โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

การเป็นคนนอกพื้นที่ภาคอีสานทำให้มีมุมมองต่อสิ่งที่พบเห็นแตกต่างออกไปจากคนในพื้นที่ซึ่งอาจเคยชินต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และบางเรื่องราวก็สามารถนำมาสู่การตั้งคำถามเพื่อช่วยกันคิดหาคำตอบ   

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางจากเดอะอีสานเรคคอร์ด ที่อ.เมืองขอนแก่น ไปยังอ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ระยะทาง 346 ก.ม. เพื่อติดตามการทำงานของผู้สื่อข่าวอีสาน ในโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน รุ่นที่ 2 ประจำปี 2560

ออกจากเทศบาลนครขอนแก่นก็พบแต่ทุ่งนาสองข้างทาง

ข้าฯ เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว จึงมีโอกาสแวะตามสองข้างทางก่อนถึงจุดหมาย ตลอดสองข้างทางบนเส้นทางขอนแก่น เชียงยืน ยางตลาด ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลฯ ล้วนเต็มไปด้วยทุ่งนาที่มีการหว่านและดำแล้ว ที่น่าสังเกตคือ ตลอดระยะทางไม่ค่อยพบเห็นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ สิ่งที่ข้าฯ พบเจอสอดคล้องกับข้อเขียนเรื่อง ชนบทของเสื้อแดง ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวว่า เมื่อชาวนาอีสานเผชิญกับวิกฤตชนบทจึงต้องออกจากหมู่บ้านไปหาเงิน ทั้งในเขตเมืองของไทยและในประเทศต่างๆ

เรื่องที่ ข้าฯ คิดต่อมาก็คือ ทำไมถึงไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคอีสานเพื่อให้เป็น แหล่งสร้างรายได้ของคนในพื้นที่เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น

เมื่อขับรถถึงจ.ร้อยเอ็ด ข้าฯ แวะพักที่บริเวณบึงพลาญชัย สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัด ภาพที่พบเห็นคือ บึงที่ตกแต่งเป็นระเบียบ มีสะพานข้ามไปยังเกาะเล็กๆ ที่อยู่กลางบึง ถนนรอบบึงให้รถเดินทางเดียว โดยมีเส้นทางรถจักรยานและทางเดินเท้า ที่สำคัญคือไม่มีรั้วกั้น ทำให้เห็นทิวทัศน์ที่เปิดกว้าง

ทิวทัศน์บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด

ภูมิทัศน์บึงพลาญชัยมีความสวยงามและน่าเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ ข้าฯ คิดว่า ถ้าบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น มีการปรับปรุงภูมิทิศน์ในรูปแบบนี้บ้าง คงดึงดูดความสนใจยิ่งขึ้น แต่ใครควรไปบอกผู้รับผิดชอบล่ะ

เมื่อออกจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดได้ไม่กี่นาที ข้าฯ ตัดสินใจหักพวงมาลัยรถเลี้ยวขวาเข้าไปเยี่ยมชมอาคารล้ำสมัยรูปทรงแปลกตากว่าสถานที่ทั่วไปเพราะที่นั่นคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนจัดแสดงถาวรซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และส่วนของท้องฟ้าจำลอง เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ก็พบว่า ศูนย์ดังกล่าวสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ

อาคารท้องฟ้าจำลอง (ตึกขวา) ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด

ในห้องโถงกลาง มีการจัดแสดงเรื่องราวของไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งก็ไม่ต่างจากการจัดแสดงทั่วไป เพียงแต่ไม่มีการให้รายละเอียดว่า กว่าจะได้ไฟฟ้ามาแต่ละหน่วย ต้องแลกด้วยสิ่งใดบ้าง เช่น ต้องสูญเสียธรรมชาติ แม่น้ำ และวิถีชีวิต เพื่อใช้สร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี (ขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดเขื่อน 8 เดือน)  ต้องมีผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพื่อให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง  รวมถึงการถือกำเนิดโรงไฟฟ้าชีวมวล หลายพื้นที่ในภาคอีสานก็มีข่าวว่า พบการใช้พลังงานถ่านหินมากกว่าสัดส่วนที่กำหนด

ถ้าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ข้อมูลอีกด้านของการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้ควรรับรู้ด้วยหรือไม่

