20160226_184104

สินไซฉบับนี้ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2535 รวบรวมและชำระโดยจินดา ดวงใจ ฉบับนี้เพียงแต่ถ่ายอักษร/ปริวรรตมาจากใบลาน/หนังสือผูกโบราณ โดยไม่ได้จัดบรรทัดคำกลอน ไม่มีอภิธานศัพท์คำลาวโบราณ และไม่มีฟุตโน้ตช่วยอธิบาย

ครั้งล่าสุดที่ฉันได้เจอย่า (อายุ 78 ปี) ย่าเหลือบไปเห็นหนังสือนิทานเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย (สินไซ) ที่ฉันวางไว้บนโต๊ะ เห็นแล้วก็เอื้อมหยิบมาเปิดอ่าน

อ่านไปได้สักพักฉันจึงถาม “เป็นไง อ่านยากมั้ยย่า”

“ไม่ ไม่ยาก” ย่าส่ายหัว “อ่านเข้าใจ๊” หางเสียงตวัดขึ้นราวกับจะยืนยันว่ามันง่ายเหมือนปอกก้านคะน้าอย่างที่ย่าเคยทำทุกเช้า—แต่ทำไมมันอ่านยากอ่านเย็นเหลือเกินสำหรับฉัน

คนรุ่นย่าคุ้นเคยดีกับ สินไซ และ ผาแดงนางไอ่ เท่าๆ กับที่รู้จัก นิทานอีสป เรื่องต่างๆ แต่สำหรับคนรุ่นฉันน่ะหรือ อย่าว่าแต่คุ้นเคยเลย จะรู้จักหรือเปล่ายังไม่แน่ ในเมื่อไม่มีใครที่โรงเรียนพูดถึงและเดี๋ยวนี้ศิลปินเขาก็ไม่ค่อยลำเรื่อง สินไซ หรือ ผาแดงนางไอ่ กันแล้ว

ฉันได้หนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญจากนักเขียนชาวกาฬสินธุ์ นามว่า วิทยากร โสวัตร (อายุ 38 ปี) ซึ่งตัวเขาได้หนังสือเล่มนี้มาจากวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสานสมัยที่เขาบวชเป็นสามเณร เขาเล่าให้ฉันฟังถึงแม่ผู้ล่วงลับ ว่าเมื่อไรที่ท่านอ่านออกเสียง ตัวอักษรภาษาไทยก็จะออกมาเป็นสำเนียงลาว และเป็นเช่นนี้เสมอไปไม่เว้นแม้แต่หนังสือหัดอ่านภาษาไทย คนรุ่นโน้นเขาอ่านกันในสำเนียงบ้านเกิด

แม้ทุกวันนี้คนจะพูดภาษาลาวกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ เวลาคนเว่าลาวหยิบหนังสืออักษรไทยขึ้นมาอ่านออกเสียงทีไรกลับเป็นภาษาไทยมาตรฐานสถานเดียว การสูญเสียความหลากหลายนี้มีที่มาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงสยามรัชกาลที่ 6 มีการทำลายใบลานและหนังสือโบราณในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ประกาศห้ามใช้อักษรไทน้อย และก่อตั้งการศึกษาภาคบังคับซึ่งบังคับให้ทุกคนอ่านเขียนภาษาไทย ส่วนวัดที่เคยเป็นแหล่งรวบรวมวรรณคดีและเป็นแหล่งเรียนรู้การอ่านเขียนก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐส่วนกลาง คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะกล่าวว่าคนทุกหมู่เหล่าในภาคอีสานเป็นผู้รับมรดกตกทอดของความสูญเสียนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงนับถือความคิดริเริ่มของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งผู้ก่อตั้งโครงการอุตสาหะไปขอทุนมาได้ถึง 22 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทุนมาจากสหภาพยุโรป ภาษาลาวอีสานมีคนพูดในชีวิตประจำวันมากกว่า 11 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนอย่างน้อยสองเท่าของประชากรประเทศฟินแลนด์ และพอๆ กับจำนวนคนพูดภาษาแครโยลของประเทศเฮติ ซึ่งภาษาแครโยลนี้เองได้ประกาศใช้เป็นภาษาราชการแล้ว หลังจากถูกระบบการศึกษาของประเทศที่มุ่งสอนอ่านเขียนในภาษาฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียวละเลยมานาน ในทำนองเดียวกัน โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน (ICMRP) ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาชั้นต้นด้วยการนำภาษาลาวอีสานมาสอนกันเป็นกิจจะลักษณะ โดยจัดทำหลักสูตรนำร่องวิชา “ภาษาอีสาน” พร้อมตัวอักษรไทน้อย สอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาเขตเทศบาลเมืองขอนแก่นจำนวน 4 แห่ง โครงการนี้เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากครบกำหนด 4 ปี

