นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นปฐมบทความรุนแรงในชายแดนใต้จนถึงปัจจุบัน มีเหตุความไม่สงบ 9,657 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5,868 คน ได้รับบาดเจ็บ  12,657 คน 

The Isaan Record ลงพื้นที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ในโครงการ Journalism That Builds Bridges ได้พูดคุยกับตัวแทนชุนชนชาวพุทธและมุสลิมจำนวนหนึ่ง พวกเขาร่วมกันสวดมนต์และภาวนาว่า เหตุการณ์ความรุนแรงจะยุติลง พวกเขาจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเหมือนเช่นวันวาน 

ป่วน สุวรรณศักดิ์ (กลาง) ขนาบข้างด้วยลูกสาวและหลานชายของเธอ หลังจากที่เธอเล่าเรื่องการล่องเรือลงหลักปักฐาน ณ หมู่บ้านสาวอ

ป่วน สุวรรณศักดิ์ วัย 84 ปี เป็นหลักฐานที่มีลมหายใจในการเข้ามาตั้งรกรากของชาวพุทธบนเส้นทางแม่น้ำโก-ลก มาสู่เชิงเขาฮาลาบาลา จ.นราธิวาส ที่เชื่อกันว่า มีการตั้งรกรากที่หมู่บ้านสาวอ อ.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ถือเป็นตำบลที่มีชาวพุทธอาศัยมากที่สุดในอำเภอแว้ง 

การเดินทางของป่วนในฐานะลูกสาวคนโตจากพี่น้อง 7 คน เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 ป่วนในวัย 28 ปี โดยครอบครัวล่องเรือในแม่น้ำโก-ลก จาก อ.สุไหงโก-ลก มายัง ต.โละจูด พื้นที่ป่าโล่งไร้ผู้คนเพื่อสานต่อการดูแลสวนยางของญาติ 

เธอเล่าว่า เดิมทีภาษาท้องถิ่น คือ ภาษามลายูและเรียนโรงเรียนรวมกับชาวมุสลิม การสื่อสารจึงไม่ใช่อุปสรรค

“จากบ้านไปตลาดประมาณ 5 กิโลเมตร ก็เดินไป สมัยก่อนไม่มีถนน มีแต่ป่า มีเสือ ตอนมาใหม่ๆ ก็อาศัยอยู่บ้านคนมุสลิม พ่อมาทำสวนยางพารา ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการปรับตัวทางศาสนา เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ไม่ได้มีความรู้สึกแปลกแยกจากผู้คนตรงนี้” ป่วน กล่าวถึงอดีต 

ป่วน สุวรรณศักดิ์ ในช่วงเริ่มต้นที่ย้ายมาอยู่ อ.แว้ง

วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ

จักรพันธ์ สุวรรณศักดิ์ รองประธานและผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ชาวไทยพุทธรุ่นที่ 3 กล่าวว่า ชาวพุทธในชุมชนมุสลิมรุ่นแรก นอกจากภาษามาลายูก็นิยมใช้ภาษากลาง และมีภาษา “เจ๊ะเห” เป็นภาษาท้องถิ่นที่พุทธใช้ ส่วนใหญ่นิยมใช้ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ในบางพื้นที่ 

“ตอนนี้มีคนที่ใช้ภาษาเจ๊ะเหในไทยไม่ถึงหมื่นคน เป็นภาษาเก่า มีรากเหง้ามาจากอยุธยา มากับเจ้าเมืองที่มาปกครองหัวเมืองในสมัยนั้น”

จักรพันธ์ สุวรรณศักดิ์ หลานชายของ ป่วน สุวรรณศักดิ์

ภาษาที่เหลือน้อยก็สะท้อนจำนวนชาวพุทธที่กำลังลดลง โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนนี้มีทั้งหมด 34 ครัวเรือน หรือประมาณ 140 คน หากรวมทั้งอำเภอมีเพียง 200 คน ส่วนใหญ่ชาวพุทธประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง รับข้าราชการ และรับจ้างทั่วไป 

เนื่องจากอำเภอหรือตำบลหนึ่งหมู่บ้านชาวพุทธอยู่แบบกระจัดกระจายและห่างไกลกันจึงมีวัดประจำเพียงไม่กี่แห่ง อย่างที่ อ.แว้ง ใน 3 ตำบล มีวัดเพียง 1 แห่ง การบิณฑบาตในระยะเช่นนี้ถือว่าทำได้ยาก จึงเกิดวัฒนธรรมที่เรียกว่า แกงเวียน

