อีสานเป็นดินแดนที่มีผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอีสาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อัครสังฆมณฑล ท่าแร่-หนองแสง (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์) เฉพาะในพื้นที่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งประชากรเกือบทั้งหมดใน 8 หมู่บ้าน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน (PPTV Online, 2562, ออนไลน์) เพราะเหตุใดผู้คนในภาคอีสานจึงกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากเช่นนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอ่านดูแล้วก็ค้านกับภาพจำสังคมอีสานโดยทั่วไปเมื่อนึกถึงภาคอีสานแล้วจะพบว่าผู้คนโดยส่วนใหญ่มีความเชื่อยึดมั่นในพุทธศาสนาและศาสนาผี (ความเชื่อท้องถิ่น) แต่นั่นเป็นเพียงมายาคติที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ มองมายังภาคอีสาน ดังนั้น บทความนี้จะพาผู้อ่านได้มารากเหง้าแห่งความเชื่อที่สำคัญอย่างศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับผู้คนในท้องถิ่นพร้อมกับสร้างเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมการเมือง

การบุกเบิกการประกาศข่าวดีในอีสาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพระศาสนจักรคาทอลิกได้หยั่งรากลึกลงบนดินแดนอีสานล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการทุ่มเทเสียสละของผู้คนในอดีตไม่ว่าจะเป็นนักบวชและฆราวาสต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระศาสนจักรคาทอลิกให้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินอีสานและประเทศลาวเพื่อให้ผู้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสรับการประกาศข่าวดี เพื่อทำความเข้าใจที่ไปที่มาของเผยแผ่ศาสนาคริสต์สู่ภาคอีสานนั้นผู้เขียนจึงขอพาย้อนกลับไปยังสมัยรัตนโกสินทร์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์บนแดนอีสานคือการอาศัยเงื่อนไขในสนธิสัญญามงตินญี (Montigny Treaty) ในปี พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) ทางฝรั่งเศสขอทำสนธิสัญญากับสยามในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 4 โดยฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นรัฐอุปถัมภ์ การเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ในเวลานั้นฝรั่งเศสปกครองโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3) ผลของสัญญาดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการคุ้มครองคณะมิชชันนารีในสยามได้รับการคุ้มครองการสอนศาสนาและสามารถเดินทางเผยแผ่ศาสนาได้อย่างมีอิสระในดินแดนทั้งหมดของรัฐสยามและทำให้สยามได้รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาถือเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสมีสิทธิเท่าเทียมกับประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่ติดต่อค้าขายกับไทยในขณะนั้น (พรรณี พลไชยขา, 2536, หน้า 184)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) พระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis Vey) ปกครองมิสซังแห่งกรุงสยามได้รับการอภิเษก ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดมเดินทางจากภาคกลางขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาที่ภาคอีสานในปี พ.ศ. 2419 (ค.ศ. 1876) โดยเริ่มจากการไปดูแลกลุ่มคริสตชนที่หัวแก่งหรือแก่งคอยในปัจจุบันและนั่นคือร่องรอยแรกเริ่มของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในดินแดนอีสาน กระทั่งหลังการทำสนธิสัญญามงตินยี ในปี พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) พระสังฆราชเวย์ได้มีนโยบายที่ต้องการบุกเบิกงานเผยแผ่ศาสนาไปยังภูมิภาคอีสานและลาวเนื่องจากขณะนั้นจำนวนผู้กลับใจมานับถือศาสนาคริสต์ในสยามไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อตั้งมิสซังลาว (ภูมิภาคอีสานและประเทศลาว) พระสังฆราชเวย์จึงมอบหมายให้บาทหลวงหนุ่มสองท่านจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Étrangères de Paris; M.E.P) นำโดย บาทหลวงกองสตังต์ ยอห์น บัปติสต์ โปรดม (Constant Jean Baptiste Prodhomme) ทําหน้าที่เป็นผู้วางแผนการเผยแผ่ศาสนากับบาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก (François Marie Xavier Guego) เป็นผู้สอนคําสอนพร้อมด้วยครูเณรทองซึ่งเป็นครูคำสอนและคนรับใช้จำนวนหนึ่งเดินทางไปยังภาคอีสาน โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองอุบลราชธานี ทางคณะมิชชันนารีได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 476) 