จบโครงการนี้เราจะไปไหนต่อ? ในบรรยากาศทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีชื่นชมว่าคนอีสาน “น่ารัก” ที่ไม่ลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ความหวังว่าจะมีการขยายผลโครงการ “อีสานนิยม” เช่นนี้ในวงกว้างก็ดูจะริบหรี่เต็มที เมื่อหันมาพินิจดูว่านักเขียนร่วมสมัยจากภาคอีสานต่างก็ใช้อักษรไทยเขียนหนังสือ การต่อสู้เพื่อให้อักษรไทน้อยคืนถิ่นนั้นก็ดูเป็นเสมือนสมรภูมิที่ต้องขึ้นไปพิชิตข้าศึกที่อยู่บนยอดเขายังไงยังงั้น

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งยอมแพ้!

ทุกวันนี้ ยุคที่คนรุ่นใหม่จากภาคอีสานไม่ว่าจะยากดีมีจน อยู่ในหัวเมืองหรือในหมู่บ้าน ต่างก็พากันเล่นเฟซบุ๊ก เล่นโซเชียลแคม การใช้ภาษาลาวอีสานก็ได้แพร่หลายไปในโลกออนไลน์ ทั้งในรูปเสียงและตัวหนังสือ ทั้งในคลิปวิดีโอและกล่องข้อความแชท การปฏิสัมพันธ์ออนไลน์นี้เองที่ได้ก่อรูปให้เกิดภาษาเขียนของภาษาลาวอีสานขึ้นมาใช้ร่วมกัน

poster copy

โปสเตอร์โฆษณาของ สินไซแอนิเมชั่น รังสรรค์โดยศิลปินนาม ภราดร เสมาเพชร นักศึกษาระดับมหาบัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แม่นแล้ว การเขียนเช่นนี้โดยใช้อักขระไทย เขียนอย่างไม่มีมาตรฐานตายตัว แต่ไม่ว่าจะสะกดอย่างไรพอคนเว่าลาวเป็นอ่านออกเสียงมาแล้วมันก็จะเป็นลาวสำเนียงของคนคนนั้น ถ้าฉันคอมเม้นต์ตอบเพื่อนว่า “บ่เป็นหยัง” คนเว่าลาวอุบล คนเว่าลาวเมืองเลย ก็จะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์ประโยคนี้ต่างไปจาก “บอ-เป้น-หญัง!” ในแบบฉบับสำเนียงลาวศรีสะเกษอย่างฉัน

คนรุ่นใหม่ที่ฟัง-พูดทั้งไทยและลาวเดี๋ยวนี้หันมามอง “ภาษาอีสาน” ว่าเป็นของมรดกตกทอดจากอีพออีแม การฟัง-พูดหลายภาษาในชีวิตประจำวันยิ่งทำให้มุกตลกและการเล่นคำในภาษาลาวปนไทยแพร่หลายและแชร์ไปดาษดื่น โดยไม่ได้มีนัยยะของความอยากอายจนต้องปิดพรางแต่อย่างใด บรรยากาศการใช้ภาษาแม่เช่นนี้ช่างผิดแผกไปจากทัศนคติที่ว่าคนอีสานที่ฟังไทยกลางไม่ออกเป็น “คนโง่” อย่างที่ปรากฏในตัวละครพ่อบ้านในเรื่องสั้น “แขมคำ” ของ ลาว คำหอม (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2513) พ่อบ้านที่ด่าเมียและลูกสาวของตนว่าโง่เง่า ข้อหาไม่ยอมเข้าใจสักทีว่าที่ชายหนุ่มคนเมืองทักทายว่า “เกิดมาสวย” นั้นไม่ได้แปลว่า “เกิดมาตอนเวลาสายของวัน”

