โดย กนกวรรณ มะโนรมย์

“ให้เอิ้นว่า เมียนายฮ้อย ผัวของข่อยเอิ้นว่า นายฮ้อย”  

ชาวบ้านหญิงจากอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ บอกกับผู้เขียน พร้อมเปล่งเสียงหัวเราะชอบใจเมื่อผู้เขียนถามว่าควรเรียกเธอว่าอะไร ระหว่างบทสนทนาในตลาดนัดขายวัวแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562  

เมียนายฮ้อยกำลังตอกหลักผูกวัว ณ ตลาดการช่าง ศรีสะเกษ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

ผู้คนรู้จักคำว่า “นายฮ้อย” จากนวนิยายอันโด่งดังของ คำพูน บุญทวี เรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ” ที่สะท้อนภาพสังคมอีสานยุคก่อน พ.ศ. 2500 เกี่ยวกับการนำกองคาราวานวัวควายจากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ไปยังภาคกลางหรือในนิยายเรียกว่าเมืองล่าง

“นายฮ้อย” คือผู้ที่พาชาวบ้านนำฝูงวัวควายไปขาย โดยผู้ที่จะได้รับชื่อเรียกขานดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ ในการนำวัวไปขายได้ และกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 รอบจึงจะได้รับการยกย่องให้เป็น “นายฮ้อย”

ฉะนั้น นายฮ้อยต้องเป็นผู้มีความกล้าหาญ มีความสามารถ รอบรู้สภาพภูมิประเทศในการเดินทาง รู้จักการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สร้างความหวังและขวัญกำลังใจกับผู้ติดตามเมื่อเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคระหว่างการเดินทาง รวมถึงมีวิชาอาคม สามารถนำผู้คนและฝูงวัวควายฝ่าฟันอันตรายต่างๆ ระหว่างเดินด้วยเท้าและใช้เกวียนที่ยาวนานแรมเดือนผ่านถิ่นทุรกันดาร เช่น เดินทางผ่านดงพญาเย็นอันเป็นภูเขาและฝืนป่าที่กว้างใหญ่ไพศาล รวมถึงต้องต่อสู้กับโจรผู้ร้ายที่คอยดักขโมยวัวควายได้

นอกจากนี้ นิยามดังกล่าวยังได้สะท้อนให้เห็นถึงภูมินิเวศอีสานที่เหมาะกับการเลี้ยงวัวควายพร้อมๆ กับความร้อนแล้งที่ไม่อาจทำอาชีพอื่นเพื่อสร้างรายได้ การเลี้ยงวัวควายและต้อนไปขายที่ภาคกลางจึงเป็นหนทางหาเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำของคนอีสานในยุคนั้น

ที่มา: https://www.google.co.th/search?q=นายฮ้อยทมิฬ+หนังสือ&rlz=1C5CHFA_enTH844&tbm

“ตลาดการช่าง” ตลาดค้าขายวัวควาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ

ตลาดนัดวัวการช่างแห่งนี้มีทุกวันจันทร์ วันที่ผู้เขียนเข้าไปนั้นเป็นวันที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก แดดแรงตั้งแต่เช้า พื้นที่ตลาดคราคร่ำไปด้วยกลิ่นฉี่ น้ำฉี่วัว และมูลวัว และคลุ้งไปด้วยฝุ่นจางๆ ที่ตลบจากการเดินไปมาของวัวไม่ต่ำกว่า 1,300 ตัว รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าวัวนับร้อยๆ คนที่เดินไปมา บนที่ดินประมาณ 19 ไร่ แห่งนี้ที่เรียกว่า “ตลาดการช่าง” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสี่แยกขนาดใหญ่อยู่ริมถนนสี่เลนที่มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา สระบุรี และภาคกลางและตะวันออก

