วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เรื่อง 

ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือเมืองหลวง กรุงเทพมหานครหรือเมืองบางกอกในอดีต มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นภาพยนตร์ที่ผลิตจากส่วนภูมิภาค 

เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนอีสานโดยกำเนิด จึงจะใคร่ขออนุญาตผู้อ่านจำแนกแจกแจงรายละเอียดของ “ความเป็นอีสานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” ที่ผู้เขียนจะวิเคราะห์ วิพากษ์ และวิจารณ์ ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ตอน

คำว่า “อีสาน” ในภาษาบาลีสันสกฤต หมายความถึง ตำแหน่งทาง “ตะวันออกเฉียงเหนือ” หรืออาจจะเป็นชื่อของ “พระศิวะ” หรือ “พระรุทร” หรืออาจจะมาจาก “อิศานปุระ” ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรเจนละ ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ 

อย่างไรก็ตามมักจะมีคำจำกัดความที่ง่ายกว่านั้น “อีสาน” ก็คือ “คนลาว” ในเขตพื้นที่อาณานิคมของสยามในอดีต ซึ่งกลไกแห่งอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์จึงเข้าจัดการและแทรกแซงรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมของคนในพื้นที่แถบนี้ จนปรากฏเป็นภาคอีสานของประเทศไทยตามรูปแบบรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน

หลังจากที่มนุษย์ปุถุชนในสังคมปัจจุบันถูกกำหนดให้ต้องใช้ชีวิตตามรูปแบบเศรษฐกิจของทุนนิยมเพียงเพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ การเข้าโรงภาพยนตร์จึงเป็นหนึ่งทางเลือกเพื่อการผ่อนคลายชีวิตหลังจากการทำงาน โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ยังไม่มีโทรทัศน์ 

แน่นอนว่า เนื้อหาของภาพยนตร์ที่อนุญาตให้ฉายในโรงภาพยนตร์ของประเทศไทยนั้น ย่อมเป็นเนื้อหาที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่มีเนื้อหาถอยห่างออกจากความจริง โดยมีรากฐานจากละครเวทีและนาฏกรรม รวมไปถึงอิทธิพลของแนวคิด “วัตถุนิยม” และ “บริโภคนิยม” โดยมีฮอลลีวู้ดเป็นผู้วางรากฐานการผลิตจนกลาย “รูปแบบนิยม” ผู้เขียนมักจำกัดความว่าเป็น “Hollywood Academy”

เช่นเดียวกับสื่อและศิลปะประเภทอื่นๆ สำหรับการใช้เป็นเครื่องมือและกลไกในการควบคุมความคิด แต่ภาพยนตร์มีลักษณะที่พิเศษกว่าในทางด้านกายภาพที่มีจอขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉพาะสำหรับฉายหนัง ไม่ว่าจะกางแปลงหรือโรงหนัง ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความมืดเพื่อให้ลำแสงที่ลอดผ่านแผ่นฟิล์มไปกระทบบนจอผืนผ้าใบ ก่อนที่แสงนั้นจะสะท้อนเข้ามาสู่ดวงตาของผู้รับชมอีกที เพื่อแปลผลจากเนื้อหาของภาพยนตร์เข้าสู่กระบวนความคิด 

จึงขึ้นอยู่กับผู้สร้างภาพยนตร์ว่าต้องการให้หนังเรื่องนั้นมีลักษณะทางกายภาพและสุนทรียภาพไปในทิศทางใด และเป็นไปได้โดยง่ายที่จะทำให้เกิดสภาวะ “การแปลความหมายที่ผิดพลาด” จากการสร้างภาพลวงตา รวมไปถึงการดูหนังกับกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดสภาวะนี้ได้ ทั้งระดับปัจเจกและระดับคติรวมหมู่ (เว้นเสียแต่การมาถึงของละครโทรทัศน์ โฮมวิดีโอ และสื่อในยุคดิจิทัล ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายในตอนต่อไป)

