บทความรับเชิญ โดย วิกทอเรีย ฮอง ไหล

“ว็อท อาร์ ยู? [เธอเป็นคนอะไร?]”

“บอกไปเธอก็ไม่รู้หรอก”

“บอกมาเหอะน่า”

“เตี่ยจิว”

“อ๊ะ! กากินั่ง! [家己人 คนบ้านเดียวกัน!]”

เมื่อใดก็ตามที่ฉันได้พบใครที่พูดเตี่ยจิวได้เหมือนกัน เราทั้งสองจะรู้สึกลิงโลดด้วยดีใจเสมอ เพราะการจะมีโอกาสได้พบคนเตี่ยจิวในสหรัฐอเมริกานั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ความรู้สึกนั้นเหมือนได้ค้นพบญาติห่างๆ (ซึ่งบางครั้งก็ปรากฏว่าเป็นญาติห่างๆ กันจริงๆ) เสียงคุยสนทนาก็เริ่มดังขึ้น น้ำชาและกับข้าวอาหารยกออกมาเรียงราย ไออุ่นแพร่กระจายไปทั่วบริเวณ

กลุ่มคนเตี่ยจิวแห่งเมืองจีนกระจัดกระจายย้ายถิ่นฐานไปตามภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอกาสที่จะได้พบชาวเตี่ยจิวคนอื่นๆ จึงกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเราบางคน อันที่จริงแล้ว ชาวเตี่ยจิวผู้ใช้ชีวิตนอกภูมิลำเนาดั้งเดิมของตัวเองมีจำนวนมากกว่าประชากรเตี่ยจิวที่เขตเฉาซานทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเสียอีก ทุกวันนี้ ในประเทศไทยมีคนเชื้อสายเตี่ยจิวและลูกหลานรวมประมาณห้าล้านคนอาศัยอยู่ ทั้งนี้ ยังพบชาวเตี่ยจิวอาศัยอยู่ในประเทศเอเชียอุษาคเนย์อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย เวียตนาม และแม้แต่ดินแดนทางเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลี เมื่อชาวเราจำนวนมากรับเอาสัญชาติใหม่ตามประเทศที่ได้อพยพย้ายไปอยู่ อัตลักษณ์ความเป็นเตี่ยจิวจึงกลายเป็นประสบการณ์ชนพลัดถิ่นที่ไม่มีใครเหมือน

ด้วยเรื่องราวการย้ายถิ่นที่ซับซ้อน อัตลักษณ์ที่หล่อหลอมขึ้นมาก็ย่อมซับซ้อนดุจเดียวกัน การพูดถึงความเป็นเตี่ยจิวจึงไม่ใช่การให้คำตอบที่ตรงไปตรงมาได้ หากเป็นการพยายามอธิบายให้เข้าใจ สำหรับฉันแล้ว หากจะปล่อยให้ตัวฉันเองมีแต่อัตลักษณ์เป็น “คนจีน” เพียงอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องลำบากใจ ทุกวันนี้ ขึ้นชื่อว่าคนจีน คนก็มักไพล่นึกไปถึงคนที่พูดภาษาจีนกลาง ไม่ก็ภาษากวางตุ้ง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นเลย

ฉันได้เห็นและเจอมากับตัวเองว่า คำอธิบายอัตลักษณ์ความเป็นเตี่ยจิวให้คนอื่นฟังมักถูกรวบรัดให้สั้นลง จนกระทั่งถูกตัดทิ้งไปซะเลยในที่สุด แทนที่จะพยายามอธิบายพื้นเพของตนให้เป็นที่เข้าใจมากที่สุด ฉันและเพื่อนชาวอเมริกันเชื้อสายเตี่ยจิวมักหยิบยกเอาอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่เรารู้สึกชิดใกล้มากที่สุดที่ไม่ใช่เตี่ยจิวขึ้นมาเอ่ยถึงแทน เมื่อคนไม่เข้าใจคำอธิบายของเรา เราก็จะถูกตัดบทโดยไม่นำพา ตัวตนของเราก็จะไม่มีใครใส่ใจนำพา ท้ายที่สุดก็กลายเป็นว่า เราก็ไม่ใส่ใจมันไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยอธิบายให้ยุ่งยาก และเพื่อจะได้รับการยอมรับและเข้าใจจากอีกฝ่าย

