โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

หนังสือเรื่อง โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา ของเล็ก ใบเมี่ยง นักเขียนชาวมุกดาหาร เล่าเรื่องราวของชายผู้ที่เคยเป็นวัยรุ่นผู้รักเสียงดนตรีแห่งยุค 70’s ในเมืองสะหวันนะเขตช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) หรือ นับเป็นเวลาสี่สิบกว่าปีมาแล้ว

โรงฮูปเงาหรือโรงหนัง “ลาวเจริญรามา” ที่เคยรุ่งเรืองและเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของชาวเมืองสะหวันนะเขต ปัจจุบันกลับกลายเป็นอาคารทิ้งร้างที่มีคนเลี้ยงไก่ ความเสื่อมสลายเริ่มต้นขึ้นเมื่อคอมมิวนิสต์ลาวเข้าปกครองเมือง สั่งปิดโรงหนัง ห้ามวัยรุ่นนุ่งกางเกงยีนส์ ห้ามฟังวิทยุอเมริกัน จนกระทั่งห้ามใช้สกุลเงินแบบเก่าและสั่งปิดประเทศในที่สุด

นวนิยายกึ่งบันทึกความทรงจำเรื่อง โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา เขียนโดย เล็ก ใบเมี่ยง พิมพ์ครั้งแรกเดือนตุลาคม 2559 เล่าเรื่องโรงภาพยนตร์ในเมืองสะหวันนะเขตก่อนและหลังการเข้ายึดครองเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ลาว

ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว อุตสาหกรรมภาพยนตร์ชะงักงันลงไปแทบจะสิ้นเชิง จะมีก็แต่หนังที่ภาครัฐลงทุนสร้างไม่กี่เรื่อง ตลอดเวลา 35 ปีแรกของระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่มีหนังยาวในลาวที่ถ่ายทำและจัดจำหน่ายโดยภาคเอกชนเลย

จนกระทั่งเมื่อราวๆ สิบปีที่แล้ว ภาพยนตร์รัก-ท่องเที่ยวเรื่อง สะบายดี หลวงพะบาง จึงเข้ามาเปิดศักราชใหม่ของการทำหนังในประเทศลาว เข้าฉายในไทยและลาวปี 2008/2551 สะบายดี หลวงพะบาง ประสบความสำเร็จทั้งในแง่การตลาดและการแสดงให้ทางการลาวเห็นคุณค่าของการทำหนังโดยเอกชน การฉายในโรงรูปเงาลาวที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง ก็สามารถโกยรายได้กว่า 300 ล้านกีบในสัปดาห์แรกของการฉาย

จนวันนี้ ภาพยนตร์โรแมนติก-คอมเมดี้เรื่อง หงส์หามเต่า ก็สร้างปรากฏการณ์ความนิยมอีกครั้ง ด้วยการทุบสถิติรายได้ในประเทศลาว พร้อมเข้าโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานซึ่งมีฉายเกือบทุกจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้

บทความนี้พิจารณาดูพัฒนาการของวัฒนธรรมบริโภคนิยมผ่านรูปเงาลาวที่เป็นหมุดหมายสองเรื่องนี้ ทศวรรษที่ผ่านมาประเทศลาวดูจะเริ่มเปิดประตูทางวัฒนธรรมอีกครั้ง แต่ความรู้สึกของฉันก็คือ ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เวียงจัน ดูจะคล้ายคลึงชนชั้นกลางกรุงเทพมหานครเข้าไปทุกที

เสียงพากย์ทับใน สะบายดี หลวงพะบาง: หรืออนันดาไม่ “ลาว” พอ?

สะบายดี หลวงพะบาง กำกับโดยศักดิ์ชาย ดีนาน (คนสุรินทร์) มีอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม (คนลาวผู้เติบโตในกรุงเทพฯและออสเตรเลีย) แสดงนำ เล่าเรื่องราวของช่างภาพกรุงเทพฯผู้ถูกส่งให้ไปถ่ายทอดความงดงามของประเทศลาว พระเอกจึงได้เที่ยวลาวจากใต้จรดเหนือ โดยมีคำลี่ พิลาวง (รับบทไกด์นุ่งซิ่นแสนดี) เป็นผู้นำทาง การเดินทางนี้นอกจากจะทำให้พระเอกได้เข้าถึงความงดงามของประเทศลาวแล้ว ยังทำให้เขาได้พบรักกับสาวลาว ผู้นำพาเขาคืนสู่ตัวตนความเป็นลาวของตนเองที่เคยเป็นเพียง “ลาวฝรั่ง” อีกด้วย

