A Minor History (2021) เป็นนิทรรศการศิลปะของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน กรุงเทพฯ ที่พาผู้ชมรู้จักความคิด ตัวตนของผู้กำกับหนังมือรางวัลเมืองคานส์ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดหลังรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการสำรวจความทรงจำอีสานของอภิชาติพงศ์ ผ่านโครงการศิลปะ Primitive 

นิทรรศการนี้อภิชาติพงศ์ได้ตะลอนเก็บภาพริมโขง ตั้งคำถามถึงศพที่ลอยในแม่น้ำโขง แล้วเลาะเรื่อยเก็บบรรยากาศแห่งความทรงจำในอีสานมาประกอบเป็นงานศิลปะ  A Minor History โดยจะเปิดให้ชมภาคสองตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2565 นี้ 

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ เรื่อง

“…ผมเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ราวกับมันเป็นเวทมนต์ปริศนา ผมมองมันตอนกลางคืนและเห็นจุดสีส้มแจ่มชัดในความมืด โดยปกติถ้าต้นไม้ในบ้านมันออกดอกออกผลเยอะผิดปกติ มันกำลังสื่อสารกับเราว่าที่มันต้องทำอย่างนั้น เพราะมันกำลังจะตาย ผมจึงมองดอกไม้ แล้วในใจก็คิดว่า มันกำลังจะตาย ผมกลัวว่า ต้นมะปรางมันกำลังจะสื่อสารแบบเดียวกันก็ตอนผมเริ่มตระหนักในคุณค่าของมัน การคิดแบบนี้ช่วยให้การทานผลไม้แต่ละลูกออกรสชาติออกชาติอย่างมาก ผมให้เกียรติมันด้วยการเก็บเมล็ดของมันไว้ หวังว่าจะได้ปลูก พวกมันคงจะโตไวเลยทีเดียวในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง”

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, 2020

บทความนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนในการเล่าถึงนิทรรศการ A Minor History (2021) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งจัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน กรุงเทพฯ โดย มนุพร เหลืองอร่าม เป็นภัณฑารักษ์ 

นิทรรศการถูกแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2021 (2564) – 30 มกราคม 2022 (2565) ภาคสองจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2022 (2565) และรวมถึงเป็นการเชื่อมโยงกับนิทรรศการ A Trace of Thunder (2021) ซึ่งจัดขึ้นที่ใหม่อีหลี จังหวัดขอนแก่น โดย กิตติมา จารีประสิทธิ์ เป็นภัณฑารักษ์ นิทรรศการจัดระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2021 – 4 เมษายน 2022 (2565) บทความยังเป็นการทดลองขยับขยายเชื่อมต่อนิทรรศการทั้งสองไปยังผลงานอื่นๆ ของอภิชาติพงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2006 (2549) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการสำรวจความทรงจำอีสานของอภิชาติพงศ์ ผ่านโครงการศิลปะ Primitive (2009)

ความตายของพญานาค

การตายของสิ่งที่ใหญ่โตดูจะเป็นสิ่งที่ A Minor History (2021) พยายามฉายให้เห็นและสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นซากโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โรงแรมร้างริมโขง (ที่ชวนให้นึกถึงโรงแรมใน Mekong Hotel, 2012) ไปจนถึงความตายของพญานาค หลังจากที่บังเอิญไปกลืนศพที่ถูกผ่าท้องยัดแท่งปูน การได้ไปชมนิทรรศการนี้คล้ายกับการทำอสุภกรรมฐานอันเป็นช่วงเวลาเพื่อความอีโรติคถวิลหา เป็นการยืดเวลาของความพยายามในการแยกแรงปรารถนาออกจากความทุกข์ออกไป การทำอสุภกรรมฐานได้สร้างพื้นที่ของความเป็นไปได้ใหม่ๆ เผยให้เห็นความปรารถนาที่ยังตกค้างในเขตขัณฑ์ของความสูญเสียซึ่งได้สร้างจินตนาการใหม่ๆ ขึ้น1

การเผชิญหน้ากับความตายไม่ได้นำไปสู่การไม่ยึดติด ประสบการณ์การเผชิญกับอนิจจังที่ผ่านทั้งผัสสะและจิตสำนึก ไม่ได้นำไปสู่การแยกขาดระหว่างความปรารถนากับความทุกข์ ในทางตรงกันข้าม การเผชิญหน้ากับความตายหรือผี กลับสร้างการเคลื่อนไหวของการโหยหาอาลัยต่อการสูญเสีย และได้จัดระเบียบทิศทางของการยึดติดแบบใหม่ขึ้น นี่จึงเป็นการสร้างการเพ่งพินิจด้วยความปรารถนาและโหยหาด้วยโศกาดูรแบบพุทธ (Buddhist melancholia)1

