หนังเรื่อง “ร่างทรง” นอกจากจะบอกเล่าความสำคัญของ “ผีในอีสาน” แล้วยังอธิบายถึงอำนาจของผู้หญิงที่มีบทบาทในอดีต ทั้งต่อการควบคุมทรัพยากรและบทบาทในครอบครัว ความสำเร็จของหนังฝีมือคนไทยเรื่องนี้ยังได้รับรางวัล Best of Bucheon จากเทศกาล Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) เกาหลีใต้อีกด้วย 

ภาพยนตร์เรื่องร่างทรง (The Medium)  จากค่าย GDH โดยผลงานผู้กำกับชาวไทย โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่มีชื่อเสียงมาจากภาพยนตร์สยองขวัญหลายเรื่อง เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) และ แฝด (2007) โดยมี นาฮงจิน โปรดิวเซอร์ผู้กำกับหนังแนวสยองขวัญจากประเทศเกาหลีใต้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับด้านความสยองขวัญจากผู้ชมเป็นอย่างดี 

หลังจากเพิ่งเข้าฉายในประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและกำลังจะเข้าฉายในประเทศไทยในปลายเดือนตุลาคมนี้ ผลงานฝีมือคนไทยที่ร่วมมือกับทางเกาหลีใต้เรื่องนี้ยังได้รับรางวัล Best of Bucheon ในสายประกวดหลัก Bucheon Choice ในเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) ครั้งที่ 25 ณ ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย 

“ร่างทรง” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีในสังคมอีสานที่แสดงบทบาทหน้าที่ผู้นำทางจิตวิญญาณในชุมชน โดยเรื่องราวของร่างทรง จะกล่าวถึงอาธรรพ์ของครอบครัวหนึ่งในภาคอีสานที่มีการสืบทอดตำแหน่งเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า ‘เทียม’ ซึ่งเรื่องราวนี้ได้ถูกถ่ายถอดเป็นภาพยนตร์สารคดี โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) ผู้สืบทอดร่างทรงของ ย่าบาหยัน ผีประจำท้องถิ่นประจำชุมชนที่มีรูปเคารพอยู่บนภูขากับภารกิจช่วยเหลือหลานสาวชื่อ มิ้ง (นริลญา กุลมงพลเพชร) ที่ถูกผีร้ายเข้าสิง  

จุดที่น่าสังเกตและน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การนำเสนอบทบาทของผู้หญิงและผีในท้องถิ่นที่ผู้คนต่างเคารพและศรัทธาในสังคมอีสานอย่างแรงกล้าที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน 

ทำไมความเชื่อลักษณะนี้ยังคงมีบทบาทมากในภาคอีสาน

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของทางภาคอีสาน เป็นพื้นที่ๆ ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlock) ทำให้วัฒนธรรมและความเชื่อนอกภูมิภาคไม่ได้เข้ามาสู่สังคมพื้นเมืองของอีสานเหมือนกับภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ดังนั้นภาคอีสานจึงรักษาสภาพสังคมดั้งเดิมได้มาก ต่างจากภาคกลางที่ศาสนาอื่นๆ ถูกชนชั้นนำควบคุมพื้นที่และแพร่กระจายไปสู่สามัญชน อย่างเช่น พิธีการบวงทรวงเทพเจ้าฮินดูตามกองถ่ายทำละครต่างๆ ที่เราจะเห็นว่า พราหมณ์จะเป็นผู้ดำเนินพิธีกรรมติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าฮินดูต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะการแสดง เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเพื่อสร้างความเป็นศิริมงคลให้กับการถ่ายทำละคร 

นอกจากนี้ยังมีหลายพื้นที่ในภาคอีสานที่ยังห่างไกลและขาดการเชื่อมต่อจากองค์ความรู้และการเข้าถึงของวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในตัวเมือง ทั้งด้วยปัจจัยทางสาธารณูปโภคและอื่นๆ ดังนั้นความคิดสมัยใหม่จึงไม่ได้ถูกใช้ในการอธิบายปรากฎการที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ผู้คนในชุมชนต่างต้องหันกลับไปพึ่งพาศาสตร์ดั้งเดิม คือ การนับถือ “ผี” นั่นเอง

ศาลตาแฮก จากตัวอย่างภาพยนต์เรื่องร่างทรง

ผีและผู้หญิงในบริบทของภาคอีสาน

ศาสนาพื้นเมืองดั่งเดิมของอุษาคเนย์ คือ การนับถือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ โดยการเรียกว่า “ผี” ซึ่งไม่ได้หมายถึงวิญญาณผู้เสียชิวิต แต่หมายถึงสิ่งศักดิ์-สิทธิประจำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ป่า แม่น้ำ ไร่นา ต่างมีผีอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งก็มีทั้งผีฝ่ายที่ทำหน้าที่ปกปักรักษามนุษย์และทำให้เกิดอาเพศ เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ 

ในอีสานมีผีหลายประเภทตั้งแต่ ผีฟ้า ผีแถน ผีเชื้อ ผีปอป เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ดลบันดาลชีวิตของผู้คนในชุมชน ในตัวอย่างภาพยนตร์ก็ปรากฏให้เห็นภาพความเชื่อท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ “ผี” เช่น บือบ้าน (สะดือบ้าน) ที่มีลักษณะเป็นเสาสั้นๆ ที่ทำจากไม้มงคลหรือหิน ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของชุมชน เพื่อคุ้มครองชุมชน หรือ ศาลผีตาแฮกที่ตั้งอยู่กลางไร่นา บ่งบอกถึงภาคอีสานที่ส่วนมากมีความเป็นอยู่แบบสังคมเกษตรกรรม ดังนั้นความเป็นอยู่ของผู้คนจึงขึ้นอยู่กับผลผลิตทางเกษตรกรรมจากการทำไร่ทำนา จึงมีการสร้างศาลผีตาแฮกหรือการทำพิธีเพื่อบูชาผีตาแฮกก่อนเริ่มดำนา

