โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ถ้าเอ่ยถึงบทบาทของสื่อมวลชนในกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การตรวจสอบรัฐบาลให้ดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทำหน้าที่เป็นพื้นที่ถกเถียงสาธารณะในประเด็นต่างๆ

ถ้าผู้เกี่ยวข้องเข้าใจหลักการดังกล่าว การเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ คงจะไม่เกิดขึ้น แต่คงเป็นเพราะคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย หรือ สปท. ทำหน้าที่เป็นรับผิดชอบด้านการปฏิรูปสื่อ ปัญหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้น

สาเหตุที่บอกว่าปัญหามาจากตัว สปท. เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557  กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสปท. จำนวน 200 คน จากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี เพื่อดําเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ

จึงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า สมาชิกสปท.มีจุดกำเนิดจากนายกรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาต่อไปถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่านายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ขณะที่สมาชิก สนช. มาจากการเสนอชื่อของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ประเด็นสำคัญคือ หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นคนๆ เดียวกัน นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้อำนาจวนไปวนมาจนควบ 2 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะอนุโลมได้ว่า สปท. มีไว้เพื่อทำหน้าที่สืบทอดเจตนารมณ์ของการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ดังที่ คสช.ประกาศว่า ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยการปฏิรูปสื่อมวลชนเป็นการปฏิรูปด้านที่ 9 จากทั้งหมด 11 ด้าน

เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้างการปฏิรูปจะพบว่า การที่สปท. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 เสียง เป็นเพราะสปท.มีที่มาจากการปกครองในระบอบเผด็จการ สปท.จึงไม่เห็นความสำคัญของบทบาทสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย ว่าต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล สปท.จึงผ่านร่างกฎหมายควบคุมสื่อทั้งที่ขัดหลักการและถูกต่อต้าน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายควบคุมสื่อ กำหนดให้   

  1. มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยคณะกรรมการ 15 คน โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการ
  2. คำนิยาม “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์และเจ้าของเพจที่มีแฟนเพจติดตามนับหมื่นคน เพราะคนกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทั้งนักข่าวและบรรณาธิการแต่ไม่มีสังกัด  

ส่วนขั้นตอนต่อไปคือ สปท.จะต้องส่งร่างกฎหมายควบคุมสื่อให้คณะรัฐมนตรีและสนช.พิจารณาดำเนินการต่อไป

นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (คนที่ 4 จากซ้ายมือ หันหน้าเข้าหานายกฯ ไม่สวมแว่น) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อ ภาพจาก : มติชน

หลังจากยื่นหนังสือคัดค้านร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อต่อสปท.แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2560 นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่อง คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เนื่องจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระ พร้อมเปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึกชี้แจงว่า

  • นิยามของ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” มีความหมายกว้างขวางมากเกินไป จนเข้าไปกินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทั่วไป ทำให้บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
  • การแต่งตั้งตัวแทนภาครัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่การทำงานของสื่อมวลชนที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบกลายเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็อาจเกิดกรณีที่มีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

นอกจากมุมมองในประเทศแล้ว ยังมีรายงานจากต่างประเทศเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกำลังถูกแทรกแซง

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม โดยจัดให้ไทยติดอยู่ในอันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ร่วงลงมา 6 อันดับจากอันดับ 139 เมื่อปีก่อน

รายงานดังกล่าวระบุว่า เสรีภาพสื่อไทยถูกปิดกั้นเนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เกิดความสงบและเป็นระเบียบ ประเทศไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ในนามของ คสช. ซึ่งผู้สื่อข่าวถูกจับตาตลอดเวลา บางครั้งมีการเรียกตัวไปสอบสวน และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารมีแนวโน้มการถูกตอบโต้โดยกฎหมายที่เข้มงวดและด้วยระบบยุติธรรมตามคำสั่ง คสช.

ตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมาบ่งบอกได้ว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยตกต่ำลง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคสช. สื่อมวลชนที่ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกลับต้องถูกรัฐบาลตรวจสอบเสียเอง

แต่ก็น่าสงสัยว่า เมื่อมีการคัดค้านด้วยเหตุผลที่สมควรแล้วพล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตยจะยอมทบทวนหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่ทบทวนองค์กรวิชาชีพสื่อจะยกระดับการต่อสู้อย่างไรเพื่อให้ประชาชนทุกสีเสื้อและไม่มีสีเสื้อเห็นพ้องต้องกันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน

 

image_pdfimage_print