พื้นที่ริมถนนสี่เลนก่อนถึงตลาดกลายเป็นพื้นที่จอดรถเรียงแถวรอเข้าตลาดยาวเป็นกิโลเมตร ซึ่งมีทั้งรถกระบะทั้งเก่า กลางเก่ากลางใหม่ มีขนาดเล็กและกลาง โดยมีวัวเฉลี่ยคันละ 3-5 ตัวบนรถ (รถกระบะเล็ก) และประมาณ 8-12 ตัวในกระบะหรือรถบรรทุกขนาดกลางหรือใหญ่ ซึ่งเท่าที่นับได้ประมาณ 100  กว่าคัน ไม่นับรถจำนวนมากที่เข้าไปในตลาดแล้วกว่า 100 คัน ตั้งแต่ตลาดเปิดตอนเช้าตรู่

รถขนวัวจอดรอเข้าตลาดการช่าง ศรีสะเกษ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

ภายในพื้นที่ของตลาด มีการถมที่ดินและทำคันดินยกสูงขึ้นบริเวณขอบตลาดเพื่อสะดวกในการต้อนวัวขึ้นรถสิบล้อ รถเทรลเลอร์ หรือรถพ่วงขนาดใหญ่ที่มาจากต่างถิ่น ซึ่งเท่าที่เห็น ทะเบียนรถที่มาจากต่างภาคได้แก่ สระบุรีและเพชรบุรี โดยจอดรอเตรียมขนวัวที่ซื้อแล้วขึ้นรถ ส่วนพื้นที่ตรงกลางของตลาดถูกทำให้เป็นที่ต่ำและมีขนาดใหญ่ เพื่อให้วัวและเจ้าของวัวที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าวัวเข้าประจำที่รอจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีอาคารโล่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของพ่อค้าแม่ค้าหรือเด็กๆ ที่ติดตามพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย ระหว่างรอต่อรองราคาและซื้อขายวัว

ภาพภายในตลาดการช่าง ศรีสะเกษ วันที่ 8 เมษายน 2562

การซื้อขายวัวเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศร้อนแล้ง อบอ้าว เสียงตามสายเรียกเจ้าของรถ เจ้าของวัว และเสียงวัวที่ร้องอื้ออึง การต่อรองราคาซื้อขายทั้งแบบเหมาหลายตัวรวมกัน ซื้อแต่ละตัว หรือซื้อขายแบบแพคแม่คู่ลูก เสียงตอกหลักวัวเพื่อไม่ให้วัวเดินเพ่นพ่านปะปนกับวัวของเจ้าอื่น การฉีดสีวัวด้วยสเปรย์สีแดงเพื่อแสดงว่าวัวได้ขายไปแล้วให้กับพ่อค้าเนื้อวัวที่มาจากโรงเชือดท้องถิ่นโดยตรงหรือกับพ่อค้าวัวต่างถิ่นรายใหญ่ ได้แก่ พ่อค้าจากเพชรบูรณ์ สระบุรี หรือ มุกดาหาร ที่จะนำวัวไปขายต่อที่มาเลเซีย เวียดนามและจีน และพ่อค้าวัวรายย่อยจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และ อำนาจเจริญ ที่นำไปขายต่อหรือนำไปฆ่าเพื่อใช้ในการทำบุญต่างๆ เป็นต้น ขนาดและพันธุ์วัวที่นำมาขายส่วนมากเป็นวัวผสมขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น พันธุ์ผสมบรามัน และ ชาร์โรเล่ส์ เป็นต้น

ผู้หญิงที่ปรากฏตัวอยู่ในตลาดนัดค้าวัวการช่างในวันที่ผู้เขียนเข้าไปมีประมาณร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นผู้ชายเกือบร้อยละ 80 ซึ่งคาดว่าผู้คนที่มาในตลาดนั้นประมาณไม่ต่ำกว่า 350  คน ผู้หญิงที่บอกผู้เขียนให้เรียกเธอว่า “เมียนายฮ้อย” ช่างมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับผู้หญิงที่เป็นคู่รักหรือภรรยาของนายฮ้อยเคนและนายฮ้อยคนอื่นๆ ในนวนิยายเรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ” ที่นำมาทำเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ถึงสองครั้ง

