แม้รู้ทั้งรู้ว่าจะพบเจอกับด่านนี้ แต่สังคมอาจไม่ได้เตรียมใจว่าจะต้องเจอกับสภาวะแห่งความสับสนกว่าที่คิด เมื่อผลการเลือกตั้งแม้ปรากฎชัดแล้วว่าพรรคใดได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหน้าตาของรัฐบาลใหม่จะประกอบไปด้วยพรรคไหนบ้าง แต่ฉันทามติของประชาชนไม่ได้จบที่คูหา แต่กลับต้องมาลุ้นว่าท่านสมาชิกวุฒิสภา 250 คนจะยกมือสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และดูท่าจระเข้ 250 ชีวิตในสภาสูงไม่น่าจะปล่อยให้ใครผ่านคลองไปได้ง่ายๆ เสียด้วย

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คสช. ที่มาจากการก่อรัฐประหาร ทำให้ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดในแง่ของความเป็นอิสระ และจุดยืนที่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย

ท่าทีกับรัฐบาลชุดที่กำลังจะผ่านไปก็พอเห็นกันแล้วว่า ส.ว. ชุดนี้หันหน้าจัดวางตัวเองไปในทิศทางไหน เสียงท้าทายของ ส.ว. ต่อความพยายามจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ยิ่งชัดเจนจนน่าสงสัย และเป็นที่ประจักษ์จนน่าหวาดหวั่นใจ ว่าประเทศไทยจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือ

เพื่อออกจากวังวนเช่นนี้ เราจึงชวน ส.ว. รุ่นแรกที่มาจากการเลือกตั้งปี 2543 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ให้ช่วยทบทวนบทบาทที่ควรจะเป็นของ ส.ว. และช่วยชี้ทางออกจากอุโมงค์แห่งอำนาจ เพื่อให้ชาติได้เจอแสงสว่างแห่งประชาธิปไตยโดยแท้จริงเสียที

คุณหมอประเมินการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

การเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือผมอายุ 72 แล้ว ไม่เคยเห็นมาก่อนว่ามีอาณัติสัญญาณที่สำคัญจากประชาชน ก็คือภาคประชาชนที่เขาต้องการการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างเป็นรูปธรรม จากการที่มีการหาเสียงโดยพรรคการเมือง ที่เราก็ทราบว่าระหว่าง 2 กลุ่ม คือกลุ่มประชาธิปไตยกับกลุ่มอนุรักษนิยม และเราก็ต้องยอมรับว่าประมาณ 25 ล้านเสียง หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่เรื่องของระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบอำนาจนิยมอย่างที่เป็นมาในช่วงหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ปี 2557 ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่เคยนึกเลยว่ามันจะขยาย แล้วก็เห็นผลในทางรูปธรรมชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เคยมีนะครับ ผมว่ายิ่งกว่า 14 ตุลาฯ 2516 หรือ 6 ตุลาฯ 2519 เสียอีก เพราะมันเป็นอาณัติสัญญาณที่ออกมาจากความเห็นของประชาชนในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นแบบบนท้องถนนด้วยซ้ำไป มันเลยเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า สังคมไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐบาลรักษาการ หรือ ส.ว. 250 คน ต้องยอมรับในหลักการครั้งนี้ ถ้าไม่ยอมรับก็แสดงว่าไม่ได้สรุปบทเรียนความผิดพลาด ในช่วง 15-16 ปีของรัฐประหารหลังปี 2549 แล้วยังพยายามที่จะดันทุรังปล่อยให้สังคมไทย ขับเคลื่อนแล้วก็ประสบวิกฤตอย่างที่เราพบในช่วง ประมาณทศวรรษที่ผ่านมา

ดังนั้นเท่ากับเกือบ 2 ทศวรรษแล้วที่เราเจอปัญหาวิกฤต แต่ผมว่าตรงนี้ ถ้าเรายอมรับว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งไม่ใช่แต่ประชาชนที่เป็นคนหนุ่มคนสาวที่เราเคยมองว่าพวกนี้หัวรุนแรง พวกนี้ทำอะไรที่ไม่เคารพผู้ใหญ่ แต่เขามีหลักการและมีเหตุผลไง แล้วเขาสามารถดึงกลุ่มอนุรักษนิยมส่วนหนึ่ง ต้องยอมรับอย่างนั้น ที่ไม่ใช่อนุรักษนิยมสุดโต่งให้มาร่วม คือหมายความว่าถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ลูกดึงพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย แล้วตรงนี้ไม่เว้นแม้แต่ในเมือง อย่าง กทม. เราเห็นแล้วว่ามันเป็นแลนด์สไลด์ หรือในอีสานผมก็ว่าเป็นอย่างนั้น ตรงนี้ขอข้ามไปอีกนิดหนึ่งว่า สังคมก็รู้เท่าทันในเรื่องประเด็นของพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ว่าจริงๆ แล้ว จุดยืนในเรื่องของระบอบประชาธิปไตยนั้นก็เป็นสิ่งที่เขารู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง จากผลของการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เราเคยดูถูกประชาชนว่าเห็นกับลัทธิของประชานิยม หรือในเรื่องของการที่จะต้องซื้อเสียง แต่ไม่ใช่เสียงขนาดนี้กระจายทั้งในเมืองและในชนบท มันทำให้เห็นแล้วว่ามันไม่มีพรมแดนของเมืองและชนบทแล้ว เท่ากับทำลายทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตยของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ไม่ใช่คนเมืองมาสร้างรัฐบาลแล้ว แต่คนชนบทเองก็ลุกขึ้นมาสร้างด้วย  เราจึงพบความแผ่ขยายของการยอมรับพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ขยายแต่เรื่องของปาตี้ลิสต์ แต่มันขยายไปสู่เรื่องในระดับเขตด้วยซ้ำไป ยิ่งในต่างจังหวัด ใน กทม. ในเชียงใหม่ ยิ่งชลบุรี สามารถเอาชนะครอบครัวใหญ่ได้

นิวโหวตเตอร์เมื่อปี 2562 มีประมาณ 7 ล้านคน พรรคอนาคตใหม่ได้เสียงประมาณ 6.3 ล้าน ปีนี้ก็ได้นิวโหวตเตอร์อีกประมาณ 4 ล้านคน ถ้าบวกเลขกันแบบเพียวๆ  ก็อยู่ประมาณ 11 ล้านคน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นฐานเสียงให้พรรคก้าวไกล ยิ่งถ้ามองว่าพรรคก้าวไกลได้ 14.2 ล้านเสียง กับพรรคเพื่อไทยอีก 10.8 ล้านเสียง นับเฉพาะคะแนนเสียงที่เป็นพวกบัญชีรายชื่อเราจะพบว่ามีถึง 25 ล้านคนเป็นอย่างน้อยสำหรับฐานเสียงฝั่งประชาธิปไตย แสดงว่ามันข้าม gen ไปไกลมาก

