข้อมูลว่าจะทำแนวไหน ผมก็ไปบ้านเพื่อนสารคาม หนองคาย อุบลฯ มุกดาหาร ค่ำไหนนอนนั่น ได้ข้อมูลมาปึกหนึ่ง แล้วเริ่มวางแผนว่าเราจะเซ็ทอัพเรื่องราว เลยมีทีมงานถามว่า ‘พี่แล้วผู้บ่าวไทบ้านมันคืออะไรวะ’ เขาถามขึ้นมาในที่ประชุมกัน ผมเลยคิดว่ามีคนถามก็แสดงว่ามันก็น่าจะมีความน่าสนใจ ก็เลยเอาชื่อนี้มาทำ ผู้บ่าวไทบ้าน แล้วก็เราจะทำหนังอีสานที่มันเป็นสากลหน่อย ก็เลยเป็นอีสานอินดี้เป็น Indipendent ประมาณนี้เพื่อเล่าช่วงเป็นผู้บ่าว ผู้บ่าวก็คือคนหนุ่ม วัยหนุ่มในหมู่บ้านที่ยังไม่ได้แต่งงาน ยังไม่ได้มีครอบครัว ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อใช้ชีวิตอิสระไม่มีใครมาบังคับ เหมือน บักทองคำ ในเรื่อง”

“ส่วนเรื่องประเด็นเมียฝรั่งอย่างตัวละคร ปราณี ตอนลงพื้นที่มันจะหมู่บ้านนึงมีบ้านหลังหนึ่งที่เป็นทรงโมเดิร์นเยอะมาก แต่ความต่างของมันคือมีธงสัญลักษณ์แต่ละประเทศ ขับผ่านบ้านหลังนี้เป็นธงยุโรปก็มีธงเป็นธงสเปน หลังนี้สวีเดน หลังนี้เยอรมัน ผมก็เลยจอดถามคนในหมู่บ้านว่า อ๋อ ได้ผัวฝรั่งมาซื้อที่ สร้างอาณาจักรของตัวเอง เขาก็บอกว่าคนในหมู่บ้านนี้ ถ้าได้ลูกผู้หญิงจบ ม. 3 เขาจะส่งไปพัทยาเลย เขาบอกว่าไปเทรน ไปเรียนก่อนสัก 1-2 ปี เป็นงานแล้วค่อยเริ่มจับฝรั่ง เสร็จแล้วก็แต่งงาน อยู่กินกับเขา จนเขามอบมรดกให้ทุกอย่างแล้วก็เลิก  เสร็จแล้วเขาก็ต้องมาหาผัวไทย ตอนนั้นผมฟังแล้วผมสะเทือนใจ ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ในอีกมุมหนึ่งในหนังที่พูดถึงชีวิตผู้หญิงอีสานที่ต้องหลีกหนีความยากจน”

ตลอดระยะเวลาสิบปีของการทำหนังของอุเทน ศรีริวิ มักจะมีเมจเสจหรือบทพูดการดำเนินเรื่องที่พูดถึงการกลับบ้านของคนอีสานอยู่เสมอ จนเรียกได้ว่านี่คือหนังอีสานที่สื่อสารกับคนอีสานโดยตรง

“ตอนคิดจะทำซีรีย์นี้ขึ้นมาตั้งเป้าไว้ยังไงบ้างคะ?”

“ภาคแรกถึงภาคนี้ผมตั้งเป้าไว้เลยว่าผมอยากให้คนอีสานที่อยู่ต่างถิ่นได้ดู ได้เห็นบรรยากาศ ได้เห็นภาพที่เวลาเขาจากบ้านไปแล้ว เขาไม่ได้กลับมาแล้วเขาได้ดูเขาจะคิดถึงบรรยากาศตัวเนื้อเรื่องเป็นเรื่องจริง คำพูด ตัวนักแสดง คาแรกเตอร์ มาจากสิ่งที่คนบ้านนอกอย่างเราคุ้นเคยทั้งนั้น ถ้าเป็นคนอีสาน หรือเป็นวัยรุ่นอีสาน มันจะผ่านจุดนี้มาทั้งหมด คนอีสานดูแล้วเขาจะอินเร็วที่สุด เพราะว่ามันเป็นชีวิตเขา”