บือบ้าน จากตัวอย่างภาพยนต์เรื่องร่างทรง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากกว่าผู้ชาย เป็นสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทในการควบคุมทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงสร้างครอบครัวที่เน้นความสำคัญของความเป็นแม่หรือเครือญาติทางสายแม่ ผู้หญิงเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ที่สร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ โดยผู้หญิงในสังคมไทยและอุษาคเนย์นั้นมีบทบาทและสถานะด้านนี้สูงกว่าผู้ชายในฐานะผู้ติดต่อและเป็นสื่อกลางกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือ ผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่า สถานะของผีในเพศหญิงก็สูงกว่าเพศชาย 

พิธีกรรม “ผีฟ้า” ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้หญิงจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทำหน้าที่รักษา ในขณะที่ผู้ชายจะทำหน้าที่เพียงเป่าแคน เพื่อกำกับจังหวะการฟ้อนรำของผีฟ้า พิธีกรรมดังกล่าวจึงแสดงถึงการที่ผู้หญิงมีสถานะสูงกว่าและได้รับการยอมรับอย่างยิ่งตามความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ 

นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญนอกจากพิธีกรรมก็ยังมีหลักฐานทางยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกสถานะของเพศหญิงเหนือเพศชายอีก เช่น แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการค้นพบโครงกระดูกเพศหญิงหมายเลขที่ 15 หรือที่รู้จักกันในนามเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี เนื่องจากเป็นโครงกระดูกที่มีการอุทิศสิ่งของมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประดับร่างกาย ลูกปัดเปลือกหอยแบบแว่นกลมมากกว่า 120,000 เม็ด พบบริเวณส่วนหน้าอกและแผ่นหลัง 

นักวิชาการได้สันนิษฐานว่า เป็นลูกปัดที่เย็บติดกับผ้าหรือเสื้อและเครื่องประดับอื่นอีกมากมาย บ่งบอกถึงสถานะสังคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของผู้หญิงได้อย่างดี

พิธีเหยาของชาวผู้ไท ที่มีผู้หญิงเป็นตัวหลักในการประกอบพิธี โดยโตโต้โสนแย้ม สตูดิโอ

พุทธ-ผี ในสังคมอีสาน 

ศาสนาใหม่ นั่นก็คือ ศาสนาพราหมณ์-พุทธ ส่งผลให้ศาสนาพื้นเมืองโบราณถูกลดสถานะลงไป ผีบรรพบุรุษถูกทำให้กลายเป็นเพียงวิญญาณของผู้เสียชีวิต ไม่ได้ถูกย่องให้เป็นเหมือนเทพเจ้าประจำท้องถิ่นอีกต่อไป เราสามารถเห็นได้จากงานบุญข้าวสาก เป็นประเพณีการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามหลักแนวคิดของศาสนาพุทธ นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปีของประเพณีสิบสองเดือน หรือ ฮีตสิบสองของชาวอีสาน หลังจากเสร็จพิธีนี้ ผู้ที่มีนาจะนำข้าวสากไปเลี้ยง “ตาแฮก” ที่นาของตนเพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ผลิตข้าวเป็นสมบูรณ์ เป็นอันเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก           

เราสามารถเห็นได้ว่า ประเพณีที่เป็นพุทธได้พยายามลดสถานะ ผีตากแฮก ให้ไม่ต่างอะไรก็วิญญาณผู้ล่วงลับทั่วไป รวมถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีความเปลี่ยนทางสถานะทางสังคม ซึ่งความเชื่อที่เกี่ยวกับผีและสตรีเป็นใหญ่ ถูกนำเสนอผ่าน “ย่าบาหยัน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น โดยนางเทียม หรือร่างทรงที่มีตัวแทนเป็นผู้หญิง อันเป็นตัวแทนเพศภาพของย่าบาหยัน ซึ่งทำให้ร่างทรงที่เป็นผู้หญิงกลายเป็นผู้นำชุมชนโดยปริยาย แม้ว่าศาสนาพุทธจะได้เข้ามาในพื้นที่ อุษาคเนย์มาร่วมหลายศวรรษแล้ว พื้นที่นอกเขตพื้นที่ที่เป็นพุทธสถาน เช่นในชุมชน ‘ผู้หญิง’ และ ‘ผี’ ก็ยังคงมีบทบาทในสังคมอีสานอย่างมาก  

ร่างของเจ้าแม่โคกพนมดี แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ อำเภอพนัชนิคม จังหวัดชลบุรี จากองค์กรบริหารส่วนตำบลท่าข้าม

แหล่งอ้างอิง

บุญข้าวสาก เป็นประเพณีการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต. (n.d.). Retrieved October 13, 2021, from 

Bucheon International Fantastic Film Festival. BIFAN 

ปรานี วงษ์เทศ(2549). เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. 

Coedès, G., Cowing, S. B., & Vella, W. F. (1996). The Indianized States of Southeast Asia. 

จิตต์ วงษ์เทศ (2559). “วัฒนธรรมร่วม” ในอุษาคเนย์ รากเหง้าเก่าแก่ของประชาคมอาเชียน. สำนักพิมพ์นาตาแฮก

สุรัตน์ จงดา (2541) ฟ้อนผีฟ้านางเทียม: การฟ้อนรำในพิธีกรรมและความเชื่อของชาวอีสาน.วิทยานิพจน์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขานาฎศิลปไทย ภาควิชานาฎศิลป์.บัณฑิตวิทยาลัย.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

image_pdfimage_print