แสดงว่าการทำงานหนักในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมได้ตื่นตัว หรือถ้าพูดในศัพท์ของพวกเราคือตาสว่างมากขึ้น ตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่อาจต้องชมเชยคุณประยุทธ์ ที่รักษาความเป็นอำนาจนิยมไว้ได้ ซึ่งระบบอำนาจนิยมเราพบว่ามันคือการทำลายประเทศ ทำลายประชาธิปไตย ทำลายสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่จริงๆ ยิ่งทำให้เห็นชัดว่ามันไม่มีความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เราจึงพบเรื่องวิกฤตซ้อนวิกฤตหลังสถานการณ์โควิด ตรงนี้มันไม่ต้องไปอธิบายอะไรมากเลย คนชั้นกลางคนอายุเบบี้บูมเมอร์อย่างผม หรือเจน X ซึ่งขณะนี้เบบี้บูมเมอร์ เจน X เนี่ย มันกินความเกือบเป็น Population ที่มากที่สุดแล้ว มันตาสว่างขึ้นทันทีว่าเอ๊ะ เอ็งมาทำงานแล้วเอ็งไม่มีประสิทธิภาพ แล้วยังจะทนให้ทำงานต่อไปได้อย่างไร คนมันไม่ได้โง่ มันก็เรียนรู้จากของจริง แต่ว่ามันก็คือทุนที่เราต้องจ่าย ซึ่งจริงๆ มันไม่ควร ถ้ายอมรับในเรื่องการไม่รัฐประหารและใช้กลไกประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น เราก็ไม่ต้องมาลำบาก และทำให้ประชาชนต้องเสียหาย นี่เท่ากับว่าบ้านเมืองเสียหายนะ ไม่ใช่แค่คุณประยุทธ์ที่เอาชื่อเสียงมาทำลาย แต่ว่าบ้านเมืองสังคมไทยมันเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ดังนั้นผมอยากให้เข้าใจและสรุปบทเรียน เราจะข้ามความเป็น ส.ว. 250 คน เราต้องทำให้สังคมได้รับรู้ตรงนี้ว่าเราจ่ายบทเรียนราคาแพงสูงมาก ในช่วงเวลาเกือบ 2 ทศวรรษตั้งแต่ปี 2549

ก่อนเลือกตั้งทุกคนก็เห็นว่าจะเจอด่านสำคัญ คือ ส.ว. เลยอยากชวนคุณหมอในฐานะ ส.ว.รุ่นแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ลองย้อนกลับไปประมาณช่วง ปี 2543 จนถึงตอนนี้เกิน 20 ปีแล้ว คุณหมอเล่าให้ฟังหน่อยว่าวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. เกิดขึ้นได้อย่างไร และตอนนั้นคิดอะไรอยู่

ตอนนั้นผมเป็นหมอโรคไต อยู่ที่ รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี ขณะนั้นมีปรากฏการณ์ใหม่ที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับสังคมไทย เราพูดถึงกันถึงเรื่องต้องปฏิรูปการเมือง แล้วการปฏิรูปการเมืองนั้น เราก็เลยทำให้มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้น แล้วผมเองก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้กำเนิดขึ้น ผมเป็น สสร. อยู่ประจำ จ.อุบลราชธานี แล้วก็เข้าไปพบว่ากระบวนการทำงานที่เราเน้นการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็น ได้พบปัญหาของสังคมไทย ซึ่งก็เป็นปัญหาของทั้งระบบโครงสร้าง ปัญหาของชุมชนท้องถิ่นมากมาย

คือนอกจากเป็นหมอแล้ว ผมเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านมาตลอดเหมือนกัน ในช่วง 20 กว่าปีก่อนหน้า เพราะฉะนั้นพอเราสรุปตรงนั้นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นความหวังใหม่ ในการที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยโดยระบอบประชาธิปไตย แล้ว ส.ว. เป็นองค์กรใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้น 

จริงๆ แล้ว ส.ว.มาจากการเลือกตั้งบัญญัติเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2489  โดยท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ทำตามสัญญาว่า ตอนแรกพวกเราคงทราบ 2475-2476 นั้น ก็ใช้เป็นลักษณะของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา หรือการกำหนดขึ้น เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษาของ ส.ส. เพราะเราคิดว่าเป็นระยะเริ่มต้น แต่ 2489 นั้นอาจารย์ปรีดีก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผมคิดว่านั่นเป็นครั้งแรกที่บัญญัติว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ใช้ เพราะมันเกิดรัฐประหารปี 2490

ดังนั้นจึงกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ก็จริง แต่เป็นครั้งแรกที่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ผมก็คิดว่า มันเข้าทางแล้ว เข้าทางในแง่ที่เราสามารถเสนอตัว และเป็นการเลือกโดยประชาชน จ.อุบลราชธานี ด้วย ผมทำงานที่อุบลฯ ตั้งแต่ปี 2520 ถึงตอนนั้นปี 2543 ก็กว่า 20 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะสามารถทำงานอะไรได้มากกว่าการเป็นหมอโรคไตก็ตำแหน่ง ส.ว.นี่แหล่ะ ในการจะเข้าไปอย่างถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของคนอุบลฯ และผมก็สามารถที่จะฝ่าด่านเรื่องการเลือกตั้งมาได้ ในขณะนั้นสรุปก็คือมองว่าเป็นสัญญาณของการเมืองใหม่ เหมือนกับตอนนี้มองว่าเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเมืองใหม่ที่ทนกับไอ้ 20 ปีของการรัฐประหารไม่ได้แล้ว ตอนนั้นก็การเมืองใหม่เหมือนกัน ผมก็มองว่าถ้าเป็น ส.ว.แล้วสามารถทำการเมืองใหม่ในแง่ของการทำหน้าที่ในรัฐสภา ซึ่ง ส.ว.ขณะนั้นมีหน้าที่อยู่ 3 อย่าง ที่ผมคิดว่าเหมาะสมมากในฐานะมาจากประชาชน

ประการแรก คือทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ให้อำนาจต่อฝ่ายบริหารมาก เพราะเราต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง หลังจากที่เราสรุปบทเรียนว่ารัฐบาลหลายพรรคมันจะแย่งชิงตำแหน่งและแย่งชิงอำนาจกัน ทำให้ไม่มีความมั่นคง รัฐบาลไม่มีอำนาจในการต่อรอง และจะล้มลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วมาเปลี่ยนใหม่ให้รัฐบาลนี้มีความมั่นคง แต่มั่นคงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการตรวจสอบ ดังนั้นจุดเด่นของปี 2540 คือต้องมีองค์กรตรวจสอบและ ส.ว.เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างแท้จริง และผมก็ได้ทำงานตรงนั้นตามวาระ 6 ปีในการเป็น ส.ว.