ด้วยเงื่อนไขข้างต้นจึงเป็นช่องทางของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเผด็จการฟาสซิสต์ในอดีต ที่มักจะใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการล้างสมอง โดยการใส่ชุดความรู้หรือชุดข้อมูลบางอย่างที่ห่างไกลจากความจริง อันเป็นปัจจัยที่ทำให้อำนาจดังกล่าวมีความมั่นคง อาจนับรวมรูปแบบความเชื่อทางศาสนาและด้วยการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง

รวมไปถึงการกีดกันผู้เห็นต่างออกจากกระบวนการล้างสมอง จึงทำให้ประชากรในระบบนี้ถูกควบคุมได้โดยง่าย เนื่องจากไม่สามารถกลับไปสู่ชุดความคิดแบบเก่าได้อีกต่อไป

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน ที่ตอกย้ำภาพของความเป็นอีสาน ที่มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร และยากจนข้นแค้น ภาพจากเว็บไซต์ Hellosiam

ในภาพกว้าง “ความเป็นอีสาน” จึงมีสถานะเทียบเท่ากับ “ความเป็นอื่น” ซึ่งถูกสร้างขึ้นในยุคล่าอาณานิคมที่พ่วงด้วยระบบทุนนิยม การสร้างความเป็นอื่นจึงเป็นปัจจัยหลักของแนวคิด “แบ่งแยกและปกครอง” เป็นการสร้างชนชั้น เพื่อจะได้ควบคุมและกดขี่ประชากรในระบบทุนนิยม

เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” (พ.ศ. 2391, Manifesto of the Communist Party, Karl Marx and Friedrich Engels) และด้วยการประดิษฐ์ “โครงสร้างทางชนชั้น” และ/หรือ “โครงสร้างทางสังคม” แบบนี้ จำเป็นต้องสร้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา รวมไปถึงการสร้างอัตลักษณ์บางประการเพื่อแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรองรับระบบทุนนิยมนั่นเอง

กลับมาที่เมืองไทย ภาพของ “ความเป็นอีสาน” ในสายตาของคนเมืองหลวงในอดีตจึงเป็นภาพของความแห้งแล้ง กันดาร ยากจนข้นแค้น ไร้การศึกษา ไร้ซึ่งการพัฒนา และไร้เทคโนโลยี แต่หากจะวิเคราะห์ถึงสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ที่ราบสูงอีสานมีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่มากมายแต่กลับแห้งแล้ง อาจจะเป็นการจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพจากส่วนกลาง

การควบคุมการใช้ทรัพยากรจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบจัดเก็บภาษีที่เริ่มมาพร้อมระบบทุนนิยม รวมไปถึงการ “กีดกัน ขับไล่และเข่นฆ่า” ปัญญาชนดั้งเดิมออกไปจากพื้นที่ และได้นำ “ระบบอุปถัมภ์” เข้ามาใช้แทน จึงก่อให้เกิด “การสร้างความเป็นอื่นแบบซ้ำซ้อน” ขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน

เมื่อ “ระบบอุปถัมภ์” เข้ามาแทรกแซงทุกส่วนในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ตั้งแต่การเกิดไปจนถึงการตาย และควบคุมวิธีคิดเกี่ยวกับการศึกษาและปรัชญา แต่ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับภาพยนตร์เป็นหลัก

ส่วนภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นศิลปะแขนงที่ 7 ซึ่งสามารถรวมเอาศิลปะทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน แต่มีผู้มักกล่าวอ้างว่าจริงๆ แล้ว ภาพยนตร์สามารถเอาทุกเรื่องมาใส่ในภาพยนตร์ได้ ไม่เพียงเฉพาะแค่ศิลปะ 6 แบบ ตามแนวคิด “วิจิตรศิลป์” ซึ่งในภาคอีสานเองก็มีศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์แบบอีสาน ผ่านการกำหนดทิศทางของผู้มีอำนาจในพื้นที่ผ่านระบบอุปถัมภ์ 

