สืบเนื่องจากบทความ บันทึกของแพทย์เคลื่อนที่ ในเหตุการณ์เสียงปืนแตก ปี 2509 ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองบัวลำภู ซึ่งเผยแพร่ไปแล้วก่อนหน้านี้ 

ในระหว่างเตรียมต้นฉบับเพื่อเผยแพร่นั้น พี่โกวิท บรรณาธิการ The Isaan Record เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ ควรเขียนขยี้ขยายต่อ โดยเฉพาะประเด็นสถานภาพลูกเมียน้อยของภูมิภาคอีสานก่อนขบวนการคอมมิวนิสต์จะเข้ามาเป็นองค์กรนำเคลื่อนไหวต่อสู้–หากการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ไม่เข้มข้นขึ้นช่วงหลังกึ่งพุทธกาล ไม่แน่ใจว่าดินแดนอีสานจะมีโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) หรือสาธารณูปโภคที่จำเป็นโผล่ผุดอย่างรวดเร็วเป็นดอกเห็ดกี่มากน้อย

ผมเห็นว่าน่าสนใจเช่นกัน จึงตกปากรับคำทันที ณ จุดนี้จึงขอขอบคุณพี่โกวิทเป็นอย่างสูงที่กรุณาจุดประกายประเด็น ทั้งนี้ ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของผมเพียงผู้เดียว

อนึ่ง พอค้นข้อมูลและเตรียมเขียน ผมเห็นว่าการเขียนในลักษณะสาธยายสภาพของพื้นที่ราบสูงว่าถูกละเลย ถูกกดขี่ขูดรีด อย่างไรบ้าง ดูจะจืดชืดไร้อรรถรส ผมจึงจะเขียนโดยอาศัยเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของคนอีสานในช่วงเวลาต่างๆ เป็นเส้นเรื่อง 

นัยหนึ่งก็จะเป็นการสะท้อนข้อสรุปของผมในบทความข้างต้นที่อ้างถึง คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ว่า ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมากระทั่งบัดนี้ ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น–การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปของสังคมทั้งหมด ต่างก็เป็นผลมาจากความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งสิ้น

อีกนัยหนึ่งคงพอจะเป็นคาเฟอีนสูบฉีบให้ผู้อ่านไม่ง่วงเหงาหาวนอนในระหว่างอ่านได้กระมัง

ก่อนอยู่ใต้ร่มบรมโพธิสมภารรัฐไทย

สังคมวิทยาอีสาน หนังสือของสุภีร์ สมอนา (2559) เขียนว่า 

“อีสานเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีร่องรอยของความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ และถ้าหากเราศึกษาร่องรอยของความขัดแย้งผ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์จะพบว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวอีสานกับรัฐเกิดมาตั้งแต่ยุคก่อนการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือยุคการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และยุคปัจจุบัน”

งานเขียนทางประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งชื่อ ความขัดแย้งระหว่างอีสานกับรัฐไทย : การครอบงำและการต่อต้าน โดยสมชัย ภัทรธนานันท์ (2560) สาธยายเอาไว้อย่างดีทีเดียว บทความนี้จะอาศัยงานชิ้นนี้เป็นแหล่งข้อมูลหลัก

สมชัยเริ่มอภิปรายด้วยประเด็นดินแดนที่ปัจจุบันเรียก “อีสาน” หรือ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ว่า เป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในยุคประวัติศาสตร์ รัฐในอีสานยุคโบราณอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรขอม แต่อิทธิพลของอาณาจักรดังกล่าวเริ่มเสื่อมลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ส่งผลให้บรรดาเมืองต่างๆ กลายเป็นเมืองร้าง ยกเว้นพื้นที่อีสานใต้บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในปัจจุบัน พื้นที่หลายแห่งในอีสานที่ลึกเข้ามาจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย 

การเสื่อมอำนาจของขอมทำให้อำนาจทางการเมืองของอาณาจักรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ไทย) และอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง (ลาว) ขยายตัว การสถาปนาอาณาจักรล้านช้างโดยเจ้าฟ้างุ่มกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างหน่วยการเมืองการปกครองที่เข้มแข็งของลาว 

ต้นศตวรรษที่ 14 ล้านช้างขยายอิทธิพลเข้ามาสร้างเมืองหลายแห่งในอีสาน แต่พื้นที่ห่างไกลจากแม่น้ำโขงก็แทบจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เช่นเดิม

ความเข้มแข็งของล้านช้างทำให้อยุธยาต้องยอมรับอิทธิพลของลาวเหนืออีสาน แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองอาณาจักรต่างก็ถือเอาอีสานเป็น “ดินแดนกันชน” ไม่ได้มุ่งเข้ายึดครองโดยตรง อีสานจึงเหมือนรัฐชายขอบของอยุธยาและล้านช้างที่อำนาจของทั้งสองเข้ามาปกคลุมอย่างเบาบาง

หลังการล่มสลายของอาณาจักรล้านช้าง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายใน ทำให้ชาวลาวอพยพครั้งใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอีสาน เช่น กลุ่มพระวอพระตาที่ขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร นอกจากนั้น ยังมีการอพยพจากสาเหตุอื่นๆ ในอีกหลายระลอก โดยเฉพาะจากการที่ลาวทำสงครามกับไทย เช่น ศึกเจ้าอนุวงศ์ 

ความแตกแยกทางการเมืองในลาว ส่งผลให้จากที่แต่เดิมอำนาจรัฐไทยในทิศตะวันออกเฉียงเหนือขยายมาไม่เกินโคราช ก็เริ่มขยายอิทธิพลลึกเข้ามามากขึ้น

การขยายอำนาจของรัฐไทยลึกเข้ามาในอีสานเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังชนะศึกพระเจ้าสิริบุญสารในสมัยกรุงธนบุรี อย่างไรก็ตาม ต่อมาอำนาจของรัฐไทยก็ถูกลาวท้าทาย เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทำการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ แต่ผลสุดท้ายฝ่ายไทยชนะ 

ชัยชนะของรัฐไทยในศึกดังกล่าว ส่งผลให้มีการอพยพกวาดต้อนชาวลาวฝั่งซ้ายครั้งใหญ่ โดยให้มาตั้งถิ่นฐานในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ส่งผลให้พื้นที่อีสานมีจำนวนประชากรหนาแน่นเพิ่มขึ้นและมีเมืองผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สมชัยชี้ว่า นี่คือคำตอบว่าทำไมลาวฝั่งขวาถึงมีจำนวนประชากรมากกว่าลาวฝั่งซ้าย