ภายใต้รูปเงาที่งดงามของ สะบายดี หลวงพะบาง มีสัญญะทางอำนาจระหว่างเพศและประเทศที่ซ่อนอยู่ ดังเช่นที่เสนาะ เจริญพร ได้เขียนบทวิเคราะห์โดยละเอียดตั้งแต่ปี 2551 ในวารสาร อ่าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ทว่ายังมีประเด็นหนึ่งของหนังที่ยังไม่ค่อยได้รับการวิเคราะห์ในโลกภาษาไทย นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า เสียงของอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ถูกพากย์ทับเป็นภาษาลาวสำเนียงปากเซ ในฉบับที่ได้เข้าฉายในสปป.ลาว

สะบายดี หลวงพะบาง (ศักดิ์ชาย ดีนาน กำกับ, 2008/2551) ฉายครั้งแรกในสปป.ลาว ที่หอวัฒนธรรมแห่งชาติ นอกจากจะมีการตัดฉากบางฉากออกจนหนังสั้นลง 7 นาทีแล้ว ยังมีการพากย์ทับเสียงของ “สอน” พระเอกที่รับบทโดยอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ให้เป็นภาษาลาวสำเนียงปากเซอีกด้วย

ตอนที่ สะบายดี หลวงพะบาง ได้เข้าฉายที่ประเทศลาว ทางการลาวได้ทำการพากย์ทับตัวละครของอนันดา เพราะเขาพูดคำลาวเป็นสำเนียงไทย ไม่ก็พูดไทยใส่คนลาวตลอดเรื่องเลย

ฉันจำได้ว่าเมื่อได้รับฟังข่าวนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเกือบสิบปีก่อน ฉันรู้สึกตกใจมากว่า โห กระทรวงวัฒนธรรมประเทศลาวนี่ เขากลัวภาษาของเขาถูกภาษาไทยละลายขนาดนั้นเลยเหรอ ถึงกับต้องพากย์ทับเสียงพระเอกให้ไม่เป็น broken Lao

จากกระทู้ “What do you think about the movie Sabaidee Luangprabang being dubbed in Lao?” ในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งที่ฉันค้นเจอ ไปส่องดูแล้วเป็นการสนทนาที่น่าสนใจทีเดียว นอกจากการสาดโคลนใส่กันไปมาระหว่างชาวลาวภาคใต้กับชาวลาวเวียงจัน ว่าสำเนียงของใครดีกว่าของใคร (หนักจนกระทั่งกล่าวหาว่าสำเนียงปากเซนั้น “ban nok”) ว่าทำไมพ่อของพระเอกพูดสำเนียงเวียงจัน แต่คนพากย์เสียงพระเอกพูดสำเนียงปากเซซะงั้น ฉันเห็นคอมเมนต์หนึ่งได้วิจารณ์การพากย์ทับเสียงของอนันดา ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ແມ່ນແລ້ວຜູ້ພາກສຽງພະເອກບໍ່ເຂົ້າກັບຕົວລະຄອນເລີຍ, ເວົ້າແນວນີ້ບໍ່ໄດ້ຫມາຍຄວາມວ່າສຳນຽງໃຕ້ບໍ່ມ່ວນ ແຕ່ວ່າຢູ່ໃນເລື້ອງນໍ້າສຽງຂອງຜູ້ພາກກັບບຸກຂະລິກຂອງຕົວລະຄອນໄປຄົນລະເລື້ອງກັນເລີຍ, ເຊິ່ງຜູ້ພາກໄດ້ສະແດງອາລົມຕະລົກຫລາຍເກີນໄປໂພດ ເຊິ່ງມັນເຮັດໃຫ້ເບິ່ງແລ້ວຄືກັບເບິ່ງຫນັງຕະລົກ ຄວນຈະປັບປຸງຈຸດນີ້. [แม่นแล้วผู้พากเสียงพะเอกบ่เข้ากับตัวละคอนเลย เว้าแนวนี้บ่ได้หมายความว่าสำเนียงใต้บ่ม่วน แต่ว่าอยู่ในเลื้องน้ำเสียงของผู้พากกับบุกขะลิกของตัวละคอนไปคนละเลื้องกันเลย เซิ่งผู้พากได้สะแดงอาลมตลกหลายเกินไปโพด เซิ่งมันเฮ็ดให้เบิ่งแล้วคือกับเบิ่งหนังตลก ควนจะปับปุงจุดนี้]