อาจกล่าวได้ว่า A Minor History (2021) เผยให้เห็นแรงปรารถนา การยึดติด และการเผชิญหน้ากับ uncanny หรือแปลว่า แปลก ซึ่งฟรอยด์อธิบายว่า ชนชั้นกลางในโลกสมัยใหม่มักหลงคิดไปว่า ตนเองได้ก้าวผ่านโลกที่หลอกหลอนไปแล้ว uncanny จะโผล่ขึ้นเมื่อสิ่งที่เราคิดว่า เราได้เอาชนะหรือผ่านไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มันยังอยู่ในปัจจุบัน2

นิทรรศการ A Minor History (2021) ประกอบไปด้วยชุดภาพถ่ายโรงแรมร้างริมฝั่งโขงที่กลับหัวกลับหาง และมีภาพของบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งใส่ต่างหูข้างซ้ายยืนที่ริมหน้าต่าง และมองออกไปนอกไปยังแม่น้ำโขง เราไม่อาจเห็นใบหน้าของเขาว่า เป็นชายหรือหญิง เขาหรือเธออาจเป็นคนร่อนเร่ที่อาศัย ณ ซากโรงแรมแห่งนั้น บุคคลนั้นชวนให้นึกถึงชุดภาพ Soldier Series ในนิทรรศการภาพถ่าย Almost Fiction (2019) ซึ่งปรากฎเป็นภาพของนายทหารชั้นผู้น้อยทั้งภาพเดี่ยวและภาพหมู่ในดงกล้วย ทั้งถูกถ่ายด้วยกล้องดิจิตัลและกล้องฟิล์ม แต่ใบหน้าของพวกเขาถูกไฟส่องสว่างจ้าเสียจนไม่อาจระบุอัตลักษณ์บุคคลได้ การไม่อาจระบุตัวตนได้นี่เองแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่ข้ามพ้นอัตลักษณ์หรือการเมืองอัตลักษณ์ (Identity Politics) เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวคือการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นเรื่องที่ต้องทำคือ ‘การทำให้วัฒนธรรมที่แตกต่างหรือเดิมไม่ได้รับการยอมรับกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมให้ได้3 นี่จึงเป็นเรื่องของการเมืองของการได้รับการยอมรับ (Politics of Recognition)

เครดิตภาพ : สุภัทรา ศรีทองคำ และ สุทิวัส คุ้มภัย ©มูลนิธิ 100 ต้นสน, 2564

บุคคลไร้หน้า ไร้อัตลักษณ์ 

ภาพของบุคคลที่ไม่เห็นหน้าตอกย้ำถึงสภาวะที่เรียกว่า สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ (unknown unknowns) อันหมายถึงว่า เราไม่สามารถพัฒนาเครื่องมือในการไปรู้ในสิ่งนั้นได้ เพราะแม้กระทั่งว่า เราเองก็ยังไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นมีอยู่หรือไม่ อาจเรียกได้ว่าเป็นสัจนิยมแบบภววิทยา (ontological realism) คือ การมองว่า ความจริงเป็นอิสระจากมนุษย์ ความจริงไม่อนุญาตให้มนุษย์รู้ได้อย่างสมบูรณ์ เราไม่มีทางรู้ทั้งหมดของความจริงได้4 การเผชิญหน้า (encounter) กับชุดภาพถ่ายนายทหารไร้หน้า คนไร้บ้านที่โรงแรมร้างริมฝั่งโขง หรือเด็กหนุ่มจากนาบัวใส่หน้ากากผีกับแว่นกันแดดใน Ghost Teen (2009) เหมือนกับการเผชิญหน้ากับความแปลก (uncanny) เหมือนกับการเผชิญหน้ากับความจริงที่เราปฏิเสธ/รับรู้การมีอยู่ของความจริงนั้นมาโดยตลอด การเผชิญหน้ากับความจริงนี้ได้นำมาซึ่งความรู้สึกหวาดกลัวและน่าเกรงขามอย่างแปลกประหลาด บุคคลไร้หน้าจึงเป็นพื้นที่ของความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมหาศาล มิได้หยุดนิ่งที่อัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่ง เป็นพื้นที่แห่งการผิดกาละ (anachronism) เป็นพื้นที่แห่งความผิดที่ผิดทาง (displaced) เหมือนพลุไฟที่แตกกระจายไร้ทิศทางแต่ทรงพลังในผลงาน Fireworks (2014) 

