หลายต่อหลายครั้งที่ “หมอลำ” มักจะถูกลงมติโดยพ้องต้องกันว่าเป็นสุดยอดมหรสพที่สะท้อนตัวตนของคนอีสานได้ดีที่สุด ไม่ต่างกันนั้นหากขยับมาพูดถึงวัฒนธรรรมการกิน ลาบ ก้อย ซอยจุ๊ ก็คงเป็นอาหารชั้นเลิศของคนที่ราบสูงที่ถูกปรุงให้เป็นอาหารมื้อพิเศษ ทั้งสองสิ่งคงไม่ต่างอะไรกับภาพแทนที่ว่า “อีสานคือจักรวาลที่เต็มไปด้วยความม่วนซื่น เสียงร้องเสียงลำ และรสนัวร์ของสรรพอาหาร” 

จะว่าไปความรุ่มรวยของอีสาน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม วัฒนธรรม หรืออื่นๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงความงดงามของคุ้งแคว้นที่ราบสูงแห่งนี้ มากไปกว่านั้นอีสานยังมีจารีตฮีตคองที่สอดรับกับวิถีปฏิบัติเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสมาชิกในสังคม ที่เรียกว่า “ฮีต 12 คอง 14” ขณะเดียวกันการบุญแต่ละฮีตก็แฝงฝังด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันดี และที่ขาดไปไม่ได้เสีย คือความม่วนซื่นอันเกิดจากการเสพสลอง (ฉลอง) ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะการ “แห่” 

ในฮีตทั้ง 12 เกือบทุกฮีต มักจะปรากฏว่าการ “แห่” เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของพิธีกรรมในแต่ละการบุญ เสียงเสพเสงมหรสพพื้นเมืองอย่างกลองยาวที่คละเคล้าไปพร้อมกับเสียงพิณเสียงแคน จนทำให้ขาแขนของสมาชิกต่างขยับสับส่ายวาดลายลีลาเป็นท่าฟ้อนอย่างอิสระ ก็ทำให้ขบวนแห่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นักประวัติศาสตร์อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายอย่างมีนัยยะว่าการฟ้อนรําในยุคแรกบรรดาผู้ฟ้อนรําจะไม่ใช่ช่างฟ้อนหรือช่างขับลํา แต่เป็นชาวบ้านหมู่เหล่าเผ่าพันธุ์เดียวกันรวมกันเป็นกลุ่มก้อน การฟ้อนรำยังหมายถึงพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ปรากฏทั่วไปในแผ่นดินอุษาคเนย์และหมู่เกาะ 

อีสาน – คุ้งแคว้นแห่งการแหนแห่ หากอธิบายด้วยประโยคสั้นๆ ประโยคนี้คงไม่ผิดบาปอะไรนัก แล้วเหตุใดประโยคดังกล่าวถึงสะท้อนชุดความจริงที่ว่าด้วยความมักม่วนผ่านบุญประจำฮีตที่จัดขึ้นทุกเดือน หากจะไล่เรียงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น บุญใหญ่หลายบุญก็มักจะมีการแห่เป็นองค์ประกอบหลัก เป็นต้นว่า ฮีตเดือนสี่ “บุญผะเหวด” คำว่า “ผะเหวด” เป็นคำเรียกในสําเนียงลาว-อีสาน มาจากคําว่า “พระเวส” หรือ “พระเวสสันดร” บางพื้นที่เรียก “บุญมหาชาติ” มีความหมายมาจากมหาชาติชาดก มากไปกว่าการฟังเทศน์ให้ครบทั้ง 13 กัณฑ์ 1,000 คาถาบุญผะเหวดยังเป็นบุญที่ปรากฏพิธีแห่เยอะที่สุด 

ตั้งแต่ (1) การแห่ผ้าผะเหวด ผืนผ้าขนาดยาวที่ถูกแต้มแต่งไปด้วยเรื่องราวของมหาชาติชาดก ผ้าผะเหวดเป็นสื่อที่แสดงความหมายสัญลักษณ์ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาของตัวละคร ซึ่งสมมติว่าเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง (2) แห่อัญเชิญพระอุปคุตที่มีคติสมมุติว่าอัญเชิญองค์พระอุปคุตมาจากสะดือทะเล และ (3) พิธีแห่ข้าวพันก้อนในยามวิกาลเพื่อบูชาพระคาถาทั้ง 1,000 คาถา 

