โดย วิทยากร โสรวัตร

ผมมองว่า สถานะทางสังคมของพระสงฆ์ (รวมสามเณรด้วย) ค่อนข้างน่าเห็นใจ…  

ฝ่ายก้าวหน้าก็มักมองสถานะของคนห่มผ้าเหลืองว่า เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมคอยเป็นเสาค้ำสถาบัน ทั้งที่พระเณรเกือบ 100 % (โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย) เป็นลูกหลานชนชั้นรากหญ้าคนยากไร้ในสังคมที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าในอดีต (ฝ่ายซ้าย) และฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย (ในปัจจุบัน) ถือว่าเป็นพันธมิตรเป็นชนชั้นที่ตัวเองต้องต่อสู้ทางการเมืองก็เพื่อเรียกร้องโครงสร้างทางสังคมให้คนเหล่านี้มีที่ยืนและเท่าเทียม  แต่พอลูกหลานคนเหล่านี้บวชเป็นพระเณรเพื่ออาศัยสถาบันสงฆ์ยกระดับชีวิตด้วยการศึกษาก็ถูกตราหน้าเหมารวมเป็นฝ่ายอนุรักษ์และถูกผลักไปเป็นอีกฝ่ายไปเสียแล้ว 

ทำราวกับว่า ฝ่ายก้าวหน้าเราต้องการให้ลูกหลานชาวบ้านรากหญ้าเหล่านี้มีสถานะรากหญ้าสืบต่อไปถึงลูก หลาน เหลน ชั่วกาลนาน หรือไม่ก็ให้เราเรียกร้องเปลี่ยนโครงสร้างสังคมจนเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าทุกมิติให้ได้เสียก่อน

บางทีผมก็อยากถามว่า พระเณรที่ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 มีใครกล่าวถึงและคิดถึงท่านเหล่านั้นบ้าง

ส่วนฝ่ายอนุรักษ์ก็มักมองพระเณรที่ได้รับการศึกษาและมีความคิดสมัยใหม่ว่า เป็นพวกนอกจารีต ตัวอย่างที่ผมจะอ้างถึงนี้ค่อนข้างชัดเจน  

ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่พระอีสานท่านหนึ่งจบจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เถียงกับคุณผู้หญิงท่านหนึ่งที่ทำงานในกระทรวงวัฒนธรรมในเรื่องการเมืองสังคมในช่วงปี 2553 บนรถตู้ไปเวียงจันทน์และสุดท้ายคุณผู้หญิงก็กล่าวหาว่า มหาจุฬาฯ นั้นถูก ทักษิณ  ชินวัตร ซื้อไปหมดแล้ว  

เหตุการณ์ทำนองนี้มีทุกยุคสมัย เพียงแต่เปลี่ยนบริบทและตัวละครอ้างอิงที่จะให้ร้ายเท่านั้นเอง

ในความที่สนใจประวัติศาสตร์อีสานและประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำโขง ผมแปลกใจมากที่การศึกษาเรื่องราวของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (หลวงพ่อขี้หอม) กลับไม่มีใครอ้างอิงถึงข้อเขียนของพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว  อุทุมมาลา) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมและอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม  

เมื่อผมอ่านเทียบแล้วเห็นว่า เป็นข้อเขียนที่ค่อนข้างให้รายละเอียดมากกว่าทุกข้อเขียนที่เคยอ่านที่พิมพ์เป็นไทยที่สำคัญที่สุดมันทำให้เห็นตัวตนความเป็นท่านเจ้าราชครูขี้หอมจริงๆ 

บางทีผมก็คิดว่า เราไม่ค่อยยอมรับหรือให้ค่าภูมิรู้ของพระเณรในเรื่องวิชาการทางโลกหรือเปล่า โดยเฉพาะพระเณรท้องถิ่น พระเณรนอกกระแส

มีหนังสือรวมบทความเล่มหนึ่งชื่อ พุทธปรัชญา ของพระราชวีรมุนี (สีหนาทภิกขุ) สำหรับผมแล้วเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ (การเมืองสังคม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 – 2524 ที่ดีมาก 

เป็นการเขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก สนุกทุกบท การเสนอความคิดใดๆ ของผู้เขียนไม่ใช่เสนอลอยๆ แต่มีข้อมูลหลักฐานรองรับตลอด น้ำเสียงลีลาเหมือนได้อ่านข้อเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เลยทีเดียว

ที่ผมชอบที่สุด คือ หนังสือเล่มนี้มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก…

ผมอยากจะยกบางตอนของบทความหนึ่งที่ทำให้เห็นประวัติศาสตร์คนอีสาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่สำคัญได้เห็นรายละเอียดของประชาชนจริงๆ  ซึ่งไม่ค่อยพบในงานประวัติศาสตร์ทั่วไป