แต่ก่อน ฉันมักจะบอกว่าเป็นคนเวียดนาม แทนที่จะบอกว่าเป็น “แค่คนจีน” การพูดแก้ไปแบบนั้นช่วยให้ฉันรู้สึกว่า อย่างน้อยที่สุด ฉันก็พยายามยึดเหนี่ยวตัวเองเข้ากับเรื่องราวการย้ายถิ่นของครอบครัว ฉันเชื่อนะว่า ครอบครัวของฉัน รวมทั้งคนเตี่ยจิวอีกมากมาย ต่างต้องผ่านอะไรมานักต่อนักจนเกินจุดที่จะเรียกตัวเองเป็นแค่ “คนจีนอีกคน” แต่ก็มีถมไปที่คนจะเคยชินกับวิธีการบอกอัตลักษณ์อย่างอื่นจนละทิ้งแก่นแท้ของความเป็นตัวตนของเราเอง พวกเราบางคนเหลือแต่ว่าพูดภาษาของเราได้ ถ้าโชคดีกว่านั้นก็ยังเหลือสำนึกที่ว่าพวกเราเป็นคนเตี่ยจิว

ฉันอยากรู้เรื่องราวของคนเตี่ยจิวในประเทศไทยให้มากขึ้น ประวัติศาสตร์ของชาวเตี่ยจิวมีอยู่มากมาย ถ้าประวัติศาสตร์นั้นไม่ใคร่เป็นที่สนอกสนใจในเมืองจีน ฉันก็เชื่อว่า ในหมู่ชาวเตี่ยจิวผู้ที่ในอดีตต้องมุ่งหน้าออกสู่ดินแดนโพ้นทะเลเพื่อความอยู่รอด คงต้องเป็นเรื่องน่าสนอกสนใจไม่น้อย

พ่อของฉันถูกจำคุกในวัยสิบสามปี พ่อแม่ของพ่อ (ปู่ย่าของฉัน) เป็นเจ้าของร้านขายเครื่องลายครามที่ค้าขายรุ่งเรือง โดยร้านตั้งอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ (ไซ่ง่อน) ทางตอนใต้ของเวียตนาม แต่ในสายตาของรัฐบาลนั้น ธุรกิจร้านค้าของย่าและปู่ “ประสบความสำเร็จอย่างออกนอกหน้าเกินไป” ข้อหานี้เองที่ทำให้ปู่ ย่า และพ่อกับพี่น้องอีกห้าคนต้องถูกจองจำ ความที่พ่อฉันอายุน้อยกว่าคนอื่น เขาจึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อสองสัปดาห์ให้หลัง ส่วนปู่ของฉันที่อายุมากกว่าใครอื่น ก็ได้รับการปล่อยตัวอีกสองปีต่อมา หลังจากนั้นพ่อจึงเดินทางไปยังกรุงปารีสเพื่อใช้ชีวิตเยี่ยง “เด็กกำพร้า” เป็นเวลาอยู่หลายปี จนในที่สุดจึงได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวอีกครั้งที่ซานฟรานซิสโก เมืองที่ฉันอยู่มาตั้งแต่เกิดจนโต

ภาพเมื่อครั้งฉันรับใบประกาศสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลาย ปี 2014 เฉลิมฉลองการก้าวไปสู่ความสำเร็จของครอบครัวเตี่ยจิวรุ่นแรกในสหรัฐอเมริกา

ฉันไม่ได้ใคร่ครวญถึงเรื่องราวนี้มากนักจนตัวเองเริ่มโตขึ้น ฉันเริ่มตระหนักถึงความยากลำบากทั้งหลายทั้งมวลที่ครอบครัวต้องฟันฝ่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ในวันนี้ ฉันเริ่มตั้งคำถามถึงเส้นทางชีวิตของคนเตี่ยจิวอื่นๆ ที่มาไม่ถึงจุดที่เป็น “อเมริกันดรีมสฺ” ฉันเปรียบเทียบตัวเองกับลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งในจีน ซึ่งอายุน้อยกว่าฉันแค่ไม่กี่วัน ตอนอายุ 16 ปี ฉันเข้าเรียนชั้นปีที่สองของไฮสกูล (เทียบได้กับชั้นม.4 ของประเทศไทย – ผู้แปล) ส่วนลูกพี่ลูกน้องคนนี้กลับเริ่มเดินทางเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นปีแรก

