คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยส่วนหนึ่งของเรื่องราวเพื่อวิเคราะห์

น้ำตาที่ไหลอาบบนสองแก้มเคล้าคลอกับเสียงสะอื้นที่ออกมาเป็นระยะในขณะที่ภาพบนจอในห้องมืดกำลังทำหน้าที่ของมัน ความคิดเห็นที่เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่สะกิดบ่อน้ำตาให้กับคนเข้าไปชมอย่างไม่ปราณีต่อใคร ใช่ “หลานม่า” ภาพยนตร์แนวครอบครัวเรื่องนี้เองคือต้นเหตุให้ใครหลายๆ คนต้องเสียน้ำตา เพราะเรื่องราวที่ดำเนินอย่างราบเรียบ ไม่มีจุดที่คาดคั้นให้ความรู้สึกตื่นเต้นหรือว้าวทำงานหนักหน่วงเกินไป เปรียบง่ายๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่เหมือนกับภาพวิดีโอของคนในครอบครัวที่เก็บมาพร้อมๆ กับระยะเวลาเติบโตของลูกหลาน ก่อนที่จะนำภาพทั้งหมดนั้นมาเรียงกันเพื่อชมอีกครั้งในวันที่เราได้เดินทางมาไกลกว่าเหตุการณ์ในจอภาพข้างหน้า

น้ำตาที่ไหลอาบบนสองแก้มเคล้าคลอกับเสียงสะอื้นที่ออกมาเป็นระยะในขณะที่ภาพบนจอในห้องมืดกำลังทำหน้าที่ของมัน ความคิดเห็นที่เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่สะกิดบ่อน้ำตาให้กับคนเข้าไปชมอย่างไม่ปราณีต่อใคร ใช่ “หลานม่า” ภาพยนตร์แนวครอบครัวเรื่องนี้เองคือต้นเหตุให้ใครหลายๆ คนต้องเสียน้ำตา เพราะเรื่องราวที่ดำเนินอย่างราบเรียบ ไม่มีจุดที่คาดคั้นให้ความรู้สึกตื่นเต้นหรือว้าวทำงานหนักหน่วงเกินไป เปรียบง่ายๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่เหมือนกับภาพวิดีโอของคนในครอบครัวที่เก็บมาพร้อมๆ กับระยะเวลาเติบโตของลูกหลาน ก่อนที่จะนำภาพทั้งหมดนั้นมาเรียงกันเพื่อชมอีกครั้งในวันที่เราได้เดินทางมาไกลกว่าเหตุการณ์ในจอภาพข้างหน้า
บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ แต๋ว – อุษา เสมคำ ภาพจาก GDH

หลานม่า ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากค่าย GDH นำแสดงโดย บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ แต๋ว – อุษา เสมคำ กำกับโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของบิวกิ้นและป้าแต๋วในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจอเงิน อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เพียงแทรกเรื่องราวชีวิตของผู้สูงอายุกับหลานวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีการนำปัญหาเชิงโครงสร้าง การผลักครอบครัวให้แยกจากกันผ่านปัจจัยทางวันเวลาและเศรษฐกิจครัวเรือน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แทรกอยู่เนืองๆ ภายในเรื่องราวอันเรียบง่าย 

หากจะเชื่อมโยงอาม่าในวัฒนธรรมจีนกลางเมืองหลวงสู่อีกห้วงของเรื่องราวที่ตีนบ้านในอีสานที่ห่างไกล จุดเชื่อมโยงที่หนีไม่พ้นกันคือความเดียวดายและวันเวลาที่มีค่าในวันที่ลูกหลานกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา ก่อนวันเวลาช่วงสุดท้ายในชีวิตจะมาถึง 

The Isaan Record ชวนถอดรหัส ชีวิตช่วงบั้นปลายของคนสูงวัย ความต้องการ ความฝัน หรือแม่กระทั่งปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึงในเร็ววัน

ครอบครัว เวลา หน้าที่

“เฮียรู้ป้ะ ว่าสิ่งที่คนแก่เขาต้องการแต่ไม่มีลูกหลานคนไหนให้ได้เลยคืออะไร เวลาเว้ยเฮีย” ประโยคจาก มุ่ย (รับบทโดย ตู – ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ลูกพี่ลูกน้องของเอ็ม (รับบทโดย บิวกิ้น) ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่เธอได้ดูแลอากงก่อนที่เขาจะจากไปและยกบ้านราคาเฉียด 10 ล้านให้เธอ สิ่งนี้ดึงดูดความสนใจให้เอ็มต้องการที่จะดูแลอาม่า หลังจากที่ตรวจเจอว่า อาม่าเป็นมะเร็ง มีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงแค่ 1 ปี 