การสำรวจแม่นำ้โขงที่เปลี่ยนไปมิใช่สิ่งใหม่สำหรับอภิชาติพงศ์ เพราะแม่น้ำโขงเป็นเสมือนซากผีและความทรงจำของเขา นับตั้งแต่ Luminous People (2007) ที่อาจเป็นการจำลองการลอยอังคารกระดูกของคุณพ่อของอภิชาติพงศ์ที่แม่น้ำโขง วิดีโอจึงเป็นเสมือนการระลึกถึงการปรากฎของคนที่เสียชีวิต และการเสื่อมสลายของความทรงจำกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ผ่านหนึ่งในผู้ร่วมงานกองถ่ายของอภิชาติพงศ์ฝันว่า พ่อที่เสียชีวิตมาหาในความฝัน เขาจึงถูกขอให้ร้องเพลงภาษาไทยพื้นถิ่นอีสานรำลึกถึงพ่อ ครึ่งแรกของเรื่องเป็นการดำเนินพิธีกรรม ก่อนที่เรือจะเลี้ยวกลับที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว หลังจากนั้นนักแสดงก็เริ่มนอนหลับและคนบนเรือก็มีอิสระบนเรือลำนั้นมากขึ้น ราวกับว่า การรำลึกถึงคนตายเพิ่งเริ่มต้นขึ้น 

ชีวิตของเจนจิราที่เปลี่ยนไป 

ผลงานอีกชิ้นคือ Cactus River (2012) ถ่ายทำหลังป้าเจนเปลี่ยนชื่อจาก เจนจิรา พงศ์พัศ เป็น นัชญ์ ไวด์เนอร์ โดยที่ นัชญ์ แปลว่า น้ำ ซึ่งไปพ้องกับคำว่า นาค และไวด์เนอร์มาจากที่เธอแต่งงานกับแฟรงก์ ชายชาวอเมริกัน อภิชาติพงศ์ เก็บภาพชีวิตประจำวันของผู้คนริมฝั่งโขง รวมถึงชีวิตของป้าเจนตั้งแต่การทำกับข้าว ไปจนถึงการถักโครเชต์ ราวกับว่า การเปลี่ยนไปของป้าเจนมาพร้อมกับการเปลี่ยนไปของแม่น้ำโขงเมื่อจีนเข้ามาสร้างเขื่อน 

และ MEKONG HOTEL (2012) เล่าเรื่องการสืบทอดวิญญาณปอบจากป้าเจนสู่ฝน ลูกสาวที่ไม่พูดลาว เธอกำลังมีความรักกับ โต้ง ชายหนุ่มที่พูดภาษาไทยกลาง ภาพยนตร์จับภาพความรู้สึกหลังเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยปี 2011 (2554) อันเป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง ถือเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุด5 ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ภาพยนตร์ยังถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่อีสานกับกรุงเทพฯ ในช่วงสงครามเย็นผ่านความทรงจำของป้าเจนที่เล่าเรื่องราวในวัยเด็กที่ต้องจังหวัดหนองคายเป็นพื้นที่รับผู้อพยพจากสงครามกลางเมืองลาว (ค.ศ. 1959–1975 /พ.ศ.2502–2518)

