ไอร้อนจากกำแพงและหลังคาสังกะสีแผ่ทั่วทางเดินของซอกซอยแออัด ผู้คนหลากหลายใบหน้าสลับสับเปลี่ยนออกมาใช้ชีวิต ทางเดินในชุมชนที่คับแคบทำให้ไหล่ผู้ผ่านทางกระทบกันระหว่างเดิน 

แม้พื้นที่แห่งนี้จะเคยเป็นที่โล่งกว้าง เป็นผืนดินที่ชาวนาปลูกข้าว แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นชุมชนแออัดที่ผู้คนเข้าจับจองเป็นเจ้าของ จากหนึ่งครัวเรือนเข้ามาปลูกบ้านอาศัย เพิ่มเป็นเกือบร้อยหลังคาเรือน ในช่วงเวลาผ่านมากว่า 90 ปี 

ที่แห่งนี้คือ ชุมชนซอยสะพานร่วมใจ ชุมชนแออัดริมถนนวิภาวดีรังสิตใกล้สนามบินดอนเมือง ระยะเพียง 10 กิโลเมตร พวกเขากำลังเผชิญการถูกไล่รื้อเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ทว่าผู้อยู่ในที่นี่กำลังต่อสู้กับการพัฒนาเพื่อรักษาชุมชนมีชีวิต ที่ขับเคลื่อน เติบโตด้วยคนต่างจังหวัด ผู้สูงอายุ และแรงงานผู้มีรายได้น้อย ที่อาศัยร่วมกันมาอย่างยาวนานเกือบชั่วศตวรรษ 

แรงงานอีสานผลัดถิ่นขออยู่ที่นี่จนวันตาย

เมื่อบ้านเกิดของแรงงานอีสานไม่ใช่พื้นที่แห่งความหวัง พวกเขาจึงฝากความฝันสุดท้ายไว้กับบ้านในชุมชนสะพานร่วมใจว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาจนสิ้นลม 

ประจวบ ศรีวิชา หรือ น้อย อายุ 68 ปี  ชาว อ.คง จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลว่าในหมู่บ้านมีคนอีสานอยู่มากกว่า 100 คน เธอบอกด้วยความเขินอายว่า เรียนจบ ป.4 จุดเริ่มต้นของน้อยก่อนจะมาตั้งตัวในเมืองใหญ่ คือ การทำไร่ทำนากับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด พออายุย่าง 19 ปี ก็ตัดสินใจเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ไม่ได้หวนคืนบ้านเกิดกระทั่งเกษียณอายุจากการโรงงานอายุ 55 ปี 

“มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ฉันเป็นคนโต มีญาติมาอยู่ก่อน ตอนนั้นเขาบอกโรงงานจะเปิดรับคนก็เลยมา พอมาถึงเขายังไม่รับพนักงาน เราก็ไปทำก่อสร้างรอ กระทั่งได้ทำงานโรงงาน รายได้วันละ 25 บาท” 

พอมาถึงญาติได้พามาอยู่ห้องแถวแห่งนี้ ซึ่งมีเพียงไม้กระดานเป็นวัสดุก่อสร้าง แม้ความไม่คงทนของส่วนประกอบของวัสดุก็ทำให้เธอสร้างครอบครัวอันอบอุ่นขึ้นได้ที่นี่   

“พอคนมาอยู่ก็เริ่มมีคนมาปลูกบ้านตามๆ กัน เจ้าของที่เขาก็ไม่ได้หวง 

เพราะที่ไม่มีโฉนดเขาเอาไว้ทำกินเท่านั้น” เธอเล่าประวัติของชุมชน

แต่เมื่อปี 2563 กลับมีเจ้าหน้าที่แจ้งให้คนในชุมชนรื้อย้ายภายใน 15 วัน เพราะต้องการนำที่ดินแปลงไปทำโครงการรถไฟความเร็วสูง 