บริบทของสังคมเมืองอุบลราชธานีในช่วงที่กลุ่มมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนานั้นมีกลุ่มชนชั้นในสังคมไม่หลากหลายมากนัก ได้แก่ กลุ่มอาญาสี่ พระสงฆ์ ไพร่และทาส เมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองขนาดใหญ่มีประชากรราว 5,000 คน ซึ่งต่อมาเมืองอุบลฯ ก็ได้รับการยกฐานะเป็น “มณฑลลาวกาว” ในช่วงของการก่อกำเนิดรัฐชาติ (nation-state) จึงทำให้เมืองอุบลราชธานีกลายมาเป็นศูนย์กลางการปกครองของมณฑลภายใต้ชื่อว่า “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย” โดยรัฐสยามมีอำนาจปกครองโดยตรงผ่านการส่งหลวงภักดีณรงค์เป็นข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองอุบลราชธานีและเป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (สุภาวณีย์ อมรจิตสุวรรณ, 2556, หน้า 22) ขณะนั้นเกิดความขัดแย้งแบ่งแยกกันเป็นสองฝ่ายระหว่างฝ่ายเจ้าพรหมเทวากับฝ่ายเจ้าราชบุตร บุตรเจ้าเมืองคนก่อนต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันเรื่องการฉ้อโกงภาษี (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 280) สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่เมืองอุบลราชธานีสืบเนื่องมาจากในช่วงการปกครองเมืองอุบลราชธานีของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (เจ้าหน่อคำ) เป็นเจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักสยามและเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายในระบบอาญาสี่ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับพระสังฆราชเวย์ เมื่อเจ้าพรหมเทวากลับไปกรุงเทพฯ มักจะพบปะกับพระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์และเจ้าพรหมเทวาเคยมีการปรารภว่ายินดีต้อนรับคณะมิชชันนารีที่จะไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเขตการปกครองของตน (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 476) 

การไถ่ทาสให้เป็นอิสระสู่การกลับใจเป็นคริสตชนกลุ่มแรก

เมื่อคณะมิชชันนารีเดินทางมาถึงอุบลราชธานีในวันที่ 24 เมษายน ปี พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) รวมเวลาเดินทาง 102 วัน คณะของคุณพ่อได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองทั้งสองฝ่ายก็ได้จัดพิธีต้อนรับและได้ดูแลคณะมิชชันนารีเป็นอย่างดีจากทั้งสองฝ่ายเนื่องจากต้องการพรรคพวกซึ่งทางคณะมิชชันนารีพยายามทำดีกับทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นการสงวนท่าทีในระหว่างรอทางการอุบลฯ ชี้ที่ดินเพื่อตั้งชุมชนคริสตัง ทางเจ้าเมืองได้จัดให้คณะมิชชันนารีพักอยู่ชั่วคราวที่ห้องด้านหนึ่งของศาลากลางจังหวัดซึ่งเป็นศาลว่าความ โดยขณะที่พักอยู่ที่ศาลากลาง ช่วงเริ่มแรกก่อนการก่อตั้งชุมชนคริสตังที่เมืองอุบลราชธานีนั้น คณะมิชชันนารีได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อทำให้การเผยแผ่ศาสนาประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจากการเข้าหาและช่วยเหลือกลุ่มทาสซึ่งเป็นเด็กและสตรีที่ถูกพวกกุลาจับตัวมาจากเมืองพวน ในแคว้นลาว จำนวน 18 คน 

ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของคณะมิชชันนารีและต้องการช่วยเหลือทาสกลุ่มนี้เพื่อหวังว่าจะทำให้เหล่าทาสได้กลับใจหันมานับถือศาสนาคริสต์รวมทั้งเพื่อเป็นการไถ่ทาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีสมกับเป็นมนุษย์ บาทหลวงโปรดมจึงทำการฟ้องกลุ่มพ่อค้าทาส สุดท้ายพวกทาสเลยได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ บรรดาทาสเหล่านี้ได้ขออยู่ในความคุ้มครองของคุณพ่อและได้สมัครเรียนคำสอน จนกลายเป็นคาทอลิกรุ่นแรกของเมืองอุบลฯ และภาคอีสาน ผลจากการไถ่ทาสดังกล่าวทำให้คณะมิชชันนารีได้รับการยกย่องนับถืออย่างมากในหมู่ชาวลาว (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 483)

ทาสที่ถูกจับตัวมาขายในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุโปรดม-ซาเวียร์เกโก)

ก่อตั้งชุมชนคริสต์แห่งแรกบนแผ่นดินอีสาน

จากนั้นทางการอุบลราชธานีจึงจัดหาที่ดินให้กับคณะมิชชันนารีอยู่ในที่ดินริมบึงทางตะวันตกของเมืองอุบลฯ ซึ่งเป็นหมู่บ้านร้างและมีสภาพพื้นที่เป็นป่ารก บริเวณนี้ถูกเรียกว่า “บุ่งกาแซว” (ปัจจุบันเรียกว่าบุ่งกระแทว) คณะมิชชันนารีก็ได้เข้าไปตั้งหมู่บ้านในที่ดินผืนนี้ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) บ้านบุ่งกะแทวจึงกลายเป็นชุมชนคริสตังแห่งแรกในอีสาน 

ต่อมาบาทหลวงโปรดมได้ทำการซื้อที่ดินในบริเวณนั้นและซื้อบ้านทรงลาวเก่ามาปลูกเพื่อเป็นโรงสวดชั่วคราวและเป็นบ้านพักของบาทหลวงด้วยส่วนคณะผู้ติดตามกับกลุ่มทาสที่บาทหลวงได้ช่วยไถ่ให้ได้รับอิสระและคนเจ็บป่วยพิการที่ขอบาทหลวงให้ความคุ้มครองก็พากันสร้างกระท่อมอยู่ใกล้ๆ กับกลุ่มบาทหลวงซึ่งมีจำนวนประมาณ 30 คน จนนำไปสู่การสร้างวัดหลังแรกทางคณะคุณพ่อและคริสตชนกลุ่มแรกนี้มีความศรัทธาต่อแม่พระมาก จึงได้เลือกแม่พระเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดน้อยของพวกเขา โดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดแม่พระนฤมลทิน” ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นวัดคาทอลิกแรกในภาคอีสาน หรือในปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระนิรมล (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 280-281) หลังจากตั้งหมู่บ้านได้สามสัปดาห์เหล่าบรรดาทาสในท้องถิ่นจำนวนมากต่างพากันเดินทางเข้ามาขอความช่วยเหลือจากคณะมิชชันนารีทำให้ชุมชนบุ่งกะแทวเกิดการขยายตัวจากการเข้ามาตั้งบ้านเรือนในชุมชน (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 485) 

การแพร่ธรรมภายใต้คติพจน์ “ปลดปล่อย เมตตาและยุติธรรม”

หลังจากตั้งชุมชนบุ่งกะแท่วได้สำเร็จ ช่วงแรกเริ่มของการตั้งมิสซังใหม่มิชชันนารียังต้องพึงพาทรัพยากรจากมิสซังสยามเนื่องจากคริสตังในชุมชนบุ่งกะแทวส่วนใหญ่มีฐานะที่ยากจนจึงทำให้มิชชันนารีต้องเลี้ยงดู (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 281) ต่อมาพวกลาวเทิงและลาวพวนได้มาเชิญให้บาทหลวงเดินทางไปสอนศาสนาให้กับพวกตน จึงทำให้บาทหลวงโปรดมและบาทหลวงอัลเฟรด มารี เทโอฟิล รองแดล (Alfred Marie Theophile Rondel) เดินทางออกจากเมืองอุบลฯในปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) เพื่อขึ้นไปสำรวจพื้นที่ผ่านอำนาจเจริญ นครพนมจนถึงหนองคาย ขากลับบาทหลวงโปรดมได้ทำการไถ่ทาสที่นครพนม 18 คนซึ่งกลุ่มนี้ได้ขอติดตามทั้งสองท่านมาที่อุบลราชธานีด้วย (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 281) 

