ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ทำให้การเมืองในระบบรัฐสภามีสภานิติบัญญัติ มีการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองเกิดขึ้น กระทั่งในปี 2476 มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั่วประเทศจึงสามารถเข้ามามีบทบาทต่อการบริหารของรัฐส่วนกลาง สามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และคัดค้านอำนาจของรัฐบาลได้ ทำให้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยแรกเริ่ม แสดงบทบาทและความรับผิดชอบของตนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ส.ส.รัฐมนตรีอีสาน อย่าง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ส.ส.อุบลราชธานี) จำลอง ดาวเรือง (ส.ส.มหาสารคาม) ถวิล อุดล (ส.ส.ร้อยเอ็ด) เตียง ศิริขันธ์ (ส.ส.สกลนคร) และอีก 1 ส.ส.จากสมุทรสาคร ทองเปลว ชลภูมิ พวกเขาทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของราษฎรจากเขตภูมิภาค ซึ่งหมายถึงผู้แทนราษฎร “วงนอก” จากพื้นที่ “ชายขอบ” เป็นปากเสียงแก่ประชาชน อีกทั้งพวกเขาทั้ง 5 ยังเป็นกลุ่มคนที่พยายามสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองขึ้นมาใหม่ อย่างพลพรรค “เสรีไทย” ร่วมกับ ปรีดี พนมยงค์ เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกทางการเมืองมากกว่า 2 

ย้อนกลับไปจากประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ มีการแบ่งแยก 2 ขั้วอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจน ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” และในช่วงปี 2475 เกิดการต่อสู้กันระหว่าง “คณะเจ้า” กับ “คณะราษฎร” อีกนัยหนึ่งยังหมายถึงการต่อสู้กันระหว่าง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” กับ “ประชาธิปไตย” ซึ่งหมายถึงตัวเลือกทางการเมืองทั้ง 2 ของประชาชนที่กล่าวไปก่อนหน้า

ช่วงต้นทศวรรษ 2490 หรือที่เรียกว่า “ยุคทมิฬ” คณะรัฐประหาร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ มีการจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยผ่านวิธีการ “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” การพิฆาตฆ่าผู้ที่มีขนบคิดนอกเหนือไปจากฝ่ายอำนาจนำเกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งในครั้งนั้นทำให้กลุ่มคนที่พยายามสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองขึ้นใหม่ อย่าง 4 ส.ส.รัฐมนตรีอีสาน และ ส.ส.ทองเปลว ชลภูมิ ต้องม้วยชีวิตลงในที่สุด

ส.ส.รัฐมนตรีอีสาน + 1 พวกเขาคือใคร

ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ส.ส.อุบลราชธานี อดีตเขาเคยเป็นนายอำเภอผู้ติดดิน ก่อนที่จะขึ้นเป็นผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ในปี 2476 ขณะที่อายุ 24 ปี และเป็นผู้แทน 4 สมัย จนถึงปี 2490 เขาเป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลหลังสงครามรวม 6 สมัย สมรสกับเจ้าสิริบังอร ณ จัมปาศักดิ์ 

ชาญวิทย์ เกษตรสิริ นักประวัติศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายข้อบ่งชี้ถึงการสมรสของทองอินทร์และเจ้าสิริบังอรว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธไมตรีระหว่างสองแผ่นดิน ไม่ข้องแวะกับข้อครหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่รัฐนำมายัดเยียดให้เพียงนิด

ทองอินทร์เป็นพลพรรค “เสรีไทย” และเป็นเสมือนหัวหน้าทีมของ “สี่เสืออีสาน” มีความเชี่ยวชาญในการอภิปรายในสภา ถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยการยิงทิ้ง ที่ กม. 14-15 บางเขน ถนน พหลโยธิน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” จาก “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย

จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม ส.ส.คนยากที่ฝ่าความลำบากตั้งแต่การวิ่งรถรับจ้าง ข้ามไปทำงานที่ลาว เป็นนักมวย และการทำอาชีพครูประชาบาลจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเสมียนศึกษาธิการในที่สุด เขาเป็นคนเก่งและสามารถประสานรอยร้าวในหมู่คณะได้เมื่อมีปัญหา เช่นเดียวกันกับทองอินทร์ เขาเป็นอีกหนึ่งในสมาชิกพลพรรค เสรีไทย และถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยการยิงทิ้ง ที่ กม. 14-15 บางเขน ถนน พหลโยธิน

ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เขาเดินทางเข้ามาศึกษาที่กรุงเทพฯ จบโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม และเดินทางกลับมาทำงานเป็นทนายความในอีสาน จากนั้นจึงเข้ารับราชการในกรมราชทัณฑ์ จนกระทั่งได้เดินทางไปเป็นผู้ตรวจการเทศบาลอุบลฯ จึงสมัคร ส.ส.เป็นครั้งแรก

ถือกันว่าถวิลเสมือนเหรัญญิกของกลุ่ม เพราะมีความชำนาญในการเขียนจดหมายโต้ตอบและร่างนโยบายต่างๆ เขาเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในพลพรรคเสรีไทย ก่อนมีจุดจบเช่นเดียวกันกับคนก่อนหน้า คือถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยการยิงทิ้ง ที่ กม. 14-15 บางเขน ถนน พหลโยธิน

ทองเปลว ชลภูมิ ส.ส.จาก จ.ปราจีนบุรี มีภูมิลำเนาเกิดที่ จ.สมุทรสาคร ทองเปลวจบจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกับถวิล อุดล ซึ่งหากจะเทียบกับบรรดา ส.ส.อีสานที่เขาสนิทสนมและคุ้นเคยแล้ว ทองเปลวเสมือนว่าเป็นคนวงในมากกว่าคนวงนอก หรือที่เรียกว่า “คนชายขอบ” เพราะได้ร่วมเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ก่อการ ปฏิวัติ 2475 และใกล้ชิดสนิทสนมกัน ปรีดี พนมยงค์ มาแต่แรกเริ่ม 

ทองเปลวเรียนจบในระดับปริญญาเอก และทำงานจนก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงของการเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งมีความขัดแย้งกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกปลดจากตำแหน่งในที่สุด ซึ่งภายหลังการรัฐประหาร 2490 ทองเปลวเดินทางหนีไปต่างประเทศ และถูกจับครั้งหนึ่งในปี 2491 ในห้องขังนั้นเขาได้เขียนหนังสือที่น่าสนใจและได้รับการตีพิมพ์ คือ “หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน” เป็นเรื่องราวจากพงศาวดารจีนที่นำมาสะท้อนสถานการณ์หลังสงครามของไทยและองค์การสรรพาหารได้เป็นอย่างดี 

ขณะลี้ภัยทางการเมืองที่ปีนัง เขาถูกลวง ให้กลับมาในช่วงของ “กบฏวังหลวง 2492” และท้ายที่สุด เช่นเดียวกันกับ สหายอีสาน ส.ส. รมต. และพลพรรค “เสรีไทย” อีก 3 นาย เขาก็ถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ กม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน

เตียง ศิริขันธ์ ส.ส.จาก จ.สกลนคร เตียงสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล และเคยถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งในกลุ่ม ส.ส.อีสาน  เตียงประหนึ่งเป็นเลขาธิการ เพราะมีความเชี่ยวชาญในการวางแผน และประสานงานให้กับพลพรรคเสรีไทยในอีสาน ให้  ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ และมีรหัสลับชื่อ “พลูโต” ทำการก่อสร้างสนามบินเพื่อรับเครื่องบินและอาวุธ (ซ่อนไว้ในถ้ำที่ภูพาน) จากฝ่ายสัมพันธมิตร ได้รับฉายาว่า “ขุนพลภูพาน” เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ร่วมงาน “กู้ชาติ” ครั้งนั้น คือ ครอง จันดาวงศ์ 

