โดยพีระ ส่องคืนอธรรม

ไม่ค่อยมีการพูดถึงว่าตำนานลาวอีสานต้นกำเนิดบุญบั้งไฟเดือนหกเรื่อง พระยาคันคาก หรือ คางคกยกรบ มีการข่มขืนเกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่มด้วย หลังจากพระยาคันคากชนะสงครามกับพญาแถนบนสวรรค์แล้ว ไพร่พลโยธาทั้งหลายเห็นว่าพญาแถนถูกรัดและขังสิ้นฤทธิ์แล้ว ก็พากันไป “เล่นหย่องยี เฮ็ดบวบบี้ปี้ป่นอลหล” กับลูกสาวและเมียรักของพญาแถนและชาวเมืองแถนทั้งหลายกันยกใหญ่ โดยที่พระยาคันคากไม่ได้ด่าว่าอะไรในตอนนั้น

นิทานเรื่อง พระยาคันคาก มักถูกกล่าวขวัญถึงว่าเป็นเรื่องเล่าที่ยกระดับปุถุชนชาวโลกให้ถือไพ่เหนือเทวดาเมืองสวรรค์ เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องหมายของความทระนงและภาคภูมิใจในตนเองของคนอีสาน แต่เมื่อพินิจดูการข่มขืนในฉากสำคัญนี้แล้ว ผู้เขียนอยากตั้งคำถามดูว่า การสลับขั้วสถานะระหว่างชาวโลก (อีสาน) กับชาวฟ้านั้น นับรวมผู้หญิงหรือไม่? เหตุใดการข่มขืนนางและนางสาวเมืองฟ้าผู้พ่ายสงครามใน นิทานพระยาคันคาก จึงเป็นเรื่องยอมรับได้?

นิทานปรัมปราอย่าง พญาคันคาก (ในหนังสือเล่มที่ผู้เขียนอ่าน สะกดว่า “พระยาคันคาก”) เป็นของเก่าแก่ ไม่รู้ว่าใครแต่ง ไม่รู้ว่าเล่าครั้งแรกเมื่อใด ที่ปรากฏเป็นหลักฐานถึงวันนี้มีอยู่สี่สำนวน บทวิจารณ์ชิ้นนี้กล่าวถึงเฉพาะเวอร์ชั่น นิทานพระยาคันคาก ฉบับที่เรียบเรียงเป็นร้อยแก้วโดยเตชวโร ภิกขุ (อินตา กวีวงศ์) เจ้าอาวาสวัดสะอาดสมบูรณ์ ต.สะอาดสมบูรณ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ตีพิมพ์โดยบริษัท ขอนแก่นคลังนานาธรรม จำกัด เมื่อปีพ.ศ. 2543 เข้าใจว่าเรียบเรียงมาจากคัมภีร์ใบลานวัดโจดนาห่อม ต.คลีกลิ้ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งวยุพา ทศศะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ถ่ายอักษรไว้

คำถามเหล่านี้มิได้ตั้งขึ้นมาเพื่อประณามพล็อตเรื่อง “ข่มขืนคือการสั่งสอนคนชั่ว” ซึ่งเป็นตรรกะที่ยังพบเห็นกันอยู่ในละครโทรทัศน์เมื่อไม่นานมานี้ คำถามนี้มิได้ตั้งขึ้นมาเพื่อชักชวนให้ใครบอยค็อตหรือเผาหนังสือที่ผู้วิจารณ์ประทับตราว่า “เหยียดเพศ”

ที่ถามเพราะอยากรู้จริงๆ ว่าในตัวบทนี้ มีเหตุผลอะไรบ้างนะ ที่ทำให้การข่มขืนเป็นเรื่อง “โอเค” ถึงแม้ว่าตัวบทจะบอกเองว่ามันไม่ใช่เรื่องโอเคเพราะผิดศีลข้อสาม

(ในโลกความจริงอาจมีสถานการณ์ที่การข่มขืนสามารถเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ก็ได้ ดังเช่นในสงครามปลดปล่อยทาส การข่มขืนฆ่านายหญิงเจ้าทาสเพื่อล้มล้างระบอบทาสสามารถนับได้ว่าเป็นการปกป้องตนเอง)

ผู้วิจารณ์จะพยายามตอบคำถามเหล่านี้ผ่านการส่องสำรวจสถานะของผู้หญิงใน นิทานพระยาคันคาก ด้วยคำถามว่าผู้หญิงมีสถานะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ?

