โดย เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก

พีระ ส่องคืนอธรรม เรียบเรียง

ซุ้มประตูด้านในวัด ทางเข้าวัดบัวขาว ที่บ้านนาบัว จ.นครพนม ร่องรอยความพยายามในการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน)

ประวัติศาสตร์การเมืองในภาคอีสานตั้งแต่ถูกปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งถึงสมัยที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ในปัจจุบัน ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างคนในท้องถิ่นต่อนโยบายทางการเมืองที่ออกแบบโดย “เมืองหลวง”

ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการนำเสนอเรื่องราวความไม่ลงรอยทางอุดมการณ์ระหว่างรัฐและชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ด้วยปืน แต่เป็นการต่อสู้ด้วยความคิด คำขวัญ บทเพลง อิฐและปูน ผ่านเรื่องราวที่ฝังตัวอยู่ใน 3 สถานที่ อันได้แก่ เรื่องราววันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว จ.นครพนม, เรื่องราวของพระพิบูลย์ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี, และเรื่องราวของวีรชนเวียดนามที่เมืองอุดร ภายใต้ซีรี่ส์ “เมื่อประวัติศาสตร์ [ไม่ได้ ]กลายเป็นความทรงจำ” โดยแบ่งการเขียนออกเป็น 3 ตอนตามลำดับ ตอนนี้เป็นตอนแรกที่ใช้ชื่อว่า วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว จ.นครพนม

การสร้างวาทกรรมวันเสียงปืนแตก

“บ้านนาบัว” ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากในแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองภาคอีสาน เนื่องจากเป็นชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไทซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เคย “ออกป่า” ไปร่วมการปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่ม “สหาย” จนสหายเสียชีวิตคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ที่หมู่บ้านแห่งนี้

ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนบ้านนาบัว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560  เพื่อเข้าร่วม “งานบุญรำลึก 52 ปี วันเสียงปืนแตกบ้านนาบัว” ณ วัดบัวขาว อันเป็นวัดประจำหมู่บ้าน โดยงานนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ถือเป็นการรำลึกและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับประชาชนผู้ล่วงลับในหน้าที่การต่อสู้อันเนื่องมาจากความเห็นทางต่างการเมืองกับรัฐบาลเมื่อปี 2508 หรือกว่า 52 ปีที่ผ่านมา บรรยากาศในงานดังกล่าวประกอบด้วยบุคคล 4 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มผู้ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในช่วงเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้นำชุมชน (แกนนำในการจัดงาน) ซึ่งส่วนมากเป็นคนรุ่นหลังที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกโดยตรง กลุ่มที่สามคือกลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษา และกลุ่มสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

บรรยากาศการเปิดงานโดยนายอำเภอเรณูนคร และพิธีบายศรีสู่ขวัญแก่ผู้เข้าร่วมงานรำลึกวันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน)

กิจกรรมในงานมีหลากหลาย โดยช่วงเช้ามีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับสหายผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่วัดบัวขาว จากนั้น อดีตสหายที่เคยต่อสู้เคลื่อนไหวได้เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของตนให้กับนักเรียนนักศึกษาและคนรุ่นหลังได้รับฟังและซักถามบริเวณชั้นล่างของศาลาการเปรียญ ในช่วงสายเป็นการเปิดงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีการแสดงรำผู้ไทด้านในศาลาเอนกประสงค์ของวัด กิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มนักเรียนในชุมชน และกิจกรรมแสดงละครและร้องเพลงรำลึกวันเสียงปืนแตกโดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครตลอดทั้งวัน

เนื้อหาสำคัญของการจัดงานรำลึก “วันเสียงปืนแตก” พอสรุปคือ เน้นเรื่องราว วีรกรรม การต่อสู้ของอดีตสหายบ้านนาบัวที่ได้สละชีพเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการละเล่น การแสดงดนตรี และการเล่าเรื่อง ขณะเดียวกันยังพบว่ามีการเพิ่มกิจกรรมที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นผู้ไทผ่านการฟ้อนรำประจำชนเผ่า เพื่อให้งานดังกล่าวสอดคล้องกับบริบทกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น