แม้เตียงจะมีชีวิตรอดจากการวิสามัญฆาตกรรมทางการเมืองอย่างเพื่อน ส.ส. ท่านอื่น และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในเวลาต่อมา ทั้งในปี 2492 และ 2495 แต่บทบาททางการเมืองของเขากลับลดลงและหายตัวไปอย่างลึกลับ โดยมาปรากฏภายหลังว่าถูกรัฐตำรวจ ภายใต้การนำของอธิบดีตำรวจ เผ่า ศรียานนท์  ได้ส่ง “อัศวิน” และพรรคพวกมา “รัดคอตาย” และนำไป “ย่างศพ” ฝังทิ้งที่ป่ากาญจนบุรี 

บทบาทของ ส.ส.อีสาน ที่เบ่งบานในสภา

ปี 2481 ส.ส.ถวิล อุดล เคยยื่นญัตติให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ชี้แจงรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดในงบประมาณที่เสนอต่อสภา เพื่อความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต ครั้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงได้ การลงคะแนนเสียงในสภาฯ ครั้งนั้น รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้ไป และนายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในปี 2487 ส.ส.อีสานเป็นพลังหลักในการต่อต้านโครงการนครหลวงเพชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑลสระบุรีของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงการ “ย้าย” เมืองหลวงไป จ.เพชรบูรณ์ ออกมาเป็นพระราชกําหนดขึ้นก่อนและสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนที่ถูกเกณฑ์แรงงาน เพราะ จ.เพชรบูรณ์ ในสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยโรคมาลาเรีย และปรากฏว่าในปี 2487 เมื่อการก่อสร้างดําเนินไปได้ 1 ปี มีประชาชนถูกเกณฑ์ไปถึงกว่า 127,281 คน ป่วย 14,316 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 4,040 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอีสาน กล่าวกันว่าประชาชนที่ถูกเกณฑ์จะได้รับสัญญาว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ แต่ก็มักไม่ค่อยได้รับค่าจ้าง หรือได้รับเพียงวันละ 5 สตางค์ เท่านั้น 

เมื่อเรื่อง “พระราชกําหนด” นี้เข้าสภาฯ ก็ถูกอภิปรายคัดค้านอย่างหนักหน่วง และเมื่อลงคะแนนเสียง รัฐบาลก็แพ้ไปด้วยคะแนน 48 ต่อ 36 เป็นผลให้รัฐบาลต้องลาออก หน้าที่ในการรับสถานการณ์ตอนปลายสงครามจึงตกอยู่กับฝ่ายของ ปรีดี พนมยงค์ ขบวนการเสรีไทย (ทั้งในและนอกประเทศ) และ “การกู้ชาติ” ของ ส.ส. สายอีสานกับ “เพื่อนครู” พลพรรคของเขา

การช่วงชิงบทบาทนําทางการเมืองสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม กับฝ่ายเสรีนิยม ส.ส.อีสานเป็นกําลังสําคัญในการสกัดกั้นฝ่ายอนุรักษนิยม ดังจะเห็นได้ว่า ควง อภัยวงศ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ครั้งที่สอง ก็เป็นอยู่ได้เพียงเดือนกว่าๆ เท่านั้น เพราะพ่ายแพ้ต่อญัตติของ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน หรือการให้มีการปักป้ายราคาสินค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักหน่วงหลังสงครามโลก

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยังอธิบายต่อว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองในระบบรัฐสภากับพลพรรค “เสรีไทย” โดยมี ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวเรือใหญ่ จากการรวบรวมข้อมูลก็ไม่มีหลักฐานเด่นชัดว่า 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน + 1 นี้ จะมีความเกี่ยวพันกับ “กบฏวังหลวง” แต่ประการใด แต่พวกเขากลับถูกป้ายสีให้เป็นกบฏและถูกวิสามัญฆาตกรรมทางการเมืองอย่างเหี้ยมโหด

อ้างอิง: 

image_pdfimage_print