คนอีสานเริ่มกลายเป็นคนพลัดถิ่นในเมืองกรุงฯ มากกว่าแรงงานภาคอื่นตั้งแต่เมื่อปี 2533 และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นประชากรแฝงในกรุงเทพฯ อันดับต้นๆ กระทั่งวิกฤตโควิดทำให้หลายคนตกงาน หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับการใช้ชีวิต และตัดสินใจคืนถิ่นเพื่อกลับสู่มาตุภูมิที่ตัวเองจากมา ในจำนวนนี้มีสามีคู่หนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภูที่ลาออกงานราชการที่มั่นคงและงานประจำที่กำลังจะเจริญก้าวหน้าเพื่อกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดและตามหาความสุข นั่นคือ การสร้างครอบครัวในที่ที่พวกเขาจากมา รถไถคู่ใจคันสีส้มกับชายหนุ่มในชุดเสื้อยืด ในลุคเสื้อคลุมลายสก็อต กางเกงยีนส์ขาดๆ แม้แดดเปรี้ยงแต่สายตามุ่งมั่นนั้นกลับพุ่งทยายกลางแปลงเกษตรสีน้ำตาลที่แสนจะโล่งแจ้งเพื่อเตรียมดินก่อนฤดูฝนจะมาเยือน คราบดินที่อาบบนใบหน้าปนกับรอยยิ้มที่แสนจะมีความสุขกับการได้ทำไร่อยู่ที่บ้านตัวเอง เป็นความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มของลูกสาววัยขวบกว่าๆ ยืนให้กำลังใจห่างๆ ขณะดินฟุ้งไปทั่วทุ่ง

ความท้าทายของชีวิตกับความคิดที่ถูกแช่แข็ง

ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ภานุวัฒน์ พหลทัพ หรือวัฒน์ เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับชั้นปริญญาตรี แล้วออกเดินทางจากจังหวัดหนองบัวลำภูเพื่อตามล่าหาความท้าทายให้กับชีวิตที่แสนจะเรียบง่าย เส้นทางทำงานบนบกที่ใครเขาทำดูเหมือนจะง่ายไปสำหรับวัฒน์ เขาตัดสินใจเลือกทำงานบนเรือไปซะเลย โดยหวังว่า อาชีพคนเดินเรือ จะเป็นทุกอย่างในชีวิตให้เขา

“เคยทำงานที่เรือสินค้าต่างประเทศ เดินทางส่งสินค้ารอบโลก ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ น้ำมัน แก๊ส รวมๆ แล้วก็ 10 ปี ที่ไปทำงานต่างประเทศ ทำงานอยู่ที่เรือมันก็เห็นแต่น้ำ ท้องฟ้า พระอาทิตย์พระจันทร์ บนเรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้ แต่มันเหมือนกับเราถูกขังอยู่ในนั้นเหมือนกันนะ รวมถึงความคิดเราด้วย เหมือนโดนผูกติดอยู่กับชีวิตแบบเดิม แล้วมันทำให้เราไม่พัฒนา”เขาสรุปบทเรียนชีวิตกลางทะเลกว้าง 

เขาเล่าอีกว่า ชีวิตการทำงานบนเรือสินค้า ไม่มีทางรู้ว่าเรือมันจะไปไหน จะไปพื้นที่สงครามไหม การใช้ชีวิตบนผืนน้ำมีสิทธิ์ทำได้เพียงดูตะวันตกดินไปวันๆ ความหดหู่ ความคิดถึงที่กัดกินหัวใจ โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า คนที่บ้านเจ็บไข้ แต่กลับมาเยี่ยมไม่ได้ แม้เป็นห่วงเพียงใดก็ไม่มีสิทธิ์กลับมาจนกว่าจะถึงรอบที่เรือเข้าฝั่งหรือครบรอบสัญญากับบริษัทจึงจะมีโอกาสกลับบ้านอย่างน้อยก็ 6 เดือน  

จุดเปลี่ยนของชีวิตนักเดินทาง

รายได้ 30,000-35,000 บาทต่อเดือน (ไม่รวมโอที) ดูเหมือนจะเพียงพอกับความต้องการของชีวิต เพราะบนเรือแทบไม่ได้ใช้จ่ายอะไร แต่การใช้ชีวิตบนเรือที่ห่างไกลครอบครัว เงินจำนวนนั้นจึงไม่ใช่คำตอบ

