โดย เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน ได้มีการจัดพิธีรำลึกวันคล้ายวันเกิดให้กับประธานโฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ที่ครั้งหนึ่งเคยเข้ามาทำการเคลื่อนไหวในสยาม รวมถึงหนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ในช่วงค.ศ. 1928-1930

ปัจจุบัน เรื่องราวการเคลื่อนไหวของโฮจิมินห์ในอีสานมีผู้คนมากมายได้ทำการศึกษาค้นคว้าออกสู่สายตาสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ส่วนมากมักตั้งต้นด้วยการใช้เรื่องราวของโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางในการดำเนินเรื่อง ทำให้เรื่องราวของคนอื่นๆ ในขบวนการปฏิวัติถูกกลืนหายไปใต้แสงสปอตไลท์ของลุงโฮ

สำหรับข้อเขียนนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอเรื่องราวของคนกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวเวียดนามในอีสาน เป็นเรื่องราวนอกกรอบประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองเวียดนาม เพราะนี่คือประวัติศาสตร์การเมืองในพื้นที่ “อีสาน” ซึ่งมีความเป็นเอกเทศจากศูนย์กลางรัฐชาติทั้งสอง

ปัจจัยที่ทำให้อีสานเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนามมีอยู่ 3 ข้อ ข้อแรก อีสานตั้งอยู่ไม่ไกลจากเวียดนามกลาง ซึ่งเป็นศูนย์อำนาจเดิมก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เมื่อเวียดนามแตก ทหารของเวียดนามหลายกลุ่มหลบหนีเข้ามายังอีสาน 2) อีสานเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเพื่อสะสมทุนในการก่อตั้งขบวนการทางการเมืองของชาวเวียดนาม 3) ภายหลังปี 1893 ที่ราบสูงฝั่งขวาแม่น้ำโขงตกอยู่ภายใต้เขตการปกครองของสยามโดยสมบูรณ์ ขณะที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้น อีสานจึงมีความปลอดภัยจากการปราบปรามผู้ที่คิดต่อสู้กับฝรั่งเศส

สำหรับเรื่องราวของขบวนการทางการเมืองเวียดนามในอีสานที่หยิบยกมาเล่าในที่นี้มีอยู่ 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มล้วนแล้วแต่เป็นผู้มาก่อน “ลุงโฮ”

ขบวนการเกิ่นเวือง

เกิ่นเวือง (Cần Vương แปลว่า “ช่วยพระราชา”) เป็นขบวนการนิยมกษัตริย์ของเวียดนามที่เคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อปี 1885 ภายใต้การนำของจักรพรรดิห่ามงี (Hàm Nghi) และขุนนางทหารคนอื่นๆ ที่รวบรวมกำลังต่อสู้กับฝรั่งเศสที่เว้ (Huế) เมืองหลวงเก่าของเวียดนาม ถูกฝรั่งเศสปราบปรามแตกกระจัดกระจาย แล้วมีกองกำลังจำนวนหนึ่งข้ามเทือกเขาเข้ามายังพื้นที่ประเทศลาวในปัจจุบัน และบางส่วนได้ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาเคลื่อนไหวในอีสาน

เอกสารราชการของสยามในขณะนั้นปรากฏว่ามีร่องรอยของขบวนการนี้อยู่บ้างเล็กน้อย ในที่นี้ผู้เขียนได้นำเอา “ใบบอกบ้านหมากแฃ้ง” หรือหนังสือราชการจากกรมหลวงประจักษ์คิลปาคม ข้าหลวงมณฑลลาวพวน ซึ่งมีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่บ้านหมากแข้ง (อุดรธานี) ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 1896 มาเล่าสู่กันฟังพอสังเขป

ภาพที่ 2 ใบบอกบ้านหมากแข้งจากกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมถึงกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 1896 เรื่องชาวเวียดนามต่อต้านฝรั่งเศสในอีสาน ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี (ถ่ายโดยผู้เขียน)

รายละเอียดในใบบอกจับใจความได้ว่า มีกองทหารเวียดนามจำนวนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสกับ “เจ้าห้ำหงี” ได้แตกหนีการปราบปรามจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามายังเมืองท่าอุเทน (ในเขต จ.นครพนม) เมืองอากาศอำนวย (จ.สกลนคร) และลึกเข้ามาถึงบ้านหมากแข้ง กลุ่มทหารเหล่านี้ทำงานร่วมกับกองกำลังเวียดนามซึ่งแฝงตัวอยู่ที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และยังคงทำการสู้รบแบบกองโจรกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ขณะเดียวกันผู้นำคนหนึ่งของขบวนการนี้ชื่อว่า “องโถง” ได้มีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกรมการเมือง (เจ้าหน้าที่รัฐ) ของสยามตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจและแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อฝ่ายสยาม มีการแสวงหาอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งไปยังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และพบว่ามีบางครั้งที่เจ้าหน้าที่สยามให้ความช่วยเหลือชาวเวียดนามเหล่านี้ให้รอดพ้นจากการจับกุมของฝรั่งเศสอีกด้วย