นอกจากชุดภาพโรงแรมร้างด้านหน้ามูลนิธิ 100 ต้นสน หากเดินเข้าไปด้านในห้องจัดแสดงผ่านม่านทึบสีดำสองชั้นจะพบกับจอฉายสามจอที่วางเหลื่อมกันทำมุมรูปสามเหลี่ยม โดยมีจอตรงกลางวางในแนวตั้ง อีกสองจอติดกับผนัง ส่วนฉากด้านหลังสุดจะเป็นภาพถ่ายฉากหมอลำจากสตูดิโอ “ซี้น2ต่อน” ซึ่งบริหารงานโดย หมอลำบักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ หรือปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ชายหนุ่มจากจังหวัดสกลนคร อดีตผู้ต้องหาคดี 112 ฉากหมอลำที่แสดงท้องพระโรงอันวิจิตรงดงาม หากแต่ฉากม่านด้านบนก็พร้อมจะถูกปลดลงมาเพื่อเปลี่ยนฉากเปลี่ยนเรื่องราวได้ตลอดเวลา เหมือนใน ‎Blue (2018) หนังสั้นในโครงการ Ghost:2561 เล่าเรื่องอาการนอนไม่หลับของป้าเจน เธอกำลังนอนอยู่ในดงกล้วย อยู่ในกองถ่ายหนังสักแห่งที่เซ็ตขึ้น อยู่ในความฝันหรือความจริง เธอพยายามหลับแต่หลับไม่ลง อาจเพราะดวงไฟสุมทรวง หรือเพราะไฟที่กำลังไหม้ฉากพระราชวังที่ผลัดเปลี่ยนกับฉากแม่น้ำที่มีดวงอาทิตย์สีแดงฉานขนาดใหญ่ทรงพลัง แต่ไฟเหล่านั้นกลับเป็นเพียงภาพสะท้อนจากกระจกหรือกระจกกำลังปกปิดการรับรู้ถึงการลุกไหม้

เครดิตภาพ : สุภัทรา ศรีทองคำ และ สุทิวัส คุ้มภัย ©มูลนิธิ 100 ต้นสน, 2564

สามจอ สามมิติ 

การจัดวางวิดีโอสามจอในนิทรรศการทำให้เราไม่สามารถดูสามจอได้ในเวลาเดียวกัน หรือเราไม่สามารถเข้าถึงภาพและข้อความที่ปรากฎบนจอสามจอพร้อมๆ กันได้ เราเลือกดูได้เพียงทีละจอ นี่จึงทำให้นึกถึงสภาวะที่เราไม่อาจะเข้าถึงความจริง (real object) ได้ทั้งหมด เราเข้าถึงเรื่องราวได้เพียงบางส่วนที่นิทรรศการจะอนุญาตให้เราสัมผัส (sensual object) ซึ่งคล้ายกับการที่เราไม่อาจระบุตัวตนของบุคคลได้ ไม่อาจระบุเพศได้ หรือไม่อาจระบุสถานะได้ว่า เขาหรือเธอเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ (non-human) นิทรรศการนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่เชื่อง (untamed ontology) ซึ่งดิ้นหลุดจากการจัดระเบียบ การรับรู้ การรู้ด้วยการใช้อำนาจของการศึกษา หรือไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในระเบียบการอ่านเขียน A Minor History ทำให้เราได้คิดถึงชีวิต อนาคตอีกแบบที่เป็นไปได้ นอกเหนือจากกรอบแบบอาณานิคมที่เราถูกส่งทอดให้คิดและเชื่อกันมา การมองในอนาคตอีกแบบก็คือ การหันกลับไปมองซากปรักหักพัง แต่เราไม่ได้ทำเพียงการอาลัยโศกเศร้าแล้วผ่านไป แต่เรายังระลึกอาลัยถึงความฝันที่ผู้คนที่เคยฝันถึงอนาคตอีกแบบ อนาคตที่มากไปกว่าที่เราอยู่ในตอนนี้6

จอสองจอแสดงให้เห็นภาพของโรงภาพยนตร์ร้างที่จังหวัดกาฬสินธุ์ อภิชาติพงศ์จับจ้องโครงอาคารที่ผุพังคล้ายโครงกระดูกที่ยังมีชิ้นเนื้อเกาะอยู่ ศพที่กำลังเน่าเปื่อยเหมือนความทรงจำวัยเด็กที่จังหวัดขอนแก่นของอภิชาติพงศ์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปเป็นอย่างอื่น การจับจ้องสถาปัตยกรรมเผยให้เห็นกายวิภาคของสิ่งที่เคยใหญ่โตรุ่งเรืองในช่วงสงครามเย็น ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลังการตั้งฐานทัพอเมริกันเพื่อทำสงครามในเวียดนาม เมื่อต้นทศวรรษที่ 1960 ภาพยนตร์ขนาดยาวหลายเรื่องถูกนำไปฉายในพื้นที่ห่างไกลของภาคอีสานและภาคใต้ผ่านการฉายแบบกางแปลงและการพากย์เสียง นอกจากเพื่อการขายตั๋วแล้ว การฉายหนังกางแปลงยังไปควบคู่กับการขายของ การแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปการกระตุ้นเร้าความรู้สึกเกลียดชังคอมมิวนิสต์ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 นี้เอง มีการปรากฎตัวครั้งแรกๆ ในพื้นที่ห่างไกลของภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มิลลิเมตร6 รวมไปถึงการพากย์เสียงโดยโกญจนาท นักพากย์เสียงสายอีสานผู้สร้างเสียงได้ทุกตัวละครทั้งชายและหญิง8-9

