การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของไทย (ส.ว.)

นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งพิเศษ จากคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) 250 ท่าน จะหมดวาระลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ผลที่ตามมาคือประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของไทย (ส.ว.) ขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม ระบบและวิธีการเลือกตั้ง ส.ว. ของไทยในรอบนี้ค่อนข้างประหลาดและพิสดารเป็นอย่างมาก

ระบบสองสภา หรือ สภาคู่ ของไทยถูกนำมาใช้ครั้งแรกตามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกอบด้วย พฤฒสภา และ สภาผู้แทน พฤฒิสภา มีหน้าที่ในการกลั่นตรวจสอบ กลั่นกรองกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร และควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ในวาระแรกของพฤฒสภา สมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น ก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาไปก่อน อย่างไรก็ตาม พฤฒสภาในตอนนั้นมีระยะเวลาการทำงานเพียง 1 ปี 5 เดือน 16 วัน เนื่องจากมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นและได้ยกเลิกไป ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก พฤฒสภา เป็น วุฒิสภา ซึ่ง วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ระบบรัฐสภาของประเทศไทยหลังจากนั้นมีการสลับกันไปมาระหว่างสภาเดียว กับ สภาคู่ บางช่วงเวลามีเพียงแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ บางช่วงเวลามีทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่คู่กัน ถึงแม้จะมีสมาชิกวุฒิสภาก็ตาม แต่สมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจนกระทั่ง ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถือได้ว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไทยเป็นการทั่วไปครั้งแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การเลือกตั้งในครั้งนั้น กำหนดให้มี ส.ว. 200 ท่าน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  

อย่างไรก็ตาม แต่ละจังหวัดอาจจะมีจำนวน ส.ว.ไม่เท่ากันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้น เช่น กรุงเทพมหานคร มี ส.ว.ได้ 18 คน เชียงราย 4 คน เชียงใหม่ 5 คน ขอนแก่น 6 คน นคราชสีมา 8 คน กาฬสินธุ์ 3 คน อุบลราชธานีมี ส.ว. 6 คน ชลบุรี 3 คน ตราด 1 คน เป็นต้น การเลือกตั้งดังกล่าวใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 คน หลังจากนั้นนำคะแนนของที่ผู้รับเลือกตั้งได้รับมาเรียงลำดับเพื่อดูว่าผู้สมัครท่านใดได้รับการเลือกตั้งของ ส.ว. ของจังหวัดนั้น ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้ง ส.ว. พ.ศ.2543 มีผู้สมัคร ส.ว. 265 คน ผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งลำดับ 1-18 เท่านั้นที่ได้เป็น ส.ว.

การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งถัดมาในวันที่ 19 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ยังคงกำหนดจำนวน ส.ว. และวิธีการเลือก ส.ว.เหมือนใน พ.ศ.2543 กล่าวคือ การเลือกตั้งนั้นมีการจัดขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด และแต่ละจังหวัดมีจำนวนสมาชิก ส.ว. ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของประชากร ที่สำคัญประชาชนยังเป็นผู้มีสิทธิในการเลือก ส.ว. ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 112 และมาตรา 113 ที่ถูกร่างขึ้นหลังจากนั้น ได้กำหนดให้มีจำนวนเหลือ 150 คน ส.ว.ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1) สวที่มาจากการเลือกของประชาชนแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน 2) ส.ว. มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวน 74 กรรมการสรรหาประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวน 1 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ ผลที่ตามมาคือ การเลือกตั้ง ส.ว. ในวันที่ 2 มีนาคม 2551 และอีกครั้ง วันที่ 30 มีนาคม 2557 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 150 คน มีที่มา 2 ประเภท ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

เมื่อเกิดการรัฐประหารใน พ.ศ.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมากล่าวคือ การได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน ในช่วงแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มีวาระดำเนินการ 5 ปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 ส.ว.ชุดดังกล่าวจะครบวาระและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งในครั้งนี้กำหนดมี ส.ว.ได้ทั้งหมด 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย 3. กลุ่มการศึกษา เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา 4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร 5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก 6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ 10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ 11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม 12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 14. กลุ่มสตรี 15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น 16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง 17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 18.กลุ่มนักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 20. กลุ่มอื่นๆ 

