โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ผมได้รับเชิญจากเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ สกม. ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ (Asian NGOs network on NHRI – ANNI) ให้เป็นผู้ดำเนินการเสวนาเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2560 ระดับภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ ม.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560 ทำให้ได้แง่คิดหลายประการและเกิดคำถามว่า กสม.มีไว้เพื่ออะไร

ด้วยระยะทางที่ห่างกันเกือบ 300 ก.ม. ผมจึงเดินทางตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.  เพื่อมาพักที่ตัวจังหวัดอุบลราชธานี 1 คืน ก่อนไปร่วมงานในเช้าวันถัดไปเนื่องจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะใช้ระยะเวลาถึง 5 ชั่วโมง ถ้าจะเดินทางในวันเดียวกับการจัดงานคงต้องเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยช

ผมมีงานค้างที่สำนักงานเดอะอีสานเรคคอร์ดที่ จ.ขอนแก่น นั่นคือ การตรวจข่าวและการประชุมเตรียมประเด็นกับผู้สื่อข่าวที่จะลงพื้นที่ทำข่าวกรณี รมว.มหาดไทยอนุมัติให้โรงงานกระทิงแดงเช่าป่าสาธารณะที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ผมจึงเลือกเดินทางในช่วงบ่าย

ผู้เขียนกำลังเดินทางขาไปขอนแก่น-อุบลราชธานี

ที่สถานีขนส่ง บขส.1 จ.ขอนแก่น ผมต้องเสียเวลาหาช่องจำหน่ายตั๋วรถทัวร์พอสมควรเนื่องจากสถานีมีขนาดใหญ่และไม่มีป้ายบอกทางว่าช่องจำหน่ายตั๋วตั้งอยู่จุดไหน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสถานีขนส่งของไทยที่ยังไม่มีมาตรฐาน แต่ก็มีข้อสงสัยว่าทำไมคนไทยต้องทนกับระบบขนส่งแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือ การให้บริการที่สะดวกจะมีเฉพาะที่สนามบินซึ่งผู้โดยสารมีกำลังทรัพย์เท่านั้น

ถ้ายังจำกันได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการรณรงค์ให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย แต่ผ่านมาแค่ 5 เดือนก็ไม่มีการบอกกล่าวเรื่องนี้ทั้งขาไปและขากลับทั้งที่ผมใช้บริการรถทัวร์คนละบริษัท หรือหลักความปลอดภัยเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว

รถออกตรงเวลาจากสถานีขนส่ง บขส.1 มาแวะจอดที่สถานีขนส่ง บขส.3 ที่ตั้งอยู่นอกเมือง 9 ก.ม. ทำให้ผมคิดว่าถ้ารถโดยสารระหว่างจังหวัดทุกคันต้องจอดรับผู้โดยสารที่ บขส.3 ตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก ก็คงจะสร้างความไม่สะดวกเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องติดตามผลการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ศาลจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือไม่

เส้นทางจากขอนแก่น ผ่าน อ.โกสุมพิสัย, จ.มหาสารคาม, จ.ร้อยเอ็ด, จ.ยโสธร, อ.เขื่องใน ถึง จ.อุบลฯ ถนนหลายช่วงมี 2 ช่องทางจราจรทำให้การขับขี่ไม่สะดวกเท่ากับถนน 4 ช่องทางจราจร โดยเฉพาะการทำความเร็วและการแซง จึงน่าคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะมีการขยายทางหลวงระหว่างจังหวัดให้เป็น 4 เลนทั้งหมด ก็เป็นไปได้นะแต่คงไม่ใช่รัฐบาลที่หาเงินไม่เก่งอย่างรัฐบาล คสช.

ที่ จ.อุบลฯ มีเรื่องน่าประทับใจตรงที่รถแท๊กซี่ทั้ง 3 คันที่ผมใช้บริการไม่มีปัญหาการคิดค่าโดยสารเกินมิเตอร์ ผมสนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีรถแท๊กซี่เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชน

เช้าวันที่ 13 ก.ย. คนขับแท๊กซี่ต้องเสียเวลาสอบถามทางจากเจ้าหน้าที่ ม.อุบลฯ 2 คน กว่าจะมาถึงอาคารที่นัดหมาย ผมคิดว่าถ้ามีป้ายบอกทางที่ชัดเจนกว่านี้ก็คงจะมีความสะดวกขึ้น ต้องอย่าลืมว่าทุกสถานที่จะมีคนที่เพิ่งมาถึงเป็นครั้งแรกเสมอ