ประการที่สอง กลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งมันถูกต้องแล้ว กฎหมายต้องมาจาก ส.ส.แต่เราทำหน้าที่ในการกลั่นกรอง การกลั่นกรองกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นมือรอง แต่กลั่นกรองในฐานะเราเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เราทำงานกับภาคประชาชน มาจากประชาชน เราก็กลั่นกรองดูว่ากฎหมายแต่ละฉบับนั้น มันถูกต้องไหม ประชาชนได้ประโยชน์ไหม และที่สำคัญมีกระบวนการการมีส่วนร่วมไหม สมัย ส.ว. รุ่นผมนั้น ใน ส.ว. จะมีกรรมาธิการการมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรกในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะเราพบว่าสังคมขณะนั้น กระบวนการวิธีการสำคัญไม่น้อยกว่าเป้าหมายที่เราต้องการปฏิรูปการเมือง ดังนั้นเราจึงตั้งกรรมาธิการการมีส่วนร่วม และผมก็เป็นเลขาฯ ของคณะกรรมาธิการ การกลั่นกรองกฎหมายจึงมีความคืบหน้า เราสามารถทำให้ประเทศเวียดนามๆ มาศึกษาการทำงานเรื่องการมีส่วนร่วมของเราด้วยซ้ำไป

ประการที่สาม คือ ส.ว.ต้องมีหน้าที่ในการตัดสินเรื่ององค์กรอิสระ จำได้ใช่หรือไม่ รัฐธรรมนูญ 2540 เราตั้งองค์กรอิสระเยอะ มาจากการสรรหา ครั้งแรกผมว่าใช้ได้หมด แต่พอครั้งที่ 2 มันกลายร่างแล้ว มันเปลี่ยนร่าง จนกระทั่งขณะนี้ยุบไปดีกว่าเพราะมันกลายเป็นระบบราชการ ไม่ได้เกิดมีผลงานในการทำงาน อันนี้เป็นการถูกเบี่ยงเบนไป ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมาสรุปบทเรียน ว่าหลักการที่บอกว่าให้รัฐบาลเข้มแข็ง มีการตรวจสอบ และมีองค์กรอิสระนั้น ปัจจุบันในปี 2566 มันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มันใช้ไม่ได้เลย เป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่เราพูดมาทั้งหมด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้กลุ่มอำนาจนิยมนั้นอยู่ยาว ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมือง อันนี้ก็เป็นข้อสรุปง่ายๆ ว่าทำไมผมถึงอยากไปเป็น ส.ว. แล้วเราก็สามารถทำอะไรได้สะใจตามที่เราได้ตั้งความหวังไว้

มีอะไรอีกบ้างที่สังคมน่าจะรู้ หรืออาจจะหลงลืมไปว่า ส.ว. รุ่นนั้นที่มาจากการเลือกตั้งสร้างประโยชน์อะไรไว้

บทบาทที่ผมคิดว่าเด่นในขณะนั้นคือบทบาทในการตรวจสอบ คุณต้องรู้ว่าสังคมไทยมีอคติในเรื่องการตรวจสอบ ตอนผมเป็นกรรมการสิทธิฯ ยิ่งแล้วใหญ่เลย สังคมไทยมองการตรวจสอบคือมองมาจับผิด ซึ่งในสังคมตะวันตกหรืออารยะของประชาธิปไตย การตรวจสอบเป็นเรื่องดี มีคนมาเป็นกระจกสะท้อนเรา แล้วบอกให้เรารู้ แต่ในสังคมไทยมองว่าเอ็งมาคอยจับผิดข้า ตรงนี้ก็เป็นเหมือนกัน ในช่วงนั้นรัฐบาล จำได้ใช่ไหมครับ เรามีรัฐบาลคุณทักษิณ แล้วสามารถทำให้เกิดมีแลนด์สไลด์ ปี 2548 เมื่อสมัครเข้ารับการเลือกตั้งครั้งที่ 2 คือครั้งแรกอาจจะไม่แลนด์สไลด์มาก แต่เขามาเพราะมีนโยบายโดดเด่น พอครั้งที่สองก็ค่อนข้างเยอะเลย ประมาณ 300 กว่าเสียงด้วยซ้ำไป

ต้องยอมรับว่าเมื่อรัฐบาลมีความเข้มแข็ง คุณทักษิณ มีความฉลาด แต่มันก็ต้องมีจุดที่เราต้องเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นบทบาทที่ผมคิดว่าเด่นมากในการตรวจสอบนั้น จึงเป็นบทบาทที่เราเข้าไปดูเรื่องของนโยบายต่างๆ 30 บาท ไม่มีปัญหา เป็นโครงการหรือนโยบายที่ทำประโยชน์ต่อประชาชน แล้วมีความคืบหน้าในแง่ของการที่เกิดประโยชน์ที่ชัดเจน ในแง่ของเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน  กองทุนหมู่บ้านก็เป็นเรื่องดีในการกระจายทุนออกไป

แต่สิ่งที่มีการกระทำที่เราตรวจสอบแล้วเป็นชิ้นเป็นอันก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สงครามยาเสพติด หรือกรณีที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้น โดยที่กระบวนการของรัฐบาลเอง หรือนโยบายในการจัดการนั้นไม่ถูกต้อง การใช้กำลังทหารไปที่สามจังหวัดภาคใต้ ตอนนี้ยังไม่คลี่คลายเลย แสดงว่าการจัดการความเรียบร้อยในจังหวัดภาคใต้นั้นมันเป็นประเด็นทางการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง มันเริ่มต้นจากการปล้นปืนและเผาโรงเรียน แต่มันขยายมาเป็นสงครามการสู้รบในขณะนี้ได้อย่างไร แสดงว่าเราจัดการไม่ถูกต้อง แม้กระทั่งขณะนี้ก็ตาม เราเสียงบประมาณ เสียของคนไปเป็นจำนวนมาก แล้วผู้สูญเสียก็คือประชาชนใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ 

หรือสงครามยาเสพติด ก็พบว่าเกิดการสูญเสียของประชาชนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ไป เหล่านี้คือสิ่งที่เราพบว่า เราเข้าไปตรวจสอบ กระทั่งถูกตราหน้าว่าเป็น ส.ว.เอ็นจีโอ เป็น ส.ว.ที่เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ แล้วเราก็ประกาศตัวว่าเราเข้าไปตามบทบาทของ ส.ว. ตามกรรมาธิการการมีส่วนร่วม เราคอยดูว่าสิ่งที่คุณทำอะไรต่างๆ มันถูกต้องหรือไม่ 

ดังนั้นนี่คือการตรวจสอบที่นำมาสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบาย การตรวจสอบไม่ใช่ตรวจสอบแล้วจับผิด แต่มีข้อเสนอในเชิงนโยบาย ซึ่งสังคมไทยต้องการเรียนรู้ ก็ผมบอกแล้วว่าพื้นฐานของสังคมไทยไม่ชอบการจับผิด ยิ่งสังคมไทยมีลักษณะของชนชั้น อุปถัมภ์ กูต้องดีกว่ามึง กูมีอำนาจมาก กูต้องมีสิทธิ์ในการตัดสินใจ ซึ่งมันผิด ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งต้องรับฟังคนอื่นเยอะ และผู้นำรัฐบาลหรือนายกฯ ไม่ใช่มองว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่ต้องมองว่าตัวเองเป็นผู้ประสาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยจะต้องค่อยๆ เรียนรู้