อาคารพญาคันคาก (คางคก) และอาคารพระยานาค ที่สวนสาธารณะพญาแถน จ.ยโสธร

ออกจากร้อยเอ็ดมุ่งหน้าสู่ยโสธร ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ สวนสาธารณะพญาแถน (พญาแถนแปลว่าเทวดา) ที่ติดกับอ่างเก็บน้ำลำทวน มีอาคารที่โดนเด่น คือ อาคารพญาคันคาก (คางคก) และ อาคารพระยานาค ช่วงบ่ายที่ข้าฯ ไปถึงมีผู้มาเยี่ยมชมไม่มากนัก สิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหารก็ไม่มีให้เห็น ร้ายขายของก็มีแต่สินค้าทั่วไปที่มีขายในหลายที่ ทำให้ข้าฯ คิดว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จหากจะพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่อีกสิ่งที่น่าคิดไม่แพ้กันก็คือ แล้วใครจะมาท่องเที่ยวหากสภาวะเศรษฐกิฐซบเซาขนาดนี้ เพราะขนาดแม่ค้าร้านลาบที่จ.ร้อยเอ็ดยังบอกเลยว่า ช่วงนี้ขายของไม่ค่อยดี แต่ลาบวัวร้านเค้าแซบหลายอยู่ 

โรงภาพยนตร์เดชอุดมเธียเตอร์ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ในวันที่ฉายภาพยนตร์เรื่องสไปเดอร์แมน ฉายภาพยนตร์รอบแรกเวลา 9 นาฬิกา และรอบสุดท้ายเวลาเที่ยงคืน

ข้าฯ ขับรถหลงทางไปพอสมควรและแวะพักหลายจุด  ทำให้กว่าจะถึงจุดหมายที่อ.เดชอุดมก็เป็นเวลาค่ำ คืนนั้นข้าฯ พักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในตัวอำเภอ สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่พักเล็กๆ แห่งนี้ให้เปิดให้จองห้องพักผ่านเวปไซต์ได้ด้วย มีอีกสิ่งที่ข้าฯ ไม่คาดคิดว่าจะเจอก็คือ ที่นี่มีโรงภาพยนตร์เดชอุดมเธียเตอร์เป็นโรงหนังชั้น 1 ฉายหนังชนโรงกับโรงหนังทั่วไปที่อยู่ในเครือโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง สิ่งนี้แสดงว่าธุรกิจความบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ด้วยตัวเอง (stand alone) ยังคงมีอยู่

วันต่อมาข้าฯ ติดตามผู้เข้าอบรมที่เป็นคนในพื้นที่ลงพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ที่ต.ท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม ทำให้พบเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไประหว่างชาวนาที่ทำนาในที่นาขนาดเล็กเพื่อเอาไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นลงของราคาข้าว กับชาวนาที่ทำนาในพื้นที่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ต้องนำข้าวไปขาย คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อราคาข้าว

ผู้สื่อข่าวอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดสัมภาษณ์ชาวนา ต.บ้านโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

จากการพูดคุยกับชาวนาในที่นาทั้ง 3 แปลงพบสิ่งที่ตรงกันคือ ราคาข้าวสมัยพ่อใหญ่ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ต่ำกว่าราคาข้าวเปลือกสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมัยพ่อใหญ่ทักษิณ (นายทักษิณ ชินวัตร) ราคาข้าวปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ก.ก.ละ 5-7 บาท ส่วนราคาข้าวสมัยรัฐบาลก่อนอยู่ที่ก.ก.ละ 10-15 บาท (ข้อมูลเรื่องราคาข้าวตกต่ำในรัฐบาลนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่นักข่าวอีสานอีกคนได้รับจากการลงพื้นที่ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์)

ชาวนา ต.บ้านโพธิ์ศรี เก็บต้นกล้าของข้าวในแปลงที่เพาะเอาไว้ เพื่อนำต้นกล้าไปทำนาด้วยการดำ

ส่วนข้อเรียกร้องของกระดูกสันหลังของชาติก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากอยากให้ราคาข้าวสูงขึ้นเท่ากับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังดี โดยชาวนาบางคนก็อยากให้พล.อ.ประยุทธ์หนีนายกรัฐมนตรี (ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)    

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้สื่อข่าวสอบถามชาวนาที่จ.อุบลราชธานี (7 ก.ค. 2560) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังขึ้นศาลเพื่อฟังการไต่สวนพยาน คดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำข้าว

