ย้อนกลับไปเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ประพันธ์ ภาชู นายกสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน (ศรีสะเกษ) และปัญญา คำลาภ ที่ปรึกษาสมาคมฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ ทามมูน ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ครั้งนั้น ปัญญา คำลาภ ที่ปรึกษาสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน (ศรีสะเกษ) กล่าวถึงรายละเอียดของเนื้อหาในหนังสือว่า ตนเองนำเอาความต้องการในการแก้ไขปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน เขตพื้นที่เชื่อมต่อ 3 จังหวัด ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก. การประมง 2558 และกฎระเบียบ ประกาศกระทรวงต่างๆ ที่บังคับใช้แต่ไม่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล ถือว่าชาวบ้านแถบนี้กว่า 8,000 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนหรือถูกกระทำซ้ำจากนโยบายของรัฐ โดยอ้างอิงผลการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ 2 ฉบับ ที่มีมติ ครม. รับรองไว้แล้ว เพื่อใช้เป็นแนวทางการหาทางออกในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยชาวประมงพื้นบ้าน (น้ำจืด) ลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ให้มีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะพื้นที่คาบเกี่ยว 3 จังหวัด จึงจะต้องมีการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษในการทำการประมงในภูมินิเวศเดียวกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรมีอำนาจออกประกาศตาม พ.ร.ก. การประมง 2558

วัตถุประสงค์ เพื่อเสนอแนะแนวทางให้รัฐบาล ได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคประชาชน ในการสร้างกระบวนการศึกษาแนวทางการใช้เครื่องประมงที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐมานานกว่า 30 ปี

เป้าหมาย คือ ขอให้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน  1 ชุด เพื่อดำเนินการศึกษาแนวทางการใช้เครื่องประมงที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ที่ให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่นและตามความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางเขตเชื่อมต่อ 3 จังหวัด ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ โดยหลักการให้มี 

  1. ฝ่ายการเมืองเป็นประธานกรรมการ
  2. ผู้แทนภาครัฐ โดยกรมประมง 
  3. ผู้แทนสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน (ศรีสะเกษ) จำนวนเท่าๆ กัน โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

วิธีดำเนินการ 

  1. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวางกรอบแนวทางการศึกษา
  2. จัดจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการ โดยสถาบันวิชาการท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ด้านประมง)
  3. นำเสนอผลการศึกษาแนวทางต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  4. ปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการศึกษา

ป่าบุ่งป่าทาม คืออะไร

ปัญหาผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนราษีไศล กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุ่งป่าทามลดลงจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการ วางไข่ ขยายพันธุ์ เจริญเติบโตของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพันธุ์ปลา 

กล่าวถึงการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่รอบๆ สองฝั่งลุ่มน้ำมูลตอนกลาง เขตพื้นที่เชื่อมต่อ 3 จังหวัด ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 250 ปีที่มีการตั้งถิ่นฐาน ชุมชนท้องถิ่นแถบนี้ได้พึ่งพาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุ่งป่าทามและแม่น้ำมูล ในการดำรงชีวิตหาอยู่หากิน ทั้งเพื่อการยังชีพ กึ่งยังชีพ และเพื่อระบบเศรฐกิจครัวเรือนมาโดยตลอด ป่าทามเป็นแหล่งอาหาร เก็บหาของป่า หาสมุนไพร แหล่งประมงพื้นบ้านและยังมีการใช้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ในการทำนาทาม ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ (วัวทาม-ควายทาม) 

วิถีการดำรงชีวิตอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน ระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาษาวิชาการเรียกว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าทาม” หรือเรียกรวมๆ กันว่า ป่าบุ่งป่าทาม

แหล่งความหลากหลายของระบบนิเวศ พื้นที่บุ่งทามและป่าทามประกอบไป ด้วยระบบนิเวศหลายประเภท ทั้งระบบนิเวศน้ำ พืชน้ำ ระบบนิเวศกึ่งบกกึ่งน้ำ และระบบนิเวศบก ที่มีภูมิลักษณ์แตกต่างกัน สรรพสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่จึงมีความหลากหลายตามสภาพ กายภาพของพื้นที่

ป่าทามเป็นมดลูกของแม่น้ำ แหล่งสืบพันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลักษณะหนึ่ง ความหนาแน่น และหลากหลายของพืชน้ำและพืชทนต่อการแช่ขังของน้ำ อุดมด้วยพืชไม้พุ่มหนาแน่นสลับกับแหล่งน้ำ กุด หนอง บึงมากมาย แหล่งน้ำหลายแห่ง มีปริมาณน้ำมากกว่าร่องลำน้ำปัจจุบัน แล้วยังเต็มไปด้วยพืชน้ำไม้พุ่มริมฝั่ง หวายน้ำ จึงเป็นแหล่งพักพิงที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้พืชพันธุ์เหล่านี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ แหล่งกำเนิดอาหาร ของสัตว์น้ำนานาชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ของสรรพสัตว์อื่นๆ เปรียบประดุจมดลูกของแม่น้ำ 

ป่าทามคือ ป่าปากท้องของชุมชน พื้นที่บุ่งทาม และป่าบุ่งป่าทามเป็นแหล่งพักพิงพึ่งพา อาหารและเก็บเกี่ยวผลผลิตเลี้ยงชีพประจำวันทั้งปลา สัตว์น้ำอื่นๆ พืชผักกินได้ พืชจักสาน พืชใช้สอย ไม้พื้น ถ่าน สมุนไพร สัตว์ป่า นก แมลง ตลอดจนผลผลิตพืชไร่ ทำนาทาม พื้นที่เลี้ยงสัตว์วัว-ควาย และแหล่งนันทนาการท่องเที่ยวของชุมชน

การมาถึงของเขื่อนราษีฯ

ผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ กรณีเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ช่วงปี 2532-2535 เกิดโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โขง ชี มูล ได้มีการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนอื่นๆ ในภาคอีสานอีกกว่า 14 แห่ง โดยชุมชนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ในการดำเนินโครงการ นับจากปี 2536 การสร้างเขื่อนราษีไศลแล้วเสร็จและมีการกักเก็บน้ำในระดับสูง +119.00 ม.รทก. ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนอย่างฉับพลันและรุนแรง ทำให้กระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าทามทั้งระบบ ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวที่มีอยู่อย่างหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ลดจำนวนลงจากผลกระทบดังกล่าว และยังมีผลกะทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่ ปี 2536 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นับเวลากว่า 30 ปี

ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนราษีไศลรวมตัวกันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2538 ภาพโดย สมาคมคนทาม
การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีต่อต้านเขื่อนราษีไศล ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2539 ภาพโดย สมาคมคนทาม

ปัจจุบัน พื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ลดลงจนเห็นได้ชัด ใน พ.ศ. 2532 พื้นที่ลักษณะดังกล่าวมีขนาด 119,331 ไร่ ในปี 2564 ลดเหลือเพียง 31,068 ไร่ ลดลงจากเดิมจำนวนมากถึง 88,263 ไร่ ซึ่งทำให้พื้นที่ในการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ แหล่งวางไข่ แหล่งอาหาร และพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำลดลงตามลำดับไปด้วยเช่นกัน ซึ่งพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามคือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติที่ดีที่สุดของระบบนิเวศ ด้วยสภาวะที่น้ำนิ่งไม่ไหลเวียนไปตามระบบธรรมชาติ จึงทำให้ปลาหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ ปลาหลายชนิดมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะปลาเศรษฐกิจที่เป็นปลาเนื้ออ่อน เช่น ปลาหนู ปลาค้าว ปลาปึ่ง เป็นต้น

กรณีปัญหาผลกระทบจากการให้สัมปทานดูดทรายในลุ่มน้ำมูล ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุ่งป่าทาม หรือที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพ สถานการณ์การดูดทรายทำให้พื้นที่ชุ่มป่าทามหลายแห่งเกิดการการทรุดตัวและพังทลายและพื้นที่โนนบางแห่งถูกดูดหายไป เช่น ฝั่งด้านทิศตะวันตกของป่าชุมชนดงภูดิน บ.ผึ้ง ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กรณีปัญหาหลักคือนายทุนนำเรือดูดทรายออกไปดูดทรายนอกเขตสัมปทานซึ่งก็เกิดความขัดแย้งกับชาวประมงพื้นบ้านมาตลอดเพราะทำให้เครื่องมือประมงของชาวบ้านชำรุดเสียหาย ปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้สัมปทานดูดทรายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ตามลำน้ำมูล

ดังนั้นด้วยสภาพปัญหาและสาเหตุหลายประการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุ่งป่าทาม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมูนตอนกลาง เช่น การสร้างเขื่อน สร้างฝาย และการขุดลอกแม่น้ำและริมตลิงแม่น้ำมูล รวมทั้งการให้เอกชนสัมปทานดูดทราย จึงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาล แหล่งเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ จึงทำให้ชนิดพันธุ์ปลา และจำนวนปริมาณปลาลดลง 

องค์กรชุมชนท้องถิ่น โดยสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน (ศรีสะเกษ) ได้จัดกิจกรรม “ปั่นจักรยาน #Saveพื้นที่ชุ่มน้ำป่าทามอีสาน ในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาเพื่อรณรงค์สร้างการระหนักรู้ร่วมกันในการปกป้อง อนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม โดยเฉพาะเขตลุ่มน้ำมูลตอนกลางเขตเชื่อมต่อ 3 จังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ เพื่อให้คงไว้ซึ่งการเป็นมดลูกลูกของแม่น้ำที่ยั่งยืน

จากเหตุและผลที่นำเสนอมาในข้างต้นเพื่อจะชี้แจงให้เห็นภาพความแตกต่างของพื้นที่และสภาพปัญหาที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับ หากมองในด้านเศรษฐกิจชุมชนการประมงพื้นบ้านน้ำจืดมีความสำคัญมากในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนในแถบลุ่มน้ำมูนตอนกลางเขตเชื่อมต่อ 3 จังหวัด ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดและสุรินทร์ นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่จะได้นำเอาผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลที่เกี่ยวข้องกับด้านการประมงพื้นบ้านเอาไว้ รวม 2 ฉบับ และมีมติ ครม.รองรับ ทั้ง 2 ฉบับแล้ว ในช่วงปี 2553 และ 2564 มาอ้างอิง เพื่อเป็นฐานข้อมูลร่วมกันทุกภาคส่วน 

คนพึ่งป่า ปลาพึ่งแม่น้ำ

ชุมชนประมงลุ่มน้ำมูนเขต อ.ราษีไศล อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด และ อ.รัตนบุรี อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาชีพการทำประมงมานับชั่วอายุคน ความยาวนานของอาชีพสะท้อนให้เห็นได้จากองค์ความรู้ของชาวบ้าน 

ชาวบ้านเรียนรู้ว่า เมื่อถึงต้นฤดูฝน หรือ “ช่วงน้ำซุ” (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เป็นช่วงที่ฝนใหม่ชะล้างหน้าดิน และซากพืชซากสัตว์จากป่าโคก โนน ท่า และนาบ้าน ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำจนน้ำมีสีขุ่น และกลิ่นของน้ำใหม่จะดึงดูดให้ปลาแม่น้ำนานาชนิดว่ายทวนน้ำ

แหล่งอาหารของปลา ตลอดช่วงฤดูแล้ง บริเวณป่าทาม หน้าดินถูกตากจนแห้งจากความร้อนของฤดู ผืนดินในป่าทามได้กลายเป็นแหล่งเพาะและฟักตัวของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่หน้าดิน เช่น แมลงและไส้เดือน เมื่อถึงฤดูน้ำท่วม สัตว์เหล่านี้ก็กลายเป็นอาหารของปลา ขณะที่พืชประเภทตะใคร่น้ำ จอก แหน สาหร่าย รวมทั้งผลและเมล็ดพืชนานาชนิด ทั้งแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ป่าทามในฤดูน้ำหลากกลายเป็นแหล่งชุมนุมของปลา

แหล่งหลบภัยของปลา ป่าทามยังมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยไม้ใหญ่ เถาวัลย์ และไม้พุ่ม ทำให้ป่ามีความแน่นหนาและกลายเป็นแหล่งหลบภัยของปลา และปลาที่อาศัยอยู่ตามกุด หนอง วังน้ำเดิม จะอพยพเคลื่อนย้ายไปผสมพันธุ์ และวางไข่ตามป่าทามทั้งสองฝั่งน้ำมูน และบางชนิดก็ว่ายทวนน้ำเข้าสู่ลำน้ำสาขา เช่น ห้วยน้ำเค็ม น้ำเสียว ห้วยทับทัน กุด หนองและวังปลาในแม่น้ำมูน