“พระที่นี่จะไม่บิณฑบาต แกงเวียนจึงหมายถึงการแบ่งชุมชนชาวพุทธตามโซนแต่ละตำบลเป็นกลุ่มมีทั้งหมด 31 กลุ่ม แล้วจับสลากเพื่อว่า วันนั้นได้เลขอะไร ทุกคนในครอบครัวหรือว่าชุมชนนั้นจะต้องนําอาหารไปถวายเพลเช้า บางชุมชนล้างจาน และจะมีหัวหน้าเวรคอยประสานงานในแต่ละกลุ่ม ในแต่ละเวรจะมีบอร์ดว่า ทำอะไร บอกต่อว่ามีพระกี่รูป อยู่ ไม่อยู่ ให้เตรียมพอกับปริมาณที่พระมีในแต่ละวัน”จักรพันธ์ เล่า 

เขาเล่าอีกว่า จำนวนคนที่เข้าบวชมีเรื่อยๆ แต่เป็นแบบระยะสั้น 1 พรรษา พระที่อยู่ประจำวัดมี 4-5 รูป และยังพูดถึงปัจจัยการลดลงของจำนวนชาวไทยพุทธในพื้นที่

ชาวบ้านกำลังรับประทานอาหารหลังถวายเพลพระ ใน จ.นราธิวาส

“จำนวนชาวพุทธลดลงเพราะย้ายที่อยู่บ้าง เสียชีวิตบ้าง สึกเพื่อไปแต่งงาน เพราะถ้าชาวพุทธแต่งกับมุสลิมต้องเปลี่ยนเป็นอิสลาม ส่วนใหญ่อัตราการเกิดของชาวพุทธใน 1 ปี ก็มีไม่ถึงหนึ่งคน มีเด็กเกิดล่าสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชาวมุสลิมก็เริ่มน้อยลง เพราะเริ่มคุมกำเนิด ลูกหลานชาวพุทธก็ย้ายไปเรียนที่ต่างอำเภอ ตามพ่อแม่ไปหางานที่อื่นบ้าง ในเมืองบ้าง เพราะทำงานกรีดยางแล้วไปไม่รอด” 

จักรพันธ์ให้ข้อมูลเรื่องการประกอบพิธีทางศาสนาชาวไทยพุทธว่า รูปแบบยังคงคล้ายกับพื้นที่อื่นๆ แต่เหตุการณ์ความสงบทำให้ต้องปรับเวลาให้ทุกกิจกรรมเสร็จสิ้นก่อน 5 โมงเย็น เพื่อความปลอดภัย 

“ยกตัวอย่างงานศพ ทุกอย่างจะต้องจบก่อน 6 โมงเย็น หมายถึงว่า เริ่มสวดอภิธรรม 5 โมง เหตุผลเพราะว่าแต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกล แต่ละคนที่จะไปเดินทางไปมาก็ลําบาก ทุกอย่างก็เสร็จไม่ดึก อย่างเวียนเทียนก็ทำช่วงกลางวัน”เขากล่าว 

ส่วนการทําบุญขึ้นบ้านใหม่ เขาบอกว่า เราก็จะชวน เขาก็จะมาช่วย แต่การเลี้ยงรับรองก็จะแยกโซนแยกครัวกัน จะไม่มีการเข้าร่วมในด้านพิธีการชาวพุทธและอิสลามกินจะคล้ายกัน คือ อาหารท้องถิ่นเป็นหลัก เพียงแค่อิสลามจะไม่กินหมู 

นอกจากประเพณีทางศาสนาที่ชาวไทยมุสลิมเข้าร่วมได้แล้ว ชาวพุทธยังสามารถไปร่วมงานสำคัญทางศาสนาของอิสลาม ใน วันเมาลิด หรือ เมาลิดินนะบี 

“ในรอบหนึ่งปีจะมีหนึ่งเดือนที่เขาก็จะทําบุญ และเชิญชาวพุทธ ไปร่วม” จักรพันธ์ กล่าว 

ถัดจากบ้านชาวพุทธไปไม่กี่กิโลเมตร เราจะมองเห็นเอกลักษณ์สิ่งแวดล้อมของบ้านชาวมุสลิม สิ่งที่สังเกตด้วยตาเปล่าคือ ไม่มีสุนัข คนในหมู่บ้านมักเลี้ยงแพะ 

