“สินไซเป็นดั่งเพชรน้ำเอกหนึ่งในทศชาติชาดก เพราะเรื่องราวมีความเป็นมนุษย์ มีการพูดถึงระบบการปกครอง พูดถึงการผจญภัย การแสวงหา การมีเมีย และพูดถึงมิติภายใน เหมือนสินไซกำลังบำเพ็ญเพียรบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าในแบบเวอร์ชั่นของชาวบ้าน วรรณคดีเรื่องนี้จึงเข้าถึงความเป็นชาวบ้านได้ง่าย” ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ อดีตอาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ผลักดันวรรณคดีสินไซ ที่นำบ้านตัวเองมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้โฮงสินไซ

ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน ในพุทธศาสนาชาดกเรื่อง “พระเวสสันดร” จะได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ เด่นชัดเรื่องทานบารมี แต่มีชาดกอีกเรื่องในทศชาติชาดก นั่นก็คือ สินไซ วรรณคดีที่ฉายให้เห็นความเป็นมนุษย์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ปิดเทอมสร้างสรรค์ขอนแก่นปีนี้มีกิจกรรมให้เลือกทำมากมาย ยาวตั้งแต่มีนาคม จนถึงพฤษภาคม หนึ่งในนั้นมี “โฮงสินไซ” การเดินดงในป่ากับสินไซใน 9 ฐาน มหาภัย ซึ่งกิจกรรมนี้ เด็กๆ และผู้ปกครอง จะชอบและสนใจเป็นพิเศษ แต่ก่อนที่เราจะลงลึกกับเรื่องนั้น อาจต้องตั้งหลักเบื้องต้นก่อนว่า “สินไซ” คืออะไร

แน่ล่ะ พุทธศาสนาในอีสาน พระเวสสันดร เป็นหนึ่งในทศชาติชาดกที่นิยมมากที่สุดและนำมาเขียนบนผนังโบสถ์รองลงมาจากพุทธประวัติ ส่วนสินไซชาวอีสานเชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าในบทขึ้นต้นของวรรณกรรมเรื่องนี้ได้กล่าวว่าสินไซ เป็นปัญญาสชาดก หรือพระเจ้า 50 ชาติตามความเชื่อของชาวอีสาน แต่ไม่ปรากฏอยู่ในนิบาตชาดกจึงมีลักษณะเป็นชาดกนอกนิบาต คือแต่งเลียนแบบชาดกเพื่อให้เกิดความศรัทธาและความนิยม เมื่อได้รับความนิยมมากและมีความเชื่อว่าสินไซเป็นอดีตชาติพระพุทธเจ้าจึงนำมาเขียนเอาไว้บนผนังโบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในทางพุทธศาสนา

สินไซสมัยก่อนได้รับความนิยมในแถบอีสานเป็นอย่างมาก พบได้จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี รวมถึงฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนังของวัด มีมากกว่า 50 กว่าแห่ง ด้านใบลานมีการแปลออกมาหลายภาษา ทั้ง ไทย ลาว พม่า กัมพูชา แต่ที่อีสาน ลาวจะเป็นที่นิยมกันมาก โดยเรื่องราวของสินไซจะเป็นการเดินทางผจญภัย ตามหา ต่อสู้ พบเจอ

โฮงสินไซ กิจกรรมเดินดงในป่า

เดินดงในป่ากับกิจกรรม 9 ฐาน ที่โฮงสินไซ โดยก่อนเริ่มต้นกิจกรรมนั้น แน่ล่ะ ทุกคนต้องได้รับการปูพื้นฐานก่อน เพราะใช่ว่าทุกคนจะรู้จักสินไซ การมีกระบวนกรคอยเล่าเรื่องราวให้ฟังคร่าวๆ สำคัญกว่านั้นคือการแนะนำตัว พร้อมแชร์ ความรู้สึก อารมณ์ ที่โฮงสินไซให้ทุกคนสามารถพูดได้ มากกว่าแค่การบอกแค่ชื่อเฉยๆ 

การเดินดงในป่าของผู้ร่วมกิจกรรม จะเป็นการเดินทางร่วมกับ 3 พี่น้อง สีโห สินไซ และสังข์ทอง ซึ่งเป็นตัวละครหลักในเรื่อง เพื่อตามหาเสด็จอาสุมนทา 3 พี่น้องในเรื่อง ก็ได้เด็กที่มาเข้าร่วมได้อาสาสวมบทเป็นตัวละครนั้น เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม โดยการเดินทางใน 9 ฐาน จะพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งช้างใหญ่ งูซวง ยักษ์ ที่ทั้ง 3 พี่น้องต้องผ่านไปให้ได้ ซึ่งหากตีความตามฐานต่างๆ เราจะพบกับความรัก โลภ โกรธ หลง สิ่งที่เข้ามาท้าทายในชีวิต โดยแต่ละด่านจะมี พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเด็กคอยเอาใจช่วย

“มันไม่ง่ายนะ ที่จะทำให้วรรณคดีไปอยู่ในใจของเด็กๆ ได้ ฉะนั้นที่โฮงสินไซเราจะไม่สอน ไม่ชี้นำ แต่เราออกแบบให้ฐาน เด็กเขาได้เล่น ได้มีส่วนร่วม เด็กจะสนุก มันจะกลายเป็นความทรงจำในวัยเด็กของเขาว่าครั้งหนึ่งเคยมาทำกิจกรรมแบบนี้ และที่สำคัญพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องมาร่วมด้วย จะไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับเราแบบ 100 เปอร์เซ็นต์” เป็นการจัดการอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งที่อาจารย์ทรงวิทย์ออกแบบไว้