ด้วยเขตแม่น้ำมูนตอนกลางเป็นแหล่งต้มเกลือในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งรองรับน้ำเค็มจากลำน้ำเสียว ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และจากลำน้ำมูนตอนต้น บริเวณ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งเกลือ ทำให้ปลาที่อยู่ในแม่น้ำมูนได้กินน้ำเค็มและกินขี้ทาหรือดินเอียดในฤดูน้ำหลาก ดังคำพูดที่ว่า “ปลามันขึ้นมากินดินเอียด” จึงทำให้ปลาแม่น้ำมูนมีรสชาติดีกว่าที่อื่น

องค์ความรู้ที่ได้จากการสังเกต ปลาหลายชนิดว่ายทวนน้ำจากลำน้ำมูนไปวางไข่ถึงบริเวณลำน้ำเสียว ซึ่งมีโคลนเลนและมีรสกร่อยเค็มมากกว่า เช่น ปลาซวย ปลาคูน ปลาค้าว ปลาเคิง ปลากด ปลาปึ่ง (เทโพ) ปลาคุยลาม ทำให้เกิดกาจับปลาของคนแถบลุ่มน้ำเสียว ที่เรียกว่า “อยู่จิบ” ในลำน้ำเสียว หมายถึง การซุ่มจับปลาภายในสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว เหมือนนั่งร้านดักสัตว์ของพรานป่า และมีคำกล่าวกันว่า มีคนอยู่จิบถูกปลาคูนดีดตกนั่งร้าน 

เมื่อถึง “ฤดูน้ำแก่ง” (ฤดูน้ำหลาก) ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม (อาจถึงเดือนพฤศจิกายน) น้ำทะเลขึ้น น้ำโขงหนุน น้ำมูนก็เอ่อท้นนองที่ราบลุ่ม แผ่ลามออกไปจากร่องแม่น้ำมูนในรัศมี 1-5 กิโลเมตร พันธุ์ปลากว่า 70 ชนิด อพยพขึ้นตามน้ำ เมื่อน้ำลดจะมีบางพันธุ์เท่านั้นที่อพยพลงตามน้ำ อาทิ ปลาเอิน ปลาคาบมัน ปลาคูน ปลาซวย ปลาเผาะ ปลาฉนากและปลาบึก โดยล่องลงปากมูลลงสู่แม่น้ำโขง และเมื่อถึงฤดูกาล “น้ำซุ” ครั้งใหม่ ก็ขึ้น-ลงตามน้ำ จนกลายเป็นวัฏจักร

พรานปลายังให้ข้อสังเกตว่า การ “ดักมอง” และ “ดักโต่ง” จะได้ปลามากในตอนกลางคืน นั่นแสดงว่าฝูงปลาอพยพเคลื่อนลงตามน้ำในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะช่วงเวลา 03.00-04.00 น. เมื่อถึงฤดูน้ำลง (ระหว่างพฤศจิกายน-มกราคม) จนเข้าสู่ฤดูแล้ง (กุมภาพันธุ์-เมษายน) ปลาหลายชนิดจะอยู่ค้างตามกุด หนอง เป็นอาหารแก่มนุษย์และสัตว์กินปลา

พรานปลาในแม่น้ำมูนมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของปลาอย่างดียิ่ง อาทิ ในช่วงสิ้นสุดฤดูวางไข่ พ่อปลาแม่ปลามีความต้องการอาหารมากเป็นพิเศษ ทำให้พรานสามารถคิดวิธีการจับปลา และประดิษฐ์เครื่องมือจับปลา และชนิดของเหยื่อสำหรับปลาให้สอดคล้องกับขนาด พฤติกรรมของปลา จึงสามารถจับปลาได้แทบทุกชนิด และปลาที่ได้ก็จะอวบอ้วนเป็นพิเศษ และรู้อีกว่าปลาที่จับได้ในช่วงนี้ถ้าตายก็จะเน่าเร็วกว่าฤดูอื่น

จากการสำรวจพบเครื่องมือจับปลาที่พรานปลาใช้จับปลาในลำน้ำมูนมีมากกว่า 31 ประเภท โดยมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ บนพื้นฐานความเรียบง่าย วัสดุหาง่าย มีในท้องถิ่น ราคาถูก และเครื่องมือชนิดเดียวสามารถใช้จับปลาได้หลายวิธี หรือเครื่องมือหลายประเภทอาจร่วมกันในวิธีการเดียว

วิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำมูน ต่างพึ่งพิงสายน้ำ ขณะเดียวกันก็พึ่งพากันในรูปของการร่วมกันหาอยู่หากิน เช่น การจับปลา ซึ่งบางฤดูต้องใช้คนจำนวนมากจึงจะสามารถจับปลาได้ ทำให้ความร่วมมือหาปลาได้กลายเป็นสิทธิ์ เช่น ครอบครัวต้องส่งตัวแทนเข้าร่วมลงต้อนและล้อมเยาะ ซึ่งการลงต้อนต้องใช้แรงคนจำนวนมาก และล้อมเยาะ ได้แก่การตัดต้นหรือกิ่งไม้ แล้วนำไปปักหรือวางไว้ในน้ำ เพื่อให้ปลาเข้าอยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้จับปลาได้มาก หากตัวแทนครอบครัวใดไม่ได้ร่วมลงต้อนและล้อมเยาะ ในปีนั้น ครอบครัวนั้นก็จะไม่มีสิทธิ์จับปลา หรือได้ส่วนแบ่งจากการขายปลา ยกเว้นจะขอแบ่งปลาเพื่อทำกิน ซึ่งปรกติคนในกลุ่มหาปลาก็จะแบ่งปันให้อยู่แล้ว จนถึงปีหน้าฟ้าใหม่ครอบครัวนั้นจึงจะสามารถเข้ากิจกรรมจับปลาได้ พร้อมๆ กับสิทธิทำกินก็กลับคืนมาดังเดิม

จากความสัมพันธ์เชิงหาอยู่หากิน เป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะปลูก และเกิดระบบสิทธิ์ครอบครองตามมา และพัฒนาเป็นการยอมรับและเคารพสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่ตามธรรมชาติ และการตกทอดของสิทธิ์จากรุ่นสู่รุ่น สิทธิ์ดังกล่าวอาจมีศักดิ์และสิทธิ์เหนือกว่าการบังคับใช้กฎหมายทั่วไป เนื่องจากสิทธิ์เกิดจากชุมชน ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ก่อนมีระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์หรือเกิดพิพาทโต้แย้งสิทธิ์ ชุมชนก็มีกลไกในการประนีประนอมกัน โดยผู้ใหญ่บ้านจะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน และปรับไหม ถือเป็นการสิ้นสุดของข้อพิพาท หลังจากนั้น คู่กรณีหรือคู่พิพาทก็ยังอยู่ร่วมกัน และหวนคืนมาเข้าใจกันอีกครั้ง

นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ประดิษฐ์กิจกรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนอีกหลายกิจกรรม เช่น การนำเอาวิธีการหาปลาขนาดใหญ่ มาปรับใช้กับกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ “เฮอะบุญ” โดยจัดบุญผ้าป่าสามัคคีและบุญอัฐฐา (บุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ) ให้ตรงกับการล้อมเยาะ เป็นต้น

ด้านอาชีพประมง ในอดีตชาวบ้านลุ่มน้ำมูนสามารถหาปลาได้ตลอดปีตามแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีอยู่ในทาม เช่น กุด หนอง ฮ่อม และในแม่น้ำมูนซึ่งเป็นถิ่นฐานของปลาหลายชนิด จำนวนพันธุ์ปลาที่เคยพบในแม่น้ำมูนตอนกลางมีทั้งหมด 70 ชนิด (ข้อมูลจากกลุ่มอาสาสมัครวิจัย) แต่ภายหลังหลังจากการสร้างเขื่อนฯ พบว่ามีพันธุ์ปลาบางชนิดได้หายไป และมีพันธุ์ปลาบางชนิดเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะปลามีเกล็ด เช่น ปลาขาว ปลาขาวสร้อย

เมื่อคนหาปลาหันหลังให้แม่น้ำ

ข้อมูลจากการสำรวจ ผลกระทบจากการกักเก็บน้ำในเขื่อนราษีไศล ผู้ที่ไม่ทำประมงและระบุถึงสาเหตุอันเนื่องมาจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลง การเดินทางไม่สะดวกจึงเลิกทำการประมง ส่วนกลุ่มผู้ที่ยังทำการประมงอยู่ พบว่ามีปัญหาในการทำประมง คือ จำนวนปลาลดลงทำให้หาปลาได้ยากขึ้น น้ำลึกหาปลาได้ยาก

ปัญหาในการทำประมง (เฉพาะผู้ระบุปัญหา) -น้ำลึก หาปลายาก -จำนวนปลาลดลง/ปลาหายาก -ปัญหาอุปกรณ์/ลงทุนสูง -อื่นๆ (น้ำเน่า มีหอยคัน ฯลฯ)

ข้อมูลการสำรวจทั้งในด้านปริมาณปลาที่ลดลง การหาปลายากขึ้น เพราะน้ำลึกต้องมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือการจับปลา กล่าวคือ เครื่องมือและอุปกรณ์หาปลาต้องเปลี่ยนไป แห ไซ สุ่ม ใช้ไม่ได้ในน้ำลึก มีการใช้มอง (ตาข่ายดักปลา) และต้องมีเรือเป็นอุปกรณ์สำคัญ ทำให้การหาปลาต้องลงทุนสูงขึ้น คนที่ไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ก็จะหาปลาได้ลำบากมากยิ่งขึ้น มีการใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ไฟซ๊อต ระเบิดปลา ยกสะดุ้ง ซึ่งต้องลงทุนสูงเป็นของนายทุนในหมู่บ้าน ชาวบ้านจนๆ ไม่สามารถทำได้

แหล่งที่จะหาปลาได้นั้นลดลงเพราะมีวัชพืชขึ้นปกคลุมตามหนอง ตามกุดที่ชาวบ้านเรียกว่า”สนม” ซึ่งมีลักษณะเป็นหญ้าหรือวัชพืชที่ไหลมาทับถมกันจนหนาหรือบางแห่งมีดินด้วย บางแห่งหนาจนคนสามารถเดินผ่านได้ทั้งที่ข้างล่างยังเป็นน้ำ (พบมากในอำเภอรัตนบุรี)

การหาปลาทำได้น้อยลง พันธุ์ปลาเหลือน้อยหรือลดลงมาก เช่น ปลาเก้ง ปลาหมู ปลาตอง ปลาคะกั้ง ตะพาบน้ำ ปลากุ่ม พันธุ์ปลาที่หายไป คือ ปลาจอก ปลาเค้ง ปลาเข้ ปลาปิ้ง ปลาขี้โก๊ะ ปลาขบ ปลาถดโทง ปลาเสือ ปลาบักผาง ปลายอน ปลาฝาไล (กระเบนน้ำจืด) ซึ่งเป็นปลาประเภทที่มีเนื้ออ่อนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ปลาที่หาได้รสชาติยังไม่อร่อย จืด เพราะเป็นปลาน้ำนิ่งและปลายังเน่าเสียเร็วกว่าแต่ก่อนอีกด้วย รายได้จากการหาปลาลดลงจนมีคำกล่าวว่า “คนขี้คร้านไปหาปลา คนขยันไปหาทำงานในเมือง” เพราะการหาปลาในปัจจุบันเป็นการหากินในครอบครัวซึ่งอาจจะได้ขายหรือไม่ได้ขาย

แม่น้ำในฐานะมารดาของชุมชน

ระบบนิเวศบุ่งทามกับการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน ระบบนิเวศในเขตพื้นที่โครงการเขื่อนราษีไศล เป็นระบบนิเวศแม่น้ำตอนกลางที่มี “บุ่งทาม” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นพื้นที่ ราบน้ำท่วมถึงอันกว้างใหญ่สองฝั่งลำน้ำมูนเป็นความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร ความกว้างของพื้นที่บุ่งทามสองฝั่งแม่น้ำมูน 3 – 8 กิโลเมตร เป็นผืนดินที่อุดมไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติอัน เกิดจากการสั่งสมของตะกอนแม่น้ำอิทธิพลของกระแสน้ำทำให้เกิดมีภูมิสัณฐานที่หลากหลาย เรียกตามภาษาท้องถิ่นได้ 19 ลักษณะ เช่น กุด หนอง ฮ่อง ฮอม เลิง วัง คุย คู ฯลฯ เป็นที่เกิด ของสังคมพืชสัตว์ คือ ป่า 3 ประเภท คือ ป่าดิบแล้ง – ดิบชื้น, ป่าโคก และป่าบุ่งป่าทาม หรือป่าทาม 

คุณค่าต่อชีวิตชุมชน ชุมชนใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน เลี้ยงสัตว์ แหล่งเชื้อเพลิง เก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า แหล่งต้มเกลือสินเธาว์ แหล่งน้ำการเกษตรและบริโภค อุปโภค แหล่งนันทนาการและท่องเที่ยว ทั้งเป็นที่ประกอบพิธีกรรมและประเพณีต่าง ๆ ของชุมชน


หากพิจารณาภาพความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับทามได้แสดงให้เห็นถึงนัยต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เกี่ยวพันกับสภาพดำรงชีพ ในฐานะที่เป็นฐานทรัพยากรของชุมชน ชาวบ้านชุมชนในแถบลำน้ำมูนอาศัยทามเป็นแหล่งการผลิตพืชไร่ ข้าว การทำนาในทาม รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ วัว-ควายในทาม ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวบ้าน ซึ่งมีระบบตลาดการค้าขายวัวควายมายาวนาน นอกจากนี้ ทามยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญที่ชาวบ้านอาศัยทำประมงทั้งเพื่อยังชีพ และการเพื่อขาย มีการใช้เครื่องมือประมงประเภทต่างๆ ที่สืบทอดกันมายาวนาน รวมทั้ง ระบบพิธีกรรม ความเชื่อในลักษณะ “วัฒนธรรมปลา” ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและการผลิตของ ชุมชน ฐานทรัพยากรทามดังกล่าวนี้ มีระบบการจัดการโดยชุมชน ซึ่งมีรูปแบบของการรับรองสิทธิ์ การครอบครองและการใช้ประโยชน์โดยชุมชน

แผนที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง เขตพื้นที่เชื่อมต่อ 3 จังหวัด ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์

พื้นที่บุ่งทามกับความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่บุ่งทามราษีไศล พื้นที่บุ่ง / ทาม ซึ่งเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ลดลงจนเห็นได้ชัด ใน พ.ศ. 2532 พื้นที่ ลักษณะดังกล่าวมีขนาด 119,331 ไร่ ในปี 2564 ลดเหลือเพียง 31,068 ไร่

ภูมินิเวศบุ่งทามกับระบบกรรมสิทธิ์ประมงพื้นบ้าน ความหลากหลายของนิเวศป่าบุ่งป่าทาม แต่ก่อนมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ชาวบ้านที่นี่จะยึดอาชีพหาของป่า ทำนา และประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นอาหารในครอบครัว สมัยก่อนมีปลาอยู่เต็มไปทั่วแถวป่าบุ่งป่าทาม ห้วย หนอง กุด วัง และแม่น้ำมูล ชาวบ้านที่หา ปลาจะมีพื้นที่หาปลาเป็นของครอบครัวตนเอง แต่ละครอบครัวจะหากินบริเวณนั้นเป็น ประจำทุกปี ไม่มีการบุกรุกแย่งที่หาปลากันในชุมชน แต่สำหรับคนที่อยากหาปลาในที่ของคนอื่นสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของก่อน หรือไม่ก็หาแล้วเอาปลามา แบ่งกันคนละครึ่ง” 

บุ่งทาม คือ พื้นที่ที่มีความหลากหลายในฐานะแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติและพื้นที่หาปลาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดและชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของคนในพื้นที่ โดยพบว่า ในความหลากหลายของระบบนิเวศคลายกันกับภูมินิเวศระบบย่อยในพื้นที่ 3 จังหวัด แต่จุดเด่นที่ชาวบ้านสะท้อนให้เห็นคือ ภาพของภูมินิเวศที่มีความหลากหลายและเหมาะสำหรับการเป็นแหล่งที่อยู่ของปลานานาพันธุ์ที่ชาวบ้านสามารถจับหาได้ โดยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน

“จิ๊บ” เป็นเครื่องมือประมงที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุในธรรมชาติที่หาได้ในภูมินิเวศบุ่งทาม ชาวประมงพื้นบ้านจะสานจิบอยู่ที่บ้านแล้วนำไปวางไว้บริเวณที่คาดว่ามีปลาวิ่งผ่าน การทำจิ๊บจะทำในช่วงฤดูแล้ง อาศัยร่องน้ำไหลที่ปลาว่ายทวนกระแสน้ำ ปลาที่เข้าจิ๊บ เช่น ปลาปึ่ง ปลาค้าว ปลาตะเพียน ปลาสูต ปลานาง ปลาเก้ง ปลานกเขา ปลาชะโด ปลาผา ปลากรด ปลากุ่ม และปลาสร้อย เป็นต้น

“ต้อน” เป็นเครื่องมือประมงที่นิยมใช้จับปลาหลังช่วงออกพรรษา ชาวประมงพื้นบ้านจะลงแม่น้ำมูลไปใส่ต้อน หรือเรียกว่า “กัดต้อน” การใส่ต้อนจะใส่ไล่เรียงลงไปตามระดับน้ำ วางกั้นเป็นแนวยาวให้ปลาหลงเข้ามาในต้อน 

“เยาะ” หรือ “เฮอะ” เป็นการตัดเอาพุ่มไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในป่าบุ่งป่าทามมาวางกองไว้ในน้ำ เพื่อเป็นล่อให้ปลาเข้ามาหลบพักอาศัย หลังจากน้ำเริ่มลดลงชาวบ้านประมงพื้นบ้านจะเอาตาข่ายไปวางรอบเยาะหรือเฮอะ เพื่อจับปลาที่เข้ามาหลบอยู่ในนั้น จะเห็นว่า ตัวอย่างการประมงพื้นบ้านของชาบ้านที่ทีมประเมินผลกระทบหยิบยกขึ้นมา เป็นภาพสะท้อนกิจกรรมประมงพื้นบ้านที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากภูมินิเวศบุ่งทาม

แม่น้ำอ่อนแอ ผู้คนเปราะบาง

นอกจากป่าบุ่งป่าทามจะเป็นพื้นที่ของความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถหาของป่าได้ ยังเป็นพื้นที่หลบซ่อนตัวของปลาและเป็นวัสดุสำคัญของชาวบ้านในการนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านเพื่อการยังชีพและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในช่วงฤดูกาลต่างๆ