“อีกประเด็นสำคัญในหนังคือเรื่องสังคมผู้สูงอายุอีสาน หนังเรื่องนี้ผมถ่ายห่างจากตัวเมืองไปร้อยกิโลในหมู่บ้านไม่มีรถพลุกพล่าน ผมเห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของไทบ้าน คือเจอผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียวเยอะ ดีหน่อยก็จะเลี้ยงหลานมีหลานเป็นเพื่อน สมมติถ้าเค้าตายก็จะเหลือแค่บ้านร้าง ประเด็นผู้สูงอายุจึงถือเป็นคอนเซ็ปต์หลักของซีรีส์ไทบ้าน ถึงตัวละครพ่อแม่ผู้สูงอายุเหล่านี้จะอยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่มั่นคงและมีเงินเยอะๆ แต่ก็อยากให้ครอบครัวพร้อมหน้าด้วย”

“แล้วทำว่า ‘อินดี้’ ที่พ่วงท้วยมาในชื่อหนัง 10 ที่ผ่านมาความหมายมันเปลี่ยนไปขนาดไหนคะ”

“10 ปีที่ผ่านมา ผมจะดีใจ ที่เห็นคนอีสานใช้คำว่าอินดี้มากที่สุด แม้แต่เพลงก็เป็นลูกทุ่งอินดี้ ผมเห็นคนเอาคำว่าอีสานอินดี้ไปตีความ ผมเห็นคนที่กลับมาหลายๆ คนหลายหน่วยงาน กลับมาพัฒนาองค์กรของตัวเอง พัฒนาหมู่บ้านเอามาสร้างเม็ดเงินลงพื้นที่ตัวเองหลายๆ คนจะเริ่มกลับมาตั้งหลักที่บ้าน ผมว่าหนังมันก็มีการไปเปลี่ยนทัศนคติของอีสาน ให้คนอีสานได้คิดถึงตัวเอง คิดถึงครอบครัวๆ คนถ้าได้ดูหนังผู้บ่าวไทบ้าน ผมว่ามันจะตำใจเขา จะสะเทือนใจเขาในบางช่วงบางมุม ไม่มากก็น้อย”

สิบปีของการเอิ้นพี่น้องเมือบ้าน กับการกระจายอำนาจที่ยังไม่ไม่ถึง

“เท่าที่ดูมาทั้ง 5 ภาค ถึงคุณคุณอุเทนจะนิยามว่าผู้บ่าวไทบ้านเป็นหนังเเนว รอมคอม หรือ คอมเมดี้ดราม่า แต่ก็มีการแทรกเรื่องกระกระจายอำนาจมาด้วยใช่มั้ยคะ?”

“ใช่ ผมเล่ามาตั้งแต่ภาคแรกมันจะมีไดอะล็อกหนึ่งที่ผมใส่เข้าไปว่า เรียนจบสูง แล้วก็ไปทำงานให้องค์กรตัวเองเจริญ ผมคิดว่ามันเป็นการเปรียบเปรย ที่บอกว่าอีสานไม่เจริญอีสานแล้งเพราะว่าคุณเรียนจบแล้วคุณก็ไปพัฒนาองค์กรหน่วยงานให้เจ้านายของคุณ แต่แทนที่คุณจะเรียนจบแล้วเอาความรู้ความสามารถมาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ แล้วคุณก็มาบอกว่าอีสานมันไม่เจริญมันไม่จริงเลย ที่นี่ไม่ค่อยมีใครคิดจะกลับมาต่างหาก ทั้งที่บ้านเรามีทรัพยากรตั้งมากมาย”

“คิดว่ามันได้สร้างความเข้าใจใหม่อะไรให้กับคนดูบ้าง เกี่ยวกับภาคอีสานของเรา”