เครดิตภาพ : สุภัทรา ศรีทองคำ และ สุทิวัส คุ้มภัย ©มูลนิธิ 100 ต้นสน, 2564

โรงหนังร้างกับความตายของนกพิราบ 

ภาพอาคารโรงหนังร้างยังถูกถ่ายให้เห็นหมู่มวลต้นไม้ที่เติบโตแทรกตามรอยแตกของอิฐปูน หลังคาที่ทะลุพังลงมาทำให้โรงหนังกลายสภาพเป็นบ้านของนกพิราบจำนวนมากที่มาเกิด อาศัย และตายที่นี่ อภิชาติพงศ์ ถ่ายซากนกพิราบที่กำลังถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์และสัตว์อื่นๆ พร้อมๆ กันเขาก็ถ่ายภาพนกพิราบที่บินไปมาพยายามหาทางออกจากอาคาร บ้างก็บินวนอยู่ข้างในห้อง บางก็บินออกทางหลังคาที่ทะลุเปิดเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ บ้างก็แค่เดินออกจากประตู ซึ่งทำให้นึกถึงฉากแม่ไก่และลูกไก่เดินที่ประตูในโรงพยาบาลสนามใน Cemetery of Splendor (2015) รวมถึงภาพหญิงชาวอินเดียที่กำลังจับแขนลูกของเธอ เธอกำลังจ้องที่เตียงนอนด้วยใบหน้าที่ตื่นกลัว ภาพของเธออยู่ในห้องนอนของอภิชาติพงศ์ ห้องนอนที่มีหลอดไฟหลายดวงตั้งล่อแมลงและสัตว์อื่นๆ จำนวนมหาศาลมาชุมนุมที่เตียงของเขาใน Night Colonies (2021) และยังชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าของหลวงตาใน Syndromes and a Century (2006) ผู้เชื่อว่า อาการปวดข้อจากโรคเก๊าต์เป็นเพราะเขาเคยเล่นหักขาไก่ตอนยังเป็นเด็ก วิญญาณไก่จึงมาตามล้างแค้นถึงในฝันและกลายเป็นพยาธิสภาพของโรคปวดข้อ

วิญญาณไก่ แม่ไก่และลูกไก่ แม่ชาวอินเดียและลูกของเธอ รวมไปถึงนกพิราบที่เดินออกจากห้องตัวนั้นกำลังบอกอะไรกับเรา นี่ก็ดูจะเหมือนเป็นสิ่งที่เกินขอบเขตการตีความ หรือในทางหนึ่งมันต่อต้านการตีความ ดิ้นหลุดจากโครงสร้างของภาษาที่พยายามจะเข้ามาควบคุมให้ความหมาย เสมือนกับบานประตูที่ถูกเขียนว่า “ห้องนี้มีผี” ในโรงหนังร้างนั้น สิ่งไม่เชื่องเหล่านี้พบได้เสมอในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ เช่น ฉากป้าเจนถอดจิตไปนั่งร้านคาราโอเกะกับพระโต้งในตอนท้ายของ Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010) หรือฉากเก้าอี้ดนตรี ในสวนข้างบึงแก่นนคร ที่มีคนใส่ชุดหลากสีสลับสับเปลี่ยนกันลุกนั่งตามม้านั่ง บ้างก็เดินผ่านเข้าฉากซ้ำๆ หรือปั่นจักรยานเข้าฉากซำ้ๆ ใน Cemetery of Splendor (2015) ในทางหนึ่งสิ่งที่แปลก (uncanny) นี้ทำให้เราเกิดคำถามว่า นี่เรากำลังดูเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ความประหลาดนี่เองทำให้เส้นกั้นระหว่างความจริงและเรื่องเล่าพร่าเลือน ซึ่งท้าทายกรอบคิดแบบสมัยใหม่ที่พยายามแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ด้วยอนุกรมวิธาน

เรื่องราวของ “ราตรี” กับ “สุรชัย” 