นั่นหมายความว่า พวกเธอต้องเสียสละเพื่อการพัฒนา 

“ตอนนั้นคิดไม่ออก ไม่รู้จะไปอยู่ไหน เงินในบัญชีก็ใช้แบบเดือนชนเดือน เราก็รู้แต่แรกแล้วว่าไม่ใช่ที่ของเรา ก็ทำใจได้ แต่ถ้าจะให้ย้ายจริงๆ ก็คงใจสลายเหมือนกัน เพราะเราอยากอยู่ที่นี่” เธอกล่าวด้วยเสียงมุ่งมั่น   

กว่า 40 กว่าปีที่ประจวบปักใจว่า บ้านแห่งนี้เป็นที่พื้นที่ของเธอ หากจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นตามเงื่อนไขที่เคยเจรจาว่าให้ซื้อที่ดินซอยสายไหม 50 เพื่อทดแทนการรื้อย้ายเธอก็บอกว่าไกลเกินไปและที่ดินมีราคาแพงเกินกำลังทรัพย์ของคนจน 

“มันแพงเกินไป ไม่รู้กี่ล้าน เราไม่มีเงินขนาดนั้น จะเอาเงินมาจากไหน” เป็นความกังวลของหญิงชรา

นับจากวันนั้นคนในชุมชนก็เริ่มหารือถึงแนวทางในการต่อสู้เพื่อไม่ให้ต้องรื้อย้าย  

“จะขออยู่ที่นี่จนตาย เขาพาสู้ก็สู้กันไป เขาพาไปถึงทำเนียบก็ไป กรมธนารักษ์ก็ไป กระทรวงคมนาคมก็ไป ไปหมด” เธอเล่าถึงประวัติการต่อสู้

ไม่คิดหวนกลับอีสาน 

เช่นเดียวกับ อ่อนจันทร์ เรืองไพศาล วัย 60 ปี พื้นเพมาจาก จ.บุรีรัมย์ เธอหนีความลำบากจากการรับจ้างรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกิน เข้ามารับจ้างในเมืองใหญ่ ถึงตอนนี้ก็ 40 ปีแล้วที่ลงหลักปักฐานในชุมชน

“เริ่มมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 14 ปี เริ่มจากการค้าขาย เลี้ยงหลาน ตอนนี้เป็นแม่บ้านที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เงินเดือน 6 พัน ตอนที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ก็กลับบ้านเกิดปีละ 2 ครั้ง แต่ตอนนี้พ่อแม่ตายหมดแล้ว” 

“วินาทีที่รู้ว่า ถูกไล่ก็คิดว่า ถ้าเพื่อนบ้านไปไหนก็จะไปกับเขา ก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่า เขาจะไล่รื้อ เพราะเข้าใจว่า มันเป็นชุมชนที่อยู่ได้ อยากอยู่ตรงนี้ ไม่อยากย้ายไปไหน เราก็มาเช่าอยู่ตรงนี้มา 10 กว่าปีแล้ว”

อ่อนจันทร์ กล่าวเพิ่มด้วยน้ำเสียงหมดหวังว่า “ไม่คิดจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะผูกพันชีวิตกรุงเทพฯ แล้ว” 

“กลับไปก็ไม่รู้จะไปอยู่กับใคร ญาติพี่น้องก็มีครอบครัว เขาจะมาดูแลเราหรือ ดูแล้วเหมือนจะอาศัยใครไม่ได้เลย” อ่อนจันทร์ กล่าว 

90 ปีของชุมชนซอยสะพานร่วมใจ

ธนพร บัวรุ่ง หรือ ติ๊ก หนึ่งในผู้อยู่อาศัยในชุมชนและสมาชิกสหกรณ์เคหสถานให้ เล่าประวัติชุมชนว่า ก่อนจะกลายมาเป็นชุมชนซอยสะพานร่วมใจ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่รกร้างมาก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2474 มีบรรพบุรุษมาตั้งรกรากอยู่อาศัย และ “บุกเบิก” เพื่อทำนาดำรงชีพและเริ่มมีคนมาอยู่อาศัยขอเช่าพื้นที่ทำนาตามเส้นทางถนนวิภาวดีรังสิตยาวไปถึงพื้นที่ใกล้สนามบินดอนเมือง 