อย่างไรก็ตาม นอกจากชนชาติลาวแล้ว ยังมีเผ่าพันธ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอีสาน ด้วยสาเหตุนี้ กอปรกับการที่ลาวในยุคดังกล่าวไม่มีลักษณะของ “ความเป็นชาติ” หากแต่ผูกพันกันแต่ในเมืองหรือชุมชนดั้งเดิมของตน มากกว่านั้นก็เป็นศัตรูกับเมืองเดิมที่ตนอพยพจากมาด้วยซ้ำ ส่งผลให้เมืองต่างๆ ในอีสานขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

นี่เป็นคำตอบว่า ทำไมคนอีสานจึงไม่คิดว่าตนเองเป็นลาวในความหมายถึง “ชาติ” หรือเป็นคนลาวฝั่งซ้าย แต่ “ความเป็นคนลาว” ของคนอีสานมีความหมายถึง “สำนึกร่วม” บางประการ เช่น วัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ

สมชัยชี้ว่า ลักษณะเช่นนี้ทำให้อีสานไม่มีศูนย์กลางอำนาจการเมืองอย่างในภาคอื่นๆ เช่น ภาคกลางมีกรุงเทพฯ ภาคเหนือมีเชียงใหม่ ภาคใต้มีนครศรีธรรมราช ส่งผลให้เมืองต่างๆ ในอีสานขาดความร่วมมือ มากกว่านั้นก็แข่งขันขัดแย้งกันเอง เมื่อกรุงเทพฯ มองเห็นลักษณะตรงนี้ ก็ใช้ประโยชน์เข้าควบคุมเมืองในอีสานอย่างง่ายดาย โดยการใช้นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

อย่างไรก็ตาม แม้อีสานจะอยู่ภายใต้อิทธิพลรัฐไทย แต่ก็มิได้ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทย เอาเข้าจริง อีสาน (รวมถึงลาว) ยกเว้นเมืองโคราชและหัวเมืองเขมรป่าดง ไม่เคยมีสถานะในระบบการบริหารแผ่นดินของรัฐไทย กล่าวคือ รัฐไทยปล่อยให้เมืองต่างๆ ในอีสานปกครองตนเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแสดงความจงรักภักดีเป็นประจำทุกปีเท่านั้น 

บทความ สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง 2475 ของธันยพงศ์ สารรัตน์ (2558) ชี้ว่า การขยายอำนาจของรัฐไทยเข้ามาในอีสานยุคนี้ เป็นเพียงการรวบรวมบัญชีเพื่อให้รู้สภาพของดินแดนแห่งนี้ว่ามีอะไรบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ด้านกำลังคนและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เท่านั้น

สมชัยสรุปว่า อีสานในยุคนี้จึงยังใช้ระบบการปกครองที่เรียกว่า “อาญาสี่” แบบลาว และรัฐไทยยังปล่อยให้ใช้ระบบ “กินเมือง” ที่สามารถเก็บส่วยสาอากรเอาไว้ใช้เองได้ โดยที่รัฐไทยไม่เข้ามายุ่ง หากเมืองต่างๆ เหล่านี้ยังส่งเครื่องราชบรรณาการให้ตามปกติ

ความเป็นอิสระของอีสานดังกล่าว ทำให้กงสุลชาวอังกฤษสงสัยว่า รัฐไทยมีอำนาจเหนืออีสานหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสถึงขั้นเปรียบเทียบว่า เจ้าเมืองในอีสานเปรียบเสมือนชาวนาผู้ส่งค่าเช่าให้แก่เจ้าที่ดินซึ่งหมายถึงกษัตริย์ไทยที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน

สภาพทางการเมืองของอีสานเช่นนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวคือ สถานะกึ่งอิสระได้สิ้นสุดลงเมื่อรัฐไทยทำการปฏิรูปการปกครอง–ผนวกอีสานให้อยู่ภายใต้ร่มบรมโพธิสมภารรัฐไทย

ผนวกรวม-ปฏิรูป

การผนวกอีสานเข้ากับรัฐไทยค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ…

เริ่มจากปี 2425 กรุงเทพฯ ส่งคนไปปกครองเมืองอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม สมชัย ชี้ว่า เหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายของกรุงเทพฯ ต่ออีสานคือ การส่งพระยามหาอำมาตย์ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่เมืองจำปาสักในปี 2428 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปควบคุมภูมิภาคโดยตรงของกรุงเทพฯ

ข้าหลวงใหญ่ดังกล่าวมีอำนาจเต็ม สามารถปลดขุนนางท้องถิ่นได้ ไม่ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าเมือง ที่สำคัญคือการมีกองกำลังทหารเป็นของตนเอง

ต่อมาในปี 2433 กรุงเทพฯ มีความเห็นว่า เพื่อให้การปกครองมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้จัดแบ่งเมืองในอีสานออกเป็น 4 กลุ่มคือ ลาวเหนือ ลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ลาวกลาง และลาวตะวันออก โดยให้หนองคาย อุบลราชธานี นครราชสีมา และจำปาสัก ตามลำดับ เป็นศูนย์กลางบัญชาการ มีข้าหลวงประจำ 

ในปีรุ่งขึ้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง กรุงเทพฯ ได้รวมอุบลฯ กับจำปาสักเข้าเป็นลาวกาว หนองคายเป็นลาวพวน ส่วนลาวกลางยังคงเดิม

ความพยายามในการผนวกอีสานเข้ากับกรุงเทพฯ มีปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน แน่นอนว่าเรื่องภายนอกคือ ปัญหาการขยายอาณานิคมของอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่พยายามยึดลาว (และได้ไปในที่สุด) ส่วนดินแดนอีสานก็มีความพยายามเข้าครอบครองเช่นกัน 

ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงพยายามเข้าควบคุมดินแดนแห่งนี้อย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ ประเด็นหนึ่งที่พอจะยืนยันได้คือ ในขณะที่หัวเมืองทางภาคเหนือและภาคใต้ กรุงเทพฯ จะปล่อยให้ชนชั้นปกครองเดิมได้ปกครองเมืองของตนเองต่อไประยะหนึ่ง แต่ในดินแดนอีสานกลับแตกต่างออกไป หลังปฏิรูปการปกครอง มีการแต่งตั้งข้าราชการจากกรุงเทพฯ ให้เข้ามาปกครองแทนชนชั้นปกครองท้องถิ่นเดิมโดยทันที

