ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายนของทุกปี ชายไทยกลุ่มหนึ่งจะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาไปทำหน้าที่เป็น นั่นคือ การเกณฑ์ทหาร  ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของชายที่มีสัญชาติไทยต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกหรือการเกณฑ์ทหารด้วยตนเอง โดยเมื่อมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ ต้องไปแสดงตนขึ้นทะเบียนทหาร และเมื่ออายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ จะต้องเข้ารับหมายเรียกเพื่อไปแสดงตนที่ภูมิลำเนาของตนเองเพื่อเข้ารับการตรวจเลือก 

พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ในปี 2567 จำนวน ประมาณ 85,000 คน 

สำหรับประโยชน์ของทหารเกณฑ์ตามที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพบก ได้เคยเผยแพร่ข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์ทางเพจ Army PR Center มีทั้งหมด 9 ข้อดังนี้

  1. ได้ทำหน้าที่ลูกผู้ชายรับใช้ชาติ
  2. ได้มีโอกาสเป็นนักเรียนนายสิบ
  3. ได้ความอดทน 
  4. ได้ความเข้มแข็ง
  5. ได้ศึกษาเพิ่มเติมในระดับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)  
  6. ได้รับเงินเดือน
  7. ได้เพื่อนฝูง
  8. ได้เป็นผู้เสียสละ
  9. ได้อบรมวิชาชีพ
ภาพข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์ทางเพจ Army PR Center

ภาพของทหารเกณฑ์ในสื่อหลักของไทย

การเกณฑ์ทหารทหารในไทยถูกนำเสนอผ่านหน้าของสื่อต่างๆ ทั้ง ภาพยนตร์ ละคร ที่ถูกฉายผ่านหน้าจอ เนื้อหามักจะนำเสนอด้วยการบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ลูกผู้ชายพึงปฏิบัติ และควรภูมิใจกับหน้าที่ที่ตนเองได้รับ ผู้ชายที่เป็นทหารจะมีความอดทน เป็นผู้มีวินัย เข้มแข็ง มีความรักชาติ มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้แก่วงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นผลมาจากสังคมปิตาธิปไตยในไทยที่มักจะปลูกฝังให้เพศชายเป็นผู้ที่แข็งแรงกว่าเพศหญิง ภาพยนตร์และละครที่ฉายส่วนใหญ่จึงมักจะนำเสนอในด้านที่ดีของทหาร และสื่อหลักที่นำมาฉายส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เช่น การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ ททบ.5  สถานีโทรทัศน์ NBT นอกจากนี้ยังมีการเล่าเรื่องราวของทหารเกณฑ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เพลง และคลิปวิดีโอ ให้เห็นอยู่เรื่อยมา

ปัจจุบัน Social media เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย การนำเสนอภาพของทหารเกณฑ์นั้นต่างไปจากสื่อหลักโดยสิ้นเชิง คนในสังคมรับรู้เรื่องอีกมุมหนึ่งภายในค่ายทหารที่ถูกขนานนามว่า “แดนสนธยา” มากขึ้น ทั้งเรื่องของการฝึกที่หนักจนเกินไป การฝึกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาทหาร ภาพอาหารการกินของทหารในค่าย การนำทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ หรือถึงขั้นการลงโทษที่รุนแรงไปถึงเสียชีวิตภายในค่ายทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดกระแสทางสังคมมากมาย ทั้งในเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ คำถามเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร

การเรียกร้องให้เกิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และแฮชแท็ก #ทหารมีไว้ทำไม เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ประชาชนตั้งคำถามกับกองทัพเพียงเท่านั้น

ผู้บ่าวทหารเกณฑ์ในเพลงลูกทุ่งอีสาน

เรื่องราว​ของทหารเกณฑ์ได้​ถูก​ถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ รวมไปถึงวงการเพลงลูกทุ่งอีสาน นอกจาก ครู และตำรวจ ทหารถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่พบเห็นได้ในหลายบทเพลงลูกทุ่งอีสานทุกยุคทุกสมัย ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเสนอผ่านมุมมองที่แตกต่างกันออกไป 

ตัวอย่างเพลงที่กล่าวถึงทหารเกณฑ์ที่ทุกคนร้องตามกันได้ เช่น แพ้รบสนามรัก เพลงของคู่หูดูโอ้แห่งวงการลูกทุ่งหมอลำ ลูกแพร – ไหมไทย เผยแพร่เมื่อปี 2540 เนื้อหาภายในเพลงผู้แต่งได้ทำการเปรียบสนามรบออกเป็นสองสนาม คือ สนามรบชายแดนและสนามใจของผู้หญิง ดังที่ปรากฏในคำร้องที่ว่า