ส่วนอีกอันสำคัญมากก็คือในเรื่องการสรรหาองค์กรอิสระ เราพบว่าการสรรหาองค์กรอิสระนั้น มีโอกาสที่จะนำไปสู่การทำให้องค์กรอิสระเป็นประโยชน์กับตัวเองตั้งแต่ต้น  ตอนที่เป็น กสทช.นั้น มีส่วนแยกเป็นคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์อันหนึ่ง และดาวเทียมแยกอีกอันหนึ่ง คือเป็น กสทช.กับ กสช. แต่เราพบว่ากระบวนการสรรหาในขณะนั้นมีการส่งคนของตัวเองเข้าไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ ไม่ว่าคนในเครื่องแบบ หรือคนที่เป็นในเรื่องของฝ่ายนายทุนก็ตาม เราก็ทำให้การสรรหานั้น ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือสามารถไปขัดขวางในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรอิสระให้เป็นประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือกลุ่มผู้มีอำนาจได้ในขณะนั้น

ดังนั้นเราพบว่าจริงๆ บทบาทในการตรวจสอบ หรือการสรรหาเราต้องมองด้วยสายตาที่เขาว่าเป็นอิสระ แต่อิสระไม่สามารถเป็นกลางและไม่เข้าข้างใคร คือเข้าข้างประชาชน เข้าข้างความเป็นธรรม เข้าข้างความถูกต้อง แล้วสามารถที่จะเปิดเผยโปร่งใสให้สังคมได้รับรู้ได้ 

ทั้ง 3 บทบาท ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลก็ดี ในการตรวจสอบในเรื่องของการสรรหาองค์กรอิสระ ในการที่จะทำให้เกิดการกลั่นกรองกฎหมายที่เป็นประโยชน์ มันจึงเป็นบทบาทที่ผมคิดว่ามีความสำคัญมาก ในกระแสการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ที่เราต้องการก้าวข้ามการเมืองที่ค่อนข้างที่จะมีปัญหา เราสรุปตอนนั้นว่ามีปัญหา เราจึงต้องการบทบาทของ ส.ว.ที่เข้าไปประกอบในการที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าปฏิรูปแล้วมันจะสำเร็จภายใน 1-2 ปีเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเรียกว่าการปฏิรูป การปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบเดิม แต่เราค่อยๆ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นที่น่าเสียดายที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในปี 2549 ซึ่งปี 2549  ผมกำลังหมดวาระ ส.ว.พอดีเลย แล้วก็ปี 2557 ตามมาด้วยเหตุผลว่ายังไม่สุด เสียของ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้องและไม่เกิดประโยชน์อะไรกับสังคมไทย แต่เป็นการหาเหตุความชอบธรรมในการใช้อำนาจและปรับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่ทางเดินประชาธิปไตยเข้าสู่ในระบบเผด็จการอำนาจนิยมมากกว่า

คุณหมอเป็น ส.ว.ในยุคที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการยอมรับสูงมาก บทบาทที่ ส.ว.ต้องทำงานคู่กับ ส.ส. ในรัฐบาลที่มี power สูงขนาดนั้นเป็นอย่างไร

ตามบทบาทเราก็ยังพูดคุย คือใน ส.ว.จะมีวิป ส.ส.ก็มีวิป การทำงานทั้งใน 2 สภา มันต้องมีการเชื่อมโยง วิปไม่ได้หมายความว่าเป็นคนคุมแต่ละวิปให้มันทำงานแตกต่างกันหรือทะเลาะกัน แต่วิปคือการทำงานเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการประสานงานบูรณาการกัน เพราะการทำงานระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. เราก็ทำงานกับ กมธ. ที่เกี่ยวข้อง จริงๆ ถ้ารัฐสภาทำหน้าที่ได้ดี…(เว้นช่วงและคิด) ในรัฐสภามันมีทุกกรรมาธิการที่จะดูแลติดตามการทำงานของรัฐบาล และ ส.ว.ก็มีกรรมาธิการที่ซ้ำกัน แต่เราทำ 3 ข้อ อย่างที่ผมบอก คือตรวจสอบ ติดตาม มีข้อเสนอ ดังนั้นเราต้องเชื่อมโยงกันอยู่แล้วในการทำงาน ระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน หรืออยู่คนละด้าน ไม่ใช่ ซึ่งตอนนี้คือบรรยากาศที่ผมคิดว่ามันผิด มันผิดเพราะว่าถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ส.ว.มันเป็นของกู ไม่ได้เป็นของประชาชน ตรงนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันต้องเกิดจิตสำนึกแล้ว

ตอนนั้นเรามองว่าเราคือ ส.ส. เราเป็น ส.ว.ที่มาจากประชาชนด้วยกัน แล้วก็อยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องการมองประโยชน์ร่วมกัน ที่มาของ ส.ว. จึงเป็นส่วนที่ช่วยทำให้มองแนวคิดที่ไม่ต้องเถียงกันมาก ดังนั้นการพูดคุยประสานงานบูรณาการกันก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ตลอดกับ ส.ส. ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตามเราก็ไปคุยด้วยประสานด้วย เราลงพื้นที่เราก็คุยกับส่วนราชการ  พอเรากลับมา เราก็มาแถลงในที่ประชุมกรรมาธิการ แล้วก็ทำเป็นข้อสรุปในวุฒิสภา แล้วก็เสนอให้ประธานวุฒิสภา

เพียงแต่ว่าในขณะนั้น ส.ส. ก็มีพัฒนาการ เนื่องจากว่าคุณทักษิณเป็นคนฉลาด เป็นคนเก่ง เป็นคนที่สามารถมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนได้ มันก็เกิดเป็นลักษณะของเสียงข้างมากในสภาเกิดขึ้น ตรงนี้มันเลยกลายเป็นปัญหาว่า ถ้ามีจุดยืนที่ไม่เข้าใจว่าการเป็นเสียงข้างมาก ที่มันเกินมากไป 300 กว่าเสียง… เดี๋ยวผมจะอธิบาย

ปรากฏการณ์ตอนนี้ที่มีการเรียกร้องว่าต้องได้ ส.ส. พรรคร่วมให้ได้ 375 เสียง มันก็มีจุดอ่อนเหมือนกันว่า ถ้ามีเสียงข้างมาก อำนาจมากก็ทำให้มีโอกาสที่จะคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจมาก ตรงนี้จึงเป็นจุดอ่อนว่า พอมีอำนาจมากในขณะนั้น (ตอนคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี) จึงนำมาซึ่งการที่ไม่ฟังใครเลย แล้วมองว่าตัวเองถูกต้อง มันก็เลยมาสิ้นสุดในการทำให้เกิดมีเสียงมวลชนและการลงท้องถนนเกิดขึ้น ตรงนี้ผมคิดว่ามันทำให้ฝ่ายอำนาจฉวยโอกาสในการที่จะใช้การรัฐประหาร โดยใช้เหตุผลว่าทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย แก้ปัญหาความขัดแย้ง แทนที่จะมองว่าความขัดแย้งตรงนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมากดหรือมาปราบ แต่คุณต้องมาจัดการกับความขัดแย้งตรงนั้น ที่มีรัฐบาลเสียงข้างมาก 