ส่วนปัจจัยภายใน กรุงเทพฯ มีความเห็นว่า ระบบการบริหารการปกครองของเมืองต่างๆ ในอีสานเป็นเสมือน “เครื่องจักรที่ขึ้นสนิม” ไม่สามารถให้ผลประโยชน์ต่อกรุงเทพฯ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษีที่ไม่สามารถเก็บได้เท่ากับระดับก่อนหน้านี้ 

ในแง่นี้ การผนวกรวมอีสานจึงดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ ข้อนี้อาจเห็นได้จากแม้แต่โครงการที่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์แก่ท้องถิ่นก็มิวายที่จะมีวัตถุประสงค์ในทางการเมือง เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลให้บริการสาธารณสุขแก่ท้องถิ่นต่างๆ เพื่อ “เพิ่มจำนวนประชากรผู้ซึ่งในวันข้างหน้าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่มารับใช้กองทัพและเสียภาษีให้กับรัฐบาล” หรือการที่กรุงเทพฯ สนับสนุนให้คนอีสานเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมแบบใหม่ จนถึงขั้นจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาสอนวิธีการเลี้ยงไหมให้ชาวบ้าน เพราะคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญในการชนะใจชนชั้นนำและประชาชนอีสาน

การผนวกอีสานระลอกใหญ่เกิดขึ้นในปี 2435 เมื่อกรุงเทพฯ สถาปนากระทรวงมหาดไทยขึ้น และใช้การบริหารหัวเมืองต่างๆ ด้วย “ระบบเทศาภิบาล” โดยในปี 2436 ได้นำเอาระบบดังกล่าวไปบังคับใช้ในหัวเมืองต่างๆ ซึ่งถูกจัดเป็นมณฑลก่อนหน้านี้ โดยให้อยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลที่แต่ตั้งโดยกรุงเทพฯ

การปกครองหัวเมืองแบบดั้งเดิมจึงถูกยกเลิกไปพร้อมกับระบบราชการสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ผู้ปกครองไม่ได้อยู่ในรูป “เจ้า(กิน)เมือง” อีกต่อไป หากแต่เป็น “ข้าราชการ (กิน) เงินเดือน” จากกรุงเทพฯ

นอกจากด้านการปกครองแล้ว รัฐไทยยังพยายามผนวกอีสานด้วยวิธีการทางอุดมการณ์อีกด้วย สมชัยชี้ว่า เริ่มแรกรัฐไทยพยายามทำลายศาสนาพุทธแบบท้องถิ่นเสียก่อน โดยการออกพระราชบัญญัติสงฆ์ขึ้นในปี 2445 มีผลต่อสงฆ์ทุกรูปทุกนิกาย วัตถุประสงค์สำคัญก็คือการให้สงฆ์ท้องถิ่นยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาพุทธของกรุงเทพฯ เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ 

หลังจากนั้นก็นำเอาระบบการศึกษาสมัยใหม่มาใช้ โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน เพราะวัดก็เป็นศูนย์กลางการเรียนแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ที่แตกต่างออกไปคือ การบังคับให้สอนแบบใหม่ตามหลักสูตรและตำราเรียนของกรุงเทพฯ แต่ถึงกระนั้น การศึกษาในสมัยดังกล่าวตลอดมาจนหลายสิบปีให้หลังก็ยังอยู่ในวงจำกัดไม่ทั่วถึง

เพื่อการควบคุมอีสานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคมนาคมที่สะดวก รัชกาลที่ 5 จึงตัดสินพระทัยให้มีการขยายการเดินรถไฟเข้ามายังอีสาน สมชัยชี้ว่า การสร้างทางรถไฟนอกจากจะช่วยให้การควบคุมทางการเมืองมีประสิทธิภาพแล้ว มันยังช่วยผนวกเศรษฐกิจของอีสานเข้ากับเศรษฐกิจของรัฐไทยด้วย 

แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟภาคอีสาน (ภาพจากนิตยสารทางอีสาน)

พระศรีอาริย์-ผู้มีบุญ

การผนวกรวม-ปฏิรูปดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะชาวนาอีสาน การลุกขึ้นสู้ที่โดดเด่นที่สุดเกิดขึ้นในปี 2445 โดยใช้ความเชื่อเกี่ยวกับ “โลกพระศรีอาริย์” เป็นฐานเคลื่อนไหวต่อสู้ 

สมชัยชี้ว่า แม้ความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์จะปรากฏมีทั้งฝ่ายราชสำนักของรัฐไทยและฝ่ายชาวนาอีสาน แต่ชาวนาก็ไม่ได้เอาความเชื่อดังกล่าวมาจากราชสำนัก หากแต่เป็นความเชื่อในแบบฉบับของตนเอง สังเกตง่ายๆ จากธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างพุทธแบบท้องถิ่นอีสานกับพุทธแบบราชสำนักรัฐไทย ขณะที่พุทธแบบราชสำนักได้รับอิทธิพลมาจากเขมร พุทธท้องถิ่นอีสานกลับเป็นแบบล้านช้างของลาวและล้านนาของเชียงใหม่ 

ขณะที่ความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์ของราชสำนักมีลักษณะหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อในบุญบารมีของกษัตริย์ว่าเป็นผู้มีความชอบธรรมเพียงคนเดียวในการปกครองบ้านเมือง ความเชื่อของชาวนาอีสานกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงราก “ผู้มีบุญ” ของพวกเขาไม่ใช่พระราชามหากษัตริย์ ไม่ใช่ผู้ที่จะทำหน้าที่คงสถานภาพดั้งเดิมของสังคมเอาไว้ หากแต่เป็นใครก็ได้ที่มีความสามารถขจัดความทุกข์ยากของชาวนาผ่านการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่อย่างถึงราก

พื้นฐานความเชื่อดังกล่าว ส่งผลให้ “ผู้มีบุญ” อุบัติขึ้นหลังการผนวกรวม-ปฏิรูปของรัฐไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ก็เพื่อสะท้อนถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผนวกรวม-ปฏิรูปดังกล่าว 

สมชัยชี้ว่า อำนาจรัฐขึ้นอยู่กับรายได้ของรัฐซึ่งต้องนำไปซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์และปรับปรุงการคมนาคม แต่การหารายได้ของรัฐในสมัยดังกล่าวมีช่องทางเพียงน้อยนิด เมื่อกล่าวถึงการเก็บภาษีการค้าชนิดใหม่หรือขึ้นอัตราภาษีเดิมก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากถูกสนธิสัญญาเบาว์ริ่งจำกัดไว้ ช่องทางเดียวที่เหลือจึงมีเพียงการทำ “อาณานิคมภายใน” ไปในทิศทั้งสี่–ผนวกรวม-ปฏิรูปการบริหารและขูดรีดภูมิภาคต่างๆ ด้วยการเรียกเก็บภาษีแบบใหม่