ในเมื่อการถูกแช่แข็งทางความคิดและการใช้ชีวิตบนเรือลำใหญ่ไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่เคยท้าทายจึงกลับกลายเป็นว่างเปล่า วัฒน์ตัดสินใจทิ้งทุกสิ่ง แล้วหลังหันเพื่อเดินมายังจุดแรกที่ตัวเองจากมา

“พี่ไม่อยากต่อสู้อยู่ต่างแดนแล้ว อยากสู้อยู่บ้านตัวเองมากกว่า เพราะว่าที่บ้านเรา คนทำเกษตรมีแต่จนลง คนที่จะลืมตาอ้าปากได้มันลำบากมาก เลยเลือกที่จะกลับมา กลับมาอยู่บ้าน” เขาเอ่ยถึงการตัดสินใจหันหลังให้อาชีพที่กำลังจะก้าวหน้า โดยถูกเสนอให้เป็นหัวหน้าคนงานระหว่างทำงานอยู่บนผืนน้ำ 

วัฒน์ยังบอกอีกว่า ทั้งในอดีตและปัจจุบัน คนต่างจังหวัดจำนวนมากเลือกที่จะไปทำงานต่างแดน แล้วก็พาตัวเองไปเป็นแรงงาน ส่วนหนึ่งก็หวังว่า จะพัฒนาตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาระทั้งหมดกลับตกไปกับผู้เฒ่า ที่ต้องเลี้ยงเด็กและทำการเกษตรไปด้วย ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย “เป็นเรื่องที่ยากมากที่คนแก่จะทำทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้ ถ้าลูกหลานหันกลับมาใส่ใจคนที่บ้านบ้างก็น่าจะดี”เขากล่าว  

ความคิดถึงจากคนไกลที่ไปไม่เคยถึง

ผมแพง พหลทัพ แม่ของวัฒน์ในวัย 63 ปี บอกว่า ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเดินทาง ผู้เป็นแม่ก็มีทั้งความเหงา ความคิดถึงที่มาพร้อมกับความเข้าใจ แม้ใจอยากจะรั้งลูกชายไว้แค่ไหน แต่สุดท้ายก็ทำได้แค่ยอมรับและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น

“ตอนนั้นก็คิดถึงนะ เราก็ไม่มีใคร มีลูก 3 คน คนหนึ่งก็ไปทำงานที่อยุธยา อีกคนก็ไปอยู่กรุงเทพฯ คนนี้เขาก็อยากไปเผชิญโชคของเขากับโลกภายนอก ใจเราก็คิดถึงแหละ เวลาเกิดพายุเราก็เป็นห่วง เขาก็มีภาระของเขา ไปห้ามเขาก็ไม่ได้ แม่ก็แล้วแต่ลูก เขาอยากทำก็ให้เขาทำ”เธอกล่าวถึงชะตาชีวิตที่ต้องรับการเติบโตของลูกๆ  

เธอบอกอีกว่า คนรุ่นใหม่บางคนก็อยากไปค้นคว้าหาประสบการณ์ บางคนก็อยากอยู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเลือกไปทำงานกรุงเทพฯ น้อยคนมากที่จะอยู่บ้านทำไร่ทำนา เพราะว่าต่างจังหวัดมีงานไม่มากพอที่จะสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ คนจึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ กันหมด 

เพราะคำว่าครอบครัว คือ เหตุผลของทุกอย่าง

วัฒน์มีภรรยากับลูกอีก 1 คนที่ต้องดูแล ในวันที่สถานการณ์โควิด-19 เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากขึ้น บางสิ่งบางอย่างถูกตกตะกอนในความคิดของวัฒน์ เขาจึงตัดสินใจพูดคุยกับภรรยาอย่างเปิดอก โดยขอให้เธอลาออกจากการทำงานประจำที่กรุงเทพฯ เพื่อกลับมาสร้างครอบครัวที่บ้านของเขา 