ขณะเดียวกันนั้นมี ส.ว. ในการตรวจสอบ มันก็กลายเป็นเรื่องของการดึงเอามวลชนเข้ามา ซึ่งตรงนี้เป็นวิธีการจัดการที่ผิดพลาดทางการเมืองของรัฐบาลและในทางการเมืองของสังคมไทย ที่ไม่ได้มองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ใครจะเก่งแค่ไหนก็ตาม ดีแค่ไหนก็ตาม มันก็มีจุดอ่อน ดังนั้นผมก็มองคุณทักษิณในขณะนั้นว่าเขาเก่งก็จริง ฉลาดจริง มีอำนาจมากจริง แต่อย่างไรก็ต้องมีจุดอ่อน ถ้าเราเอาจุดอ่อนตรงนั้น เปิดเผย โปร่งใส และพูดคุยกัน จุดอ่อนตรงนั้นมันกลายเป็นมุมกลับในแง่ของการที่ถูกฝ่ายรัฐประหารหรือฝ่ายทหารเข้ามาฉวยโอกาสใช้เหตุผลในการรัฐประหารเกิดขึ้น ในการสร้างมวลชนที่เป็นตัวกดดัน ตรงนี้คือสิ่งที่ถ้าเราสรุปบทเรียนความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา

ในเชิงหลักการเราพอเข้าใจว่า ส.ส. กับ ส.ว.ก็ทำงานเป็นพาร์ทเนอร์กัน มี Check and Balance ในการบริหารประเทศ แต่อยากถามอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปจริงๆ ว่า บทบาทของรัฐบาลคุณทักษิณที่แข็งแกร่งขนาดนั้น เข้ามามีอิทธิพลถึงการครอบ ส.ว. หรือไม่

คำถามของคุณถูกแล้ว คือการมาครอบงำ มาครอบงำและมาแทรกแซง ตอนนั้นเลย และพยายามจะไปครอบงำและแทรกแซงองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย มันเริ่มมีตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ว่าเราเองก็ยังเป็นก้างขวางคออยู่ ผมถึงบอกว่า ส.ว. กลุ่มผมประมาณ 20-30 คนนั้น เราถูกจัดเป็น ส.ว. เสียงข้างน้อย เราแพ้ในสภา แต่เราชนะในทางสังคมที่ทำให้สังคมยอมรับ ซึ่งตรงนี้ถ้าเข้าใจก็จะมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เพราะพวกนี้เขายึดโยงกับหลักการว่ามาจากประชาชน ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าอำนาจของประชาชนที่มาถือปืน ถือดาบ ไม่ใช่ แต่อำนาจประชาชนที่มอบให้ ส.ว. มาเป็นฝ่ายตรวจสอบ แล้วเอาการตรวจสอบนั้นมาพูดคุยกันในสภา ถ้าเข้าใจในหลักการตรงนี้มันจะไม่มอง ส.ว.เป็นเสียงข้างน้อย หรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกู แล้วกูก็มีพวกกูแล้วมีพวกมึง ซึ่งเรื่องนี้มันขยายมากขึ้นยิ่งแก้ลำบาก แล้วเป็นเหตุผลของการแก้ปัญหาความขัดแย้งความไม่ลงรอยกันด้วยการรัฐประหาร ซึ่งแก้ไม่ได้ เพราะคุณกำลังใช้อำนาจความรุนแรงมาแก้ปัญหา มันต้องแก้ด้วยการพูดคุยกัน แต่มันไม่ได้พูดคุยกัน 

ดังนั้นการที่มีเผด็จการในรัฐสภา หรือการที่มีเสียงข้างมาก มันเป็นจุดอ่อนที่เราต้องสรุปบทเรียน มีการเรียนรู้ตรงนี้ ว่ามันต้องให้เป็นไปตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย และต้องมีวิธีจัดการแก้ไขความขัดแย้ง ทุกวันนี้ที่มันไม่เหมือนกันคือต้องยอมรับในการที่จะทำให้เกิดการพูดคุยกัน และทำความเข้าใจกัน เพราะลองมาพูดคุยกันแล้วเราจะรู้จริงๆ ว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องอะไรที่มันใหญ่โตหรือแปลกประหลาดมาก ถ้าเรามีจุดยืนตรงกัน เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน แทนที่จะมาใส่สีตีไข่ และเหมาว่าเอ็งเป็นฝ่ายตรงข้าม ถ้าเอ็งไม่คิดเหมือนกูเอ็งต้องเป็นศัตรู ตรงนี้คือจุดที่ผิดพลาด 

เราเรียกว่าทำให้เกิดกับดักของคู่ตรงข้าม ซึ่งจะเห็นว่าการปราศรัยในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงคราวนี้ มีการปล่อยคลิปของพรรคการเมือง เขาพยายามที่จะทำแบบนั้นอีก ปลุกกระแสอีก หรือพยายามเปิดเพลงในสมัยหนึ่ง ก็พยายามปลุกกระแสอย่างนั้นอีก ซึ่งทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าสังคมไทยก็สะท้อนกลับผ่านผลการเลือกตั้ง เขาบอกว่าไอ้นี่ของเก่าแล้ว มันใช้ไม่ได้แล้ว ถึงเทคะแนนให้กับกลุ่มประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นที่ กทม. หรือเชียงใหม่ เชียงใหม่ยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งเห็นว่าเขาเอาชนะบ้านใหญ่ในเชียงใหม่ได้ นั่นแสดงว่าประชาชนเขาฉลาด เขาเข้าใจ ว่าเขาเลือกตรงนั้นเพราะว่ามีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่จะต้องมาแลก เขาเลือกฝ่ายอุดมการณ์เพราะมองว่าตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดที่สำคัญ เพราะขณะนี้สังคมไทยมันเป็นปัญหาเชิงระบบโครงสร้าง มันไม่ได้เป็นปัญหาในรายประเด็นแค่อย่างเดียว 

สรุปว่าขณะนี้สังคมไทยมันมีปัญหาเยอะไปหมด ทั้งระบบโครงสร้าง ทั้งในรายละเอียด ทั้งในเรื่องของคนยากคนจน ดังนั้นมันก็ต้องการการผสมผสานกันของพรรคการเมือง อันนี้ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่ว่าการเมืองของพรรคต่างๆ ในสังคมไทย อาจจะเป็นพรรคเดียวที่มันใหญ่แล้วมันมีปัญหา มันแสดงว่าต้องมีระบบหลายพรรคมันจะได้ช่วยกันมอง แล้วแต่ละพรรคนั้นเขามีความสามารถที่แตกต่างกัน มีจุดนโยบายที่แตกต่างกัน แต่ว่าเอ็งอย่ามาทะเลาะกันนะ อย่ามาแก่งแย่งกัน ซึ่งตรงนี้กระบวนการของ ส.ว. จึงมีความสำคัญที่เราบอกว่า ส.ว. จะเข้ามาช่วยตรวจสอบ และตอบประเด็นตรงนี้ให้เป็นเรื่องของการมองความแตกต่าง แล้วมาดูว่าเราควรจะมีฉันทามติไปสู่ทิศทางใด โดยหลักการของยอมรับเสียงข้างมาก เคารพเสียงข้างน้อย แต่อย่ามองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูคู่ตรงข้าม ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็คงบรรลัยแน่ๆ