นอกจากนี้ มีการจัดการเลือกตั้งใน 3 ระดับ กล่าวคือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในระดับอำเภอ มีการจัดให้เลือกกันเองภายในกลุ่ม โดยเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันไม่เกิน 2 คน ผู้ที่ลงคะแนนสามารถลงคะแนนได้ไม่เกิน 1 คะแนน ผู้ที่ลงคะแนนสามารถที่จะลงคะแนนให้ตัวเอง หลังจากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก จะถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกขึ้นต้นของแต่ละกลุ่ม ผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นจะถูกแบ่งออกเป็น 4 สาย หลังจากนั้นผู้ได้คัดเลือกของแต่ละกลุ่มมีสิทธิเลือกผู้ได้รับคัดเลือกของกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน 1 คนแต่ห้ามเลือกคนในกลุ่มเดียวกันและห้ามเลือกตนเอง สุดท้าย ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะถือว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในระดับอำเภอ และเข้าสู่การเลือกในระดับจังหวัดต่อไป

สำหรับการเลือกในระดับจังหวัด คล้ายกับการคัดเลือกในระดับอำเภอ ผู้ได้รับการคัดเลือก 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มในขั้นต้นจะถูกแบ่งออกเป็น 4 สาย หลังจากนั้น ผู้ได้รับคัดเลือกของแต่ละกลุ่มจะมีสิทธิเลือกผู้สมัครขั้นตนของกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน แต่ห้ามเลือกคนในกลุ่มเดียวกันและห้ามเลือกตนเอง สุดท้าย ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะถือว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในระดับจังหวัดและเข้าสู่การเลือกในระดับประเทศต่อไป

สุดท้ายการเลือกตั้งในระดับประเทศ ผู้ที่ได้รับเลือกในระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มต้องมาลงคะแนนเลือกกันเองอีกรอบภายในกลุ่ม ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกจะเลือกคนในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยสามารถเลือกตนเองได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ได้เกิน 1 คะแนน หลังจากนั้นผู้ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม 40 อันดับแรก ถือว่าเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งในขั้นแรก นอกจากนี้ หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่ได้รับการเลือกแต่ต้องไม่น้อยกว่า 20 คน ทั้งนี้ผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดมีการเลือกกันเองให้ได้อย่างน้อย 20 คน หลังจากนั้น แต่ละกลุ่มที่ได้รับการเลือกตั้งแบ่งออกเป็น 4 สาย ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละกลุ่มมีสิทธิเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นในสายเดียว 5 คนแต่ห้ามเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มตนเองหรือเลือกตนเอง สุดท้าย ผู้ได้รับคัดเลือกคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะได้เป็น ส.ว.ของกลุ่มนั้น 20 กลุ่ม คูณ 10 จะได้เท่ากับ 200 คน พอดี

เลือกตั้ง ส.ว. ภายหลัง พ.ศ.2549 กระบวนการลดทอนความเป็นพลเมืองในสังคมไทย

จากที่กล่าวมาเราจะเห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว. นับตั้งแต่ การรัฐประหาร พ.ศ.2549 เป็นต้นมา เป็นกระบวนการลดทอนความเป็นพลเมืองของคนในสังคมไทย ความเป็นพลเมือง หมายถึง การอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ความเป็นพลเมืองในระบอบการเมืองที่แตกต่างกันก็มีความต่างกันไป เช่น ความเป็นพลเมืองในยุคกรีกของเอเธนส์ ที่คนให้ความสนใจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง พลเมืองในยุคโรมันซึ่งพลเมืองมีความเป็นพลเมืองในลักษณะที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหลักแต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครอง ความเป็นพลเมืองของคนในยุคกลางลดลงอย่างมากคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนา และระบบฟิลดัน หรือ ความเป็นพลเมืองในยุคสมัยใหม่ที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับระบอบการปกครองประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในฐานะพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับผู้ปกครองจึงลักษณะที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบริหารงานประเทศ ผ่านการเลือกผู้นำ การติดตามตรวจสอบ หรือลงแข่งขันในเลือกตั้ง ดังนั้น ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นจึงมีลักษณะของความสัมพันธ์ที่ ประชาชนสามารถเป็นผู้ปกครองและถูกปกครองได้ในเวลาเดียวกัน