ภาพของอีสานที่เกี่ยวข้องกับนักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามจากเอกสารนี้มีอยู่ 2 ลักษณะ 1) อีสานเป็นพื้นที่ “ระวังหลัง” ให้กับชาวเวียดนามที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพหลังชนฝา เป็นการเฝ้าระวังหากฝรั่งเศสยืมมือสยามเข้าปราบปรามกลุ่มตน 2) อีสานเป็นพื้นที่หลบภัยชั่วคราวจากการปราบปรามของฝรั่งเศส รวมถึงเป็นจุดระดมสรรพกำลังเพื่อข้ามโขงกลับไปสู้รบกับฝรั่งเศสอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสสามารถปราบปรามการเคลื่อนไหวของขบวนการเกิ่นเวืองในเขตอินโดจีนได้อย่างเด็ดขาดเมื่อปี 1896  การเคลื่อนไหวของขบวนการเกิ่นเวืองจึงหยุดชะงักลงและไม่พบการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อีกเลยในเอกสารของฝ่ายสยาม จนกระทั่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวระลอกใหม่เกิดขึ้นในอีสาน สมาชิกจำนวนหนึ่งที่ตกค้างอยู่ในอีสานจึงได้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

ดั่งทุกเหือ

ดั่งทุกเหือ (Đặng Thúc Hứa) เป็นชาวเมืองเหงะอาน (Nghệ An) ในตอนกลางของเวียดนาม เขาเกิดในครอบครัวปัญญาชนที่ต่อต้านฝรั่งเศส ในที่สุดเขาและครอบครัวก็ถูกปราบปรามจนต้องหนีออกจากเวียดนาม ระยะแรกดั่งทุกเหือเลือกที่จะหนีไปญี่ปุ่น ไม่นานนักก็หลบหนีต่อมายังสยาม และเข้าทำการเคลื่อนไหวที่อีสานในฐานะผู้นำชาวเวียดนามคนสำคัญเป็นครั้งแรกในปี 1909

เรื่องราวของดั่งทุกเหือส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ “ผู้คนและเส้นทาง” นวนิยายเชิงชีวประวัติที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของนางดั่งกวิงห์แอ็งห์ (Đặng Quỳnh Anh) ญาติผู้น้องของดั่งทุกเหือ (และเป็นแม่แท้ๆของ ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เธอเดินเท้าจากเหงะอานเข้ามาเคลื่อนไหวในสยามตั้งแต่ปี 1913-1953 ก่อนจะเดินทางกลับเวียดนามเพื่อร่วมขับเคลื่อนพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ดั่งกวิงห์แอ็งห์ได้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการเมืองเวียดนามบนแผ่นดินอีสานผ่านบทบาทของดั่งทุกเหือ อาทิ การมอบหมายให้ดั่งกวิงห์แอ็งห์อุปการะเลี้ยงดูเยาวชนเวียดนามที่พลัดแผ่นดินเข้ามาอยู่ในสยาม มีการสอนภาษาเวียดนาม การสอนให้รับรู้ถึงเรื่องราวการต่อสู้กู้แผ่นดินของกษัตริย์เวียดนาม ประกอบการถ่ายทอดเรื่องราวความเดือดร้อนที่ชาวเวียดนามได้รับภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส นอกจากนั้น ดั่งทุกเหือยังได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ที่มีชุมชนเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง อุดรธานี และนครพนม เพื่อสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหว โดยในปี 1926 ดั่งทุกเหือสามารถจัดการประชุมชาวเวียดนามในสยามขึ้นที่อุดรธานีเพื่อกระตุ้นสำนึกร่วมทางการเมืองและกำหนดแนวทางระดมทุนทรัพย์ มีผู้มาเข้าร่วมกว่า 600 คน

ภาพที่ 3 ดั่งทุกเหือ แกนนำคนสำคัญในช่วงตั้งต้นขบวนการทางการเมืองของชาวเวียดนามในอีสาน (ภาพ : รุ่งมณี เมฆโสภณ)

ภาพที่ 4 นวนิยาย “ผู้คนและเส้นทาง” (Con người và con đường) ประพันธ์โดย “เซินตุ่ง” ฉบับแปลภาษาไทย บันทึกเรื่องราวจากปากคำของดั่งกวิงห์แอ็งห์ พิมพ์เผยแพร่โดยกลุ่มลูกหลานบ่าออ เมื่อปี 2552

