ทองใส ทับถนน ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน พิณ) ปี พ.ศ. 2555 ปราชญ์ศิลปินชาว บ.หนองกินเพล ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ศิลปินผู้มีความรู้ความสามารถด้านศิลปะการแสดง (พิณ) ด้วยลีลาลายพิณและท่วงทำนองโบราณจากพิณสองสาย ทำให้ทองใสในฐานะมือพิณชั้นครู มีลูกศิษย์จากทุกสารทิศมาเรียนรู้ กระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ของศาสตร์แห่งพิณให้แก่คนทั่วไปและผู้สนใจศึกษา

เส้นทางบนถนนสายพิณของทองใส ทับถนน เขาเริ่มฝึกดีดพิณเมื่ออายุ 4 ปี โดยการฝึกสอนของครูบุญ ครูพิณชาว บ.ท่างอย อ.วารินชำราบ เป็นท่านแรก กระทั่งการเกิดมาท่ามกลางวงล้อมของครอบครัวและหมู่ศิลปินพื้นบ้าน อย่างคณะหมอลำ ปิ่น ทับถนน คณะหมอลำของผู้เป็นพ่อ ก็ทำให้ทองใสได้ซึมซับอยู่กับเสียงดนตรี เสียงร้อง เสียงลำ ของศิลปินหลายคน จนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นศิลปินนักดนตรีและออกเดินทางเล่นพิณประกอบการแสดงร่วมกับคณะหมอลำของพ่อ เมื่ออายุ 8 ปี 

จากนั้นทองใสจึงได้เรียนรู้ลายพิณโบราณกับครูบุญชู โนนแก้ว ชาวบ้านโนนสังข์ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพื้นบ้านตาพิการซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อหมอลำปิ่น เป็นผู้มีฝีมือการดีดพิณลายโบราณเก่งมาก ทองใสจึงขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์และได้เรียนรู้ลายพิณพื้นบ้านอีสานแบบโบราณ โดยเฉพาะลายพิณลุ้นตุ๋ย ซึ่งเป็นที่มาของลายพิณ “ปู่ป๋าหลาน” ที่สร้างชื่อเสียงให้กับทองใสในเวลาต่อมา 

ในปี พ.ศ. 2511 เมื่ออายุได้ 21 ปี ทองใสได้เข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  จึงได้มีโอกาสเป็นนักดนตรี วงดนตรีสากล ประจำกองพันทหารปืนใหญ่ ได้นำพิณมาประยุกต์กับดนตรีสากลสมัยใหม่และเรียนรู้การเล่นดนตรี ตามแบบสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

ภายหลังจากพ้นเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ. 2513 ทองใสจึงกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดและเล่นพิณประกอบวงหมอลำตามแต่จะถูกเชิญ มีอยู่วันหนึ่ง ทองใสก็ได้ยินประกาศรับสมัครนักดนตรีพิณอีสาน เพื่อร่วมแสดงกับ นพดล ดวงพร ซึ่งแยกตัวออกมาจากวงดนตรีจุฬารัตน์ ทองใสจึงตัดสินใจเข้าสมัครอย่างไม่รีรอ และด้วยยุคนั้นสื่อทางวิทยุเป็นที่นิยม รายการวิทยุที่นพดลจัดก็เป็นรายการที่ชาวบ้านชื่นชอบรับฟังกันมาก ทำให้ครั้งนั้นมีผู้สมัครกว่า 100 คน 

ด้วยฝีมือและประสบการณ์ที่ทองใสสะสมมา ทำให้นพดลเลือกร้องเพลงใส่จังหวะพิณของทองใสเพียงคนเดียว และวันต่อมานพดลจึงได้ออกประกาศผ่านรายการวิทยุที่ตนจัดรายการให้ทองใสมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงของตน พร้อมทั้งให้ฉายาว่า “ทองใสหัวนาค” ฉายานี้ที่ได้มาก็เนื่องมาจากพิณของทองใสจะแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาค

หัวพิณรูปเศียรพญานาคของทองใส ทับถนน
ภาพ: เพชรพิณทอง นพดล ดวงพร

และต่อมาในปี พ.ศ. 2514 นพดล ดวงพร ได้จัดตั้ง “วงดนตรีพิณประยุกต์” ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในยุคนั้น กระทั่งสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 ขอนแก่น ได้นำเพลงพิณของทองใส ทับถนน ไปใช้เปิดเป็นเสียงประกอบในรายการต่างๆ และได้แสดงออกอากาศทุกวันเสาร์ จนเสียงพิณของทองใสกลายเป็นเสียงพิณที่ติดหูของบรรดาแฟนเพลงแฟนดนตรีอีสานอีกครั้ง

ครั้งหนึ่ง นพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีพิณประยุกต์ไปแสดงถวาย ณ ที่ประทับเขื่อนน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น นพดลและทองใสก็ได้ถวายพิณแด่พระองค์ท่าน พระองค์ท่านทรงตรัสว่า “เพชรก็เพชร พิณก็พิณ” ส่วนคนที่เล่นชื่อทองใส เลยตั้งชื่อวงว่า “เพชรพิณทอง” ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา 

ในด้านเกียรติประวัติรางวัล เมื่อปี พ.ศ. 2543 ทองใส ทับถนน ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินดีเด่น” จ.อุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง (ด้านดนตรีอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้รับประกาศเกียรติบัตร “ผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมดีเด่น” จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10 และในปีเดียวกันนั้น ก็ได้รับเกียรติบัตร “ผู้ให้การสนับสนุนพิธีเปิดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก” จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี 

ส่วนปี พ.ศ. 2545 ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม รุ่นที่ 2 จากสำงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และในปี พ.ศ. 2546 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ 

ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ. 2547 ทองใสก็ได้รับรางวัลสุดยอดศิลปินอีสาน ประเภทพิณอีสานในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมา ทองใส ทับถนน ก็ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีศึกษา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ทองใส ทับถนน ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน พิณ ) ในปี พ.ศ. 2555 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติแห่งชีวิตของทองใสและครอบครัวอย่างยิ่ง 

จากจิตวิญญาณแห่งความเป็นศิลปินและครูผู้ถ่ายทอด ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาใกล้ไกลต่างเดินทางมาร่ำเรียนวิชาพิณกับครูทองใสเป็นจำนวนมาก ทั้งวิชาการดีดพิณ ลายพิณโบราณ หรือแม้แต่วิชาการสร้างเครื่องดนตรีอย่างพิณ ก็ทำให้ทองใสในฐานะครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา เป็นที่นับหน้าถือตาของบรรดาศิษย์ตลอดไปซึ่งครูทองใสเองก็ได้ย้ำกับศิษย์ทุกคนว่า 

“ไม่มีใครที่จะสามารถเรียนรู้และเก่งได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องมีครู ครูคนแรก คือ พ่อแม่ ครูคนที่สองคือครูที่โรงเรียน ส่วนครูพิณ แม้จะเรียนรู้โดยวิธีการจดจำและนำมาฝึกปฏิบัติเองแบบครูพักลักจำ หรือครูนิรนาม แต่ก็ยังถือว่าจำเอามาจากคนอื่นอยู่นั่นเอง”

กระทั่งเช้ามืดของวันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 04:53 น. โดยประมาณ ทองใส ทับถนน ได้จากไปอย่างสงบ สิริอายุ 78 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของสมาชิกในครอบครัว มิตรรักแฟนดนตรี และลูกศิษย์ที่เคยร่ำเรียนเพียรศึกษาวิชาพิณจากครูทองใส นับเป็นการสูญเสียปราชญ์ปรมาจารย์ด้านดนตรีพื้นบ้านครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ครั้งหนึ่ง เสียงบรรเลงเพลงพิณของศิลปินท่านนี้ได้สร้างความไพเราะเสนาะใจไปทั่วทั้งผืนแผ่นดิน

image_pdfimage_print