เมื่อเดินทางผ่านมุกดาหาร บาทหลวงโปดมก็ได้ไถ่ทาสจากพวกกุลาอีกจำนวนหนึ่ง จากการที่บาทหลวงทั้งสองได้กลับมาพร้อมกับผู้ติดตามเป็นจำนวนกว่า 50 คนนั้น ทำให้บาทหลวงได้รับการชื่นชมยกย่องไม่ใช่เฉพาะในหมู่ประชาชนแม้แต่หลวงภักดีณรงค์ก็ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนบาทหลวงที่บ้านบุ่งกะแทว ผลจากการไถ่ทาสของบาทหลวงส่งผลให้การค้าทาสในอีสานซบเซาลงไปมาก แม้ว่าอันที่จริงการค้าทาสได้ถูกยกเลิกไปแล้ว (พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี, 2552, หน้า 73)

ต่อมาคณะมิชชันนารีได้เดินทางต่อไปยังหัวเมืองเหนือของภาคอีสาน โดยได้ขยายเขตงานไปยังหนองคาย นครพนม สกลนคร ด้วยความร้อนรน ทุ่มเทเสียสละและอุทิศตนประกาศข่าวดีของมิชชันนารีทำให้การประกาศข่าวดีค่อยๆ ขยายขอบเขตการดำเนินงานจนเกิดการเปิดศูนย์ท่าแร่ สกลนคร และหนองแสง นครพนมในปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) หลังจากการเปิดศูนย์คาทอลิกทั้งสามแห่งแล้ว (อุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม) ประชาชนในอีสานได้ยอมรับศาสนาคริสต์มากขึ้นและเกิดการเผยแผ่ศาสนาไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในอีสานโดยเฉพาะในพื้นที่อุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 503) 

ก่อตั้งคณะภคินีรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี

นอกจากนี้ มิชชันนารียังได้นำความช่วยเหลือเข้าไปสู่คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ การไถ่ทาส ความช่วยเหลือด้านคดีความ ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษาและด้านสังคมสงเคราะห์ ในห้วงเวลานั้นเกิดปัญหาโรคระบาดและข้าวยากหมากแพงทำให้ผู้คนในอีสานเสียชีวิตเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กกำพร้าพ่อแม่ อีกทั้งจากปัญหาของการซื้อขายทาสทำให้ครอบครัวต่างๆ ต้องแยกขาดจากกัน ด้วยเหตุนี้มิชชันนารีจึงได้ตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าขึ้นมาในปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) เวลานั้นมิชชันนารีมอบหมายให้อดีตหญิงทาส 2 คนดูแลอบรมเลี้ยงดูเด็กกำพร้าด้วยพร้อมกับสอนหนังสือและสอนคำสอนเบื้องต้นแก่เด็กกำพร้านี้ จึงนับได้ว่าเรือนหลังนี้เป็นโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในภาคอีสานและเป็นโรงเรียนแห่งแรกของเมืองอุบลราชธานี (กลับบางแสน, 2565, อ้างถึงในปกรณ์ พัฒนานุโรจน์, 2561, หน้า 60) 

ต่อมาเมื่อทั้งสองพี่น้องออกไปแต่งงาน คุณพ่อโปรดมได้รับหญิงสาวกลุ่มแรกจากวัดต่างๆ ที่คุณพ่อเจ้าวัดส่งเข้ามาโดยพวกเธอสมัครใจช่วยงานแพร่ธรรมรวมจำนวน 18 คน จึงถือว่าหญิงสาวกลุ่มนี้เป็นคณะนักบวชหญิงกลุ่มแรกของภาคอีสาน จนนำไปสู่การก่อตั้งอารามคณะนักบวชในปี ค.ศ.1889 ซึ่งมีชื่อว่า “คณะภคินีรักไม้กางเขนแห่ง อุบลราชธานี” และคุณพ่อโปรดมได้ขอได้เชิญภคินีจากอารามบางช้างมาช่วยงานมิสซัง จำนวน 3 รูป คือ ภคินีทนรับหน้าที่เป็นอธิการิณี ภคินีเปี่ยมรับหน้าที่เป็นนวกาจารย์และภคินีพลอย โดยจุดประสงค์ ของการก่อตั้งคณะนักบวชหญิงนี้เพื่ออบรมหญิงสาวให้เข้าใจจิตตารมณ์ของชีวิตนักบวชหญิงและเพื่อช่วยเหลืองานของมิสซังในด้านสังคมสงเคราะห์อย่างการรับเลี้ยงอบรมดูแลเด็กกำพร้ารวมทั้งเพื่อช่วยงานด้านการศึกษาผ่านการสอนคำสอนในโรงเรียนและรักษาพยาบาลผู้ป่วย (คณะภคินีรักกางเขน, 2565, หน้า 102)

