โดย วิลาสินี โสภาพล

แรงงานสัญชาติพม่าที่เข้ามาทำงานที่จังหวัดขอนแก่นยังมีความผูกพันกับประเทศบ้านเกิดจึงมีร้านค้านำเข้าสินค้าจากพม่ามาให้บริการซื้อหา ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้วยประการนี้จึงทำให้แรงงานพม่าเชื่อมต่อกับเจ้าของโรงงานชาวไทยได้

บทความตอนที่แล้ว ดิฉันได้แสดงให้เห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของแรงงานข้ามชาติเข้ามาในพื้นที่ตอนในของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นที่พบว่ามีแรงงานข้ามชาติพม่าอยู่เกือบสี่พันคน การพูดคุยกับแรงงานพม่าในโรงงานแห่งหนึ่งที่มีแรงงานพม่ากว่า 1,500 คน ทำให้ทราบว่าช่วงแรกพวกเขาเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแต่เมื่อถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นโรงงานต่างๆ จึงยอมขึ้นทะเบียนแรงงานชาวพม่าให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การดิ้นรนเพื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่แห่งความหวังใหม่ แม้เป็นการทำงานภายใต้สังคมอุตสาหกรรมที่มีเวลาบีบอัดและมีเครื่องจักรเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตสินค้า แต่กลับพบว่าภายในชุมชนของพวกเขาไม่ได้มีวิถีชีวิตที่ต่างจากบ้านเกิดนัก ดังที่เขาได้กล่าวว่า “ทุกอย่างที่นี่เหมือนอยู่ที่พม่า แค่เพียงไม่ได้อยู่ที่ประเทศพม่าเท่านั้น” วิถีชีวิตของพวกเขายังผูกโยงกับพระพุทธศาสนาอย่างแยกไม่ออก (แรงงานชาวพม่ากว่าร้อยละ 99 นับถือศาสนาพุทธ) การบริโภคยังใช้สินค้าพม่าเป็นหลัก มีร้านค้าที่นำเข้าสินค้าพม่ามาขาย และแรงงานเหล่านี้ยังสามารถดูทีวีพม่าผ่านดาวเทียม

ร้านขายของชำกับชีวิตแรงงานพม่า

ในชุมชนแห่งนี้มีร้านขายของชำ 11 ร้าน บางร้านเปิดเป็นร้านตัดผม ร้านขายจักรยาน ร้านซ่อมจักรยานควบคู่กันไปด้วย  สินค้าที่นำมาวางจำหน่ายส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพม่าโดยซื้อสินค้าต่างๆจากตลาดพม่าในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อาทิ เสื้อผ้า ครีมบำรุงผิว หนังสือสวดมนต์ แผ่นซีดีเพลง แผ่นซีดีภาพยนตร์ อาหารสด อาหารแห้ง ฯลฯ

ย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว  จำนวนแรงงานข้ามชาติพม่าได้อพยพเข้ามาทำงานในจังหวัดขอนแก่นมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือ มีจำนวนทั้งหมดเกือบ 2 พันคน เมื่อมีจำนวนคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความต้องการบริโภคสินค้าพม่าเพิ่มมากขึ้นตามมา แต่การเข้ามาแบบผิดกฎหมายในช่วงแรกทำให้พวกเขาออกไปภายนอกไม่ได้ ต้องทำงานและอยู่กินภายในบริเวณจำกัดของโรงงาน พวกเขาจึงขออนุญาตโรงงานเปิดร้านขายของเอง ซึ่งในระยะแรกนายจ้างไม่เห็นชอบจึงเกิดการประท้วง การประท้วงดังกล่าวทำให้กิจการของโรงงานหยุดชะงักไปขณะหนึ่ง เนื่องจากแรงงานข้ามชาติพม่าหนีไปทำงานที่อื่นเป็นจำนวนมาก ทำให้ในที่สุดนายจ้างต้องยอมรับข้อเสนอในการจัดตั้งร้านค้าในชุมชนพม่าหลังโรงงาน ร้านค้าในชุมชนยังจำหน่ายของสดที่รับมาจากตลาดบางลำภูในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นด้วย

การขายอาหารในร้านค้าของชุมชนแรงงานพม่าที่จ.ขอนแก่น

ปัจจุบันร้านค้าถูกสร้างเลียบไปตามถนน หลังคามุงด้วยหญ้าคาปนกับสังกะสี ประตูหน้าห้องเปิดโล่งเพื่อโชว์สินค้า ร้านค้าบางร้านจะขายอาหารพม่าด้วย โดยวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดของโรงงานอาหารจะขายดีเป็นพิเศษ เจ้าของร้านเล่าให้ฟังถึงการเดินทางของสินค้าที่ขายในร้านว่า