…ข้าพเจ้าได้เดินทางไปจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเยี่ยมเยือนศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า พระมหาสงบ เขมรโต ซึ่งเป็นชาวหนองดอกแป้น อำเภอยางตลาด สมัยนั้นรวมอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จำได้ว่า จะเป็นปลาย พ.ศ. ๒๔๘๖ ยังอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนี้ ลูกระเบิดลงบ่อยครั้งเหลือเกิน…

ได้ไปเห็นความไม่ดีของข้าราชการบางคนในจังหวัดมหาสารคามสมัยนั้น โดยเฉพาะอำเภอยางตลาดส่วนมากแล้ว เป็นข้าราชการตำรวจได้เที่ยวหาจับคนไปทำงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ รัฐสมัยนั้นให้เกณฑ์คนไปทำงานเพื่อสร้างเมืองหลวงที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ที่ทำงานนั้นมีไข้มาเลเรียชุกชุม คนตายเพราะพิษไข้นี้เสียมากต่อมาก คนจึงกลัวและไม่อยากไป พอถูกจับก็ยอมเสียเงินค่าตัวให้ไปจึงทำให้ตำรวจออกจับคนมากขึ้น  

ส่วนประชาชนนั้นถูกจับแล้วถูกจับอีก กลัวข้าราชการไม่กล้าอยู่บ้านต้องหนีเข้าป่า เพราะกลัวถูกจับ เมื่อไปเห็นเข้าก็ทนไม่ได้จึงทำการป้องกันให้  ได้เขียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ดูเหมือนว่า ขุนไมตรีประชารักษ์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามสมัยนั้น โดยเล่าเรื่องพฤติกรรมทั้งหมดให้ทราบและบอกให้งดจับประชาชนทันที…

และได้เล่าถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกรังแกและพูดย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะดูแล เพราะมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนน่าจะถือว่า เป็นเจ้าของประชาชน…

ด้วยบุญกรรมที่ได้ทำตามที่เล่านี้เป็นผลให้ผู้มีอำนาจสมัยนั้นมองไปในแง่อกุศล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งข้อหาว่า ขัดอำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด  เป็นกบฏภายใน สั่งจับสมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺสมหาเถระ) สังฆนายก สั่งสึกทันที… 

แต่โชคยังเข้าด้วยผู้ไม่มีความผิด รัฐสภาไม่รับหลักการพุทธมณฑลสระบุรี  รัฐบาลคณะจอมพลแปลกจึงต้องลาออกทำให้โทษการเมือง ส่วนตัวของข้าพเจ้าลดลงถึงครึ่งหนึ่งก็ว่าได้ เพราะพรรคฝ่ายค้านที่จะเป็นรัฐบาลต่อไปต่างก็เห็นใจข้าพเจ้าทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อตำรวจไปขอตัวจากเจ้าอาวาสก็ได้รับคำตอบจากเจ้าอาวาส คือ หลวงพ่อเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถระ) ว่าผู้จะสั่งสึกพระวัดมหาธาตุนั้นทำได้เฉพาะเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเท่านั้น…

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ลองอ่านหนังสือ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1 ที่โครงการตำราฯ จัดพิมพ์ก็จะยิ่งได้รสชาติและเติมเต็มรายละเอียดทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนี้ดียิ่งขึ้น

หนังสือ พุทธปรัชญา ของพระราชวีรมุนี (สีหนาทภิกขุ) เล่มนี้ ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกมาก เช่น เรื่องที่ว่า ทำไมโครงสร้างคณะสงฆ์ไทยจึงมีลักษณะส่งเสริมระบอบเผด็จการ เงื่อนงำในการเปลี่ยน พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็น 2505 ฯลฯ

แต่ที่ผมเลือกยกเนื้อหาตรงส่วนนี้มา ก็เพราะมันไปตรงกับเรื่องราวที่แม่เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยแม่เป็นเด็กสาว มีญาติคนหนึ่งถูกจับไปเมืองเพชรบูรณ์เพื่อสร้างเมืองหลวง เหตุที่ถูกจับและต้องไป เพราะไม่มีเงินจ่ายเจ้านาย ด้วยผู้ใหญ่บ้านที่ละเว้นญาติพี่น้องตัวเอง จึงมาหาจับคนอื่นไปแทน  

แน่นอน…แม่ผมไม่รู้จักอดีตเจ้าคณะจังหวัดเลยองค์นี้และไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้

แต่หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมไม่กล้าดูถูกความรู้ความคิดทางการเมืองของพระเณร ทั้งยังเห็นคุณค่าที่จะค้นคว้าศึกษาเพื่อเติมเต็มความรู้  

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะทำให้รู้สึกละอายในความกระจอก ไม่กล้าหาญของตัวเองแล้ว ผมคิดถึงขั้นว่า จากเชื้อตรงนี้น่าจะใช้เป็นแนวทางในการหาแนวร่วมในวิถีประชาธิปไตยได้

ซึ่งตอนต่อไปผมจะเขียนถึง เชื้อประชาธิปไตย ของพระเณรที่ว่านั้น

image_pdfimage_print