มุมมองของผู้แสดงความเห็นอย่างนิรนามนี้ชี้ว่า นอกจากทางการจะพากย์เสียงลาวทับเสียงของอนันดา เพื่อให้ตัวละคร “สอน” ของอนันดามี “ความเป็นลาว” อย่างน่าเชื่อมากขึ้นแล้ว (แทนที่จะเป็น “ลาวนอก” ที่ทางการไม่ค่อยแน่ใจนักว่า “เป็นลาว” พอหรือไม่) ยังพากย์ด้วยวิธีการแบบทีมงานพันธมิตรพากย์หนังจีน คือทำให้ตลกกว่าต้นฉบับ หยอดมุกหรือคำเปรยลงไปทั้งที่ปากตัวละครไม่ได้ขยับ ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีการพากย์ที่เสียหายเสมอไป แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงการไม่เปิดรับความหลากหลายของการนำเสนอเรื่องราวบนจอรูปเงา คือคิดแทนคนดูไปว่า ต้องพากย์ให้ตลกเข้าไว้ก่อน ส่วนความเที่ยงตรงไว้ทีหลัง

ภาษาดิ้นได้ใน หงส์หามเต่า : หนังลาวสับไทย

หงส์หามเต่า หนังโรแมนติก-คอมเมดี้จากสตูดีโอ แข้วแห้ง โปรดักชั่น เป็นเรื่องรักระหว่าง “หงส์” สาวสวยแสนดีจิตใจอารีดูแลคนพิการทางสมอง กับ “เต่า” ครีเอทีฟในบริษัทผลิตสื่อโฆษณาผู้ต้องการได้เงินก้อนโตจากการถ่ายทำวิดีโอชีวิตของหงส์ ผู้มีอาการตื่นกล้องอย่างสาหัส “โลเบิด (Robert)” เพื่อนร่วมงานจอมเจ้าเล่ห์จึงร่วมกับเต่าเพื่อคิดแผนการ “ตั๋วะ” หงส์ให้ได้สารคดีชีวิตมาให้จงได้

กำกับโดยชาวลาวที่เกิด โต และสำเร็จการศึกษาจาก สปป.ลาว ชื่อคุณพูมสะนะ สิริวงสา หรือ “เจี้ย แปซิฟิก” หงส์หามเต่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทุบสถิติทำรายได้สูงสุดในประเทศลาว และยังข้ามโขงมาเข้าฉายในกรุงเทพและภาคอีสานอีก ณ ขณะนี้

สะบายดี หลวงพะบาง (ศักดิ์ชาย ดีนาน กำกับ, 2008/2551) ฉายครั้งแรกในสปป.ลาว ที่หอวัฒนธรรมแห่งชาติ นอกจากจะมีการตัดฉากบางฉากออกจนหนังสั้นลง 7 นาทีแล้ว ยังมีการพากย์ทับเสียงของ “สอน” พระเอกที่รับบทโดยอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ให้เป็นภาษาลาวสำเนียงปากเซอีกด้วย

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา หงส์หามเต่า บุกโรงหนังกว่าสามสิบโรงที่มีทุกจังหวัดในภาคอีสาน (ยกเว้นศรีสะเกษ เลย และกาฬสินธุ์ ซึ่งโรงหนังในเครือ MVP ตกลงไว้ตอนแรกว่าจะฉาย แต่พอถึงวันพฤหัสที่ 27 มิถุนายน 2560 ที่ต้องฉายจริงๆ กลับบอกว่า “ขอไม่ฉาย” เนื่องจาก “โรงไม่พอ” เพราะเข้าฉายชนโรงกับ ทรานสฟอร์เมอร์ส 5 พอดี)

ภาษาลาวในหนังฟังเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับคนฝั่งขวาแม่น้ำโขงรุ่นหลังอย่างฉัน อาจจะมีเพียงบางคำที่คนรุ่นฉันไม่ใช้กันแล้วอย่างคำว่า “เอื้อม” ที่แปลว่า “เรอ” หรือการใช้คำต่างกันเช่นคำว่า “ฮ้อง” แทนที่จะเป็น “เอิ้น” ดังภาษาลาวอีสานส่วนใหญ่ ฉันก็ได้อาศัยสับไตเติ้ลภาษาไทยช่วยบ้าง

แต่ถึงจะไม่มีสับไตเติ้ลฉันก็คงสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างไม่ยาก ในเมื่อมีคำจำนวนมากในบทพูดของตัวละครคล้ายคลึงกับภาษาไทยกรุงเทพฯมากกว่าภาษาลาวอีสานเสียอีก อย่างคำว่า “ดูแล” ที่พระเอกพูดแทนคำว่า “เบิ่งแญง” ใช้คำว่า “จะ” แทนคำว่า “ซิ” ใช้คำว่า “วัน” แทนคำว่า “มื้อ” ฯลฯ และยังมีการใช้ “ภาษาคาราโอเกะ” ในสมาร์ทโฟนในหมู่ชนชั้นกลางลาวด้วย เช่น “h y u?” หมายถึง “เฮ็ดหยังอยู่?”

