ท่ามกลางกระแสภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ที่ถูกกล่าวขวัญด้วยเสียงชื่นชมและรายได้ถล่มทลายจากคนทั้งประเทศ จนสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการณ์หนังไทยที่เพิ่งเผชิญความซบเซาจากสถานการณ์โควิดและสงครามการแย่งชิงผู้ชมจากสตรีมมิ่งหลายค่ายอย่างดุเดือด เรียกได้ว่า สัปเหร่อ กลับมากู้ศรัทธาให้คนหวนสู่โรงภาพยนตร์อีกครั้งในรอบหลายปี ด้วยการเล่าเรื่องราวของคนหมู่บ้านธรรมดาๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ การฉายภาพให้เห็นชีวิตปกติสามัญ ความรักหนุ่มสาวไทบ้าน การขับเน้นวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ในชนบทอีสานอย่างไม่จงใจให้เคล้าไปกับเสียงหัวเราะขบขัน การทำมาหากินของคนในท้องที่และหนุ่มบ้านๆ ที่ชอบเมาเหล้าขาว หากจะเปรียบเทียบการเดินทาง 6 ปี จากภาคแรกสู่สัปเหร่อ ก็ทำให้นึกถึงคำภาษาอังกฤษที่ว่า Smells Like Teen Spirit เพราะนี่คือกลิ่นอายและรสชาติของความขบถบ้าบิ่น เต็มไปด้วยความกระหายอยากจะเล่าอีสานในเลนส์ปัจจุบันออกมา ผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ได้อย่างจี๊ดจ๊าดเร้าอารมณ์ แต่กระนั้นก็เปี่ยมไปด้วยความจริงใจและใสซื่อ

ย้อนไปเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ไทบ้านเดอะซีรีส์เป็นที่รู้จักครั้งแรกในนามหนังอินดี้ที่ใช้โลเคชั่นถ่ายทำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและใช้นักแสดงพูดอีสานตลอดทั้งเรื่อง ออกฉายในโรงภาพยนตร์เพียงพื้นที่ภาคอีสานเท่านั้น และไม่มีการโปรโมทโฆษณาในวงกว้างอย่างหนังฟอร์มใหญ่ทางโทรทัศน์ แต่ด้วยกระแสความ “แปลกแต่ดี” ผ่านเรื่องราวชีวิตไทบ้านหนุ่มขี้เมาเพิ่งหัดจีบสาว สามารถทำรายได้กว่า 37 ล้านบาท โดยเริ่มจะมาจากงบเพียง 2 ล้านบาท จนทำให้ในภาคต่อมาไทบ้านเดอะซีรีส์ไปสู่สายตาของกรุงเทพฯ และปริมณฑล กระแสการตอบรับที่เกินคาดทุกครั้งจากแฟนหนัง ยังคงเป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพคนทำหนังในอีสานที่ไม่แพ้หนังค่ายใหญ่ในกรุงเทพฯ

“สัปเหร่อ” นับเป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ของ เซิ้ง โปรดักชั่น แอนด์ ออร์แกไนเซอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังได้มีภาคอื่นๆ ที่เป็นเนื้อหาหลักและ Spin Off ได้แก่ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ สร้างรายได้ 37 ล้านบาท (2560), ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1 สร้างรายได้ 68 ล้านบาท (2561), ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 สร้างรายได้ 97 ล้านบาท (2561) ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ สร้างรายได้ 19.9 ล้านบาท (2563), และหมอปลาวาฬ สร้างรายได้ 14 ล้านบาท (2565) จากความสำเร็จที่สะท้อนผ่านรายได้ และความต่อเนื่องในการสร้างภาพยนตร์ สามารถบ่งบอกถึงการก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมหนังอีสานที่ไม่เคยมีมาก่อน อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์คนเดินเข้าโรงหนังอย่างสบายใจและไม่ต้อง “ปีนกำแพงดู” เพราะมีความตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายเล่าเรื่องความรักและสังคมชนบทอีสานเคล้าไปกับเส้นกั้นบางๆ ระหว่างความสุขกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกแฝงฝังแน่นมาเป็นเวลานาน