ในหนังนิยายเรื่องดังกล่าวได้นำเสนอภาพให้ “ผู้ชายเป็นใหญ่” (Patriarchy) “ความเป็นชายชาตรีที่เข้มแข็ง” (Masculinity) และมีบทบาทใน “พื้นที่สาธารณะ” (Public Sphere) อย่างเข้มข้น นั่นคือ เป็นผู้นำ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เป็นผู้พิทักษ์ ผู้มีความรอบรู้ทั้งการจัดการคน ทำธุรกิจวัว รู้เรื่องการรักษาการเจ็บป่ายด้วยยาพื้นบ้าน ผู้หารายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการขายวัว สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายที่คอยปล้นสะดมระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดารต่างๆ ผู้มีประสบการณ์ผ่านการย้ายถิ่นค้าขายวัวระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน

ที่มา https://www.google.co.th/search?q=นายฮ้อยทมิฬ&rlz=1C5CHFA

ในทางตรงกันข้ามกับภาพผู้ชาย ผู้หญิงในนิยายเรื่องนี้เป็นผู้มีบทบาทใน “พื้นที่ส่วนตัว” (Domestic Sphere) เป็นหลัก ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับบทบาทนายฮ้อย พวกเธอถูกทำให้เป็นผู้มีความอ่อนแอเปราะบาง (Vulnerability) เป็นผู้ตาม และ ผู้รอคอย เช่น เมียคนแรกของนายฮ้อยเคน และน้องเมีย (ที่ค่อนข้างแก่นแก้วและดื้อรั้น) ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาคนที่สองของนายฮ้อยเคนหลังจากที่เมียคนแรกเสียชีวิต ผู้หญิงจะถูกจำกัดไม่ให้ออกเดินไปค้าวัวควายกับนายฮ้อยเพราะผู้ชายตัดสินใจแทนว่าการออกไปดังกล่าวมีความเสี่ยง อันตรายไม่เหมาะกับผู้หญิง ไม่มีใครดูแลพ่อแม่ ลูกและบ้านเรือน โอกาสได้ไปกับนายฮ้อยก็ต้องออกอุบาย

เมียนายฮ้อยยุคอีสานพัฒนา อีสานทันสมัยเป็นอย่างไร  เหมือนกับนิยายเรื่องนายฮ้อยทมิฬหรือไม่

ภาพปรากฏในตลาดการช่างคือ การได้ยินเสียงเจรจาต่อรองของผู้หญิงและผู้ชาย ด้านราคาซื้อขายวัว โดยผู้หญิงมีกระเป๋าเงินสะพายคล้องไหล่ ภายในกระเป๋ามีเงินหลักแสนหรือหลักล้าน เมียนายฮ้อยคนเดิมบอกผู้เขียนว่า เธอมีเงินในกระเป๋าไม่ต่ำกว่าสามแสนบาท และเธอพกมีดมาด้วยเพื่อใช้ในยามจำเป็นหรือภาวะคับขับพร้อมกับโชว์มีดเล่มใหญ่ให้ผู้เขียนดู เธอนั่งรวมกันกับกลุ่มผู้หญิงที่เป็นเครือข่ายเดียวกับเธอ หรือบางคนอาจนั่งเดี่ยวๆ เคียงข้างสามี ผู้หญิงบางคนผูกเชือกวัวกับเหล็กขนาดเล็กที่ตอกลงไปในดินเพื่อเป็นที่ผูกเชือกวัว บางคนนั่งตอกเหล็กผูกเชือกวัว บางคนส่งสัญญาณบอกสามีว่าขายได้เลย หากราคาที่ถูกเสนอโดยผู้ซื้อมีความเหมาะสม ไม่ขาดทุนและได้กำไร บางคนนั่งนับเงิน รวมทั้งร้องตะโกนบอกราคา

“เอาบ่ งัวงาม ขายบ่แพง สิให้ถ่อได๋ พอขายได้กะขาย เอาบ่ สิ ลดให่”  

