เมธา มาสขาว [1]

อุดร ทองน้อย อดีต ส.ส.ยโสธร ผู้มีแนวคิดสังคมนิยม

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีพิธีพระราชทานเพลิงศพอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย จังหวัดยโสธร ที่มีนามว่า “อุดร ทองน้อย” อดีต ส.ส.ยโสธร 2 สมัย ในวัย 67 ปี ที่วัดบึงทองหลาง กรุงเทพมหานคร เขาเป็นนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหว นักการเมือง และนักสังคมนิยมคนสำคัญของเมืองไทยอีกคนหนึ่ง อุดรเป็นชาวอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร จากเด็กบ้านนอกคอกนาใฝ่หาความรู้ผู้หนึ่งที่มุ่งมั่น จึงได้เข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเข้าร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการนิสิตนักศึกษา

จนต่อมาได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในปี 2515 ยุคสมัยที่มี “ธีรยุทธ บุญมี” เป็นเลขาธิการ

“อุดร” เป็น 1 ใน 100 คนที่ลงชื่อร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ปฏิวัติของคนหนุ่มสาวที่เป็นแรงบันดาลใจไปทั่วโลก หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เขาได้เข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อนจะลงสมัครเป็น ส.ส.ยโสธร ในปี 2518 ในนาม “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ที่มี “พ.อ.สมคิด ศรีสังคม” เป็นหัวหน้าพรรค และ “ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน” เป็นเลขาธิการ แนวทางสังคมนิยมที่เป็นกระแสสูงในสังคมขณะนั้น ทำให้เขากับคู่หูหนุ่ม “ประยงค์ มูลสาร” หรือ ยงค์ ยโสธร นักเขียนชื่อดังอีกผู้หนึ่ง ได้รับเลือกเป็น ส.ส.หนุ่มที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ในวัย 25 ปี สร้างประวัติศาสต์สมัยใหม่ให้ “ชุมชนอีสาน” ยืนตระหง่านอย่างท้าทายบนสิทธิเสรีภาพในสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย ด้วยคะแนนสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในจังหวัด

งานศพ อุดร ทองน้อย ที่วัดบึงทองหลาง กรุงเทพฯ

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (Socialist Party of Thailand) เป็นพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2517 หลังชัยชนะของขบวนการนิสิตนักศึกษาต่อเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร ในขณะนั้น ซึ่งทำให้เกิดการเปิดเสรีพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาที่เปิดกว้างทางอุดมการณ์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 มีพรรคพลังใหม่ และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมไปในแนวทางเดียวกันส่ง ผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 และได้รับเลือกจากประชาชนจำนวนหลายที่นั่งในรัฐสภา

ครั้งนั้น ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้รับเลือกถึง 15 คน คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม โสภณ วีรชัย สม วาสนา และเติม สืบพันธ์ จากอุดรธานี ไขแสง สุขใส จากนครพนม วิชัย เสวมาตย์ และสุทัศน์ เงินหมื่น จากอุบลราชธานี อุดร ทองน้อย และประยงค์ มูลสาร จากยโสธร ประเสริฐ เลิศยะโส จากบุรีรัมย์ ศิริ ผาสุก จากสุรินทร์ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และอาคม สุวรรณนพ จากนครศรีธรรมราช เปรม มาลากุล ณ อยุธยา จากอุตรดิตถ์ และอินสอน บัวเขียว จากเชียงใหม่

ชัยชนะบนพื้นที่รอยต่อของภาคอีสานหลายจังหวัดของประเทศไทย ต้องยกความดีความชอบให้สมาชิก    ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนจากหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้อาวุโสอย่างลุงชิต เวชประสิทธิ์ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม คำสิงห์ ศรีนอก บุญเย็น วอทอง ไขแสง สุกใส  และวิชัย เสวมาตย์ ซึ่งหลายคนเป็นคนอีสานหรือคนไทลาว คนรุ่นกลางอย่าง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ดร.แสง สงวนเรือง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นพพร สุวรรณพานิช แหลมทอง พันธุ์รังสี และทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงกลุ่มผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ธีรยุทธ บุญมี ประสาร มฤคพิทักษ์ ปรีดี บุญซื่อ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ธัญญา ชุนชฎาธาร จรัล ดิษฐาอภิชัย วิรัติ ศักดิ์จิระภาพงษ์ สมคิด สิงสง สุรสีห์ ผาธรรม และวิสา คัญทัพ ซึ่งหลายคนนั้นได้เดินทางมาร่วมคารวะศพ “อุดร” ด้วยในฐานะ “มิตรร่วมรบ” และสหายร่วมทาง