คนรุ่นใหม่ที่เอาฟอนต์ภาษาไทยมาใช้เขียน “ภาษาอีสาน” ในโลกออนไลน์หาได้นำพากับการขาดตัวเขียนที่เป็นเอกเทศพร้อมอักขรวิธีมาตรฐาน แม้แต่นักสร้างสรรค์งานวรรณกรรมที่คิดและพูดเป็นภาษาลาวอีสาน พอเขียนถึงรากเหง้าของคนอีสาน ก็ยังนิยมเขียนกันเป็นภาษาไทยมาตรฐานเป็นหลัก แล้วค่อยคลุกคำภาษาอื่นเข้ามาผสมพอให้มัน “แซบ”

เหลียวหลังแลหน้าแล้ว ฉันขอเสนอยุทธศาสตร์ทางเลือก ทางเลือกที่จะเป็นบายพาสการนำอักษรไทน้อยกลับมาอ่านและนำมาเป็นมาตรฐานไว้เขียนภาษาลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงตามที่โครงการ ICMRP ได้กรุยทางไว้

ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้มีสองแนวทาง แนวทางแรกคือให้แปลงวรรณคดีอีสานคลาสสิกเป็นเรื่องร่วมสมัยในหีบห่อที่คนรุ่นเยาว์เข้าถึงได้นอกเวลาเรียนตามอัธยาศัย

แนวทางที่สองคือให้แปลวรรณกรรมระดับโลกเข้ามาเป็นภาษาลาวอีสาน เพื่อเป็นการฟื้นฟูตัวภาษาเองให้มีที่ทางโลดแล่นในบรรณพิภพ

สิ่งที่เรียกกันว่า “วรรณกรรม” และ “วรรณคดี” ถูกนำมาสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการในฐานะขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมแห่งชาติ นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมต้นยันมัธยมปลาย ต่างก็ถูกฝึกให้อ่าน “วรรณกรรม” หรือ “วรรณคดี” เพื่อท่องจำคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย และเพื่อเรียนรู้ว่า “คำตอบที่ถูกต้องที่สุด” ในเรื่องการตีความและการดื่มด่ำวรรณคดีชิ้นเอกของชาตินั้นคืออะไร การอ่านแล้วได้ความเพลิดเพลินหรือได้ฉุกคิดอะไรขึ้นมาจริงๆ กลับกลายเป็นของหายาก ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นเลย

การเสพวรรณกรรมเพื่อความเพลิดเพลินจึงควรช่วยนำทางเรา ลองละสายตาจากโรงเรียนมาคิดเรื่องการเรียนรู้ในเวลาว่างดู เรื่องราวของน้องคนสุดท้องของฉัน (อายุ 10 ขวบ) น่าจะสอนอะไรเราได้บ้าง เธอไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่ง แต่เธอรู้จักตัวละครและเนื้อเรื่อง รามเกียรติ์ มากกว่าฉัน ว่างๆ เธอก็ดูยูทูบ ซึ่งรวมถึงซีรี่ส์แอนิเมชันภาษาไทยเรื่องรามเกียรติ์ สปอนเซอร์ซีรี่ส์ยอดนิยมเรื่องนี้คือบริษัทขนมแสน็คแจ็ค—ไม่ใช่รัฐบาล

20151211_085253

ฮูปแต้มเล่าเรื่องสินไซรอบผนังและหน้าต่างชั้นสามของพระมหาธาตุแก่นนครสูงเก้าชั้นในตัวเมืองขอนแก่น ภาพนี้ลำดับไว้ที่ 109 ถึงตอนสินไซกับสีโหพี่ต่างมารดากำลังเดินดงเพื่อทำภารกิจช่วยเหลือคนที่ถูกยักษ์ลักพาตัวไป

ดูยูทูบไปเรื่อยๆ น้องของฉันยังได้พบมุมมองที่แหวกขนบการตีความเรื่องรามเกียรติ์จากเพลง “นิราศลงกา” ของ Yaak Lab ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ชาวยักษ์ผู้ถูกกดขี่รวมตัวกันปกป้องเมืองของตนจากการบุกรุกของพวกพระราม ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ ทำไมถึงไม่ทำซีรี่ส์แอนิเมชันภาษาลาวเรื่อง สินไซ โดยระดมทุนเอาจากคนอีสานบ้าง?

