โดย วุฒิชัย นาคเขียว

ภาพบรรยากาศของชุมชนที่แวดล้อมด้วยทุ่งนาเขียวขจี มีวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นศาสนสถานตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน วัดแห่งนี้มีกำแพงขอบขั้นแข็งแรงทนทาน รายรอบรั้วกำแพงปักธงชาติและธงธรรมจักรประจำพุทธศาสนาสลับกันเป็นช่วงๆ  เวลาถูกลมพัดจะปลิวไสวเป็นริ้วงาม ภายในวัดมีพระอุโบสถสูงชะลูดเด่นตระหง่าน คนเดินทางผ่านไปมา สามารถมองเห็นปลายยอดสูงที่ประดิษฐานพระบรมเกศาธาตุพระพุทธเจ้าได้จากระยะไกล 

บรรยากาศข้างต้นคือพื้นที่ของวัดพระธาตุเรืองรอง ศาสนสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางชุมชนหมู่บ้านสร้างเรือง ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ วัดแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประจำจังหวัด ด้วยว่านอกจากความวิจิตรงดงามด้านสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นแหล่งประดิษสถานพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า สถานจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชุมชน จิตรกรรมปูนปั้นสัตว์สูญพันธุ์กูปรี จิตรกรรมฝาผนังวาดแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมเขมรโบราณ จัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตลอดจนจิตรกรรมปูนปั้นชาติพันธ์ุสี่เผ่าไทย (เขมร ลาว ส่วย เยอ) ในจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น

จากสถานภาพการดำรงอยู่ของวัดพระธาตุเรืองรองดังกล่าว ผู้เขียนมองว่าวัดพระธาตุเรืองรองนั้น คล้ายกำลังทำหน้าที่ปะติดปะต่อเรื่องราววิถีชีวิตชุมชนที่แตกสลายไปในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับมามีชีวิตครั้งนี้ไม่ได้ดำรงอยู่ได้อย่างอิสระตามวิถีท้องถิ่นดั้งเดิมที่คนทั่วไปคุ้นเคย 

ทว่าความคิด ความรู้ ความเชื่อ และความทรงจำทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ต้องอยู่ภายใต้การหล่อเลี้ยงของรัฐไทยซึ่งยึดอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นแนวทางหลักในการหล่อหลอมผู้คนในสังคม ดังนั้นวัดพระธาตุเรืองรองที่เรามองเห็นว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น จึงเป็นสถานเพื่อการประกอบสร้างความเป็นชาติชั้นเลิศของสังคมอีสาน ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐไทยที่ใช้พุทธศาสนสถานเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญเพื่อเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวแก่สาธารณชน  

วัดพระธาตุเรืองรอง แหล่งสักการะบูชาพระธาตุของคนอีสานใต้

วัดพระธาตุเรืองรอง มีชื่อเดิมว่าวัดบ้านสร้างเรือง ผู้ริเริ่มให้มีการก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นคือ พระมหาธัมมา พิทักษา อดีตเจ้าอาวาสวัดอมรทายิการาม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องด้วยว่าท่านเป็นคนพื้นเพอยู่ที่บ้านสร้างเรือง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เห็นว่า ชุมชนแห่งนี้และชุมชนใกล้เคียง ยังคงขาดสถานสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ท่านจึงเดินทางกลับมาเป็นผู้นำในการบุกเบิกป่าช้าเก่า เพื่อสร้างวัดประจำบ้านสร้างเรืองเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเคยกล่าวว่า วัดพระธาตุเรืองรองแห่งนี้สร้างขึ้นจากความร่วมมือกับชาวบ้านบ้านสร้างเรือง และการอุทิศปัจจัยของประชาชนผู้มีจิตรศรัทธาต่อพุทธศาสนาทั้งในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอื่นๆ โดยวัตถุประสงค์หลักของการสร้างวัดในช่วงแรกนั้น ท่านได้อธิบายไว้ในหนังสือ นี่คือพระธาตุเรืองรอง ตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อข้าพเจ้าได้ไปเห็นโลกกว้างไกลขึ้น ได้ไปพบไปเห็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการบูชาของผู้คนในถิ่นอื่นๆ หวนมาคิดถึงญาติพี่น้องในภูมิภาคที่ตนอยู่ จะไปไหว้พระธาตุพนมระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตร พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีก็อยู่ไกลถึง 500 กว่ากิโลเมตร พระเจดีย์นครปฐมก็ไกลออกไปอีกถึง 600 กว่ากิโลเมตร พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุนครศรีธรรมราช ก็ยิ่งไกลออกไปอีก เป็นพันๆ กิโล จะไปไหว้แต่ไม่ได้ไป ตายไปหลายร้อยคนแล้ว เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ จึงได้ตัดสินใจมาสร้างที่วัดสร้างเรืองแห่งนี้ และที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจให้มาสร้างที่นี่อีกอย่างก็คือ ที่นี่ เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของข้าพเจ้าเอง…” (นี่คือพระธาตุเรืองรอง, ม.ป.ป.: น. 7)