เมื่อเกิดผลกระทบ กลุ่มเปาะบางทางสังคม คือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ภายหลังจากความเปลี่ยนแปลงหลังการพัฒนาเขื่อนราษีไศล ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลสูงขึ้น แต่เดิมพื้นที่หาปลาของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงพื้นที่ประมงพื้นบ้านทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และคนชรา กลุ่มนี้ได้กลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่เข้าใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามยากลำบากกว่าแต่ก่อน กล่าวคือ ก่อนการสร้างเขื่อนผู้หญิง เด็ก และคนชรา สามารถเข้าไปหาอยู่หากินในป่าบุ่งป่าทามได้อย่างอิสระเทียบเท่ากับผู้ชาย เนื่องจากพื้นที่ภูมินิเวศบุ่งทามในอดีตอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ผู้หญิง เด็ก และคนชราสามารถเข้าไปหาได้ เช่น กุ้งฝอย หอย ปู และปลาขนาดเล็ดที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็กดักจับบริเวณชายฝั่งน้ำตื้น หลังจากปิดประตูเขื่อนราษีไศลส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น ขณะที่เครื่องมือประมงของผู้ชาย เช่น จิ๊บ ต้อน เยาะหรือ เฮอะ ทำได้ยากกว่าแต่ก่อน การเข้าใช้ประโยชน์ด้านประมงพื้นบ้านต้องอาศัยเรือประมงขนาดใหญ่ขึ้นที่ ต้องติดเครื่องยนต์ ส่วนผู้หญิง เด็ก และคนชราที่เกรงว่าจะเกิดอันตรายต้องงดกิจกรรมประมงพื้นบ้าน ส่งผลให้โอกาสของผู้หญิง เด็ก และคนชราลดน้อยลงพร้อมด้วย ขณะที่ผู้ชายต้องแบกรับหน้าที่ในการหาปลาหนักขึ้นท่ามกลางปริมาณพันธุ์ปลาที่ลดจำนวนลง เครื่องมือประมงที่ต้องลงทุนสูงกว่าแต่ก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การประมงพื้นบ้านเริ่มลดจำนวนน้อยลง แต่การประมงสมัยใหม่แบบล้างผลาญและผิดกฎหมายเริ่มมีมากขึ้น เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเหมือนแต่ก่อน ในลุ่มน้ำมูลได้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีชาวบ้านประมงที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นเข้ามาถึงแม่น้ำมูลแถบนี้พร้อมกับเครื่องมือประมงที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่พร้อมดักจับปลาและสัตว์น้ำและปลาทุกขนาด การประมงพื้นบ้านสมัยใหม่ที่กล่าวถึงเป็นเครื่องมือประมงที่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ด้วยระดับน้ำจากการปิด-เปิดประตูเขื่อนทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ภูมินิเวศบุ่งทามไม่สามารถหาของป่าได้เหมือนแต่ก่อน ที่ดินสำหรับการทำนาลดน้อยลง การลักลอบทำการประมงแบบล้างผลาญจึงเป็นความท้าทายต่อกฎหมายด้านประมงเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลังการพัฒนาเขื่อนราษีไศล

การสูญเสียรายได้และการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามราษีไศล ด้านการทำประมง และการจับสัตว์น้ำเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร การลดรายจ่าย และการสร้างรายได้ แบ่งเป็น 4 ฤดูกาลตามการทำประมงของชาวบ้าน ได้แก่

  1. ฤดูแล้ง ระยะเวลา 4 เดือนในช่วงประมาณ เดือนมกราคม – เมษายน
  2. ฤดูน้ำแดง ระยะเวลา 4 เดือนในช่วงประมาณ เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม
  3. ฤดูน้ำหลาก ระยะเวลา 2 เดือนในช่วงประมาณ เดือนกันยายน – ตุลาคม
  4. ฤดูน้ำลด ระยะเวลา 2 เดือนในช่วงประมาณ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม

โดยข้อมูลที่จัดเก็บประกอบด้วย ประเภทและปริมาณผลผลิตของสัตว์น้ำแต่ละชนิดพันธุ์ที่จับได้ จำนวนวันทำประมง ราคา มูลค่า และรวมทั้ง ต้นทุนในการทำประมงในแต่ละฤดูเพื่อนำมาใช้คำนวณเป็นมูลค่าของต้นทุนและผลผลิตรายปี หมู่บ้านในพื้นที่โครงการก่อนปี พ.ศ. 2535 แสดงจำนวนครัวเรือนและข้อมูลการทำประมงในช่วงฤดูต่างๆ ในรอบปี เปรียบเทียบระหว่างช่วงก่อนการสร้างเขื่อนปี พ.ศ.2535 กับช่วงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2562 เดิมก่อนการสร้างเขื่อน ชาวบ้านในพื้นที่โครงการ มีการพึ่งพิงการทำประมงในระดับที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง (ช่วงประมาณเดือนมกราคม – เมษายน) ซึ่งมีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำประมงสูงถึงร้อยละ 71.5 ของครัวเรือนทั้งหมด รองลงมาจะเป็นฤดูน้ำแดง (ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม) ฤดูน้ำลด (ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม) และ ฤดูน้ำหลาก (ช่วงประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม) ตามลำดับ 

ขณะที่ในช่วงปัจจุบัน พ.ศ. 2562 แม้รูปแบบการกระจายของการทำประมงระหว่างฤดู จะมีลักษณะคงเดิม แต่สัดส่วนของครัวเรือนที่ทำประมงลดลงอย่างมาก โดยในช่วงฤดูแล้ง มีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำประมงลดลงเหลือเพียงร้อยละ 26.7 และเหลือเพียงร้อยละ 12.1 – 13.8 ในฤดูอื่นๆ ในแง่ของชนิดพันธุ์ของผลผลิต พบว่า ชาวประมงจับปลาขาวได้เป็นจำนวนมากที่สุดในทุกช่วงฤดู ปลาชนิดอื่นๆ มีจำนวนลดลง

ผลตอบแทนด้านประมง เปรียบเทียบระหว่างปี 2535 ก่อนมีเขื่อน กับปี 2562 พบว่า ปริมาณการทำประมงและผลผลิตประมงมีแนวโน้มลดลงอย่างมากในทุกๆ ฤดู โดยในภาพรวมของทั้ง 4 ฤดู มูลค่าผลผลิตเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งหมดของชุมชนในเขตพื้นที่โครงการ ลดลงจาก 58,692 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ในปี 2535 เหลือเพียง 5,751 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ในปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 90 แต่ในด้านต้นทุนการทำประมงเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์การชดเชยผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการสูญเสียป่าบุ่งป่าทาม

ประโยชน์ต่างๆ จากป่าบุ่งป่าทามผลประโยชน์สุทธิที่เปลี่ยนแปลงไปเฉลี่ยต่อครัวเรือน(บาท/ปี)หลักการความรับผิดชอบของเขื่อนต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลักการชดเชยตามความจริงก่อนมีเขื่อนและความเป็นไปได้ในการพิสูจน์ค่าชดเชย
3. ประมง-52,964ทางอ้อมเพราะมีปัจจัย อื่นทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในแม่น้ำมูนลดลง จึงชดเชยร้อยละ 33คนจับได้มากหรือน้อย ชดเชยตามจริงแต่ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงก่อนมีเขื่อนจึงควรชดเชยตามค่าเฉลี่ย17,478 บาท/ปี