กรุงเทพฯ เรียกเก็บส่วนแบ่งภาษีที่เก็บได้ในต่างจังหวัดขึ้นสูงมาก บางครั้งสูงถึงร้อยละ 87.5 ของภาษีที่เก็บได้ มากไปกว่านั้น มีการใช้การเก็บภาษีรูปแบบใหม่ในมณฑลต่างๆ แล้วหักเอาสองในสามของรายได้ที่ได้จากการเก็บภาษี

มาตรการดังกล่าวทำให้กรุงเทพฯ มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลว่า ในปี 2435 รัฐบาลเก็บภาษีได้ 15,378,144.91 บาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 28,496,029.33 บาทในปี 2441 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40 ล้านบาทในปี 2445 

สมชัยชี้ว่า ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากภูมิภาคไปสู่เมืองหลวง ซึ่งสร้างความทุกข์ยากลำบากให้กับคนในภูมิภาค เขายังกล่าวอีกด้วยว่า ถึงแม้การเพิ่มภาษีดังกล่าวจะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางนัก เนื่องจากได้รับการชดเชยโดยการค้าข้าวซึ่งทำให้ชาวนามีโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ แต่ในอีสานกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะการเพิ่มภาษีได้สร้างความยากลำบากให้กับชาวนามากขึ้น เนื่องจากไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเลย 

ช่วงปี 2433-2434 ดินแดนอีสานเกิดภัยแล้งและน้ำท่วมสองปีติดกัน จึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซ้ำร้ายยังมีการเก็บภาษีแบบใหม่อีก–ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลฯ ออกประกาศให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเสียภาษีคนละ 3.5 บาทในปี 2442 และขึ้นเป็น 4 บาทในปี 2444-2445 ซึ่งเกินกำลังความสามารถของชาวนาที่จะจ่ายได้

นอกจากเรื่องภาษีแล้ว รัฐบาลยังนำเอามาตรการอื่นๆ ที่สร้างความเดือนร้อนให้ชาวนามาใช้อีกหลายประการ เช่น การขายสัตว์ขนาดใหญ่ต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้ขาย มากไปกว่านั้น มีบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกใบเสร็จการเสียภาษีให้ชาวนาและไม่ยอมรับเอกสารการลงทะเบียนสัตว์ เพื่อสร้างช่องทางทำการปรับและจำคุกประชาชนในข้อหาไม่ทำตามกฎหมาย ดังที่พระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าคณะมณฑลอีสานสมัยนั้น เขียนบรรยายไว้ว่า

“ประชาชนนั้นยากจนเพราะว่าไม่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ถ้าหากพวกเขามีผลผลิตก็ไม่มีตลาด ถ้าพวกเขาทำไร่ไถนาไม่ได้ พวกเขาก็ต้องอดตาย… การค้าสัตว์ก็มีความยากลำบากอยู่ในหลายๆ ด้าน มีผู้ซื้อและผู้ขาย แต่พวกเขาไม่มีใบอนุญาต เมื่อช้างและม้าซึ่งหลุดไปถูกจับได้และถูกนำไปสำนักงานการปกครอง… พวกมันก็จะถูกยึดเป็นของหลวง… มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะหางานทำ…ค่าแรงก็ถูก… เพราะว่าประชาชนอยู่ห่างไกลจากข้าหลวง… มีคนคดในข้องอในกระดูกเที่ยวเก็บภาษีจากพวกเขาก่อนที่รัฐบาลจะไปจัดเก็บ เพราะว่าประชาชนถูกต้มตุ๋นไม่มีอะไรเหลือ พวกเขาล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว”

สถานการณ์เช่นนี้เองที่การต่อต้านรัฐเริ่มก่อตัวขึ้น แต่ปฏิกิริยาต่อความเดือนร้อนในระยะแรกแสดงออกด้วยการที่ชาวนาหันไปเป็นโจร พอนานวันเข้าพวกเขาจึงแสดงออกด้วยการลุกฮือ–ช่วงปี 2442 เริ่มปรากฏ “ผู้มีบุญ” เที่ยวสอนธรรมะและประกาศการมาถึงของยุคใหม่ 

สมชัยชี้ว่า การที่ขบวนการผู้มีบุญได้รับการสนับสนุนจากชาวนาเกิดจากคำทำนายเรื่องยุคใหม่มีความน่าสนใจ เพราะมันสร้างความหวังที่จะปลดแอกจากความทุกข์ยากที่ชาวนากำลังเชิญ และที่สำคัญคือขบวนการทำการคัดค้านการปฏิรูป

ลักษณะการเคลื่อนไหวของผู้มีบุญจะเป็นไปในแบบสันติ ในช่วงแรกของการเคลื่อนไหว เมื่อผู้มีบุญพบเจ้าหน้าที่รัฐพวกเขาจะทำการให้พร ในระยะต่อมาพวกเขาจึงเริ่มหันไปจับอาวุธใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ก็เพราะรัฐเริ่มใช้ความรุนแรงกับพวกเขาก่อน

แม้ผลสุดท้ายขบวนการผู้มีบุญจะพ่ายแพ้ แต่การลุกฮือดังกล่าวก็ได้ทำให้รัฐบาลสูญเสียความมั่นใจลงอย่างมาก เพราะแม้รัฐบาลจะได้ชัยชนะ แต่ความไม่พอใจต่อกรุงเทพฯ ก็ยังดำรงอยู่ต่อไป ยังคงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอยู่ เหตุการณ์ลุกฮือดังกล่าว ยังผลให้กรุงเทพฯ ประนีประนอมมากขึ้น รัฐบาลชะลอการปฏิรูปในอีสานให้ช้าลง ยอมให้เจ้าปกครองเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไป

สมชัยสรุปว่า การลุกฮือของชาวนาอีสานไม่ใช่เพราะรัฐละเลยไม่สนใจเหลียวแล ตามที่มีนักวิชาการบางคนเสนอ แต่เกิดจากการที่รัฐได้เข้าไปแทรกแซงควบคุมบีบคั้นชาวนามากเกินไปต่างหาก ผมเห็นว่า ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในยุคหลังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการผลักให้ชาวนาเข้าป่าเป็นสหาย

รัฐสภา-ผู้แทนราษฎร

กระบวนการผนวกรวม–ปฏิรูปดังกล่าวเป็นความพยายามลงหลักปักฐานสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเมืองที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่ นั่นคือ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ถึงกระนั้น อายุของระบอบดังกล่าวก็สั้นเกินจินตนาการ