ก่อนจะแหวกว่ายไปในตัวบท ขอสรุปเรื่องราวใน นิทานพระยาคันคาก ก่อนเกิดเหตุการณ์สู้รบสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยสักเล็กน้อย เรื่องมีอยู่ว่า แต่ไหนแต่ไรมาชาวเมืองใต้หรือชาวโลกมนุษย์ต่างก็กราบไหว้บูชาพญาแถนอันเป็นเจ้าเมืองฟ้า อยู่มายุคหนึ่งโลกเกิดแห้งแล้งหนักเพราะพญาแถนไม่ยอมส่งฝนลงมาหาพื้นโลกตามฮีตคอง หรือจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาทุกๆ ปี พระยาคันคากผู้เป็นเจ้าชายมากบารมีในโลกมนุษย์จึงได้ยกไพร่พล พร้อมด้วยครุฑนาคและมอดแมลง ขึ้นไปรบกับพญาแถนเพื่อ “สั่งสอน” อันเป็นการท้าทายอำนาจผู้ที่เคยอยู่สูงกว่ามาตลอด

เมื่อฝ่ายพญาคันคากชนะสงครามในที่สุด ไพร่พลทั้งหลายเห็นว่าพญาแถนสิ้นฤทธิ์ ถูกรัดและขังไว้มั่นแล้ว ก็พากันไปกวาดทรัพย์สมบัติของพญาแถนและชาวเมืองแถนทั้งหลาย ทั้งเงินทอง ผ้าแพรไหม ลูกสาว และเมียรัก ข่มขืนลูกเมียพญาแถนกันต่อหน้าเจ้าตัวเลยทีเดียว!

“ทหารเฝ้ารักษาพวกไพร่ฟ้าพวกหมู่โยธา พากันไปยาดของแถนเจ้า ไปหาเอาของใช้เงินคำทุกอย่าง พวกสาวนางหนุ่มน้อยเขาเล่นหย่องยี เฮ็ดบวบบี้ปี้ป่นอลหล จับเอานางสาวมากอดชมดมแก้ม ฝูงหมู่แถนสาวน้อยเอามานอนฮ่วม ยูท่างชมหย่องเล่นสาวฟ้าชื่นชม คิงอ่อนอ้วนปานว่าสำลี มีแต่สาวคนดีเสพชมสมซ้อน เขาก็ชมสนุกเล่นสาวแถนกลิ้งกล่อม เอาสิ่งของอีกพร้อมทองแก้วบ่อยัง เอากระทั่งเมียลูกพระยาแถนทั้งแก้วแหวนเงินทองเครื่องของเอาเกลี้ยง … สงครามแล้วแนวแถนเสียเปรียบพวกพระยาลุ่มใต้ไปซ้อนเอาลูกสาว เอาของพร้อมเงินทองเกลี้ยงตลอด ปากบ่อได้นอนไห้อยู่ผู้เดียวนั้นแหล่ว” (หน้า 58-59)

น่าสังเกตว่าข้อความตอนนี้เล่าถึงการหยิบฉวยทรัพย์สินไปพร้อมๆ กับการฉุดหญิงสาวเชลยศึกไปนอนด้วย เล่าสลับไปสลับมาระหว่างเงินทองกับผู้หญิง “เอากระทั่งเมียลูกพญาแถนทั้งแก้วแหวนเงินทองเครื่องของเอาเกลี้ยง” จนก่อให้เกิดภาพเหมือนว่าโดยเนื้อแท้แล้วผู้หญิงก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งของในสถานการณ์นี้ นั่นคือเป็น “ของ” พญาแถนที่ยาดแย่งเอาได้

ทันทีหลังจากการยาดแย่งของของพญาแถน หมู่ผู้นำแถนก็พากันมาศิโรราบต่อพระยาคันคาก ยกเมืองให้ปกครอง และขอให้ไว้ชีวิตตน ข้างพระยาคันคากก็ตอบว่า “เฮาบ่อหวังมาสร้างเมืองแถนชิงยาดอีหยังนา เพียงแต่มาผาบแพ้พอได้สั่งสอน” ตอนที่ผู้วิจารณ์อ่านคราวแรกก็เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า อ้าว มาเพื่อปราบพอได้สั่งสอน ไม่ได้หวังมาแย่งชิงอะไร แล้วไพร่พลที่เที่ยวไปเอาผู้หญิงชาวเมืองเมื่อตะกี้ล่ะไม่นับเหรอ