อีกด้านหนึ่งของชุมชน ยาลีหา แสงเพรช หนึ่งในชาวไทยมุสลิมผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกันของสองศาสนาให้ความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้รู้สึกแปลกแยก ตั้งแต่จำความได้เธอก็อยู่ท่ามกลางชาวพุทธและมุสลิม

“เราอยู่กันแบบญาติพี่น้อง ไม่ได้มองว่าแตกต่าง เวลาชาวพุทธปลูกผักเขาก็จะเข้ามาแบ่งให้โดยไม่คิดเงิน ต่างกันแค่การปฏิบัติทางพิธีกรรมศาสนา เวลาชาวมุสลิมมีงาน ชาวพุทธก็มีแต่งตัวแบบมุสลิมเข้าร่วมงาน ไม่ถือว่าผิด อีกทั้งคนพุทธส่วนใหญ่ยังสามารถพูดภาษามาลายูได้ แทบแยกไม่ออกจากคนมุสลิมเลย

“งานที่เข้าร่วมกับชาวพุทธ คือ งานบุญและงานแต่ง หากได้รับการเชิญชวน แต่จะต้องแยกระหว่างไทยพุทธและมุสลิม ครัวการทำอาหารก็จะแยกเพราะมุสลิมจะไม่สามารถทานอาหารของคนไทยพุทธได้ เนื่องจากไม่ใช่อาหารฮาลาล แต่ไทยพุทธทานอาหารฮาลานได้ ในกรณีที่จัดงานในมัสยิด ไทยพุทธก็เข้าไปรับประทานอาหารได้ แต่ไม่เข้าร่วมพิธีได้ หากเป็นงานศพของชาวไทยพุทธ ชาวมุสลิมเข้าไปร่วมงานในวัดได้ แต่ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ จะเป็นในลักษณะการไปแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิตมากกว่า 

เธอกล่าวเป็นเสียงเดียวกันกับชาวพุทธ ถึงวิถีชีวิตของสองศาสนาที่มีร่วมกัน

“กิจกรรมกีฬาทั่วไป คนพุทธและมุสลิมก็เล่นด้วยกัน ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เรียกได้ว่าใช้ชีวิตกันอย่างปกติไม่ได้มีแบ่งแยก ตลาดบูเก๊ะตา มีทั้งชาวพุทธและคนมุสลิมขายของร่วมกัน และชุมชนเราก็เข้มแข็ง เพราะมีกลุ่มออมทรัพย์ที่คนพุทธกับคนมุสลิมทำด้วยกัน”

ยาลีหายังถ่ายทอดประสบการณ์ที่เธอแต่งงานกับชาวไทยพุทธ สามีเธอต้องเข้าศาสนาอิสลามถือเป็นการปรับตัวเล็กน้อย แต่ไม่ใช้เวลานานมากนัก

นอกจากนี้ในช่วง พิธีอาซูรอ ประเพณีท้องถิ่นของชาวมุสลิมชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมทำขนมกวนโดยใช้กระทะขนาดใหญ่ ทั้งของคาวและหวาน และแบ่งแจกจ่ายกัน 

“ทำในช่วงเดือนแรกของศาสนาอิสลาม ประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมา นับตามเดือนของศาสนาอิสลาม เนื่องจากเดือนของอิสลามจะมี 29 กับ 30 วันและเร็วกว่าเดือนของสากล วนไปในแต่ละปี ก็จะคลาดเคลื่อนไม่แน่นอน 

“คนพุทธนิยมซื้ออาหารของชาวมุสลิม สังเกตจากที่พอเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอนชาวพุทธจะดีใจ เนื่องจากมีอาหารหลากหลายให้เลือก ความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมกับชาวพุทธที่มีมาอย่างยาวนาน เมื่อก่อนพุทธหรือมุสลิมก็เรียนด้วยกัน เพราะฐานะทางบ้านไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้พอทางบ้านมีฐานะหน่อย บางคนก็ส่งลูกไปเรียนข้างนอก ทำให้ความผูกพันแบบรุ่นก่อนๆ อาจจะลดลง เพราะสมัยก่อนเราเรียนด้วยกัน โตมาด้วยกัน เล่นน้ำคลองอยู่ด้วยกัน รุ่นหลานๆ จะไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกันแบบนี้ ถ้าโรงเรียนที่เรียนรวมกัน การทำกิจกรรมก็แล้วแต่ผู้นำศาสนานั้นๆ” ยาลีหา เล่าจากความทรงจำ  