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สุดท้ายกาลอวสานก็มาถึง เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน…การเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทยของคนอีสานก็เช่นกัน–รัฐสภาถูกนักการเมืองอีสานใช้เป็นช่องทางสะท้อนถึงปัญหาและข้อเรียกร้องความต้องการของคนอีสาน จนนักการเมืองอีสานหลายคนต้องสังเวยชีวิตให้กับการต่อสู้ดังกล่าว

สมชัยชี้ให้เห็นว่า การจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างละเอียดและถูกทาง จำเป็นต้องมองผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจ-สังคมของรัฐบาลในยุคนั้น

ส.ส.อีสาน อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอย่างเข้มข้นแข็งขัน พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนงบประมาณที่เน้นไปในทางขยายกองทัพให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เรียกร้องให้จัดสรรงบประมาณในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้มากขึ้น เพราะจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จุดยืนเช่นนี้เอง ส่งผลให้ ส.ส. อีสานกลายเป็นกองหน้าของการต่อสู้ต่อต้านเผด็จการทหาร 

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามาในไทยของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบใหม่ในอีสาน บรรดา ส.ส. และผู้นำทางการเมืองในอีสานได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยที่นำโดยปรีดี พนมยงค์–เสรีไทยในอีสานอยู่ภายใต้การนำของเตียง ศิริขันธ์ 

ภารกิจหลักของเสรีไทยในอีสานคือ จัดตั้งกองกำลังโดยระดมชาวบ้านมาทำการฝึกอาวุธในป่า สร้างสนามบินลับ และร่วมมือกับขบวนการลาวอิสระ 

การเคลื่อนไหวของเสรีไทยอีสานมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนในอีสานอย่างมาก เพราะมันไม่เพียงเป็นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น แต่ยังเป็นโรงเรียนทางการเมืองของชาวนาด้วย 

สมชัยชี้ว่า เป็นครั้งแรกหากนับตั้งแต่เกิดขบวนการผู้มีบุญที่ชาวนาอีสานได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบรวมหมู่ มันแตกต่างไปจากขบวนการผีบุญในแง่ที่ว่า เสรีไทยอีสานเป็นการจัดตั้งภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ ที่สำคัญมันมีความเชื่อมโยงส่งผลกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธภายใต้การนำของ พคท. ในเวลาต่อมาด้วย 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส.ส.อีสานหลายคนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี สังคมการเมืองเปิดเสรีมากขึ้น พคท. สามารถแสดงตัวเคลื่อนไหวบนดินได้ เพราะมีการยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์–สมาชิก พคท. บางคนลงเลือกตั้ง ส.ส และได้รับเลือก 

อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ได้ไม่นาน ในปี 2490 เกิดรัฐประหาร และในปีถัดมาจอมพล ป. ก็กลับมาเถลิงอำนาจอีกครั้ง ส่งผลให้ปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ส.ส. อีสานหัวก้าวหน้าถูกคุกคามอย่างหนัก จนสุดท้ายก็ถูกสังหารอย่างทารุณ

การกลับคืนสู่อำนาจของ จอมพล ป. ครั้งนี้ ส่งผลให้นโยบาลการต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป เขาดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพด้วย ทั้งนี้ก็เพราะบริบทขณะนั้นสหรัฐฯ เตรียมก่อสงครามรุกรานไปในประเทศต่างๆ และแน่นอนไทยก็ตามน้ำไปด้วย เช่น การส่งกองกำลังไปร่วมรบในเกาหลี 

การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพมีทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค สมชัยชี้ว่า การเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคที่โดดเด่นที่สุดคือที่สกลนครและศรีสะเกษ อย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ยุติลง เพราะถูกปรามปรามจากทางการอย่างเข้มข้น อันเป็นที่รู้จักกันดีในกาลต่อมาในชื่อทางประวัติศาสตร์ว่า “กบฎสันติภาพ”

จากสภาพการณ์ดังกล่าว สมชัยชี้ว่า สังคมนิยมได้กลายเป็นธงนำในการต่อสู้ของนักการเมืองหัวก้าวหน้าอีสาน ในช่วงปี 2499-2500 มีพรรคแนวสังคมนิยมเกิดขึ้นหลายพรรค และยังได้รับเลือกให้เข้าสภาหลายที่นั่ง โดยเฉพาะ ส.ส. ในอีสานมาจากพรรคแนวทางดังกล่าวเกือบทั้งหมด 

สมชัยสรุปว่า การที่ชาวอีสานตอบรับแนวคิดสังคมนิยมเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของภูมิภาค มันเป็นรูปแบบของการพยายามสะท้อนให้เห็นถึงความยากจนของผู้คนในอีสาน ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงถึงการต่อต้านอำนาจรัฐที่กำลังกดขี่ข่มเหงพวกเขาอยู่ ลักษณะของการแสดงออกเช่นนี้ สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการเมืองของพวกเขาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต (เช่น ผู้มีบุญ) และที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย (เช่น การเข้าป่าร่วมกับ พคท.)

ในปี 2500 อีสานเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง ผู้คนอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก รัฐบาลจอมพล ป. ไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหา ส.ส. คนหนึ่งถึงขั้นขู่ว่า อีสานจะลุกฮือหากรัฐบาลยังเฉยอยู่อย่างนี้ เมื่อเกิดเสียงวิจารณ์หนักเข้า รัฐบาลจึงส่งจอมพลผินไปตรวจสอบ แต่ก็ตรวจแบบผักชีโรยหน้าพร้อมได้ข้อสรุปว่า อีสานไม่วิกฤติและกล่าวหาว่าคอมมิวนิสต์เป็นผู้สร้างเรื่อง

การเคลื่อนไหวในแนวสังคมนิยมของ ส.ส. อีสานมีความก้าวหน้าอย่างมาก พวกเขามีแผนว่าจะตั้ง “พรรคอีสาน” พร้อมประกาศว่า สภาพความเป็นอยู่ในอีสานจะดีขึ้นก็ด้วยสังคมนิยมเท่านั้น แต่แผนดังกล่าวก็ล้มไปในที่สุด เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารปลายปี 2501 

หลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ การเมืองในยุคคณะราษฎรก็สิ้นสุดลงไปด้วย สฤษดิ์ได้นำการเมืองรูปแบบใหม่มาใช้ เขาวางสถานะตนเองเป็นในแบบที่ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เรียกว่า “พ่อขุนอุปถัมภ์” ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถสั่งประหารชีวิตใครก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ภายใต้การปกครองของสฤษดิ์ ปัญหาในอีสานถูกตีความใหม่ ขณะที่เมื่อก่อนความขัดแย้งของอีสานกับรัฐบาลเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในยุคนี้ปัญหาในอีสานกลับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หากไม่สนใจอย่างเข้มข้นจริงจังอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศได้–ตั้งแต่ปี 2508 รัฐบาลอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในอีสานถึง 5 แห่งคือ โคราช อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม และขอนแก่น 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินนโยบายผนวกรวมด้านความรู้สึกของความเป็นชาติเดียวกันอีกด้วย โดยนโยบายนี้เริ่มจากการรื้นฟื้นสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่ถูกลดทอนลงในยุครัฐบาลคณะราษฎร (โดยเฉพาะยุคของจอมพล ป.) มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ที่ถูกยกเลิกไปในยุคก่อนหน้านั้น เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ส่งเสริมสนับสนุนในสถาบันกษัตริย์เสด็จไปยังถิ่นชนบทต่างๆ ทั่วประเทศ และเกิดโครงการในพระราชดำริตามมามากมาย

ควบคู่ไปกับนโยบายดังกล่าว รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เพื่อสร้างถนน เขื่อน โรงเรียนในหมู่บ้าน ให้บริการสาธารณะสุข และการบริการอื่นๆ แก่ชาวบ้านในชนบท สมชัยกล่าวว่า เป้าหมายของโครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นไปเพื่อผนวกอีสานเข้ากับรัฐไทย สร้างการยอมรับในรัฐบาล และการสนับสนุนการโฆษณาชวนเชื่อ นัยหนึ่งก็คือ การแย่งชิงมวลชนระหว่างรัฐบาลกับ พคท. นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลังสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจ เขามีคำสั่งให้การจับกุมกวาดล้างชาวนาในอีสานเป็นจำนวนมาก ผู้นำกลุ่มต่างๆ ทั้ง ส.ส. อีสานที่หัวก้าวหน้า แกนนำที่นำการเคลื่อนไหวในพื้นที่ก็หนีไม่พ้น พวกเขาถูกจับกุมคุมขัง บางคนก็ถูกประหารชีวิต 

สถานการณ์เช่นนี้มีผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีสาน พวกเขาเห็นว่าการต่อสู่แบบสันติกับการกดขี่ข่มเหงของรัฐเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ ทางเดียวที่จะใช้สะท้อนแสดงถึงความทุกข์ยากของคนอีสานคือ การเข้าป่าเป็นสหายร่วมกับ พคท. ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

คอมมิวนิสต์-สหาย

แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาในสังคมไทยและอีสานในฐานะขบวนการตั้งแต่ปลายพุทธทศวรรษ 2460 และมีการตั้งพรรคเพื่อดำเนินงานอย่างเป็นระบบในช่วงพุทธทศวรรษ 2470 

อย่างไรก็ตาม ขบวนการดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะการเคลื่อนไหวในแบบที่เราเข้าใจในปัจจุบัน กล่าวคือ ระยะแรกขบวนการคอมมิวนิสต์ทำการเคลื่อนไหวเฉพาะในเมืองเท่านั้น ทำให้ยังไม่มีมวลชนในชนบท ทั้งนี้ ก็เนื่องด้วยว่าพรรคยังไม่มีทฤษฎี “ป่านำบ้าน” และยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวแบบ “ชนบทล้อมเมือง” หรือการเคลื่อนไหวโดยอาศัยป่าเขาในชนบทเป็นฐานที่มั่น ทำการจัดตั้งและฝึกกำลังการต่อสู้โดยยึดชาวนาในชนบทเป็นมวลชน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ 

การเคลื่อนไหวในยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้จะมีมติของพรรคตั้งแต่ต้นปี 2495 แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเมื่อหลังปี 2500 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีการดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องจากขบวนการถูกกวาดล้างปราบปรามโดยทางการอย่างหนัก กอปรกับที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อ ส.ส. และแกนนำการเคลื่อนไหวในอีสานถูกกวาดล้างจับกุม ชาวนาก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับ พคท. 

หลังจากนั้นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธภายใต้การนำของ พคท. ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังวัน “เสียงปืนแตก” ในปี 2508 ที่นครพนม สมชัยชี้ให้เห็นว่า ในอีสานมีเพียงจังหวัดเดียวคือ มหาสารคาม ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของกองกำลังอาวุธของ พคท. และครึ่งหนึ่งของกองกำลังดังกล่าวอยู่ในภาคอีสาน

สมชัยเผยเหตุผลที่ทำไมชาวนาอีสานจึงสนับสนุนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. ว่า นับแต่การเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 5 อีสานก็ถูกละเลยจากรัฐไทยตลอดมา ซึ่งมันได้สร้างความทุกข์ยากให้กับอีสาน สมชัยชี้ว่า ก่อนปี 2500 อีสานไม่เป็นที่สนใจของรัฐไทยและนักลงทุนชาวต่างชาติเลย สถานะของอีสานจึงมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

สอดคล้องกับธันยพงศ์ สารรัตน์ ที่ระบุว่า ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้จะมีข้าราชการที่กรุงเทพฯ ส่งไปปกครองตามเมืองต่างๆ ในอีสาน แล้วทำรายงานเสนอมายังกรุงเทพฯ ว่า ให้ทำการปรับปรุงการชลประทาน เส้นทางคมนาคม ฯลฯ แต่ข้อเสนอเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติจนเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงกระนั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะปรากฏมี ส.ส. หัวก้าวหน้าในอีสานหลายคนกระตือรือร้นนำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอีสานเข้าอภิปรายในสภา แต่ก็ถูกรัฐบาลละเลยไม่สนใจเช่นเดิม

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจระหว่างอีสานกับภาคอื่นๆ ของไทยดำรงอยู่ตั้งแต่อีสานถูกผนวกร่วมเข้ากับรัฐไทย ความแตกต่างดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีการเร่งการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในอีสานแต่ก็ยังล่าหลังห่างไกลจากภาคอื่นอยู่ดี 