จึงคงไม่เคอะเขินหากจะบอกว่าภาพยนตร์จากจักรวาลไทบ้านมีความเป็น Isaan Regionalism หรืออีสานภูมิภาคนิยมสูง เพราะนอกจากจะเพรียกให้คนอีสานคิดถึงบ้านเกิด ยังสามารถเรียกคนจากต่างภูมิภาคมาชื่นชมความเหมือนในความต่างทางวัฒนธรรมและประเพณี มีความหัวแข็งในแง่ดีของการนำเสนออีสานต่างจากหนังในอดีตแบบ ครูบ้านนอก (2521) หรือ สวรรค์บ้านนา (2526) แม้จะไม่ใช่ภาพอีสานชวนฝันอย่างภาพทุ่งนาเขียวขจี แต่ก็ไม่ได้ยากไร้แร้นแค้นโดนรังแกจากผู้มีอำนาจ หรือขาดอำนาจและความอิสระอีกต่อไป แต่เป็นภาพคนบ้านนอกในอีสานของศตวรรษที่ 21 ที่มีวิถีชีวิตไปตามกระแสทุนนิยมให้กลมเกลียวกับวิถีชีวิตเดิม

การดำเนินเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของไทบ้านเดอะซีรีส์

ที่ผ่านมาหนังจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์มักจะถูกมองในฐานะหนังคอมเมดี้ดราม่าที่เน้นหนักทางการดำเนินเรื่องไม่ได้นอกจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของผู้ชายบ้านๆ ในชนบทอีสานผู้มีอาชีพรับจ้างคอยตระเวนเที่ยวทั่วหมู่บ้านกินเหล้ากับเพื่อน เรื่องราวถูกดำเนินไปผ่านตัวละครหลักทั้งสองคนอย่าง ‘จาลอด’ ชายหนุ่มจีบสาวฝึกหัดกับ ‘บักเซียง’ ผู้ชำนาญการคอยชี้แนะทริกให้เพื่อนได้สมหวังในความรัก กับสาวมากหน้าหลายตาหลากระดับในชุมชน ไม่เว้นแม้กระทั้ง ครูแก้ว และ หมอปลาวาฬ สองตัวละครหลักหญิงของเส้นเรื่องหลักที่ถูกลากเข้ามาสู่ความสัมพันธ์อันซับซ้อน

แม้ในภาคแรกการเล่าเรื่องความรักระหว่าง ‘จ่าลอด’ ที่สามารถจีบครูฝึกสอนติดจนได้คบหากัน และในขณะเดียวก็ยังมีคุณหมออนามัยแอบปันใจให้ ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างแฟนตาซี (Fantasy) ที่เหตุการณ์แบบนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในชีวิตจริง แต่การเล่าเรื่องเช่นนี้กลับทำให้ผู้ชมไม่มากก็น้อยรู้สึกแปลกใจและสนุกสนานกับการได้เห็นถึงภาพที่ขัดกันในความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทางสังคม (Class differences) ในหมู่บ้านที่ดูเป็นไปไม่ได้จนทำให้สำนวน ‘ดอกฟ้ากับหมาวัด’ ฟังดูจืดชืดและเชยไปเลยสำหรับหนังตระกูลนี้ แต่เมื่อหนังเข้าสู่ภาค 2.1-2.2 ก็ทำให้ได้เห็นถึงเงื่อนไขทางความสัมพันธ์แบบสมจริง (othentique) อย่างที่ควรจะเป็นอย่าง จ่าลอดที่ถึงแม้จะได้คบหาถึงระดับคุณครูคนสวยก็จริง แต่ก็ต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อที่จะหาเงินเลี้ยงน้องกับยายที่ต้องกินต้องจ่ายและยกระดับสถานะทางสังคมให้ดีขึ้นด้วยการไปเป็นผู้ช่วย ป่อง สร้างสโตร์ผัก ไม่สามารถกลับไปมีชีวิตเที่ยวเล่นคิดแต่เรื่องของตัวเองได้เช่นเคย