การเจรจาขายวัวของเมียนายฮ้อย ณ ตลาดการช่าง ศรีสะเกษ วันที่ 8 เมษายน 2562

ผู้หญิงเหล่านี้ออกเดินทางมาแต่เช้าพร้อมกับนายฮ้อยที่เป็นสามี จากการสังเกตของผู้เขียน เห็นว่าตลาดนัดวัวเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงมีอิสระในการต่อรองราคาซื้อขาย ร่วมกันตัดสินใจกับนายฮ้อยผู้เป็นสามีในการซื้อขายวัวแต่ละตัว มีทักษะประสบการณ์ในการเจรจาการค้าวัว มีเทคนิคสร้างแรงจูงใจ การใช้น้ำเสียงอ่อนหวานเชิญชวน รวมทั้งมีท่าทางจริงจังเมื่ออธิบายคุณสมบัติวัวของตัวเอง พวกเธอต่างมุ่งมั่งแสวงหากำไรและผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการค้าวัวเป็นหลัก

ในแวดวงการค้าวัวในยุคสมัยใหม่และการพัฒนาปศุสัตว์ทั่วโลก พบว่าผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนามากถึงสองในสามของโลกมีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและการค้าขายปศุสัตว์ในตลาดอย่างเสรี แต่มีงานศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงและการปศุสัตว์น้อยมาก (Thornton et al. 2003) ทั้งที่ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้ประกอบการค้าวัวควาย แต่ระดับการพัฒนาผู้หญิงเพื่อลดความยากจนด้วยปศุสัตว์ ขึ้นกับบริบทของพื้นที่และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก (Kristjanson et al., 2010)  

วัวควายคือทรัพย์สิน (Asset) สำคัญที่ผู้หญิงสามารถครอบครองได้และส่งผลต่อการลดความยากจนในชนบท รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยบางพื้นที่เช่น แอฟริกา พบว่าการที่เมียนายฮ้อยมีบทบาทสำคัญในการซื้อขายวัวควายมากขึ้นเกิดจากปัจจัยสำคัญหลายประการได้แก่ ผู้หญิงสามารถเข้าถึงทุนที่จะนำมาซื้อวัวควาย ผู้หญิงมีทักษะและประสบการณ์การเลี้ยงและการเข้าถึงตลาด รวมทั้งการจัดการฟาร์ม การมีที่ดินเพื่อทำคอกวัวและปลูกหญ้าเลี้ยงวัว (Njuki and Sanginga, 2013)

บทบาทของเมียนายฮ้อยในบริบทอีสานยุคโลกาภิวัตน์ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเสรีการค้าวัวควาย สร้างโอกาสให้ผู้หญิงอีสานเข้าถึงเงินตราและอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวการค้าขายได้มากยิ่งขึ้น มีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผู้หญิงก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายของระบบชายเป็นใหญ่ อีกทั้งไม่มีความเท่าเทียมกับชายหลายอย่าง และมีความแตกต่างหลากหลายภายในระหว่างเมียนายฮ้อยกลุ่มต่างๆ ในตลาดการค้าวัว ซึ่งจะนำเสนอในตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

คำพูน บุญทวี. นายฮ้อยทมิฬ. (2539).  พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ.

สำนักพิมพ์โป๊ยเซียน.

Kristjanson, P., Waters-Bayer, A., Johnson, N., Tipilda, A.,

Njuki, J., Baltenweck, I., Grace, D., and MacMillan, S. (2010). Livestock and Women’s Livelihoods: A Review of the Recent Evidence. Discussion Paper No. 20. Nairobi, Kenya, ILRI.

Njuki, J. and Sanginga, P. (2013). Gender and Livestock: Key

Issues, Challenges and Opportunities.

A book chapter in J. Njuki and P. Sanginga (eds) (2013) Women, Livestock Ownership and Markets: Bridging the Gender Gap in Eastern and Southern Africa, London: Routledge, pp. 1-8.

Thornton PK, Kruska RL, Henninger N, Kristjanson PM, Reid

RS, Robinson TP. (2003). Locating

poor livestock keepers at the global level for research and development targeting. Land Use Policy 20(4): 311–322.

 

image_pdfimage_print