ผู้คนในชุมชนเลี้ยงปากท้องด้วยการทำบ่อผักบุ้ง เลี้ยงปลาและทำนาบัว สุรศักดิ์ บัวรุ่ง หรือ แดง ประธานสหกรณ์เคหสถาน ให้ข้อมูลว่า จากคำบอกเล่าของรุ่นพ่อแม่ว่า เมื่อปี 2502 กรมทางหลวงได้มาซื้อที่ดินข้างหมู่บ้านเพื่อเอาดินไปทำถนนวิภาวดีรังสิต ต่อมาจึงกลายเป็นบึง 

“ตอนนั้นกรมทางหลวงมาคุยว่า จะเอาที่อยู่หรือเอาค่ารื้อถอน ชาวบ้านก็บอกไม่เอาค่ารื้อถอน ขออาศัยอยู่ที่นี่ เขาก็อนุมัติให้อยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลานและเว้นที่ให้เราทำมาหากินไป คนสมัยก่อนเขาก็คุยกันพูดกันแบบง่ายๆ ว่ายกตรงนี้ให้อยู่นะ ไม่ได้มามีโฉนด ตกลงกันปากเปล่า ใครมาก็ขอเช่าขออยู่กัน เช่าเป็นข้าวสารข้าวเปลือกบ้าง” สุรศักดิ์ เล่า 

กระทั่งปี 2504 กรมทางหลวงสร้างถนนวิภาวดีรังสิต หรือที่เรียกว่า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เมื่อถนนสร้างได้ไม่นานการสัญจรมีความสะดวก ความเป็นเมืองจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง 

ต่อมาปี 2508 มีการก่อตั้งโรงงานใกล้พื้นที่ วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็เปลี่ยนไป จากต้องทำนาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงาน ผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจึงจำเป็นต้องหันไปเป็นแรงงานในโรงงาน และเริ่มมีผู้คนจากทั่วทุกภาคมาทำงานและมาขอเช่าอยู่อาศัยปลูกพื้นที่จากรุ่นปู่ย่าตายาย 

“สมัยนั้นไม่มีความชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ แต่เป็นการเล่าขานมาว่า ชาวบ้านเช่าที่อยู่กับคนชื่อ ผลา โกศล” ธนพร อ้างอิงประวัติชุมชนจากคำบอกเล่าและภาพถ่ายของชุมชน 

สุรศักดิ์ เล่าเสริมว่า เมื่อปี 2537 พื้นที่แห่งนี้เริ่มเป็นพื้นที่ทิ้งสิ่งของจากทางราชการ ทั้งคานที่เหลือจากการก่อสร้างทางรถไฟ และอื่นๆ 

ไล่รื้อภายใน 15 วัน

สัญญาณแรกเริ่มของการไล่รื้อเกิดขึ้นเมื่อปี 2539 เจ้าหน้าที่มีหนังสือเชิญให้คนในชุมชนไปสถานีตำรวจในข้อหาบุกรุกพื้นที่ของกรมทางหลวง เมื่อพูดคุยเจรจากันเรื่องจึงเงียบหายไป 

ต่อมาปี 2542 คนในชุมชนกว่า 90 หลังคาเรือนจึงนัดตั้งคณะกรรมการชุมชนและได้มีการจดทะเบียนชุมชน โดยสำนักงานเขตดอนเมืองรับรอง มีทะเบียนบ้าน มีน้ำประปาและไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 74 ครัวเรือน

ก่อนที่ฝันร้ายของชาวบ้านจะกลายเป็นจริง เมื่อปี 2562 ทางกรมทางหลวงขอเวนคืนพื้นที่ ทำหนังสือเชิญชาวบ้านและประธานชุมชนให้ร่วมประชุมในเรื่องการไล่รื้อออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน 