แทนที่จะขับเน้นไปกับความสัมพันธ์รักหนุ่มสาวอย่างเดียว หนังก็ยังดำเนินเรื่องควบคู่ไปกับชุดความสัมพันธ์แบบอื่นๆ ที่มีเสน่ห์เทียบเคียงกับตัวละครหลัก เช่น ผู้ใหญ่บ้านคำตันและป่อง ลูกชายผู้ล้มเหลวกับสโตผัก, เฮิร์บ ฝรั่งแบ็คแพ็คเกอร์ผู้เลือกลงหลักปักฐานกับเจ๊สวยร้านของชำ, โรเบิร์ต กับเพื่อนๆ สิงห์เหล้าขาว, มืด ที่หลงรักสาวหัวหน้าห้องอกหักจนต้องไปทุบโอ่งเผาบ้าน, รักเฟรนด์โซนหมอแจ็คกับหมอปลาวาฬ หรือแม้กระทั่งบักเซียงที่หนีไปบวชเพื่อลืมแฟนเก่าอย่างใบข้าว จะเห็นได้ว่าคู่ความสัมพันธ์เหล่านี้ต่างเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันไปมา โดยมีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็น ‘บ้าน วัด โรงเรียน’ เกี่ยวเนื่องกันในสถาบันสำคัญที่เกื้อกูลและตรึงคนในชุมชนไว้อย่างหนาแน่นอย่างแยกจากกันไม่ได้

โดยในภาค 1-2.2 จะมีการตัดสลับให้เห็นภาพชีวิตของตัวละครที่มีบทพูดเรียลแบบอิมโพรไวซ์ แต่ละคู่เหมือนการอ่านการ์ตูนแก๊กที่วาดขึ้นเป็นตอนๆ พอจบก็เล่าตัดสลับเวียนกันไปจนเห็นพลวัตของตัวละครแบบค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้น จะเห็นได้ว่าไม่มีรูปแบ่งองค์การดำเนินเรื่องที่ชัดเจน แต่ตัวละครก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวทำให้ผู้ชมติดตามเรื่องราวต่อได้เรื่อยๆ ทำให้คนดูเองก็รู้สึกเติบโตไปกับตัวละคร

จากความรักสู่ความตาย เมื่อไทบ้านกับการดำเนินเรื่องที่สากลมากขึ้นจนเป็น ‘สัปเหร่อ’

การเปลี่ยนเเก่นหนัง (Theme) ไปโดยสิ้นเชิงจากคอมเมดี้เป็นดราม่าสยองขวัญ ทำให้เส้นเรื่องของ สัปเหร่อ เน้นไปที่การเปิดตัวละครใหม่อย่าง ‘เจิด’ น้องชายต่างแม่ของหมอแจ็ค ผู้เพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์จากในเมืองกลับมาอ่านหนังสือเพื่อรอสอบทนายอยู่บ้านนอก ทั้งสองมีพ่อเป็นสัปเหร่อคนเดียวของหมู่บ้านอย่าง ‘ตาศักดิ์’ ที่ป่วยเป็นมะเร็งอาการหนักจนเริ่มทำงานได้ลำบาก แน่นอนว่าคนเป็นลูกอย่างเจิดไม่อาจทนเห็นพ่อทำงานหนักงกๆ เงิ่นๆ ได้ การลุกขึ้นมาทำหน้าที่สัปเหร่อแทนพ่อจึงคือความท้าทายสุดขั้วเมื่อ เจิด เป็นคนกลัวผีจนตั่วสั่น ในขณะเดียวกันก็เล่าไปพร้อมๆ กับเส้นเรื่องที่สองของ ‘เซียง’ ตัวละครจากภาคก่อน ที่แม้สึกจากเป็นพระแล้วแต่ก็ยังลืมแฟนเก่าไม่ได้ ผีใบข้าวเองก็เริ่มออกหลอกหลอนคนในชุมชนจนต้องรีบหาวันเผาศพ เซียงกับการทำทุกวิถีทางเพื่อถอดจิตสื่อสารกับคนรักอีกครั้ง คนที่ช่วยทำพิธีได้จึงเป็นคนเดียวที่ใกล้ชิตกับคนตายและวิญญาณที่สุดก็คืออาชีพ ‘สัปเหร่อ’ เซียงจึงต้องช่วยงานเจิดในพิธีศพต่างๆ เพื่อแลกกับการเรียนรู้วิชาเดินทางไปอีกโลกของวิญญาณ