จนเมื่อได้อ่านต่อไปจนจบ ถึงเข้าใจว่า อ้อ การได้ร่วมหลับนอนเฉยๆ ไม่นับว่าเป็นการแย่ง ต้องพากลับเมืองใต้นู่นถึงจะนับ

หลังจากฉลองชัยชนะอยู่บนเมืองฟ้าได้หลายเดือน พระยาคันคากก็ส่งสัญญาณให้ไพร่พลทั้งหลายเตรียมตัวกลับ โดยให้ไพร่พลนำสิ่งของเครื่องเงินทองแก้วกลับได้ตามใจชอบ แต่ไม่ให้นำเมียเมืองฟ้ากลับโลก ว่าแล้วพระยาคันคากก็จัดการคืนนางสนมเมืองแถนสี่พันนางที่ได้รับถวายคืนไปให้พญาแถนด้วย ณ จุดนี้ปรากฏว่าผู้หญิงมิใช่เพียงสิ่งของ แต่มีสถานะขึ้นมาทัดเทียมกับสัตว์คู่บ้านคู่เมืองอย่างช้างและม้า “เอาลูกหลานคืนเมือสู่คนเหมิดบ้านหลานเหลนหล่อนของไผคืนส่ง ช้างและม้าพระองค์เจ้าส่งคืน เอาแต่เงินคำแก้วของดีอันประเสริฐ” (หน้า 68)

เหตุผลที่พระยาคันคากยกมาเพื่อไม่ให้ไพร่พลพาหญิงชาวเมืองแถนกลับบ้าน ก็เป็นเรื่องประเพณีที่ผูกสตรีให้อยู่กับเหย้าเรือน ไม่เกี่ยวกับความสมัครใจของพวกนางแต่อย่างใด “ไผอย่าเอาสาวชู้เมืองแถนลงลุ่ม มันหากผิดฮีตเค้าครองเฒ่าแต่ประถม … เขาจักพลัดพรากบ้านพ่อแม่มารดา มันจักเป็นปาปังบาปเวรนำกัน ยามเมื่อมรณาแล้วตายไปลดชั่ว มันจักตกนรกฮ้อนนอนไหม้เวทนาเจ้าเอย” (หน้า 68) จารีตกำหนดว่าจะพรากหญิงจากบ้านพ่อแม่ไม่ได้ ไม่งั้นตกนรกหมกไหม้ แต่ไม่มีการพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์ ราวกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น

หลังจากกลับถึงเมืองลุ่ม พระยาคันคากได้ถวายโอวาทแก่ประชาชน ให้รักษาศีลห้า–ตายไปจะได้ไปเกิดบนเมืองฟ้าไปพบพ้อผู้สาวสุดสวยอีก!

“สูหากพากันเล่นเมืองแถนคิดฮอดคิดฮอดสาวส่ำน้อยเมืองฟ้าอยู่แถน เป็นเพราะสาวสวยโกโสภายอดสง่า เป็นเพราะสาวอยู่ฟ้าสวยล้นกว่าคน เป็นเพราะคนบุญมากล้นคนไปเกิดเมืองแถน เพราะบุญเป็นสายแนนส่งไปเมืองฟ้า … คันอยากไปเกิดก้ำเมืองมิ่งพระยาแถน อย่าไปนอนนำสาวแมนหมู่แถนให้จำไว้ สาวอยู่ในเมืองแถนนั้นผิวดีงามคล่องเป็นผิวทองละเอียดอ้วนนวลนิ่มอิ่มกะใจ คันอยากได้ให้สร้างแต่กองบุญ คือทานศีลภาวนาสิซ่อยพาไปเมืองฟ้าเจ้าเอย” (หน้า 74)

โปรดสังเกตว่ามีคำสอนไม่ให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางฟ้า (“อย่าไปนอนนำสาวแมนหมู่แถนให้จำไว้”) แสดงว่าพระยาคันคากตระหนักดีอยู่ว่าไพร่พลของตนกระทำอะไรลงไป  แต่คำสอนข้อนี้ก็จมหายไปในหมู่ประโยคที่พร่ำพรรณนาถึงความงามของนางฟ้า เป็นเครื่องล่อให้ชาวโลก(ผู้ชาย)ได้เข้าวัดทำบุญ มากกว่าจะเป็นคำสอนมิให้พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขาเคยทำมาแล้วเมื่อตอนไปรบที่เมืองฟ้า