“กลับจากแนวรบมาพบบัตรเชิญ น้องนางจะเดินเข้าประตูวิวาห์ หัวใจทหารชายแดนเย็นชา เหมือนโดนฟ้าผ่าลงมากลางใจ”

ถึงแม้จะเป็นเพลงที่มีจังหวะดนตรีสนุกสนานแต่เมื่อดูเนื้อหาในเพลงกลับเป็นการบรรยายถึงทหารเกณฑ์ที่อกหัก พ่ายแพ้แก่ความรักและอำนาจของเงิน เพลงยังได้กล่าวถึงความแข็งแกร่งของกองทัพไทยและความแข้มแข็งของชายชาติทหารไว้ว่า 

“สนามรบชายแดน กลางดงควันปืน พี่ยังหยัดยืนไม่เกรงหน้าไหน ปราบมาทั่วทิศ ป้องสิทธิ์ของไทย ไม่เคยพ่ายใคร ในแดนสงคราม”  

ซึ่งเป็นการบรรยายที่สื่อถึงความเก่งกาจของทหารไทยตามจินตนาการของผู้แต่ง 

ปี 2552 ค่ายเพลง จี.เอ็ม.เอ็ม. แกลมมีโกลด์ ได้ผลิตเพลงที่เกี่ยวข้องกับทหารเกณฑ์อีสานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ในบทเพลง ทบ.2 ลูกอีสาน ซึ่งขับร้องโดย ไผ่ พงศธร เนื้อหาของเพลงจะเป็นการบรรยายถึงทหารเกณฑ์อีสานที่ถูกเกณฑ์ให้ไปอยู่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งปรากฏในเนื้อเพลงว่า 

“ต้องจากบ้านนา ถูกเกณฑ์เข้ามากรมทหาร หนุ่ม ท.บ.2 ลูกอีสาน มาประจำการชายแดนมาเลย์” 

เนื้อเพลงแสดงให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องพลัดพรากจากครอบครัวที่เป็นที่รัก เพื่อไปทำหน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร เนื้อหาส่วนหนึ่งของเพลงได้กล่าวถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมภาคใต้ของไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มต่างๆ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้มาก กล่าวเพียงสถานการณ์ภาพรวมไว้ว่า 

ในวันดีๆ ที่ไม่มีสถานการณ์ สาวเว้ายาวีกับบ่าวอีสาน เคยยิ้มให้กันแบ่งปันน้ำใจ ต่างภูมิลำเนา แต่ว่าเฮาก็เป็นคนไทย ปลดประจำการกลับบ้านเมื่อไหร่ เบอร์ที่น้องให้ จะหมั่นโทรมา”  

สิ่งที่เป็นตัวขยายความว่าพื้นที่ภายในเพลงคือบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างชัดเจน คือ เทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัด นราธิวาส ยะลา และปัตตานี เมื่อมองย้อนกลับไปปี 2552 มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากมายทั้งเหตุการณ์คนร้ายใช้ปืนยิงนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขาหัวช้าง รองนายกเทศมนตรีเทศบาล และเพื่อนรวมเสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย

เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 39 คน เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณศาลาริมแม่น้ำปัตตานี ถนนเลียบแม่น้ำ เขต เทศบาลนครยะลามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 คน เสียชีวิต 2 ราย การที่เพลงกล่าวว่า 

ต่างภูมิลำเนาแต่ว่าเฮาก็เป็นคนไทย” 

แสดงให้เห็นถึงการครอบงำอัตลักษณ์ประจำถิ่นของรัฐไทย ที่กำหนดให้ต้องเป็นคนไทยภายใต้เส้นแบ่งพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการก่อให้เกิดความขัดแย้ง 

ปี 2553 ค่ายเพลง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่โกลด์ ได้ผลิตเพลงที่เกี่ยวข้องกับทหารเกณฑ์ขึ้นมาอีกหนึ่งบทเพลง ชื่อว่าเพลง ชีวิตเพื่อชาติ หัวใจเพื่อเธอ  ซึ่งขับร้องโดย มนต์แคน แก่นคูณ เนื้อหาของเพลงนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนแต่อย่างใด เป็นเพียงการบรรยายถึงการที่ชายคนหนึ่งต้องพลัดพรากจากหญิงคนรักไปเพราะว่าตนเองนั้นจับได้ใบแดงเลยต้องไปเป็นทหาร ดังที่ปรากฏในเนื้อเพลงว่า