การพบกันทั้ง เจิด และ เซียง จึงขัดแย้งกันในแง่ของแรงจูงใจตัวละคร (character conflict) ระหว่างคนกลัวผีที่อยากช่วยพ่อ กับคนอยากเห็นผีที่อยากเจอแฟนเก่า แต่พวกเขาต่างต้องมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถึงมองเผินๆ เราจะเห็นว่านี่คือเรื่องราวของความรักหนุ่มสาวและอาชีพคนจัดการพีธีกรรมศพ ทว่าหากเราตีความดีๆ ทั้งสองเรื่องก็คือเรื่องเดียวกันที่เกี่ยวกับ ‘ครอบครัว’ ทั้งนั้น

สัปเหร่อ จึงเป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องครอบครัวในชนบทอีสานที่มีเรื่องผีเป็นส่วนประกอบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังจะโด่งดังมาถึงตอนนี้แม้ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือน สัปเหร่อได้สร้างจุดร่วมให้คนดูธรรมดาๆ ได้เห็นตัวเองอยู่ในนั้น ด้วยประเด็นที่ไม่ได้ใหม่มากและไม่เก่าเกินจะเล่าบนจอภาพยนตร์ แกนหลักของ สัปเหร่อ เป็นเรื่องสากลทั่วโลกอย่าง ‘ความรัก การยึดติด และความตาย’ ความธรรมดาสามัญของชีวิตมนุษย์ที่ยากจะหนีหรือไม่รู้สึกไปกับมัน โดยเฉพาะเมื่อมีคนตาย ‘งานศพ’ ก็เป็นเรื่องของคนมีชีวิตอยู่ มีไว้เพื่อไว้เยียวยาคนในครอบครัวที่ยังหายใจ อย่างเซียงแม้จะเลิกกับใบข้าว แต่เมื่อเขายังอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันสามารถนั่งกินข้าวร่วมกันได้ทั้งบ้าน เหมือนครอบครัวหรือเครือญาติ และเมื่อใบข้าวตายพิธีกรรมศพก็ล้วนแต่เชื่อมคนรักและคนในครอบครัวไว้ด้วยกัน

การสร้างตัวละครเช่น เจิด ดำเนินเรื่องไปเทียบเคียงกับ เซียง ถือเป็นการเปรียบเปรยที่ชัดว่า แม้ทั้งสองคนยืนอยู่บนโลกเดียวกัน เจิด กลับเป็นตัวละครที่มีสติเพราะอยู่กับปัจจุบันสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ไปได้ง่ายๆ ตรงข้ามกับ เซียง ที่จมปลักอยู่กับห้วงอารมณ์ในอดีต ไม่สนใจคนรอบข้างหรือชีวิตที่มีอยู่ จนเกือบสูญเสียตัวตนและคนที่รักไป

หนังพาเราไปเห็นพิธีกรรมศพในแบบต่างๆ พร้อมกับ เจิด ที่มีตัวละครพ่ออธิบายลำดับและรายละเอียดให้ฟังอย่างไม่ยัดเยียด ที่ไม่ว่าเมื่อคนดีหรือชั่ว เด็กหรือผู้ใหญ่  หรือเพศอะไร จะคนหรือสัตว์ ก็ต่างมีพิธีกรรมวิธีปฏิบัติต่างกันตามโลกสมัยใหม่ที่พลวัตไป อีกแง่หนึ่งที่น่าสนใจคือการนำเสนอพิธีศพของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ที่ไม่เพียงให้ความรู้ผู้ชมอย่างเราๆ ตามชื่อหนังเท่านั้น แต่ยังสื่อไปถึงความเป็นมาของพื้นที่อีสานที่มีความลื่นไหลหลากหลายทางความเชื่อมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยที่คนหลากศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยก หรือกลายเป็นคนอื่นแม้กระทั่งในตอนที่ไม่มีชีวิตแล้ว นอกจากนั้นก็ยังให้เห็นภาพของแนวคิดกุศโลบายพื้นถิ่นที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ เช่น การซ้อนขวัญเด็กแว้นที่แหกโค้ง เสื้อแดงป้องกันผีแม่ม่าย หรือการเคาะโลงศพให้คนตายมากินข้าว