“โลเคชั่นคือหนังเรื่องนี้จะไม่เห็นความแห้งแล้งของอีสานเลย ผมจะขายความเป็นธรรมชาติของอีสาน หลายคนก็จะชอบว่าอีสานมันแล้ง มันแห้ง มันก็แล้งมันก็แห้งแต่ว่ามันเป็นแค่ฤดูกาล หลังจากหน้าแล้งก็จะเป็นหน้าฝน  ธรรมชาติมันก็จะกลับคืนมาทั้งหมด”

“แล้วในฐานะที่ตัวเองโตมากับการดูหนังอีสาน วันหนึ่งได้มาทำหนังที่พูดถึงอีสานด้วยตัวเองมันเป็นยังไงบ้างคะ”

“เมื่อก่อนผมอยากเป็นนักเขียนนะ แต่ผมเขียนหนังสือไม่เป็น การทำหนังเป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่ดีที่สุดแล้วของผม เล่าเพื่อจะเปลี่ยนทัศคติของคนอีสานหลายคน หลายชนชั้น ให้มองอีสานที่ต่างชนชั้นคือคนอีสานเหมือนกัน”

“โดยส่วนตัวผมจะไม่ชอบที่เอาอีสานไปเป็นคนรับใช้ เอาอีสานไปเป็นยาม เอาอีสานไปเป็นอะไรที่มันดูต่ำต้อย ผมก็อยากเล่มมุมอีสานที่มันอยู่ข้างนอก ข้างนอกในเมือง ไม่อยากเล่าอีสานที่มันอยู่ในเมือง ถ้าอีสานไปอยู่ในเมืองก็เป็นคนขับแท็กซี่บ้าง เป็นคนขายส้มตำลาบก้อย แล้วก็ข้าวไม่สุกข้าวค้างคืนมาขายให้คนอีสาน หรือคนอีสานก็ยังกดมิเตอร์หลอกคนอีสานอะไรกัน ลาวต้มลาว พอไปอยู่ในเมืองพาร์ทในเมืองมันก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ผมว่ามันไม่จริงใจเหมือนพาร์ทที่มันอยู่บ้านนอกเราเลย เรามีมุมมองที่เรามองชีวิตตัวเองจากพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องมองจากสายตาของส่วนกลางมันดีกว่า”

ฟังลำในงานดอง เหล้าขาวและลาบก้อย ความทุกข์ยากในลำนำของผู้บ่าวไทบ้าน

“นอกจากความสนุกสนานที่ใช้หมอลำมาเป็นสีสันในเรื่องจากภาคแรกถึงภาคอวสานมีความหมายแอบแฝงอย่างอื่นมั้ยคะ”

“สำหรับผม หมอลำคือตัวแทนความแร้นแค้น ความน่าสงสาร ความทุกข์ยาก ความลำบาก ซึ่งความสนุกสนานจะซ่อนความเจ็บปวดไว้ในใจ ในไลน์ห้วงทำนองดนตรี  ให้คนเซิ้งคนฟ้อน ถึงเรามาจากความแร้นแค้นแต่คนอีสานก็เป็นคนสนุกสนาน ใจสู้ อย่างคนบ้านเรามาจากชนชั้นล่าง ที่อยากมั่งอยากมีอยากรวย ที่ต้องไปปากกัดตีนถีบเสื่อผืนหมอนใบ ต้องไปตายเอาดาบหน้า”

“ส่วนความเป็นผู้บ่าวไทบ้าน ความสนุกสนาน ความเป็นเพื่อน ความเป็นมิตรภาพ ตั้งวงกินเหล้าขาว แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือความยากจน  ถ้าไม่ออกไปต่างถิ่นก็หากินตามบ้าน เป็นผู้บ่าวไทบ้านก็ต้องรับจ้างทั่วไป เราต้องทนสภาพแบบนั้นให้ได้ ทนสภาพแบบนั้นให้ได้ก็คือทำนา ทำไร่ ปลูกอ้อย ปลูกมัน ถ้าพูดถึงคำว่ารวยทำกี่ปี แบบนี้ถึงจะรวย แต่ถ้าตัดคำว่ารวยออกไปถามว่ามีความสุขไหม?”