กระบวนการเลือก ส.ว. ของไทยที่ผ่านค่อยๆลดทอนความเป็นพลเมืองคนไทยลงไปเรื่อยๆกล่าวคือ ประเด็นที่หนึ่ง นับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ส.ว.ที่เคยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่หลังจากนั้น ระบบการเลือกส.ว.เปลี่ยนไป การเลือกตั้งส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประชาชนมีสิทธิเลือกส.ว.ได้จังหวัดละ 1 คนเท่านั้น รวม 76 คน ส่วน อีก 74 คนมาจากการแต่งตั้ง มากกว่านั้น ภายหลังการรัฐประหารพ.ศ.2557 และการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ในช่วงแรกกำหนดให้ส.ว.250 มีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี ส.ว.มีที่มาจากการแต่งตั้งและมีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสส. แต่หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดให้การเลือกตั้งส.ว.ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตให้มีระบบการเลือกตั้งที่มีสามระดับและเลือกไขว้ไปมา มากกว่านั้นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งได้นั้นต้องเป็นผู้ที่อายุ 40 ขึ้น และต้องลงสมัครเป็นส.ว. 

ประเด็นที่สอง การเลือกตั้ง ส.ว. ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี พ.ศ.2567 นี้ ยิ่งกีดกันคนจำนวนมากไม่ให้มีสิทธิการเลือก ส.ว. เพราะกำหนดให้เฉพาะประชาชนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปที่จะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ จากข้อมูล จำนวนประชากรไทย แบ่งเป็นช่วงอายุ ณ เดือน มีนาคม 2566 ที่ผ่านพบว่า มีประชาชนที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป 31,694,623 คน จากประชากรทั้งหมด 65,087,166 คน ผู้ที่สมัครเลือกตั้ง ส.ว.ต้องจ่ายค่ายสมัคร อีก 2,500 บาท ถึงจะมีสิทธิที่จะเลือกตั้งได้  มากกว่านั้น กฎหมายกำหนดผู้ที่เป็นข้าราชการสามารถที่จะลาออกชั่วคราวเพื่อมาลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ว. ได้ ในการเลือกตั้งรอบนี้มี 4 กลุ่มที่เกี่ยวกับข้าราชการ 1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3) กลุ่มการศึกษา และ 4) กลุ่มการสาธารณสุข ผู้ที่เป็นข้าราชการอยู่ในกลุ่มเหล่านี้และต้องการลงสมัคร ส.ว. ไม่เพียงต้องจ่าย 2,500 บาท แต่ต้องออกจากราชการชั่วคราวและงดรับเงินเดือน ยิ่งถ้าการเลือกตั้งกินเวลานานเท่าไร ผู้สมัครที่ลาออกชั่วคราวจากข้าราชการยิ่งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ที่สำคัญ การพิจารณากลับเข้าสู่การรับราชการจะขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาโดยไม่จำเป็นต้องถูกบรรจุในตำแหน่งเดิมก็ได้ ไม่รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้หมายถึงต้นทุนที่คนเหล่านี้ต้องแบกรับโดยเฉพาะค่าเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ และความมั่นคงในหน้าที่การงานของพวกเขา การทำให้ต้นทุนการเข้าสู่การเลือกตั้งที่สูงยิ่งเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

ในอีกมุมหนึ่ง ประชาชนที่อายุไม่ถึง 40 หมดสิทธิเลือกตั้งทันที ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะอำนาจของ ส.ว. ชุดนี้มีความเกี่ยวพันกับประชาชนอย่างมาก ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็ตาม แต่มีอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายในรัฐสภา มีอำนาจในการสรรหาและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น ตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” การแต่งตั้ง “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” นอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา และมีสิทธิในการเสนอความเห็นในกรณีร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น 