ดังที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องไม่ยากที่ สัปเหร่อ สามารถดึงผู้ชมหลายภูมิภาคเข้ามาชมภาพยนตร์ได้มากมายขนาดนี้ เพราะหากเทียบจำนวนประชากรกว่า 66 ล้านคนทั่วประเทศ คนต่างจังหวัดที่พลัดถิ่นเพื่อเดินทางไปทำงานและเล่าเรียนนั้นย่อมเยอะกว่าคนกรุงเทพฯ เจิด จึงแทนภาพของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่กำลังกลับบ้านเกิดเพื่อไปหาคนที่รัก สัปเหร่อ จึงแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างคนผู้ใหญ่กับเด็กในชุมชนที่มีการสื่อสารอย่างความเข้าอกเข้าใจ (empathy) เผยมุมมองความเชื่อของคนต่างอายุด้วยการตั้งคำถาม และให้คำอธิบายเรื่องพิธีกรรมศาสนาและคนตายไว้ด้วยกันได้อย่างลึกซึ้งกลมเกลียวเห็นแง่งามของชีวิต เพื่อไม่ให้เรายึดติดกับอดีต สอนเราให้มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อความตายไม่ใช่จุดจบของชีวิตหากแต่เป็นการเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของ สัปเหร่อ คือการเดินไปต่างในมิติจากที่เราอาศัยอยู่ ตามความเชื่ออันสากลโลกทั้งทางศาสนาหรือปรัชญา ก็ล้วนแต่มีเรื่องราวหลังความตายที่ยังคงเป็นประเด็นเซ็กซี่ลี้ลับอยู่ในทุกวัฒนธรรม ไม่ว่าจะโลกสวรรค์ โลกวิญญาณหรือ นรกก็ตาม การออกแบบฉากการถอดจิตในหนังมีความสร้างสรรค์แปลกตา ไม่ขัดหูขัดตาหรือประดักประเดิด กลับชวนให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นรางวัลสองเรื่องที่มีการตีความอาชีพของสัปเหร่อ และการย้อนกลับไปมองอดีตอันงดงามในชีวิตได้น่าสนใจ อย่าง  Departures (2008) ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขา Best Foreign Language Film (2009) เล่าถึงอาชีพ ‘โนคังฉิ’ ที่มอบศิลปะอันปราณีตงดงาม ก่อนที่ร่างไร้วิญญาณจะออกเดินทางใหม่ของชีวิต และ After Life (1998) เรื่องของวิญญาณแต่ละดวงวิญญาณสามารถเลือกกลับไปดูความทรงจำที่ชอบได้หนึ่งเหตุการณ์ เพื่อนำความทรงจำอันอันตรึงใจนั้นติดตัวได้ จากหนังที่ยกตัวอย่างล้วนแต่เล่าอาชีพเกี่ยวกับความตายและความเชื่อเรื่องการเดินทางไปโลกใหม่ของเอเชียที่เชื่อมโยงกันในทางความหมายที่งดงาม ทรงคุณค่า แต่ในอีกแง่ของชีวิตจริงไม่ว่า ‘คังโนชิ’ ญี่ปุ่นหรือ ‘สัปเหร่อ’ ไทยก็เป็นอาชีพที่ใครไม่อยากทำ เพราะความเชื่อของผู้คนที่หวาดกลัวความตายและรายได้จากงานที่ได้ไม่มากมายหรือไม่มั่นคง

จากความรักถึงความตาย ที่ไทบ้านเดอะซีรีส์พยายามนำเสนออยู่หลายปีอาจจะเป็นเรื่องง่ายที่สุด ที่จะพบแก่นเรื่องแนวนี้ได้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่คงไม่ใช่หนังทุกเรื่องที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงเอกลักษณ์ส่วนตัวของพื้นถิ่นที่ให้ความรู้สึกว่านี่คือ Somewhere ในอีสาน และตัวละครก็สะท้อนถึง Someone ในชีวิต ที่หนังดึงเราไปมีจุดร่วมในนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นอกจากความบันเทิงและจริงใจที่จะเล่าก็ทำให้เราเข้าใจว่า ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดอาจจะไม่ได้มาจากเรื่องราวชั้นสูงที่งามสง่าสัมผัสไม่ได้ แต่กลับเป็นเรื่องราวที่แสนเรียบง่ายที่คนธรรมดาเคยประสบพบเจอ

image_pdfimage_print