ผู้วิจารณ์เล่าข้ามช็อตไปฉากหนึ่ง ตอนที่ไพร่พลของพระยาคันคากถึงเวลายาตรากลับโลก ได้เกิดฉากอารมณ์เศร้าซึ้งขึ้นระหว่างชายชาวเมืองลุ่มและสาวชาวเมืองบนกันยกใหญ่ ปรากฏว่าในระยะเวลาหลายเดือนที่อยู่เมืองบน เหล่าไพร่พลได้ต่างมีนางฟ้าเป็นคู่ซ้อนเสน่หากันถ้วนหน้า ฝ่ายชายชาวเมืองลุ่มก็หยอดคำหวานพากระสันให้ ฝ่ายนางฟ้าก็รำพันถึงความทุกข์ที่ผัวรักต้องจากไป

“คราวนั้นนารีน้อยนางสวรรค์เอิ้นสั่ง คันพี่ไปฮอดบ้านคณิงน้องผู้คิดนำแน่เดอ ฟังยินๆ แซวให้สาวแถวล้านโกฏิ์โทดๆ ไห้หาชู้ผู้ห่างไปพี่เอย เจ้าผู้ทิพยอดไท้ขวัญขอดในอก สังว่าไกลนางหนีบ่อ ต่าวคืนมาพี้ แม่นว่าเวรหยังข้องกรรมหยังได้น้าวจ่อง เวรของนางหม่อมน้องได้จำให้ห่างสอง ขอให้คิดฮอดน้องผู้คองอยู่เมืองแถน อย่าได้ไลเมืองแมนให้หมั่นมานอนช้อน” (หน้า 70)

กลุ่มอาการสต็อกโฮล์มซินโดรม (ความผิดปกติทางจิตที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ถูกจองจำหรือถูกลักพาเกิดความเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายเสียเอง) นี้แพร่สะพัดไปทั่วหมู่นางฟ้า “จำเลยรัก” บางคนนอนลงดิ้นเกลือกฝุ่น บางคนร่ำไห้ล้มทั้งยืน ทั้งสองฝ่ายต่างพร่ำรักอาลัยไม่อยากจาก น่าสนใจว่าเป็นฝ่ายหญิงเองที่ออกปากกำชับฝ่ายชายว่าอย่าได้ลืมไลเมืองฟ้า ให้หมั่นมานอนซ้อนร่วมรัก หรือว่าการข่มขืนเมื่อคราวแรกนั้นไม่มีความหมายอะไร เพราะเมื่อได้กันแล้วพระ-นางก็ลงเอยรักกัน?

ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อความตอนนี้ก็แสดงให้เห็นว่านางฟ้าเหล่านี้มีความเป็นคน มีอารมณ์ความรู้สึกและสื่อสารผ่านคำพูดได้ กระนั้นก็ตาม “ความเป็นคน” ในที่นี้มิใช่ “ความเป็นมนุษย์” ในความหมายของการเป็นปัจเจกชนที่เป็นเจ้าของตนเอง สามารถคิดเองได้ คำขอให้ผัวหมั่นกลับมาร่วมรักกับพวกนาง กลายเป็นเพียงคำพร่ำเพ้อของคนที่ไม่มีวุฒิภาวะพอจะตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง เพราะจารีตขีดเส้นไว้แล้วว่าพวกนางต้องอยู่กับพ่อแม่ที่เมืองฟ้า อีกทั้งพระยาคันคากก็ได้กำชับกับไพร่พลทั้งหลายว่าถ้าหากอยากเจอนางฟ้าแสนสวยอีก ให้หมั่นสั่งสมบุญ มิใช่เที่ยวไปนอนกับพวกนาง(อีก)

“ความเป็นคน” ของนางฟ้าทั้งหลายจึงหมายถึงเพียงความพึงพอใจในกาม ไม่ต่างจากไพร่ฟ้าชาวเมืองลุ่มทั้งหลาย ซ้ำร้ายอาจจะยังต่ำต้อยกว่าหมู่พลรบชาวโลก เพราะอย่างน้อยชาวโลกก็ยังมีทางเลือกทำบุญรักษาศีลเพื่อมุ่งไปสวรรค์ได้ แต่พวกนางฟ้านั้น ไม่สามารถทำตามความต้องการของตนเอง ไม่สามารถแม้แต่จะเป็นเจ้าของเรือนร่างอ่อนอ้วนปานสำลีนั้น