วัดพุทธในชุมชนมุสลิม

วัดนิคมแว้ง เป็นวัดไม่กี่แห่งใน อ.แว้ง จ.นราธิวาส อยู่ห่างจากหมู่บ้านสาวอเพียง 5 กิโลเมตร พื้นที่วัดกว้างขวางและบรรยายกาศวัดพุทธที่คุ้นตา มีผู้คนนำอาหารมาทำบุญปกติ ในช่วงเช้า 

พระสมุห์ทนง จิตคุโน เล่าว่า แต่ละวันจะมีคนเข้าวัดทำบุญประมาณวันละ 5 ครัวเรือน การอยู่ร่วมกันของสองศาสนาก็ปกติดี แต่ก็อาจจะมีช่องว่างบางอย่าง 

“เพื่อนที่เล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก สนิทกัน พอโตมาเรามาบวชเป็นพระ เพื่อนที่เคยเล่นด้วยกันก็ไม่ค่อยมาหา แต่ไม่ใช่ว่า เราจะไม่พูดหรือทำงานร่วมกัน ถ้ามีงานเราก็ช่วยกันทำ ถ้ามีกิจกรรมคนมุสลิมก็มาช่วยกัน มาทำงานด้วยกันได้”พระสมุห์ทนง กล่าว

รัฐวิสาหกิจ สายพานของชุมชน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์ของกลุ่มคนสองศาสนาในชุมชนนอกจากเรื่องการการทำกิจกรรม ประเพณีต่างๆ คือโรงงานผลิตพริกแกงรัฐวิสาหกิจชุมชมที่เป็นสิ่งผูกโยงเศรษฐกิจชุมชนกับความสัมพันธ์ผู้คน 

จักรพันธ์ สุวรรณศักดิ์ รองประธานและผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ กล่าวว่าสมาชิกมีทั้งหมด 90 คนมีทั้งชาวพุทธและก็มุสลิม ส่วนพนักงานในโรงงานมีทั้งหมด 6 คน พนักงานประจำ คือ ชาวมุสลิม 3 คน อีก 3 คนเป็นชาวพุทธที่เป็นพนักงานพาร์ทไทม์

“จุดเริ่ม คือ มีเหตุการณ์ที่เราขอเครื่องจักรจากหน่วยงานไปว่า อยากได้เครื่องบดแบบแห้ง เหมือนเครื่องปั่นเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่แต่เป็นแบบละเอียด แต่หน่วยงานน่าจะตีความหมายผิด เครื่องที่ให้มาใหญ่เกือบเท่าโต๊ะและเหมาะสำหรับบดเปียกหรือการทำพริกแกง ตอนนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้น เราไม่คิดว่าจะทำพริกแกงขาย เพราะว่าเขาให้มาในสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราจะทำ แต่ก็ไม่อยากเอามาแล้วทิ้งไว้เฉยๆ หลังจากทำไปทำมา แล้วอร่อย คนอื่นๆ ก็บอกให้ขาย และขายดี

“ตอนนี้เรายังไม่ได้ส่งขายไกล ยังขายในพื้นที่ นอกจากพริกแกงทั่วไป เรายังพัฒนาพวกผัดเผ็ด แกงส้ม แกงกะทิ และเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี คือเป็นซอสตูมิตูมิ เป็นเครื่องแกงชนิดหนึ่ง เป็นอาหารท้องถิ่นของเรา ทำมาทำเป็นซอสที่พร้อมรับประทานได้ ซึ่งเจ้าของสูตรคือคุณแม่ (ปริศนา สุวรรณศักดิ์) แต่ถ้าเป็นเรื่องของการปรับปรุง การพัฒนา ก็เป็นส่วนของผม ก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยเข้าร่วมกับ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) เป็นที่ปรึกษา ส่วนพนักงานส่วนใหญ่ในโรงงานก็จะเป็นชาวมุสลิม” 

จักรพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน

“เราต่างกันแค่ศาสนา แต่เราอยู่ร่วมกันได้ เราคือบ้านเดียวกัน ยังอนุรักษ์ความเป็นพี่เป็นน้องกันอยู่ เราพยายามตั้งวิสาหกิจขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งที่ยังรักษาความเป็นพี่เป็นน้องกัน เราจะได้มีกิจกรรมมาทำร่วมกันทั้ง 2 ศาสนา เหมือนอย่างล่าสุดที่เราจัดปีใหม่ ให้คนมุสลิมมาทำกับข้าวที่โรงงาน ให้สมาชิกมากินข้าวด้วยกัน มากินไอติมด้วยกัน มาเจอกันอย่างน้อยปีละครั้ง”ยาลีหา กล่าว

“ช่วงโควิดที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจชุมชนก็ไม่มีรายได้ ไม่สามารถรวมตัวกันได้ การทำงานก็ต้องหยุดไว้ก่อน อยู่แต่ในบ้าน แต่ไม่ได้ลำบากหรือกระทบรายได้ของครอบครัวมากนัก เพราะรัฐวิสาหกิจชุมชนเป็นแค่อาชีพเสริม ช่วงเวลาที่เราว่าง เพราะปกติคนแถวนี้ก็จะกรีดยาง บางคนก็ข้ามไปทำงานที่มาเลเซีย เพราะมีส่วนปาล์มอยู่ฝั่งตรงข้าม เขาก็จะไปรับจ้าง ไปเปิดร้านอาหารบ้าง ไปเช้า-เย็นกลับก็มี ข้ามด่านธรรมชาติ

วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น หน่วยงานเกษตรอำเภอและจังหวัดนราธิวาส (พช.) หรือ กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานพลังงานจังหวัดนราธิวาส กอ.รมน. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 หน่วยงานทหาร ปศุสัตว์อำเภอ มหาวิทยาลัยนราธิวาส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและอื่นๆ

“เครื่องแกงของเราขายผ่านร้านค้าในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ แบบฝากขาย มีทั้งร้านพุทธและมุสลิม เน้นเป็นร้านอาหารสดมากกว่า เพราะจะขายได้ดีกว่า ถึงสินค้าเราจะยังไม่มีฮาลาล แต่คนมุสลิมที่มาซื้อเพราะเชื่อใจ พนักงานส่วนใหญ่ในโรงงานเป็นมุสลิม ซึ่งจริงๆ มีแผนจะขอเครื่องหมายฮาลาลในปีนี้“

นอกจากรัฐวิสาหกิจชุมชน ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่จักรพันธ์เชิญชวนให้คนในหมู่บ้านมาทำสวนพริกเพื่อต่อยอดคุณภาพชีวิต

“ผมจัดพื้นที่ให้คนมาทำกิจกรรมประมาณ 1 งาน มาปลูกพริก เพราะบ้านเรามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับพริกค่อนข้างเยอะ โดยผมจะให้คนที่ทำโครงการนี้ปลูกพริกเพื่อที่จะนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตในโรงงาน การเข้าร่วมปลูกพริกเขาสามารถนำไปต่อยอดปลูกเป็นผักครัวเรือนที่บ้านได้ ถ้าเขาสามารถปลูกได้เยอะเราก็จะสามารถชื้อกับกลุ่มคนเหล่านี้ได้”เขากล่าว 

ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มที่เข้าร่วมมุสลิมเกือบทั้งหมด โครงการจะมีทุกวันเสาร์ ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มคนอิสลามค่อนข้างมาก ตัวโครงงานเขาจะได้เรียนรู้การปลูกพริกทั้งหมด ทั้งการเพาะปลูก ปัญหาที่เจอทั้งโรค แมลง จะได้เจอและเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา ที่ผ่านมาเราทดลองปลูกมา 2 ครั้ง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

“ขณะนี้รายได้โรงงานอยู่ที่ 6 – 7  แสนบาทต่อปี ยังไม่ถึงเป้าหมายสำหรับการเป็นวิสาหกิจ มีการออมเงินกู้ มีสวัสดิการกรณีเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล คืนละ 200 บาท แต่จะได้กี่คืน อยู่ที่มูลล่าหุ้นที่ออม ใครออมเยอะก็ได้เยอะตามสิทธิ ทุกๆ 1,000 บาทที่ออม จะได้สวัสดิการนอนโรงพยาบาล 1 คืน พอถือหุ้นครบ 5 พันบาท เราจะให้ปีละ 1 คืนเพิ่มไปเรื่อยๆ อยู่ 10 ปี ก็ได้นอนโรงพยาบาล 10 คืน” จักรพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

image_pdfimage_print