จากคำอธิบายข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการดำริสร้างวัดบ้านสร้างเรืองในช่วงแรก ดำเนินไปเพื่อจะช่วยให้ผู้นับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะในดินแดนอีสานใต้ ไม่ต้องเดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุในพื้นที่ห่างไกลอีกต่อไป จึงได้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งเมื่อประมาณพุทธทศวรรษ 2520 วัดพระธาตุเรืองรองได้ประชุมหารือกับชุมชน เพื่อทำการรวบรวมสิ่งของโบราณต่างๆ จากชุมชน เช่น คัมภีร์ทางศาสนา ข้าวของเครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์การดำรงชีวิตของชาวอีสาน ไหโบราณ ฯลฯ เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงถึงวิถีชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองของสังคมในอดีต 

ความคิดชาตินิยมในวัดพระธาตุเรืองรอง

วัดพระธาตุเรืองรองไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถานเพื่อให้พุทธศาสนิกชนคนอีสานใต้ได้กราบไหว้บูชา แต่วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานเพื่อการประกอบสร้างความเป็นชาติของรัฐไทยที่ครอบงำความทรงจำทางประวัติศาสตร์และความเป็นท้องถิ่นอีสานให้ผูกพันกับรัฐไทยส่วนกลางมากกว่าความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นด้วยกันเอง 

แนวคิดเรื่อง “ชาติ” “ความเป็นชาติ” และ “ลัทธิชาตินิยม” เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะจำเพาะชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากจินตกรรม (imagined) ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกันบางประการ แนวความคิดนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในทางวิชาการอย่างจริงจังนับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา (แอร์เนสต์ เรอนอง, ชาติคืออะไร ?, แปลโดย นภ ดารารัตน์,2561)

เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดนีเซียศึกษา เคยวิเคราะห์ต้นทางที่มาและศึกษาการก่อตัวของแนวคิดดังกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (Imagined Communities: Reflection on Origin and Spread of Nationalism) (เบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม แปลโดย กษิร ชีพเป็นสุข และคณะ, 2560)

เขาเสนอว่า ชาตินิยม ความเป็นชาติ และลัทธิชาตินิยมนั้น “ถูกจินตกรรมขึ้นก็เพราะว่าสมาชิกของชาติที่แม้แต่เล็กที่สุดก็ตาม แม้ไม่เคยรู้จักสมาชิกร่วมชาติทั้งหมดของตน ไม่เคยเห็นเขาเหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่เคยแม้กระทั่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม กระนั้นในจิตในของแต่ละคนก็มีภาพพจน์ของความเป็นชุมชนร่วมกัน” และยังกล่าวอีกว่า “ชาติ คือจินตกรรมทางการเมือง ซึ่งจินตกรรมขึ้นโดยมีทั้งอธิปไตยและมีขอบเขตมาตั้งแต่กำเนิด” (เบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม แปลโดย กษิร ชีพเป็นสุข และคณะ, 2560)

การสร้างแนวคิดชาตินิยมผ่านวัดพระธาตุเรืองรอง ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้เห็นถึงวิธีการของรัฐไทยที่พยายามสืบทอดแนวคิดชาตินิยมโดยใช้พุทธศาสนสถานสำคัญประจำท้องถิ่น เป็นเครื่องมือเพื่อครอบงำความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่น 

วัดพระธาตุเรืองรองเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 และเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2524/2525 ภายหลังจากได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (ฝังลูกนิมิต) ตามระเบียบข้อบังคับด้านกฎหมายคณะสงฆ์ ปัจจุบันมีพื้นที่อยู่ประมาณ 6 ไร่เศษ เป็นพระธาตุที่สร้างแบบศิลปะคล้ายกับวัดบางแห่งในกรุงเทพฯ 

หากพิจารณาสภาพโครงสร้างและศิลปะภายในวัดพระธาตุเรืองรองในปัจจุบันนี้ ควบคู่ไปกับโครงสร้างวัดแห่งอื่นๆ กลับพบว่า เฉพาะตัวพระธาตุองค์กลางซึ่งเป็นแหล่งประดิษฐานพระบรมเกศาของพระพุทธเจ้า ผู้เขียนมองว่ามีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่วัดพระธาตุเรืองรอง น่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นจากอิทธิพลที่รับมาจากรูปแบบการสร้าง “โลหะปราสาท” วัดราชนัดดาราม ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารทรงสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มากกว่าจะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นตามขนบศิลปะแบบอีสานทั่วไป 

แต่การรับอิทธิพลทางศิลปกรรมการสร้างศาสนสถานจากกรุงเทพฯ เช่นนี้ มีเหตุผลแนวคิดทางการเมืองซ้อนทับอยู่ด้วยหรือไม่นั้น เป็นการยากที่จะอธิบายให้ชัดเจน เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือพอที่จะแสดงให้เห็นนัยสำคัญทางศิลปกรรมที่สื่อสะท้อนให้เห็นวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการสร้างวัดพระธาตุแห่งนี้

วัดพระธาตุเรืองรองตัวอาคารหลักมีความสูงประมาณ 43 เมตร 60 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น 
ภาพจาก: TOUR SISAKET looktalnatinee

ตัวอาคารหลักของวัดพระธาตุเรืองรองมีความสูงประมาณ 43 เมตร 60 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และเป็นพื้นที่จัดแสดงสิ่งของเก่าแก่ รูปปูนปั้นวิถีชีวิตชาวบ้านและรูปปูนปั้นปริศนาธรรม ภาพวาดฝาผนังบอกเล่าเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านอีสาน ตลอดจนความเป็นมาต่างๆ ของฮีต 12 คอง 14 ชั้นที่ 2 จัดทำเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชน 4 เผ่าไทยของจังหวัดศรีสะเกษ คือรูปปูนปั้นวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เขมร กวย ลาว เยอ รวมถึงมีภาพเขียนฝาผนังเกี่ยวกับโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดศรีสะเกษ ชั้นที่ 3 เป็นพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ที่เก่าแก่ และภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ ชั้นที่ 4 เป็นจุดทำสมาธิและวิปัสสนากรรมฐาน ประดิษฐานพระอรหันต์แปดทิศ ชั้นที่ 5 เป็นพื้นที่จัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 และชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมเกศาธาตุ (เส้นผมพระอรหันต์) และเป็นจุดชมทัศนียภาพบนพื้นที่สูงของจังหวัดศรีสะเกษ

หากพิจารณาการจัดวางสิ่งของตามชั้นต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งของแต่ละชิ้น/แต่ละหมวด เอื้อต่อการเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานที่รับอิทธิพลมาจากภาครัฐส่วนกลางประการหนึ่ง คือ การเชื้อเชิญให้เราต้องแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติไทยอันประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และมหากษัตริย์ ทำให้วัดพระธาตุเรืองเองก็ดูจะอยู่ในสถานะผู้รับหน้าที่ในการส่งทอดแนวคิดชาตินิยมเช่นนี้ด้วยเช่นกัน  