วัฒนธรรมการเข้าชมมหรสพของคนอีสานนั้น ผู้เขียนไม่ทราบประวัติแน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือ “วัฒนธรรมหมอลำ” ที่ไม่ต่างจากลิเก โนรา โขน นาฏศิลป์ หรือแม้กระทั่งละครเวที ซึ่งหมอลำนี้เองที่มีการตกแต่งและดัดแปลงพันธุกรรมจาก “หมอลำดั้งเดิม” ที่มีแนวคิดของ “ผญา” หมอลำในอดีตจึงมีหน้าที่อธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ผ่านความบันเทิงสนุกสนานหรือเข้มข้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าหมอลำในอดีตจะ “เล่าเรื่อง” หรือ “ลำเรื่อง” เกี่ยวกับสิ่งใด หากหมอลำที่มีความเข้มข้นขั้นสุด ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่ม “ขบถผีบุญ” ที่ใช้หมอลำเป็นเครื่องมือสื่อสารด้านการเมืองและการปฏิวัติ

การผ่อนคลายชีวิตจากการทำงานของคนอีสานในอดีต จึงปรากฏอยู่ในงานบุญ 12 เดือน หรือ “ฮีต 12” ซึ่งมักสอดแทรกความสนุกสนานรื่นเริงเข้าไปด้วย แต่วิวัฒนาการด้านวัฒนธรรม ทำให้ “หมอลำ” กลายพันธุ์เป็น “หมอลำซิ่ง” ซึ่งเป็นรูปแบบงาน “มหรสพ” และธุรกิจด้านความบันเทิงไปโดยปริยาย

ส่วนละครโทรทัศน์นั้น มีการแปรสภาพจากงานมหรสพที่กล่าวมาข้างต้นเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ จึงมีแนวคิดของ “ความเป็นดารา” มากกว่า “ความเป็นนักแสดง” ก็ด้วยเงื่อนไขทางธุรกิจและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้คนในภาคอีสานช่วงแรกได้รับชมภาพยนตร์ที่สร้างโดยผู้สร้างจากเมืองหลวง แม้จะมีการถ่ายทำหรือเนื้อเรื่องอยู่ในภาคอีสานก็ตาม

ในทางกลับกัน “สินค้าทางวัฒนธรรม” อย่างหมอลำของภาคอีสาน จึงถูกส่งกลับไปยังเมืองหลวง ผ่านระบบการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ดังที่เห็นได้ในช่อง 11 ในอดีต 

ตัวละครอีสานในภาพยนตร์และละครไทยในอดีต จึงถูกออกแบบให้เป็นตัวตลก บ้านนอก โง่ จน เจ็บ และอื่นๆ ซึ่งขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงบางประการ สาเหตุคงหนีไม่พ้นความมักง่ายและสะเพร่าของการค้นคว้าข้อมูลก่อนการทำงานหรือการใช้ชุดข้อมูลด้านสภาพสังคมที่ผิดๆ ซึ่งอาจเกิดจากการเร่งผลิตเพื่อรองรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยการสร้างงานที่หวังเพียงผลกำไร และเน้นการขายดารามากกว่าขายเนื้อหาของงาน

ภาพยนตร์ศิลปะไม่ได้มาเพราะโชคช่วยฉันใด ความตลกของคนอีสานก็ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยฉันนั้น เงื่อนไขของความตลกของอีสานบางประการในอดีต อาจจะมีเพียงว่าต้องตลกขนาดไหนถึงจะไม่โดนจับกุดหัว หรือโดนไล่ล่าจากเจ้าอาณานิคมสยามในอดีต เพียงเพราะต้องการพูดความจริง หรือเรียกร้องอิสรภาพ สิทธิมนุษยชน และความจริงแท้ของชีวิต

 

image_pdfimage_print