นิทานพระยาคันคาก กลับขั้วสถานะชาวเมืองลุ่มให้ขึ้นอยู่เหนือชาวเมืองบน สิ่งที่ว่ากันว่าสูงส่ง ปรากฏว่าก็มิได้สูงส่งไปกว่าเมืองลุ่ม ดังที่พระยาคันคากเตือนพญาแถนว่าชาวแถนได้ขึ้นมาอยู่เมืองบนก็เพราะได้สั่งสมบุญมาจากเมื่อครั้งอยู่เมืองลุ่ม จะลืมบุญคุณเมืองลุ่มไม่ได้

แต่การกลับขั้วสถานะระหว่างชาวเมืองลุ่มกับชาวเมืองทั้งหมดนี้ก็เกิดอยู่ใต้บรมโพธิสมภารของพระยาคันคาก ผู้มีบารมีมากเสียจนกระทั่ง เขาอธิษฐานขออะไร ก็ร้อนพระอินทร์ (คนละคนกับพญาแถน) จนต้องเนรมิตให้เมื่อนั้น ชัยชนะของชาวโลกและสันติภาพระหว่างโลกกับสวรรค์นั้นอยู่ได้ก็เพราะบารมีส่วนตนของพระยาคันคากเท่านั้น สงครามที่เกิดขึ้นมิได้ล้มล้างช่วงชั้นในจักรวาล เป็นแต่เพียงการสร้างสะพานข้าม(หัว)ชนชั้นเพียงชั่วคราว ในจักรวาลของ นิทานพระยาคันคาก จึงไม่มีใครเป็น “มนุษย์” ที่มีสิทธิเสรีภาพนอกจากพระยาคันคากผู้มีบุญญาบารมีถือสิทธิชี้ชะตาฟ้าดิน

นิทานพระยาคันคาก กำหนดสถานะสัตว์น้อยใหญ่รวมทั้งปลวกมอดแมลงให้อยู่ทัดเทียมกับไพร่พลที่เป็นคน

สำหรับนิทานที่สัตว์มีสถานะแทบจะทัดเทียมกับคนใช่เพียงเดรัจฉาน แต่มีส่วนร่วมในการรบตั้งแต่ต้นจนจบ มาขออาสาร่วมรบ อีกทั้งพระยาคันคากเองก็ได้ชื่อเรียกมาจากผิวหนังที่เหมือนคางคกของตน เป็นนิทานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บ่าวไทบ้านใจชื้นว่า ตนก็อาจมีหน่อโพธิญาณ อาจเป็นพระโพธิสัตว์เช่นท้าวคันคากได้

แทนที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าถึงสัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติด้วยการนำเสนอให้มีคุณลักษณะเหมือนมนุษย์ (anthropomorphize) ซึ่งเป็นหลุมพรางของแนวคิดที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล นิทานพระยาคันคาก กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม คือเรียกพระเอกของเรื่องตามชื่อสัตว์ และให้สัตว์กลายเป็นตัวละครที่มีบทบาทในสงครามทัดเทียมกับคน ใช้สมรรถนะตามธรรมชาติช่วยสงคราม ดังเช่น ให้ปลวกขนดินสร้างภูเขาขึ้นเชื่อมเมืองลุ่มกับเมืองบน ให้มอดไปกินด้ามอาวุธข้าศึกที่ทำจากไม้ ให้แมงป่องไปซ่อนในครัวข้าศึกรอต่อย ทั้งหมดนี้โดยไม่ได้กดสัตว์ลงเป็นตัวประกอบที่เป็นรองคนหนึ่งสมองสองมือเลย เกิดเป็นภาพความสามัคคีระหว่างสปีชีส์ที่ยิ่งใหญ่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของซุปเป้อร์แมน

แต่สำหรับประชากรเพศหญิงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองฟ้าหรือเมืองลุ่ม อย่างเก่งก็เป็นได้เพียง “นางแก้ว” คู่บุญบารมี เป็นหนึ่งในแก้วเจ็ดประการในครอบครองของพระเจ้าจักรพรรดิ ปรนนิบัติให้ “ผัวกินแล้วนางเมียจึงรับเศษ” (หน้า 12) เมียที่อาจเลื่อนสถานะไปมาระหว่าง คน สัตว์ และสิ่งของได้ทุกเมื่อ.

image_pdfimage_print