ความต้องการของหลานชายที่หวังสมบัติจากย่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เอ็มเดินทางไปหาอาม่าของเขาบ่อยๆ และนั่นทำให้เขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่อยู่กับคนแก่ รวมถึงเรียนรู้ว่า ทุกวันอาทิตย์ เธอจะแต่งตัวสวยๆ เพื่อรอลูกหลานกลับบ้านมากินข้าว ก่อนที่วันจันทร์จะกระชากลูกหลานเธอให้แยกย้ายไปทำหน้าที่ เหลือเพียงหญิงชราที่ใช้ชีวิตในบ้านคนเดียวพร้อมความหวังถึงวันอาทิตย์ถัดไปว่าลูกหลานจะพร้อมหน้ากันอีกครั้ง

ต้นตะวัน ตันติเวชกุล ภาพจาก GDH

ถนนมิตรภาพแน่น คนอีสานแห่กลับบ้าน, ติดตั้งแต่ลำตะคองจนไปถึงโคราช ฯลฯ มีมบน Social Media เมื่อวันหยุดยาวใกล้มาถึง อาจจะถูกมองเป็นภาพติดตลกแซวกันขำๆ ในช่วงเทศกาล แต่หากมองลึกลงไป ภาพเหล่านี้สะท้อนของการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการกระจุกตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ และตลาดแรงการที่มีเพียงในเมืองท่องเที่ยวและกรุงเทพมหานคร 

ในสังคมอีสาน เรื่องเหล่านี้คงไม่ต่างจากภาพยนตร์มากนัก ผิดกันเพียงผู้สูงอายุในอีสานไม่ได้ใช้เพียงสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ แต่อาจเป็นครึ่งปี หรือเกือบ 1 ปีเต็ม เพื่อรอการกลับบ้านของลูกหลาน เพราะเทศกาลที่หยุดยาวใน 1 ปี มีไม่บ่อยนัก รวมถึงปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ที่กล่าวมาข้างต้น คือการงานที่หลากหลายได้ดึงคนหนุ่มสาวออกจากชุมชนชนบท ทิ้งไว้เพียงผู้สูงอายุที่อยู่เบื้องหลังรอการกลับไปหา และเริ่มนับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่ครั้งที่จะได้เจอกัน สิ่งที่สะท้อนอาจจะเป็นภาพที่แตกต่างเหมือนกันที่หลานม่าได้ฉายให้เห็นของความเป็นจริงในเกือบทุกครอบครัว

ลูกกลับมาครานี้ยังคงไม่สายใช่ไหม

นอกจากเรื่องหลานม่า จะถ่ายทอดความเป็นครอบครัวรวมถึงความต่างระหว่างช่วงวัย สิ่งที่ทำให้ทุกคนตราตรึงนั่นคือการดูแลเอาใจใส่ของหลานอาม่า ที่ถึงแม้ช่วงแรกในภาพยนตร์จะฉายให้เห็นว่าตัวเอ็มนั้นหวังสมบัติจากอาม่า แต่ภายในลึกๆ อาม่าเป็นคนที่เขารักสุดหัวใจและเขาก็พยายามดูแล รวมถึงอยู่ในคืนสุดท้ายของอาม่า

อีกเรื่องราวหนึ่งที่พูดถึงสังคมสูงวัยคือละครเวทีเรื่อง โฮม The Musical 2023 กองละครม่านมอดินแดง ที่แสดงไปเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เรื่องราวของแม่ใหญ่บัวเรียน เฝ้ารอการกลับมาของ ดาว (หลานสาว) และ ศักดิ์ (ลูกชาย) แต่ทั้งสองคนไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้นในการดูแลและไปมาหาสู่ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตที่แม่ใหญ่บัวเรียนได้จากไปภายใต้อ้อมอกของศักดิ์ (เจ๊ตุ๊ก – ลูกชายแท้ๆ ของบัวเรียนและพ่อแท้ๆ ของดาว) โดยที่เธอเองไม่ได้กลับมาดูแลแม่ของเธอเลย

เจ๊ตุ๊กและบัวเรียน จาก โฮม The Musical 2023 ภาพจาก ม่านมอดินแดง

พิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทำให้ดาว และเจ๊ตุ๊กหมดหนทางทำมาหากิน จึงต้องกลับมาตั้งตัวที่บ้านตนเอง การกลับมาบ้านของพวกเขาจึงไม่ใช่การกลับมาเพื่อนำความสำเร็จมาสู่อ้อมอกของพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งนำความภาคภูมิใจมาให้ เพราะตลอดเวลาที่เจ๊ตุ๊กคิดในหัวคือการทิ้งลูกสาวให้อยู่กับแม่และเปลี่ยนตัวเองจากชายเป็นหญิงนั่นคือความอัปยศที่เธอทำให้แม่เสียใจ เธอจึงเลือกที่จะไม่กลับมา 