ศรีไพร นาตุ่น หรือเหมียว หญิงสาวในวัย 39 ปี เธอแต่งงานกับวัฒน์เมื่อหลายปีก่อน หลังจากพูดคุยกันด้วยเหตุผล เหมียวจึงไม่ลังเลในการลาออกจากการเป็นพนักงานราชการ สังกัดกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อกลับอีสานและสร้างครอบครัวที่บ้านเกิดสามี เธอจากบ้านเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อกว่า 9 ปี เพื่อทำงาน แต่งานราชการที่ดูเหมือนจะเพรียบพร้อมทุกอย่าง กลับสวนทางกับสิ่งที่คิด ด้วยค่าครองชีพในเมืองกรุงฯ ที่สูงลิ่ว ตอนนั้นเธอคิดว่า ถ้าทำงานต่อแล้วส่งลูกกลับมาให้ปู่ย่าหรือตายายเลี้ยง เงินเดือนที่ได้รับทุกๆ เดือนก็คงไม่พอ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงาน

“หน่วยงานที่ทำงานด้วย ส่วนใหญ่มีแต่คนอีสาน เป็นระดับหัวหน้าระดับ ผอ.ก็มี เพราะว่ากรุงเทพฯ มันเจริญกว่าต่างจังหวัด มันเหมือนกับว่างานก็หาง่ายกว่า ไปกระจุกความเจริญอยู่แค่ตรงนั้น เหมือนว่าเขาไม่ได้เห็นความสำคัญที่ต่างจังหวัด”เธอกล่าว 

เหมียวยังบอกอีกว่า แรกทีเดียวก็คิดอยากจะทำงานที่บ้านเกิด จ.กาฬสินธุ์ แต่ไม่มีงาน นอกจากทำไร่ทำนา โรงงานก็ไม่มี ถ้าต่างจังหวัด มีเหมือนที่กรุงเทพฯ มี คงจะทำที่บ้าน เธอไม่ได้อยากไป แต่เพราะว่าไม่มีงาน จึงจำยอม “ตอนทำงานก็ได้ 20,000 บาท แต่เพราะเราอยากเลี้ยงลูก ไม่ได้อยากผลักภาระไปให้ใครเลี้ยง ตอนนี้ก็ทำงานบ้าน ไม่มีรายได้ แต่มีความสุขนะ ได้อยู่ดูแลครอบครัว”เธอกล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม 

สุขใดเล่า จะเท่าอยู่บ้านตัวเอง

การพยายามขนย้ายตัวเองเพื่อแสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ความอิสระอาจเป็นเป้าหมายที่สูงสุดของการเดินทาง

“พอกลับมาอยู่บ้านชอบชีวิตที่เป็นแบบนี้นะ เพราะมันได้อิสระทางความคิด เพียงแต่ว่ามันอาจจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มันขาดแคลน ใจเราไม่แพ้อยู่แล้ว แต่ทรัพยากรเป็นสิ่งที่เราต้องหาเอง” วัฒน์เล่า

แม้วัฒน์จะบอกว่า รายได้ตอนนี้ไม่คงที่มากนัก เพราะเน้นไปที่การลงทุน มีขาดทุนบ้าง แต่ขับเคลื่อนการทำงานด้วยแบบแผนที่เป็นอยู่ หวังว่าซักวันผลที่เฝ้ารอจะแสดงออกให้เห็นเอง

อยากให้ลูกอยู่ใกล้ในวัยใกล้ฝั่ง 

สุภาพ นาตุ่น ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อของเหมียวในวัย 65 ปี บอกว่า ลูกสาวกับเมืองใหญ่ เป็นเรื่องที่น่ากังวลที่สุดของคนเป็นพ่อ แม้อยากอยู่ใกล้แค่ไหนก็ทำได้เพียงปล่อยให้ลูกได้เดินตามทางชีวิตของตัวเอง

“จริงๆ แล้วก็อยากให้ลูกอยู่ใกล้ๆ เพราะว่าอายุรุ่นนี้แล้ว แต่ว่าการใช้ชีวิตมันก็ต้องไปตามทางของเขา ค่าครองชีพมันสูง มันก็ต้องทำงาน ถ้าอยู่แต่กับพ่อแม่ก็มีแต่ไร่มีแต่นาให้ทำ รายได้ก็อย่างที่รู้กันว่า มันไม่เยอะ ผมบอกกับลูกเสมอว่า ไม่ต้องห่วงพ่อกับแม่ ให้เป็นคนขยัน อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้”สุภาพ กล่าว 

คนอีสานกลายเป็นคนพลัดถิ่นในกรุงฯ 

ขณะที่ บัวพันธ์ พรหมภักพิง อดีตอาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความเห็นว่า การทำงานในอีสานนั้นผลลัพธ์จากการทำงานมันต่างจากการทำงานในเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะการอยู่ในชนบทอีสานประสบความสำเร็จน้อย ทางออกของคนส่วนหนึ่ง คือ ย้ายไปที่อื่น ไปทำงานกรุงเทพฯ 