ที่มาของ ส.ว. เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวเลือกตั้ง เดี๋ยวแต่งตั้ง มีหลายสูตรในการได้มาของ ส.ว. ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น

สังคมไทยไม่สรุปบทเรียน ว่าเกิดปัญหาขึ้น อย่าง ส.ว. สมัยผม พอหลังสมัยผมก็จะบอกสภาผัวเมีย สภาของลูกท่านหลานเธอ ที่จะเข้ามาแทน ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้ต้องวิเคราะห์ให้ถูก สังคมไทยของการปฏิรูปเราไม่สามารถเปลี่ยนกลับขาวเป็นดำได้ภายในปีสองปี หรือ 5 ปี 10 ปี มันจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ดังนั้นผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ บอกว่า ในเชิงการเมืองของภาคประชาชนเราต้องการการปฏิรูป แต่สังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรม ที่ไม่เข้าใจในเรื่องของความแตกต่างระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นประชาธิปไตยในกระแสโลกในขณะนี้ ว่าตัวเองต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นอาจารย์เกษียรบอกว่า วัฒนธรรมต้องปฏิวัติเพราะปฏิรูปมันไม่ทัน แต่การปฏิวัติตรงนี้ไม่ได้หมายความว่ายกพวกตีกัน การปฏิวัติหมายความว่าต้องเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ต้องมาคุยกันว่าแต่ละประเด็น การมองคนดี มองคนที่จะมาเป็นอาสาในการทำงานมันต้องมองต่างกัน อย่าเอาคนดีมาแก้ไขระบบ เพราะคนดีมันแก้ไขระบบไม่ได้ มันแก้ได้เฉพาะตัวเขาเอง คุณยกเขามาแก้ระบบแล้วเขาสู้ระบบไม่ได้ เขาก็จะถูกระบบนั้นมอมเมาไป

ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า มันเป็นการสรุปบทเรียนที่เราจะต้องทำความเข้าใจว่า พอเราเจอปัญหาเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องมาคุยกัน แต่มันเสียดาย พอเราคิดว่ามันใช้ไม่ได้ เราก็ยกเลิกมาแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ไหวแล้ว เพราะมันอยู่ยาวไม่ได้ ก็มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมันเป็นรัฐธรรมนูญที่ผมบอกว่ามันแย่และมันเลวที่สุด เพราะมันทำให้เกิดลักษณะของการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น และทำลายทั้งองค์กรอิสระ ทำลายทั้งระบบตุลาการ ทำให้เกิดความวุ่นวาย 

ผมคิดว่าสังคมไทยได้เรียนรู้ตรงนี้เยอะ ซึ่งฝ่ายอำนาจนิยม ฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งต้องเข้าใจ ผมไม่ได้บอกว่าให้ต้องยอมแพ้ แต่ต้องเข้าใจและอย่าดันทุรัง ถ้ายังดันทุรังอีกมันไม่เกิดประโยชน์ เพราะสิ่งที่เรากลัวว่าถ้าคุณยังดันทุรังและพยายามสร้างกติกาในระบบอำนาจ ให้มีอำนาจต่อ สังคมไทยจะถึงจุดที่ว่าเกิดความรุนแรง และจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งตรงนี้เราไม่อยากให้เกิด เราอยากพยายามให้มีการแก้ไขเป็นระบบเป็นขั้นตอนไป ต้องยอมรับ ดังนั้นสรุปว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้น ดีที่สุดต้องยอมรับในการที่จะมาพูดคุยกัน ต้องทำให้เกิดเวทีในการที่จะปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 112 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทัพ เสร็จแล้วผมคิดว่าเราอาจจะมองปัญหาที่มันคล้ายกันก็ได้ สามารถเชื่อมต่อกันได้ 

เคยฟังเวทีดีเบตไหมครับ เวทีดีเบตครั้งนี้มันคุยกันได้แม้กระทั่ง 112 แม้กระทั่งเรื่องสถาบันกษัตริย์ มันคุยกันได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน แล้วบางทีเราเห็นว่า คุยกันแล้วนี่จริงๆ มองอาจไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่ามีการใส่สีตีไข่เยอะในกลุ่มที่ต้องการทำให้เกิดความปั่นป่วน เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่สังคมไทยมีจุดอ่อน คือยังไม่พยายามจะพูดคุยกัน แล้วมองคนที่มีความคิดเห็นต่างว่าไอ้พวกนี้ต้องการก่อความวุ่นวาย ไอ้พวกนี้ถูกเสี้ยม ผมคิดว่าต้องลบวิธีคิดแบบนี้ออกไปให้หมด ไม่เช่นนั้นเราจะก้าวข้ามไปสู่ประชาธิปไตยในสังคมใหม่ไม่ได้ เพราะสังคมใหม่ มันเป็นสังคมที่มีความแตกต่าง ผมยกตัวอย่างลูกเรามันก็ไม่เหมือนเรา หลานเรายิ่งไม่เหมือนลูก เพราะฉะนั้นถ้าคุณบอกว่าจะเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานเหมือนเราถูกเลี้ยงมา มันเป็นไปไม่ได้ บ้านแตกแน่นอน ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องสรุปบทเรียน

การได้มาของ ส.ว. ที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คุณหมอบอกว่ามันเป็นฉบับที่เลวร้ายมากๆ ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่พูดว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” ตอนได้ยินประโยคนี้คุณหมอสะดุ้งไหม

ก็สะดุ้ง ผมถึงบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มันแย่ที่สุด แล้วก็ไม่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นการทำลายการปฏิรูปการเมือง เพราะฉะนั้นหมายความว่าคุณต้องการมีอำนาจอยู่ยาว จริงๆ ไม่ใช่คนที่ไม่มีชื่อเสียงพูดนะ คนเป็นอดีตประธาน ส.ส.ร.ที่ถูกปลดออกไป และคุณมีชัยมาแทน เป็นคนพูดเองว่าเขาต้องการอยู่ยาว นั่นหมายความว่าอะไร ความคิดในการอยู่ต่อหรือมีอำนาจยาว แล้วสร้างยุทธศาสตร์ 20 ปี มันแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ เห็นไหมหลังโควิดยุทธศาสตร์นี้ทิ้งไปได้เลย ก่อนโควิดก็ทิ้งไปได้แล้ว เพราะโควิดมันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจว่าโลกมันไม่ได้อยู่กับที่เฉยๆ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ประเด็นที่เราจะทำให้เกิดการเมืองการปกครองที่สามารถทำให้ประเทศชาติมันอยู่รอดและมีการพัฒนา ตอนนี้เราคิดว่าเราอยู่หลังเวียดนาม สิงคโปร์ไม่ต้องคุย เราอยู่หลังไปแล้ว อยู่หลังมาเลเซียอะไรอย่างนี้เป็นต้น เพราะอะไร เพราะเราพัฒนาการในทางการเมืองช้ามาในช่วง 20 ปี แล้วเราทำลายคนดีคนเก่งไปหมด แล้วขณะนี้เราก็ทำลายคนหนุ่มคนสาวที่เป็นอนาคตด้วย ผมถึงอยากสรุปว่าแค่เรื่องเดียวว่า เรากำลังจะต้องพยายามก้าวข้ามวิธีการอย่าตกเป็นกับดักคู่ตรงข้าม ทำให้เกิดกระบวนการในการพูดคุยกัน