ความแตกต่างของสื่อบันเทิงครอบครัวสองเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น มิติทางระยะทาง พื้นที่ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศ จินตนาการว่าหากเอ็มไม่ใช่ผู้ชายตามนิยามของสังคม ในครอบครัวคนจีนอาม่ายังจะเปิดรับเอ็มให้ดูแลหรือไม่ ในทางกลับกัน เจ๊ตุ๊ก หากเธอมีครอบครัวที่เพียบพร้อม ฐานะทางครอบครัวปานกลาง แม่ของเธอรับรู้และรับได้ในเพศที่เป็น และระยะทางของบ้านเธอและแม่เธอไม่ห่างกันมาก สองคนนี้จะได้ดูแลกันในวาระสุดท้าย ที่ไม่ได้เพียงจากไปในอ้อมอกของกันและกันหรือไม่

รัฐสวัสดิการคืนเวลาให้ครอบครัว

เอ็ม: อาม่าขายโจ๊กเวลาเท่าไหร่ 

อาม่า: ตี5 

เอ็ม: แล้วเอ็มต้องตื่นกี่โมง 

อาม่า: ตี4 มึงไม่เคยได้ยินหรอ ว่านกตื่นเช้ามักจะได้หนอนก่อน

เอ็ม: แล้วม่าไม่เคยได้ยินหรอ ว่าหนอนที่ตื่นเช้ามันจะโดนนกกินก่อน

บทสนทนาที่เรียบง่ายและดูอบอุ่นระหว่างอาม่ากับหลานก่อนเช้าที่จะไปขายโจ๊กที่อาม่าทำอยู่ทุกวัน ในแง่หนึ่งก็ดูจะโรแมนติกและอบอุ่น แต่หากมองอีกด้าน หญิงชราวัยเกษียณกลับต้องทำงานต่อทั้งๆ ที่เป็นวัยพักผ่อน อีกแง่ของนิสัยผู้สูงวัยที่เรารู้กันดีคือ การอยู่นิ่งๆ คือของแสลงของผู้ใหญ่ในหลายๆ บ้าน แต่ถ้าหากมีสวัสดิการที่ครอบคลุมผู้สูงอายุ ก็อดคิดไม่ได้ว่าเขายังคงต้องการทำงานหลังขดหลังแข็งเช่นเดิมหรือไม่

ในกระแสการเมืองหลังปี 2563 กับการพูดถึงรัฐสวัสดิการ สาธารณูปโภค ขนส่งมวลชนที่เข้าถึงทุกจังหวัด อินเทอร์เน็ตฟรีจากรัฐ ยังเป็นสิ่งที่ต้องการในการเรียกร้องทางการเมือง รวมถึงการกระจายอำนาจลงมายังภูมิภาค หรือจังหวัด เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดูแลตัวเองเต็มที่ 

การเอื้ออำนวยความสะดวกจากรัฐ คือต้นทางของการคืนเวลาให้ครอบครัว รวมไปถึงการเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติของชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่นการทำธุรกิจ SMEs ในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นการดึงคนหนุ่มสาวกลับบ้าน การเดินทางที่สะดวก อาชีพที่ใกล้บ้าน นำมาสู่ความสุขและเวลาที่มีเพิ่มขึ้นให้กับครอบครัว 

รวมไปถึงการวางแผนชีวิตในช่วงบั้นปลาย หากรัฐมีนโยบายทางเลือกให้กับผู้คนที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ การวางแผนของครอบครัวนั้นย่อมไม่มีอุปสรรคและปัญหามากมายเท่าที่เห็นในปัจจุบัน 

ระบบสาธารณสุข เป็นระบบที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องถูกนำมาพูดถึงและแก้ไขให้เป็นรัฐสวัสดิการที่เข้าถึงได้ทุกคน หนังได้ฉายให้เห็นมุมที่ประเทศนี้ไม่ควรป่วยอีกอย่างคือ หลังจากอาม่าเป็นมะเร็ง กิจวัตรที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ การเข้ารับการฉายแสงคีโม เอ็มต้องพาอาม่าไปหาหมอ โดยที่ต้องตื่นในช่วงเวลาตี 4 ของวันที่นัด เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เขาจะต้องถอดรองเท้าต่อคิว เพื่อรอกดบัตรนัดในเวลา 8 โมงเช้าของทุกวัน ฉากที่ใส่เข้ามาอย่างน่าขำของวัยรุ่นที่ไม่เคยไปโรงพยาบาล กลับเป็นตลกร้ายของผู้สูงวัยและใครหลายๆ คนที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบที่แทบไม่อยากป่วย หากระบบนี้ถูกแก้ไขและเข้าถึงได้สะดวก ช่วงเวลาและสุขภาพของประชาชน จนถึงในระดับครอบครัวคิดว่าคงดีขึ้นตามลำดับ

ภาพของรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและชุมชน รวมไปถึงปลายทางของมันคือการได้ทำงานใกล้บ้าน และการใช้ชีวิตกับผู้สูงวัยก่อนที่จะล่วงลับอาจจะยังคงเป็นภาพที่จินตนาการไว้ในหัวของใครหลายๆ คนที่อยากให้เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน

image_pdfimage_print