แม้ หงส์หามเต่า จะเป็นหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ ที่เน้นความฮาและไม่ถือตัวจริงจัง ต่างจาก สะบายดี หลวงพะบาง ที่เน้นความโรแมนติกของแพจเกจทัวร์ประเทศลาวตามที่ทางการอนุญาต แต่ทั้งสองเรื่องนี้ก็ยังมีความต่อเนื่องและความคล้ายคลึงกันบางอย่างที่ควรหยิบยกมาพูดถึง นั่นคือ ทั้งสองเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของลาวพร้อมไปกับการเติบโตของชนชั้นกลางในเมือง

เมืองหลวงพระบางใน สะบายดี หลวงพะบาง เป็นสถานที่แสนโรแมนติก ตัวละครทุกตัวเป็นคนดีมีน้ำใจใสซื่อ แม้แต่เด็กขายของที่เคยมีเล่ห์เหลี่ยมเมื่อครั้งอยู่ปากเซ ก็ยังกลับเป็นคนน่ารักในหลวงพระบางได้ สมกับที่เป็น “ดินแดนแห่งความรัก” ตามบทเพลงของวง Crescendo ที่ใช้ประกอบตัวอย่างภาพยนตร์

หลวงพระบางในเรื่อง หงส์หามเต่า ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงท้ายของหนัง พระเอกของเราเดินทางจากเวียงจันไปแขวงหลวงพระบาง เพื่อขึ้นไปเที่ยวที่เมืองพูคูน ซึ่ง “พูคูน (Phou Khoun)” ในแขวงหลวงพระบางที่เคยเป็นฐานที่มั่นของขบวนการชาวม้งผู้ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ลาวและกองทัพเวียดนามเหนือ ปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็น “ทะเลหมอก ณ สาลาคำพูคูน” สำหรับให้นักท่องเที่ยวมากางเต๊นท์ดื่มบรรยากาศงดงามของภูเขาแห่งลาวภาคเหนือ ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย ที่การทำความเข้าใจอดีตของสงครามเช่นที่ “ภูหินร่องกล้า” กำลังถูกทิ้งห่างไปด้วยการท่องเที่ยวที่เน้นภาพโรแมนติกดังเช่น “ภูทับเบิก”

เพลงประกอบฉากโรแมนติกใน หงส์หามเต่า ก็เป็นเสมือนพัฒนาการอีกขั้นจากเพลงไทย “ดินแดนแห่งความรัก” ที่น่าสนใจคือเพลง “มีแต่เรา” ขับร้องโดย ไซ แปซิฟิก นักร้องสาวเสียงหวาน ถ้าไม่ติดว่ามีคำลาวปนอยู่บ้าง อาจเผลอนึกไปว่าเป็นเพลงป๊อปของไทยได้ เนื้อเพลงท่อนฮุกมีอยู่ว่า

จากวันนี้ไป มีแต่เฮาเท่านั้น
จากวันนี้ไป you’re my only one
I’ll love you love you til forever
I’ll miss you miss you like I’ve never

นอกจากนี้ หงส์หามเต่า ยังมีเพลงชื่อ “ดีต่อใจ” ซึ่งถ้าเข้าใจไม่ผิด #ดีต่อใจ เป็นคำแสลงจากกรุงเทพฯเมื่อเร็วๆ นี้นี่เอง

ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างภาพยนตร์สองเรื่องนี้ ก็คือความสำคัญของเงิน ในแง่หนึ่ง นางเอกของทั้งสองเรื่องยังคงความเป็นคนดี “บริสุทธิ์” ไม่เห็นแก่เงินดังเดิม เพียงแต่ว่า หงส์หามเต่า มี product placement หรือไทอินสินค้าจากบริษัทผู้สนับสนุนอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่หมู่บ้านจัดสรรชื่อ Green Residence ไปจนถึงไอศกรีม Swensen’s ซึ่งเป็นฉากสำคัญของการบอกรักของตัวละครประกอบในหนังด้วย ผิดแต่ว่าตัวละครที่บอกรักกันด้วยสร้อยเงินคล้องไอศกรีม Coit Tower นั้นเป็นพวกที่เห็นแก่เงินและตื้นเขินกว่าคู่พระนาง