แล้วก็ทำให้กระบวนการเลือกตั้ง ส.ว. ถ้า ส.ว. 250 มาจากคนที่มีการเข้าไปอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็น 2 ป. หรือใครก็ตาม ตรงนี้มันทำให้เขาไม่อิสระแล้ว พอไม่อิสระ คราวนี้คุณจะบอกว่าให้ ส.ว. 250 คนมาโหวตให้พรรคก้าวไกลที่กำลังเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะแนวคิดคนละแบบ เพราะเขามาจากผู้มีอำนาจ เขามาจากพวกกู แต่ไม่ได้มาจากหลักการที่ถูกต้องก็คือมาจากประชาชน ถึงแม้จะพูดได้อย่างมากก็ไม่เกิน 10-20 เสียง ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่ผมคิดว่า ส.ว. เองก็ต้องทำความเข้าใจและสรุปอย่างที่ผมได้พูดมาทั้งหมด 

ถ้าเข้าใจแล้วตรงนี้ ส.ว. อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมการปฏิรูปการเมือง ละทิ้งในอคติต่างๆ ตรงนี้อาจจะเป็นไปได้ว่า ส.ว.จะมีความเข้าใจแล้วมาเปิดประวัติศาสตร์ใหม่ของสังคมไทย ที่มองอย่างมีความเข้าใจ อาจจะทำเอ็มโอยูเองก็ได้ ถ้าไม่เชื่อใจเขาอย่างที่ก้าวไกลพูดว่า ถ้ามาร่วมตรงนี้ทำให้เกิดมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ที่มันทำให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างที่เข้าใจกัน แล้วมันเห็นชัด แล้วเราทำให้เกิดการทำงานด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง มาคุยกันสิครับ แต่ไม่ใช่มาแบ่งว่าตกลงใครจะมาเป็นรัฐมนตรี ตกลงเราจะมีอำนาจต่อไหม อะไรอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นมันไม่ใช่อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน หรือสังคมไทยมันก็จะคุยกันไม่ได้ แล้วจะไปยึดว่าตัวเองมีความเหนือกว่า โดยอ้างอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ เรามาคุยกันด้วยหลักการเหตุผล ตรงนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในสังคมไทย และปัญหาในสังคมโลกที่มันกำลังก้าวไปมากขึ้นๆ ถ้าเราไม่ปรับตัว สังคมเราจะแย่

คุณหมอคิดอย่างไรกับคำที่บอกว่า ส.ว. คือสภาตรายาง

หนึ่งมันคือการที่ดูถูกเราแล้ว แต่ดูถูกแล้วคิดว่าถูกต้องตามที่เขาว่าไหม ถ้าถูกก็แสดงว่าเราไม่อยู่บนหลักการที่จะทำอะไรเพื่อประโยชน์ของประชาชนทำเพื่อในประโยชน์ในทางการเมือง เขาด่าเราว่าเป็นสภาตรายางก็ถูกแล้วล่ะ  ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ตอนสมัยผมก็ถูกด่าว่า ส.ว.ที่ถูกครอบงำและแทรกแซงแบบนี้ เพราะว่ามันครอบงำและแทรกแซงด้วยอำนาจและผลประโยชน์กันด้วยซ้ำไป การให้หุ้นในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เราก็รู้ข้อมูลในส่วนนี้อยู่ แต่เราก็ไม่ได้ด่าออกมามากๆ แต่มันก็เห็นชัดว่ามี ส.ว. จำนวนหนึ่งในขณะนั้นเป็น ส.ว.ตรายาง แต่ว่าขณะนี้มันชัดว่าคุณเป็น ส.ว. ที่มาจาก 2 ป. เพราะฉะนั้นเวลาคุณทำอะไร คุณอ้างอะไรมันไม่มีความชอบธรรมเด็ดขาด ไม่ว่าคุณจะไปอ้างอะไรก็แล้วแต่ เขาก็รู้ว่าจริงๆ แล้วคุณตามคำสั่ง

แต่ ส.ว. ชุดนี้ไม่เหมือนสภาตรายางเท่านั้น แต่เป็นสภาขวาหันด้วย สั่งซ้ายหันขวาหันได้เลย ถ้าเราจะวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว. ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 คุณหมอคิดว่าอะไรคือสิ่งที่น่าปวดหัวที่สุดของ ส.ว. ชุดนี้

จุดกำเนิดเริ่มต้นมันเหมือนการติดกระดุม จุดกำเนิดทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญชุดนี้ต้องการอยู่ยาว รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นหัวหน้า คสช. คนเดียว เพื่อจะรักษาอำนาจ แล้วมองด้วยหลักคิดว่าอำนาจตรงนี้จะรักษาบ้านเมืองให้สงบ แต่เขาไม่ยอมรับในเชิงกระบวนการวิชาการว่า วิธีการที่เขาสร้างขั้วให้เกิด ส.ว. 250 คน กลายเป็นจุดอ่อนที่แทบจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ และมันทำให้ระบอบอำนาจนิยมยิ่งสมบูรณ์ขึ้น เราถึงเรียกว่าเป็นระบอบของคุณประยุทธ์ แต่มันไม่ใช่คุณประยุทธ์คนเดียว เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มันทำให้เกิด ส.ว. องค์กรอิสระ หรือระบบตุลาการ ที่ไม่สร้างความเป็นธรรม แต่สร้างให้เห็นความไม่เสมอภาค จัดการในคดีต่างๆ แล้วคุณประยุทธ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นส่วนหนึ่ง ส.ว. ก็ยิ่งเป็นส่วนสำคัญในการที่จะมาค้ำยันอำนาจในระบอบประยุทธ์ให้เกิดขึ้น 

ดังนั้น ถ้าสรุปจริงๆ ต้องยอมรับว่าการที่ ส.ว.เข้ามาอยู่ในระบอบอำนาจประยุทธ์ ระบอบอำนาจนิยม ที่ทั่วโลกเขาก็รู้กันแล้ว มันไม่ใช่คำที่ผมคิดขึ้นเอง ไม่ใช่เลย แต่ทั่วโลกบอกไอ้นี่คือระบอบอำนาจนิยม เป็น Total Authoritarianism ซึ่งไม่ควรจะมีในสังคมไทย เขาประหลาดใจมากว่าสังคมไทยมีตรงนี้ได้อย่างไร มันควรจะหมดไปได้แล้ว ถ้าผลการเลือกตั้งไม่เตือนสติคุณ มันจะยิ่งแย่ไปเรื่อยๆ แล้วไปคิดว่าตัวเองคิดถูก มันไม่ได้แล้ว ต้องถอนอคติหรือความไม่เข้าใจของตัวเองออกมา ไม่เช่นนั้นแล้วผมคิดว่าประเทศชาติจะอยู่ไม่รอด

