โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น –ขอนแก่นแฟนเก่าละครเวทีประกอบบทเพลงในบรรยากาศย้อนยุคเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ฝีมือการผลิตของกาสะลองการละคร ดำเนินเรื่องด้วยภาษาอีสานเพื่อบอกกล่าวเรื่องราวของคู่รัก 4 คู่ที่ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ จนกลายเป็นแฟนเก่าหรือไม่ก็พบอุปสรรคจากแฟนเก่า

ฉากร้องและเต้นของละครเวทีของนักศึกษา ม.ขอนแก่น เรื่อง “ขอนแก่นแฟนเก่า” ที่เป็นบรรยากาศย้อนยุคไปต้นยุคพ.ศ. 2500

แฟนใหม่กอด คิดฮอดแฟนเก่าเป็นคำนิยามที่สั้นๆ แต่สามารถดึงดูดใจข้าพเจ้าให้เข้าชมละครเวทีที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของนักศึกษาหลายคณะในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่องขอนแก่นแฟนเก่า

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างสรรค์ละครเวทีมาตั้งแต่ปี 2532 ละครเรื่องขอนแก่นแฟนเก่า” (The Unforgettable) เป็นผลงานลำดับที่ 29 และ เป็นผลงานลำดับที่ 10 ของกาสะลองการละคร (กาสะลองการละคร คือ กลุ่มผู้ผลิตละครของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.) “ขอนแก่นแฟนเก่า” จัดการแสดงวันละ 2 รอบ รอบแรกเวลา 17.30 น. และรอบที่สองเวลา 21.00 น. ไปถึงวันที่ 26 มี.ค.นี้ ณ โรงละครคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

รอบที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสคือรอบดึกเมื่อคืนวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดการแสดง เนื่องจากลืมตั๋วไว้ที่ห้องพักทำให้ข้าพเจ้าไปถึงงานช้ากว่าเวลาที่กำหนดประมาณ 10 นาที แต่การแสดงก็ยังไม่ได้เริ่มต้น ผู้เข้าชมทั้งหมดต้องรออีกเกือบชั่วโมงทีมงานถึงจะเชิญเข้าโรงละคร แต่ระหว่างนั้นก็มีการบอกกล่าวให้ทราบว่า การแสดงติดขัดและจะเริ่มช้ากว่ากำหนด  

ขณะซื้อตั๋วล่วงหน้าเมื่อหลายวัน ก่อนข้าพเจ้าเลือกที่นั่งแถวหน้าสุด ด้วยความหวังว่าจะได้เห็นการแสดงอย่างชัดเจน แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าที่นั่งของข้าพเจ้ากลับอยู่ในสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้เสียอรรถรสในการชมไปบ้าง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทีมงานควรใส่ใจด้วย เนื่องจากส่วนประกอบทุกอย่างในโรงละครถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง แต่ข้าพเจ้าไม่ได้หัวเสียเพราะเข้าใจว่านี่คือละครของนักศึกษาที่มีขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงครึ่งไม่มีช่วงเวลาไหนที่สมาธิของข้าพเจ้าจะหลุดออกไปจากเวที ยกเว้นช่วงท้ายที่ข้าพเจ้าเริ่มง่วงนอน และช่วงที่มีบทสนทนายาวๆ แล้วข้าพเจ้าฟังไม่ออก เนื่องด้วยความด้อยทางภาษาจากการที่เป็นคนกรุงเทพฯ ทำให้สื่อสารได้ชัดเจนเฉพาะภาษากลางอย่างเดียว ขณะที่ภาษาในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ รวมถึงภาษาลาวหรือภาษาอีสานที่ใช้เป็นบทพูดในการแสดงครั้งนี้จึงเป็นจุดอ่อนของข้าพเจ้า

ขอนแก่นแฟนเก่าเป็นละครชีวิตแนวคอมเมดี้ดราม่า มีการสอดแทรกบทเพลงและการเต้นรำตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวเอกในเรื่องมีอยู่ 4 คู่ โดยทุกคู่มีคนอื่นหรือแฟนเก่าเข้ามาพัวพัน

ฉากของคู่รักที่ความรักไม่สมหวังทำให้ทั้งคู่ต้องกลายเป็นแฟนเก่ากัน คนหนึ่งกลายเป็นคุณนายอีกคนเป็นชายติดเหล้า

ละครใช้ฉากของเมืองขอนแก่นในตอนต้นยุคปี 2500 ที่ขอนแก่นเริ่มมีการพัฒนาจากวิถีชีวิตดังเดิมที่เป็นวิถีเกษตรกรรม (ยุคดังกล่าวเป็นยุคก่อนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2507 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศโดยใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ที่ดำรงอยู่มาจบถึงทุกวันนี้ – ผู้เขียน)

ขอนแก่นแฟนเก่าสอดแทรกโครงการพระราชดำริไว้หลายโครงการ อาทิ การปลูกหญ้าแฝก และ การทำฝนหลวง แต่เป็นการบอกเล่าให้รับรู้เฉยๆ ว่ามีโครงการเกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ไม่มีการเชื่อมโยงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายปมปัญหาของตัวละคร

ตัวละครคู่แรกเป็นความรักระหว่างชายหญิงที่ท้ายที่สุดไม่ได้ครองเรือนกัน แต่ละคนต่างไปมีครอบครัวของตัวเอง ทั้งสองคนนี้จึงมีฐานะเป็นแฟนเก่าของกันและกัน แต่ทั้งคู่ก็ยังต้องพบเจอกันอยู่เสมอระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ฝ่ายหญิงนั้นได้กลายเป็นคุณนายเพราะมีสามีฐานะร่ำรวยที่มาจากกรุงเทพฯ ส่วนฝ่ายชายแปรสภาพเป็นคนขี้เมาที่มีเมียติดการพนัน  