ฉันมาประเทศไทยโดยไม่ได้คาดหวังไว้ล่วงหน้าว่าจะได้เจอคนเตี่ยจิวอีท่าไหนบ้าง ฉันไม่ได้หวังมากไปกว่าจะได้ลองถามคนนั้นคนนี้ตามประสา เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันเห็นใครที่เค้าหน้าดูคล้ายคนเตี่ยจิวหน่อยๆ ฉันก็จะเริ่มบอกตัวตนชาวเตี่ยจิวของฉันก่อน ในใจก็หวังว่าอีกฝ่ายจะตอบกลับมาว่าตัวเองก็เป็นคนเตี่ยจิวเหมือนกัน

ปกติแล้วเวลาฉันถามอะไรแบบนี้ ไม่ว่าจะออกเสียงคำว่าเตี่ยจิวแบบไหน คนเตี่ยจิวด้วยกันก็จะเก็ตทันที แต่ในอีสาน ฉันกลับพบกับใบหน้างงงวยกับข้อมูลที่ฉันพยายามสื่อ จนฉันออกเสียงแบบภาษาไทยว่า “แต้-จิ๋ว” โน่นแหละคนแถวนี้ถึงจะเก็ต–แต่ก็แค่บางครั้งเท่านั้น อีกฝ่ายก็จะพยักหน้าทำทีว่าเข้าใจ แต่แล้วประโยคถัดมาที่ออกมาจากปากก็จะเป็น “หนีห่าว, มา?” เท่านั้นแหละความหวังของฉันก็ตกไปอยู่ตาตุ่ม เพราะเขาคนนั้นเพิ่งพูดภาษาจีนกลางใส่ฉัน ไม่ใช่ภาษาเตี่ยจิว

ฉันดันทุรังเสาะหาต่อไปจนกระทั่งได้เจอคนเตี่ยจิวตัวจริงเสียงจริง “แกเป็นชายชราคนแต้จิ๋ว เป็นเจ้าของภัตตาคารเก่าแก่ในขอนแก่น” ผู้ดูแลโครงการศึกษา ณ ต่างประเทศบอกฉัน “รู้แค่ว่าแกพูดแต้จิ๋วได้” ในที่สุดฉันก็ได้เจอใครอีกคน

การอธิบายให้คนที่ไม่นับว่าตนเป็นคนเตี่ยจิวอย่างเต็มตัวเข้าใจความรู้สึกของการได้พบเจอคนเตี่ยจิวสักคนเป็นเรื่องยาก มันเป็นความรู้สึกแสนพิเศษที่เกิดขึ้นเมื่อได้พบคนบ้านเดียวกัน ด้วยตระหนักอยู่ข้างในว่า ครอบครัวของเรากับครอบครัวของเขาได้ออกเดินทางเป็นพันๆ ไมล์จากจังหวัดเล็กๆ ที่เราเรียกว่าแผ่นดินแม่ จนท้ายที่สุดได้ลงเอยมาพบกันในสถานที่ที่เป็นของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็มิใช่ของเรา

ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อคนเตี่ยจิวได้ยินสำเนียงเสียงพูดของคนเตี่ยจิวอีกคน ดวงตาของเขาจะเป็นประกาย รอยยิ้มจะผุดพรายขึ้นมา ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับฉันและเพื่อนฝูงชาวเตี่ยจิวในอเมริกาเสียทุกครั้งที่เราโคจรมาพบกันเป็นครั้งแรก

