โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

จังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช และจังหวัดขอนแก่น เป็นสองจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-22 ส.ค. 2560) มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นว่า เพราะเหตุใดคณะรัฐประหารจึงอยู่อย่างราบรื่นมาได้กว่า 3 ปี

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) ที่จ.นครราชสีมาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกวิจารณ์ตั้งแต่ยังไม่ลงพื้นที่เนื่องจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มอบหมายให้สถานีโทรทัศน์ 16 สถานี ทำสกู๊ปติดตามรัฐมนตรีลงพื้นที่ โดยแบ่งว่าให้สถานีใดติดตามข่าวรัฐมนตรีคนใดและช่วงใดบ้าง

“ส่งผลให้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกหนังสือแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนและไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งและการควบคุมของรัฐบาล สมาคมฯ ขอแสดงความกังวลต่อการกระทำของดังกล่าวว่า อาจเป็นการคุกคามและแทรกแซงสื่อ”

ความพยายามควบคุมสื่อมวลชนผ่านกรมประชาสัมพันธ์แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทหารไม่ใส่ใจต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนเนื่องจากหน้าที่ของสื่อมวลชนนอกเหนือจากการรายงานข่าวทั่วไปแล้ว ยังคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการประชุม ครม. สัญจร ครั้งนี้ด้วย แต่การมอบหมายให้สื่อมวลชนติดตามข่าวตามที่ถูกกำหนดจะแตกต่างอะไรจาก “การจัดการสร้างผลงาน” ให้ประชาชนรับทราบแต่แง่บวก โดยมีสื่อมวลชนเป็นผู้สร้างความน่าเชื่อถือ การจัดให้สถานีโทรทัศน์ไปทำข่าวแบบนี้ว่าหากนักข่าวพบสิ่งที่ควรท้วงติงในพื้นที่จะสามารถนำเสนอข่าวได้หรือไม่

พูดถึงบทบาทของสมาคมสื่อโดยทั่วไปแล้ว ก็มีสิ่งที่น่ากังขาว่า สมาคมสื่อได้ปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างถ้วนหน้าแล้วหรือไม่ เพราะกรณีที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวีถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สั่งปิด 30 วัน และกรณีที่นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช ถูกตำรวจแจ้งข้อหาทำผิดกฎหมายความมั่นคง สมาคมฯ ก็ไม่ได้ออกมาปกป้องแต่อย่างใด หรือจะให้เข้าใจว่าเสรีภาพสื่อมีไว้เพื่อปกป้องเฉพาะบางกรณีเท่านั้น    

เมื่อพิจารณาถึงข่าวชิ้นหนึ่งที่สื่อจำนวนหนึ่งนำเสนอต่อกรณีพล.อ.ประยุทธ์ตรวจราชการ ในวันที่ 21 ส.ค. 2560 จะพบสิ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ การที่สื่อจับประเด็นที่นายกรัฐมนตรี พูดว่า “ใครถูกผัวทิ้งทำผิดกฎหมาย และเตรียมออกกฎหมายห้ามมีกิ๊ก” ขึ้นมาสร้างประเด็นข่าว

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้บัญญัติไว้ว่า กรณีผัวทิ้งเมียถือว่าเป็นความผิด สิ่งที่หัวหน้าคสช. พูดไม่มีฐานของกฎหมายรองรับ ฉะนั้น สื่อไม่ควรนำเสนอข่าวเช่นนี้ก่อนตรวจสอบข้อเท็จจริง จริงอยู่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดย่อมเป็นข่าวได้ แต่ไม่ใช่ทุกคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นข่าว โดยเฉพาะการอ้างกฎหมายที่ไม่มีอยู่จริงเช่นนี้

วันต่อมา (22 ส.ค. 2560) พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงกรณีกฎหมายห้ามมีกิ๊กว่าเป็นการพูดเล่น เพื่อให้ประชาชนผ่อนคลายในระหว่างที่ตนมอบนโยบายซึ่งใช้เวลานาน

กรณีออกกฎหมายห้ามมีกิ๊กก็เช่นกัน สื่อควรตระหนักก่อนนำเสนอข่าวว่า การออกกฎหมายในลักษณะนี้สามารถทำได้หรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงค่อยนำเสนอข่าว

แต่การทำหน้าที่ของสื่อหลายสำนักนำมาซึ่งคำถามว่า สื่อได้ตระหนักต่อการตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลก่อนนำเสนอข่าวต่อประชาชนหรือไม่ เมื่อแหล่งข่าวพูดมาอย่างไรก็เสนอข่าวไปแบบนั้นหรือ แล้วข่าวของสื่อจะแตกต่างจากการข่าวประชาสัมพันธ์ตรงไหน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ด้านอื่นของสื่อ เช่น การส่องทางให้สังคมเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพ และเคารพสิทธิมนุษยชน ก็ยิ่งพบกับความน่าเป็นห่วง หรือสื่อไม่ได้คิดถึงหลักการเหล่านี้เลย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลอกล้อกับสื่อมวลชนหลังการประชุมครม.สัญจร ที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 260 ภาพจากมติชนออนไลน์

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ขอให้พิจารณาการกระทำของสื่อมวลชนต่อพล.อ.ประยุทธ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมครม. สัญจร ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะทำให้ทราบถึงวัฒนธรรมการทำงานของสื่อมวลชนอย่างคร่าวๆ ว่า สื่อนิยมสร้างความสนิทสนมกับนายกรัฐมนตรี โดยไม่คำนึงว่านายกฯ มาจากการรัฐประหาร หรือ นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง

สื่อมวลชนถ่ายภาพร่วมกับนายกรัฐมนตรีหลังการประชุมครม.สัญจรที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 ภาพจากเวปไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์

การกระทำของสื่อทำให้เกิดคำถามว่า การตีสนิทนายกรัฐมนตรีขัดแย้งต่อบทบาทหรือสื่อไม่ เพราะมีเมื่อมีความสนิทสนมกันเกิดขึ้น ย่อมมีความเกรงอกเกรงใจตาม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบผู้บุคคลคนนั้น

สื่ออย่าลืมว่า โดยพื้นฐานการทำหน้าที่สื่อมวลชน คือการเป็นสื่อของมวลชน มวลชนก็คือประชาชน ฉะนั้นสื่อจึงต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้แหล่งข่าว เจ้าของสำนักข่าว หรือบุคคลอื่นใด

อีกประการคือ มีข้อกังขาว่าสื่อมวลชนตระหนักรู้หรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์มาจากการรัฐประหาร การรัฐประหารคือการยึดอำนาจสูงสุดไปจากประชาชน แต่สื่อต้องทำงานรับใช้ประชาชน แล้วสื่อสมควรสนับสนุนรัฐบาลทหารจนออกนอกหน้าเช่นนี้หรือ

การบอกว่าสื่อควร “อยู่เป็น” อาจจะใช่ สื่อต้อง “เป็นกลาง” ก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่ไม่น่าจะชอบธรรมคือการยอมรับผู้ที่มาจากการยึดอำนาจเช่นนี้ เพราะการแสดงออกดังกล่าวเกินเลยกว่าคำว่า “อยู่เป็น” และ “เป็นกลาง” โดยสื่อเองก็มีทางเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ก็ได้

วันเดียวกันนั้น (22 ส.ค. 2560) อีกจังหวัดที่อยู่เหนือโคราชขึ้นไปกว่า 190 กิโลเมตร ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์ คดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกฟ้องข้อหามั่วสุมและร่วมชุมนุมทางการเมือง จากการชูป้ายคัดค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ร่วมกับพวกอีก 6 คน แต่ไผ่ถูกฟ้องคนเดียว

ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เวลา 13.00 น. นักศึกษากลุ่มดาวดินแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร ภาพจากประชาไท

ข่าวนี้มีสื่อมวลชนสนใจไปทำข่าวเพียงแค่ไม่กี่สำนักข่าวรวมถึงเดอะอีสานเรคคอร์ด การตัดสินใจทำข่าวใดๆ คงเป็นวิจารณญาณของสื่อแต่ละสำนัก แต่สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนไทยไม่นิยมทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาที่ประเทศไทยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หรือว่า สื่อมวลชนไทยไม่ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ระบอบการปกครองที่เห็นว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจสูงสุด

ความคิดเช่นว่านี้ย่อมเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของระบอบการปกครองที่ไม่ได้มาโดยประชาชนเป็นอย่างดี

ประชาชนและนักเขียนต้อนรับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560

กรณีที่เกิดขึ้นกับนายจตุภัทร์ หากเพียงใช้สามัญสำนึกพิจารณาก็จะทราบว่า คดีของไผ่ไม่ใช่คดีธรรมดา แต่เป็นคดีทางการเมือง เนื่องจากถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ การชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารย่อมไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย และการดำเนินคดีพลเรือนอย่างไผ่ย่อมต้องอยู่ภายใต้อำนาจของศาลพลเรือน หาใช่ศาลทหารอย่างที่เป็นอยู่

แต่สิ่งที่ทำให้ไผ่ถูกดำเนินคดี น่าจะมาจากการแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหารอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไผ่ถูกจับเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ

มองอีกมุม การตั้งข้อหากับไผ่ก็ขัดกับนโยบายสร้างความปรองดองของคสช. เพราะถ้าต้องการสร้างความปรองดอง ก็ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย การจับกุมไผ่จึงย้อนแย้งกับนโยบายของคสช.เสียเอง

ถึงแม้สื่อที่ติดตามทำข่าวไผ่จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสื่อที่ทำข่าวพล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ยังมีบุคคลทั่วไปจากกรุงเทพฯ มาให้กำลังใจไผ่ รวมทั้งมีนักเขียนกว่าสิบชีวิตมาเยี่ยมไผ่ นำโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของฉายา “สิงห์สนามหลวง” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมรับรู้ถึงความอยุติธรรมที่ไผ่ได้รับ การมาพบไผ่ถือจึงเป็นการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ดำรงอยู่

ความแตกต่างทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพระหว่างการนำเสนอข่าวประชุม ครม.สัญจร และข่าวไผ่ขึ้นศาลทหาร บ่งบอกให้เห็นว่า สถาบันหนึ่งที่รองรับการดำรงอยู่ของคสช. คือสถาบันสื่อมวลชนที่ไม่ยินดียินร้ายกับความเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ความไม่แยแสแบบนี้แหละที่ทำให้คสช.ปกครองประเทศต่อไปได้เรื่อยๆ

จึงมีคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่สื่อมวลชนควรตระหนักถึงบทบาทการรับใช้ประชาชนและร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับคืนมา       

 

image_pdfimage_print