นับเป็นภาพที่ตัดกันเป็นอย่างยิ่งเมื่อหัวหน้ารัฐบาลที่ช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้จากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด (ข้าวหอมมะลิราคาเกวียนละ 20,000 บาท หรือ ก.ก.ละ 20 บาท) ต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเพราะช่วยเหลือชาวนา จริงอยู่แม้โครงการรับจำนำข้าวจะมีจุดบกพร่องแต่มันควรจะเป็นแค่ความผิดเชิงนโยบายที่ไม่ควรจะเรื่องทางอาญาเช่นนี้ใช่หรือไม่ ในทางตรงข้าม หัวหน้ารัฐบาลที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อปี 2557 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้าวตกต่ำให้ชาวนาได้ ทำได้ก็คือ แนะนำให้ชาวนาเลิกปลูกข้าวแล้วหันไปเลี้ยงจิ้งหรีดหรือปลูกถั่วแทน (พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาราคาพืชผลอื่นตกต่ำด้วยเช่นกัน เช่น ยางพารา) เมื่อพวกเรานำข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไปสอบถามชาวนาทั้งหมดล้วนแต่ส่ายหน้า ส่วนอีกคำถามคือ ถ้าปลูกข้าวแล้วขาดทุนทำไมถึงปลูกข้าวอยู่ ชาวนาตอบว่า ก็เป็นชาวนาจึงต้องปลูกข้าวและพื้นที่นาหน้าฝนก็ไม่สามารถปลูกพืชผลอื่นได้

ไม่มีคำตอบจากผู้ดูแลลานรับซื้อข้าวเปลือก ที่ต.บ้านโพธิ์ศรี ถึงหลักเกณฑ์การตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา

กลับมาที่เรื่องราคาข้าวอีกรอบ นอกจากสอบถามจากชาวนาแล้ว พวกเราก็ไปสอบถามจากเจ้าของลานรับซื้อข้าวถึงการกำหนดราคา แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมถึงตั้งราคาเท่าไหร่ พวกเราจึงเข้าใจว่าราคาข้าวคงถูกกำหนดมาจากโรงสีร่วมกับพ่อค้าข้าวรายใหญ่ ข้าฯ จึงมีคำถามว่า การกำหนดราคาซื้อขายข้าวโดยผู้ซื้อฝ่ายเดียวยุติธรรมต่อชาวนาแล้วหรือไม่

ส่วนผู้บริโภคข้าวเองเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ทำไมบางปีที่ข้าวเปลือกราคาถูกมากๆ แต่ข้าวสารบรรจุถุงจึงยังขายราคาเท่าเดิมกับปีที่ข้าวเปลือกราคาสูง เพราะเหตุใดราคาข้าวสารบรรจุถุงจึงไม่ลดลงตามสัดส่วนราคาที่โรงสีและพ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ส่วนต่างตรงนี้ไปอยู่ที่ไหน

ขบวนแห่เทียนพรรษา ที่อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

การที่ข้าวเปลือกราคาตกต่ำนอกจากส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของชาวนาแล้ว ยังส่งกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวอ.เดชอุดมไปด้วย วันรุ่งขึ้น (8 ก.ค. 2560) ในงานแห่เทียนพรรษา แม่ค้าบอกว่า ปีนี้คนมาเที่ยวงานซื้อของน้อยลงกว่าปีที่แล้ว เหตุผลเพราะว่าราคาข้าวและราคายางพาราตกต่ำคนเลยไม่อยากใช้จ่าย

ข้าฯ สรุปได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีสิ่งต่างๆ ก็คงไม่ดีตามไปด้วย

สิ่งที่ได้พบจากการเดินทางรอบนี้คือ ภาคอีสานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไปเลื่อนจากการเป็นคนชั้นล่างขึ้นมาสู่คนชั้นกลางแล้ว ฉะนั้น จึงไม่สามารถบอกให้ชาวอีสานส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามมีตามเกิดพออยู่พอกิน หรือ แค่อยู่ดีมีแฮง เช่นเดิมได้อีกต่อไป แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในยุครัฐบาลเผด็จการทหารเช่นนี้

การเดินทางของข้าฯจากขอนแก่นไปอุบลราชธานีถึงจุดหมายปลายทางแล้ว แต่การเดินทางของชาวอีสานคงต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป คำถามก็คือ ชาวอีสานมองออกหรือยังว่าใครคืออุปสรรคนั้น 

 

image_pdfimage_print