สาเหตุ คือ กรมทางหลวงจะดำเนินการก่อสร้างพื้นที่สำนักงานกรมทางหลวง เพราะทางหมวดลำลูกกาโดนไล่รื้อมาจากทางพื้นที่ที่สร้างรถไฟสายสีชมพู จึงต้องย้ายมาก่อสร้างในพื้นชุมชนอยู่อาศัย 

“หลังจาเจรจาตกลงกัน ทางกรมทางหลวงไม่ยินยอมแบ่งปันให้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ทางชุมชนได้ ยืนยันกับชุมชนว่ายังไงก็ต้องออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน เราขอร้องเขาว่า ยืดหยุ่นได้ไหม เพราะมีลูกหลานเรียนอยู่แถวนี้ ทำงานแถวนี้ มันย้ายออกเลยไม่ได้ในระยะเวลาเท่านี้ กว่าจะขนย้ายมันลำบาก เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ เขาต้องใช้พื้นที่เต็ม ยังไงก็ต้องออกภายใน 15 วัน

“หลังจากนั้นเลยปรึกษากับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ทางพอช.แนะนำให้ชุมชนเริ่มออมทรัพย์กันเพื่อหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งตอนนั้นก็ได้มีการไปสอบถามหาที่ดินใกล้เคียงชุมชนแถวซอยสายไหม 50 ซึ่งเราได้ข้อมูลมาว่า ราคาไร่ละ 9 ล้านบาทและต้องซื้อทั้งแปลงราคา 45 ล้านบาท เราไม่สามารถหาเงินมาได้ ตอนนั้นไม่รู้ต้องทำไง เราเลยออมเงินกันไปก่อน” 

เมื่อปี 2562-2564 ตัวแทนชุมชนสะพานร่วมใจได้ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพีมูฟ หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและกลุ่มสลัมสี่ภาค ยื่นข้อเรียกร้องปัญหากับกระทรวงคมนาคม ที่มี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รับผิดชอบในขณะนั้น

“พอพูดคุยกรมธนารักษ์ก็ยืนยันว่า คืนพื้นที่บางส่วนให้เรา 3 ไร่ 16 ตารางวา แต่ไม่ยอมลงสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร จนวันที่ 25 กันยายน 2565 เราได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์นิติบุคคลและเช่าที่ดินกับธนารักษ์โดยตรง” ธนพร กล่าว  

แสงสว่าง ความหวังใหม่ของคนจน

หลังจากนั้นจำนวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ก็เริ่มมากขึ้นเป็นกว่า 80 หลังคาเรือน แต่ด้วยปัจจัยการย้ายที่อยู่ใหม่ กลับไปอาศัยอยู่ต่างจังหวัด และเหตุผลอื่นๆ ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 40 หลังคาเรือน 

“ตอนแรกไม่คิดว่า ชุมชนจะได้มีโอกาสเข้าไปนั่งในกระทรวงคมนาคมได้พูดคุยกับรัฐมนตรี เราคิดแค่ว่า หน่วยงานต้องปฏิเสธการหาทางออก แต่วันนั้นที่เราเข้าไป เขารับเรื่องและบอกจะแก้ไข โดยให้หน่วยงานไปดูพื้นที่แบ่งปันกับชุมชน ให้ชุมชนอยู่อาศัยได้และไม่ผิดระเบียบอะไร แค่นี้พวกเราก็ดีใจแล้ว เหมือนเห็นแสงสว่าง เราเลยคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว”

ธนพรเล่าถึงความยากในฐานะการเป็นแกนนำชุมชนว่า ก่อนจะร่วมเคลื่อนไหวกับทางพีมูฟและสลัมสี่ภาค ช่วงปี 2562 ขณะกำลังจะโดนไล่รื้อ พื้นที่บางส่วนเป็นของกรมทางหลวงและสำนักงานเขตดอนเมืองลำรางสาธารณะเป็นผู้ดูแล ขณะนั้นผู้คนที่อาศัยในบริเวณลำรางสาธารณะ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่กรมทางหลวง พวกเขามีความกลัวที่จะโดนไล่รื้อจากเขตดอนเมือง 