ขณะที่ “วิสา คัญทัพ” หรือสหายไพรำ ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ ได้ส่งบทกวีมาร่วมไว้อาลัยด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เขาเรียกว่าสหายรัก เนื่องจากร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยมาด้วยกัน และยังขึ้นมาปักหลักช่วย “อุดร” ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งช่วยในหลายครั้งหลายหนจนได้รับชัยชนะในที่สุด หลังจากนั้นยังได้ใช้ชีวิตร่วมกันในเขตป่าเขาและรอดตายกลับมาด้วยกันในวันคืนสู่เมือง บทกวีที่ว่านั้น เขียนว่า

“โผงผางตรงเปรี้ยงไม่เลี่ยงหลบ ใครคบก็คบไม่อ้อมค้อม ไม่มีเสแสร้งแทรกไม่แปลกปลอม คืออุดรที่ไม่ยอมสยบใคร… เป็นนักข่าวนักเขียนกลอนกวี เป็น ส.ส.ศักดิ์ศรีสังคมใหม่ สังคมนิยมแห่งประเทศไทย เข้าป่าเขาลำเนาไพรร่วม พคท. …บัดนี้ถึงกาลสงบเกมจบแล้ว ไม่มีแคล้วเว้นใครให้ร้องขอ ทุกคนมีหมุดหมายความตายรอ ไม่รู้ใครตามจ่อคิวต่อไป…

ไม่ได้มากราบลาเพื่อนหน้าศพ แม้เชื่อภพชาติหน้ามีฟ้าใหม่ คงเป็นเพื่อนผูกมั่นสัมพันธ์ใจ ขออำลาอาลัยเท่านี้เอย..”

เส้นทางของ อุดร ทองน้อย ส.ส.ยโสธร เต็มไปด้วยสีสันแห่งชีวิต เขาเป็น ส.ส.ที่หนุ่มที่สุดในสภาได้ไม่ถึงปี คือ 11 เดือนกับอีก 20 วัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 4 เมษายนปีเดียวกัน แต่ “อุดร” ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้นด้วย เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองค่อนข้างตึงเครียด มีการจัดตั้งกองกำลัง “ขวาพิฆาตซ้าย” ขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง จน “ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน” เลขาธิการพรรค ถูกลอบยิงเสียชีวิตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 หลายคนถูกติดตามคุกคามข่มขู่ปองร้าย แกนนำนักศึกษาหลายคนโดยยิงเสียชีวิต “อุดร” จึงเลือกเดินทาง “เข้าป่า” ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในฐานะแนวร่วมคนสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2519 โดยมี “ไขแสง สุกใส” เป็นคนชักชวน ด้วยความรักเพื่อน “อุดร” จึงชวนยงค์ ยโสธร เดินทางเข้าป่าไปด้วยในวันเดียวกัน มุ่งหน้าสู่ดงผาลาด อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ถึงในรุ่งเช้าวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2519 เขตงานที่มี “วิทิต จันดาวงศ์” เป็นหนึ่งในผู้ดูแล

ผู้มาร่วมงานศพ อุดร ทองน้อย ที่เสียชีวิตในวัย 67 ปี

สมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เข้าป่าเป็นแนวร่วม พคท. นอกจากบางคนเป็นผู้ผ่านทางแล้ว หลายคนยังเป็นสมาชิกและแกนนำคนสำคัญในขบวนการปฏิวัติด้วย เนื่องจากจะว่าไปแล้ว สมาชิกคนสำคัญบางส่วนในพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ก็เป็นสมาชิกระดับนำของ พคท. ด้วยเช่นกัน ที่แอบแฝงจัดตั้งและสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด เพราะถือว่าเป็น “ขบวนการ” เดียวกัน