ในเดือนถัดมา ฮีตเดือนห้า บุญมหาสงกรานต์ ในบุญนี้จะมีพิธีกรรมที่เรียกว่า “แห่พระ” โดยนำองค์พระปฏิมาแห่แหนรอบหมู่บ้าน สาธุชนจะสรงน้ำองค์พระปฏิมาเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นในการบุญยังพบการ “แห่ผ้าป่า” อธิบายให้เข้าใจ ผ้าป่าเป็นแบบแผนการรวมกลุ่มของแรงงานทั้งที่ไปทำงานในต่างถิ่นหรือถิ่นเดิม เพื่อรวบรวมปัจจัยถวายหรือนำมอบให้เป็นกุศลในช่วงบุญประเพณี ซึ่งการทำบุญผ้าป่าไม่จำเป็นที่จะต้องถวายแก่สถาบันศาสนาอย่างในอดีตเท่านั้น 

แต่สามาถนำมอบแก่สถาบันการศึกษา สาธารณสุข หรือเป็นเงินเพื่อการบำรุงชุมชน สะท้อนถึงการปรับแปลงความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนาที่

สอดรับกับสภาพสังคมชนบทสมัยใหม่ 

เดือนต่อมา คือเดือนแห่งวาระการแห่ของคนอีสานโดยแท้ ฮีตเดือนหก บุญบั้งไฟ การบุญที่สร้างการรับรู้และความเข้าใจของคนอีสานผ่านสัญญะความศรัทธาต่อเทพแห่งฝน อย่าง “พญาแถน” โดยการแห่แหนร่ายรำฟ้อนเซิ้งเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเกือบทุกพื้นที่ ไปตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับจังหวัด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า บุญบั้งไฟเป็นมหาบุญของคนอีสานก็ว่าได้ 

สิริวัฒน์ คําวันสา ผู้เขียนหนังสือ อีสานปริทัศน์ (อีสานคดี ๒) วิเคราะห์การฟ้อนเซิ้งของคนอีสานว่า มีลักษณะการเคลื่อนไหวเท้าและมือค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากอากัปกริยาในชีวิตประจําวัน การเคลื่อนไหวของร่างกายที่รวดเร็วของชาว อีสานนั้นสืบเนื่องมาจากดินฟ้าอากาศที่แล้งและไม่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างรวดเร็วและชุลมุน ทำให้ศิลปะการแสดงของชาวอีสานเคลื่อนไหวร่างกายที่รวดเร็วตามความเคยชิน ซึ่งสะท้อนมาจากวิถีชีวิตของผู้คนที่แท้จริง 

ตัวอย่างจากฮีตทั้งสี่จะเห็นว่าคนอีสานนิยมจัดงานบุญประเพณีโดยมีพิธีกรรมการ “แห่” เป็นอีกองค์ประกอบของพิธีกรรม นอกเหนือจากนั้นเรายังจะพบการแห่ในฮีตเดือนอื่นๆ เช่น ฮีตเดือนแปด “บุญเข้าพรรษา” จะมีการแห่เทียนพรรษารอบหมู่บ้าน หรือแม้แต่ฮีตเดือนสิบสอง “บุญกฐิน” ก็มีการทอดกฐินและแห่แหนรอบหมู่บ้านเกิดความสนุกสนานเช่นกัน

นอกจากนั้นวัฒนธรรมการแต่งงานของอีสานหรือที่เรียกว่า “กินดอง” หรือ “เอาบุญแอว” พิธีกรรมการแห่ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบเช่นกัน อย่างการแห่เจ้าบ่าว ก็จะใช้วงกลองยาวหรือวงมโหรีอีสานเข้ามาเป็นเสียงสุนทรีย์ประโคมภายในงาน ไม่เพียงแค่นั้น การแห่นาคในพิธีกรรมบวชก็ปรากฏว่ามีการใช้มโหรีให้เสียงเหล่านี้ บรรเลงเพื่อความสนุกสนานขณะที่มีการแห่นาครอบหมู่บ้าน นั่นเอง 

ส่วนพัฒนาการของดนตรีแห่ ในงานวิจัยเรื่อง รถแห่อีสาน: มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม โดย จารุวรรณ ด้วงคําจันทร์ อธิบายความเป็นพลวัตของดนตรีแห่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นเดียวกับมหรสพอื่นๆ ว่า ในอดีตการแสดงออกผ่านวิธีการฟ้อนเซิ้งประกอบกับดนตรีจะอยู่ภายใต้ฐานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตน รวมไปถึงความแตกต่างที่เป็นผลมาจากการรับ – ส่งวัฒนธรรมจากดินแดนใกล้เคียงที่เข้ามามีอิทธิพลต่อดนตรีแห่ในงานพิธีกรรมด้วย 

โดยสามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ วงมโหรีอีสาน และ วงกลองยาวอีสาน วงมโหรีอีสานจะประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทดีด สี ตี เป่า ผ่านวิธีการผสมวงสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวงมโหรีดนตรีไทยภาคกลาง และเชื่อว่าส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลของ วัฒนธรรมทางการแพร่กระจายของวัฒนธรรมเขมร 

ส่วนวงกลองยาวอีสาน จะใช้กลองที่มีลักษณะยาวเรียว มีชื่อเรียกว่า “กลองก้นโล่ง” หรือ “กลองหาง” ขึงด้วยหนังหน้าเดียวและติดข้าวเหนียวสุกตรงกลางหน้ากลองเพื่อเสียงที่เข้ากับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบวง

หากวิเคราะห์เฉพาะเพียงวงกลองยาวอีสาน จะพบว่า พัฒนาการแรกเริ่มของวงกลองยาวจะเป็นเพียงการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านเพียงไม่กี่ชิ้นประโคมกัน อย่าง กลองยาว พิณ แคน จนเกิดเป็นท่วงทํานองที่เรียกว่า “ลาย” เช่น ลายเต้ย ลายลมพัดพร้าว ลายเซิ้งบั้งไฟ ลายภูไท 

ในระยะหลังวงกลองยาวมีการนําเครื่องดนตรีและเทคนิควิธีแบบสากลเข้ามาปรับใช้ เช่น การใช้เบสเพื่อให้จังหวะและเสียงทุ้มขลังขึ้น การใช้กีตาร์คีย์บอร์ดเพื่อให้เกิดลายเพลงและทำนองที่หลากหลาย การใช้เทคโนโลยีเพิ่มความดังของเสียงผ่านลำโพงขนาดใหญ่ และอุปกรณ์มิกซ์เสียงเพื่อให้เกิดความคมชัดมากขึ้น 

จารุวรรณ ด้วงคําจันทร์ อธิบายอีกว่า ปัจจุบันพัฒนาการของวงดนตรีแห่ของอีสานมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งในทางดนตรีและรูปแบบของการประกอบสร้างวง จึงพบว่าจากวง ดนตรีแห่กลองยาวเล็กๆ ในหมู่บ้านได้ก่อรูปแปลงร่างเรื่อยๆ จนกลายเป็น “รถแห่” อย่างที่เห็นได้ทั่วไป และที่สําคัญคนดนตรีอีสานทั้งสายหมอลํา กลองยาว ตลอดจนรถแห่ ก็ยังคงสงวนเสียงพิณ เสียงแคน เอาไว้ในรูปแบบของความเป็นเสียงดนตรีอีสานใหม่ ที่พัฒนาต่อยอดรูปแบบการแสดงทางดนตรีซ้อนทับกับรากฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม

ส่วน นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายอย่างน่าสนใจว่า มหรสพของชาวบ้านทุกหนแห่งล้วนแต่มีการกลายพันธุ์ เนื่องจากการกลายพันธุ์นั้นหมายถึงการปรับตัวในทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ฟังที่มีรสนิยมที่เปลี่ยนไป ดังนั้น เพลงและการแสดงแบบชาวบ้านจึงมีการพัฒนาได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบตามสมัยนิยม แตกต่างจากการแสดงในราชสํานัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาจนกลายเป็นจารีตหรือแบบแผนที่ตายตัว

ขณะเดียวกันหากเรามอง “อีสานใหม่” ในวัฒนธรรมดนตรีและการแห่ “รถแห่” คือสิ่งที่สามารถอธิบายและชี้ชัดให้เห็นถึงการปรับตัวของดนตรีอีสานได้อย่างชัดเจน ส่วนการคงอยู่ของวัฒนธรรมการแห่ที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมดนตรีของอีสาน แม้ยุคสมัยของสภาพแวดล้อมและสังคมจะเปลี่ยนไป คนอีสานยังคงให้ความสำคัญกับพิธีกรรม “แห่” แห่ทุกเดือน ทุกงาน และตลอดไป ไม่ถูกลดทอนความสำคัญลงเพียงนิด จนใครอื่นก็เอยเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนอีสานมักม่วน”

รถแห่ซาลาเปามิวสิค ภาพ: ซาลาเปามิวสิค

ที่มาข้อมูล:

image_pdfimage_print