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบุ่งทามมากที่สุด คือกลุ่มคนเปราะบาง ได้แก่ ผู้หญิง เด็ก และคนชรา ที่เข้าใช้ประโยชน์ในทามได้ลำบากมากขึ้นทั้งในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ร้อยละ 96.0 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาด้านสังคม เศรษฐกิจ ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพที่พบว่าผู้หญิง เด็กและคนชราต่างประสบปัญหาเข้าไปเก็บของป่าจากบุ่งทาม เนื่องจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมสูง เข้าถึงได้ยากลำบาก มีอันตราย ใช้เวลาและเงินมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งหากิน เช่น การหามันแซง ในเกาะที่ยังเหลือจากน้ำท่วมที่ต้องจ้างเรือเข้าไปส่งหรือความอันตราย จากความรกของพื้นที่พบมีสัตว์จำพวกงูเหลือมอาศัยมากขึ้น อาชีพที่เกือบจะสูญหายคือต้มเกลือทาม

นอกจากนี้ อาชีพประมงพื้นบ้านในลำน้ำมูลและพื้นที่บุ่งทามได้รับผลกระทบหนักมากเพราะระดับน้ำท่วมสูงขึ้น ทำให้พื้นที่บุ่งทามที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาหายไป ทำให้ปริมาณปลาที่ชาวบ้านจับได้ลดลง ชาวบ้านหลายรายต้องลงทุนการทำประมงด้วยการซื้อเครื่องมือประมงเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแบบน้ำท่วม นอกจากนี้ยังพบการประมงแบบล้างผลาญเพิ่มขึ้นในพื้นที่การสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในพื้นที่บุ่งทามดังกล่าว ส่งผลต่อความมั่นคงในรายได้ระดับครัวเรือนของชาวบ้านในพื้นที่

เนื่องจากครัวเรือนหนึ่งๆ จะมีการประกอบอาชีพและ/หรือทำมาหากินในป่าบุ่งป่าทามอย่างหลากหลาย ทั้งการทำนาแซง ทำประมง เลี้ยงวัวควาย เก็บฟืน หาของป่า และหาพืชผักต่างๆ ในทามควบคู่กันไป โดยคนในชุมชนต่างเคารพสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นร่วมกัน โดยมีความเชื่อ “เจ้าพ่อดงภูดิน” เป็นกลไกในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมในชุมชนและระหว่างชุมชนกับธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสิทธิเชิงซ้อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 ตามลำดับ แต่การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และระบบนิเวศน์ที่เกิดขึ้นหลังการสร้างเขื่อนส่งผลให้ครัวเรือนและชุมชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเปราะบางได้แก่ คนแก่ เด็ก ผู้หญิง และคนที่ไม่มีทุนเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือคนที่ประกอบอาชีพด้วยการพึ่งพาป่าการเก็บของป่า ทำประมง และการใช้ทรัพยากรในป่าบุ่งป่าทามเป็นหลัก 

นอกจากนี้ การสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในป่าบุ่งป่าทามตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลต่อการสูญเสียศักยภาพ ทักษะ ความรู้ และความสามารถของสมาชิกของครอบครัวในการหาอยู่หากินในทามและกระทบต่อเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งด้านความไว้วางใจและความสามารถในการทำกิจกรรมร่วมกันของคนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากป่าบุ่งป่าทามร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความสูญเสียในด้านทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ตามแนวคิดการดำรงชีพของกองการระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนานานาชาติของอังกฤษ (Department for International Development : DFID) อีกด้วย

ทางออกและข้อเสนอแนะ

ในการประเมินเกี่ยวกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับจริงจากการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามอันเรื่องมาจากการสร้างเขื่อนราษีไศลด้านเศรษฐศาสตร์ โดยวิเคราะห์รายละเอียดทั้งหมด 7 มิติ คือ การทำนา การเพาะปลูกพืชอื่นๆ การประมง การเก็บหาของป่า การเลี้ยงวัวควาย การต้มเกลือ และการประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ

ข้อเสนอแนะแนวทางการชดเชยการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพและการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทาม กรณีเขื่อนราษีไศล รูปแบบการซึ่งการจ่ายค่าชดเชยควรมีทั้งในรูปแบบเป็นตัวเงิน และการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ควรมีการการฟื้นฟูอาชีพ วิถีชีวิตชุมชนในอนาคตนับจากปี 2563 เป็นต้นไป ในพื้นที่ 161หมู่บ้าน 27 ตำบล จังหวัด 9 อำเภอ 3 จังหวัด (ศรีษะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด)

ด้วยกระบวนออกกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง 2558 ที่ชุมชนชาวประมงน้ำจืด (พื้นบ้าน) ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนร่างกฎหมาย และการประกาศที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ จึงทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายไม่มีความสอดคล้องต่อการดำรงวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น กรณีผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ซึ่งแก้ไขปัญหามานานกว่า 30 ปี 14 รัฐบาลมาแล้ว ก็ยังไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจึงเสมือนได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนดั่งเช่นถูกขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ทำมาหากินดั่งเดิมอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และปัญหาผลกระทบดังกล่าวก่อให้เกิดสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและทางสังคมตามมาอีกมากมายหลายด้าน หลายมิติ

พ.ร.ก.การประมง 2558 และการบังคับใช้ประกาศ และระเบียบของหน่วยงานด้านประมง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ผลกระทบที่ดาหน้าและถาถมเข้ามาได้ การเข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทามที่เคยมีมากกว่า 16 กิจกรรมลดลง คงเหลือเพียงด้านการประมงพื้นบ้านเท่านั้นที่ยังพอหาอยู่หากินได้บ้าง ในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 

ดังนั้นรัฐบาล จึงควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงปรับแก้กฎระเบียบ และประกาศบ้างส่วน ให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตท่ามกลางการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ที่ชุมชนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินในดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้น และยังต้องมาประสบกับสภาวะปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง 2558 ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถจะปรับตัวให้สามารถอยู่ในชุมชนท้องถิ่นได้ นำมาซึ่งการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน นำพาครอบครัวไปขายแรงงานในต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น หากลงไปหาปลาแล้วไม่ได้ปลาในปริมาณที่จะพอที่เลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอดได้ เพราะจำนวนปริมาณปลาลดลงจากการกักเก็บน้ำเขื่อน และยังต้องเจอกับการบังคับใช้กฎหมายประมงที่เข้มงวด ไม่สองคล้องและไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ในการดำรงวิถีชีวิตและการทำมาหากินแบบนี้ ครอบครัวชาวประมงพื้นบ้านน้ำจืดในชุมชนท้องถิ่นก็จะถูกบีบให้เลิกทำอาชีพ หรือเลิกวิถีประมงพื้นบ้านนี้ไปประกอบอาชีพอื่นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กฎหมายและข้อสังเกต