“อีสาน” ผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของดั่งทุกเหือแบ่งได้ 2 ลักษณะสำคัญ คือ

1) เป็นพื้นที่การสร้างเครือข่ายชาวเวียดนามที่กระจัดกระจาย ในระยะแรกของการเคลื่อนไหวในสยาม ดั่งทุกเหือได้เริ่มทำการติดต่อเครือข่ายขบวนการเกิ่นเวืองที่ยังคงตกค้างอยู่ในสยามรวมถึงอีสาน เพื่อรวมกลุ่มกันทำมาหากินและถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับเยาวชนเวียดนามรุ่นหลังที่เกิดในสยาม ผ่านการรณรงค์ให้ใช้ภาษาเวียดนาม การปลูกฝังเรื่องราวการต่อสู้ของกษัตริย์เวียดนามที่ปกป้องบ้านเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสำนึกร่วมทางการเมืองในกลุ่มชาวเวียดนามในสยาม

ภาพที่ 5-6 : พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ถึงพระองค์เจ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อปี 1908 เกี่ยวกับเรื่องฝรั่งเศสขอให้สยามทำการจับกุมตัวดั่งทุกเหือ ที่เดินทางเข้ามาในสยามและทำการส่งอาวุธไปยังเวียดนามผ่านหัวเมืองลาว ปัจจุบันต้นฉบับถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติสหราชอาณาจักร (The British Library) (ถ่ายโดยผู้เขียน)

2) เป็นที่มั่นขบวนการกู้ชาติเวียดนามในสยาม การที่อีสานกลายมาเป็นที่มั่นของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวเวียดนาม เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลสยามได้รับการกดดันจากฝรั่งเศสให้กวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาทางการเมืองชาวเวียดนามในสยาม จนในที่สุด นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามจึงต้องหลบหนีจากภาคกลางของสยามเข้าสู่อีสาน ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1910 ยังถือเป็นพื้นที่ห่างไกลจากสายตาของกรุงเทพฯ อยู่พอสมควร (ขณะนั้นทางรถไฟยังถึงแค่โคราช และมีกลิ่นไอของกบฏผู้มีบุญที่กำลังครุกรุ่นอยู่ เช่น ที่เมืองอุบล ปี 1901, บ้านหนองหมากแก้ว จ.เลย ปี 1924, บ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม ปี 1936) ดังนั้น ดั่งทุกเหือจึงได้ดำเนินการสร้างฐานที่มั่นขึ้นตามหัวเมืองใหญ่ในอีสานตอนบนได้แก่ทิ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม โดยจัดตั้งบ้านเรือนรวมกลุ่มกันระหว่างชาวเวียดนาม ร่วมแรงทำนา ค้าขาย รับจ้างทำงานช่างเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สนับสนุนขบวนการต่อสู้ฝรั่งเศสในอินโดจีน นอกจากนี้ยังสอนหนังสือ อบรมปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับเยาวชนที่ถูกส่งมาจากเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นกองกำลังต่อสู้ขับไล่ฝรั่งเศส ดั่งทุกเหือได้เคลื่อนไหวอยู่ในสยามจนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อปี 1932 ในครั้งนั้นชาวเวียดนามได้ร่วมกันทำพิธีฝังศพเขาไว้ในสุสานแห่งหนึ่ง ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดทิพยรัฐนิมิตกลางเมืองอุดรธานีี

ภาพที่ 7 อนุสรณ์สถานวีรชนเวียดนาม สถานที่บรรจุอัฐิของดั่งทุกเหือและคณะ ที่วัดทิพยรัฐนิมิต จ.อุดรธานี ปัจจุบันยังคงได้รับความเคารพเลื่อมใสจากชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในปัจจุบัน (ถ่ายโดยผู้เขียน)

เรื่องราวจากหลักฐานบางช่วงบางตอนที่ยกมาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่โฮจิมินห์จะเดินทางเข้ามาเคลื่อนไหวในอีสานนั้น ชาวเวียดนามในอีสานได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีลักษณะของการจัดตั้งขบวนการทางการเมืองที่ชัดเจนรออยู่ก่อนหน้าแล้ว หากแต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์ชาติของไทยและประวัติศาสตร์ชาติของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม การนำเสนอประวัติศาสตร์เสี้ยวส่วนนี้ น่าจะช่วยเติมช่องว่างของเรื่องราวใน “อีสาน” ที่คนมักเผลอคิดไปว่าเป็นเพียงช่องว่าง

 

image_pdfimage_print