การเดินทางท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสการศึกษา เมื่อฉันขับรถพาน้องหล่าและแม่จากศรีสะเกษไปเที่ยวขอนแก่นปลายปีที่แล้ว เราได้ไปเยี่ยมชมวัดพระธาตุหนองแวง เพลิดเพลินไปกับการเดาความหมายของภาพเขียนที่แสดง ขะลำ (พฤติกรรมที่ผิดจารีต) โดยไม่มีถ้อยคำประกอบ เสร็จแล้วขึ้นไปอีกชั้นเพื่อปะติดปะต่อเรื่องราว สินไซ จากจิตรกรรมฝาผนังหลายร้อยภาพ ถึงแม้ว่าฉันกับน้องจะไม่รู้พล็อตเรื่องเลย เราก็ยังเดินแกะรอยเดาเรื่องเอาจากภาพแรกจนภาพที่ร้อย ความสนใจตรึงอยู่กับสัตว์ในตำนานและคันธนูอัศจรรย์ของสินไซ ประสบการณ์เที่ยววัดครั้งนั้นทำให้เราสามคนรู้สึกได้เรียนรู้อะไรมากมาย

ซีรี่ส์แอนิเมชัน จิตรกรรมฝาผนัง และหนังสือ สินไซ สีสันสดใสก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง กล่าวคือเป็นการแปลของคลาสสิกให้กลายเป็นของร่วมสมัย อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ซึ่งก็ขาดไม่ได้—การแปลของต่างประเทศให้เข้ามาเป็น “ของเรา”—เริ่มต้นที่การเห็นค่าของภาษาลาวอีสานว่ามีความรุ่มรวยพอที่จะเป็นภาชนะรองรับวรรณกรรมระดับโลก

นานมากพอแล้วที่ภาษาไทยมาตรฐานเป็นพาหนะที่เชื่อมเราเข้ากับโลกการอ่านเขียน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราเหล่านักแปลที่เว่าลาวจะลองหันกลับมาพิจารณายกระดับภาษาพูดของเราเองให้เป็นภาษาปลายทางของการแปลวรรณกรรม วีรบุรุษผู้ก่อตั้งกรุงโรมแต่หัวใจเปราะบางอย่างอีเนียส งานเขียนของเวอร์จิล จะมีน้ำเสียงเป็นอย่างไรในภาษาของสินไซ? ถ้ามีการแปลวรรณกรรมภาษาอ็อคซีทานจากภาคใต้ของฝรั่งเศสมาเป็นภาษาของเรา มันจะช่วยฟื้นฟูจินตนาการของวรรณกรรมภาคอีสานของไทยได้มากน้อยแค่ไหน?

ในขณะที่ศูนย์กลางประเทศยังคงหลงลืมมรดกวรรณคดีของเรา ยังคงละเลยผู้ผลิตงานวรรณกรรมร่วมสมัยของเรา ก็ควรเป็นหน้าที่ของเราเองนี่แหละที่จะนำเอาโลกวรรณกรรมที่เราเห็นว่าสำคัญเข้ามาเป็นภาษาของเราโดยตรง ด้วยวิธีการนี้ เราจะสามารถเปล่งคำลาวออกมาจากตัวอักษรไทย—อย่างอัศจรรย์—ได้อย่างคนรุ่นยายย่าตาปู่ เพื่อการนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้อักษรไทน้อยหรือการอนุมัติของรัฐบาลก็ได้ สิ่งที่เราต้องทำก็แค่เพียงออกแรงจินตนาการ และร่วมกันทุ่มเทเสกสร้างมันให้เป็นจริงขึ้นมา

พีระ ส่องคืนอธรรม ทำงานเขียนและแปลอยู่ที่เมืองศรีสะเกษ ปัจจุบันกำลังแปลเรื่องสั้นของ ฆวน รุลโฟ เป็นภาษาลาวอีสาน

 

 

image_pdfimage_print