ในส่วนนี้จะผู้เขียนจะขอหยิบยกเอา กฎหมายและระเบียบบางส่วน เพื่ออธิบายความในเบื้องต้น ไว้เป็นแนวทาง ในการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ เครือข่ายทามมูน ต.หนองแค

พระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558

มาตรา 12 บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด และคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

มาตรา 25 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตทะเลชายฝั่ง ให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่อง 

มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง 

ข้อสังเกต – ชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียด ปลาน้ำจืดหลายชนิดที่มีขนาดเล็ก

มาตรา 62 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อสังเกต – เกิดกรณีการลักลอบดูดทรายนอกเขตพื้นที่สัมปทานบ่อยครั้ง

มาตรา 63 ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ รั้ว สิ่งปลูกสร้างเครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นใด หรือกระทำการใดในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นการกั้นทางเดินของสัตว์น้ำหรือเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสาธารณภัยหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการชลประทาน

ข้อสังเกต – เกิดการตีความของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย มีความต่างแตกกันตามความเข้าใจเฉพาะตัวบุคคล***

มาตรา 67 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน

(2) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ

(3) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด 

ข้อสังเกต – หลักการในการให้อำนาจอธิบดีในการกำหนด ตีความของขนาดในการใช้ในพื้นที่ประมงน้ำจืด

(4) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์ เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย


ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับเครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือวิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการทำการประมงพื้นบ้าน

มาตรา 68 ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่หรือระยะเวลาในการทำการประมง

ข้อสังเกต – รายละเอียดอย่างไร ชุมชนประมงท้องถิ่นมีสิทธิ์ในการร่วมกำหนดได้หรือไม่ อย่างไร

มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน

ข้อสังเกต – รายละเอียดอย่างไร ชุมชนประมงท้องถิ่นมีสิทธิ์ในการร่วมกำหนดได้หรือไม่ อย่างไร

มาตรา 70 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่และวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนหรือระยะเวลาอื่นใดที่จําเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ข้อสังเกต – เครื่องมือที่มีการอนุญาตอาจจะไม่สอดคล้องในทำการประมงที่จะสามารถจับปลาได้จริงในนานน้ำที่เขื่อนราษีไศล มีปริมาณน้ำกักเก็บน้ำในระดับสูง และการประกาศทั้งห้ามทั้งหมดในน่านน้ำสาธารณะ ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้และรายจ่ายค่าอาหาร ที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว หรือการอพยพแรงงานในช่วงเวลาดังกล่าว

มาตรา 71 ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงขนาดของเรือประมงที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ

มาตรา 72 ในกรณีที่การออกประกาศตามมาตรา 71 จะต้องดำเนินการในเขตพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างพื้นที่ของสองจังหวัดขึ้นไป เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น หรือเพื่อประโยชน์ในการจัดการอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐมนตรีใช้อำนาจในการกำหนดแทนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องทราบ

ข้อสังเกต – มาตรานี้ สามารถนำมาซึ่งการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกฎหมายและประกาศต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ตามผลการศึกษาที่จะได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการร่วมกัน ได้หรือไม่ อย่างไร

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2554

ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนหรือข่ายซึ่งใช้ประกอบกับเครื่องมือกระทุ้งน้ำ (การไล่ปลา) ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ โดยเด็ดขาด ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 71 ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมงที่ใช้ทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ มีโทษตาม มาตรา 147 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 71 ปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ ที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า


ข้อสังเกต – เกิดการตีความของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย มีความต่างแตกกันตามความเข้าใจเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะการใช้ไม้กระทุ้งน้ำ จากการที่ได้มีการรับฟังข้อคิดเห็นในการตีความประกาศข้อนี้กับเจ้าหน้าที่ประมงในหลายจังหวัดที่บังคับใช้ตามประกาศฉบับนี้ มีความหมิ่นเหม่ต่อการเข้าใจผิดตามคำนิยามที่ไม่ชัดเจน จึงสมควรมีการออกแบบคำนิยามร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวประมงพื้นบ้านที่หาอยู่หากินและได้รับผลกระทบโดยตรง

ยังมีอีกหลายมาตราที่ผู้เขียนมิได้หยิบยกมา ข้อมูลข้างต้นนี้จัดทำเพื่อเป็นแนวทางในการประชุมปรึกษาหารือ ร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาครัฐ และประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศลมานานกว่า 30 ปี เพื่อให้เกิดการส่งเสริมสนับสนุนการดำรงวิถีการหาอยู่หารกินของชาวประมงชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความอย่างยั่งยืน และมีระบบเศรษฐกิจครัวเรือนที่สามารถตอบสนองต่อการอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้

สรุปหลังจากการพูดคุยหารือแนวทางในเบื้องต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ให้นโนยบายกับหน่วยงานราชการในสังกัด ถึงการบังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบต่างๆ จะต้องไม่กระทบกับวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำแดงหรือช่วงปลาวางไข่ ก็ควรจะมีการประกาศเฉพาะพื้นที่ปลาจะเข้าไปวางไข่ ควรยกเว้นในบางพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการทำมาหากินได้ ไม่ใช่ประกาศทั้งหมดน่านน้ำ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

เบื้องต้น รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้มอบหมายนโยบายกับรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รับไว้เป็นแนวทางปฏิบัติกับหน่วยงานราชการหน่วยงานในสังกัด เพราะพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางเป็นพื้นที่นี้คาบเกี่ยวกับ 3 จังหวัด ซึ่งเกินกว่าอำนาจหน้าที่ของประมงจังหวัดจะตัดสินใจได้ในหลายเรื่อง

ด้านประพันธ์ ภาชู นายกสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน (ศรีสะเกษ) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ผู้แทนรัฐบาล โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านน้ำจืดและเข้าใจว่ามีกฎหมายและระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนจริง จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาร่วมกัน นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ชาวประมงพื้นบ้าน (น้ำจืด) อย่างพวกเราซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาจะมีโอกาสพูดถึงความต้องการของตนเองและท่านรัฐมนตรีก็รับฟังด้วยความเข้าใจด้วย และคงจะต้องติดตามในลำดับขั้นตอนต่อไปว่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขในส่วนใดบางและมากน้อยแค่ไหน ประพันธ์ กล่าว

image_pdfimage_print