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น กระแสตื่นตัวการปฏิวัติและสังคมนิยมในแผ่นดินสยามเกิดขึ้นหลายขบวนตั้งแต่ก่อนปี 2475 โดยเฉพาะคนจีนในสังคมไทยที่อพยพเข้ามาพร้อมกระแสสาธารณรัฐนิยมแบบ ลัทธิไตรราษฎรของ ซุนยัดเซ็น (Sun Zhong Shan) และการปฏิวัติจีน 2454, การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2464 และมีการขยายสาขาพรรคในแผ่นดินสยาม, ชาวเวียดนามที่เข้ามาลี้ภัยในแผ่นดินสยามและใช้สยามเป็นฐานการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช และต่อมาคือคนไทยที่มีสายธารความคิดสังคมนิยมมาจากฝรั่งเศส และสายพุทธสังคมนิยม เป็นต้น

ต่อมาในปี 2472 สากลที่สาม มีมติให้ผู้ปฏิบัติงานคอมมิวนิสต์ไม่ว่าอยู่ในประเทศใดให้ดำเนินการหนุนช่วยการปฏิวัติในประเทศนั้นด้วย ตามนโยบายสากลนิยม ทำให้ โฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) ในฐานะผู้แทนของสากลที่สาม ได้ประสานกลุ่มลัทธิมาร์กซในสยามกลุ่มต่างๆ, กลุ่มคอมมิวนิสต์จีน, คอมมิวนิสต์เวียดนามในสยาม และจัดตั้ง “คณะคอมมิวนิสต์สยาม” ขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2473 โดยมี “โงวจิ๋งก็วง” ชาวเวียดนามที่เกิดในแผ่นดินสยามเป็นเลขาธิการคนแรก

แต่ภายหลังรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมจัดและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ไทย” คณะคอมมิวนิสต์สยามได้ถูกกวาดล้างและจับกุมจำนวนมากจนขาดเอกภาพและอ่อนแอลงเรื่อยๆ สากลที่สาม (สำนักงานฮ่องกง) จึงได้ส่ง “หลี่ฉีซิน” หรือ หลี่ซี่ซิง เข้ามาเป็นตัวประสานงานกลุ่มต่างๆ ในปี 2483 และตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษ’ ขึ้นมาบริหารพรรคต่อไปจนกระทั่งเกิด “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ภายหลังญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 และในวันเดียวกันได้บุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484

ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2485 คณะกรรมการพิเศษจึงได้เรียกประชุมผู้แทนกลุ่มต่างๆ และมีมติจัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์ไทย” ขึ้น และเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่โดยมี “หลี่ฮวา” เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคนแรก, ต่อมามีการตั้งสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ขึ้นในปี 2495 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยมีเลขาธิการพรรคคนที่ 2 คือ “ทรง นพคุณ” [2] (2495-2504), คนที่ 3 คือ “มิตร สมานันท์” หรือ เจริญ วรรณงาม (2504-2525), คนที่ 4 คือ “ประชา ธัญญไพบูลย์” หรือ ธง แจ่มศรี (2525-2553) ภายหลัง ธง แจ่มศรี ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรคในปี 2553 ได้มีการเลือก “วิชัย ชูธรรม” (2553) หรือ สหายเล่าเซ้ง เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงในเรื่องแนวทางการเมืองและสถานะขององค์การนำ

(ดูเอกสารประกอบใน “ธง แจ่มศรี : เอกสารประกอบคำแถลงเนื่องในวาระการก่อตั้ง พคท. ครบรอบ 67 ปี”, “คำชี้แจงภายใน” และ “แถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และภาระหน้าที่” 1 มกราคม 2553)

หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ถูกสั่งยุบพรรคตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ แต่พรรคได้ประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานและยืนหยัดต่อสู้ต่อไปว่า “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจักไม่ยอมยุบพรรค แต่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพลังรักชาติรักประชาธิปไตยต่างๆ”