มีครั้งหนึ่ง ฉันกับเพื่อนคนเตี่ยจิวกำลังนั่งนินทาเป็นภาษาเตี่ยจิว เพราะไม่ต้องการให้คนรอบข้างรู้ว่าเราคุยอะไรกัน ปรากฏว่ามีเสียงใครไม่รู้ดังแทรกขึ้นมาว่า “กากินั่ง!” ณ ตอนนั้นเราลืมไปเสียสนิทว่า เราไม่ได้อยากให้ใครมารู้เรื่องที่เราคุยกัน เราหันหน้าไปต้อนรับเจ้าของเสียงนั้น ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุน้อยกว่าเราไปอีก เธอเดินมุ่งเข้ามาด้วยใบหน้ายิ้มแป้นอย่างอยากรู้อยากเห็น แขนอ้าพร้อมกอดเข้าอย่างเต็มรัก “ว้าว! หมวย! [妹]” เราตอบเธอ …ไม่ว่าจะเป็น “อาเจ้! [亞姊]” “อาตี๋! [亞弟]” “อาโกว! [亞姑]” หรือ “อากู๋! [亞舅]” — ขอแค่เป็นคนเตี่ยจิวเท่านั้นแหละ คุณก็จะเป็นครอบครัวเดียวกันทันที

ก่อนที่จะได้เจอเจ้าของภัตตาคารขอนแก่นคนนั้น ฉันรู้สึกหวาดๆ ฉันจะได้รับความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองอย่างที่ฉันเคยได้รับมาตลอดเมื่อพบคนเตี่ยจิวหน้าใหม่ที่สหรัฐอเมริกาไหมนะ คนเตี่ยจิวคนนี้จะเคยชินกับความรู้สึกแบบนี้หรือเปล่า หรือว่าการได้เจอคนเตี่ยจิวหน้าใหม่จะไม่มีอะไรพิเศษ ก็แค่เจอคนใหม่อีกคนนึง?

ภัตตาคารแห่งนั้นเปิดไฟไว้สลัวๆ แต่รอยยิ้มที่ผุดขึ้นมาบนใบหน้าของ “แปะ [伯]” ขณะที่เดินเข้ามาก็ทำให้พื้นที่ภายในห้องนั้นดูสว่างสดใสขึ้นมาชั่วพริบตา การพบปะกับคนเตี่ยจิวครั้งแรกของฉันประสบความสำเร็จกว่าที่คาด เพราะฉันไม่ได้พบคนเตี่ยจิวเพียงคนเดียว แต่มากถึงสามคนด้วยกัน แต่ละคนที่รวมกันที่นั่นรวมถึงฉันเองก็ไม่รู้แน่ว่าเรานั่งคุยกันไปทำไม ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “สัมภาษณ์” เสร็จแล้วจะได้อะไรบ้าง แต่ทุกคนก็มีความสนใจใคร่รู้ว่าทำไมแต่ละคนถึงได้มารวมกันที่นี่วันนี้

ด้วยคำถามกว้างๆ ไม่กี่คำถาม ก็ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนพูดคุยตอบโต้กันนานเป็นเวลากว่าสองชั่วโมง ตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระ เรื่องราวความเป็นมาของเราแต่ละคน ไปจนถึงประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของคนเตี่ยจิวในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังคุยไปถึงเรื่องคนเตี่ยจิวชาวมาเลเซียกับชาวเวียตนามด้วย หลังจากสนทนากันเสร็จเรียบร้อย ฉันก็เดินกลับออกมาด้วยความรู้สึกอบอุ่น พร้อมมี “แปะ” ใหม่สามคน กับความภาคภูมิใจอย่างล้นพ้นที่สุดเท่าที่เยาวชนคนเตี่ยจิวคนหนึ่งจะสัมผัสได้ในตนเอง