พร้อมๆ กับการฉายภาพก็จะมีเรื่องเล่าที่พากย์โดย เมฆ’ครึ่งฟ้า หรือ ดานุชัช บุญอรัญ กวีหนุ่มจากริมฝั่งแม่น้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด เขาพากย์เสียงแบบโกญจนาท เล่าถึงเรื่องชายหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่ง มันอาจเป็นละครวิทยุหรือภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มิลลิเมตร การพากย์เสียงด้วยผู้ชายในทางหนึ่งก็อาจตอกย้ำสถานะชายเป็นใหญ่ที่ควบคุมน้ำเสียงของผู้คน แต่ในขณะเดียวกันมันก็บ่อนเซาะสถานะของเพศชาย เมื่อเขาต้องพากย์ด้วยจริตของผู้หญิง ความกึ่งหญิงกึ่งชายจึงเผยให้เห็นความเควียร์ของการเล่าเรื่อง เรื่องเล่าของหญิงชายคู่หนึ่งที่กำลังเดินอยู่ริมโขงท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา ราตรี หญิงสาวคนนั้นบอกว่า “อากาศร้อนจังเลยนะคะ” ก่อนจะสะดุดก้อนหินเพราะมัวแต่ถ่ายรูป 

จริตผู้หญิงแบบราตรี เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในละครที่สร้างภาพให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือนหรือกุลสตรี “ครอบครัวแต่ละครอบครัวจะเจริญได้ก็ต้องอาศัยแม่เรือนที่ดีเป็นหลัก เพราะถ้าสตรีผู้เป็นแม่บ้านแม่เรือนคนใดขาดความเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีแล้ว บ้านเรือนหรือครอบครัวนั้นย่อมประสบแต่ความเสื่อม” ตามนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงทศวรรษ 1950 ผู้หญิงต้องต้องมีจริยธรรม ความประหยัด ความพอเพียง รู้จักบริหารจัดการในชีวิตเป็นอย่างไร สุขอนามัย ความรู้สมัยใหม่เป็นอย่างไร ในการที่จะบำรุงความเป็นอยู่ในครอบครัว10

จริตแบบหญิงชนชั้นกลางที่ต้องปฏิบัติตามความคาดหวังของสามีและของชาติจึงเป็นการตอกย้ำแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวและแนวคิดขนบแบบความสัมพันธ์ชาย-หญิง (heteronormativity) การไปปิคนิคยามบ่ายทานแซนวิช ดื่มด่ำบรรยากาศริมโขง ท่องเที่ยวใน “เมืองที่มีเรื่องเร้นลับหลากหลายรอการค้นพบ” จึงเป็นจริตแบบชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางนี่เองที่เกิดขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งทำให้รูปแบบการผลิตในสยามเปลี่ยนแปลงไปมาก นำไปสู่ชนชั้นกระฎุมพีในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงความปกครอง10

เมฆ’ครึ่งฟ้าพูดเป็นภาษาลาวอีสานแปลได้ทำนองว่า “สองคนนี้อาจจะสังเกตเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้น อาจจะเข้าใจกันไปคนละทาง เหมือนสายน้ำที่ไหลไป ไม่มีผู้ใดที่จะตีความว่า มันผ่านในลักษณะใด ผ่านไปยังไง” เสมือนว่า ชนชั้นกลางมีโอกาสในการจะตระหนักถึงความจริงที่อยู่ตรงหน้า แต่จากเรื่องเล่าก็มีแนวโน้มเหลือเกินว่า ราตรีจะไม่ได้ทำความเข้าใจสุรชัยอย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นคนหรือเป็นผี ไม่ได้วิเคราะห์ว่า แล้วศพนั้นเสียชีวิตจากอะไร ศพนั้นเป็นใคร แล้วพญานาคทำไมถึงตาย เธอตื่นเต้นกับชายที่อยู่ตรงหน้า เธอหมกมุ่นอยู่กับร่างกายที่หัวใจของเธอเต้นแรงอย่างอธิบายไม่ได้ 