“วันเสียงปืนดับ” ใต้เงาวันเสียงปืนแตก

ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของผู้เข้าร่วมงานที่กระจุกกันอยู่เฉพาะบริเวณศาลาการเปรียญและศาลาเอนกประสงค์ของวัดบัวขาว อดีตผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้คนหนึ่งได้ชี้ให้ผู้เขียนเห็นสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอยู่สองอย่างรอบๆ วัดบัวขาว สิ่งก่อสร้างทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก แต่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานและไม่ได้รับการกล่าวถึงในงานเลย นั่นก็คือ “ซุ้มประตูวัดบัวขาว” และ “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม”

ซุ้มประตู (ด้านหน้า) ทางเข้าวัดบัวขาว ใต้ฐานพระพุทธรูปมีคำว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน)

จากการสอบถามรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ซึ่งเป็นชาวบ้านนาบัว ทำให้ทราบว่า ซุ้มประตูทางเข้าวัดบัวขาวสร้างขึ้นในปี 2520 โดยทหารจากค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร ซึ่งขณะนั้นดูแลรับผิดชอบความมั่นคงในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม ก่อสร้างโดยมีจุดประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่

ซุ้มประตูแห่งนี้ได้มีการเขียนคำขวัญไว้ทั้งสองด้าน ซึ่งด้านที่หันหน้าเข้าบ้านเรือนเขียนไว้ใต้พระพุทธรูปว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” ส่วนด้านที่หันเข้าสู่ภายในวัดมีพระปรมาภิไธย ภปร. ด้านใต้เขียนว่า “คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทย…(ตัวอักษรชำรุดอ่านไม่ออก)…ด้วยมีจิตสำนึกอยู่ในความสามัคคี”

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522 หน่วยทหารในพื้นที่ได้จัดงาน “วันเสียงปืนดับ” ขึ้นที่บริเวณลานวัดบัวขาวแห่งนี้ เพื่อเเสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลและสมาชิก พคท. ได้สิ้นสุดลง โดยในงานดังกล่าวมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเดินทางมาร่วมงาน และได้มีการสร้าง “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ไว้ในบริเวณวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการจัดงานวันเสียงปืนดับในครั้งนั้น (พลเอกเปรมทำงานในภาคอีสานตั้งแต่ปี 2516-2520 ในตำแหน่งรองแม่ทัพจนถึงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2)

ป้าย “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ยังตั้งอยู่บริเวณรอบวัดบัวขาว ภายในรั้วศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านนาบัว นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเล่นสนามเด็กเล่นดั้งเดิมสภาพทรุดโทรมอยู่บริเวณด้านหลังภาพ (ภาพโดย Calum Stokes)

การสร้างซุ้มประตูวัดและสนามเด็กเล่นทั้งสองแห่งเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว มีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนขอสันนิษฐานไว้ 2 ข้อ คือ

หนึ่ง การที่ภาครัฐเข้าไปจัดสร้างซุ้มประตูวัด ซึ่งถือเป็นลักษณะกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์เมื่อปี 2520 รวมถึงจัดงาน “วันเสียงปืนดับ” ในอีก 2 ปีถัดมา เป็นไปได้หรือไม่ว่ากิจกรรมทั้งสองถือเป็นการเข้าไปก่อสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ใจกลางหมู่บ้าน เพื่อแสดงให้ผู้คนทั่วไป ชาวบ้านนาบัว รวมถึง “ผีคอมมิวนิสต์” ที่อาจเข้ามาเคลื่อนไหวแทรกซึม ได้เห็นว่าบ้านนาบัวไม่ใช่สถานที่ของความรุนแรง หากแต่ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีแต่ความสงบ ความสามัคคี ความสนุกสนานผ่อนคลาย ตามคำขวัญที่จารึกไว้ที่ซุ้มประตูวัดและเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