คู่ที่สองเป็นเรื่องของลูกสาวของคนขี้เมากับแฟนหนุ่ม ทั้งสองต้องแยกจากกันเมื่อนักเรียนนอกฐานะดีเดินเข้ามาในชีวิตของฝ่ายหญิง ทำให้แฟนหนุ่มคนนี้กลายเป็นแฟนเก่า ขณะที่ฝ่ายหญิงไปคบหากับแฟนใหม่

เรื่องต่อมาเป็นความรักระหว่างชายหนุ่มที่มีฐานะยากจนกับหญิงสาวซึ่งเป็นหลานของคุณนาย ชายหนุ่มไร้ที่นาเลือกเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นเข้าไปทำงานในเมืองหลวงเพื่อเก็บเงินกลับมาขอหญิงสาวแต่งงาน แต่ก่อนจะครบ 1 ปีตามสัญญา อุปสรรคก็เกิดขึ้นจากมือที่สาม แฟนกันจึงกลายเป็นแฟนเก่าแบบไม่รู้ตัว

ฉากสถานีรถไฟขอนแก่นเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่บอกลาของคู่รักหลายคู่รวมถึงคู่รักคู่นี้ที่กำลังจะกลายเป็นแฟนเก่ากัน

คู่สุดท้ายคือครอบครัวพ่อแม่ลูกที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่งที่ฝ่ายชายซึ่งเป็นข้าราชการต้องเดินทางไปพบกับแฟนเก่าที่จังหวัดอุดรธานีด้วยเหตุผลจำเป็น ทำให้ปมปัญหาความรักเริ่มเกิดขึ้น

บทละครดำเนินเรื่องไม่ซับซ้อนเรียงตามลำดับเวลา ตัดสลับไปมาระหว่างชีวิตของคนในแต่ละคู่ซึ่งมีความโยงใยซึ่งกันและกัน

ถ้าต้องการได้รับความบันเทิงโดยไม่เน้นถึงความสมบูรณ์แบบอย่างมืออาชีพขอนแก่นแฟนเก่าเป็นละครเวทีที่เหมาะต่อการใช้เวลาด้วย ถ้าไม่เส้นแข็งจนเกินไปก็จะได้หัวเราะไม่ต่ำกว่า 10 รอบ มีจุดหักมุมอยู่บ้างแต่ไม่ถึงขนาดเป็นหัวใจหลักที่ทำให้เนื้อเรื่องพลิกผัน

ส่วนความสอดคล้องกลมกลืนของบทละครอยู่ในขั้นปานกลาง มีหลายฉากที่ควรถูกขยายความแต่ก็ไม่มีการขยายความ บางฉากก็โดดออกมาอย่างไม่สัมผัสกับฉากอื่น (ไม่แน่ใจว่าต้องการให้ผู้ชมคิดเอาเองไหม – ผู้เขียน) ขณะที่แง่คิดที่ละครต้องการสื่อถึงคือ การบอกเล่าวิถีชีวิตแต่เดิมของคนขอนแก่นที่ผูกพันกับการทำนาและท้องทุ่ง และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการสื่อคือ เรื่องของความรักที่ไม่สามารถบังคับฝืนใจกันได้

จุดที่น่าสนใจของละครเรื่องนี้คือการตั้งแก่นกลางของเรื่องโดยใช้แฟนเก่ามาเป็นประเด็นนำ  คำว่าแฟนเก่าในความเห็นของข้าพเจ้าเป็นคำที่มีความหมายได้ทั้งแง่ลบและแง่บวก แต่เท่าที่ประสบมาส่วนมากจะค่อนข้างไปในทางลบ คนที่เลิกรากันไปแล้วมักไม่ค่อยได้ติดต่อกันอีกเลย แต่การที่เราต้องพบเจอกันต้องเห็นหน้าแฟนเก่าอยู่เสมอมันก็ทำให้มีปัญหากับแฟนใหม่ จึงบอกได้ว่าโจทย์ของขอนแก่นแฟนเก่าชวนติดตาม

แต่ในทางตรงกันข้ามประเด็นความสัมพันธ์ในอดีตที่ตามมาหลอกหลอนชีวิตในปัจจุบันก็เป็นบทละครที่พบเห็นได้ทั่วไปขอนแก่นแฟนเก่าน่าจะทราบถึงจุดนี้จึงพยายามฉีกตัวออกไปด้วยการเติมบรรยากาศของขอนแก่นเมื่อกว่า 60 ปีก่อนเข้ามา แม้จะเป็นความพยายามที่ดีแต่ก็ยังหนีไม่พ้นรูปแบบละครเดิมๆ ที่เป็นอยู่เพราะไม่มีแนวทางใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้นำไปขบคิด

ทีมงานเบื้องหลังคือผู้ที่ทำให้การแสดงละครเวที “ขอนแก่นแฟนเก่า” ในโอกาสสิบปีทองกาสะลองการละคร ในปี 2560 ประสบความสำเร็จ

สำหรับผู้ที่อยากใช้เวลาว่างเพื่อหย่อนใจ เพลิดเพลินกับบทเพลงหลากหลาย และชมการแต่งตัวย้อนยุคสีสันฉูดฉาดขอนแก่นแฟนเก่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ต้องตัดสินใจเข้าชมโดยไวเพราะการแสดงรอบสุดท้ายจะมีขึ้นในคืนวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้แล้ว

 

image_pdfimage_print