“จริงๆ แผนการพัฒนาประเทศเศรษฐกิจของเมืองไทย สร้างให้เกิดความไม่สมดุลกันในประเทศ ผลตอบแทนในเมืองจึงเยอะกว่าภาคเกษตร เท่ากับว่าสนับสนุนให้คนพลัดถิ่น”นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ กล่าว 

ข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติแห่งชาติระบุว่า เมื่อปี 2533 มีผู้ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพมหานครมากขึ้น พบว่า ร้อยละ 45.1 มาจากภาคอีสาน โดยมีปัจจัยจากการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นกระตุ้นให้คนย้ายถิ่นทั้งในประเทศและนอกประเทศ  

ความเจริญอยู่หม่องใด๋ ข่อย คือ บ่เห็น?

“ไปไหนครับไปไหนๆ” เสียงตะโกนกึกก้องกังวาลของกระเป๋ารถบัสที่ไต่ถามผู้โดยสารดังไปทั่วบริษัทขนส่ง 

“นั่นสิครับ ผมกำลังไปไหน ความเจริญ ความท้าทาย หรือสิ่งใดที่ผมกำลังไปหา”เป็นคำถามของวัฒน์ที่คิดในใจ ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มก่อนจะเริ่มออกเดินทางไกล “ไปกรุงเทพฯ ขึ้นรถหม่องได๋ครับ”เขาจำความรู้สึกตอนถามกระเป๋ารถบัส เมื่อครั้งออกเดินทางเพื่อไปหาความเจริญที่เมืองกรุงฯ เพื่อขึ้นเรือและออกเดินทางบนเรือสินค้าไปรอบโลก  

“คิดว่า ความเจริญมันควรถูกกระจายครับ อย่างแรกเลย คือ ความรู้ การเข้าถึงความรู้ของชาวบ้านมันมีน้อย ต่อให้คุณจะมีอุปกรณ์ที่ดีแค่ไหน ถ้าขาดความรู้ก็ไม่สามารถทำให้คนพัฒนาได้ คนเก่งอยู่ที่ไหนก็เก่ง จริงอยู่ แต่ทรัพยากรที่สนับสนุนเราก็สำคัญ ถ้าเรามีการสนับสนุนที่ดี มีทรัพยากรที่ดี คุณภาพชีวิตจะดีตามไปด้วย”วัฒน์ กล่าวหลังจากเดินทางตามหาความเจริญไปหลายประเทศ แล้วพบว่า ชีวิตของการตามหาความเจริญ คือ การกลับบ้าน 

ส่วนเหมียว แสดงความคิดเห็นว่า ควรจะมีการจัดสรรหางานให้ งานที่มั่นคง ไม่ใช่ว่ารับจ้างอย่างเดียว อยู่ที่ไหนก็รวยได้ เก่งได้ ถ้าหากมีงานที่มั่นคงทำ 

ฝากหวังกับรัฐบาลใหม่ของประชาชน

แม้ว่าความเจริญจะไปไม่ทั่วถึง แต่ใช่ว่าจะไม่มีความหวังเสมอไป เสียงเล็กๆ ของประชาชน หวังเพียงแค่ส่งไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขปัญหา วัฒน์ยังบอกอีกว่า ไม่ว่าจะคนอาชีพไหน ทุกคนควรเข้าถึงภาษาอังกฤษ ไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล อยากให้เห็นความสำคัญของการสื่อสาร อยากให้ต่างชาติเขารู้ว่า คนไทยมีความสามารถ ไม่ใช่สยามเมืองยิ้มอย่างเดียว เพราะจุดอ่อนของคนไทยก็ คือ ภาษาอังกฤษ 

ส่วนเหมียวนั้นเธอหวังว่า รัฐบาลใหม่จะสร้างงานอย่างที่เขาประกาศ “ก็หวังนะ ใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็อยากให้เขาบริหารตามที่เขาวางนโยบายไว้ มันก็น่าจะมาถึงบ้านเราแหละ ถ้าเขาทำตามนโยบายที่เขาพูดไว้ เพราะว่าเป็นนโยบายระดับประเทศ ทำแค่นโยบายของเขาให้ได้ก็พอ” เหมียวกล่าวด้วยความหวัง

image_pdfimage_print