“วันเกณฑ์ทหาร อ้ายจับได้ใบแดง ยืดอกเตรียมรับตำแหน่ง ทหารเกณฑ์แห่งกองทัพไทย แขวนยีนส์ตัวเก่า บอกลาผมยาวสั่งสาวแฟนอ้าย ไปทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ แต่หัวใจฝากไว้กับเธอ”

ในเพลงยังมีการบรรยายไว้ว่า หน้าที่การเกณฑ์ทหารถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของชายไทย เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติ และไม่เสียชาติเกิดที่เกิดมาเป็นชายไทย ดังที่ปรากฏในเนื้อเพลงว่า

“เกิดเป็นไทยได้สิทธิ์รับใช้ชาติ  คือความองอาจบ่เสียชาติลูกผู้ชาย ภูมิใจเถิดนะอย่าเสียน้ำตาเลยแฟนอ้าย รอเติมแรงใจในยามที่เราไกลกัน”  

ปี 2562 ศิลปิน บิ๊กไบค์ สายลำ ได้ออกซิงเกิ้ลเพลง จับได้ใบแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่จะวนกลับมาฮิตอีกครั้งใน TikTok  ช่วงเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีท่อนฮุกของเพลงที่ร้องว่า 

“จับได้ใบแดง หล่าคำแพงไปกับคนอื่น เจ็บส่ำได๋แต่อ้ายต้องฝืน ยืนมองดูเจ้าจากไป” 

เนื้อหาภายในเพลงจะเป็นการกล่าวถึงชายที่ต้องอกหักจากคนรักเพราะตนเองนั้นจับได้ใบแดงซึ่งต้องไปเป็นทหารสองปี ทำให้คนรักทนรอไม่ได้และบอกเลิกในที่สุด

บทสรุปของผู้บ่าวทหารเกณฑ์

นโยบายพรรคเพื่อไทยในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 มีการเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารจากการบังคับ ให้เป็นโดยสมัครใจ เปิดกว้างในการสมัครออนไลน์ให้ทำง่ายและครอบคลุม โดยไม่กำหนดเป้าหมายการรับ เพื่อทำให้เป็นทหารมืออาชีพ สามารถลดงบกลาโหมลงได้ 10% และนำงบส่วนนี้นำไปสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง

สถิติจำนวนยอดเรียกเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2565 -2567 มีการเรียกเกณฑ์ทั้งหมด ดังนี้

  • ปี 2565 ประมาณ 58,330 คน
  • ปี 2566 ประมาณ 83,000 คน 
  • ปี 2567 ประมาณ 70,000 คน

จำนวนของ “ยอดเรียก” เกณฑ์ทหารกองเกินนั้น “ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ที่ต้องการสมัคร” เป็นทหารกองประจำการก่อนการตรวจเลือก ซึ่งเริ่มโครงการเมื่อ ปี 2564 โดยวิธีการสมัครทางออนไลน์  

โดยปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกมี “ผู้เข้าร่วมสมัคร” จำนวนประมาณ 3,000 คน จากนั้นในปี 2565 มีจำนวนที่สมัครประมาณ 6,500 คน ปี 2566 มีผู้สมัครเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,156 คน และในปี 2567 มีผู้สมัครประมาณ 21,500 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เริ่มโครงการเป็นต้นมา มีผู้สมัครเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมตั้งคำถามกับรัฐบาลก็คือ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร 100% ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ จะสามารถดำเนินการจริงในเวลากี่นาฬิกา

คำกล่าวของต้าห์อู๋ พิทยา แซ่ฉั่ว ถึงจำนวนของกองทัพ (ภาพจาก the Structure)

จากการวิเคราะห์เนื้อหาของตัวอย่างบทเพลงที่นำมาอธิบายชีวิตของทหารเกณฑ์ เนื้อหาของเพลงจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันในประเด็นสำคัญเรื่องการพลัดพราก แน่นอนว่าเมื่อจับได้ใบแดงแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมใจยอมรับคือการต้องพลัดถิ่นเพราะต้องไปอยู่ถิ่นอื่น

หรือบางคนต้องพลัดถิ่นไปยังที่ไกลแสนไกลต่างวัฒนธรรมต่างภาษา และสิ่งที่ตามมาคือการต้องพลัดพรากจากคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นคนรัก หรือครอบครัว บางคนอาจจะกลับมาเจอคนที่รัก และบางคนอาจจะกลับมาเจอกับความรักที่ผิดหวัง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากการเกณฑ์ทหารในไทย เป็นเพียงปัญหาที่พบเจอในบทเพลงเพียงเท่านั้น ซึ่งยังไม่นับรวมกับปัญหาที่สื่ออื่นนำเสนอ

image_pdfimage_print