“เวลาเห็นภาพพวกนี้ในหนัง ในสื่อในละคร ความสุขของการกลับบ้านคือเขาอยากกินอะไรก็กิน อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากเห็นบรรยากาศท้องไร่ท้องนา เห็นเท็กเจอร์ไม้เห็นบ้านเห็นรั้ว เขาจะคิดถึง ๆ เพราะเวลาเขาไปติดกับดักในตัวเมือง ในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เขาจะเห็นแค่ป่าปูนกับโรงงาน”

“อยากให้คุณอุเทนช่วยแนะนำหนังในดวงในมาหน่อยสักสามเรื่องค่ะ”

“หนังอีสานที่ผมชอบที่สุด ที่อยากให้ดูก็คือลูกอีสาน สวรรค์บ้านนา ครูบ้านนอก หรือหนังพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ อาจจะเป็นเรื่องแสงศตวรรษ หรือสัตว์ประหลาด แล้วก็มีหนังของพี่กฤษณ์ พันนา ฤทธิไกร หลายเรื่องเลย”

“โห อันนี้มันมากกว่า 3 แล้วนะคะ”

“หนังอีสานหลายเรื่องเป็นครูให้ผมครับ”

“จริงๆ ตัวละครทองคำก็เหมือนเรานี่แหละที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็ต้องออกไปเหมือนเดิม เพราะว่าอยู่อีสานถ้าไม่ทำนา ปลูกมันปลูกอ้อยหรือรับจ้าง มันก็มีแค่นั้น ถ้าไม่เข้ามาทำงานในเมืองมันคงไม่มาสู่จุดของยุคอวสานอินดี้”

“ฟีดแบคในภาคสุดท้ายของคนดูเป็นยังไงบ้างคะ”

“คนดูค่อนข้างจะฟีดเเบคแรงนิดหนึ่ง ตัวหนังมันเป็นโรแมนติกมีความดราม่านี้มันก็จะเข้มข้น สำหรับคนอีสาน วัฒนธรรมหลายๆ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ผมใส่เข้าไป เขาค่อนข้างที่จะอินพอสมควรมันมีเรื่องชนชั้นวรรณะที่้เป็นอุปสรรคต่อความรัก จะแตกต่างจากอีสานอินดี้คือยุคเริ่มต้นของความเป็นผู้บ่าวชีวิตวัยรุ่น อิสระ ไม่ต้องมีความรับชอบ สนุกสนานใช้ชีวิตกับเพื่อนและเริ่มมีความรัก แต่อวสานอินดี้คือการที่หมดยุคผู้บ่าว สู่ยุคที่ต้องการความมั่นคงในชีวิต ต้องการตั้งตัว มีความต้องการทางเศรษฐกิจมากขึ้นหากยังเป็นบ่าวไทบ้านชีวิตจะไม่มีอะไร ตัวละครรอบตัวก็เลือกที่จะก้าวต่อไปนั่นแหละคือความจริงของคนไทบ้านที่เกิดขึ้นทั้งในหนังและในชีวิตจริง”

“ท้ายนี้คุณอุเทนอยากฝากอะไรกับคนดูมั้ยคะ”

“จริงๆ ตัวหนังมันไม่ได้สรุปหรอกว่าจะต้องอย่างไร แต่ผมอยากให้คนคิดถึงบ้านดูแล้วอยากกลับบ้าน อยากให้ดูแล้วตีความ เราเข้าใจเมสเสจมันไหม เรามีวิธีคิดที่มันเปลี่ยนทัศนคติเราบ้างไหม หรืออยากกลับมาทำอะไรที่บ้านเกิดเมืองนอนของเราบ้านหรือเปล่า”

image_pdfimage_print