การศึกษาสมัยใหม่ไม่ควรถูกจำกัดรูปแบบ

“เรามองว่าศิลปะสามารถนำมาทำงานกับภายในของเด็กได้ สภาวะภายในของเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก หากวัยเด็กเรามีความทรงจำที่ดี สิ่งนี้จะนำไปเชื่อมในอนาคตของเขา ไม่ว่าจะเป็น ละครเวที ดนตรี วรรณดคี หรือการมาอยู่ในป่า ได้อยู่กับความร่มรื่นในพื้นที่สินไซ เชื่อสิ วันหนึ่งเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะนึกถึงและอาจจะย้อนกลับมาหาสิ่งนี้” เสียงจาก หลิว พงศธร พุทธโคตร หนึ่งในกระบวนกร ที่มาช่วยสร้างบรรยากาศในแต่ละฐานดูสนุกสนานขึ้น

หลิว พงศธร พุทธโคตร

“ที่นี่เราไม่ได้สอนหนังสือ แต่เราสอนชีวิต เนื้อหาของสินไซมีเยอะมาก แต่เรายกแค่เรื่องการเดินทาง การผจญภัยมานำเสนอ ให้เด็กได้สนุก ได้เรียนรู้ เพราะสินไซมีหลายมิติ อย่างหลักระบบการปกครอง ซึ่งพูดถึงพฤกษาธิปไตย ที่เปรียบกษัตริย์เป็นยอด เสนาอำมาตย์เป็นกิ่งก้านสาขา ส่วนประชาชนเป็นราก ถ้าไม่บำรุงราก ต้นไม้ก็จะพังลงได้ ฉะนั้นในสินไซสามารถศึกษา ทำเป็นตำราเรียน หลักสูตรปรัชญาขึ้นมาได้เลย

“ถึงแม้ พ.ร.บ. การศึกษา ปี 2540 ให้ชุมชนสามารถทำหลักสูตรตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงก็ยังให้ความสำคัญกับการสอบ สอบโดยอาศัยหลักสูตรแกนกลางอยู่ดี พอให้ความสำคัญกับการสอบมันก็ล้มเหลว เราต้องเข้าใจก่อนว่าหน้าที่เด็กคือเล่น ส่วนการเรียนเป็นสิ่งที่รองลงมา

“กระบวนการที่นำมาใช้ในกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ เราต้องการเชื่อมคนเข้าหากัน เพราะเราเน้นไม่ได้ศิลปะ เน้นวิชาการ แต่เน้นคนเป็นสาระสำคัญสูงสุด ให้เขาเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยิ่งหากเขาเข้าถึงมิติภายในของตัวเองได้ด้วย จะถือว่าเป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่โฮงสินไซภูมิใจ 

“สินไซ เปรียบเป็นเพชรน้ำเอก น่าเสียดายที่สินไซ มีคนศึกษาน้อย เลยเป็นที่รับรู้ไม่มากนักในทุกวันนี้ แต่มันก็ยังคงตกทอดมาถึงพวกเราอยู่ เพราะอะไรที่มันเข้าถึงใจของชาวบ้าน เข้าถึงใจคน มันจะยังคงอยู่” อาจารย์ทรงวิทย์กล่าวทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถาม

ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้ผลักดันวรรณคดีสินไซ ที่นำบ้านตัวเองมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้โฮงสินไซ

การมีส่วนร่วมผลักดันการศึกษาขอนแก่นของภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย แห่งขอนแก่นพัฒนาเมือง และหนึ่งในผู้ผลักดันเรื่องการศึกษาในขอนแก่นเอ่ยถึงกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ขอนแก่นว่า

“คนในเมืองขอนแก่น มีความรู้สึกว่ามีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น และเพื่อนผมที่อยู่จังหวัดอื่น เขารู้สึกอิจฉาขอนแก่นว่ามีกิจกรรมแบบนี้ด้วย ทำไมจังหวัดเขาไม่มี จังหวัดเขาถ้ามีใครคิดจะทำ จะมีคนแซว คนแซะ อย่าไปทำเลย ทำแล้วจะมีคนมาร่วมด้วยเหรอ ทำแล้วจะรวยไหม ซึ่งจริงๆ แล้วกิจกรรมนี้ต้องชมคนจัดอย่าง ไนท์ (พิชิต ชัยสิทธิ์) ที่กล้ามาทำอะไรแบบนี้ ทำแล้วมันไม่รวยหรอก แต่เรามีความสุข และที่ขอนแก่นมีคนแบบไนท์อีกเยอะ อันนี้เป็นเสน่ห์ของเมืองนี้”

สุรเดช กล่าวต่ออีกว่า “หลังจบปิดเทอมสร้างสรรค์ในเดือนพฤษภาคม ผมจะชวนทุกกลุ่ม จอมยุทธ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการศึกษา ชวนมาเล่นใหญ่กันไหม เล่นทั้งทีขอไม่แบบ เอ๊าะเยาะ แอ๊ะแยะ แต่จะขอทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จริงๆ”

ด้าน ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวถึงการมุ่งสร้างศักยภาพของคนขอนแก่นว่า “เทศบาลนครขอนแก่นมุ่งสร้างให้ประชากรมีศักยภาพในการเป็นผู้นำตนเอง ไม่อาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว เเต่สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตน ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้กับพวกเขา”

image_pdfimage_print