ธงทางการเมืองมีผลต่อทิศทางของ ส.ว. หรืออาจจะลามไปถึงทิศทางขององค์กรอิสระ หรือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไหม เช่น ธงออกมาแบบนี้ เดี๋ยวการตัดสินก็ออกมาประมาณนี้

เราก็กลัวว่าการเลือกตั้งมันยังไม่สิ้นสุด มันยังมีกระบวนการร้องอีก นักร้องมีเยอะ มีเรื่องคดี ไม่เว้นแม้แต่ กกต.ทำงานผิดพลาดในเรื่องกระบวนการต่างๆ ในเรื่องการเลือกตั้งก็ดี หรือการส่งบัตรคะแนนก็ดี ยังมีเรื่องคดีการกล่าวหาไปถึงเรื่องการยุบพรรค เหล่านี้คือสิ่งที่เราคาดการณ์แล้ว บอกให้รัฐบาลรู้ว่าเราคาดการณ์หมดแล้ว บอกให้ ส.ว. รู้ว่าขบวนการเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้น 

ดังนั้นเราก็คุยว่าครั้งนี้การเลือกตั้งมันไม่จบหรอก ต้องดูต่อว่าจะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ แล้วมันควรจะเกิดหรือไม่ แต่มันไม่ควรจะเกิด เพราะถ้าเกิดแล้วหมายความว่าคุณไม่ยอมรับในมติของประชาคมสังคมไทยที่เขาลงมตินี้ออกมา ตรงนี้คือสิ่งที่ผมบอกว่าถ้ายอมรับจริงๆ ไม่ใช่เอาแต่ปากพูด มันต้องเกิดกระบวนการในการที่เรามีโอกาสที่จะหันหน้ามา… 

ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลทำตรงนี้อย่างสง่าผ่าเผย ว่าจะต้องมีในเรื่องของการไปพูดคุย และพรรคเพื่อไทยก็ยอมรับในการที่จะให้ก้าวไกลนั้นเป็นผู้นำในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับเรามันไม่มีอะไร เป็นเรื่องของรูปการของการทำให้เปิดเผย โปร่งใสและมีข้อตกลงร่วมกัน (MOU) แทนที่จะบอกว่าคุณไปอยู่กระทรวงนั้น คุณไปอยู่ตรงนี้ มันเป็นการแย่งกระทรวงกันเพื่อความเป็นใหญ่ แต่ถ้าคุยกันเรื่องงานก่อน พรรคเพื่อไทยถนัดตรงนี้ ประชาชาติถนัดตรงนี้ ก้าวไกลถนัดตรงนี้แยกกันทำงาน แล้วทำงานแต่ละฝ่ายเรามาร่วมกันได้อย่างไร ทำให้มันเกิดเป็นรูปของรัฐบาล ตรงนี้มันเลยทำให้ประชาชนรู้สึกว่า รวมกันเพื่อทำงานไม่ใช่รวมกันเพื่อมาตีกัน นี่ต่างหากที่ผมว่าพรรคก้าวไกลพยายามแสดงกระบวนการที่เปิดเผยและโปร่งใสด้วยการพูดคุยทีละพรรค ในขณะนี้ผมจึงคิดว่าเราก็ต้องติดตามดูว่าเขาทำงานอย่างเป็นระบบขั้นตอนไหม ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจว่าสังคมไทยเราจะผ่านจุดนี้ได้อย่างไร ถ้าสิ่งที่ผมคาดไว้นั้นผิดก็เป็นเรื่องดี เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงเท่ากับว่าเราย้อนรอยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

ผมคิดว่าตอนนี้สังคมไทยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม มาพูดคุยมาบอกมีข้อเสนอแล้วสื่อเองก็สำคัญในการที่จะเสนอว่ามันมีทางออก ในการที่จะข้ามจุดต่างๆ เหล่านี้ บรรดานักร้องต่างๆ บรรดาองค์กรอิสระที่เฉไฉ ที่เข้าไปมีส่วนในการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เขาก็จะได้พิจารณาว่าเราต้องอยู่ในบทบาทใหม่แล้ว ในแง่การสอดคล้องต่อฉันทามติของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นมันก็เสียของ อันนี้เสียของแน่ๆ ผมว่าต้องก้าวไปอย่างมีสติ ผมก็ไม่ได้หวังว่ามันจะดวงตาเห็นธรรมพร้อมกันหมด  แต่สังคมต้องเข้ามา สื่อต้องเข้ามาทำให้เห็นตรงนี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดเงื่อนไขที่ว่า รัฐบาลใหม่จะต้องได้การสนับสนุน 376 เสียง คือเกินกึ่งหนึ่งของสภา เพื่อสู้กับ ส.ว. 250 คน ซึ่ง ส.ว.ชุดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงมาก โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งแล้วมีลักษณะของการเป็นจระเข้ขวางคลอง อยากให้หมอขีดเส้นใต้ชัดๆ ว่าแบบนี้มันเวิร์คหรือเปล่า

มันไม่เวิร์คไง อย่างที่ผมบอกว่า การออกมาขวางคลอง ไม่ว่าจาก ส.ว.ก็ตาม ซึ่งออกมาพูดก็แสดงว่าคุณยังไม่ได้เข้าใจ ไม่สรุปบทเรียนให้เห็นตรงนั้น มันยังตกอยู่ในเรื่องของการมองที่เป็นอคติ ถ้าคุณยังเข้าใจแบบนี้อยู่มันวุ่น เพราะคุณไม่ได้เป็นนาย ก. นาย ข. คุณเป็น ส.ว. แล้วใช้ตำแหน่งตรงนี้ในการบันดาลทำให้เกิดผลเสียผลร้ายต่อประเทศชาติได้ คุณเป็นองค์กรอิสระ ที่ทำงานตามคำสั่ง คุณเป็นนักร้องที่จะเข้ามาตรงนี้ ผมก็รู้จักหมด เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นี่ก็รู้จัก เพราะว่าเขาเป็นคนแรกที่ฟ้องคุณทักษิณ ผมเป็นกรรมาธิการยังเชิญเขามา จากวันนั้นจนถึงวันนี้เขาเปลี่ยนไปเยอะเลย 

ผมเรียกร้องให้สังคมออกมาพูดคุยกันถึงปัญหามากขึ้น อย่าปล่อยว่าตรงนี้เป็นเรื่องของก้าวไกล สังคมและสื่อต้องออกมาพูดตรงนี้ให้มากขึ้น เอานักวิชาการมาให้ความเห็น สื่อไม่ใช่เพื่อให้เรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องทำให้เกิดการรู้เท่าทัน และเรื่องการรู้เท่าทันก็อย่าไปคิดแต่ว่าเท่าทันสำหรับพวกเรา แต่ต้องทำให้ ส.ว.เขารู้เท่าทันมากขึ้นด้วย

image_pdfimage_print