ประเด็นที่สาม ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวนี้ทำให้คนอีกจำนวนมากเลิกสนใจการเลือกตั้ง ส.ว. ในครั้งนี้ เนื่องจากเขาเหล่านั้นไม่มีสิทธิที่จะเลือกได้ หรือ มีต้นทุนที่สูงในการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แทนที่ระบบการเลือกตั้งจะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยส่งเสริมพลเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการออกแบบระบบการเลือกตั้งในลักษณะนี้กำลังกีดกันคนจำนวนมากออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง นักวิชการกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนระบบการเลือกตั้ง ส.ว. ดังกล่าวเพราะเห็นว่าการเลือก ส.ว. ในลักษณะนี้จะทำให้กลุ่มเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็น ส.ว. ได้ยากมากขึ้น เพราะระบบการเลือกที่สลับซับซ้อน อีกเหตุผลสำคัญคือต้องการให้มีตัวแทนแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภา อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปกี่คนจะลงรับสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ คนที่ลงจะไม่ถูกซื้อจากคนมีเงินให้ลงคะแนนให้หรือ ที่สำคัญคือ การนำระบบดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลและการซื้อเสียงแต่ต้องแลกมาด้วยการตัดสิทธิคนอีกเป็นจำนวนมากมันคุ้มกันแล้วใช่หรือไม่ ยังมีการออกแบบเลือกตั้งวิธีอื่นที่ป้องกันปัญหาผู้มีอิทธิพลและการซื้อเสียงไปพร้อมกับการไม่ตัดสิทธิประชาชนไหม 

กล่าวโดยสรุป การเลือกตั้งส.ว.รอบนี้เป็นอีกข้อต่อหนึ่งของการสืบทอดอำนาจของระบอบเก่าที่ทำให้การเลือกตั้งมีความยุ่งยากซับซ้อน ตัดสิทธิคนเป็นจำนวนมากที่กำลังตื่นตัวทางการเมืองในตอนนี้จากผลการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา ทำให้คนเลิกสนใจการเมืองเพราะทำให้รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และส่งเสริมคนจำนวนส่วนน้อยเข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศแทนที่จะส่งเสริมคนส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง นี่จึงเป็นกระบวนการสำคัญของผู้มีอำนาจพยายามลดทอนและทำให้ความเป็นพลเมืองของประชาชนในสังคมไทยที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองลดลงไป 

ดังนั้นแล้วถึงแม้ว่าหลายท่านที่รักในประเทศนี้ สนใจการเมือง เคยออกมาแสดงพลังในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่เราอย่าให้ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยหายไป พลเมืองที่เข้มแข็งยังสามารถที่จะช่วยกันจับตาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งข่าวข้อมูลให้กันแสดงให้เห็นคนส่วนใหญ่เห็นถึงความสำคัญของ ส.ว. และจับตาดูการทำงานของ ส.ว. หลังจากนี้ ส่วนท่านที่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว. อย่าลืมไปใช้สิทธิของท่านจนทำให้การจัดตั้งผู้มีสิทธิเลือก ส.ว. ทำได้ยากมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ยิ่งจะช่วยในการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและจรรโลงประชาธิปไตยให้เข้มแข็งต่อไปได้

อ้างอิง

  1. อารีรัตน์ วิชาช่าง. (ม.ป.ป.). การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา พ.ศ. 2489. เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2567 จาก wiki.kpi.ac.th
  2. นรนิติ เศรษฐบุตร. (ม.ป.ป.). 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490. เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2567 จาก wiki.kpi.ac.th
  3. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2543). ข้อมูล สถิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๔๓๒.  เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2567 จาก  dl.parliament.go.th
  4. iLaw. (2567). สมัคร  เพื่อ  โหวต ส.ว. ระบบใหม่ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” – “เลือกกันเอง”. เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2567 จาก  ilaw.or.th
  5. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2562). “ความเป็นพลเมือง”. เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2567 จาก  matichon.co.th
image_pdfimage_print