ในปี 2519 มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย” หรือ กป.ชป. ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรแนวร่วมในการปฏิวัติ โดยมี “อุดม ศรีสุวรรณ” เป็นประธาน “ผสม เพชรจำรัส” และ “บุญเย็น วอทอง” เป็นรองประธานคนที่ 1-2 “ธีรยุทธ บุญมี” เป็นเลขานุการ และ “ศรี อินทปันตี” เป็นกรรมการและโฆษก มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมกลุ่มพลังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และกลุ่มพลังมวลชนอื่นๆ ซึ่งเดินทางเข้าร่วมกับ พคท. เพื่อทำการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการป่าเถื่อนในสมัยนั้น การขยายตัวที่กว้างขวางหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นี้ ทำให้สถานการณ์งานปฏิวัติของ พคท. ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วอย่างมีความหวัง คนหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ป่าเขาเพื่อทำการปฏิวัติสังคม

อุดร ทองน้อย มีชื่อเรียกในป่าว่า “สหายกาด” มาจากคำว่าผักกาดเนื่องจากภรรยามีชื่อ “ผกาพรรณ” เขาเข้าออกเขตงานการต่อสู้ในป่าเขาอยู่สองครั้ง ครั้งแรกเขา “ขอลง” จากป่าบนเทือกเขาภูพานในเดือนพฤษภาคม 2519 หลังเข้าไปได้ 3 เดือนเพื่อขอพบญาติ แต่ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขาเดินทาง “เข้าป่า” อีกครั้งมายังสำนักแนวร่วม เอ 30 แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว แนวหลังที่สำคัญของขบวนการปฏิวัติในประเทศไทย และอยู่ที่นั่นราว 1 ปี ร่วมกับยงค์ ยโสธร หรือ “สหายยศ” และคนอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงสหายสายฝน สหายธิดา ลูกหลาน “ประวุฒิ ศรีมันตะ” ที่เข้าป่ามาทางอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ร่วมคณะกับธีรยุทธ บุญมี ประสาร มฤคพิทักษ์ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย และวิสา คัญทัพ มาจนถึงสำนักเอ 30 ที่นั่น “อุดร” มีผลงานเขียนบทกวีและบทเพลงร่วมกับแนวร่วมศิลปินหลายเพลง เช่น เพลงแนวร่วมประชาชาติไทย ฉลองชัยวันพรรค ลุกขึ้นปลดแอก และบทกวีบทเพลงกล่อมลูก ที่พิมพ์ในสาร “สามัคคีสู้รบ” (มีวิสา คัญทัพ ธีรยุทธ บุญมี สมาน เลิศวงรัฐ และยงค์ ยโสธร ร่วมเป็นกองบรรณาธิการ) และออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยด้วย

“อุดร” ข้ามลงมาเทือกเขาภูพานอีกครั้งหนึ่งในพื้นที่เขตงาน 333 (นครพนม-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร) ในช่วงต้นปี 2520 เพื่อเข้าโรงเรียน 1 ธันวา ที่มี “ประจวบ เรืองรัตน์” หรือลุงสยาม เป็น “ครูใหญ่” และอาศัยอยู่ที่นี่เป็นหลักสลับกับการเดินทางลงพื้นราบ ชีวิตการต่อสู้ในเขตป่าเขาไม่ได้สะดวกสบายนัก แต่เต็มไปด้วยความยากลำบากและโรคภัยไข้เจ็บ หลายคนป่วยเป็นไข้เหลือง ไข้มาลาเรีย หรือไม่ก็ไข้รากสาด ปลายปี 2521 “สหายกาด” จึงเดินทางลงเขตงานพื้นราบในอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านเกิด เพื่อทำงานขยายเขตงานแนวร่วมใน “พื้นที่สีชมพู” ร่วมกับสหายหลายคนที่ชำนาญพื้นที่

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้จัดโครงสร้าง “พคท.อีสาน” แบ่งเป็น 3 ภาคคือ 1.อีสานเหนือ 2.อีสานใต้ และ 3.เขตพิเศษอุดรธานี

มีต่อตอนที่ 2 เป็นเรื่องราวช่วงท้ายของการอยู่ในป่าและการกลับมาสู่เมือง

[1] อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544 ปัจจุบันเป็นนักเขียน นักวิชาการอิสระที่สนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) และนิเวศน์สังคมนิยม (Social Ecology)

[2] ดูบทความ “รำลึกถึง ทรง นพคุณ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตลอดกาล” (2555). เมธา มาสขาว, หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1072-1073.

เมธา มาสขาว เป็นวิทยากรโครงการฝึกอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560 ครั้งที่ 1

image_pdfimage_print