สมชัยแสดงให้เห็นถึงข้อมูลความแตกต่างดังกล่าวว่า ในปี 2518 รายได้เฉลี่ยของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1,350 เหรียญสหรัฐ แต่ของภูมิภาคอยู่ที่ 150 เหรียญสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากรายได้ครัวเรือนในชนบทก็ยิ่งเห็นความแตกต่างมากขึ้น กล่าวคือ ในปี 2512 ครอบครัวในภาคกลางร้อยละ 25.1 มีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และในปี 2514/2515 เพิ่มเป็นร้อยละ 34.9 ขณะที่ครอบครัวชาวอีสานในชนบทตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 73.2 และเพิ่มเป็นร้อยละ74.7 ตามลำดับ 

สมชัยกล่าวสรุปว่า ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะเพิ่มงบประมาณเข้ามาในอีสานมากขึ้น แต่อาการด้อยพัฒนาของอีสานก็ยังเกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะ “เกาไม่ถูกที่คัน” กล่าวคือ เป้าหมายของการเพิ่มงบอันดับแรกไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องการเมืองและความมั่นคง

ข้อมูลที่สมชัยเสนอสอดคล้องกับบันทึกของนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร (2564) ในบทความ แพทย์เคลื่อนที่ของศิริราช ที่อุดรธานี ซึ่งเป็นบันทึกการดำเนินงานของแพทย์ศิริราชพยาบาล ภายใต้โครงการแพทย์เคลื่อนที่ของศิริราชสำหรับจังหวัดอุดรธานี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2508 ถึง 2516 นายแพทย์สรรใจ เขียนเกี่ยวกับสภาพลูกเมียน้อยของอีสานไว้ว่า

“ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ ขบวนการก่อการร้าย โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณล้าหลังกว่าทุกภาค ผู้คนยากจน การทำมาหากินลำบาก ฤดูแล้งไม่มีน้ำ… การคมนาคมไม่ดี ถนนติดต่อกับภาคกลางไม่มี มีแต่ทางรถไฟ พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงมีถนนมิตรภาพ ถึงนครราชสีมาเท่านั้น เลยไป มีถนนที่กรุยไว้บ้าง ลงดินแดงบ้าง ลงหินไว้บ้าง หลายอำเภอไม่มีถนนไปถึง ไม่มีโรงเรียน ขาดโรงพยาบาล ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ใช้เรื่องนี้ปลุกระดม ชักชวนคนไปเป็นพวก จนถึงมีการก่อการร้าย… รัฐบาลพยายามแก้ไข โดยวางโครงการพัฒนาใหญ่น้อยมากมาย ตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างทางหลวงสานประธานและสายรอง สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ทำฝ่ายและอ่างเก็บน้ำ… 

จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นผู้วางแผนพัฒนาอีสาน โดยให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง ทำถนนมิตรภาพ ต่อจากนครราชสีมาถึงหนองคาย ตัดถนนจากขอนแก่นไปเลยทางตะวันตก และไปนครพนมทางตะวันออก แล้วตัดถนนต่อจากแกนกลางไปทุกทิศ ตัดถนนเชื่อมรอบอีสาน ให้สร้างมหาวิทยาลัยที่ขอนแก่น กำหนดให้มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์เท่านั้น วางแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ…”

แผนที่การสร้างถนนตามโครงการระหว่างปี 2504-2513 (ภาพจากหนังสือการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ)เช่นเดียวกับอดีตสหายทั้งหลายที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความ กาลครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ประชาชน ของวีระศักร จันทร์ส่งแสง (2564) ซึ่งสะท้อนสถาพความเป็นอยู่ของอีสานในยุคที่คอมมิวนิสต์ยังไม่เข้ามาเป็นองค์กรนำเคลื่อนไหวต่อสู้

นายแพทย์เหวง โตจิราการ หรือหมอเหวง เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ภูพานในชื่อจัดตั้งว่า “สหายเข้ม” เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ของหมอกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ว่า

“ในฐานที่มั่นปฏิวัติของเรา นักปฏิวัติตลอดจนมวลชนในเขตอำนาจรัฐจะได้รับการประกันทางสุขภาพ ขณะที่เขตการปกครองปฏิกิริยา อัตราแพทย์ต่อประชากรเฉลี่ยแล้ว ประชากร ๒ หมื่นคนต่อแพทย์ ๑ คน ในถิ่นกันดารบางแห่งสูงถึงแสนต่อหนึ่งก็มี แต่ในฐานที่มั่นเรา เฉลี่ยอัตราหมอต่อประชากรประมาณ ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ คนต่อหมอ ๑ คน เป็นเรื่องที่สะท้อนการเอาใจใส่สุขภาพของประชาชนที่เทียบกันไม่ได้ระหว่างชนชั้นปกครองปฏิกิริยากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” 

ขณะเดียวกันหมอในป่าก็เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านในระแวกนั้นด้วย พคท. ถือว่าด้านการสุขภาพนี้เป็นการทำงานมวลชนอย่างหนึ่ง อีกนัยหนึ่งก็คือ การแย่งชิงมวลชนนั่นเอง จึงไม่แปลกว่าทำไมฝ่ายรัฐมีนโยบายด้านสาธารณะสุขเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย 

นัยหนึ่งฝ่ายรัฐก็คงจะคิดแบบเดียวกันกับที่นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร เขียนไว้นั่นเองว่า “[ผกค. กล่าวหา] ว่าคนอีสานถูกทอดทิ้งทางการรักษาพยาบาล…[จึงต้องมีนโยบายด้านสาธารณะสุขเข้ามาด้วย]” งานด้านนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแย่งชิงมวลชนอย่างชัดเจน

“สหายตั้ง” หรือชม แสนมิตร ถูกตั้งคำถามหลังออกจากป่าว่า “ไปสู้ได้อะไร” เขาตอบว่า

“มันก็ได้เยอะอยู่ ได้การพัฒนา เพราะการต่อสู้ การพัฒนาจึงเข้ามา แต่ก่อนไม่เคยมีหมอมีโรงพยาบาล… แต่พอมีการต่อสู้ การพัฒนาต่างๆ ถึงเข้ามา ถ้าเราไม่สู้จะให้เกิดเองมันไม่มี”

“สหายวิพากษ์” หรือด้วง เชื้อคำฮด ก็ตอบทำนองเดียวกันว่า

“ตอนมอบตัว เขาถามว่าได้อะไร บางคนบอกได้ถนน เขาอาจพูดเล่นๆ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ก่อนแถวนี้ถนนไม่มี ร้านค้าความสะดวกก็เพิ่งขึ้นตอนทหารมา”