หลายต่อหลายปีที่ได้เพียรค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ฉันพบว่า ประวัติศาสตร์ของพวกเราที่ถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมีอยู่น้อยเสียเหลือเกิน เตี่ยจิวไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง เรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นของชาวเราถูกเล่าแบบปากเปล่าต่อๆ กันมา เช่นเดียวกับฉัน “แปะ” ที่ฉันได้พบที่นี่ก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาวเราจากคนเตี่ยจิวที่อยู่มาก่อน รายละเอียดของประวัติศาสตร์เรานี้จึงค่อยๆ ตกหล่นสูญหายไปตามกาลเวลา และถึงกับสาบสูญไปเลยก็มีในหมู่คนรุ่นใหม่กว่าซึ่งภาษาแรกที่ได้เรียนรู้ไม่ใช่ภาษาเตี่ยจิวอีกต่อไป ข้อมูลที่ฉันได้รวบรวมมาอาจไม่ได้เที่ยงตรงตามข้อเท็จจริงทุกอย่างไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เรื่องราวการย้ายถิ่นและลงหลักปักฐานของคนเตี่ยจิวในประเทศที่ฉันกำลังจะเล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ฉันพยายามรื้อฟื้นขึ้นมาอย่างสุดความสามารถแล้ว

โรงเรียนฮั่วเคี้ยววิทยาลัย จ.ขอนแก่น ภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2472 บนที่ดินบริจาคโดยชาวเตี่ยจิวนาม เอี๊ยะไถ่ แซ่โค้ว ผู้ปรารถนาให้เยาวชนชาวเตี่ยจิวโพ้นทะเลได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเตี่ยจิวสืบไป

ชาวเตี่ยจิวจำนวนมหาศาลได้เดินทางเข้ามายังดินแดนสยาม/ประเทศไทยจนกระทั่งตั้งรกรากเป็นการถาวรที่นี่มาหลายต่อหลายศตวรรษแล้ว — แม้แต่ผู้เป็นพ่อของพระเจ้าตากสินมหาราช (ครองราชย์สยามในช่วงปี พ.ศ. 2310-2325) ก็เป็นชาวเตี่ยจิวโดยกำเนิด การอพยพมาประเทศไทยในฐานะชาวเตี่ยจิวไม่ใช่กระบวนการที่ง่ายนัก คนเชื้อสายจีนที่เกิด ณ ต่างประเทศถูกห้ามไม่ให้เป็นเจ้าของที่ดิน และไม่ให้ทำงานเป็นข้าราชการ ชาวจีนจะต้องมี “ใบต่างด้าว” ที่ตำรวจจะคอยตรวจตรา คนงานชาวจีนหรือ “กุลีจีน” จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ และจะต้องทำตามขั้นตอนทั้งหลายของทางราชการกว่าที่จะได้สถานะเป็นพลเมืองชาวไทย

ในขณะที่คนรุ่นก่อนเก่าต้องออกแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะความเป็นพลเมืองไทย สิ่งที่คนรุ่นหลังต้องทำก็เพียงกลืนกลายเป็นคนไทยอย่างง่ายๆ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2482-2488) จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นออกคำสั่งจำกัดการเรียนการสอน “ภาษาจีน” ในโรงเรียน รวมไปถึงวิถีวัฒนธรรมจากจีนทุกรูปแบบด้วย

ด้วยความหวาดระแวงอำนาจของชาวจีน สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีกหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาตนขึ้นเมื่อพ.ศ. 2492 ผู้นำประเทศไทยซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการปราบปราม “คอมมิวนิสต์” ในปี 2497 โดยมีนโยบายหลายนโยบายที่มีเจตนากดทับคนเชื้อสายจีนในประเทศไทย โรงเรียนสอนภาษาจีนต้องถูกห้ามหนักกว่าเก่า และบางแห่งก็ถูกสั่งปิดอย่างโต้งๆ เพราะรัฐไทยต้องการลดอัตราการรู้อ่านเขียนภาษาจีนกลางและภาษาเตี่ยจิวในหมู่คนรุ่นใหม่

ถ้าในอดีตเคยมีการเลือกปฏิบัติต่อคนเชื้อสายเตี่ยจิวในประเทศไทย ข้อมูลที่ฉันพบกลับไม่ปรากฏว่าคนเตี่ยจิวที่นี่ส่วนใหญ่จะต่อสู้หรือเรียกร้องอะไร โดยช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่พ่อของฉันกำลังหลบหนีไปปารีส ขณะที่สมาชิกครอบครัวที่เหลือตั้งตาคอยวันที่จะได้รับการปล่อยจากคุกทีละคนๆ… ช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงอันตรายสำหรับใครก็ตามที่ริอาจแข็งข้อขึ้นมา ซึ่งก็พอจะอธิบายได้ว่าทำไมถึงไม่มีการประท้วงต่อต้านนโยบายห้ามสอนภาษาจีนเลย