นายปราโมทย์ ผลเจริญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน กำลังเล่าถึงสถานการณ์สิทธิขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย (มุมห้อง) มาร่วมฟังการเสวนาโดยไม่ได้นัดหมาย

วงเสวนาเป็นไปด้วยความอบอุ่นเนื่องจากมีประชาชนจากหลายจังหวัดในภาคอีสานไม่ต่ำกว่า 60 คนเข้าฟังการเสวนาพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยน แต่ก็มี จนท.ทหารในเครื่องแบบ 4 นายมาสังเกตการณ์ด้วย บรรยากาศจึงกดดันเล็กน้อย แต่การจัดงานก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

วิทยากรคนแรก นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ เริ่มอภิปรายโดยเสนอให้ปรับปรุงวิธีการสรรหา กสม.ใหม่ ให้มีการถ่ายทอดการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็น กสม. เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ที่เหมาะสมมาเป็น กสม. ซึ่งจะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาที่ได้ กสม.ที่ไม่มีความเหมาะสม

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต กสม. รุ่นที่ 2

อดีตกรรมการสิทธิฯ รุ่นที่ 2 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ บอกว่า ความสำคัญของ กสม. คือ การตรวจสอบการดำเนินโครงการภาครัฐว่ามีการละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่ สิทธิเป็นเรื่องของประชาชนที่ภาครัฐต้องทำให้ประชาชนได้รับสิทธินั้น ตัวแทนประชาชนต้องเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครเป็น กสม. และประชาชนต้องทวงถามการทำหน้าที่ของ กสม. ที่พบว่าไม่ได้ทำงานเรื่องสิทธิให้ประชาชน

วิทยากรคนสุดท้ายคือนายปราโมทย์ ผลเจริญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เขาเห็นว่า การทำงานของกรรมการสิทธิฯ มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมการเมือง การทำงานของกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน ไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน เช่น กรณีของนายเด่น คำแหล้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดินทำกิน จ.ชัยภูมิ ที่หายตัวไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เพิ่งติดต่อขอข้อมูลของนายเด่นเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

นายปราโมทย์ยังเสนอให้มีกลไกภาคประชาชนที่ทำงานคู่ขนานไปกับ กสม.

จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาได้พูดคุย โดยสรุปได้สองประเด็นคือสงสัยว่าถ้า กสม.ชุดต่อไปถูกลดบทบาทลง เช่น ไม่สามารถฟ้องร้องผู้ละเมิดสิทธิต่อศาลได้เช่นเดิม แล้วผู้ที่ถูกหน่วยงานรัฐละเมิดสิทธิจะทำอะไร อีกเรื่องคือทำไมกสม. ส่วนมากในสองชุดหลังสุด จึงไม่ปกป้องสิทธิของประชาชนตามหน้าที่

“ถ้าเป็นคนงานก็ต้องเลิกจ้างเพราะทำงานไม่คุ้มเงินเดือน” เสียงสะท้อนของผู้ร่วมงานจาก จ.สกลนคร

จากนั้นวิทยากรและผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนกันอีกหลายประเด็น ซึ่งพบว่าทุกประเด็นประชาชนล้วนถูกละเมิดสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจและรู้กฎหมายมากกว่าประชาชน

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องในเมื่อ กสม.ของไทยถูกโจมตีอย่างมากสมควรยุบ กสม. ไปเลยหรือไม่ เรื่องนี้นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมนุม และเลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของกสม.ในฐานะผู้จัดงานย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้ยกเลิก กสม. ไปเลย แต่ต้องการให้ยุบ กสม.ชุดปัจจุบันแล้วเลือก กสม.ชุดใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560

โฉมหน้าผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานส่วนหนึ่งหลังการเสวนาสิ้นสุดลงก่อนบ่ายโมงเล็กน้อยโดยไม่ถูกขัดจังหวะ มีการหารือกันว่าปีหน้าอาจจะปรับการเสวนายาวขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้พูดคุยอย่างถ้วนหน้า

วงเสวนายืดเวลาออกไปเกินเที่ยงครึ่งก็จบลง ตามด้วยการถ่ายภาพหมู่และการร่ำลากันในบรรยากาศการเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเรื่องการเลือกตั้งจะกลับคืนมา

ทั้งนี้ ยังไม่มีกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันคนไหนไปทวงถามสิทธิเลือกตั้งจาก คสช.แต่อย่างใด

image_pdfimage_print