ฉากต่างๆ ที่พูดเรื่องเงินและการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยใน หงส์หามเต่า เป็นฉากตลกที่ไร้การตีตราหรือติเตียนอย่างโต้งๆ ว่าเงินเป็นเนื้อร้ายของสังคม คนดูอย่างฉันออกจะเอ็นดูตัวละครตื้นเขินและหน้าเงินเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะตัวละคร “โลเบิด” จอมงก ที่แสดงโดยตัวผู้กำกับหนังเอง ก็เป็นตัวขโมยซีนหนังเรื่องนี้อย่างดี

แม้เงินคำจะยังซื้อความรักความจริงใจไม่ได้ แต่เงินก็ไม่ใช่ของน่ารังเกียจอย่างใน สะบายดี หลวงพะบาง ที่เจ้าบ้านโฮมสเตย์ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองด้วยน้ำใจ มิใช่เพื่อเงิน เงินที่ไกด์สาวชาวลาวจะต้องรีบชักออกจากมือของนักท่องเที่ยว “ลาวฝรั่ง” ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ — มิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

เมื่อรูปเงาลาวโกอินเตอร์ มันจะ “โกอาเมลิกัน” ด้วยหรือไม่?

พัฒนาการของวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและบริโภคนิยมดังที่ปรากฏในหนังลาวเรื่องสำคัญสองเรื่องของช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการหย่อนคลายของกรอบ “ความถูกต้องดีงาม” ที่ตัวละครลาวจะต้องหมดจด ห้ามพูดไทยปนลาวปนอังกฤษ ถ้ามีข้อบกพร่องก็ต้องกลับตัวกลับใจเป็นคนดีในตอนท้ายเรื่องอย่างใน สะบายดี หลวงพะบาง  การหย่อนคลายนี้นำมาสู่ความหลากหลายของการนำเสนอภาพชีวิตและแนวเรื่อง อันเป็นเรื่องที่น่าดูชม

จนถึงตอนนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ลาวมีทั้งหนังที่แตะประเด็นชายรักชายและคนจนชาวลาวสูงชาติพันธุ์ม้งอย่าง น้อย (Above It All, กำกับโดย Anysay Keola, 2015) มีทั้งหนังผีคุณภาพดีที่พูดถึงช่องว่างระหว่างชนชั้นผ่านตัวละครที่ดีเลวซับซ้อนอย่างเรื่อง น้องฮัก (Dearest Sister, กำกับโดย Mattie Do, 2017) รูปเงาลาวเหล่านี้บ้างก็เข้าฉายในไทยผ่านช่องทางเทศกาลหนัง บ้างก็ออกฉายตามโรงทั่วไป

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์บุนมะโหลานฮูปเงาหลวงพะบาง หรือเทศกาลภาพยนตร์หลวงพระบาง ประจำปี 2017 นี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 8 แล้ว (ภาพบน) และโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เทสะกานฮูปเงาอาเมลิกา ประจำปี 2014 สนับสนุนโดยโคคาโคล่าและสถานทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเวียงจันทน์ (ภาพล่าง) ภาพจาก Luang Prabang Film Festival Facebook Page

แต่ก็อดไม่ได้ที่ฉันจะรู้สึกว่า ดูหนังจากสปป.ลาว มาหลายเรื่องแล้ว รู้สึกว่าชนชั้นกล๊างชนชั้นกลาง กรุงเท๊พกรุงเทพ เพียงแต่ตัวละครพูดภาษาลาวฝั่งซ้ายเท่านั้น ล่าสุดไทยรัฐออนไลน์โพสต์บทความเล่าถึงความหล่อมาแรงของสองหนุ่มจากหนังเรื่อง หงส์หามเต่า ด้วยข้อความเปิดเรื่องว่า “ถ้าเบื่อโอปป้าจากเกาหลีแล้ว ลองหันมาดูสองพระเอกหน้ามน จากลาวประเทศเพื่อนบ้านเราดูดีมั้ย?”

จากขั้วตรงข้ามระหว่าง “ไทย” กับ “ลาว” ใน สะบายดี หลวงพะบาง เรากลับพบว่าทุกวันนี้ “ลาว” กำลังเข้าใกล้ “ไทย” ซึ่งกำลังเข้าใกล้ “เกาหลี” อย่างใน หงส์หามเต่า เสียแล้ว

หรือไลฟ์สไตล์แบบบริโภคนิยม “อเมริกัน” ที่ถูกตีตราว่าเป็นเนื้อร้ายที่ทำลายความเป็นลาว จนถูกขับไล่ไปสิ้นดังที่บันทึกไว้ในนวนิยายกึ่งบันทึกความทรงจำเรื่อง โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา ของเล็ก ใบเมี่ยง กำลังจะได้เวลากลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิม?

image_pdfimage_print