“เราเป็นแกนนำ ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะไปคุยกับทางสำนักเขตดีไหม จะอ้างอิงว่าตอนนี้เราทำกลุ่มออมทรัพย์อยู่ อย่าเพิ่งรื้อถอนส่วนลำรางสาธารณะได้ไหม แต่อีกมุมถ้าคดีพลิก ถ้าเขาปฏิเสธจะทำอย่างไร คิดว่า ไม่มีทางออก เพราะที่ผ่านมาชุมชนใกล้เคียง ซอยวิภาวดี 80 (ซอยเจ๋งเป้ง) เขาไล่รื้อไปแล้วจากลำรางสาธารณะ” เป็นคำถามระหว่างเริ่มต่อสู้ 

แต่ต่อมาเธอได้ทำหนังสือไปที่เขตสำนักงานดอนเมืองอธิบายว่า อยู่ระหว่างการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งทางเขตฯ ได้ชี้แจงว่า พอช.เสนอที่ดินแถวสายไหมไร่ละ 9 ล้านบาทให้เพื่อให้ชุมชนซื้อ แต่คนในชุมชนยังไม่มีเงินและขอร้องว่า อย่าเพิ่งรื้อถอน เพราะยังไม่มีทางไป กระทั่งกระแสไล่รื้อเงียบ

ธนพรสรุปว่า จากการที่ต่อสู้มาตลอดจนสามารถต่อรองกับหน่วยงานรัฐว่า หวังว่าอยากให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรวยจน ไม่ว่าจะต้องไปอยู่ตรงไหนที่ไหน อยากให้มีความเป็นธรรม

หลังการหารือเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และตัวแทนชาวบ้านตกลงว่า จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง พร้อมกับการเจรจาแก้ปัญหาร่วมกับกระทรวงคมนาคม ส่วนกรมทางหลวงได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งคืนให้กรมธนารักษ์เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ผลการตกลงคือ ให้ชุมชนเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์

กระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2565 ชาวบ้านชุมชนซอยสะพานร่วมใจและ ชมฟ. ได้เจรจาพูดคุยในเวทีส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ชุมชนสร้างที่อยู่อาศัยตามนโยบายรัฐ โดยมี สรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ 

ไพโรจน์ งามจรัส ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวตอนนั้นว่า เข้าใจวิถีชีวิตของพี่น้องที่จำเป็นต้องใช้กฎระเบียบในขั้นตอนของราชการ ซึ่งมีความซับซ้อน การแก้ปัญหาให้ชาวบ้านจึงเกิดความล่าช้า 

“ข้าราชการไม่มีแนวคิดหวงห้ามพื้นที่โดยเหตุผลส่วนตัว และยินดีที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบ”

ขณะที่ สรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รับปากว่า กระทรวงมีความมุ่งมั่นผลักดันช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ดินที่ครอบครองอยู่หากไม่ได้ใช้ ก็ผลักดันให้พี่น้องได้ใช้ประโยชน์ ผ่านการทำงานร่วมกันกับประชาชน

ส่วน สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) บอกว่า ถ้าชุมชนจัดตั้งเป็นสหกรณ์และดำเนินการตามระเบียบแล้ว ทาง พอช. มีแนวทางที่จะส่งงบประมาณเพื่อสนับสนุนเรื่องระบบสาธารณูปโภค เช่น ถ้ามี 100 ครัวเรือน จะมีเงินสนับสนุนราว 5 ล้านบาท แต่จะต้องมาพิจารณาว่าจะใช้อย่างไร 

“ถัดมาคืองบประมาณบำรุงที่อยู่อาศัย สำหรับการสำรวจ ปรับปรุงบ้าน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับสำนักงานเขตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงได้” พอช.กล่าว   