“สินค้าพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากแม่สอดที่ตลาดพาเจริญ (ตลาดพม่า-ผู้เขียน) บางส่วนอย่างพวกผ้าซิ่นหรือเสื้อผ้าก็มาจากย่างกุ้ง ไปซื้อที่แม่สอดมันสะดวกกว่าเราไปซื้อที่อื่นนะ เพราะเป็นของมาจากพม่า สินค้าก็มาลงที่นี่เดือนละครั้ง จะลงแม่สอดตลอดช่วงประมาณกลางเดือน วันที่ 12 ก็จะเอาของมาลงแล้ว” (อะวิน, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2557)

นายู ผู้ที่เปิดร้านขายของในชุมชนเป็นร้านแรกๆ บอกว่า

สินค้าร้านของตนพี่มาจากแม่สอด ที่แม่สอดมีทุกอย่างที่คนพม่าต้องการอยากได้ เพราะแม่สอดมีคนพม่าอยู่จำนวนมากเยอะไง ปัจจุบันเดี๋ยวนี้การขนส่งมีความมันสะดวกสบายกว่าอดีตแต่ก่อน มีรถโดยสารวิ่งสายตรงจนเลยก็ถึงขอนแก่นแล้ว ทำให้สินค้าข้ามเข้ามานี่ได้เร็วขึ้น สามารถเราโทรสั่งสินค้าที่แม่สอดเพราะเอา พอดีมีเครือข่ายคนพม่าอยู่ที่นั่น จึงก็โทรบอกเขาว่าต้องการอยากได้อะไร ทางนั้นเขาก็จะจัดหาสินค้าให้เรา แต่บางทีนายูเราก็ไปเลือกสินค้าเองบ้างนะ บางทีเครือข่ายที่นั่นก็เขาเลือกไม่ถูกใจ พอได้สินค้ามา นายูเราก็ต้องให้เขาว่าจ้างเหมารถขนมาส่งมาเราที่จังหวัดขอนแก่น (นายู, สัมภาษณ์, 22 สิงหาคม 2557)

แรงงานพม่ายังมีวิถีชีวิตผูกพันกับบ้านเกิดสังเกตได้จากการนิยมใช้สินค้าที่นำเข้าจากพม่าอย่างมาก

“คนพม่าชอบใช้อะไรแบบเดิม กินอะไรเหมือนที่เขาเคยทำตอนอยู่บ้านเกิด เลยได้เปิดร้านค้าเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ เพราะคนพม่าที่นี่ยังมีวิถีชีวิตแบบเดิมอยู่” นายูบอก

คำบอกเล่าดังกล่าวได้สะท้อนว่าสินค้าพม่าเป็นสิ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติพม่ารู้สึกไม่ห่างไกลจากบ้านเกิดของตนเอง

ศาสนากับวิถีชีวิตของคนไกลบ้าน

ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตแรงงานข้ามชาติพม่าในพื้นที่แห่งใหม่ ทำให้พวกเขาพยายามสร้างชุมชนขึ้นมาเพื่อทำให้ตนเองปลอดภัย ทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน พุทธศาสนาได้ถูกดึงเข้ามาเป็นแกนหลักในการรวมคนและสร้างชุมชนคนพม่าในจังหวัดขอนแก่น เห็นได้จากการจัดงานบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และการเดินทางออกไปทำบุญยังวัดรอบนอก เป็นต้น

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเถ้าแก่ผู้เป็นเจ้าของโรงงาน เนื่องจากเถ้าแก่เองก็มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าเช่นกัน ซึ่งเห็นจากหลายครั้งที่เจ้าของโรงงานพาพนักงานหลายร้อยชีวิตไปจัดงานบุญหรือทอดกฐินยังวัดใกล้เคียงโรงงานรวมถึงวัดรอบนอกเมืองขอนแก่น โดยเถ้าแก่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

พื้นที่ทางศาสนาจึงเป็นสิ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและแรงงานพม่า แรงงานพม่านำเสนอตัวตนผ่านการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเพื่อลบล้างทัศนคติมุมมองการที่ถูกมองว่าเป็นแรงงานคนหัวรุนแรงจากในการประท้วงต่อนายจ้าง ซึ่งเคยเกิดการประท้วงระหว่างปี 2548-2555 รวม 3 ครั้ง ด้วยภาพลักษณ์พุทธศาสนิกชนที่ดีที่เช่นนี้ของแรงงานชาวพม่านำเสนอ ทำให้ได้รับการยอมรับจากนายจ้าง ในขณะเดียวกัน การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถจัดงานบุญตามประเพณีศาสนาก็เป็นการซื้อใจแรงงานพม่าจากนายจ้าง เพื่อให้แรงงานทำงานในโรงงานต่อไปอย่างอดทนและซื่อสัตย์

พระสงฆ์กำลังแสดงธรรมเทศนาแก่แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า

ศาลาประกอบพิธีกรรมหรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “ตามาโย” ได้ถูกสร้างขึ้นช่วงกลางปี 2557 ก่อนนั้นเมื่อจะมีพิธีกรรมมักเป็นการนำเต๊นท์ผ้าใบมากางเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเพียงชั่วคราวเท่านั้น แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าร่วมกันบริจาคเงินกว่าหนึ่งแสนบาทและลงมือสร้างศาลาด้วยตัวเองโดยใช้เวลา ในวันหยุดงานของแต่ละคน มีการนำธงศาสนาพุทธถูกนำมาปักบนเสาศาลาและห้อยไขว้ไปมาตามตัวโครงสร้างศาลา ป้ายผ้าไวนิลขนาดใหญ่สั่งทำจากประเทศพม่าพิมพ์เป็นรูปพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่ พร้อมบรรจุข้อความบนป้ายว่า “แรงงานชาวพม่าในโรงงานแห่งหนึ่งร่วมกันสร้างถวาย เพื่อจัดงานถวายภัตตาหารพระและฟังธรรมเทศนา” ถูกแขวนไว้ด้านหน้าศาลาเพื่อบ่งบอกว่าใครเป็นเจ้าของของความศรัทธานี้

ระสงฆ์จากพม่ารับบิณฑบาตรจากแรงงานพม่าที่ตั้งชุมชนในจ.ขอนแก่น

ปลายปี 2558 พระสงฆ์พม่าจากเมืองตะโถ่งรับนิมนต์แล้วเดินทางมาที่ชุมชน ในแต่ละวันที่พระสงฆ์พม่าอยู่ในชุมชนแรงงานพม่าจะถวายภัตตาหารเช้า รับพรในตอนเช้า เลี้ยงอาหารคนในชุมชนโดยแรงงานพม่าจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ช่วงเย็นมีการทำวัตรเย็นโดยสวดมนต์เป็นภาษาพม่า และมีการสนทนาธรรมอย่างเป็นกันเองระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส การเข้ามายังชุมชนของพระสงฆ์พม่าในแต่ละครั้งเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถบริจาคเงินและสิ่งของส่งกลับประเทศของตนอีกด้วย

ดิฉันมีโอกาสเดินทางร่วมกับแรงงานพม่าและพระสงฆ์พม่ารูปนี้ไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อส่งพระสงฆ์กลับประเทศพม่า จึงได้พบว่าสิ่งของที่รับบริจาคถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทางเป็นจำนวนมาก เสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงอาหารแห้งถูกแยกบรรจุใส่กระสอบใบใหญ่ 4-5 กระสอบ เพื่อให้พระสงฆ์พม่านำสิ่งของเหล่านี้ไปบริจาคต่อให้กับผู้ยากไร้ทั้งยังมีเงินปัจจัยที่แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าร่วมกันบริจาคเป็นเงินบาทจำนวนหนึ่งแสนบาท โดยเงินปัจจัยที่ได้จากการทำบุญของแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าทั้งหลายนั้น พระสงฆ์พม่าเหล่านี้มักนำเงินไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าที่ประสบปัญหาในประเทศไทย และประเทศพม่า

การเดินทางเข้ามาของพระสงฆ์พม่าในชุมชนแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่การเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาที่เชื่อมความรู้สึกของคนพม่าในประเทศปลายทางที่เขาอาศัยอยู่ในปัจจุบันกับประเทศต้นทางหรือบ้านเกิดที่พวกเขาจากมาเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่พระสงฆ์พม่าได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของการรวมจิตใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่การส่งต่อความรู้สึกร่วมกันของผู้คนจากจากปลายทางไปยังต้นทางผ่านการร่วมกันบริจาคเงินและสิ่งของ และยังทำให้แรงงานข้ามชาติพม่ารู้สึกใกล้ชิดกับบ้านมากขึ้นเนื่องจากพระสงฆ์พม่าเหล่านี้เป็นคนที่พวกเขารู้จักและคุ้นเคยเมื่อครั้งยังอยู่ที่บ้านเกิดอีกด้วย

การดิ้นรนเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วยหวังจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นประสบปัญหาหลายประการ อาทิ การถูกหลอกจากนายหน้าบ้าง ถูกกดทั้งจากตัวบทกฎหมายและนายจ้างในประเทศปลายทางบ้าง รวมถึงทัศนคติของคนในประเทศปลายทางบ้าง ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของพลเมืองชั้นสองของประเทศไทย “ความเป็นคน” ของพวกเขาถูกแทนที่ด้วยทัศนคติแง่ลบที่ถูกสื่อผ่านสื่อโทรทัศน์และประวัตศาสตร์ชาติ ทำให้แง่มุมของการมองพวกเขาภายใต้ความเป็นมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับเราถูกสื่อออกมาน้อยมาก

ดิฉันจึงเพียงต้องการเพิ่มมุมมองอีกแง่มุมหนึ่งของแรงงานพม่าที่ไม่ถูกนำเสนอในสื่อของไทยมากนัก

 

 

 

image_pdfimage_print