สอง วัดถือเป็นศูนย์กลางอำนาจของรัฐในการความคุมผู้คนแต่ละท้องถิ่นในด้านจิตวิญญาน ความเชื่อ และวิถีชีวิต ดังนั้น การสร้างซุ้มประตูทางเข้าวัดก็เปรียบเสมือนการสร้างประตูสู่ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน การที่หน่วยงานภาครัฐมาสร้างซุ้มประตูวัดและสนามเด็กเล่นในช่วงเวลาที่กำลังมีการปราบปรามการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ จะต้องมีเจตนาอย่างแรงกล้าจึงมาสถาปนาพื้นที่แบบนี้ไว้ที่วัดกลางบ้านนาบัวได้ – การเลือกพื้นที่วัดก็น่าสนใจว่า มีเจตนาเพื่อควบคุมพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่ฝักใฝ่ “คอมมิวนิสต์” หรือไม่ หรือว่าเป็นการตอกย้ำว่ารัฐไทยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ต่างจากแนวคิดคอมมิวนิสม์ที่ปฏิเสธศาสนา

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน สภาพของซุ้มประตูวัดบัวขาวที่อยู่ต่อหน้าผู้เขียนในวันที่ไปบ้านนาบัวกลับอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม คำขวัญอะไรที่อยู่ข้างใต้พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ก็กลับถูกปล่อยให้ตกหล่นหลุดร่อน สีซีดจาง จนบางคำไม่สามารถอ่านออกได้ ขณะที่สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรมก็พบว่า ถูกย้ายออกไปตั้งไว้ที่บริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาบัว (ตรงข้ามฝั่งถนนกับสถานที่ตั้งเดิม) มีป้ายชื่อสนามเด็กเล่นทั้งที่เป็นป้ายไม้ที่ชำรุดจนอ่านแทบไม่ออกและป้ายเหล็กที่โดนสนิมกัดกร่อนไปมากโข ส่วนเครื่องเล่ ม้าหมุน ม้าโยกเยก ฯลฯ ก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเหมือนกันกับป้าย ผิดกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่อยู่ภายในบริเวณวัดที่มีสภาพค่อนข้างใหม่และดูคล้ายได้รับการดูแลทำนุบำรุง อาทิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูปกลางแจ้งที่สนามกลางวัด หรือแม้กระทั่งศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์วันเสียงปืนแตก ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัด

เพราะเหตุใดจึงตั้งข้อสังเกตเช่นนี้? คำอธิบายมีอยู่ว่า เรื่องราวใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมหากเป็นเรื่องราวที่มีความหมายและความสำคัญมักถูกผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านการนำเสนอด้วยรูปแบบต่างๆ ทั้งพิธีกรรม เอกสารตำรา สื่อมวลชน เพราะถือว่าเป็นความทรงจำร่วมกันของคนในสังคม (social memory)

คราวนี้มาดูกันว่า ความทรงจำของสังคมที่เกี่ยวกับบ้านนาบัวนั้นเป็นอย่างไร ความทรงจำของสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านนาบัวที่ปรากฏผ่านงานรำลึกวันเสียงปืนแตกตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปข้างต้น สรุปได้ความว่า เป็นความทรงจำที่มีต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเสียสละ การแสวงหาความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคมของสหายซึ่งเป็นชาวบ้าน รวมถึงมีการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยว ดังที่ปรากฏในคำขวัญหมู่บ้านว่า

“หมู่บ้านเสียงปืนแตก นัดแรกประวัติศาสตร์ เชื้อชาติเผ่าภูไท ไฉไลผ้ามัดหมี่ ประเพณีบุญแข่งเรือ งามเหลือลำน้ำบัง ผู้คนยังสามัคคี ถิ่นนี้คือนาบัว”

จะเห็นได้ว่า การสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านนาบัวโดยเฉพาะเรื่องราวในช่วงการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยและ พคท. นั้น ไม่ปรากฏเรื่องราวของการเข้ามาสร้าง “ความสงบสุข” ของรัฐไทยเหนือพื้นที่บ้านนาบัวเลย จึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม? เรื่องราวของซุ้มประตูวัดบัวขาวและสนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นทุน ทั้งๆ ที่อนุสรณ์ดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่แสดงถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีที่รัฐได้หยิบยื่นให้กับชุมชนบ้านนาบัว เพื่อแสดงถึงมิตรภาพและความสงบสุขของการเมืองของไทย หรือมิใช่?

ศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบ้านนาบัว เป็นสถานที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้าน, การสร้างความทรงจำต่างๆ ที่เกี่ยวกับสหายบ้านนาบัว, รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวผู้ไทอย่างละเอียด แต่ปรากฏว่าไม่มีเรื่องราวของการสร้างซุ้มประตูวัดและสนามเด็กเล่นของทางรัฐบาลในช่วง “เสียงปืนดับ” (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน)

คำตอบที่พอจะเป็นไปได้ ผู้เขียนสันนิษฐานไว้ 2 ประการ (ซึ่งคำตอบอาจเป็นอื่นได้เมื่อมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม)

ประการแรก การสร้างซุ้มประตูวัดบัวขาวพร้อมด้วยการบันทึกคำขวัญซึ่งมีนัยยะทางการเมืองที่เน้นความรักชาติ ความสงบสุขของชาติ รวมถึงการสร้างสนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรมเมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการ “หยิบยื่น” อนุสรณ์จากภาครัฐมาสู่ชุมชนท้องถิ่น เป็นการ “ให้” จากบนลงล่าง ไม่ใช่การสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยผู้คนในท้องถิ่น จึงส่งผลให้ความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับอนุสรณ์สถานทั้งสองนั้นมีน้อย

ประการที่สอง เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับอนุสรณ์เหล่านั้นมีน้อย จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ขาลอย” จากชุมชนท้องถิ่น เหตุการณ์เสียงปืนดับก็กลายเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นความทรงจำของผู้คนในชุมชนท้องถิ่น เพราะขาดการผลิตซ้ำ เช่น ขาดการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ ขาดเรื่องเล่า ขาดพื้นที่ให้บุคคลที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งตรงกันข้ามกับการจัดกิจกรรมวันเสียงปืนแตกอย่างสิ้นเชิง

เพราะเหตุใดในปัจจุบัน เรื่องราวของซุ้มประตูวัดบัวขาวและสนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรมจึงไม่ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมบ้านนาบัว? ทั้งที่เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นหมุดหมาย ณ ปลายทางของเหตุการณ์เสียงปืนแตก ทั้งยังคงมีผู้รับรู้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ที่บ้านนาบัวดังที่มีผู้ชี้ให้ผู้เขียนเห็นและอธิบายความเป็นมาของอนุสรณ์สถานทั้งสอง

น่าค้นคิดต่อไปว่า ชาวบ้านนาบัวและกลุ่มผู้มีส่วนร่วมสร้างวาทกรรมบ้านนาบัวในปัจจุบัน มีการรับรู้และผูกพันกับ “ประวัติศาสตร์ที่ชาติสร้าง” มากน้อยอย่างไร คนกลุ่มใดที่ภาคภูมิใจและต้องการนำเสนอให้คนทั่วไปได้เห็นถึงเรื่องราวของอนุสรณ์ประวัติศาสตร์ทั้งสองแห่งนี้ และคนกลุ่มใดไม่ต้องการนำเสนอ ปริศนานี้ยังรอให้ผู้สนใจเข้าไปค้นคว้าหาคำตอบได้ที่บ้านนาบัว

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ทั้งที่ได้กลายมาเป็นความทรงจำร่วมของคนในสังคมหรือแม้กระทั่งเรื่องราวที่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ยังได้ปรากฏอยู่ในสถานที่อื่นๆ ในภาคอีสาน โดยเรื่องราวที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปเป็นเรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ แห่งวัดพระแท่น อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวงแห่งเมืองอุดร ในข้อหามีการกระทำอันเป็นกบฏผู้มีบุญหรือผีบุญ

image_pdfimage_print