นอกจากเหตุผลดังกล่าว สมชัยยังชี้ว่า การสนับสนุน พคท. ของชาวนายังเกิดจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐ สอดคล้องกับบทความของวีระศักร จันทร์ส่งแสง ที่ทำการสัมภาษณ์บรรดาอดีตสหายทั้งหลายซึ่งให้ข้อมูลคล้ายกันว่า เอาเข้าจริงแล้วชาวบ้านไม่รู้จักว่าคอมมิวนิสต์คืออะไรด้วยซ้ำ แต่ที่พวกเขาเข้าป่าเพราะถูกข่มเหงรังแก

วันดี วงศ์กะโซ่ หรือ “สหายสุทัศน์” เล่าว่า

“เมื่อก่อนดงหลวงเป็นดงเป็นป่า ทางฝ่ายรัฐทอดทิ้งไม่มีการดูแล กลั่นแกล้งว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ จับไปต่อยไปฆ่าแกง ทำให้พี่น้องเราเข้าป่าเข้าดงให้ตัวเองปลอดภัย ว่าใครมีแนวทางอื่นว่าจะทำให้บ้านเมืองนี้น่าอยู่ ก็มี พคท. มานำ พวกเราก็เข้าร่วม เป็นเรื่องเป็นราวเกิดการต่อสู้กันมีฝักฝ่าย จริงๆ เราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นชาวบ้านธรรมดา”

มงคล ชาวเขา เล่าถึงการกระทำของรัฐในสมัยนั้นว่า ทำให้เขาต้องสูญเสียทรัพย์สินหลายอย่างเพราะถูกเผา และสูญเสียพี่ชายชื่อมัจฉา 

“…วันนั้นทหารเรียกชาวบ้านตามบัญชีรายชื่อในมือ พี่ชายของเขาก็ยอมไปแต่โดยดี แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้พบพี่ชายอีกเลย

“ทหารมาตั้งแคมป์อยู่หลายวัน พอทหารไปแล้วเราตามไปหา ตอนไปเจอศพก็เน่าหมดแล้ว”

สภาพศพที่พบทิ้งอยู่ในป่า ถูกตัดศรีษะ มือ และเท้าออกไป แต่ครอบครัวจำได้ว่าเป็นมัจฉาก็เนื่องจากเสื้อผ้าที่ผู้เสียชีวิตสวมใส่

หลังจากการตายของมัจฉา มงคลเล่าว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ของหมู่บ้านก็เป็นทหารป่าร่วมการปฏิวัติกับ พคท.”

จากที่กล่าวมาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า การผุดโผล่ขึ้นมาของนโยบายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอีสาน ล้วนเป็นผลผลิตของการเติบโตขึ้นของขบวนการคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ พคท. อย่างน้อยที่สุด ปัจจัยข้อนี้ก็มีผลอย่างสำคัญต่อการที่รัฐไทยหันมาสนใจภูมิภาคอีสานมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ถูกละเลยเป็นลูกเมียน้อยตลอดมา

อาการลูกเมียน้อยเช่นนี้ ถูกนำมาบรรยายเล่าผ่านวรรณกรรมจากนักเขียนเลือดอีสานมากมายหลายคน แต่ที่ผมประทับใจปนสงสารสังเวชเพราะความตลกร้ายคือเรื่องสั้นชื่อ เขียดขาคำ ของลาวคำหอม เรื่องนี้นัยหนึ่งก็สะท้อนถึงความขาดแคลนของสาธารณูปโภคที่จำเป็น

ชายบ้านนอกคนหนึ่งขาดแคลนกระทั่งผ้าห่มที่จะคลุมกายคลายหนาว

“มันจน มันจน ไม่มีเงินจะไปซื้อผ้าห่ม ถึงจะเหม็นสาบเหม็นคาวทั้งปีทั้งชาติ ก็ได้ใช้เมียนั้นแล้วต่างผ้าห่ม ลูกมันก็หลั่งไหลมา”

บทสรุป

นับตั้งแต่รัฐสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้น อีสานก็กลายเป็นดินแดนของนักต่อสู้ที่มีศัตรูคือ “รัฐไทย” เรื่อยมา แม้จะพ่ายแพ้มากกว่าชนะ แต่การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวอีสานหาได้หมดไปไม่

นับแต่การปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 รัฐไทยไม่ได้สนใจใยดีที่จะปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดำรงชีวิตอยู่ในดินแดนแห่งนี้ให้ดีขึ้นเลย ขณะเดียวกันกลับกดขี่ขูดรีดข่มเหงพวกเขาด้วยสารพัดวิธี จึงไม่แปลกว่าทำไมถึงมีการต่อสู้ต่อต้านปรากฏให้เห็นเป็นระยะด้วยวิธีการต่างๆ ตามยุคสมัย

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันนี้จะดูเหมือนว่ารัฐไทยได้หันมาสนใจในดินแดนอีสานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความสนใจดังกล่าวก็มีลักษณะละเลยประชาชนคนรากหญ้าอยู่ดี–รัฐนำโครงสร้างพื้นฐานเข้ามามากมายก็จริง แต่มันก็มาพร้อมกับการปรากฏขึ้นของเขื่อน เหมืองแร่ หรืออื่นๆ ซึ่งดูเหมือนว่าประชาชนได้รับผลเสียมากกว่าผลดี 

กลายเป็นว่าประชาชนได้ถนน โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้ศัตรูตัวใหม่เพิ่มขึ้นด้วย–นอกจากประชาชนคนอีสานต้องต่อสู้กับศัตรูตลอดกาลอย่าง “รัฐไทย” แล้ว ในปัจจุบันพวกเขายังต้องต่อสู้กับ “นายทุน” ไปพร้อมๆ กันด้วย 

อ้างอิง

  • ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
  • ธันยพงศ์ สารรัตน์. (2558). สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง 2475, ทางอีสาน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 (มิถุนายน), หน้า 25-35.
  • วีระศักร จันทร์ส่งแสง. (2564). กาลครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ประชาชน, สารคดี, ฉบับที่ 439 (ตุลาคม), หน้า 26-71. 
  • สรรใจ แสงวิเชียร. (2564). แพทย์เคลื่อนที่ของศิริราช ที่อุดรธานี, จุลสารศิษย์เก่ามหิดลสัมพันธ์, ปีที่ 19 ฉบับที่ 2, หน้า 10-17.
  • สุภีร์ สมอนา. (2559). สังคมวิทยาอีสาน. อุดรธานี : ศักดิ์ศรีอักษรการพิมพ์.
  • สมชัย ภัทรธนานันท์. (2560). ความขัดแย้งระหว่างอีสานกับรัฐไทย : การครอบงำและการต่อต้าน. มหาสารคาม : วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  • Histofun Deluxe. (2563) ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย.blockdit.com สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567
image_pdfimage_print