เพราะเราคือผู้บุกเบิก

สุรศักดิ์ หนึ่งในลูกหลานชุมชนสะพานร่วมใจที่บรรพบุษอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เริ่มต้น เล่าว่าช่วงปลายปี 2563 นอกจากจะเคลื่อนไหวกับทางพีมูฟและสลัมสี่ภาคยังได้เข้ารวมกลุ่มกับเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ ชบฟ. ซึ่งมีทั้งหมด 9 ชุมชนรวมสะพานร่วมใจเป็น 10 ชุมชน เพื่อต่อรองกับทางกระทรวงคมนาคม

“เรายืนยันแล้ว เราไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นเจ้าของมาก่อน คือว่าสัญญาเช่ามันก็ไม่มี เราก็ไม่ได้เก็บ ก็ไม่มีอะไรก็ไม่มีที่จะไปยืนยันกับเขา เพราะว่าสมัยนั้นมันก็ไม่มีรูปถ่าย 2500 ไปที่แล้ว ไม่มีใครที่จะมีกล้องมีอะไร มันไม่เหมือนสมัยนี้ 

“ส่วนโฉนดที่ดินมันก็เป็นโฉนดเดียวกันจากที่เขาซื้อไปแล้ว ที่ตรงเขาเว้นให้เรา ให้เรามีทางเข้าทางออก ทางไฟเดิน เขาซื้อที่ดิน ขุดที่ดินไปแล้ว เขาก็ยังเว้นที่ไว้ให้เรา ประมาณสัก 15-16 เมตร”

แม้จะโดนมรสุมการกดดันไล่รื้อ สุรศักดิ์ยังคงยืนยันหนักแน่นว่า “จะไม่ไปไหน เพราะเราเป็นผู้บุกเบิก”

“แม้คนเขามาอยู่ทีหลังเรา มันก็เป็นเหมือนญาติพี่น้อง เพราะเราอยู่กันมานาน บางคนอยู่มา 30-40 ปี ถึงจะอยู่ที่หลังเราก็จริง ไม่ได้อยู่แค่ 5-6 ปี อย่างพี่น้อยก็อยู่มาตั้งแต่เขายังไม่มีลูก ลูกเขา 40 ปีแล้ว 

“ถ้ารัฐมีความจริงใจ มีความเห็นใจ ก็ลงมาดูแลคนจนบ้าง ไม่ใช่เอาแต่พวกนายทุนมาอย่างโครงการรถไฟแบบนี้ จะให้เช่าที่ก็ต้องเอานายทุนมาอ้าง ว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ธุรกิจมันแพง ไปให้คุณผมต้องเสียรายได้ปีหนึ่งเป็นพันล้านหมื่นล้าน ให้คนจนมันแค่ 5% จากรายได้ของเขา เขามาก็ต่อรองแบบนี้ ที่ของรัฐเขาจะให้คนรวย แต่คนจนไม่ค่อยเห็นหรอก เขาไม่เห็นหัวคนจน 

“ขนาดคนอยู่ในป่ายังไล่ออกจากป่า เราอยู่ในเมืองก็ไล่ออกจากเมือง เราต้องต่อสู้หาทางต่อรองกับเขา ถ้าเจอรัฐบาลเราก็คิดว่า น่าจะเจรจากันได้” สุรศักดิ์ กล่าว  

“อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย อยากให้เขาช่วยเหลือตรงที่ๆ เราอยู่ให้อยู่ ให้เช่าก็เอา แต่ว่าขอให้ได้อยู่ ถึงจะเสียค่าเช่า แต่ก็ขอให้คิดถูกๆ หน่อย อย่าคิดแพง เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ต่างชาติก็ยังให้เขาอยู่ คนไทยเหมือนกันจะไม่ให้อยู่หรือ” ประจวบ กล่าวด้วยน้ำสียงเว้าวอน

image_pdfimage_print