เครดิตภาพ : สุภัทรา ศรีทองคำ และ สุทิวัส คุ้มภัย ©มูลนิธิ 100 ต้นสน, 2564

หัวใจของเธอกำลังเต้นแรงกับความตายของผู้ต่อต้านรัฐ หรือเพียงแค่มันเต้นระรัวเพราะใบหน้าอันหล่อเหลาของสุรชัย ความน่าสนใจ คือ หลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น (ค.ศ. 1991–2021/พ.ศ.2534–2564) เหตุใดชนชั้นกลางในรัฐประชาธิปไตยจึงกลายเป็นผู้ขัดขวางขบวนการประชาธิปไตยไปได้ โดยเฉพาะในขบวนการเสื้อเหลือง (ค.ศ. 2006–2008/ พ.ศ.2549–2551) และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) (ค.ศ. 2013–2014/ พ.ศ.2556–2557) 

ชนชั้นกลางมีส่วนอย่างยิ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี ค.ศ. 2006 (2549) และ ค.ศ. 2014 (2557) เป็นเพราะผู้ต่อต้านทักษิณเผชิญกับการขัดขวางโดยสถาบัน (institutional blockage) เช่น การถูกห้ามมิให้แสดงความเห็น นำไปสู่การที่พวกเขาหันไปหาทางเลือกนอกรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยจะล่มสลายเมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่และเมื่อสถาบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมอบโอกาสให้พวกเขาเรียกร้องได้ เช่น การเรียกร้องให้รัฐประหารโดยกองทัพ หรือการเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อตอบโต้กับการถูกขัดขวางนั้น การเรียกร้องรัฐประหารกว้างขวางมากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งช่วยให้ขบวนการมั่นคงและเด็ดขาด11

สื่อและเรื่องเล่ามีส่วนอย่างมากในการรวบรวมคนจำนวนมาก นับตั้งแต่กบฏผีบุญต่อต้านอีสานในศตวรรษที่ 19 ผ่านคำพยากรณ์ สิ่งประหลาดมหัศจรรย์ และยุคผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย11 มาจนถึงหมอลําต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอีสานช่วงทศวรรษ 1950 – 1980 ผ่านปฏิบัติการด้านจิตวิทยาด้วยความช่วยเหลือจากสำนักข่าวสารอเมริกัน (United State Information Service – USIS) ให้ชาวอีสานรับรู้ประชาธิปไตยเป็นไปในทางบวก และมองคอมมิวนิสต์ในทางลบ ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมๆกันก็ยังมี กลอนลำของคณะหมอลำกองทัพปลดแอกประชําชนแห่งประเทศไทย ที่เข้าถึงคนอีสํานมากกว่าหมอลำของรัฐบาล เพราะเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นผลจากการใช้อำนาจของรัฐอย่างไม่เป็นธรรมที่มีมาตลอดตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว13

โปรดติดตามบทความส่วนที่สอง “A Minor History: ท้องพระโรงที่ว่างเปล่ากับผีที่หายไปในความมืด (1) ตอน 2 ” ได้เร็วๆ นี้ 

อ้างอิง

  1. Arnika Fuhrmann. 2016. Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema
  2. Andrew Alan Johnson (2020). Mekong Dreaming: Life and Death Along a Changing River
  3. Kengkij Kitirianglarp. 2021. Spectrum Gender Talk 1: Universality and Identity Politics ว่าด้วย ‘ความเป็นสากล’ และ ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’. https://www.facebook.com/showyourspectrum/photos/a.276495186375492/704613590230314
  4. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (2021). บรรยายวิชาการออนไลน์ “ภววิทยาวัตถุ (Object Oriented Ontology) (OOO)”. https://www.youtube.com/watch?v=HenxInaMtWw&t=2099s
  5. Skulpichetrat, Jutarat; Prak Chan Thul; Alan Raybould (ed.) (4 October 2011). “Thai floods kill 224, inundate World Heritage Site”. Reuters.
  6. Jack Halberstam (2020). Wild Things: The Disorder of Desire
  7. May Adadol Ingawanij (2018). Itinerant Cinematic Practices In and Around Thailand during the Cold War
  8. https://m.facebook.com/korat.in.the.past/posts/1100075326727898:0
  9. ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ (2564). ซากความทรงจําบนประวัติศาสตร์สามัญชนใน A Minor History นิทรรศการใหม่ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
  10. ชานันท์ ยอดหงษ์ (2021). บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำหลัง 2475
  11. Aim Sinpeng (2021). Opposing Democracy in the Digital Age: The Yellow Shirts in Thailand
  12. สุวิทย์ ธีรศาศวัต (2021). กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย
  13. สุรศักดิ์ สาระจิต (2021). หมอลำต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (ปลายทศวรรษ 2490 ถึงต้นทศวรรษ 2520)

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print