บทสรุป

จากการที่มิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ.1881 (พ.ศ. 2424) เป็นต้นมา หากพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้ามาของศาสนาคริสต์ ทำให้เราทราบว่าการที่กลุ่มมิชชันนารีได้ช่วยเหลือในทางมนุษยธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยิ่งสร้างความศรัทธาต่อทั้งกลุ่มคริสตชนและทำให้ผู้คนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ ในอีสานก็เกิดความศรัทธาเช่นกัน ส่งผลให้ศาสนาคริสต์ได้ลงหลักปักฐานในอีสาน จนเป็นเหตุให้เราเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอีสาน ดังเช่นที่บ้านบุ่งกะแทว จังหวัดอุบลราชธานีหรือบ้านท่าแร่ จ.สกลนคร ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารในอีสานนั้นประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกก่อนที่งานเผยแผ่ศาสนาจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทยและนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านการทำงานของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสไปสู่สู่บาทหลวงชนพื้นเมืองในเวลาต่อมาซึ่งเชื่อมร้อยกับเครือข่ายศาสนจักรอย่างเข้มแข็ง

อ้างอิง

  • PPTV Online. (2562). “ท่าแร่” ชุมชนผู้นับถือคริสต์ใหญ่ที่สุดในไทย. เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 พฤษจิกายน 2562. สืบค้นจาก pptvhd36.com . (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
  • ขวัญ  ถิ่นวัลย์. (2563). 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. Blogspot. เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน 2563. สืบค้นจาก dondaniele.blogspot.com. (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
  • คณะอนุกรรมการหนังสือที่ระลึก. (2563). หนังสือสืบสานพันธกิจและตามรอยธรรมทูต ที่ระลึก 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. สกลนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป
  • พรรณี พลไชยขา. (2536). บทบาทของมิชชันนารีโรมันคาทอลิกในอีสาน ปี พ.ศ.2424-2496. สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  • โรแบร์ กอสเต. (2562). ประวัติการเผยแผ่คริสตศาสนาในสยามและลาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). (อรสา ชาวจีน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.
  • สุภาวณีย์ อมรจิตสุวรรณ. (2556). “รากเหง้าคนอีสาน: เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย”. วารสารกฎหมาย. 6(12) กรกฎาคม-ธันวาคม 2556. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. หน้า 7-35
  • กลับบางแสน. (2565). การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอีสาน สู่จุดกำเนิดชุมชนคาทอลิกแห่งบ้านท่าแร่. เข้าถึงได้จาก ศิลปวัฒนธรรม: สิบค้นจา silpa-mag.com  (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
  • ขวัญ  ถิ่นวัลย์. (2563). 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. Blogspot. เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน 2563. สืบค้นจาก dondaniele.blogspot.com. (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
  • คณะอนุกรรมการหนังสือที่ระลึก. (2563). หนังสือสืบสานพันธกิจและตามรอยธรรมทูต ที่ระลึก 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. สกลนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป
  • คณะภคินีรักกางเขน. (2565). อนุสรณ์ 350 ปี คณะรักกางเขนในประเทศไทย. ปราจีนบุรี : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเจตนารมณ์ภัณฑ์.
  • พรรณี พลไชยขา. (2536). บทบาทของมิชชันนารีโรมันคาทอลิกในอีสาน ปี พ.ศ.2424-2496. สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  • โรแบร์ กอสเต. (2562). ประวัติการเผยแผ่คริสตศาสนาในสยามและลาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). (อรสา ชาวจีน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.
  • วิทยาลัยแสงธรรม. (2533). ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา-สังคายนาวาติกันที่ 2 (พ.ศ. 2098-2508). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ.
image_pdfimage_print