ถึงแม้ว่าในประเทศไทยทุกวันนี้ ภาษาจีนกลางจะถูกดึงกลับมาสอนในโรงเรียนต่างๆ ที่เคยสอนมาก่อนในอดีต แต่ภาษาเตี่ยจิวกลับยังไม่รับการมองเห็นว่ามีคุณค่าเพียงพอที่จะรื้อฟื้นให้สอนอีกต่อไป

ในหมู่คนเตี่ยจิวที่ฉันได้เจอมาทุกที่ หลายคน (รวมถึงตัวฉันด้วย) ต่างเห็นตรงกันว่า การที่คนรุ่นใหม่ๆ สูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นเตี่ยจิวไปเป็นเรื่องน่าเศร้า คนเตี่ยจิวจำนวนมากเลือกที่จะผนวกตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์ที่ใหญ่กว่าและเป็นที่รู้จักมากกว่าแทน

ปทานุกรมจีน-ไทย พิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2509 โดยการจ้างวานบริษัทในฮ่องกง ในภาพด้านล่าง “แปะ” กำลังสืบค้นคำว่า “เล้ง” ในสารบัญ ซึ่งมีคำพ้องเสียงแต่เขียนต่างกันอยู่เป็นจำนวนหลายสิบแบบ

ในอีสาน ฉันไม่เคยเจอคนหนุ่มสาวแม้แต่คนเดียวที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนเตี่ยจิว เจอก็แต่คนที่บอกว่าตัวเองมีปู่มีตาเป็นคนเตี่ยจิว ส่วนข้อที่ว่าตัวเองเป็นคนเตี่ยจิวนั่นหรือ ดูจะไม่ใช่ความคิดที่เคยผ่านเข้าหัวเขาเลย

ฉันพบว่าตัวเองยังพยายามตามหาคนเตี่ยจิวตามประสาของฉันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นที่นี่ในอีสาน หรือที่ไหนก็ตามในโลก ฉันรู้ว่าดวงไฟของความภาคภูมิใจในความเป็นเตี่ยจิวของคนรุ่นใหม่นับวันมีแต่จะหดเล็กลงๆ แต่ทว่า ประสบการณ์ของฉันเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความสูญเสีย เพราะฉันยังคงรู้สึกถึงความอบอุ่นจากคนเตี่ยจิวที่ฉันได้พบอย่างเดิม และสำหรับฉันแล้ว ความรู้สึกนี้นั้นราวกับว่า ฉันได้รับการต้อนรับเข้าบ้านของญาติอย่างไรอย่างนั้น จริงอยู่ที่ดวงไฟแห่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาวเตี่ยจิวนั้นจะหรี่เล็กลงเรื่อยๆ แต่อุณหภูมิของมันยังคงอุ่นจนร้อนอยู่ดังเดิม

ช่วงที่ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับชาวเตี่ยจิวแห่งอีสาน ฉันก็รู้เข้าว่า ฉันมีญาติจริงๆ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีหลายคนถามฉันว่า ฉันจะทำใจได้หรือไม่ถ้าฉันจะกลับจากประเทศไทยโดยยังไม่ได้ไปตามหาญาติทางสายเลือดให้พบเสียก่อน แต่เอาจริงๆ นะ ฉันรู้สึกว่าฉันได้เจอญาติของตัวเองเข้าให้แล้ว สำหรับฉันแล้ว ฉันได้พบความรู้สึกเป็นเครือญาติแล้วหลังจากพบและรู้จักกับ “แปะ” ชาวเตี่ยจิวที่นี่–อีสาน, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

วิกทอเรีย ฮอง ไหล ศึกษาวิชาสาธารณสุขและความเสมอภาคทางสุขภาวะ (Public Health and Health Equity) ที่มิลส์คอลเลจ เมืองโอ๊คแลนด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เธอศึกษาในคณะสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตลอดภาคการศึกษาที่ผ่านมา

image_pdfimage_print