โดยดูได้จากการจัดพื้นที่ให้ชั้นบนสุด เป็นสถานบรรจุพระบรมเกศของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความสำคัญแสดงนัยเสมือนเป็นตัวแทนของศาสนา ชั้นรองลงมา เป็นพื้นที่จัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 เสมือนเป็นตัวแทนของความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และลำดับอื่นๆ รองลงมาตั้งแต่ชั้น 3 จนถึงชั้น 1 เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว โบราณวัตถุ วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชน เสมือนเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมรดกความทรงจำอันรุ่งโรจน์ของชุมชน สังคม และชาติบ้านเมือง 

ดังนั้น การจัดวางสิ่งของตามชั้นต่างๆ ที่ปรากฏในวัดพระธาตุเรืองรอง จึงมิได้สอดคล้องแต่เพียงเรื่องที่ผูกพันกับพุทธศาสนาเท่านั้น 

แต่การจัดวางสิ่งของต่างๆ ไว้อย่างลงตัวเช่นนี้ ยังสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับอุดมการณ์ของรัฐที่ปรารถนาให้สังคมไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน มีบูรณภาพในสำนึกความเป็นชาติอันหนึ่งเดียวกัน และมีแบบแผนอันพึงประสงค์แก่สังคมร่วมกัน โดยใช้วัดเป็นช่องทางในการสร้างอุดมคตินี้ขึ้นมา

ทำให้วัดพระธาตุเรืองรองเป็นสถานเพื่อการประกอบสร้างความเป็นชาติของสังคมอีสาน ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐไทย เพราะการดำรงอยู่ของสิ่งของต่างๆ ที่เก็บรักษาภายในวัดแห่งนี้ ไม่ได้เป็นสถานที่จัดแสดงที่ดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำหนดและการกำกับดูแลจากองค์กรของรัฐอีกชั้นหนึ่ง  โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลด้านวัฒนธรรมภายในจังหวัดที่รับหน้าที่อนุรักษ์ท้องถิ่นและส่งเสริมความเป็นไทย 

ดังนั้น แทนที่วัดพระธาตุเรืองรองจะได้เป็นตัวแทนในการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นอีสานให้โดดเด่นปราศจากการแทรกแซงของรัฐ แต่กลับต้องทำหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นอีสาน ภายใต้องค์กรของรัฐไทยเพื่อสืบทอดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของชาติอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้าน “เสริมสร้างความตระหนักต่อสถาบันหลักของชาติ และพัฒนากลไกในการอนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรม…เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และความเป็นไทย” (กระทรวงวัฒนธรรม,2562) 

ซึ่งสอดคล้องกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง คู่มือการดูแลรักษาศาสนสถาน ตอนหนึ่งว่า

“…วัดและศาสนสถานเป็นสถาบันที่สำคัญหน่วยหนึ่งของสังคมไทยที่ทำหน้าที่หล่อหลอมให้คนในชาติมีหลักยึดเหนี่ยว แบบแผน และแนวทางในการดำรงชีวิตให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม …” (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, 2559: น. 1) 

ทั้งนี้หากพิจารณาจากข้อความดังกล่าว เราจะเห็นว่ารัฐเป็นตัวการหลักในการกำหนดทิศทางการรับรู้และความเข้าใจทางวัฒนธรรมของคนไทยโดยรัฐไม่ยินยอมให้ความเป็นท้องถิ่นกลายเป็นวัฒนธรรมหลักสูงส่งเหนือวัฒนธรรมของชาติไปได้ แต่อนุญาตให้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งเล็กๆ ทำหน้าที่เติมเต็มให้ภาพใหญ่ที่มีชาติเป็นศูนย์กลางสมบูรณ์มากขึ้น 

ในแง่นี้สะท้อนมุมกลับให้เห็นว่า “ชาติ” เป็นอะไรบางอย่างที่แม้จะพยายามเสริมสร้างให้สมบูรณ์มากขึ้นเท่าไรก็ดูจะซ่อมแซมข้อบกพร่องที่มีอยู่คณานับไม่สำเร็จเสียที ต้องรอคอยให้มีองค์ประกอบอย่างอื่นมาเติมเต็มอยู่เสมอ ตรงกันข้ามกับความเป็น “ท้องถิ่น” ที่แม้จะมีความแหว่งวิ่นอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยังคงต้องแหว่งวิ่นอยู่ต่อไป 

จึงทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานที่ถูกประกอบสร้างภายในวัดพระธาตุเรืองรอง เป็นการสร้างชาติแบบอีสานที่ต้องตกอยู่ในสถานะไม่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ ที่ต้องคอยยกย่องและศิโรราบต่อวัฒนธรรมหลวงของรัฐไทยเสมอ และแทนที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะทำหน้าที่ร้อยรัดผู้คนให้ตระหนักถึงรากเหง้า และคุณค่าของอัตลักษณ์ที่แตกต่างทางสังคมและชาติพันธุ์ แต่ต้องถูกกำหนดด้วยยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมของรัฐไทยที่จำกัดขอบเขตไว้อย่างแยบยล 

การดำรงอยู่ของวัดพระธาตุเรืองรองในปัจจุบันนี้ จึงไม่ใช่การคงอยู่อย่างเลื่อนลอยไร้ความหมาย หรือเป็นเพียงพื้นที่การประกอบกิจกรรมทางศาสนาอันบริสุทธิ์ 

หากแต่เป็นสถานรักษาความศรัทธาของผู้นับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ในการดูแล อนุรักษ์ กำกับ ควบคุมความรู้และจิตสำนึกของผู้คน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษด้วย    

ดังนั้น สถานะของวัดพระธาตุเรืองรองในปัจจุบันหรือวัดบ้านสร้างเรืองที่เรารู้จักในอดีต สำหรับทุกวันนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงวัดพุทธที่ให้ผู้คนมาสักการะพระบรมเกศาธาตุอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว หากแต่ยังเป็นสถานที่แหล่งรวบรวมมรดกความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ ที่หลีกไม่พ้นต่อการถูกกลืนกลายอยู่องค์ประกอบหนึ่งของความเป็นชาติไปได้

ดูเหมือนว่าวัตถุประสงค์ของการสร้างวัดในช่วงแรกกับบทบาทหน้าที่ต่อสังคมของวัดพระธาตุเรืองรองในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยทีเดียว ทั้งนี้แม้จะดำรงความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นสถานสักการบูชาพระบรมเกศาของพระพุทธเจ้าไว้แก่ประชาชนได้ แต่บทบาทหน้าที่ด้านอื่นๆ อีกหลายประการ ก็ถูกปรับเปลี่ยน ส่งเสริม และปรับปรุงไปมากภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐไทย

เอกสารอ้างอิง

  • กระทรวงวัฒนธรรม. “วิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ กระทรวงวัฒนธรรม.” https://www.mculture.go.th/th/article_ view.php?nid=1545 (เข้าถึงเมื่อ 8 ก.ค. 2562).
  • เกษม เพ็ญภินันท์. “เบน แอนเดอร์สันกับชีวิตโพ้นเขตแดน.” วิภาษา 10, 6 (16 มกราคม- 15 มีนาคม, 2560): 199-207.
  • ชาญณรงค์ บุญหนุน. “การปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย (1): ว่าด้วยภูมิหลังทางความคิดของการปฏิรูป.” https://prachatai. com/journal/2015/06/59752 (เข้าถึงเมื่อ 1 ก.ค. 2562).
  • นิติ ภวัครพันธุ์. ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2558.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. “อีกครึ่งที่หายไปในพุทธไทย.” https://prachatai.com/journal/2018/10/79001. (เข้าถึงเมื่อ 28 มิ.ย. 2562).
  • ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
  • ธัญยพงศ์ สารรัตน์ และคณะ. “การจัดการพิพิธภัณฑ์วัดบ้านสร้างเรือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดศรีสะเกษ.” โพธิ์วิจัย 2, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม, 2561): 91-123.
  • เรอนอง, แอร์เนสต์. ชาติคืออะไร ?. แปลโดย นภ ดารารัตน์. กรุงเทพฯ: พารากราฟ, 2561.
  • แอนเดอร์สัน, เบน. ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560.
  • ฮัลโลเวย์, ริชาร์ด. ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ .กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560.
image_pdfimage_print